fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (42) : ปราการอุดมคติ ตอนที่ 2

หลักประกันสุขภาพที่รัก (42) : ปราการอุดมคติ ตอนที่ 2

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

A.J. Cronin (1896-1981) เขียนนวนิยายเรื่อง The Citadel วิพากษ์การแพทย์อังกฤษออกวางตลาดเมื่อปี 1937 ว่ากันว่าเป็นหนังสือที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง พรรคแรงงานได้รับชัยชนะนำไปสู่การเริ่มต้นหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ National Health Service (NHS) ของอังกฤษในปี 1948 ซึ่งมีอายุ 71 ปีในวันนี้แล้ว

อย่างไรก็ตามมีข้อสงสัยว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็นความจริงมากน้อยเพียงใด

โครนินเขียนประเด็นทางการแพทย์ในเชิงสังคมแต่เขามิได้บอกว่าให้มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เอเจ โครนิน เกิดที่เมือง Cardross สก๊อตแลนด์ ปี 1896 บิดาเป็นไอริชคาธอลิก มารดาเป็นโปรเตสแตนท์ บิดาถึงแก่กรรมเมื่อเขาอายุ 7 ปี โครนินเป็นเด็กเรียนดีกีฬาเยี่ยม ได้ทุนคาร์เนกี้ไปเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์จนกระทั่งจบแพทย์ในปี 1919 แล้วไปทำงานที่เวลส์ตอนใต้ก่อนจะย้ายมาเปิดคลินิกในลอนดอน

แม้ว่าคลินิกจะประสบความสำเร็จ เขาขายคลินิกไปเมื่ออายุ 30 กว่าแล้วเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก ชื่อ Hatter’s Castle ส่งให้สำนักพิมพ์เป็นครั้งแรกและได้รับการตอบรับในทันทีกลายเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่ง เขาเขียนนวนิยายตามออกมาอีก 2 เล่มทันทีคือ The Stars Look Down และ The Citadel

โครนินประสบความสำเร็จในฐานะนักเขียนค่อนข้างเร็ว เดอะซิตาเดลถูกนำไปสร้างหนังและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เขาย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกาช่วงสงครามแล้วย้ายไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ในที่สุด แม้ว่าเขาจะเขียนหนังสืออีกหลายเล่มจนถึงทศวรรษที่ 70 แต่ไม่มีเล่มใดประสบความสำเร็จมากเท่าทศวรรษที่ 30 พล็อตเรื่องที่เขาเขียนบ่อยคือเรื่องราวการต่อสู้ของคาธอลิกเพื่อที่จะยืนหยัดในสังคม ต่อสู้กับตนเองทางจริยธรรม ผ่านอุปสรรคและความเย้ายวนของเงินตราและอิสตรี ก่อนที่จะได้สำนึกและไถ่บาปสำเร็จในตอนท้าย คือโครงเรื่องของเดอะซิตาเดลนั่นเอง

 

 

เดอะซิตาเดลเล่าเรื่องหมอจบใหม่ แอนดรูว์ แมนสัน ซึ่งไปทำงานที่เมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในเวลส์ตอนใต้  ก่อนที่จะพบความฉ้อฉลของวงการแพทย์ในระดับต่างๆ ตั้งแต่เมืองบ้านนอกจนถึงกรุงลอนดอนที่ซึ่งเขาหลงใหลในเงินตราเฉกเช่นเดียวกับเพื่อนแพทย์คนอื่นๆ เขาสูญเสียภรรยาที่รักซึ่งคาดหวังให้เขายึดมั่นในจริยธรรมเสมอมา นำไปสู่การต่อสู้ของเขากับวงการแพทย์ในชั้นศาลเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตอนท้าย ความโดยย่อได้เล่าให้ฟังเมื่อตอนที่แล้ว

อังกฤษมี National Insurance Act ตั้งแต่ปี 1911 แล้ว คนงานที่มีรายได้น้อยสามารถเข้ารับการรักษาฟรี แต่เป็นที่รู้กันในเวลาต่อมาว่ากฎหมายนี้ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก คนงานรายได้ต่ำได้รับบริการไม่มีคุณภาพ โรงพยาบาลต่างๆ พัฒนาตนเองด้วยอัตราเร่งที่ไม่เท่ากัน ความเจริญกระจุกอยู่ในลอนดอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนแพทย์ ในขณะที่บริการสาธารณสุขทั่วประเทศอยู่ในสภาพย่ำแย่ คนรวยได้รับบริการที่ดีกว่า คนจนได้รับบริการไม่มีคุณภาพ

หนังสือเดอะซิตาเดลออกวางจำหน่ายในปี 1937 ขายได้ 150,000 เล่มในสามเดือนแรกและขายได้สัปดาห์ละ 10,000 เล่มตลอดปีแรกที่วางจำหน่าย หนังสือประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แม้กระทั่งรัสเซียและเยอรมัน คอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกชื่นชมหนังสือเล่มนี้ นาซีใช้หนังสือเล่มนี้ในการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อการโจมตีอังกฤษ

อ่านถึงตรงนี้ ชวนคิดถึงวันที่นายแพทย์ชั้นผู้ใหญ่โจมตีคนที่เห็นด้วยกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์

 

 

หนังสือเดอะซิตาเดลประสบความสำเร็จทางการตลาดด้วยฝีมือของผู้จัดจำหน่าย Victor Gollancz เขาได้วางแผนประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าอย่างดีโดยพุ่งเป้าไปที่การโจมตีระบบและสถาบัน เขานำหนังสือเล่มนี้เข้าสู่บุ๊คคลับของเขาเอง และแพร่หลายไปสู่บุ๊คคลับอื่นๆ รวมทั้งสถานีวิทยุทั่วทั้งอังกฤษ หนังสือสร้างเป็นหนังในปี 1938 โดยผู้กำกับ King Vidor ชนะ 4 รางวัลออสการ์รวมทั้งหนังยอดเยี่ยม หนังประสบความสำเร็จสูงสุดในอังกฤษเมื่อปี 1939

Sir Victor Gollancz (1893-1967) เป็นผู้พิมพ์และจัดจำหน่ายชาวอังกฤษซึ่งได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายซ้าย เขาเรียกตนเองเป็นสังคมนิยมคาธอลิก สโมสรหนังสือที่เขาก่อตั้งมีชื่อว่า Left Book Club และหนึ่งในหนังสือที่ได้รับการเชิดชูคือเดอะซิตาเดล

King Wallis Vidor (1894-1982) เป็นผู้กำกับการแสดงชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง เขาได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ 5 ครั้ง  และได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย  เขาเป็นรีพับลิกันและเป็นหนึ่งในฮอลลีวู้ดที่ต่อต้านการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1944

แม้ว่าหนังสือเดอะซิตาเดลจะถูกกลุ่มแพทย์ต่อว่าว่าเขียนความด้านเดียว ไม่คำนึงถึงความยากลำบากของแพทย์ที่ทำงานหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่แร้นแค้น แต่หนังสือได้ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งในปี 1945 ทำให้ เคลเมนต์ แอตลี หัวหน้าพรรคแรงงานเอาชนะ วินสตัน เชอร์ชิล ได้ในที่สุด และผ่านกฎหมาย NHS ได้สำเร็จเมื่อปี 1948

หนึ่งในผู้มีส่วนผลักดันคือ Aneurin Bevan ซึ่งเกิดที่เมือง Tredegar สถานที่ซึ่งคนงานเหมืองจ่ายบางส่วนของค่าจ้างเพื่อประกันสุขภาพ โครนินเคยทำงานที่เมืองนี้นาน 3 ปี และใช้เป็นฉากหลังของเมือง Aberlaw ในเดอะซิตาเดล ส่วนบีแวนได้ขยายโครงสร้างประกันสุขภาพของคนงานเหมืองไปทั่วทั้งประเทศ

“We are going to ‘Tredegarise’ you.” บีแวนพูดประโยคนี้ในครั้งหนึ่ง

ไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าบีแวนเคยพบกับโครนินหรือเปล่า แต่ความลงรอยของแนวคิดของคนทั้งสองชวนให้เชื่อว่าพวกเขาน่าจะเคยพบกัน

ที่จริงแล้วโครนินไม่ใช่สังคมนิยม เขาเคยบอกว่าผู้ป่วยที่รับการรักษาฟรีไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามทศวรรษที่ 30 และสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเวลาที่สุกงอม ในขณะที่ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นที่ปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การแพทย์อังกฤษยังเป็นการแพทย์ยุควิคตอเรีย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ งมงาย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และฉ้อฉล แพทย์ในกรุงร่ำรวย แพทย์ทั่วไปรักษาผู้ป่วยตามมีตามเกิด หมอเถื่อนมากมาย เป็นเดอะซิตาเดลที่พูดเรื่องการแพทย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ภาษาสมัยใหม่เรียกว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์

โครนินเขียนเรื่องงานวิจัยโรคปอดของคนงานเหมือง การวินิจฉัยโรคจิตที่เกิดจากภาวะพร่องฮอร์โมนธัยรอยด์ (ซึ่งคนไข้เกือบถูกส่งไปโรงพยาบาลบ้าหากมิใช่หมอแอนดรูว์ แมนสันวินิจฉัยได้) เรื่องไข้ไทฟอยด์ การทำคลอดความเสี่ยงสูง การใช้สัตว์ทดลองไปจนถึงการรักษาวัณโรค เขาย้ำเรื่องการศึกษาต่อเนื่องของแพทย์ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป

(ยังมีต่อ)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save