fbpx
ผู้ต้องขังอีกครั้งหนึ่ง

หลักประกันสุขภาพที่รัก (22) : ผู้ต้องขังอีกครั้งหนึ่ง

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

ไม่ทราบว่ามีผู้ต้องขังที่มีอาการทางจิตกี่คนที่มิได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามที่เคยเรียนมา

หลักๆ คือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14

หลังรัฐประหาร เข้าใจว่ามีผู้ป่วยจิตเภท (schizophrenia) ที่ต้องขังโดยผ่านกระบวนการไม่ครบมากกว่าเดิม นอกเหนือจากกลุ่มนักกฎหมายหนุ่มสาวที่มีอุดมการณ์ ที่เข้ามาช่วยเหลือตามกำลังความสามารถแล้ว ก็ไม่เห็นองค์กรทางราชการหรือองค์กรวิชาการใดๆ ขยับ

กรมสุขภาพจิตเงียบสนิท

ครั้งล่าสุดที่ผู้เขียนพยายามให้การนอกเหนือคำถามที่อัยการถาม ได้ถูกขอให้หยุดพูดกระทันหัน

เวลาผู้เขียนต้องไปขึ้นศาล ไม่ว่าจะในสถานะพยานผู้เชี่ยวชาญ (expert witness) ในคดีอาญา หรือพยานคดีอื่นๆ เช่น ผู้ไร้ความสามารถและผู้อนุบาล เป็นต้น จำได้ว่าชีวิตส่วนตัวเป็นทุกข์

ทุกข์ 1 คือจำเป็นต้องทิ้งผู้ป่วยที่โอพีดีไปให้การ แต่ละครั้งเราไปตรงเวลา แต่ต้องไปนั่งรอเวลาเปิดพิจารณาคดีครั้งละไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง สมัยโลกไม่มีสมาร์ทโฟน อ่านหนังสือจบเป็นเล่มๆ สมัยใหม่เขี่ยเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ

การไปนั่งรอแต่ละครั้ง ปลอบใจตนเองเสมอว่าเป็นกรรมตามสนอง พวกเราออกโอพีดีช้า คนอื่นก็ออกบัลลังก์ช้าได้เหมือนกัน ประชาชนรับกรรมที่ทุกกระทรวงทำไว้เสมอหน้ากัน

ว่าแล้วชวนให้นึกถึงเวลาไป ‘ตานขันข้าว’ ที่วัด โดยเฉพาะในวันเทศกาลปีใหม่เมืองของภาคเหนือตอนบน พระท่านออกโอพีดีเร็ว วัดที่ชาวบ้านมารอตานขันข้าวแน่นขนัด พระท่านมาช่วยกันออกโอพีดีพร้อมๆ กันหลายรูปเลย แต่ละท่านอ่านหนังสือกันไม่คล่องหรอก ไม่ว่าจะเป็นพระเด็กหรือพระผู้ใหญ่ สระกับวรรณยุกต์นี่ไม่ต้องพูดถึง อ่านกันผิดๆ ถูกๆ ตอนสวดอุทิศส่วนกุศล ไม่รู้ที่ตานกันจะไปถึงอุ้ยที่เราต้องการรึเปล่า

แต่พระท่านก็มาออกโอพีดีตามหน้าที่ หน้าที่ของผู้ให้การรักษาทางจิตวิญญาณ ซึ่งจิตแพทย์เก่งภาษาไทยทำไม่ได้

ทุกข์ 2 คือหลังจากเราให้การแล้ว เราต้องรีบขับรถกลับไปที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจผู้ป่วยนับร้อยที่รอ ตอนมาศาลเราเป็นประชาชน จอดริมถนนแล้วเดิน เพราะด้านในมีหมายเลขทะเบียนรถครอบครองหมดสิ้นแล้ว ครั้นกลับมาโรงพยาบาล เราเป็นเจ้า(หน้า)ที่ มีที่จอดรถ สถานที่ราชการห้ามจอดรถ ประชาชนไปหาจอดกันเองด้านนอกเช่นกัน

ผู้ป่วยแต่ละคนก็เหลือเกิน รอได้รอดีไม่ยอมกลับไปก่อน จะอะไรกันนักหนา มากันเพราะรักษาฟรีใช่มั้ย ดูเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะกล่าวไว้ อัน 30 บาทนั้นรักษาทุกโรคได้จริง แต่มิได้ครอบคลุมค่าโรงแรมหรือเรือนพักญาติ และของกิน จะยังไงก็ต้องรอตรวจแล้วกลับบ้านทันรถเที่ยวสุดท้ายให้จงได้

ทุกข์ 3 คือเวลาผู้ป่วยรอนานและแออัด นอกเหนือจากเราเหนื่อยกลับมาจากศาลแล้ว อากาศร้อนเพราะห้องตรวจไม่ติดแอร์ หากติดแอร์เจ้าหน้าที่ของเราเองและตัวเราเองมีโอกาสป่วยด้วยวัณโรคมาก ติดกันไปหลายคนแล้ว จึงว่าพวกเราคนโรงพยาบาลทำงานในสนามรบจนตัวตายได้ และถ้าโชคร้ายเป็นวัณโรคสายพันธุ์ดื้อยา ที่ซึ่งเอเชียและประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นถุงเก็บเชื้อแห่งเอเชีย รับรองว่าครอบครัวของคุณพยาบาลเองจะทุกข์หนักไปอีกหลายปี

รอนานและแออัดทำให้ญาติผู้ป่วยบางท่านหงุดหงิดง่าย ร้องเรียนง่าย ผู้ป่วยโรคจิตบางคนทนเสียงบ่นด่าจากญาติไม่ไหว ยกเก้าอี้ทุ่มใส่กันก็มี

มีครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผู้เขียนกลับมาช้า ผู้ป่วยรายหนึ่งมือกุมท้องเลือดโชกมานั่งรอพบจิตแพทย์ เพราะแทงตัวเองมา (เรื่องนี้เกิดก่อนยุคพัฒนาคุณภาพ HA) นึกแล้วชีวิตผู้เขียนช่างน่าอิดหนาระอาใจ

กลับไปที่เรือนจำ ผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งเคยบวชเรียนแล้ว ใช้ขวานจามหัวเจ้าอาวาส ตอนนี้อาการทางจิตดีแล้ว พยายามถามว่ากระบวนการพิจารณาคดีถึงไหน เขาว่าเสร็จแล้วมั้งครับ หันไปถามพยาบาลสถานพยาบาลในเรือนจำ ก็ได้คำตอบเดียวกัน ครั้นขอให้ไปตรวจสำนวนมา ปรากฏว่าไม่มีกลไกที่ทำได้

ผู้ป่วยหญิงที่ทำลายชีวิตบุตรในท้อง ด้วยมีดปักลงไปแล้วคว้านออกมา บัดนี้อาการดีแล้ว ใครไม่รู้ประวัติจะไม่เห็นร่องรอยความผิดปกติของเธอ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเธอผ่านกระบวนการครบถ้วนเพียงใด แต่ที่แน่ๆ คือผมมิได้เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีนี้

ยังมีคดีเด็กชาติพันธุ์อายุ 8 ขวบเผาธงชาติ เด็กคนเมืองอายุ 12 ขายซีดีเถื่อน ชายหญิงที่ต้องคดี 112 เหล่านี้คดีจบลงด้วยการรับสารภาพทุกๆ คน โดยที่ยังไม่ได้เรียกพยานผู้เชี่ยวชาญเลย

ประเทศเรามีเรื่องราวมากมายรอการสะสาง แต่มีเรื่องหนึ่งที่ประเทศกูมี คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และพวกเราที่อยู่ในวิชาชีพ มีหน้าที่รักษาสุดฝีมือท่ามกลางแรงกดดันรอบด้าน โดยที่กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยแสดงตัวว่าจะพัฒนาระบบใดๆ ได้เลย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save