fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (30) : หมอกควันเป็นปัญหาระดับชาติ

หลักประกันสุขภาพที่รัก (30) : หมอกควันเป็นปัญหาระดับชาติ

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

ข้อเขียนนี้เขียนจากความทรงจำ อันงดงาม ต่อแผ่นดินอันเป็นที่รัก

ตอนที่ผู้เขียนเดินทางมาทำงานที่จังหวัดเชียงรายครั้งแรก คือปี พ.ศ.2526 เวลานั้นทุกๆ หน้าร้อน ท้องฟ้าเป็นสีเหลือง เราเรียกว่าฟ้าหลัว

 

 

เวลาล้างรถสะอาดๆ มีขี้เถ้าเป็นแผ่นๆ ลอยลงมาบนตัวรถเสมอๆ แผ่นขนาด 0.5-1 เซนติเมตร เห็นได้เป็นธรรมดา ถามชาวบ้านก็ว่าเกิดจากการเผา มีทั้งเผาป่าและเผาใบไม้ตามบ้าน

เรื่องเผาใบไม้ตามบ้านนี้ ออกจะเป็นเรื่องธรรมดา ใบไม้แต่ละบ้านนั้นมีมากมาย ขับรถไปตามหมู่บ้านก็จะเห็นว่ากองพะเนิน ไม่เผาก็ต้องฝัง แรงงานที่จะขุดฝังนั้นมิใช่น้อย ใครแรงเยอะก็มาขุดเถอะ เผาง่ายกว่ากันมาก บ้านขนาดใหญ่มีกองใบไม้แห้งหลายสิบกอง ไม่มีใครมีแรงงานที่จะขุด

ผู้เขียนเป็นหมอ ถือหูฟังได้ แต่ใช้จอบขุดหลุมขนาดใหญ่หนึ่งหลุม มิใช่ใครๆ ก็ทำได้

ผู้เขียนเป็นคนกรุงเทพฯ มาอยู่ต่างจังหวัดครั้งแรก แค่ขี้เถ้าเป็นแผ่นลอยลงมาจากท้องฟ้าสีเหลืองในยามเย็น ก็โรแมนติกน่าดู ดีกว่าฝุ่นควันจากการจราจรในกรุงเทพฯ ที่ผู้เขียนโหนรถเมล์ตั้งแต่จำความได้จนกระทั่งจบแพทยศาสตร์บัณฑิต ที่นี่เป็นเมืองสวรรค์ดีๆ นี่เอง

อ่านหนังสือพิมพ์ อ่านหนังสือ อ่านเฟซบุ๊ก ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่าชาวเขาเป็นพวกทำไร่เลื่อนลอย ทำเสร็จก็เผา นี่เป็นข้อมูลจากหนังสือ หลายปีให้หลังมีนักวิชาการอธิบายเรื่องนี้ไว้แล้ว และสถานการณ์ปัจจุบันของชาวเขาก็เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขามิใช่ชาวเขาป่าเถื่อน เป็นคนดอย ชนเผ่า และชาติพันธุ์ ประเด็นนี้รอให้นักวิชาการด้านชาติพันธุ์มาช่วยอธิบาย พวกเขาทำไร่อย่างไร ไร่เลื่อนลอยคืออะไร และพวกเขาเผาอะไร ทำไม อย่างไร และเมื่อไร

พอถึงปี พ.ศ.2550 ผู้เขียนจำได้แม่น เพราะเป็นปีที่ลูกชายเดินทางไปเรียนที่กรุงเทพฯ เป็นปีแรก สถานการณ์หมอกควันเริ่มก่อตัว ขี้เถ้าเป็นแผ่นเริ่มหายไป อากาศรอบตัวเป็นสีขาวขุ่นทั่วไปตลอดทั้งวัน นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อธิบายว่าเกิดจากการเผาป่า เผาใบไม้ เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หากเป็นภาคอื่นเพื่อป้อนอุตสาหกรรมน้ำตาล สำหรับเชียงใหม่มีเพิ่มว่าเกิดจากการจราจรและสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งด้วย

ปีถัดๆ มา เริ่มมีความรู้เรื่องฝุ่นที่เรียกว่า PM10 ซึ่งมีลักษณะเป็นอนุภาคคอลลอยด์ (colloidal particle) เป็นอนุภาคแขวนลอยในอากาศ มีขนาดเล็กมากกว่าฝุ่นทั่วไป สามารถเข้าไปได้ถึงถุงลมขนาดเล็กที่สุดทางของปอด ขณะเดียวกันมีข้อมูลเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับเกษตรกรรมพันธสัญญา และการทำไร่ข้าวโพดเพื่อขายคืนแก่นายทุน เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้วก็จะตามด้วยการเผา เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

มีนักวิชาการพูดว่ารัฐและธุรกิจที่ได้กำไรจากการนี้ ควรเป็นผู้ลงทุนด้านการกำจัดซังข้าวโพด อาจจะด้วยการขุดบ่อแล้วกลบฝัง หรือทำโรงเผาให้ได้มาตรฐาน จะทิ้งภาระนี้ให้ชาวบ้านมิได้

นึกภาพดูว่าต้องใช้หลุมขนาดเท่าไรเพื่อฝังทั้งหมด ชาวบ้านจะใช้แรงงานที่ไหนขุด

ปีถัดๆ มา มีรายงานผู้ป่วยโรคปอดและมะเร็งปอดสูงขึ้นในภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ น่าจะเป็นเพราะมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยตั้งอยู่จึงมีระบบข้อมูลที่ดีกว่า จะเห็นว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเริ่มมาก่อนหน้านี้แล้ว ถึงตอนนี้คือเวลาที่รัฐจ่ายเงินเพื่อซ่อมสุขภาพ

จำได้ว่า สสส. มาจัดประชุมครั้งหนึ่ง แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับการจัดประชุมของภาครัฐทั่วไป การประชุมจบลงที่บันทึกการประชุม ไม่มีผลผลิตและผลลัพธ์ ไร่ข้าวโพดแผ่ขยายสุดลูกหูลูกตาข้ามดอยเป็นลูกๆ ครั้งหนึ่งผู้เขียนขับรถจากตัวเมืองพะเยา ผ่านดอกคำใต้เพื่อไปจังหวัดน่าน จำได้ว่าภูมิทัศน์รอบตัวเต็มไปด้วยไร่ข้าวโพด ไม่มีอะไรนอกจากไร่ข้าวโพด

นักวิชาการและนายแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มพูดถึงฝุ่นที่ขนาดเล็กลงคือ PM2.5 บางท่านอธิบายเรื่องขนาดของอนุภาคที่สามารถผ่านผนังหลอดเลือดเข้าสู่กระแสเลือดได้เลย โดยไม่ต้องผ่านถุงลมปอดอีกต่อไป อนุภาคนี้ไปได้ทั่วร่างกายและทำร้ายได้ทุกอวัยวะ ไม่จำเพาะแต่ปอด มากกว่านี้คือการผ่าเหล่า (mutation) เป็นไปตามศาสตร์ที่เรียกว่าอภิพันธุกรรม (epigenetics) เมื่อสิ่งแวดล้อมทำให้สเปิร์มและไข่ของวัยเจริญพันธุ์เกิดการเปลี่ยนแปลง

เด็กภาคเหนือตอนบนเกิดทุกวัน เติบโตขึ้นมาท่ามกลางหมอกควันปีละ 3 เดือน เด็กโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แลกเปลี่ยนโครโมโซมกันเรื่อยๆ คนสูงอายุป่วยด้วยโรคปอดมากขึ้น

นักวิชาการพูดถึงการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน มีทั้งเรื่องการเผาป่าและเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเช่นกัน นายทุนขยายธุรกิจไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านด้วย และบ้างว่าหมอกควันในกรุงเทพฯ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าจะมีหลักฐานไม่ชัดเจนมากเท่ากับเรื่องการจราจร การก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรม หลายคนไม่อยากพูดถึง รัฐไม่อยากพูดถึง

โรงงานอุตสาหกรรมปฏิเสธว่าไม่ใช่ต้นเหตุ แต่นักวิชาการกรุงเทพฯ บอกว่าโรงงานจำนวนมากในประเทศไม่มีเครื่องมือตรวจจับที่ถูกต้อง แม่นยำ ได้มาตรฐาน หรือวางที่ตำแหน่งที่ถูกต้อง

จำได้ว่าช่วงกลางๆ ของวิกฤตการณ์ พี่น้องที่กรุงเทพฯ ขอให้ผู้เขียนพาลูกๆ ย้ายกลับกรุงเทพฯ ด้วยนักวิชาการท่านหนึ่งจาก สวทช. ได้บอกว่านี่เป็นปัญหาระดับนานาชาติ และเป็นปัญหาระดับชั้นบรรยากาศ ต้องการรัฐบาลที่มีฝีมือในการเจรจาข้ามชาติอย่างมาก และควรเป็นรัฐบาลที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจที่ก่อให้เกิดหมอกควันด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการคมนาคม การก่อสร้าง การอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หรือน้ำตาล

 

 

ปีที่แล้ว พวกเขาบอกว่าดีที่แล้วที่ไม่หลงเชื่อให้ย้ายกลับกรุงเทพฯ เพราะพวกเขาต่างหากที่ควรย้ายออกจากกรุงเทพฯ ในขณะที่ผู้เขียนดีใจที่ลูกๆ ไปจากเชียงรายทันเวลา ถึงวันนี้เราไม่แน่ใจนักว่าใครสาหัสกว่าใคร

ตอนนี้เด็กๆ ภาคเหนือตอนบนที่เกิดในปี พ.ศ.2550 อายุ 13 ปีแล้ว ขึ้น ม.1 เรียบร้อย บีบีซีออกคลิปเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่สามารถผ่านกระแสเลือดลัดเข้าสู่สมองส่วนหน้า prefrontal cortex ตรงๆ แล้วทำลายเซลล์สมองได้ทันที คลิปสวยมาก หากไม่ใช่ไอคิวลดลงในวันนี้ก็อัลไซเมอร์กินในวันหน้า

ถึงวันนี้ นักวิชาการกรุงเทพมหานครออกมาพูดอะไรที่นักวิชาการเชียงใหม่พูดมา 12 ปีแล้ว ซ้ำแทบทุกประเด็น และปีหน้าจะพูดอีก

จะเห็นว่าปัจจัยก่อโรคอยู่ในระดับชั้นบรรยากาศ และก่อโรคได้หลายจังหวัด

รวมทั้งอีกหลายจังหวัดในอีสานที่ไม่เป็นข่าว เพราะไม่มีปากเสียง

เช่นเดียวกับภาคใต้ เมื่อหมอกควันลอยมาจากสุมาตรา ซึ่งไม่มีปากเสียงเช่นกัน

13 ปีนั้นนานพอที่จะสรุปว่ารัฐมิได้ใส่ใจ และถึงแม้ว่าจะใส่ใจ ก็อาจไม่มีความสามารถแก้ปัญหาทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

อีกเหตุหนึ่งคือเราไม่มีรัฐบาลที่มั่นคงพอจะทำงานมานานมากแล้ว เราหมดเวลาไปกับการทำรัฐประหารซ้ำๆ จนกระทั่งจะรัฐบาลไหนก็ไม่มีเวลาทำอะไรทั้งนั้น

ทางออกที่เป็นไปได้มากกว่า คือประชาชนช่วยเหลือตัวเอง กองทุนสุขภาพท้องถิ่นควรขยับตัวช่วยเหลือชาวบ้าน การกระจายอำนาจการจัดการเรื่องหมอกควันควรเริ่มต้นได้อย่างจริงจัง เพราะรัฐอาจมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะขยับตัว

แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่รัก มีขนาดเล็กมากพอที่จะขยับตัว

จ่ายวันนี้ ดีกว่าจ่ายหมดตัวในวันหน้า

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save