fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (19) : คำตอบอยู่ที่เจ้าหน้าที่ รพสต.

หลักประกันสุขภาพที่รัก (19) : คำตอบอยู่ที่เจ้าหน้าที่ รพสต.

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

เรามีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพสต. ทั่วประเทศ เป็นโครงสร้างประเทศที่เข้มแข็ง แม้จะมีข้อคำถามว่า รพสต. ควรมีหน้าที่อะไร  ส่งเสริมป้องกันตามชื่อ หรือตรวจรักษาตามที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ส่งมา มีหน้าที่เยี่ยมบ้าน หรือกรอกข้อมูลแลกเงินจาก สปสช. หรือแลกตำแหน่งจาก สธ.

ชื่อ ‘สถานีอนามัย’ ฟังดูใกล้ชิดชาวบ้านมากกว่าชื่อใหม่สไตล์ขุนนางนี้มาก

เรามีโรงพยาบาลชุมขน หรือ รพช. ทั่วประเทศ  ปีที่ผมจบแพทย์ รพช. เป็น รพ. อำเภอ ส่วนใหญ่ยังมี 10 เตียง มีแพทย์คนเดียว วันนี้มี 60-100 เตียงและมีแพทย์เฉพาะทางแล้ว

คำถามที่ยังอยู่คือ เพราะอะไรชาวบ้านยังคงถูกส่งต่อเป็นทอดๆ จำนวนมาก จากโรงพยาบาลชุมชนไปโรงพยาบาลศูนย์ หรือ รพศ. แล้วข้ามจังหวัดไปโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ตามหัวเมืองใหญ่ และจำนวนไม่น้อยต้องไปศิริราช รามา หรือจุฬาฯ

เราควรให้ความสำคัญกับแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางมากกว่ากัน  ทำอย่างไรชาวบ้านจึงจะได้สถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจเสียที

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะพบความยากลำบากเรื่อยไป หากเราไม่สามารถวางโครงสร้างการพบแพทย์ที่เหมาะสมกับความเจ็บป่วย แพทย์ทั่วไปมิได้รับการให้เกียรติหรือค่าตอบแทนที่เหมาะสม แพทย์เฉพาะทางต้องตรวจผู้ป่วยวันละร้อยจนหมดแรงและเวลาที่จะได้ใช้วิชาฝีมือไปจัดการเคสยากๆ ซึ่งมีแต่เพียงแพทย์เฉพาะทางเท่านั้นที่รักษาได้ แพทย์เฉพาะทางเรียนมาเพื่อจัดการเคสยาก

แพทย์ทั่วไปถูกกล่าวหาว่าเอาแต่ส่งต่อ แพทย์เฉพาะทางถูกกล่าวหาว่าว่างงานแอบแฝง เรื่องทำนองนี้ไม่จบเสียที แต่ในขณะเดียวกัน เขตสุขภาพและสาธารณสุข 4.0 ไม่มีผลผลิตอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

นส.ส้มแป้น เป็นผื่นคันทั่วตัวอย่างรุนแรง ไปพบแพทย์ที่คลินิก ได้ยาแก้แพ้และสเตียรอยด์มากินก็หายใน 2 วัน สบายมาก

เมื่อ นส.ส้มแป้นไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ เธอมีผื่นทั่วตัวตอนที่เดินทางไปถึงใหม่ๆ ระบบสุขภาพของอังกฤษมิให้ผู้ป่วยพบแพทย์เฉพาะทางในทันที เธอต้องผ่านพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป 1-2 ครั้ง เมื่ออาการไม่ดีขึ้นจึงพบแพทย์ทั่วไป เวลาผ่านไปสามสัปดาห์อาการก็ยังไม่หายไป เธอจึงได้พบแพทย์เฉพาะทาง ไม่มีใครจ่ายสเตียรอยด์ให้เธอง่ายๆ เหมือนเมืองไทย

ระบบประกันสุขภาพของอังกฤษก่อตั้งมาได้ 70 ปีแล้ว และการเจรจาต่อรองก็ยังคงดำเนินอยู่ แพทย์และพยาบาลทำงานหนัก ระบบคัดกรองชัดเจน คิวพบแพทย์เฉพาะทางยาว แต่ประชากรทุกคนจะได้พบพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป แพทย์ทั่วไป และแพทย์เฉพาะทาง ตามข้อบ่งชี้และมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับว่าถึงจะไม่ดีที่สุดแต่ดีกว่าที่สหรัฐอเมริกามาก ที่ซึ่งคนรวยเข้าถึงบริการที่ดีกว่าและง่ายกว่าคนยากจน

ชอบหรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คำตอบอยู่ที่ รพสต. และเขตสุขภาพ ปัญหาอยู่ที่เราจะทำได้อย่างไร ปล่อยกระทรวงสาธารณสุขทำไม่ได้แน่ๆ

เราต้องการนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน เห็นแก่ระบบสุขภาพที่เอื้อต่อคนหมู่มาก และสามารถจัดการข้าราชการประจำได้

วิธีทำงานของบ้านเรามักเป็นบนลงล่าง เมื่อจะทำงานกับ รพสต. เราเริ่มด้วยการประชุมอบรม การประชุมอบรมมี 2 แบบใหญ่ๆ  1. ฟังผู้ใหญ่กล่าวรายงานผู้ใหญ่ยิ่งกว่า  2. ฟังผู้ใหญ่ยิ่งกว่าบรรยายพาวเวอร์พอยท์ที่มีคนเตรียมให้  3. ฟังนักวิชาการบรรยายเป็นคนๆ ไป

หรือไม่ก็แบ่งกลุ่มย่อย ให้คุยตามหัวข้อ ได้ข้อสรุปบนฟลิปชาร์ตตามผนังห้องโรงแรม ส่งตัวแทนขึ้นไปบรรยายตอนจะปิดประชุม

จะเห็นว่าแม้เป็นแบบที่สองก็ยังคงเป็นบนลงล่าง แล้วล่างเสนอขึ้นบน แล้วไปไหนไม่ทราบ ทราบแต่ว่าการประชุมแบบที่ 1-2 นี้หมุนเวียนมา 30 ปีเท่าชีวิตทำงานของผู้เขียน

ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องการกระจายอำนาจให้ รพสต. หรือพยายามคืนอำนาจการจัดการให้ รพสต. เลย ไม่มีใครยอมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ รพสต. เป็นบุคลากรที่สามารถเริ่มงานด้วยตนเองได้ งานอะไร? ก็งานพัฒนาระบบสุขภาพใกล้บ้านใกล้ใจ

ที่ รพช. รพศ. และ สธ. ควรทำ คือนั่งดู ฟัง ส่งเสริม แล้วคอยดูทิศทางก็พอ

เรามีเงินและเวลาให้เสีย  เราควรใจเย็นรอ รพสต. ทำงานและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ได้ แต่เราไม่เคยยอมเสียอำนาจ เป็นเรื่องใหญ่ที่ขวางทางเรื่องดีๆ

เขตสุขภาพเป็นชื่อที่ดี แต่ทำกันเหมือนเล่นละคร เขตสุขภาพที่ทำกันก็เป็นการจัดประชุมจากบนลงล่าง จาก สธ. ถึง รพศ. ถึง รพช. ดีบ้างไม่ดีบ้าง พัฒนาบ้างไม่พัฒนาบ้าง คำถามคือชาวบ้านเช่นตามียายมาป่วยทีหนึ่ง เดินทางไกลแค่ไหน ใช้เวลาเท่าไรกว่าจะถึงแพทย์ ‘ที่รักษาได้’ หากผลลัพธ์นี้ไม่ดี จะพูดอะไรก็ไม่มีผลลัพธ์วันยังค่ำ

ไม่มีใครพูดเรื่องการกระจายอำนาจให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน หรือพยายามคืนอำนาจการจัดการให้ รพช. หรืออย่างน้อยที่สุดไม่มีใครพยายามรวมทีมจังหวัดให้เป็นหนึ่ง และเท่าเทียม  กล่าวคือแพทย์ รพศ. และแพทย์ รพช. เท่าเทียมกัน ช่วยกันวางข้อมูลตามที่เป็นจริง ใครทำอะไรได้ ใครทำอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะข้อหลัง ใครทำอะไรไม่ได้

และที่สำคัญที่สุดคือ เราจะแบ่งเงินกันอย่างไรเพื่อให้ชาวบ้านได้ และแพทย์พยาบาลเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้ด้วย

ในระบบราชการเรามักพูดว่าทำได้ ทั้งที่ความจริงเราทำไม่ได้ แล้วก็อยู่ๆ กันไป เรามักยินยอมลดมาตรฐานเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้ผลงาน

อำนาจการจัดการจำเป็นต้องไปอยู่ที่ปลายทาง คือ รพสต. และ รพช.  เราถึงจะมีโอกาสได้เขตสุขภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จังหวัดหนึ่งจะมีได้ในตอนเริ่มต้น ตามที่เป็นจริง จากนั้นจึงจะพัฒนาต่อไปได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save