fbpx
ออสเลอร์และจริยธรรมทางการแพทย์

หลักประกันสุขภาพที่รัก (37) : ออสเลอร์และจริยธรรมทางการแพทย์ ตอนที่ 3

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

“คนเราไม่มีทางเท่ากันหรอกครับ หน้าตาก็ไม่เหมือนกันแล้ว แล้วสิ่งที่เรียกร้องกันว่าอยากเท่าเทียมกัน การศึกษาก็ไม่ได้เท่ากัน การมีมนุษยสัมพันธ์ก็ไม่ได้เท่ากัน ไม่มีอะไรเท่ากันหรอกครับ”

องค์ประกอบของจริยธรรมทางการแพทย์ ระบุไว้ในตำราแพทย์ทุกเล่มว่าประกอบด้วย 4 เรื่องที่คานน้ำหนักกันอยู่ตลอดเวลา คือ ผู้ป่วยเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy), ประโยชน์ของผู้ป่วย (Beneficence), ไม่ทำร้ายผู้ป่วย (First Do No harm) และ ความเท่าเทียม (Equity)

เรามาอ่านประวัติของ เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ ต่อ ว่าท่านได้พูดหรือเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอย่างไร

จากการศึกษาด้านธรรมชาติวิทยาและเทววิทยาในวัยหนุ่ม วิลเลียม ออสเลอร์ มีโอกาสที่ดีในการศึกษาวรรณกรรมและวรรณคดีอีกด้วย ดังที่ทราบกันว่าวรรณคดีมีคุณูปการมากที่สุดต่อการใช้ภาษาและอุปมาอุปมัย

“ถ้าอิทธิพลของจอห์นสันต่อเด็กหนุ่มนั้นว่าสูงแล้ว อิทธิพลของโบเวลล์ก็จะยิ่งมากกว่าและคงทนกว่า” เจมส์ โบเวลล์ จบแพทย์จากกลาสโกว์  เป็นผู้ร่วมก่อตั้งภาควิชาการแพทย์ที่ทรีนีตีคอลเลจ โรงเรียนแพทย์แห่งแคนาดาตอนบน ในเวลาต่อมาโบเวลล์เข้าร่วมงานที่คณะโรงเรียนแพทย์โทรอนโต แต่สำหรับที่ทรีนีตี โบเวลล์มีตำแหน่งศาสตราจารย์ทางเทววิทยาธรรมชาติ นี่คือบุคคลสำคัญอย่างสูงอีกคนหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของออสเลอร์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ “ที่ซึ่งเขาบรรยายเกี่ยวกับสรีรวิทยาและพยาธิวิทยาจนถึงปี 1875 วิชาเฉพาะของเขาและเขาชอบคือสรีรวิทยาในเชิงสัมพันธ์กับแนวคิดทางเทววิทยา!”

จะเห็นว่าในที่สุดพยาธิวิทยาและเทววิทยาก็ได้เดินทางมาหาออสเลอร์ในช่วงเวลาที่สำคัญ ความหลงใหลในกล้องจุลทรรศน์ พยาธิวิทยา เทววิทยา และที่ขาดไม่ได้คือความเป็นนักอ่านในศาสตร์เทววิทยาอย่างลึกซึ้ง ทำให้ออสเลอร์กลายเป็นนายแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์มากที่สุดคนหนึ่งในอนาคต กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “การประสานกันอย่างงดงามของแพทยศาสตร์และเทววิทยา”

เมื่อถึงฤดูร้อนปี 1868 “เขากลับทรีนีตีไปเรียนศิลปศาสตร์ปีที่สอง แต่หลังจากทนอยู่สี่ห้าวัน ก็ประกาศต่อพ่อแม่และอธิการบดีมหาวิทยาลัยว่าตัดสินใจจะหันไปเรียนด้านการแพทย์”

หนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงสมองและจิตใจที่งดงามของเขา คือคุณสมบัติพื้นฐาน 4 ข้อของนักศึกษาแพทย์ที่เขาได้วางรากฐานเอาไว้ในเวลาต่อมา ได้แก่ หนึ่ง ศิลปะแห่งการวางเฉย (Art of Detachment) สอง ความถูกต้องของวิธีการ สาม คุณภาพของความละเอียดถี่ถ้วน และสี่ ความงามของการถ่อมตน

เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งแพทยศาสตร์อเมริกันสมัยใหม่ เขาได้วางรากฐานสำคัญไว้หลายเรื่อง เช่น การสอนนักศึกษาแพทย์ การใช้ชุดกาวน์สีขาว การเดินตรวจผู้ป่วยตามเตียงเป็นกลุ่มอย่างที่เรียกว่าแกรนด์ราวนด์ (grand round) รวมทั้งศิลปะแห่งการวางเฉย

ออสเลอร์เขียนว่าแพทย์จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า equanimity ในบทความปี 1910 เรื่อง ‘Aequanimitas’ ของเขา “แพทย์ต้องพยายามควบคุมการแสดงอารมณ์ทางร่างกายของเขาที่มีต่อผู้ป่วย” และ “เส้นโลหิตจะไม่หดตัว หัวใจจะยังเต้นคงที่ แม้ว่าจะได้เห็นภาพน่าสะพรึงกลัว”

ชุดสีขาวที่นายแพทย์สวมใส่และลักษณะการตั้งคำถามที่บางครั้งดูเหมือนนักสืบกำลังสอบสวน แม้แต่ความยาวของหูฟัง (stethoscope) เหล่านี้เป็นเครื่องมือทางกายภาพที่ทำให้ระยะห่างระหว่างนายแพทย์และผู้ป่วยคงที่ ไม่ใกล้เกินไปจนบดบังการตัดสินใจที่ดีของนายแพทย์ และไม่ห่างเกินไปจนนายแพทย์เฉยเมยมากเกินพอดี

นี่คือการรักษาสมดุลระหว่างมาตรฐานการแพทย์ที่ดีที่สุดกับความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์

ถึงปี 1868 เขาจึงไปศึกษาต่อที่โรงเรียนแพทย์โตรอนโต จากนั้นไปเรียนต่อที่คณะแพทย์มหาวิทยาลัยแม็คกิลในมอนทรีอัลเมื่อปี 1870

ตอนนั้นเขาอายุ 21 ปี

“เมื่อผมเริ่มงานในปี 1870 นั้น โรงพยาบาลทั่วไปมอนทรีอัล เป็นอาคารเก่าๆ เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียคอคคัสกับหนู แต่สิ่งที่มีค่ายิ่งสำหรับนักศึกษามีอยู่สองอย่าง นั่นคือโรคร้ายแรง และอาจารย์แพทย์ที่เก่งมากกลุ่มหนึ่ง โรคปอดบวม วัณโรคปอด ภาวะพิษติดเชื้อ (sepsis) และโรคบิดแพร่กระจายอยู่ทั่วไป”

“การสอนผู้ป่วยข้างเตียงนั้นยอดเยี่ยม และการบันทึกข้อมูลคนไข้ต้องทำจริงจัง”

“คนอย่างพาล์มเมอร์ โฮเวิร์ด ทำทุกอย่างที่ทำได้ในฐานะของตน เขาทำงานหนักที่โรงพยาบาล ศึกษาวรรณคดี เขียนบทความชั้นเลิศ สอนด้วยความใส่ใจและความแม่นยำเป็นพิเศษ”

จะเห็นว่าบัดนี้วิลเลียม ออสเลอ ร์ได้พบบุคคลที่เป็นแสงนำทางแห่งชีวิตคนที่สามคือ นายแพทย์พาล์มเมอร์ โฮเวิร์ด ซึ่งจะเป็นตัวอย่างของการเป็นอาจารย์แพทย์ที่ดี ข้อน่าสังเกตคือบุคคลสำคัญในชีวิตสามคนแรกของเขา ล้วนมีความใส่ใจเป็นพิเศษในศาสตร์ที่ไม่น่าจะเคียงคู่กับการแพทย์ จอห์นสันเป็นพระและนักธรรมชาติวิทยา โบเวลล์เป็นนักเทววิทยา ส่วนโฮเวิร์ดสนใจในวรรณคดี

ศาสตร์เหล่านี้มีผลต่อการกล่อมเกลาจิตใจและวิธีการทำงานของสมองทั้งสิ้น

ดังที่จดหมายฉบับหนึ่งจากจอห์นสันเขียนถึงออสเลอร์ในวันคริสตมาสปี 1870 ที่ว่า “มอนทรีอัลเหมาะกับเธออย่างแน่นอน ครูไม่อาจหาของขวัญที่ดีไปกว่างาน เช่น Preparation for Death (การเตรียมพร้อมสู่ความตาย)โดยอัลฟอนโซ บิช็อป แห่งอกาธาอีกแล้ว” และอีกข้อความหนึ่ง “วันแห่งการตายของคนคนหนึ่งนั้น ดีกว่าวันแห่งการเกิดของเขา”

ในฤดูร้อนปี 1871 ออสเลอร์อยู่ที่มอนทรีอัล “ระยะนี้เองที่เขาเริ่มสร้างความสัมพันธ์ฉันพ่อลูกกับพาล์มเมอร์ โฮเวิร์ด ซึ่งยกห้องสมุดให้เขาใช้ได้อย่างเต็มที่” และ “ออสเลอร์หาเวลาอ่านวรรณกรรมทั่วไปจนกระทั่งเชี่ยวชาญได้อย่างไรนั้น ยังเป็นเรื่องลี้ลับสำหรับเพื่อนจำนวนมากของเขา” และ “นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่จะจมกับงานของตนมากเกินกว่าจะทำกิจกรรมด้านวรรณกรรมแบบนี้”

วรรณคดีเป็นคลังคำที่ดีที่สุด คลังคำที่มากกว่าการช่วยให้นายแพทย์เข้าใจความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของผู้ป่วยมากกว่า แต่ก็เป็นไปตามที่ออสเลอร์เขียนเอาไว้ในภายหลัง คือเข้าใจแต่ไม่พัวพัน และมีแต่แพทย์ที่มีความนิ่งสงบของอารมณ์เท่านั้นที่จะเข้าใจอารมณ์และความต้องการของผู้ป่วยตามที่เป็นจริง

วรรณคดีช่วยให้คนเราเข้าใจความคิดซับซ้อนของบุคคล “แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด” เป็นความจริงที่ว่าหลายต่อหลายครั้งที่คนเราไม่สามารถแสดงความต้องการที่แท้จริงในใจออกมาเป็นคำพูดได้

กลับไปที่ตัวอย่างผู้ป่วยไม่สมัครใจอยู่โรงพยาบาลอีกครั้ง ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งขอกลับบ้าน ไม่ยอมรักษาต่อ ด้วยวาจาที่พูดออกมาว่า “ขอไปตายบ้าน” แต่บางครั้งโรคร้ายที่เห็นอยู่นั้นรักษาได้ และแพทย์ก็รู้ดีว่ารักษาได้ เช่น หากตัดขาที่เนื้อตายแล้วทิ้งไป ก็จะช่วยชีวิตผู้ป่วยเอาไว้ได้ เป็นต้น

เช่นนี้นายแพทย์จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างองค์ประกอบของจริยธรรมทางการแพทย์ทั้งสี่ คือ ผู้ป่วยมีสิทธิ ผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ทำร้ายผู้ป่วย และตัดสินใจด้วยความเท่าเทียม นายแพทย์จะชั่งน้ำหนักได้ดีเมื่อตนเองไม่มีอารมณ์พัวพันกับผู้ป่วย ธำรงมาตรฐานทางการแพทย์ ปรารถนาดีต่อผู้ป่วยอย่างถึงที่สุด แต่เท่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ

ที่นายแพทย์จำเป็นต้องมีคือความสามารถที่จะล่วงรู้ว่าที่แท้แล้วผู้ป่วยต้องการอะไรกันแน่ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่ากลับบ้านคือตายแน่ ทั้งที่โรคร้ายนั้นยังมีหนทางรักษาอีกมาก

อีกข้อที่นายแพทย์จำเป็นต้องมี คือความเท่าเทียม

เวลานั้นออสเลอร์อายุ 22 ปี  นอกเหนือจากที่กล่าวมาเขายังสนใจปรสิตวิทยาและการผ่าศพอย่างลึกซึ้ง ดังที่ปรากฏให้เห็นในประวัติชีวิตตอนต้นของเขาหลายต่อหลายครั้ง

“สอบสวนสาเหตุการตาย ตรวจสอบอย่างละเอียดในสภาพอวัยวะ หลังจากที่การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้เกิดขึ้นในพวกมันจนทำให้การดำรงอยู่เป็นไปไม่ได้ และใช้ความรู้นี้ไปป้องกันและรักษาโรค นี่คือหนึ่งในวัตถุประสงค์สูงสุดของแพทย์”

ออสเลอร์จบแพทย์ในปี 1872 เมื่ออายุ 23 ปี หลังจากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่ลอนดอน เบอร์ลิน เวียนนา และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในปีต่อมา

“ฤดูร้อนปี 1872 หลังการท่องเที่ยวระยะสั้นๆ รอบดับลิน กลาสโกว์ และเอดินบะระ ผมก็ปักหลักที่ห้องปฏิบัติการทางสรีรวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยยูซีกับโปรเฟสเซอร์เบอร์ดอน แซนเดอร์สัน ผมอยู่ที่นั่นราวสิบห้าเดือน ศึกษาจุลกายวิภาคศาสตร์ด้านเนื้อเยื่อ (histology)กับสรีรวิทยา จากที่นั่นผมมองข้ามถนนไปยังโรงพยาบาล ผมเห็นระบบอังกฤษอันน่าชมดำเนินไปอย่างเต็มสูบ โดยมีงานวอร์ดที่ทำโดยนักศึกษาเองเป็นโครงหลัก”

นี่คือช่วงเวลาที่ออสเลอร์เฝ้ามองและเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการแพทย์ยุโรป ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการวางรากฐานให้แก่การแพทย์อเมริกันในเวลาต่อมา

(ยังมีต่อ)

 

 


เนื้อหาประวัติของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์อ้างอิงจากหนังสือ ชีวิตของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์  สองเล่มจบ และรวมเชิงอรรถอีก 1 เล่ม นายแพทย์ฮาร์วีย์ คุชชิง เขียน วิภาดา กิตติโกวิท แปล คำนำเสนอโดยนายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน พ.ศ. 2558

เนื้อหาเรื่อง Equanimity ของเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ เก็บความจากหนังสือ From Detached Concern to Empathy เขียนโดย Jodi Halpern , Oxford University Press 2011

 

ย้อนอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ :

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save