fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (13) : ไม่รู้ ไม่จัดการ ไม่เท่าเทียม

หลักประกันสุขภาพที่รัก (13) : ไม่รู้ ไม่จัดการ ไม่เท่าเทียม

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

“เหมือนปาฏิหาริย์เลย โยม” เป็นพระรูปหนึ่งบนดอยเล็กๆ ข้างซูเปอร์ไฮเวย์ระหว่างทางจากตัวเมืองเชียงรายไปแม่สายเล่าให้ผู้เขียนฟัง

คือวัดสันขวาง

พระพุทธแบนที่วัดสันขวาง
พระพุทธแบนที่วัดสันขวาง

วัดสันขวางเดิมเป็นวัดเล็กๆ ที่ขึ้นอยู่กับวัดหลวงที่พื้นราบไม่มีพระอยู่ประจำ ผู้เขียนเลี้ยวรถขึ้นไปดูในปีหนึ่งด้วยเห็นพระธาตุเรืองรองสะท้อนแสงยามเช้า ครึ่งทางขึ้นดอยเป็นพระพุทธเจ้าห้าพระองค์สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออกสวยงามมาก แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครดูแลบริเวณโดยรอบ ถูกปล่อยทิ้งให้เสื่อมโทรม

พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ศาสนา พุทธ
พระพุทธเจ้าห้าพระองค์

ข้างบนวัดยิ่งเสื่อมโทรม มีสิ่งก่อสร้างทิ้งๆ ขว้างๆ และขยะมากมาย ห้องน้ำที่เคยสร้างไว้ดีแล้วปรักหักพัง ตัดกันกับพระธาตุ  พระพุทธ พระทันใจ และพระนอนที่ดูงดงาม “ไม่” สมส่วนเป็นธรรมดาตามฝีมือสล่าชาวบ้าน มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์และปัดกวาดทำความสะอาดรอแขกแก้วมาเยือน

พระนอนแบนที่วัดสันขวาง
พระนอนแบนที่วัดสันขวาง

แล้ววันหนึ่งก็มีพระมาอยู่ ท่านว่าท่านมาจากเชียงใหม่ วัดก็สะอาดสอ้านทันใด ผู้เขียนยังคงขึ้นไปไหว้พระทำบุญเป็นบางเวลาและยืนชื่นชมเชียงรายจากที่สูงเป็นครั้งๆ

แต่แล้ววันหนึ่งพระท่านก็พูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรง ชาวบ้านที่พบพาไปโรงพยาบาลเชียงรายในตัวเมืองซึ่งห่างออกไป 20 กิโลเมตรทันที โรงพยาบาลได้รับการสนับสนุนยาละลายลิ่มเลือดจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่แล้วตามโครงการโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Stroke Fast Track) ที่ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบจะต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด rt-PA ภายในเวลา 4 ชั่วโมง

แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างที่พระท่านเล่า “เหมือนปาฏิหาริย์เลย โยม” พูดได้และแขนขากลับมาดีดังเดิมทันตา

ไม่เหมือนบิดาของผู้เขียนเมื่อสามสิบปีก่อน ท่านทนทุกข์ทรมานด้วยอัมพาตครึ่งซีกอยู่นานสามปีก่อนจะถึงแก่กรรมด้วยสมัยนั้นยังไม่มียาตัวนี้ และว่าที่จริงถึงจะมีก็ไม่มีปัญญาจ่าย อย่าว่าแต่ร่วมจ่าย

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ให้แก่โรงพยาบาลประมาณ 60,000 บาท ในปีที่เปิดโครงการ ก่อนที่จะปรับเป็น 49,000 บาทในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามเครดิตที่หนึ่งเราควรยกให้คุณหมอและทีม ทีมที่วินิจฉัยเบื้องต้นได้รวดเร็ว คุณหมอที่วินิจฉัยยืนยันได้เฉียบขาดแล้วไม่ลังเลสั่งการรักษาทันท่วงที

“ลุงตายแล้วเน่อ” เป็นคนรู้จักกันมานานโทรศัพท์มาหาจากอำเภอหนึ่งริมแม่น้ำโขง

เมื่อสอบถามจึงรู้ว่าลุงเป็นอัมพฤกษ์พูดไม่ได้แขนขาอ่อนแรงมาได้สองปีแล้ว วันที่เป็นใหม่ๆ เมียก็พาไปโรงพยาบาลในทันทีแล้วคุณหมอก็รับไว้สังเกตอาการอยู่ 3-4 วันก่อนที่จะให้กลับบ้านแล้วนัดมาทำกายภาพบำบัด ซึ่งก็เป็นไปตามที่ควรจะเป็นไปเสียเป็นส่วนมาก นั่นคือชาวบ้านไม่สามารถไปโรงพยาบาลทำกายภาพบำบัดได้ตามที่คุณหมอนัดเสียมาก บ้านห่างไกลเข้าไปตามถนนเส้นน้อยที่แยกจากทางหลวง บวกกับความไม่มีเวลาของญาติๆ ที่ต้องทำมาหากิน จึงว่าถึงมี 30 บาทรักษาทุกโรคครอบคลุมเวชศาสตร์ฟื้นฟูก็มิได้ใช้ เพราะไม่มีปัญญาจะหาค่ารถไปใช้

กรณีนี้เราไม่ทราบรายละเอียดว่าคุณหมอมิได้ส่งตัวคุณลุงไปโรงพยาบาลจังหวัดเพราะไม่รู้หรือเพราะติดข้อบ่งชี้อื่นๆ เพราะว่าที่จริงแล้วโครงการนี้ดำเนินมานานกว่าสองปีแล้ว

“นี่ถ้าเป็นผมจะได้ยาตัวนี้มั้ยนี่” ผู้เขียนถามแพทย์รุ่นน้องที่ทำงานที่โรงพยาบาลโคราชเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน คุณหมอมีอาการแขนอ่อนแรงข้างหนึ่งอย่างเฉียบพลันระหว่างขับรถอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อนแพทย์แนะนำให้วกรถเข้าโรงพยาบาลรามาธิบดีโดยด่วนที่สุดและได้รับยาทันท่วงที

คณบดีอีกอย่างน้อยสองคนที่ผู้เขียนรู้จักได้รับยาตัวนี้ แล้วทั้งสองท่านก็ยังทำงานอยู่จนถึงทุกวันนี้

“เฮ้ย ผู้อำนวยการ กูปากเบี้ยว” คุณหมออีกคนหนึ่งที่โรงพยาบาลเกิดอาการพูดไม่ชัดกะทันหันและมีแขนขาอ่อนแรงเล็กน้อย เป็นเพราะมีเพื่อนฝูงระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาลขนาดยักษ์ในเขตกรุงเทพมหานครอีกเช่นเดียวกันที่ช่วยให้ได้รับยาในเวลาที่รวดเร็วมาก แล้วสามารถกลับมาทำงานต่อได้อีกหลังจากพักฟื้นช่วงเวลาหนึ่ง

“เขาคิดหกหมื่นบาทครับ เบิกได้สองหมื่น” เป็นข้าราชการภูธรอำเภอหนึ่งถูกเข็นเข้าโรงพยาบาลเอกชนแถวบ้าน ดังที่ทราบว่าคิวโรงพยาบาลเอกชนนั้นไม่ยาว ถึงจะยาวก็เร็ว ระยะเวลาจากที่รถเทียบหน้าห้องฉุกเฉินไปจนถึงผู้ป่วยได้พบแพทย์นับกันเป็นนาทีและเป็นตัวชี้วัดคุณภาพหนึ่งของโรงพยาบาล บางคนเรียกว่า Door to Doctor Time ตัวเลขนี้จะถูกประกันเอาไว้สำหรับโรคที่ต้องการการรักษาด้วยความเร็วสูง เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น

อีกโครงการหนึ่งที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้การสนับสนุนคือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิดที่มีการยกขึ้นก็คลื่นไฟฟ้าส่วน ST (ST-elevation myocardial infarction fast track) เรียกย่อว่า STEMI เหมาจ่ายรายละ 49,000 บาทเช่นกัน (ตัวเลขปี พ.ศ. 2561)

ที่โรงพยาบาลของรัฐ บางทีอายุรแพทย์ของเราก็ทำงานได้ไม่ถนัดด้วยตัวชี้วัดนี้ใช้เวลานานมาก เริ่มตั้งแต่รถหาทางเข้าโรงพยาบาล หาที่จอด ดีหน่อยตรงไปห้องฉุกเฉินแต่ทางไปถึงห้องฉุกเฉินก็มีรถหนาแน่นอีก รอเวลาเวรเปลเคลื่อนเปลมาหาจะเร็วหรือช้าตามภาระงานเวลานั้น ฝ่าความแออัดของห้องฉุกเฉิน ขั้นตอนการทำบัตร รวมทั้งความเร็วในการตามแพทย์ ความเร็วในการส่งปรึกษาอายุรแพทย์ ความเร็วของการมาถึงห้องฉุกเฉินของอายุรแพทย์ หรือหากโชคไม่ดีโรงพยาบาลจัดระบบให้ผู้ป่วยไปถึงหอผู้ป่วยก่อนแล้วค่อยตามอายุรแพทย์ ผู้ป่วยจะต้องรอเวลาเคลียร์สิทธิ รอเวรเปลอีก 1 รอบ รอคิวที่ลิฟท์ส่งผู้ป่วย รอเคลียร์เตียงว่าง รอพยาบาลซึ่งอัตรากำลังไม่พอเพียงอยู่แล้วโดยเฉพาะในหอผู้ป่วยอายุรกรรมของแทบทุกโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งน่าจะมีสภาพเหมือนสนามรบมากกว่าที่จะเป็นสถานพยาบาล

“โรงฆ่าสัตว์” เป็นเพื่อนชาวตะวันตกคนหนึ่งพูดกับผู้เขียนเมื่อเดือนที่แล้วนี้เองเมื่อเขาได้เห็นสภาพของหอผู้ป่วยอายุรกรรมในโรงพยาบาลจังหวัดแห่งหนึ่ง ยุ่งเหยิง วุ่นวาย และพยาบาลทำงานสายตัวแทบขาดด้วยค่าตอบแทนน้อยนิด ห้ามลา และห้ามป่วย

ทั้งนี้ยังไม่นับว่าอายุรแพทย์จะต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองอีก ทั้งหมดนี้ต้องแล้วเสร็จในเวลา 4 ชั่วโมงเพื่อให้ผลลัพธ์ของการฉีดยาละลายลิ่มเลือดดีที่สุด จะเห็นว่า D2DT เป็นตัวชี้วัดที่ช่วยชีวิตคนคนหนึ่งให้เปลี่ยนสภาพจากผักเป็นคนได้ในเวลาเป็นนาที อยู่ที่ระบบคุณภาพของโรงพยาบาลนั้นจะดีมากพอที่อายุรแพทย์จะทำงานได้หรือเปล่า

แต่ระบบคุณภาพที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็ดูเหมือนว่าจะใช้อายุรแพทย์ไปทำเอกสารคุณภาพเสียมากกว่าอยู่ดี

“หาห้องพิเศษให้หน่อยสิ” ภรรยาของผู้ป่วยโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือในวันเดียวกับที่ได้ยาละลายลิ่มเลือด ภาวะฉุกเฉินผ่านไปได้ด้วยดีด้วยฝีมือโรงพยาบาลเอกชนและระบบเบิกของข้าราชการ ตอนนี้ถึงเวลาประหยัดค่าใช้จ่าย และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยได้

“คุณลุงตายแล้วเน่อ” แทบจะวันเดียวกันที่บ้านเราได้รับข่าวคนรู้จักที่อีกอำเภอหนึ่งชายแดน ผู้ป่วยคนนี้ไม่ได้ไปโรงพยาบาลด้วยซ้ำไป หลังจากมีอัมพฤกษ์แล้วก็นอนอยู่บ้านเป่าน้ำมนตร์ไปเรื่อยๆ จนตาย ทั้งที่โรงพยาบาลชุมชนต้นสังกัดอยู่ห่างจากโรงพยาบาลจังหวัดเพียง 60 กิโลเมตร

เขียนเท่านี้คนเชียงรายก็จะรู้กันว่ากำลังพูดถึงอำเภออะไร คืออำเภอแม่สาย ที่ซึ่งเด็กๆ ติดอยู่ในถ้ำหลวง 10 วัน กว่าจะช่วยเหลือออกมาได้

การจัดการสิ่งกีดขวางในถ้ำเพื่อนำเด็กออกมาต้องการเทคโนโลยีที่ดี การจัดการที่ดี และอาจจะต้องการพลังความรู้หรือพลังความเชื่อของชาวบ้านด้วย จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งก็มิสามารถช่วยเหลือเด็กได้สำเร็จ

การขจัดสิ่งกีดขวางในเส้นเลือดสมองหรือเส้นเลือดหัวใจก็เช่นกัน

ถ้ำหลวงมิถุนายน 2561 ก่อนเกิดเหตุสองสัปดาห์
ถ้ำหลวงมิถุนายน 2561 ก่อนเกิดเหตุสองสัปดาห์

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save