fbpx

หลักประกันสุขภาพ : บนถนนที่ก่อร่างและเส้นทางที่ต้องต่อเติม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในโมงยามที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่งต่อสาธารณสุขไทยภายใต้การระบาดของโควิด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นถึงปัญหาที่ถูกซุกอยู่ใต้พรม และช่องโหว่เรื่องสุขภาพของคนไทยภายในประเทศที่ยังมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาล อีกนัยหนึ่งอาจถือได้ว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการหันกลับมาทบทวนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เคยหยั่งรากลึกกว่า 19 ปี นับตั้งแต่นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ พร้อมด้วยกัลยาณมิตรทุ่มเทแรงกายแรงใจช่วยกันก่อกำเนิดขึ้นมา

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในฐานะหมุดหมายสำคัญบนเส้นทางการพัฒนาระบบสุขภาพไทยเผชิญความเปลี่ยนแปลงอะไรในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นควรเป็นอย่างไร

ภายในงานเสวนา ‘หลักประกันสุขภาพที่รัก : สู่อนาคตที่ต้องดีกว่าเดิม’ วาระการเปิดตัวหนังสือ ‘หลักประกันสุขภาพที่รัก’ ของนพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ซึ่งรวบรวมจากบทความในคอลัมน์ ‘หลักประกันสุขภาพที่รัก’ ทางเว็บไซต์ The101.World ระหว่างปี 2561 – 2563 และสนับสนุนการจัดทำหนังสือโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงชวนสนทนาถึงประเด็นดังกล่าว 

โดยมีผู้ร่วมเสวนาไล่เรียงตั้งแต่ผู้ที่มีส่วนก่อร่างสร้างหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย แพทย์ผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพ และตัวแทนจากมุมมองของผู้บริโภค อันประกอบด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เขียนหนังสือ ‘หลักประกันสุขภาพที่รัก’ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพที่รัก
: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เริ่มต้นการสนทนาด้วยการพูดถึงหนังสือ ‘หลักประกันสุขภาพที่รัก’ ของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวบทบันทึกจากประสบการณ์การทำงานในฐานะแพทย์ที่ทำงานคาบเกี่ยวกับในช่วงการก่อร่างสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หน้ากระดาษจากมุมมองของญาติผู้ป่วย และหนึ่งในคนที่ให้การสนับสนุนหลักประกันดังกล่าว

นพ.ประเสริฐเล่าว่า หลักประกันสุขภาพมีหลักการพื้นฐานของระบบอย่าง (1) ใกล้บ้าน ใกล้ใจ การรักษาพยาบาลในระยะใกล้ ก็ชัดเจนว่าจะสะดวกต่อผู้ป่วยและญาติมากกว่า ซึ่งวันนี้ยังไม่เกิดก็ต้องทำให้เกิด (2) เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข การเฉลี่ยความเสี่ยงเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม โดยหลักการแล้วเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน และควรเป็นเรื่องสิทธิมิใช่สังคมสงเคราะห์ รวมไปถึงถกเรื่องประเด็นการร่วมจ่าย (Co-payment) ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่าต้องไปถึงขั้นให้ทุกคนล้วงไปยาที่ดีเท่าเทียมกันได้ ไม่เช่นนั้นอาจจบที่คนรวยสามารถล้วงยา และพันธุกรรมที่ดีกว่าคนจน

“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพัวพันกับทุกเรื่อง ทั้งการตรวจผู้ป่วยนอก ตรวจผู้ป่วยใน ผู้ป่วยฉุกเฉิน การออกหน่วยเคลื่อนที่ การออกหน่วยพอ.สว. การเข้าไปตรวจผู้ป่วยในเรือนจำ ทุกอย่างเกี่ยวพันกันไปหมด แม้กระทั่งระบบตรวจคุณภาพก็ชัดเจน” 

นพ.ประเสริฐให้มุมมองว่า ท้ายที่สุดทุกส่วนจะโยงไปสู่เรื่องค่าใช้จ่ายและการบริหารงบประมาณเสมอ เป็นหน้าที่ของรัฐในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งหลายครั้งวาทกรรมที่มักจะนำมาโจมตีหลักประกันสุขภาพ คือเรื่องการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลือง และผู้ให้บริการต้องแบกรับการทำงานหนัก แต่เขาขออนุญาตเรียนว่าไม่ได้หนักทุกคน แพทย์กลุ่มที่ทำงานหนักก็หนักสม่ำเสมอ บางคนต่อเนื่องยาวนานจนเกษียณอายุราชการ แต่แพทย์ที่ไม่ได้ทำงานหนักมากมายก็อยู่ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากระบบการจัดการของสาธารณสุขไม่สามารถเกลี่ยงานได้ดี นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของการประชุมราชการไทย ที่เน้นการถกเถียงแต่ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาเป็นขั้นๆ ตามอำนาจการตัดสินใจอย่างแท้จริง

เมื่อพูดถึงสถานการณ์โควิดในกรุงเทพมหานคร นพ.ประเสริฐให้ความเห็นว่า แม้เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่คิดว่ากรณีแรงงานต่างชาติในสมุทรสาคร หรือคนในคลองเตยสะท้อนให้เห็นว่า “จะไม่มีใครปลอดภัย ถ้าทุกคนไม่ปลอดภัย” รัฐต้องทำให้คนชายขอบที่ถูกหลงลืมกลับมาเป็นพลเมือง (citizen) อย่างแท้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้จะต้องโยงลูกศรหลายเส้นเพื่ออธิบายก็ตามที

โดยส่วนตัวนพ.ประเสริฐเสนอให้มีการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปสู่การรักษาพยาบาลแบบองค์รวม แพทย์สามารถให้การรักษาพยาบาลในสิ่งที่ดีที่สุด ในขณะเดียวกันถ้าคนไข้ต้องใช้ยาแพงก็สามารถให้สปสช.จ่าย ระบบเช่นนี้จะทำให้ทุกฝ่ายทำงานง่ายขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ชื่นใจที่ได้ทำงาน ผู้ป่วยชื่นใจที่ได้ให้บริการที่ดี

นอกจากนี้เขายังมีข้อเสนอต่อการพัฒนาหลักประกันคุณภาพอื่นๆ เช่น การกระจายอำนาจอย่างมีความหมาย สามารถให้คุณให้โทษผู้อำนวยการโรงพยาบาล โดยไม่มีอำนาจที่เหนือกว่าซ้อนทับ การมีหมอครอบครัวที่เป็นแพทยศาสตร์บัณฑิต เพื่อให้เกิดคำว่าใกล้บ้าน ใกล้ใจที่มีคุณภาพ และทำให้เกิดกระบวนการรับ-ส่งตัวผู้ป่วยที่ดี (refer) การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนสัดส่วนของคณะกรรมการสปสช. ทั้งสองชุด เพิ่มตัวแทนจากภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมเข้ามา และสุดท้ายจะต้องทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นที่สม่ำเสมอเพื่อให้การพัฒนาไม่สะดุด และทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแข็งแรงมากพอในการดูแลโรงพยาบาลท้องถิ่น

“ผมมีความหวัง ความหวังคือคนรุ่นใหม่จริงๆ คนรุ่นใหม่ด้วยสมองที่ดีกว่าเรา สมองที่โตมากับดิจิทัลที่ดีกว่า ผมมั่นใจว่าเขาจะใช้ 5G รื้อกระทรวงสาธารณสุขและปฏิรูปหลักประกันถ้วนหน้า ทำให้สามระบบเข้ามาใกล้เคียงกันได้ดีกว่า ฝากไว้กับคนรุ่นใหม่” นพ.ประเสริฐทิ้งท้าย

ทุนทางสังคมต้องเข้มแข็ง : นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงเหตุผลในการสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เนื่องจากเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องหลักประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนทั่วไป ไม่เป็นนักวิชาการจนเกินไป และเป็นข้อมูลจากประสบการณ์จริง ถ่ายทอดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามลำดับ มีการหยิบยกภาพยนตร์และหนังสือ รวมไปถึงตัวอย่างจากต่างประเทศมาช่วยเล่าเรื่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนมีฐานความรู้เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ในงานเขียนยังมีแง่มุมด้านจิตใจมาประกอบ ไม่ใช่เพียงประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแง่มุมทางกาย

ในขณะเดียวกันสำหรับปรากฎการณ์ที่มีการถกเถียงกันเรื่องหลักประกันสุขภาพ เขามองว่าเป็นเรื่องปกติ แม้ด้านนึงอาจจะเป็นการเสียเวลาในการถกเถียงประเด็นเดิมๆ ซึ่งนพ.ประเสริฐก็ชี้ให้เห็นว่าไม่คุ้มค่า เพราะคาดหวังในแต่ละเรื่องที่มีความคาดหวังสูง แต่เขาคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้ทุนทางสังคมแน่นขึ้น และทำให้ระบบมีความเข้มแข็งขึ้น

นอกจากนี้ นพ.ศักดิ์ชัยยังมีข้อเสนอในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ตั้งแต่ การเตรียมระบบปฐมภูมิให้พร้อม เช่น หมอครอบครัว ใกล้บ้าน ใกล้ใจ หรือการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เขาเน้นย้ำว่าการกระจายต้องเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าและต้องทำให้เกิดระบบที่ดีในกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดขึ้นจริง

หลักประกันสุขภาพที่รัก สาธารณสุขที่น่ากังวล
และประเทศไทยที่น่าเศร้านพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สะท้อนความคิดหลังจากอ่านหนังสือหลักประกันสุขภาพที่รัก ว่าเป็น “หนังสือหลักประกันสุขภาพที่มีชีวิต” และมีความแตกต่างไปจากหนังสือเล่มอื่นๆ ตรงที่ทำให้แพทย์ที่ทำงานร่วมสมัยได้ย้อนกลับไปเห็นภาพการทำงานของแพทย์และการเข้าถึงการรักษาของประชาชนในยุคก่อนว่ายากลำบากเพียงใด

ประการต่อมาหนังสือยังเล่าเรื่องวัตรปฏิบัติของแพทย์ สะท้อนแง่มุม ความคิด ความตั้งใจในฐานะตัวแทนของแพทย์อีกมากมายที่ไม่ได้มีโอกาสได้พูด นอกจากนี้ข้อความระหว่างบรรทัดยังได้แตะเรื่องระบบราชการและระบบสาธารณสุขที่มีปัญหามากมาย ทำให้มองเห็นภาพกว้างของทั้งระบบ สิ่งที่คิดว่าทำดีมาตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมายังไม่ได้ปริมาณที่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขได้และจำเป็นต้องพัฒนากันต่อไป ประการสุดท้าย หนังสือเล่มนี้สะท้อนความเป็นนักประชาธิปไตยของนพ.ประเสริฐได้เป็นอย่างดี ถ่ายทอดหลักการประชาธิปไตยที่ควรยึดถือ

นอกจากนี้ นพ.สุรพงษ์ยังเล่าถึงเบื้องหลังการก่อร่างของหลักประกันสุขภาพ เมื่อปี 2544 ที่พยายามออกแบบหลักประกันสุขภาพควบคู่กับการพิจารณาเรื่องงบประมาณในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัว และการพัฒนาระบบบริการให้มีประสิทธิภาพ เขาพูดถึงการกระจายอำนาจในรูปแบบโมเดลองค์การมหาชน ซึ่งไม่เพียงแต่การกระจายอำนาจงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกจากกระทรวงสาธารณสุข แต่ยังรวมไปถึงความพยายามกระจายอำนาจให้กับโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน หรือแม้แต่สถานีอนามัยซึ่งเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในปัจจุบัน

แม้สปสช. จะมีการพัฒนามาเป็นลำดับตามกาลเวลากว่า 20 ปี แต่สำหรับนพ.สุรพงศ์มองว่า สามารถทำได้ดีกว่านี้ ด้วยระบบนิเวศทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น เราสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

โดยนพ.สุรพงษ์มีข้อเสนอต่อการปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพและสาธารณสุขไทย ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 ให้ความสำคัญกับสาธารณสุขมูลฐาน : วิกฤตโควิดเปิดแผลของระบบสุขภาพไทยที่มองคนเมืองเป็นประชากรชั้นสองอย่างชัดเจน เช่น กรณีกรุงเทพมหานครที่เป็นจุดเปราะบางอย่างมากในสาธารณสุขไทย มีคนในพื้นที่นับสิบล้านคน แต่การให้บริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิที่เข้าถึงได้ในการรักษาโรคทั่วไปยังไม่เพียงพอ มีแค่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ซึ่งไม่สามารถเทียบเคียงได้กับโรงพยาบาลอำเภอได้ สาเหตุเป็นเพราะการรักษาส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยบริการระดับตติยภูมิ และหน่วยบริการระดับตติยภูมิขั้นสูง (Super Tertiary Care) ซึ่งเป็นการรักษาพยาบาลคนไข้ที่ต้องการความเชี่ยวชาญในการรักษาเฉพาะด้าน ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยจากทั่วประเทศจึงถูกถ่ายโอนมายังเมืองหลวง ทำให้คนกรุงเทพมหานครเข้าไม่ถึงการรักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไป 

ข้อเสนอสำหรับระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร คือต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ ผลักดันให้เกิดโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยราชการดูแลการให้บริการปฐมภูมิและทุติยภูมิเพิ่มเติม ให้ความสำคัญกับสาธารณสุขมูลฐาน ออกแบบระบบที่มีบุคลากรทำหน้าที่คล้ายกับอสม. ส่วนระบบสาธารณสุขในระดับประเทศต้องหันกลับมาลงทุนการให้บริการในระดับปฐมภูมิมากยิ่งขึ้น

“ผมคิดว่าถึงคราวต้องลงทุนกระทรวงสาธารณสุขครั้งใหญ่ เพื่อพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการบริการ โดยเฉพาะในระดับปฐมภูมิ พัฒนาสถานีอนามัย พัฒนาโรงพยาบาลอำเภอให้สามารถที่จะเป็นด่านหน้าใกล้บ้าน ใกล้ใจ ตรงนั้นก็ทำให้ลำธารเล็กๆ ที่จะต้องมารวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่อยู่ที่คณะแพทย์ศาสตร์ต่างๆ ไม่เกิดขึ้น ชาวบ้านก็จะมีความสุขมากขึ้น” นพ.สุรพงษ์กล่าว

ประเด็นที่ 2 คืนภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของสปสช. และปฏิรูปหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง : เดิมทีสปสช. ขยายภารกิจตัวเองในส่วนที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก เรื่องจากนพ.สงวนเป็นคนที่เห็นปัญหาและเลือกที่จะรับมาแก้เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่ในระยะยาวต้องเน้นไปที่การปฏิรูปหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง มีการกระจายอำนาจอย่างจริงจังเพื่อให้ระบบงบประมาณกับระบบบริการสามารถเอื้อหนุน และทำให้เกิดการพัฒนาในเชิงคุณภาพ

ประเด็นที่ 3 ผลักดันการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการช่วยสาธารณสุข : ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีของกระทรวงสาธารณสุขยังมีปัญหาเรื่องเอกภาพของระบบ การเชื่อมโยงทำได้ยาก เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลมีแพลตฟอร์มที่ต่างกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการผนวกข้อมูลเข้าไว้ด้วยกัน

ประเด็นที่ 4 จัดการเรื่องค่าใช้จ่ายของบุคลากรทางการแพทย์ใหม่ให้เป็นระบบ : ปัญหาที่กินเวลายาวนานคือการเบิกจ่ายเงินเดือนคนที่บรรจุใหม่ซึ่งใช้งบของสปสช. ทั้งหมด ขณะที่เงินราชการกับเงินประกันสังคมไม่ต้องจ่ายเงินเดือน เป็นเหมือนเงินต่อยอด ถึงเวลาที่เราต้องจัดการเรื่องนี้ใหม่ โดยให้เงินเดือนของผู้ให้บริการทางการแพทย์ตัดมาจากงบประมาณทั้งสามระบบ คือ งบประมาณจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า งบประมาณจากประกันสังคม และงบประมาณจากสวัสดิการราชการ

ประเด็นที่ 5 สนับสนุนงบประมาณให้ครอบคลุมทุกหย่อมหญ้า : หนึ่งปัญหาที่โรงพยาบาลตามอำเภอเมืองในจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีโรงพยาบาลให้การรักษาพยาบาลระดับตติยภูมิ หรือโรงพยาบาลจตุรทิศในจังหวัดที่อยู่รอบๆ กรุงเทพมหานครมักเจอคล้ายกัน คือการสนับสนุนงบประมาณที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเกิดจากทัศนคติผู้รับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขในยุคก่อนๆ ที่เห็นว่าพื้นที่เหล่านั้นมีผู้ป่วยมาใช้บริการจำนวนมาก อยู่ใกล้ความเจริญ ไม่ต้องลงเม็ดเงินสนับสนุน ทำให้ระดับการพัฒนาโรงพยาบาลไม่สามารถเทียบเท่ากับทางต่างจังหวัดได้ จึงจำเป็นต้องหันกลับมาพัฒนาสาธารณสุขให้คลอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อสร้างพื้นฐานของแต่ละที่ให้แข็งแรง

เม็ดเงินต้องลงทุนสุขภาพและการศึกษา
ไม่ใช่ถนนและกองทัพ : นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

“คุณหมอไม่ได้เขียนเรื่องหลักประกันสุขภาพ แต่คุณหมอเขียนเรื่องสังคมไทย สอดแทรกการวิพากษ์วิจารณ์ทุกบท ผมคิดว่าความสนุกอยู่ตรงนี้” นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา บอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ ว่าอ่านแล้วไม่น่าเบื่อและเขียนได้อย่างกล้าหาญ แต่ในขณะเดียวกันก็สุภาพและอ่อนโยน ทั้งยังสอดแทรกความคิดเชิงอุดมคติ ความคิดเชิงประชาธิปไตย และชุดประสบการณ์ได้อย่างแนบเนียน

นพ.สุภัทรให้ความเห็นว่าเมืองไทยมีหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพมาก แต่ต้องการเวอร์ชันสองที่มีคุณภาพและเท่าเทียมกว่านี้ได้ โดยการเก็บตกการให้สิทธิกลุ่มคนไร้รัฐ  กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะ และกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพราะเป็นสิทธิของทุกคน

ในความเห็นของนพ.สุภัทรพบว่า ปัญหาของหลักประกันสุขภาพในปัจจุบันคือแม้จะให้สิทธิคนส่วนใหญ่ แต่ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพและการเข้าใช้บริการของผู้ป่วย ยกตัวอย่างกรณีโควิดในกรุงเทพมหานครที่คนไข้ต้องรอเตียงนาน อันเป็นปัญหาเชิงระบบ นอกจากนี้มาตรฐานทางการแพทย์ยังปรากฏความเหลื่อมล้ำอยู่สูง เขาเล่าว่าหลักประกันสุขภาพของไทยมีต้นทุนค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยตกคนละ 3,000 บาท แม้จะพออยู่ได้แต่ก็ยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลเบื้องต้นของคนที่อยู่ในหัวเมืองใหญ่ เนื่องจากโรงพยาบาลในหัวเมืองรับคนไข้จากจังหวัดอื่นจนเต็ม ไม่มีที่เหลือสำหรับคนในจังหวัด

“โจทย์พวกนี้ ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดสังคมก่อนว่าเราต้องทุ่มเทและลงทุนสุขภาพและการศึกษา แต่ของประเทศไทยกลับลงถนนและกองทัพ” 

นพ.สุภัทรแสดงความคิดเห็นว่า การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพเป็นก้าวต่อไปที่สำคัญมาก สุขภาพที่ดีต้องมาจากการลงทุนและบริหารทรัพยากร ต้องพัฒนาให้ระบบ primary care ใช้ได้จริง เขตเมืองใหญ่ควรมีโรงพยาบาลชุมชน เกิดแพทย์ประจำครอบครัว และผลักดันให้เกิดระบบการส่งตัวที่เข้มแข็ง รวมไปถึงควรลดความเหลื่อมล้ำทางมาตรฐานทางการแพทย์เพื่อให้ประชาชนในประเทศมีตาข่ายทางสังคมรองรับพวกเขาในยามเจ็บป่วย

นพ.สุภัทรกล่าวส่งท้ายว่า หลักประกันสุขภาพสัมพันธ์กับหลายเรื่อง จำเป็นต้องอาศัยการกระจายอำนาจและประชาธิปไตยที่ดีเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันสร้างหลักประกันสุขภาพ

“เราต้องการเปลี่ยนอะไรที่ก้าวกระโดดไปสู่การมีคุณภาพ ไม่ใช่เพียงการปรับปรุงโรงพยาบาล ขอเงินเพิ่มต่อหัวประชากร แต่สามารถดูแลคนไทยและทุกคนในแผ่นดินไทย” 

การแพทย์ต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม : สารี อ๋องสมหวัง

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะผู้ที่เคยทำงานร่วมกับนพ.ประเสริฐ ขณะเป็นคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และในฐานะผู้บริโภคให้ความเห็นว่า หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นทั้งหลักการของหลักประกันสุขภาพ และจุดยืนของนพ.ประเสริฐ ทั้งจุดยืนเรื่องความเท่าเทียมของผู้คน อุดมการณ์ในการทำงานแพทย์ เช่น การใช้เงินส่วนตัวเพื่อประชุมทางวิชาการ ขณะที่คนจำนวนมากเลือกใช้เงินจากบริษัทยา ฯลฯ

ในช่วงเหตุการณ์วิกฤตทางสาธารณสุข สารีฉายภาพให้เห็นปัญหากรณีสถานการณ์โควิด ซึ่งเธอมีบทบาทเป็นอาสาสมัครรับเรื่องร้องเรียนให้กับสปสช. ผ่านเบอร์ 1300 พบว่ายังมีการเก็บค่ารักษาพยาบาลโควิด ทั้งที่ตามหลักการแล้ว หลักประกันต้องรองรับทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม Hospitel ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติยังเห็นกลุ่มเสี่ยงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ หรือมีการเก็บค่ารักษาพยาบาลในราคาสูง เรื่องนี้เป็นช่องโหว่ในวิกฤตที่ต้องหาทางแก้

สำหรับประเด็นปัญหาของสาธารณสุขไทย ในความเห็นของเธอมองว่า ปัจจุบันประชาชนมีสิทธิรักษาพยาบาล 3 ระบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ถึงแม้บางเรื่องจะขยับเข้ามาใกล้กันแล้วก็ตาม จึงเป็นโจทย์สำคัญที่จะทำอย่างไรให้การรักษาพยาบาลของผู้ป่วยไม่ถูกแบ่งแยกจากระบบของการจ่ายเงิน

สารีเสนอข้อคิดเห็นที่จะนำไปสู่หลักประกันสุขภาพระบบเดียว คลอบคลุมทุกคน เนื่องจากเห็นว่าผู้ประกันตนเป็นผู้ที่เสียเปรียบในการเข้ารับการรักษาพยาบาลมากที่สุด พวกเขาต้องเสียภาษีเพื่อไปทำหลักประกันสุขภาพอีกสองระบบคือ สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และบัตรทอง รวมถึงยังถูกหักเงินประกันตนในประกันสังคมเพื่อใช้ในเรื่องสุขภาพ ทั้งที่มีหลายอย่างทับซ้อนกับบัตรทอง จึงควรจะให้ผู้ประกันตนใช้บัตรทองร่วมกับคนอื่น เหมือนกับที่ให้แรงงานนอกระบบสามารถจ่ายเงินสมทบกับประกันสังคมได้

นอกจากนี้สารียังมีข้อเสนอจากภาคประชาสังคมที่พยายามขับเคลื่อนอีกหลายประเด็น เช่น การผลักดันให้คนไข้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามกฎหมาย, การกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาลให้เป็นธรรม, การผลักดันให้จำกัดความคำว่า ‘ฉุกเฉิน’ เสียใหม่ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่เป็นการตีความในทางการแพทย์อย่างเดียว, ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบการให้บริการที่มีคุณภาพผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น ระบบการจองคิวโรงพยาบาล โทรเวชกรรม การรักษาทางไกล เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล รวมทั้งลดภาระของผู้ป่วยในการเดินทาง และสนับสนุนให้ยุติการเก็บเงินที่หน่วยให้บริการ เพื่อป้องกันการเกิดความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติที่ชัดเจน แต่มาแก้ปัญหาด้วยการหาเงินจากระบบมาช่วย เป็นต้น


ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ ‘หลักประกันสุขภาพที่รัก’ ในรูปแบบอีบุ๊กได้ ที่นี่

และผู้ที่สนใจหนังสือ ‘หลักประกันสุขภาพที่รัก’ ในรูปแบบรูปเล่ม สามารถติดต่อได้ที่:
คุณสุกัญญา ศรีประวรรณ เจ้าหน้าที่ สปสช. อีเมล : [email protected]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save