fbpx
ออสเลอร์และจริยธรรมทางการแพทย์

หลักประกันสุขภาพที่รัก (38) : ออสเลอร์และจริยธรรมทางการแพทย์ ตอนที่ 4 (จบ)

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

รัฐที่ใช้การได้จะแก้ปัญหาเชิงระบบมิให้นายแพทย์ทำงานหนักจนตาย และจะพยายามแก้ปัญหาการเงินของระบบหลักประกัน แต่ตอนนี้พวกเราต้องรอต่อไปก่อน

ในปี 1873 ออสเลอร์เริ่มหวั่นไหวกับการเงินและฐานะ รวมทั้งคิดเรื่องการเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา จดหมายจากจอห์นสันที่เขียนถึงเขาเมื่อเดือนมกราคมมีความว่า “ไม่ต้องสงสัยว่าคำแนะนำของโฮเวิร์ดเพื่อนเธอที่ให้เธอทุ่มเทกับการเรียนเวชปฏิบัติทั่วไปนั้นเป็นคำแนะนำที่ดี” และ “อย่าได้คิดถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจนกว่าเจ้าจะอายุสี่สิบ” และ “ถ้าเธออยู่ในฐานะที่มีรายได้ประจำถึงแม้จะน้อย ก็ดูให้ดีก่อนจะทิ้งมันไปหาอนาคตที่อาจจะมีเงินเดือนมากขึ้นแต่ไม่แน่นอน เพราะนกตัวเดียวในมือย่อมดีกว่าสองตัวในพุ่มไม้”

ที่เบอร์ลิน ออสเลอร์เรียนรู้ ฝึกปรือและคร่ำเคร่งกับศาสตร์แห่งการผ่าศพอย่างเอาเป็นเอาตาย ระหว่างนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นแล้วคือ

“วันที่ 24 เดือนธันวาคมปีนั้น จอห์น ฮอปกินส์ พ่อค้ามั่งคั่งคนหนึ่งที่บัลติมอร์ถึงแก่กรรม ทำพินัยกรรมยกมรดกให้ ‘อุปถัมภ์การศึกษาระดับอุดมศึกษา’ นักศึกษาหนุ่มผู้เพิ่งไปอยู่ที่เบอร์ลินได้สามเดือนไม่อาจล่วงรู้เลยถึงบทบาทของตนในอีกสิบหกปีต่อมาในการสร้างคณะแพทย์ขึ้นภายใต้มูลนิธิอันยิ่งใหญ่แห่งนี้”

ปลายทางการฝึกงานในยุโรปที่เวียนนา

“ผมใช้เวลาสี่ห้าเดือนแรกของปี 1874 ที่นี่” ออสเลอร์เขียนถึงเวียนนาอย่างพิสดารในจดหมายฉบับหนึ่งเพื่อแสดงให้เห็นอย่างลึกซึ้งว่าการแพทย์แห่งออสเตรียได้สร้างคุณูปการและส่งผลต่อพัฒนาการแพทย์ของโลกและสหรัฐอเมริกาอย่างไรในภายหลัง “ออสเตรียสามารถภูมิใจได้ในสิ่งที่โรงเรียนเวียนนาได้ทำเพื่อโลก และชื่อเสียงยังคงอยู่ แม้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าศูนย์กลางการแพทย์ได้ย้ายจากแม่น้ำดานูบไปแม่น้ำสปรีแล้ว ทว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย เทพีมีเนอร์วา เมดิกาไม่เคยมีวิหารหลักในประเทศใดประเทศหนึ่งนานเกินหนึ่งหรือสองชั่วอายุคน”

ออสเลอร์กลับแม็คกิลในปี 1874 ด้วยสภาพกระเป๋าแห้ง ถึงกระนั้นเขาก็สามารถรักษาสมดุลระหว่างการรักษาผู้ป่วย การสอน การวิจัย และการดำรงชีพได้อย่างน่าภาคภูมิ เขามีโอกาสได้อ่านเช็คสเปียร์อย่างเต็มที่ และยังคงชันสูตรพลิกศพด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งช่วยเหลือศัลยแพทย์คนอื่นในการนี้จนกระทั่งโรงพยาบาลมอนทรีอัล “หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องตั้งตำแหน่งพยาธิแพทย์ให้แก่เขา”

“เขาปลุกเร้าให้พวกเขาคงการอ่าน รักหนังสือ เข้าร่วมกับสังคมและหมั่นรายงานประสบการณ์” เป็นคำบรรยายเกี่ยวกับออสเลอร์และนักศึกษาแพทย์ “เขาอ้างถึงคำพูดของเซอร์โธมัส บราวน์ว่า ไม่มีใครควรเข้าสู่วิหารแห่งวิทยาศาสตร์ด้วยวิญญาณของพ่อค้าเงินตรา เขากล่าวถึงพันธะที่มีต่อคนจน ถึงปัญหาการดำรงชีพ ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ และจบด้วยการละเว้นของมึนเมา”

แพทย์ทุกคนรวย ประโยคนี้มีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย แม้นายแพทย์หลายคนจะพยายามปฏิเสธ แต่ก็ไม่อาจลบความจริงนี้ออกไปได้ มีนายแพทย์ส่วนน้อยที่ไม่รวย วิชาชีพนายแพทย์นำมาซึ่งโอกาสที่สูงกว่าประชาชนทั่วไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย

เป็นความจริงว่าแพทย์โรงพยาบาลของรัฐทำงานหนักและหลายคนทำงานหนักเกินคน แต่เรามีโอกาสมากกว่าชาวนาที่กำลังรอฝนซึ่งไม่ยอมตกเสียทีมากมายนัก แรงงานขั้นต่ำแบกหินขุดดินทั้งวันได้ 300 บาท นายแพทย์โรงพยาบาลเอกชนตรวจไข้หวัดครั้งหนึ่งได้มากกว่า 300 บาท การได้เงินมิใช่เรื่องผิดในตัวเอง แต่ขอเพียงระลึกเรื่องเหล่านี้เอาไว้เสมอๆ เราก็จะธำรงจริยธรรมที่ดีเอาไว้ได้

ที่แม็คกิลนี้เองที่ออสเลอร์ได้สร้างธรรมเนียมปฏิบัติที่จะสืบสานกันต่อไปทั่วโลกในโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งจนกระทั่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่รู้จักกันทั่วไปนั่นคือ สโมสรวารสาร (Journal Club)

“สี่ปีในห้องชันสูตรศพของโรงพยาบาล กับงานคลินิกช่วงที่ไข้ทรพิษระบาด ดูเหมือนจะเป็นใบรับรองให้คณะกรรมการกำกับนโยบายของโรงพยาบาลแต่งตั้งผมเป็นแพทย์เต็มขั้นในปี 1878 ข้ามหัวบรรดาผู้ช่วยแพทย์ไป ตอนนี้มันเป็นเรื่องน่าอายสำหรับผม”

จะเห็นว่าความถ่อมตนมักเป็นสมบัติพื้นฐานของคนขยันและความไม่สบายใจมักเกิดขึ้นแก่คนขยันเมื่อได้รับรางวัลอะไรบางอย่าง

“มีเรื่องที่น่าสังเกตเกี่ยวกับอาชีพพยาธิแพทย์ของออสเลอร์ ทั้งที่มอนทรีอัลและฟิลาเดลเฟีย” และ “นั่นคือความเปิดเผยของเขาต่อความผิดพลาดในการวินิจฉัยของตนเอง เพราะถ้ามีสิ่งใดปรากฏออกมาว่าได้ถูกมองข้ามหรือเข้าใจผิดไป เขาจะพูดถึงมันเป็นพิเศษและเรียกทุกคนไปดู แต่กับความผิดพลาดของคนอื่นนั้น เขาไม่เคยมีความยินดีแม้แต่น้อย”

ธรรมเนียมปฏิบัตินี้กลับถูกละเลยในระยะหลังทำให้สภาพการประชุมของโรงเรียนแพทย์รวมทั้งโรงพยาบาลบางแห่งกลายเป็นเวทีฉีกหน้าความผิดพลาดของกันและกัน โดยปราศจากการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดไปเสีย

นอกเหนือจากไข้ทรพิษที่ออสเลอร์ได้คลุกคลีอย่างใกล้ชิดที่มอนทรีอัลแล้ว อย่าลืมว่านั่นเป็นเวลาที่งานของลิสเตอร์ ค็อค   และปาสเตอร์เพิ่งจะปรากฏ ความรู้ความเข้าใจเรื่องเชื้อโรคในวงการแพทย์เพิ่งจะเริ่มต้น ทั้งนี้ยังไม่นับเรื่องวัณโรคและโรคที่เกิดจากปรสิต ความท้าทายใหม่ๆ เหล่านี้ถูกออสเลอร์ทำให้กระจ่างด้วยการทำงานอย่างจริงจัง ผ่าศพอย่างต่อเนื่อง ตรวจชันสูตรด้วยกล้องจุลทรรศน์อย่างสม่ำเสมอ จดบันทึกอย่างละเอียด เขียนงานวิชาการตีพิมพ์วารสาร เข้าการประชุมวารสารสโมสรไม่เคยขาด และสอนนักศึกษาแพทย์ข้างเตียงไม่เคยเว้น

เดือนกรกฎาคม ปี 1883 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน (Fellow of the Royal College of Physicians of London) ราชวิทยาลัยแห่งนี้ซึ่งเขาเป็นสมาชิกอยู่แล้วด้วยการสอบในปี 1878 อาจเป็นสมาคมเก่าแก่ที่สุดของอายุรแพทย์ในยุโรป ธรรมนูญได้รับการอนุมัติจากพระเจ้าเฮนรีที่แปดในปี 1518 ก่อตั้งโดยอายุรแพทย์สามคนของกษัตริย์ ปฏิกิริยาจากเพื่อนร่วมงานชาวแคนาดาของเขาต่อการได้รับคัดเลือกครั้งนี้สะท้อนอยู่ในจดหมายมากมายตีพิมพ์ลงวารสารทุกฉบับของเขตปกครองอังกฤษ

ตำแหน่งที่ได้มาด้วยอายุยังน้อยและเป็นเพียงชาวแคนาดาหนึ่งในสองคนที่ได้รับเกียรติประวัตินี้มิใช่ของเล่น ในการประชุมว่าด้วยจริยธรรมการแพทย์ในแพทยสมาคมแคนาดาที่คิงสตันปรากฏเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงหลักการของออสเลอร์ได้เป็นอย่างดี

“มี ดร.ดี คนหนึ่งอ่านรายงานเรื่อง ความประพฤติของบุคคลในวงการแพทย์ต่อกันและกัน และคนไข้ของกันและกัน ซึ่งเขาเยาะเย้ยขนบที่เรียกร้องให้ผู้มาใหม่ต้องไปหาผู้ที่อยู่มาก่อน อ้างว่ามันสมเหตุสมผลโดยสมบูรณ์ที่จะรายงานเคสการผ่าตัดหรือเคสที่รักษาเป็นพิเศษในหนังสือพิมพ์ และกล่าวต่อว่า ‘เอาคนไข้ทุกคนที่คุณเอาได้ไป แล้วเก็บไว้เองถ้าคุณทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงถึงผู้ดูแลคนก่อน’ มีไม่กี่ครั้งที่ออสเลอร์จะโกรธจัดด้วยเหตุผลอันควร และครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น เล่ากันว่า เมื่อถึงบทสรุปของรายงานอันน่าทึ่งนี้ เขาลุกขึ้นแล้วโบกประมวลจรรยาบรรณ (Code of Ethics)ใส่หน้าคนอ่าน  และประณามเขาอย่างเปิดเผยท่ามกลางการตกตะลึงของเพื่อนฝูง”

เป็นอีกหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติทางการแพทย์ที่เขาพยายามวางรากฐานไว้ แต่กาลเวลาได้พิสูจน์ว่าล้มเหลวในเวลาต่อมาเมื่อการแพทย์ในปัจจุบันแย่งชิงผู้ป่วยกันเป็นว่าเล่นหากมีผลตอบแทนที่เย้ายวน

เกี่ยวกับการเมือง ออสเลอร์เขียนจดหมายฉบับหนึ่งสะท้อนปัญหาการต่อต้านยิวในเบอร์ลินความตอนหนึ่งว่า

“แต่เชื่อว่าจะไม่มีวิชาชีพใดไม่สูญเสียเพชรเม็ดงามที่สุดของตนไป และไม่มีวิชาชีพใดจะสูญเสียหนักไปกว่าวิชาชีพของเรา    ผมหวังว่าจะสามารถหาข้อมูลที่อ้างอิงได้เกี่ยวกับจำนวนที่แน่นอนของศาสตราจารย์และอาจารย์เชื้อสายฮิบรูที่อยู่ในคณะแพทย์ต่างๆ ในเยอรมัน ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก”

ปี 1884 เป็นปีที่สำคัญปีหนึ่งของโลกการแพทย์เมื่อออสเลอร์จากมอนทรีอัลไปฟิลาเดลเฟียเพื่อรับตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติยศทางเวชศาสตร์ทางคลินิกที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เท่ากับเป็นการปิดฉากครึ่งชีวิตของเขาที่แคนาดาเมื่ออายุ 35 ปี แล้วเริ่มต้นครึ่งชีวิตที่เหลือกับงานที่ยิ่งใหญ่บนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา นั่นคือเป็นส่วนหนึ่งของการก่อตั้ง สถาบันจอห์น ฮอปกินส์

เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์เป็นแพทย์รุ่นก่อตั้งคนที่สองในจำนวนสี่คนของสถาบันจอห์น ฮอปกินส์ เขาคือผู้ปฏิวัติหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษาในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาโดยดึงเอาส่วนที่ดีที่สุดของหลักสูตรแพทยศาสตร์ในอังกฤษและเยอรมันมาใช้

เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ คือผู้วางหลักการพื้นฐานของแพทยศาสตร์ศึกษา นั่นคือต้องสอนนักศึกษาแพทย์ที่ข้างเตียง เขาเชื่อว่านักศึกษาแพทย์จะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อเริ่มต้นที่ข้างเตียงคนไข้และจบที่ข้างเตียงคนไข้ ตำรับตำราและการฟังบรรยายเป็นเพียงส่วนประกอบเพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด

เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ คือผู้เริ่มต้นหลักสูตรแพทย์ฝึกหัดหนึ่งปีหลังจากจบแพทย์ และหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านหลังจากนั้น รวมทั้งกำหนดให้นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 และ 4 ต้องขึ้นเรียนข้างเตียงกับผู้ป่วยเร็วที่สุด

เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ คือผู้วางรูปแบบการเดินราวนด์ที่มีนักศึกษาแพทย์กลุ่มเล็กๆ ติดตามอาจารย์หรือแพทย์ประจำบ้านไปตามหอผู้ป่วยในทุกๆ เช้า

เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ทำงานที่สถาบันจอห์น ฮอปกินส์นาน 16 ปี ในปี 1905 เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์เรเจียสทางแพทยศาสตร์ (Regius Professorship of Medicine) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 70 ปี

กลับไปที่วาทะสำคัญของเขาในตอนต้นอีกครั้งหนึ่ง “Listen to your patient, he is telling you the diagnosis.” “ฟังผู้ป่วยของคุณ  เขากำลังบอกการวินิจฉัยโรคแก่คุณ” วาทะนี้อาจตีความได้สองความหมาย ความหมายแรกตรงตามตัวอักษรนั่นคือขอให้แพทย์นั่งฟังผู้ป่วยเล่าประวัติของตนเองอย่างตั้งใจ การฟังอย่างตั้งใจนั้นเองที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถบอกข้อมูลที่เป็นประโยชน์แท้จริง

ความหมายที่สองคือแพทย์อย่าได้ถือสาเรื่องราวจากปากผู้ป่วยที่มักอ้อมค้อม นอกเรื่อง ไม่ตรงประเด็น หรือแม้กระทั่งฟังเผินๆ ออกจะไร้สาระ เพราะการฟังอย่างตั้งใจนั้นย่อมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ สัมพันธภาพที่ดีจะช่วยให้การตรวจค้นหรือสืบค้นต่อไปกระทำได้ง่ายยิ่งขึ้นอันจะนำมาซึ่งการวินิจฉัยที่ถูกต้องในตอนท้าย

เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์มีความสามารถหลายด้านก็จริง หนังสือชุดนี้เล่าเรื่องราวมากมายหลายด้านเหล่านั้นอย่างละเอียด อย่างไรก็ตามแพทย์ต้องไม่ละทิ้งเรื่องสำคัญที่สุดของความเป็นแพทย์ นั่นคือวินิจฉัยให้แม่นยำและรักษาผู้ป่วยเต็มความสามารถ

หากเราทำหน้าที่สองอย่างนี้อย่างดีที่สุดภายใต้ภาระงานหนักอึ้ง รายได้จะเข้ามาหาเอง แม้ว่าประเทศจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ตาม ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องคัดค้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพียงเพราะถือหุ้นในโรงพยาบาลเอกชน เรามิได้รวยน้อยลงสักเท่าไร ในทางตรงข้ามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้เราสามารถใช้ฝีมือสุดความสามารถโดยไม่ต้องพะวงการเงินของผู้ป่วย

 

 


เนื้อหาประวัติของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์อ้างอิงจากหนังสือ ชีวิตของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ 2 เล่มจบ และรวมเชิงอรรถอีก 1 เล่ม นายแพทย์ฮาร์วีย์ คุชชิง เขียน วิภาดา กิตติโกวิท แปล คำนำเสนอโดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน พ.ศ. 2558

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save