fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (34) : ห้าปีที่สูญหาย

หลักประกันสุขภาพที่รัก (34) : ห้าปีที่สูญหาย

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์  เรื่อง

 

ขณะเขียนต้นฉบับนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในยุคเริ่มต้นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย

วันที่ 11 เมษายน 2557 ขบวนประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางถึงกระทรวงสาธารณสุข โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขและข้าราชการจำนวนมากให้การต้อนรับ มีนายแพทย์จากชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปปรากฏให้เห็นในภาพข่าว และมีนายแพทย์ชั้นผู้ใหญ่จากแพทยสภารวมทั้งตัวแทนสภาการพยาบาลรออยู่ที่ห้องประชุมด้วย (ไทยโพสต์, คมชัดลึก 11 เมษายน 2557)

รายงานข่าวว่ามีการมอบนกหวีดทองคำ ดำหัวเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ปลัดกระทรวงเสนอแผนปฏิรูประบบสาธารณสุข ปฏิรูปประเทศ และการสร้างความเข้มแข็งระบบราชการ

ไม่เห็นแพทย์จากชมรมแพทย์ชนบท แพทย์จากตระกูล ส. และเอ็นจีโอสายสุขภาพในภาพข่าววันนั้น แต่เป็นที่ปรากฏว่ามีตัวแทนจากทั้งสามหน่วยนี้ขึ้นเวที กปปส. สม่ำเสมอ

สองขั้วตรงข้ามของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขั้วหนึ่งคือกระทรวงสาธารณสุข ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และแพทยสภาซึ่งมีส่วนหนึ่งเป็นตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน  อีกขั้วหนึ่งคือชมรมแพทย์ชนบท เอ็นจีโอสายสุขภาพ และแพทย์ตระกูล ส. ซึ่งทั้งสองขั้วเคยโต้เถียงกันเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาโดยตลอด แต่บัดนี้ได้จับมือกันขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์

อาจเป็นเพราะรัฐบาลได้กระทำการอันปล่อยไว้มิได้ และศัตรูของศัตรูคือมิตรของเรา ที่เป็นเรื่องน่าแปลกใจคือชมรมแพทย์ชนบท เอ็นจีโอสายสุขภาพ และแพทย์ตระกูล ส. มีส่วนร่วมในการเชื้อเชิญอำนาจนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาแก้ไขปัญหา

จนกระทั่งเกิดปัญหาใหม่ที่เรื้อรังมานาน 5 ปี

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีตระกูล ส. หน่วยเดียวที่ไม่แสดงออกทางการเมือง คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยตรง และมีนายแพทย์มงคล ณ สงขลา เพียงคนเดียวที่ได้ออกมากล่าวคำขอโทษต่อสาธารณะ

เวลามีการประชุมคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสถานบริการสาธารณสุข ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วิชาชีพและเอ็นจีโออยู่คนละฟากเสมอ มีการล็อบบี้และล็อคโหวตในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนโรงพยาบาลที่เข้ามาอยู่เรื่อยๆ เอ็นจีโอสายสุขภาพแพ้โหวตอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอด้วยจำนวนมือที่น้อยกว่า อย่างไรก็ตามกระบวนการเหล่านี้อยู่ในวิถีประชาธิปไตย

เวลามีการทำแผนยุทธศาสตร์โรงพยาบาล ในขั้นตอนการวิเคราะห์สวอท (SWOT analysis) เมื่อถึงการกำหนดภาวะคุกคาม คือ T-threatened ผู้อำนวยการหลายโรงพยาบาลให้บรรจุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไว้ที่ช่องภาวะคุกคาม บางท่านพูดว่า “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นศัตรูของเรา” การชี้นำเช่นนี้เป็นที่ยอมรับได้ เพราะจะอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยู่ในวิถีประชาธิปไตย

แต่สมมติว่าโรงพยาบาลเอาเรื่องความเท่าเทียมและการเข้าถึงบริการเป็นตัวตั้ง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรจะย้ายไปอยู่ที่ช่องโอกาส คือ O- opportunity เพราะนี่คือโอกาสที่โรงพยาบาลจะได้แสดงตนให้ท้องถิ่นและประชาชนรอบโรงพยาบาลเห็นว่าเรา “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”  ดังพระราชดำรัสของพระบิดา

 

พระราชดำรัส สมเด็จพระมหิตลาเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 

หากเอาการเงินของโรงพยาบาลเป็นตัวตั้ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผู้ป่วยบัตรทอง ย่อมเป็นภาวะคุกคาม และว่าที่จริงแล้วลูกจ้างตามกฎหมายประกันสังคมเป็นภาวะคุกคามมากยิ่งกว่า แผนยุทธศาสตร์ร่างขึ้นเพื่อขจัดหรือลดความเสียหายจากภาวะคุกคาม เป็นโชคดีของผู้ป่วยบัตรทองที่ยังมีเอ็นจีโอสายสุขภาพอีกจำนวนหนึ่งคอยเฝ้าระวัง การบริการจึงมิได้ย่ำแย่มากนัก แต่สำหรับลูกจ้างประกันสังคม เป็นที่ล่วงรู้กันว่าสถานการณ์ลำบากกว่ากันมาก

นโยบายประหยัดรายจ่ายถูกนำมาใช้กับผู้ป่วย แทนที่จะใช้กับนโยบายยาต่างประเทศ การท่องเที่ยวดูงาน การเลี้ยงรับรองข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ การจัดเลี้ยงเกษียณอลังการเกินพอเพียง เป็นต้น

หากเงินโรงพยาบาลไม่พอบริการประชาชน  เรื่องที่ควรจัดการก่อนกลับจะเป็นเรื่องรั่วไหลทางอื่นซึ่งมีอยู่มากมาย เป็นไปตาม “ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรทั้งนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทให้ใช้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า” ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

โอกาสอีกข้อหนึ่งคืองานส่งเสริมป้องกัน ดังที่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่างานรักษาใช้เงินมาก งานส่งเสริมป้องกันใช้เงินน้อยกว่า แต่ถ้าทำสำเร็จจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยได้ นำมาซึ่งการประหยัดงบประมาณด้านรักษาพยาบาลครั้งใหญ่ แต่งานส่งเสริมป้องกันที่ทำกันไม่พ้นการทำแผ่นพับแจก บรรยายสุขศึกษา ถือป้ายเดินรณรงค์ และออกหน่วยเยี่ยมบ้าน ไม่มีงานส่งเสริมป้องกันระดับเปลี่ยนแปลงระบบ

งานส่งเสริมป้องกันเป็นงานที่ทำได้ยาก ทำเชิงระบบยิ่งยาก เหตุเพราะส่วนท้องถิ่นไม่มีอิสระในการจัดการตนเองมากพอ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการตนเองเรื่องงบประมาณหรือวิธีการ หากคิดจะปฏิรูปประเทศไทยจริงก็ควรทำเรื่องท้องถิ่นจัดการตนเองก่อน แต่ดูเหมือนงานปฏิรูปที่ว่ากันกลับเห็นดีเห็นงามกับอำนาจนอกระบบไปเสียได้

ฝุ่นควันพิษในภาคเหนือตอนบนเป็นตัวอย่างล่าสุด โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งยอดผู้ป่วยและผู้ตายสูงขึ้น รวมทั้งที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่ค่าฝุ่นละอองทะลุเพดานความปลอดภัยไปไกลมาก บางวันมองไม่เห็นอีกฟากของถนน นักวิชาการและแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พยายามสุดฝีมือที่จะช่วยเหลือตนเองมานานนับสิบปีโดยไร้ผล เพราะขาดอิสระในการจัดการตนเอง

ขนาดของปัญหาที่ควรแก้ไขด้วยการทำงานด้านส่งเสริมป้องกัน กำลังมีขนาดใหญ่โตขึ้นทุกขณะ และระบบสาธารณสุขที่เป็นอยู่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย อันจะเป็นภาวะคุกคามต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ในที่สุด

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Health

11 Jan 2018

“ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” ยากันล้ม : คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

การหกล้มหนึ่งครั้ง คุณอาจไม่ได้แค่เจ็บตัว แต่อาจเจ็บใจ (ที่น่าจะรู้วิธีป้องกันก่อน) และอาจเจ็บลามไปถึงคนใกล้ตัว ที่ต้องเข้ามาช่วยดูแล

จะดีแค่ไหน ถ้าเรามี “ยากันล้ม” ที่มีสรรพคุณเป็นคู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

กองบรรณาธิการ

11 Jan 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save