fbpx

หลักประกันสุขภาพที่รัก (44) : หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ ตอนที่ 1

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษถือกำเนิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 1948  คือหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบได้ 3 ปี ภาพถ่ายที่เป็นประวัติศาสตร์ของอังกฤษและของโลกคือภาพอนิวรีน บีแวน (Aneurin Bevan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเวลานั้นเยี่ยมไข้เด็กหญิงคนหนึ่งที่โรงพยาบาลปาร์ค  เดวี่ฮูล์ม  ใกล้แมนเชสเตอร์

เด็กหญิงคนนี้ชื่อ ซิลเวีย ดิกกอรี่ อายุ 13 ปี นับเป็นคนไข้คนแรกของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ (NHS) เธอเล่าในภายหลังหลายปีว่า “มิสเตอร์บีแวนถามหนูว่าหนูเข้าใจความสำคัญของเหตุการณ์ครั้งนี้หรือเปล่า นี่คือหลักไมล์สำคัญในประวัติศาสตร์ เป็นก้าวย่างแห่งความเป็นอารยะของประเทศชาติหนึ่ง จะเป็นวันที่หนูไม่ลืมอีกเลย แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ค่ะ”

คือวันที่อังกฤษเริ่มต้น Health for All สุขภาพเพื่อคนทั้งมวล

อนิวรีน บีแวน เกิดเมื่อปี 1987 ในชุมชนคนทำเหมืองของแคว้นเวลส์ตอนใต้ เขายากจน ครอบครัวของเขาผจญโรคภัยไข้เจ็บสารพัด และพี่น้องสามคนในเก้าคนเสียชีวิตเพราะความเจ็บป่วย พ่อของบีแวนเป็นคนงานเหมือง บีแวนออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 13 ปีเพี่อทำงานเหมืองถ่านหินเช่นเดียวกันกับพ่อ

เขาเป็นผู้นำการประท้วงของคนงานเหมืองถ่านหินเมื่อปี 1926 แล้วได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคแรงงานในเวลาต่อมา  เขาเป็นที่นิยมของชนชั้นแรงงานและเป็นนักพูดที่น่าเลื่อมใสในสภา หลังพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งในปี 1945 นายกรัฐมนตรีเคลเมนต์ แอตลี ได้เสนอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้แก่เขา เขาเสนอโครงการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งยิ่งใหญ่ด้วยความเชื่อว่า “สุขภาพคือกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”

ซึ่งเป็นความจริง

 

 

แม้ว่าวินสตัน เชอร์ชิลจะนำพาอังกฤษผ่านความยากลำบากและเอาชนะนาซีได้ในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นวีรบุรุษของชาติ  แต่เขาก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งแก่พรรคแรงงานซึ่งมีนโยบายเพื่อสังคมที่ชัดเจนมากกว่า ดังที่รู้กันว่าอังกฤษบอบช้ำมากที่สุดแม้ว่าจะเอาชนะได้ หากไม่จัดการงบประมาณด้านสุขภาพในตอนนี้ให้เรียบร้อยแล้วจะไปจัดการเมื่อไร หลักประกันสุขภาพแห่งชาติถือกำเนิดขึ้นไม่เพียงช่วยเหลือคนยากจนให้รอดชีวิตอย่างเสมอหน้า ช่วยเหลือชนชั้นกลางและชนชั้นสูงให้รอดชีวิตอย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการล้มละลายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย

นั่นคือสิ่งที่ประเทศไทยทำเมื่อปี พ.ศ. 2545 หลังชัยชนะของพรรคไทยรักไทย โดยมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์กับนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลีเป็นรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามลำดับ จะชอบหรือไม่ชอบพรรคไทยรักไทยก็เปลี่ยนชื่อรัฐมนตรีในประวัติศาสตร์มิได้

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติอังกฤษมิได้ลอยลงมาจากอากาศธาตุ อังกฤษเริ่มต้นดูแลคนยากจนตั้งแต่ยุควิคตอเรียด้วยโครงการให้วัคซีนและศึกษาระบาดวิทยาของโรคต่างๆ เมื่อถึงตอนต้นศตวรรษที่ 20 พรรคเสรีนิยมก็มิได้นิ่งนอนใจเสนอโครงการตรวจสุขภาพนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ และให้อาหารกลางวัน รวมทั้งเริ่มระบบเยี่ยมบ้าน ลอยด์ จอร์จเริ่มโครงการประกันสังคมให้แก่คนงาน แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือการเข้าไม่ถึงบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภรรยาและบุตรของคนงาน

ชวนให้นึกถึงเรื่องเล่าของคุณหมอสงวนเรื่องที่ท่านไปพบหญิงสาวกำเงิน 30 บาทอุ้มลูกที่เจ็บป่วยเดินห่างออกจากโรงพยาบาลแทนที่จะเดินเข้าหาโรงพยาบาล

กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษเมื่อปี 1918 ประกาศว่า “สุขภาพเป็นหน้าที่ของรัฐ” และเป็นความรับผิดชอบของรัฐ

จะเห็นว่าเส้นทางที่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติอังกฤษถือกำเนิดมิได้ต่างจากบ้านเรา เพียงแต่ทั้งหมดที่เราทำทุกวันนี้พวกเขาทำแล้วตอนเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 เช่น โครงการให้อาหารกลางวัน เป็นต้น บทเรียนที่สำคัญคือแม้ว่าทั้งหมดที่ทำไปนั้นเป็นเรื่องถูกต้องแต่ไม่เคยเพียงพอ (non-adequate) ประเทศชาติที่มีอารยะควรก้าวกระโดดครั้งใหญ่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนนั่นคือรัฐเข้ามา ‘จัดการ’ ระบบสุขภาพ

แม้ว่าสุขภาพจะเป็นเรื่องส่วนตน อยากแข็งแรงต้องอาบน้ำ แปรงฟัน และออกกำลังกาย เป็นต้น แต่สุขภาพเป็นความรับผิดชอบของรัฐด้วย หากรัฐไม่ทำปัจเจกบุคคลก็จะไปไม่รอด แล้วในที่สุดประเทศชาติก็จะไปไม่รอดด้วยเช่นกัน

ตั้งแต่ปี 1890 ที่ ร้อยละ 88 ของงบประมาณของโรงพยาบาลในอังกฤษได้จากเงินบริจาค แล้วลดลงเหลือร้อยละ 35 ในทศวรรษที่ 1930 โรงพยาบาลหลายแห่งปิดตัวลงเพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว การสำรวจในปี 1938 พบว่าโรงพยาบาลต่างๆ มีเตียงไม่พอ บุคลากรไม่พอ และผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการ การกระจายของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ทั่วถึงและถึงแม้โรงพยาบาลท้องถิ่นสักแห่งจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ก็ไม่มีอุปกรณ์ที่จำเป็น ภาระงานของพยาบาล 1 คนดูแลผู้ป่วย 60 เตียง การบริหารเตียงสับสนอลหม่านผู้ป่วยสมองเสื่อมในวัยชรานอนปะปนกับผู้ป่วยเด็ก ค่ารักษาพยาบาลสูงเกินเอื้อมสำหรับประชาชนทั่วไป

สมาคมแพทย์แห่งสหราชอาณาจักรเสนอแผนปฏิรูปในปี 1930 ด้วยการจัดระบบโรงพยาบาลท้องถิ่นใหม่ และให้ประกันสุขภาพ (health insurance coverage) สมาคมแพทย์โซเชียลลิสต์ไปไกลกว่าคือเสนอแผนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (for all) ไม่เสียค่าบริการที่จุดรับบริการ (free at the point of use) แผนนี้เข้าสู่นโยบายของพรรคแรงงานในเวลาต่อมา

คล้ายกับที่ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ยื่นข้อเสนอทั้งหมดต่อพรรคไทยรักไทย

หน้าตาของระบบสุขภาพอังกฤษหลังสงครามใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะเริ่มต้นสามารถดูได้จากหนังซีรีส์ของบีบีซีเรื่อง Call the Midwife  หนังสนุกและน่ารักมาก

 

 


บทความชุดนี้ถอดความจากหนังสือ The NHS at 70 A Living Story เขียนโดย Ellen Welch สำนักพิมพ์ Pen&Sword History ปี 2018

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save