fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (3) : อำนาจของบัตรสงเคราะห์

หลักประกันสุขภาพที่รัก (3) : อำนาจของบัตรสงเคราะห์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

ปีที่เรียนจบแพทย์ เพื่อนสนิทเกือบทุกคนได้ฝึกงานที่โรงพยาบาลศิริราช บ้างได้ที่โรงพยาบาลวชิระ เวลานั้นหลักสูตรแพทย์ยังเป็น 6 ปี แล้วเป็นแพทย์ฝึกหัดอย่างที่เรียกว่าอินเทิร์นในปีที่ 7  ตอนนั้นโลกยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “เอ็กซเทิร์น”

สมัยที่เรียนแพทย์ สโมสรนักศึกษาแพทย์ขยันขันแข็ง พูดกันเรื่องอุดมการณ์ คืออุดมการณ์แพทย์ชนบท เรียนหมอเพื่อออกไปช่วยคน เป็นโลกหลัง 14 ตุลาฯ ยังไม่นานนัก ชื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์” และอีกหลายคน วนเวียนให้ได้ยินสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

รวมทั้ง “สี่เหวินเฉียง” เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ และ “ฮุ้นปวยเอี๊ยง” กระบี่ไร้เทียมทาน สองคนนี้ตายในวันที่ใกล้จบแพทย์ ร้านอาหารทั่วทั้งท่าพระจันทร์และพรานนกเงียบสนิท แพทย์ศาสตร์ศึกษาอยู่เคียงคู่คำว่าคุณธรรมเสมอมา

ไม่ทราบเหมือนกันว่าทุกวันนี้สโมสรนักศึกษาแพทย์ทำอะไรเป็นหลัก

กระบี่ไร้เทียมทาน

เพื่อนๆ ได้ที่อยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ในขณะที่ผู้เขียนเบื่อการจราจรในกรุงเทพฯ แล้ว ชีวิตบนรถเมล์วันละ 2 ชั่วโมงตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จนกระทั่งเรียนจบแพทย์มิใช่เรื่องสนุก แม้ว่าช่วงเรียนแพทย์สองปีสุดท้ายจะมิได้ต้องกลับบ้านบ่อยครั้งแล้วก็ตาม ความตั้งใจเวลานั้นคือต้องออกไปบ้านนอกให้ได้ เพื่อหนีรถติดคือเหตุผลหนึ่ง

จังหวัดเชียงรายเปิดรับสมัครแพทย์ฝึกหัดเป็นครั้งแรก ผมเลือกโดยไม่ดูเลยว่าที่นั่นมีอะไร ไปก็ไม่เคยไป เพียงเพราะเห็นว่าเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่บนแผนที่ประเทศไทยใหญ่ดี อันที่จริงตอนที่ยังรวมอยู่กับจังหวัดพะเยาถือว่ากว้างใหญ่ไพศาลเลยแหละ เวลานั้นเคยไปเชียงใหม่เพียง 1 ครั้ง ซึ่งคือสวรรค์บนดินดีๆ นี่เอง หากเชียงใหม่ปีนั้นเป็นสวรรค์บนดิน เชียงรายจะเป็นอะไรได้นอกจากทิพยวิมาน

ไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่เชียงรายเพราะเป็นสถานที่ที่ไม่มีคนไป ไม่ต้องจับฉลาก ไม่ต้องคัดสรร นิ้วจิ้มลงบนแผนที่แล้วไปได้เลย เวลานั้นหากคิดไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดอื่นๆ ยังต้องแย่งที่นั่งกัน แต่ที่โรงพยาบาลจังหวัดเชียงรายบริสุทธิ์มาก ไม่มีใครเหลียวแล เป็นโชคดีของเราที่ใครๆ สายตาสั้น ฮา ฮา

ขึ้นรถทัวร์ไปกับเพื่อนในคืนหนึ่ง ชีวิตตอนนั้นเหมือนแดนสนธยา ไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ไปเพราะไม่มีที่ให้ไปมากกว่าอย่างอื่น มิใช่เรื่องอุดมการณ์แต่เพียงอย่างเดียวแม้ว่าจะมีอยู่บ้าง หมอเมืองพร้าวอยู่แถวๆ นั้นแหละ เขาชื่อกานต์ตายก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว เป็นไปได้ว่าเพราะสิ้นไร้ไม้ตอกหาที่ฝึกงานไม่ได้จึงไป แล้วอ้างกับตัวเอง (rationalization-กลไกทางจิตชนิดหนึ่ง) ว่าอยากไปเพื่อเป็นหมอบ้านนอก ก็เป็นไปได้

โปสเตอร์หนังเก่า หมอเมืองพร้าว เขาชื่อกานต์

โรงพยาบาลเชียงรายตั้งอยู่กลางหมอกหนาตอนเช้า แม้ว่าเวลานั้นจะเป็นกลางเดือนมีนาคมแล้วก็ตาม เป็นภาพที่ไม่เคยลืม หากฟิล์มถ่ายรูปราคาไม่แพง ก็คงได้เก็บภาพนั้นไว้ด้วยกล้องกระป๋องอัตโนมัติโกดักคู่ใจ กล้องที่ใครๆ เรียกว่ากล้องปัญญาอ่อนทำให้เราปรับอะไรไม่ได้นอกจากมองแล้วกด แต่เพราะทำอะไรไม่ได้นั่นเอง จึงกลายเป็นคนที่ใครๆ ชมว่าวางองค์ประกอบของรูปภาพ (composition) ได้สวยมากกว่าคนอื่น แล้วก็กวาดรางวัลเวทีเล็กๆ เพียงเพราะวางองค์ประกอบดีๆ แล้วถ่ายรูปที่มัวๆ ตั้งแต่แรก เช่น หมอกยามเช้า ส่งประกวด ฮา ฮา

ด้วยทรัพยากรที่จำกัด คนเราจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถอื่นทดแทนเสมอ (compensation-เป็นกลไกทางจิตชนิดหนึ่ง)

โรงพยาบาลเชียงรายมีชื่อว่าโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ สร้างด้วยเงินชาวบ้าน ที่ดินได้จากคหบดี ปีนั้นคือปี 1983 มีหมอ 11 คน ไม่มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าสเปเชียลลิสต์หรือแพทย์เฉพาะทาง มีแพทย์ใช้ทุนอยู่ 4 คน แล้วก็พวกเราอินเทิร์น 6 คนจากกรุงเทพฯ และอีก 2 คนจากที่อื่น คือวันเวลาที่แพทย์รุ่นพี่ 11 คนนั้นตรวจทุกอย่าง ผ่าทุกคน และอยู่เวรห้องฉุกเฉิน แม้ว่าจะมีการแบ่งแผนกบ้างแล้วก็ตาม

โลกยังไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรายังอยู่ห่างไกลสิ่งที่เรียกว่า “30 บาท รักษาทุกโรค” อีกประมาณ 20 ปี ผู้ป่วยยากจน ผู้ป่วยชาวเขา (ยังไม่มีคำศัพท์ว่า “ชาติพันธุ์”) หรือผู้ป่วยไม่มีเงินจ่าย มีระบบบัตรสงเคราะห์รองรับแล้ว แต่หมอมีอำนาจที่จะเขียนคำว่า “ฟรี” ให้ใครก็ได้ด้วยตามที่เราเห็นสมควร

จากนักศึกษาแพทย์ที่ถูกกดดันอย่างหนักจากโรงเรียนแพทย์ขนาดยักษ์ มาสู่วิมานกลางสายหมอก แพทย์รุ่นพี่ 11 คนใจกว้างเหมือนสายน้ำ แพทย์ใช้ทุน 4 คนใจดีเหมือนไอติม มีบ้านพักที่มีตุ่มอาบน้ำเป็นของตัวเองเสียที และเสื่อที่แม่ให้มา 1 ผืน (ผู้เขียนชอบนอนเสื่อ) สภาพเหมือนปล่อยเสือเข้าป่ายังไงยังงั้น

จากที่เคยไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ ด้วยรถเมล์นานครั้งละ 1 ชั่วโมง เปลี่ยนเป็นชีวิตที่ไปไหนมาไหนด้วยจักรยานสองล้อในเวลาไม่เกิน 10 นาที มีชาวบ้านตาดำๆ เสื้อขาดๆ มาเรียกว่า “คุณหมอ” มิหนำซ้ำมีอำนาจมหาศาลที่จะทำอะไรก็ได้ แม้กระทั่งสถาปนาตัวเองเป็นนักบุญที่มีแต่ “ให้” คือเซ็นฟรีให้ใครก็ได้

ขอให้มีอำนาจเถอะ รับประกันเรื่องไม่เข้าใครออกใคร

ผู้เขียนและคนรักมีโอกาสติดรถรุ่นพี่ขึ้นดอยตุงไปเที่ยวไร่ฝิ่นในวันที่ดอกฝิ่นบานทั่วทั้งหุบเขา นี่กระมังคือบรรยากาศของสิ่งที่เรียกว่า พิชิตตะวันตก (How the West Was Won) คือจิตใจของนักบุกเบิกที่ได้ไปถึง สถานที่ที่ไม่เคยมีใครไปมาก่อน (Where No One has Gone Before) ได้เห็นพรมแดนที่น้อยคนจะได้เห็น ในวันเวลาที่ใกล้จะสิ้นสูญ

บนยอดเขาที่สูงที่สุดลูกหนึ่งคือดอยตุง เป็นวันเวลาที่พื้นดินส่วนใหญ่เป็นทราย พระธาตุดอยตุงตั้งอยู่บนเนินทรายที่มีทิวทัศน์กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาโดยรอบ แทบไม่มีต้นไม้ใหญ่ สมเด็จย่ายังเสด็จมาไม่ถึง พวกเราเดินข้ามดอยไปสักครู่หนึ่งจึงเข้าเขตไร่ฝิ่นซึ่งไม่มีใครรู้จริงว่าเป็นเขตประเทศไหนกันแน่ด้วยมีแต่ชาวเขา ไม่มีทหารไทยหรือทหารพม่า คือส่วนหนึ่งที่ต่อเนื่องจากหลังคาโลกในทิเบตลงมาถึงรัฐฉาน พม่า ลาว ผีปันน้ำ และถนนธงชัย ที่มีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่มาแต่โบราณและเดินทางไปมาโดยไม่รู้จักคำว่า “เขตแดน”

เมื่อขึ้นมาถึงยอดเขา โดยเฉพาะในวันที่ขึ้นมาออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ อำนาจของ “คุณหมอ” ยังคงมีอยู่เสมอและมีมากกว่าอยู่บนพื้นราบ แต่หารู้ไม่ว่าพระธาตุดอยตุงที่เห็นนั้นมีอำนาจที่เหนือกว่าทุกสิ่ง “ครอบ” อยู่

พระธาตุดอยตุงที่เห็นนั้นมีการบูรณะเมื่อปี 1377 โดยพญากือนาแห่งราชวงศ์มังรายโดยไม่ทราบว่าสร้างเมื่อไรแน่ มีกษัตริย์ราชวงศ์มังรายบูรณะมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงพระเมืองเกษแก้วที่มีหลักฐานว่าทรงบูรณะพระธาตุดอยตุงเป็นทรงระฆังแปดเหลี่ยม ครูบาศรีวิชัยได้ขึ้นมาบูรณะอีกครั้งในปี 1927 ก็ยังเป็นพระธาตุทรงระฆังแปดเหลี่ยม มีอายุอย่างน้อย 550 ปีแล้ว นับจากการบูรณะครั้งแรก

เมื่อถึงปี 1973 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ให้สร้างเจดีย์ทรงปราสาทยอดครอบทับพระธาตุองค์เดิม “เป็นรูปทรงที่สะท้อนให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐสยามที่ใช้กดข่มท้องถิ่น” (เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์, มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 31 ฉบับที่ 1607 3-9 มิถุนายน พ.ศ. 2554)

วันที่ผมขึ้นไปพระธาตุดอยตุงเป็นครั้งแรก องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดตามแบบศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์ไปแล้ว และไม่มีใครรู้เลยว่าข้างใต้นั้นมีพระธาตุองค์เดิมซ่อนอยู่ เมื่อนึกถึงถนนขึ้นดอยตุงเวลานั้นที่ทั้งสูงชันแคบและผ่านถนนดินแดงเป็นบางช่วง เชื่อได้ว่ามีคนเชียงรายไม่มากที่เคยเห็นพระธาตุองค์เดิม

แล้วรูปทรงของพระธาตุองค์เดิมก็เลือนหายไปจากจิตใจของคนทั่วไป คนรุ่นหลังคิดว่าที่เห็นคือพระธาตุดอยตุง จนกระทั่งมาถึงการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อประมาณไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมาได้เปิดพระธาตุทรงระฆังแปดเหลี่ยมตามแบบล้านนาออกมาให้โลกเห็นอีกครั้งหนึ่ง

เปรียบเทียบรูปถ่ายเมื่อปี 1983 รูปวาดเมื่อปี 2000 และรูปถ่ายเมื่อปี 2015

พระธาตุดอยตุง ในอดีต จนปัจจุบัน

ปี 1983 คือเวลา 20 ปีก่อนที่นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ จะก่อร่างสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือเวลา 35 ปีก่อนหน้าวันนี้ เรามีชาวเขาและชาวบ้านที่ยากจนมากมาย คนเหล่านี้เป็นบุคคลชั้นล่างสุดของโครงสร้างสังคม พวกเขาไม่รู้ว่าความเจ็บป่วยเป็นสิทธิมนุษยชนที่เขาควรได้รับการรักษาฟรี เป็นสิทธิที่ก้าวข้ามพรมแดนชาติรัฐ

เขามีสิทธิพูดว่า “ไม่มีเงิน” และมีสิทธิ “ร้องขอ” บัตรสงเคราะห์จากรัฐ “ด้วยกติกาที่เป็นธรรม” ในทางตรงข้ามคุณหมอเช่นผมไม่มีสิทธิกร่างว่าตัวเองมีอำนาจดลบันดาลให้ใครได้ฟรี

เพราะที่แท้แล้วมันคือ “หน้าที่”

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Health

11 Jan 2018

“ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” ยากันล้ม : คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

การหกล้มหนึ่งครั้ง คุณอาจไม่ได้แค่เจ็บตัว แต่อาจเจ็บใจ (ที่น่าจะรู้วิธีป้องกันก่อน) และอาจเจ็บลามไปถึงคนใกล้ตัว ที่ต้องเข้ามาช่วยดูแล

จะดีแค่ไหน ถ้าเรามี “ยากันล้ม” ที่มีสรรพคุณเป็นคู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

กองบรรณาธิการ

11 Jan 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save