fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (10) : ไตวายบ้านวาย

หลักประกันสุขภาพที่รัก (10) : ไตวายบ้านวาย

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

“ปีสุดท้ายแล้วค่ะ” คุณนภาวรรณเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือตอนบน

เธอป่วยด้วยโรคเอสแอลอี (SLE) ตามด้วยไตวายตั้งแต่ครั้งเรียนปี 1 เธอเรียนแพทย์แผนจีน ตอนที่มาพบผมครั้งแรกเป็นคุณพ่อพามา เธอซึมเศร้ามาก ท้อใจ ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรอีก ไม่อยากเรียนและไม่อยากมีชีวิตอยู่

เธอฆ่าตัวตายแล้วสองครั้ง ครั้งแรกกินยาเกินขนาด ล้างท้องแล้วก็กลับบ้าน ไม่ได้พบนักจิตวิทยา เธอกระโดดตึกในครั้งที่สอง ไม่ตายแต่แขนหัก ใส่เฝือกอยู่นาน วันที่พ่อพาเธอมาเธอยังไม่ถอดเฝือก

โรคซึมเศร้าคือโรคซึมเศร้าวันยังค่ำไม่ว่าจะเกิดจากอะไร เป็นเอง จากพันธุกรรม จากเอสแอลอี หรือจากไตวาย ความหมายคือผู้ป่วยมิใช่คุณนภาวรรณคนเดิม เธอเป็นผู้ป่วย การที่เธออยากตายแล้วลงมือมิได้แปลว่าไม่เข้มแข็ง แต่เพราะสารเซโรโทนิน (serotonin) ที่อยู่ในช่องว่างระหว่างจุดเชื่อมต่อประสาทขาดหายไปมาก

ต่อให้เป็นบรู๊ซ เวย์นก็ต้องฆ่าตัวตาย

คุณนภาวรรณอยู่ในคิวรอผ่าตัดเปลี่ยนไต ระหว่างรอนั้นเองที่ระดับครีเอตินินในกระแสเลือดสูงขึ้นอย่างมาก ลำพังไตวายประการเดียวเธอก็เข้าสู่โหมดโรคซึมเศร้าเต็มรูปแบบได้แล้ว ทั้งนี้ยังไม่นับว่าเธอเป็นเอสแอลอี และมีประวัติพันธุกรรม คุณอาของเธอแขวนคอตาย และตาย

ผมให้ยาต้านอารมณ์เศร้าแก่เธอ และให้ยาหยุดการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะ

ไม่มีหรอกครับ ยาหยุดการฆ่าตัวตาย การรักษาด้วยไฟฟ้าหรือแม่เหล็กไฟฟ้าจึงหยุดการฆ่าตัวตายได้ชะงัด ผมเพียงให้ยาเสริมยาต้านอารมณ์เศร้าเพื่อหยุดอารมณ์เศร้าและความคิดฆ่าตัวตายให้เร็วที่สุดเท่านั้น จำได้ว่าให้ยาในขนาดสูง พูดคุยกับคุณพ่อและคุณนภาวรรณอย่างชัดเจนว่าขอให้ทนฤทธิ์ข้างเคียงของยาให้ได้ กล้ำกลืนกินยาทุกมื้อ โยนยาเข้าปากและดื่มน้ำตามทุกเม็ด รับรองว่าดี

เม็ดยาที่ให้ไหลลงกระเพาะอาหาร สลายเป็นผงแล้วถูกละลายด้วยน้ำย่อย จากนั้นดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยาถูกแปรรูปแล้วเดินทางขึ้นบนผ่านเส้นเลือดคาโรติดที่คอสู่สมอง ผ่านบลัดเบรนแบริเออร์เข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ตัวยาซึมเข้าไปในบริเวณช่องว่างระหว่างจุดเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทแล้วเข้าไปปิดกั้นประตูน้ำของเซโรโทริน มิให้เซโรโทนินถูกดูดกลับเข้าไปในเซลล์ ผลที่ได้คือระดับเซโรโทนินที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่องว่างนี้

แล้วผู้ป่วยก็อารมณ์ดีขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์

“คุณหมอดูกู๊ดด๊อกเตอร์หรือเปล่าคะ” คุณนภาวรรณถามผมในสามปีต่อมา

“เปล่า หนังซีรีส์หรือ ซีรีส์อะไร เกาหลีหรือ”

“ไม่ใช่ค่ะ ซีรีส์ฝรั่ง หนูชอบ ดูแล้วคิดถึงคุณหมอ”

Good Doctor เกาหลี อเมริกา

อันที่จริงผมไม่กู๊ดเท่าไรหรอกนะ  เวลาเหนื่อยแล้วต้องมาพบญาติผู้ป่วยประเภท “เหลือกิน” ผมก็ดุไม่ยั้งเหมือนกัน แต่กับผู้ป่วยผมมักโอนอ่อนได้มากกว่า เพราะจะอย่างไรเขาก็เป็นผู้ป่วย ดื้อเพราะไม่รู้เสียมาก แต่ถ้าดื้อมากเพราะนิสัยเสียก็จะถูกดุเช่นกัน

“มีข่าวดีหรือยัง” ผมหมายถึงการผ่าตัดเปลี่ยนไต

“ยังค่ะ” เธอตอบเศร้าๆ

วันนี้คุณนภาวรรณล้างไตหน้าท้องด้วยตนเอง โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ว่าหลายอย่างจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่อีกหลายอย่างต้องเสียค่าใช้จ่าย

“ประมาณสามพันบาทต่อเดือนค่ะ” เธอบอก

“มากขนาดนั้นเลยหรือ ไหนว่าสามสิบบาท” ผมถามด้วยความไม่รู้จริงๆ

สามปีเต็มที่เธอล้างไตด้วยตัวเอง เคยติดเชื้อสองครั้ง เธอเศร้าทั้งสองครั้งตอนที่ติดเชื้อ และโรคซึมเศร้ากำเริบทำให้ต้องเพิ่มขนาดยา ที่ทุกท่านควรรู้คืออารมณ์เศร้ากำเริบเพราะติดเชื้อ มิใช่เพราะเธอท้อใจ นี่เป็นเรื่องอธิบายยาก ระดับเซโรโทนินในช่องว่างระหว่างจุดเชื่อมต่อประสาทขาดหายไปมากยิ่งขึ้นเพราะเชื้อแบคทีเรีย

คุณนภาวรรณเรียนมาถึงปีสี่แล้ว เธอยังไม่ตายแม้ว่าจะผอมลงมาก ยิ้มแย้มแจ่มใสมาพบผมเดือนละครั้ง มีความหวังรอการผ่าตัด  แม้ว่าจะไม่มีความหวังเท่าไรนักก็ตาม

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยให้เธอยังมีชีวิตอยู่ เรียนใกล้จบแล้ว จะได้เป็นหรือได้ทำแพทย์แผนจีนหรือเปล่ามิใช่ประเด็น

ประเด็นคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วย 1 ชีวิต

“ล้านกว่าบาทค่ะ คุณหมอ” คุณประไพพรรณบอกผมเมื่อถูกถามว่าฟอกเลือดคุณพ่อหมดไปกี่แสน นี่ก็ถามด้วยความไม่รู้อีกเช่นกัน

หลังจากเงินหมดบ้าน คุณประไพพรรณจึงพาพ่อเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้วล้างไตหน้าท้องด้วยตนเอง แต่เพราะเธอเป็นพยาบาล เธอจึงทำให้พ่อได้

แต่แล้ววันหนึ่งคุณตาก็ล้มป่วยด้วยโรคชราอีกคนหนึ่ง นอนติดเตียงมีแผลกดทับ คุณประไพพรรณมีลูกชาย 1 คน อายุ 2 ขวบที่ขาดพ่อไปไม่มีวันกลับ สถานการณ์รอบด้านถาโถมจนกระทั่งเธอป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ไม่อยากอยู่ อยากตาย ฆ่าตัวตายมาแล้วสองครั้ง และคิดเรื่องเอาลูกไปโลกหน้าด้วย

เธอมีพันธุกรรม คุณปู่ยิงตัวตาย

โรคซึมเศร้าเกือบทั้งหมดถ่ายทอดทางพันธุกรรม อยู่ที่ใกล้เรามากเพียงใด มรสุมชีวิตคนเรามีกันทุกๆ คน แต่จะโค่นต้นไม้ล้มหรือเปล่าขึ้นกับพันธุกรรมด้วย

คุณประไพพรรณลาออกจากงานรายได้งามที่กรุงเทพฯ เธอกลับบ้านเกิดแบกภาระคุณพ่อ คุณตาและลูกชายวัยดื้อด้วยตัวคนเดียว เงินเก็บหลักล้านหมดไปแล้วกับการฟอกไตโรงพยาบาลเอกชน เธอเศร้าและเริ่มต้นรักษาโรคซึมเศร้าที่โรงพยาบาลเอกชนด้วยค่าใช้จ่ายมากกว่าหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน

“ยาของคุณหมอดีเหมือนที่โรงพยาบาลเอกชนมั้ยคะ” เธอถาม

“ดีกว่า” ตอบหน้าซื่อ

ยาต้านอารมณ์เศร้าในบัญชียาหลักแห่งชาตินั้นดีมากและรักษาได้ทุกคน อยู่ที่ฝีมือ สำคัญกว่าคือจะพูดคุยอย่างไร ค่ารักษา 10,000-30,000 บาทต่อเดือน เพราะยาอิมพอร์ตนั้น เราลดเหลือศูนย์บาทได้สบายมากด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“คุณตาได้ยารักษาอัลไซเมอร์มาด้วยค่ะ” คุณประไพพรรณว่าต่อ

“กี่บาท” ผมหน้าด้านถาม ไหนๆ ก็ไหนๆ

“สองหมื่นกว่าค่ะ เป็นยานอกทั้งนั้น ใช้รักษาอัลไซเมอร์”

ผมทำให้ค่าใช้จ่ายของเธอเหลือศูนย์บาทด้วยยาบัญชียาหลักแห่งชาติในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอีกคน ด้วยการพูดคุย  อธิบาย และช่วยกันกำหนดเป้าหมายของการรักษาโรคชราเสียใหม่

เงินที่เธอประหยัดขึ้นมาได้ เธอเอาไปปรับปรุงห้องน้ำให้คุณตาและคุณพ่อ ซื้อเตียงผู้ป่วยที่ดีมีคุณภาพให้แก่คุณตา และยังมีเหลือจ้างผู้ช่วยดูแลคุณตาอีก 1คน โดยเริ่มต้นที่ค่าแรง 12,500 บาทต่อเดือน

“คุณพ่อมีคิวผ่าตัดเปลี่ยนไตมั้ยครับ” ถามไปเรื่อย ต้องการแสดงความใส่ใจมากกว่าต้องการคำตอบ

“ไม่ค่ะ แก่เกินไปค่ะ”

“จะเรียนจบแล้วสินะ” ผมชวนคุณนภาวรรณคุยครั้งล่าสุดที่เธอมาพบ

“ใช่ค่ะๆ หนูดีใจม้ากมาก” เธอยิ้ม “คุณหมอดูกู๊ดด๊อกเตอร์รึยัง”

ย้าง! เกรย์อนาโตมี่ซีซั่นสิบสามยังไม่จบเลย เหน่ย!

Grey's Anatomy

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save