หลักประกันสุขภาพที่รัก (41): ปราการอุดมคติ ตอนที่ 1

หลักประกันสุขภาพที่รัก (41): ปราการอุดมคติ ตอนที่ 1

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

เราเคยได้ยินเสมอมาว่าระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ หรือ National Health Security (NHS) ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเล่มหนึ่ง ความข้อนี้ปรากฏในหนังสือที่เขียนเล่าเรื่องประวัติการก่อตั้ง NHS หลายเล่ม รวมทั้งวารสารการแพทย์

หนังสือเล่มนั้นคือ The Citadel เขียนโดยนายแพทย์สก็อต Archibald Joseph Cronin (A. J. Cronin, 19 กรกฎาคม1896 – 6 มกราคม 1981) ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1937 ฉบับแปลไทยเท่าที่ทราบมี 2 สำนวน

สำนวนแรก เป็นของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น แปลจากฉบับย่อโดยสายธาร ใช้ชื่อไทยว่า เดอะซิตาเดล ฉบับที่ผมอ่านเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2520 ปกอ่อนเล่มละ 15 บาทเท่านั้น ได้อ่านตอนเรียนแพทย์ พลุ่งพล่านมากตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สำนวนที่สองเป็นของมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม แปลจากฉบับสมบูรณ์โดย เจริญเกียรติ ธนสุขถาวร พ.ศ. 2558 ปกแข็งราคา 695 บาท เพิ่งจะนำมาอ่านก่อนการเขียนบทความนี้

 

 

The Citadel เป็นหนังสือที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางเมื่อออกจำหน่ายตั้งแต่ครั้งแรก ด้วยเนื้อหาเล่าถึงปัญหาทางจริยธรรมในวงการแพทย์อังกฤษอย่างไม่เกรงใจ

มีตอนหนึ่งที่ได้เล่าถึงการรวมตัวกันเรื่องประกันสุขภาพของคนงานเหมืองถ่านหิน ซึ่งตรงนี้เองเป็นต้นแบบที่นักการเมืองพรรคแรงงานได้นำไปสร้าง NHS ในเวลาต่อมา ซึ่งก็คือหลังสงครามโลกครั้งที่สองไม่นาน คือเวลาที่อังกฤษไม่มีเงิน สงครามเพิ่งจะจบลง แต่เพราะไม่มีเงินนั่นแหละจึงต้องทำ ก่อนที่ประเทศชาติจะหมดตัวไปมากกว่านั้น

ไม่ใช่มีเงินแล้วจึงจะมาทำ

หนังสือถูกนำไปสร้างหนังอย่างฉับไวในปีต่อมาคือปี 1938 โดย King Vidor ผู้กำกับการแสดงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งเวลานั้น ผลงานของเขาที่คนรุ่นหลังอาจจะพอรู้จักบ้าง คือหนังปี 1959 ที่สร้างจากไบเบิล Solomon and Sheba นำแสดงโดย ยูล บรินเนอร์ และ จีน่า ลอลโลบริจิดา หนังดังและมีชื่อเสียง เมื่อนำกลับมาฉายซ้ำผู้เขียนได้ดูในโรงหนังในเวลาต่อมาด้วย

หนัง The Citadel ฉบับปี 1938 นี้นำแสดงโดย Robert Donat และ Rosalind Russell  เข้าชิงรางวัลออสการ์ 4 สาขา คือ หนังยอดเยี่ยม นักแสดงนำฝ่ายชาย ผู้กำกับการแสดง และบทภาพยนตร์ดัดแปลง หนังไปคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมจากเวที New York Film Critics Circle และ National Board of Review เป็นหนึ่งในหนังยอดเยี่ยมตลอดกาล 1,000 เรื่องของนิวยอร์คไทม์ หลังจากนั้นมีการสร้างหนังเรื่องนี้อีก 2 ครั้งคือเป็นหนังทีวีในปี 1960 และเป็นมินิซีรีส์ในปี 1983

ชีวิตจริงของนายแพทย์โครนินได้ไปทำงานตรวจรักษาคนงานเหมืองถ่านหินในเวลส์ และได้ทำการวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างผงถ่านกับโรคปอดที่เกิดแก่คนงาน มีช่วงหนึ่งที่เขาทำงานที่เมือง Tredegar ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเวลส์ โดยทำงานร่วมกับ Tredegar Medical Aid Society ที่ Cottage Hospital ซึ่งจะเป็นต้นแบบของ NHS ในเวลาต่อมา

นวนิยายเริ่มเรื่องในเดือนตุลาคม ปี 1924 นายแพทย์หนุ่มจบใหม่ แอนดรูว์ แมนสัน เดินทางด้วยรถไฟเพื่อไปทำงานที่เมืองดริเนฟฟี่ทางตอนใต้ของเวลส์

“…จะได้เป็นนายแพทย์เป็นครั้งแรก ซึ่งเขาจะได้ทำหน้าที่อยู่ในเมืองที่ประหลาดและป่าเถื่อนแห่งนี้” สำนวนของสายธาร

“เมื่อเขานึกถึงตำแหน่งหน้าที่แรกของอาชีพแพทย์ที่รอเขาอยู่ในชนบท ซึ่งมีสภาพเสื่อมโทรมและแปลกตาแห่งนี้” สำนวนแปลของเจริญเกียรติ ธนสุขถาวร

 

 

หมอแอนดรูว์ แมนสันเดินทางมาทำงานกับคุณหมอเพจด้วยค่าตอบแทนน้อยนิด ไม่นับว่าถูกภรรยาของคุณหมอเพจหักค่าหัวคิว ยิ่งไปกว่านั้นเขาเพิ่งจะพบว่าสุขภาพร่างกายของคุณหมอเพจทรุดโทรมอย่างหนักจนทำงานไม่ได้อีกแล้ว  ลงานทั้งหมดกำลังจะเป็นภาระของเขาคนเดียว

เป็นเมืองที่สภาพทั่วไปอยู่ในภาวะย่ำแย่ ระบบสุขาภิบาลและน้ำสะอาดใช้การไม่ได้ มีผู้ป่วยโรคไทฟอยด์อยู่เรื่อยๆ แอนดรูว์ได้พบกับนายแพทย์ฟิลิป เดนนี่ หมอฟิลิปดื่มจัด มีชื่อเสียงไม่สู้ดีนัก สองคนไม่ชอบหน้ากันในตอนแรกก่อนที่หมอฟิลิปจะยอมรับว่าหมอใหม่คนนี้มีดีอยู่ในตัว เขาชวนแอนดรูว์ไประเบิดท่อระบายน้ำเก่าคร่ำคร่าของเมืองด้วยกัน ด้วยทางการไม่ยอมแก้ไขปรับปรุงหรือสร้างให้ใหม่เสียที

แอนดรูว์และฟิลิปเป็นหมอที่ดี พวกเขารักษาผู้ป่วยยากจนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะและด้วยความเมตตา เป็นที่ไม่ต้องตาต้องใจของหมอคนอื่นๆ ในละแวกนั้น รวมทั้งภรรยาหมอเพจซึ่งสนิทชิดเชื้อกับนายธนาคาร แอนดรูว์พบรักกับครูโรงเรียนประถมคริสตีน บาร์โลในเวลาต่อมา

หลังจากสู้รบปรบมือกับคุณนายเพจ หมอท้องถิ่น รวมทั้งระบบค่าตอบแทนของนายแพทย์ซึ่งสมัครสามัคคีกับนายธนาคารอย่างใกล้ชิด แอนดรูว์ก็ลาออกจากงานที่เมืองนี้ไปสมัครงานที่ชุมชนเหมืองถ่านหินอเบราลอว์ซึ่งจะรับเฉพาะแพทย์ที่มีครอบครัวแล้วเท่านั้น เขาจึงขอคริสตีนแต่งงาน

แอนดรูว์เป็นเหมือนแพทย์หนุ่มทั่วไปที่ทำงานหนักโดยไม่ได้สังเกตโลกภายนอก วันหนึ่งเขาได้เดินทางไปประชุมวิชาการทางการแพทย์จึงพบว่าเพื่อนของเขาหลายคนร่ำรวยและมีชื่อเสียง พวกเขามีคนไข้มากและเก็บค่ารักษาพยาบาลได้มาก ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังมีเครือข่ายของการส่งต่อผู้ป่วยให้กันและกันเพื่อรักษาโรคเล็กๆ น้อยๆ แต่เก็บค่ารักษาพยาบาลเกินกว่าที่ควรจะเป็น

ตอนนี้หมอแอนดรูว์เริ่มไขว้เขว ในขณะที่คริสตีนภรรยาผู้แสนดีไม่ชอบใจเรื่องที่เห็นหรือได้ยินเอาเสียเลย

ที่อเบราลอว์นี้เองมีคนไข้หลายคนเป็นโรคปอด พวกเขาส่วนมากทำงานเหมืองถ่านหิน นั่นทำให้เขาได้โอกาสทำวิจัยเรื่องนี้และได้รับเกียรติคุณจากเรื่องนี้ตามสมควรแม้ว่าจะถูกปล้นเอาไปจากแพทย์ผู้ใหญ่ในเวลาต่อมา ในที่สุดเขาลาออกจากงานที่ทำแล้วย้ายไปลอนดอนด้วยความไม่เต็มใจของคริสตีน

ที่ลอนดอนเขาได้รู้จักกับเพื่อนๆ ที่เคยชวนเขาทำงานด้วยกันครั้งที่พบปะกันในงานประชุมวิชาการ บัดนี้เขาพบว่าการหาเงินจากผู้ป่วยขี้กังวลนั้นง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคง่ายๆ หรือการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น พวกเขาส่งต่อผู้ป่วยกลับไปมาและร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว แอนดรูว์ไม่เคยพบเงินเท่านี้และมีชีวิตสุขสบายเท่านี้มาก่อน

แต่ชีวิตครอบครัวไม่เป็นไปตามคาด คริสตีนไม่ชอบการกระทำเหล่านี้ สองคนมีปากเสียงบ่อยครั้ง แอนดรูว์กล่าวหาว่าภรรยาขัดขวางความก้าวหน้าและความสุขของเขา จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้พบเห็นเพื่อนศัลยแพทย์ลงมือผ่าตัดผู้ป่วยรายหนึ่งด้วยความไม่รู้ เขาตระหนักในตอนนั้นว่าเพื่อนเป็นหมอผ่าตัดที่ไม่มีความสามารถตามที่กล่าวอ้าง นี่เป็นการหลอกลวงอันไม่สามารถยอมรับได้ เขาได้สติและปรับความเข้าใจกับคริสตีน ดูเหมือนทุกอย่างกำลังจะไปด้วยดี

แล้วคริสตีนก็ถูกรถชนตาย

แอนดรูว์ได้พบกับนายแพทย์ชาวอเมริกัน ริชาร์ด สติลแมน ในเวลาต่อมา หมอริชาร์ดรักษาผู้ป่วยวัณโรคด้วยวิธีใหม่ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ ลำพังเรื่องเท่านี้ไม่น่าจะสร้างปัญหามากหากไม่เป็นเพราะว่าเขาได้เปิดโปงการกระทำอันผิดจริยธรรมของเพื่อนแพทย์ด้วยกัน นำไปสู่การพิจารณาคดีเพื่อถอดถอนความเป็นแพทย์ของเขาในตอนท้าย

เรื่องคนงานเหมืองถ่านหินจ่ายส่วนหนึ่งของค่าจ้างเพื่อประกันสุขภาพ ได้รับการรักษาฟรีและทำศพฟรีในกรณีเสียชีวิตจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจและเป็นแรงบันดาลใจให้ฝ่ายการเมืองก่อตั้งระบบประกันสุขภาพแห่งชาติในเวลาต่อมา

(ยังมีต่อ)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save