fbpx

หลักประกันสุขภาพที่รัก (21) : นักโทษที่เจ็บป่วยทางจิต

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

ระบบตรวจคุณภาพเคลื่อนตัวเข้าสู่โรงพยาบาลเมื่อประมาณปี พ.ศ.2540 โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย โดยแพทย์หญิงเรณู ศรีสมิต ผู้อำนวยการเวลานั้น เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมงานวิจัยในระยะแรก กล่าวคือเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาคุณภาพและขอตรวจรับรองคุณภาพตั้งแต่แรก

เป็นวันเวลาที่คนในโรงพยาบาล ยังไม่เคยได้ยินคำว่ามาตรฐานและคุณภาพสำหรับโรงพยาบาล รวมทั้งความจำเป็นที่ต้องตรวจ หลายคนคิดว่าเรามีตำราแพทย์แล้ว ทำตามตำราแพทย์คือทำตามมาตรฐาน

เวลานั้นเราไม่เข้าใจคำว่าวิสัยทัศน์ พันธกิจ เข็มมุ่ง ปรัชญา และคำศัพท์ด้านคุณภาพอีกหลายคำที่ติดตามมา  สำนักงานพัฒนาและรับรองคุณภาพเวลานั้นได้พยายามจัดฝึกอบรม เยี่ยมสำรวจ และอธิบายซ้ำแล้วซ้ำเล่า กว่าที่คนจำนวนหนึ่งจะพอเข้าใจว่ามาตรฐานคืออะไร คุณภาพคืออะไร และเพราะอะไรเราจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการนี้

ลำพังตำราแพทย์นั้นไม่พอ บัดนี้เรามีสิ่งที่เรียกว่า คู่มือมาตรฐานและคุณภาพ

บทหนึ่งของคู่มือมาตรฐานและคุณภาพเขียนเรื่องจริยธรรมองค์กร สร้างความไม่เข้าใจมากพอๆ กับคำว่าวิสัยทัศน์และพันธกิจ จริยธรรมองค์กรคืออะไร และในทำนองเดียวกัน แพทย์และพยาบาลมีจริยธรรมวิชาชีพกำหนดอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมีจริยธรรมองค์กรอีก

จริยธรรมองค์กร หมายถึงจริยธรรมขององค์กร กล่าวคือโรงพยาบาลนั้นเองที่ควรมีจริยธรรม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนโรงพยาบาล เห็นประชาชนที่ป่วยไข้สำคัญกว่าประโยชน์ของโรงพยาบาล

ความหมายที่กว้างขึ้นคือ โรงพยาบาลนั้นเองที่จะสร้างระบบซึ่งไม่เปิดโอกาส ไปจนถึงไม่อนุญาตให้บุคลากรทำผิดจริยธรรมได้โดยง่าย ดีกว่านั้นคือต่อให้อยากทำผิด ก็ทำผิดได้ยากไปจนถึงทำไม่ได้ ระบบที่ว่านั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร คู่มือมาตรฐานและคุณภาพมิได้บอก เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลและบุคลากรของโรงพยาบาลจะเรียนรู้และช่วยกันสร้าง

ก่อนหน้าที่โรงพยาบาลเชียงรายฯ จะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาคุณภาพ นักโทษจากเรือนจำกลางจังหวัด ใส่โซ่ตรวนมาตรวจที่โรงพยาบาล พวกเขานั่งปะปนกับประชาชนที่มารอตรวจโดยมีผู้คุมนั่งด้วย อาจทิ้งระยะห่างจากประชาชนคนอื่นเล็กน้อย เขาเป็นใครหน้าตาอย่างไรจึงเป็นที่เปิดเผย

นักโทษที่มีอาการทางจิตก็เช่นเดียวกัน ใส่โซ่ตรวนมาพร้อมผู้คุม 1-2 คน เกือบทั้งหมดป่วยด้วยโรคจิตเภท (schizophrenia) มีอาการทางจิต เสียสติหรือคลุ้มคลั่ง จึงจะพามา ผู้ป่วยวิตกกังวลหรือซึมเศร้ามิได้มาบ่อยนัก แม้แต่ผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตายก็ไม่เคยมาถึงห้องตรวจจิตเวชเลย เป็นเวลาที่อะไรต่อมิอะไรยังไม่เข้ารูปเข้ารอย

เพราะบทที่ว่าด้วยจริยธรรมองค์กรนั้นเอง ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าเราทำไม่ถูก ที่ปล่อยให้นักโทษใส่โซ่ตรวนมาเดินในโรงพยาบาล มานั่งรอหน้าห้องตรวจ และพบปะเห็นหน้าค่าตากับบุคคลทั่วไป ลำพังเป็นผู้ป่วยจิตเวช หลายคนก็อายอยู่แล้ว นี่ใส่ชุดนักโทษพร้อมเครื่องผูกมัด หากบังเอิญพบคนรู้จักจะรู้สึกอย่างไร

โรงพยาบาลที่มีจริยธรรมควรอ่อนไหวกับเรื่องทำนองนี้ ผู้เขียนจึงเริ่มเดินทางไปตรวจผู้ป่วยถึงในเรือนจำด้วยตัวเอง ผู้อำนวยการเวลานั้นอนุมัติรถรับส่งและค่ายาทั้งหมด จำได้ว่ากรมราชทัณฑ์เวลานั้นยังมิได้ขยับตัวอะไร

หลังจากใช้รถโรงพยาบาลรับส่งได้ไม่นาน ผู้เขียนพบว่าการมายืนรอรถพยาบาลแต่ละครั้งเสียเวลานานมาก เวลาที่เสียนั้นควรตรวจผู้ป่วยไปได้อีกหลายคน จึงเจรจาขอรถเรือนจำมารับ ปรากฏว่ายิ่งเสียเวลาหนักกว่าเดิม ยืนรอนานกว่าเดิม ทั้งขาไปและขากลับ เพียงไม่กี่ครั้งผมก็เริ่มต้นขับรถส่วนตัวไปตรวจนักโทษด้วยตัวเอง แม้จะมีผู้เตือนว่าอย่าทำ

ในตอนแรกมีจำนวนนักโทษมาให้ตรวจไม่มาก แต่เพียงไม่นานพยาบาลประจำสถานพยาบาลในเรือนจำกลาง ก็เริ่มคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต คำสั่งที่ผมให้คือขอให้คัดกรองเฉพาะที่มีอาการเสียสติชัดเจน คลุ้มคลั่ง มีประสาทหลอนหรือหวาดระแวง เอะอะอาละวาดหรือก้าวร้าว โดยคาดการณ์ล่วงหน้าว่าเหล่านี้คือผู้ป่วยโรคจิตเภท ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาฉีดและยากินที่ถูกต้อง ส่วนผู้ป่วยประเภทอื่นๆ ให้ชะลอไว้ก่อน

จำนวนผู้ป่วยทวีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว พยาบาลประจำสถานพยาบาลมีความสุขที่ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับบริการเสียที ผู้เขียนเองก็มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเภทได้อีกเดือนละหลายสิบคนทุกเดือน ค่ายาทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลโดยผู้อำนวยการเซ็นอนุมัติให้ฟรีทั้งหมด

หลังจากหลายปีผ่านไป ผมพบว่านักโทษที่ป่วยด้วยโรคจิตเภทเหล่านี้ หลายคนถูกตัดสินแล้วว่ามีความผิดและรับโทษ บางคนผ่านกระบวนการยุติธรรมและตัดสินให้บังคับรักษา แต่หลายคนไม่เคยแม้แต่จะผ่านกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้มีอาการทางจิตเลย กล่าวคือไม่เคยมีการเรียกตัวจิตแพทย์ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญขึ้นให้การ เหตุการณ์เป็นเช่นนี้มานานนับสิบปี

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2546 มิได้ครอบคลุมเข้ามาถึงเขตเรือนจำในทันที ผู้อำนวยการยังคงอนุมัติค่ารักษาฟรีโดยมิได้ตั้งคำถาม เพราะนี่คือจริยธรรมองค์กร องค์กรมีหน้าที่ทำเรื่องถูกต้อง

เวลาผ่านไปยี่สิบปี ผมยังคงขับรถไปเรือนจำเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจผู้ป่วยโรคจิตเภท รวมทั้งโรคซึมเศร้า นับเฉพาะที่พยาบาลประจำสถานพยาบาลฝากให้ช่วยดู ยอดผู้ป่วยแต่ละครั้งประมาณ 50 คน ด้วยวงรอบการนัด 1-4 เดือน ยอดสะสมทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 300-400 คนสม่ำเสมอ

ผลการรักษาผู้ป่วยจิตเภทในเรือนจำนั้นดีมาก และมากยิ่งกว่าเมื่อเทียบกับผลการรักษาที่โรงพยาบาล เหตุเพราะระบบควบคุมดูแลการฉีดยาและกินยานั้นเข้มงวด ผู้ป่วยได้รับยาฉีดทุกเดือนไม่เคยขาด ยากินทุกเม็ดไม่เคยพลาด เป็นหลักฐานยืนยันว่าโรคจิตเภทเป็นโรคที่รักษาได้ถ้าขนาดของยาสูงพอ เหตุที่ผลการรักษาโรคจิตเภทในประชาชนทั่วไปไม่ดีนัก เพราะผู้ป่วยมักได้ยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่งและผิดนัดบ่อยครั้ง ไปจนถึงเรื่องการลดยาเองหรือหยุดยาเองก่อนกำหนด

ไม่กี่ปีก่อนที่ผู้เขียนจะออกจากราชการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเข้าสู่เรือนจำ เป็นอีกหนึ่งในภารกิจเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ส่วนเรื่องใกล้บ้านใกล้ใจนั้นนายแพทย์จำเป็นต้องสละเวลาไปตรวจถึงที่

วันนี้ ผู้เขียนขับรถกลับไปที่บริเวณเรือนจำ มิได้เพื่อไปตรวจ แต่เพื่อไปนั่งกินกาแฟบนต้นไม้ใหญ่ที่หน้าเรือนจำ มีผู้ต้องขังทำหน้าที่บริกร คนหนึ่งนั้นเคยมีอาการทางจิต วันนี้เขาดีขึ้นมากแล้ว เสิร์ฟกาแฟได้ ดูแลลูกค้าและความสะอาดของโต๊ะอาหารได้

เขามีวันนี้ได้เพราะสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ชื่อ เรณู ศรีสมิต และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

บริกรคนที่เห็นน่าจะพ้นโทษในเวลาไม่นาน หวังว่าเขาจะเห็นประโยชน์ของยาที่ได้รับ และตั้งใจรักษาตัวเองโดยมิต้องมีใครมาบังคับต่อไป

นักโทษ โรคจิตเภท

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save