fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (20) : สังคมที่พร้อมจะสร้างคนป่วย

หลักประกันสุขภาพที่รัก (20) : สังคมที่พร้อมจะสร้างคนป่วย

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

คำพูดประเภทชาวบ้านไม่ดูแลตัวเองเพราะได้รักษาฟรีดูเหมือนจะกลับมาให้ได้ยินอีกแล้ว

แล้วแนวคิดในการแก้ปัญหาระบบสุขภาพกำลังจะกลับไปเป็นการรวมศูนย์อำนาจหนักกว่าเดิม ด้วยการตั้งซูเปอร์บอร์ดที่มีสัดส่วนข้าราชการประจำมากกว่าภาคประชาชนมากยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

เป็นที่ประจักษ์ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยให้คนยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ มีเงินเหลือไปช่วยเรื่องอื่นๆ ของครอบครัว คนไทยทุกคนควรดีใจที่เรามีสังคมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข คิดดีๆ ว่าหากสังคมมีคนยากจนมากกว่าที่เป็นอยู่ คนที่พอมีจะมีความสุขได้อย่างไร

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยให้ชนชั้นกลางที่ทำงานหนักทั้งชีวิตไม่ยากจนเฉียบพลัน ชนชั้นกลางในประเทศนี้กว่าจะผ่อนรถและบ้านเสร็จก็อายุ 50 ปีแล้ว ป่วยด้วยเส้นเลือดสมองแตก โรคไต หรือมะเร็ง เงินที่สะสมทั้งหมดหายได้อย่างรวดเร็ว หากไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ลำพังคนสองกลุ่มนี้ที่ระบบได้เข้ามาช่วยเหลือ ก็ทำให้สังคมไทยน่าอยู่มากแล้ว

ที่ทำงานหนักคือแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทุกฝ่าย จะว่าเพราะผู้รับบริการมากขึ้นก็ใช่ แต่เพราะเราเองที่กระจายคนไม่ดีก็ใช่ด้วย

มิใช่เพียงแค่คนที่เรากระจายไม่ดี เงินและทรัพยากรอื่นๆ เราก็กระจายไม่ดี กระจุกตัว รวมศูนย์ สั่งการจากบนลงล่างโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจส่วนภูมิภาค ระบบจึงตึงเครียดมาก

เราจะโยนบาปให้ผู้ป่วยคงไม่ได้ จะโยนบาปให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ก็ไม่ได้ด้วย เจ้าหน้าที่จำนวนมากทำงานหนักจริง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยาบาลโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ที่กำลังทำงานหนักเกินกว่าจะแบกรับโดยไม่สูญเสียคุณภาพชีวิตส่วนตัว

จำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นเกิดจากสังคมที่เปราะบาง สังคมของเราสร้างผู้ป่วยจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

1.สตรีตั้งครรภ์ไม่พร้อม  2.ทารกขาดผู้ดูแลหลัก  3.การศึกษาปฐมวัยทำลายสมองและสุขภาพจิตเด็กเล็ก  เป็นสามเรื่องแรกของชีวิตที่สร้างประชากรไม่มีคุณภาพเพื่อรอป่วยจำนวนมาก เด็กจำนวนมากไม่แข็งแรงทั้งกายและใจตั้งแต่เริ่มต้น ครั้นโตพอจะได้เล่นตามวัยเพื่อสร้างสมองและพัฒนาการที่ดี กลับถูกพลัดพรากจากพ่อแม่ไปเร่งเรียนเขียนอ่านคิดเลขเร็วอย่างหนัก จนกระทั่งมีผู้ป่วยจิตเวชเด็กคิวยาวข้ามปีในทุกโรงพยาบาลของรัฐ

4.ครูไม่มีคุณภาพ  5.ครัวเรือนที่รายได้ไม่พอรายจ่าย  6.อุบัติเหตุบนท้องถนน  เป็นอีกสามเรื่องถัดมาที่สร้างผู้ป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจทุกเมื่อเชื่อวันและรุ่นต่อรุ่น ครูที่ไม่มีคุณภาพทำให้เราไม่ได้คนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพมากพอ เศรษฐกิจตกต่ำถ้วนหน้าทำให้ระดับความเครียดของผู้คนสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อร่างกาย  ท้องถนนและการคมนาคมที่มีอันตรายสูง ทำคนตายและพิการได้ทุกวันตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงคนชรา

เป็นสังคมที่ตัวใครตัวมันโดยแท้ ไม่มีตาข่ายความปลอดภัย (safety net) รองรับ คนที่รอดก็รอดด้วยความเหนื่อยล้า แต่คนจำนวนมากไปไม่รอด ต้องป่วยแน่นอนไม่โรคใดก็โรคหนึ่ง

7.โภชนาการเป็นพิษ  8.สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ  9.บุหรี่และยาเสพติดมากมาย  เป็นอีก 3 เรื่องที่โจมตีเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยกลางคน ไปจนถึงวัยชราอย่างเสมอภาคทั่วทั้งประเทศ  กินอาหารสามมื้อเฉยๆ ก็ป่วยได้ ออกนอกบ้านพบระบบกำจัดขยะที่ไร้ระเบียบและหมอกควันพิษก็ป่วยได้  บุหรี่และยาเสพติดไม่มีทีท่าลดลงแต่อย่างใด ประชากรทุกคนป่วยได้หมดเพียงเพราะตื่นเช้าแล้วมีชีวิตอยู่ แค่กินข้าวและหายใจก็ป่วยแล้ว

ใครที่ทำงานส่งเสริมสุขภาพอยู่ควรรู้ตัวว่างานล้มเหลว

ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีตาข่ายความปลอดภัยรองรับประชากรจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน สตรีตั้งครรภ์ ทารกขวบปีแรก ระบบดูแลเด็กเล็ก โภชนาการเด็ก อุบัติเหตุเด็ก เหล่านี้รัฐได้วางโครงสร้างที่ดี สามารถป้องกันความเจ็บป่วยไว้แล้วระดับหนึ่ง ทั้งนี้ยังไม่นับการศึกษาที่สร้างประชากรคุณภาพตั้งแต่ปฐมวัย

สังคมที่ปลอดภัยมีระบบดูแลอาหาร น้ำดื่ม อากาศ ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา การคมนาคมที่มีคนตายและบาดเจ็บน้อยมาก และระบบยุติธรรมที่เสมอภาค

บ้านเราไม่มีอะไรเลยนอกจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เข้ามาช่วยประกันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แต่เรื่องอื่นๆ ควรยอมรับว่ายังมีรอยรั่วอยู่มาก

บ้านเราไม่มีแม้แต่สวัสดิการสังคมที่พอเพียง ชีวิตตัวใครตัวมันตั้งแต่เกิด

อันที่จริงมีความพยายามที่จะสร้างตาข่ายความปลอดภัยในทุกเรื่องที่ว่ามา แต่ควรยอมรับว่าล้มเหลวทุกเรื่อง ความเสี่ยงด้านอาหาร น้ำดื่ม อากาศ ที่อยู่อาศัย ออกจากการศึกษากลางคัน เรียนจนจบแต่ทำงานไม่เป็น ตายและพิการบนท้องถนน ยาเสพติดที่หาง่ายนักหนา คนจนเท่านั้นติดคุก ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรที่เรียกว่าปลอดภัยได้เลย แต่ละครัวเรือนต้องทำเองและป้องกันตัวเอง เหนื่อยกันทุกบ้าน

การรวมศูนย์อำนาจเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวในทุกเรื่อง หากไม่ยอมรับข้อนี้ บ้านเมืองจะพัฒนาต่อไปได้ลำบาก ที่แท้แล้วบ้านเรามีเงินมากพอที่จะให้ส่วนท้องถิ่นเติบโตและพัฒนา

นอกเหนือจากเรื่องความไม่ลงรอยระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีมาช้านานและเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้ว เรื่องการรวมศูนย์อำนาจและเล่นการเมืองของกระทรวงสาธารณสุข เป็นปัญหาที่ทับถมให้ทุกอย่างแก้ไขได้ยากมากขึ้นไปอีก ภาคประชาชนอ่อนกำลังลงทุกทีๆ และคงจะตายจากไปในไม่ช้าด้วยซูเปอร์บอร์ดด้านสุขภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น

โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกแพทย์เป็นทางเลือกของผู้มีกำลังจ่ายหากอยากจะจ่าย แต่สำหรับประชากรทุกคนแล้วประเทศควรมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ไม่ต้องร่วมจ่าย ณ จุดบริการ วางไว้เป็นตาข่ายความปลอดภัยของชีวิต แม้ว่าระบบบริการในโรงพยาบาลของรัฐยังไม่ดีเท่าไรนัก แต่ชาวบ้านที่ไม่มีเงินจะอย่างไรก็ต้องไปรับการรักษา ก็ยังดีกว่าปล่อยพวกเขาไปตายที่อื่น การร่วมจ่าย ณ จุดบริการจึงไม่ควรเกิดขึ้น รอยรั่วของเงินในระบบใหญ่เกินกว่าการร่วมจ่ายจะแก้ปัญหาได้

ต่อให้ร่วมจ่ายได้แต่บริหารด้วยการรวมศูนย์อำนาจเช่นนี้ จะอย่างไรก็เจ๊งเหมือนเดิม

“กินเหล้าจนตับแข็ง ไม่สมควรรักษาฟรี”

“ฆ่าตัวตายมาเอง ไม่สมควรให้เบิก”

“ใช้ยาเสพติดแล้วป่วย สมควรต้องจ่ายเอง”

“ติดเชื้อเอดส์เพราะหามาเอง สมควรต้องร่วมจ่าย”

ผมเคยอยู่ในที่ประชุมที่มีการถกเถียงเรื่องแบบนี้ ทั้งระดับโรงพยาบาลและระดับกระทรวงฯ แต่นั่นเป็นเมื่อปี พ.ศ. 2526-2540 เราอยากกลับไปที่จุดเดิมกันจริงหรือ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save