fbpx
ปราการอุดมคติ

หลักประกันสุขภาพที่รัก (43) : ปราการอุดมคติ ตอนจบ

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

เอ เจ โครนินมิใช่นักเขียนที่มีฝีมืออะไรมากมายนัก  เป็นที่วิพากษ์ในภายหลังว่าหนังสือเดอะซิตาเดลนี้ขายดีเพราะ 1.ออกมาถูกเวลา  2.โครนินเล่าเรื่องความผิดพลาดในการรักษาผู้ป่วยและระบบการแพทย์ให้เข้าใจง่าย 3.ฝีมือการโหมโรงของผู้พิมพ์และจำหน่ายคือ Victor Gollancz ซึ่งนิยมซ้าย เขาได้ส่งหนังสือตัวอย่างไปให้สมาคมแพทย์ในอังกฤษมากกว่า 200 แห่งโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งแน่นอนว่าสร้างความเคลื่อนไหวได้สำเร็จแน่ๆ

โครนินนำเรื่องของตัวเองมาเขียนหลายจุด นอกจากการทำงานที่เหมืองถ่านหินช่วงหนึ่งแล้วยังมีเรื่องที่เขายุติอาชีพแพทย์ก่อนเวลานานมาก เหตุหนึ่งเป็นเพราะเขามีฐานะการเงินดีแล้วจากการเขียนหนังสือขายดีและมีการนำไปสร้างเป็นหนังประสบความสำเร็จติดๆ กัน อีกเหตุหนึ่งคือเพราะตัวเขาเองมิได้รักอาชีพแพทย์นี้เท่าไรนัก บ้างว่าเขาไม่รักอาชีพนี้เพราะเขาไม่เก่งพอแต่บ้างก็ว่าเพราะความฉ้อฉลในระบบที่ทำให้เขาอยู่ได้ไม่นาน

บทพูดของหมอแอนดรูว์ แมนสันในตอนจบของเดอะซิตาเดลต่อไปนี้นำมาจากหนังสือ ปราการอุดมคติ แปลจากฉบับสมบูรณ์โดย เจริญเกียรติ ธนสุขถาวร พ.ศ. 2558 มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม

“ไปที่จุดเริ่มต้น นึกถึงการฝึกฝนอบรมที่หมอได้รับแบบขาดตกบกพร่องอย่างน่าผิดหวัง เมื่อผมจบการศึกษา ผมเป็นภัยต่อสังคมมากกว่าอย่างอื่น ทั้งหมดที่ผมรู้คือชื่อโรคไม่กี่โรคและยาที่ผมควรให้เพื่อรักษาโรคนั้น” คำพูดนี้เท่ากับตีแสกหน้าสมาคมการแพทย์และประจานแพทยศาสตร์ศึกษาที่พวกเขารับผิดชอบอยู่ เป็นประโยคที่ยังคงมีมูลความจริงในหลายประเทศทุกวันนี้

“…ผมเรียนรู้สิ่งต่างๆ เองตั้งแต่นั้น แต่มีหมอสักกี่คนที่จะเรียนรู้อะไรนอกเหนือจากเรื่องพื้นฐานธรรมดาที่ได้จากการปฏิบัติงาน  พวกเขาไม่มีเวลา คนที่น่าสงสารเหล่านี้ พวกเขาต้องวิ่งวุ่นขาแทบขวิด นั่นคือจุดที่ทำให้องค์กรของเราทั้งหมดเสื่อมโทรม…” คำพูดนี้ยังคงมีมูลความจริงในอีกหลายประเทศเช่นกัน

“…ควรมีชั้นเรียนระดับหลังปริญญาภาคบังคับ เพื่อขจัดความคิดสั่งจ่ายยาขวดแบบเก่า ให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนมีโอกาสศึกษา  และร่วมมือกันในงานวิจัย แล้วความคิดแบบพาณิชย์นิยมนั้นเล่า การรักษาเพื่อมุ่งหาเงินแบบไร้ประโยชน์ การผ่าตัดโดยไม่จำเป็น ยาปลอมไร้คุณภาพที่ไม่บอกส่วนผสมจำนวนมากที่เราใช้ นี่ไม่ใช่เวลาที่จะกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปบ้างแล้วหรือ”

คำพูดนี้ยังส่งเสียงก้องมาถึงเวชปฏิบัติไม่จำเป็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  ได้แก่

การสั่งจ่ายยาที่ไม่จำเป็น

การสั่งจ่ายยาภายใต้อิทธิพลหรือการโน้มน้าวของบริษัทยา

การส่งตรวจพิเศษหรือการผ่าตัดที่ได้รับส่วนแบ่งจากบริษัทขายเครื่องมือ

รวมทั้งการไม่ควบคุมเพดานการเบิกจ่ายของสวัสดิการข้าราชการซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ได้รับยาที่ไม่จำเป็นไปจำนวนมากกว่ามากตลอดมา

“ผู้คนในวงการวิชาชีพนี้มีความคิดคับแคบและหลงตัวเองมากเกินไป เราหยุดนิ่งในแง่ของโครงสร้าง เราไม่เคยคิดพัฒนาและเปลี่ยนแปลงระบบ เราบอกว่าจะทำโน่นทำนี่แต่เราไม่ทำ หลายปีมาแล้วที่เราพร่ำบ่นถึงสภาพการทำงานที่เหนื่อยยากของพยาบาลของเรา เงินเดือนอันน้อยนิดอย่างน่าเวทนาที่จ่ายให้พวกเธอ ใช่ไหมครับ พวกเธอยังคงทำงานหนัก” หากจะมีพยาบาลสักคนอ่านอยู่ เธอคงเป็นพยานได้ว่าที่โครนินเขียนเกี่ยวกับพยาบาลเมื่อ 90 ปีก่อนยังคงเป็นจริงวันนี้

จะเห็นได้ว่าโครนินมิได้พูดถึงหลักประกันสุขภาพเท่าไรนักนอกเหนือจากเรื่องการจ่ายล่วงหน้าเพื่อประกันสุขภาพที่เหมืองถ่านหินตอนกลางเรื่อง ที่เขาพูดมากกว่าเป็นเรื่องจริยธรรมและความล้าหลังของวงการแพทย์ ซึ่งจะว่าไปก็มีผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณสุขภาพหากไม่จัดการให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ที่โครนินเน้นย้ำมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการแพทย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ควรมีหลักฐานเชิงประจักษ์ และควรมีการศึกษาแพทย์ศาสตร์ต่อเนื่อง แพทย์ควรทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กัน ลดช่องว่างระหว่างแพทย์ทั่วไปและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ และการแพทย์ไม่ควรเป็นไปเพื่อการค้า จะเห็นว่าทั้งหมดนี้คือรากฐานของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั่นเอง

โครนินเขียนหนังสือได้น่าอ่าน มีตัวละคร มีพัฒนาการของตัวละคร มีความขัดแย้ง และมีส่วนที่เป็นเมโลดราม่า แต่ทุกอย่างนั้นดำเนินไปตามแบบฉบับอย่างง่ายๆ เสมือนนักเขียนหน้าใหม่ หนังสือเดอะซิตาเดล รวมทั้งเล่มอื่นๆ ของเขาจึงอ่านง่ายแต่มิได้รับคำชื่นชมในแง่คุณค่าของงานวรรณกรรมเท่าไรนัก เป็นนวนิยายที่เรียบง่ายและธรรมดามากเสียจนเป็นที่กังขาว่ามีผลกระทบต่อระบบสุขภาพอังกฤษได้อย่างไร

เวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่คนอังกฤษได้ผ่านความทุกข์ถ้วนหน้าร่วมกัน รวมทั้งความทุกข์ทางการแพทย์ เมื่อพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งจึงไม่รีรอที่จะเริ่มต้นสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น คนสำคัญคือ Aneurin Bevan เป็นนักการเมืองที่มีบุคลิกน่านิยม เขาสามารถโน้มน้าวให้คลินิกแพทย์และทันตแพทย์ทั่วประเทศทำงานร่วมกับ NHS และก้าวข้ามการต่อต้านของสมาคมแพทย์อังกฤษได้สำเร็จ

 

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save