fbpx

ชีวิตและผลงานของ ปรามูเดีย อนันตา ตูร์: นักเขียน นักโทษและนักต่อสู้ทางการเมืองแห่งอินโดนีเซีย

“นักสู้ทุกคนสามารถพ่ายแพ้และพ่ายแพ้ได้ตลอดโดยที่ไม่เคยชนะเลย, และความพ่ายแพ้นั้นก็เป็นครูที่ (นักสู้) จ่ายแพงเกินไป แต่ถึงแม้ว่าจะพ่ายแพ้, ตราบเท่าที่ผู้ใดผู้หนึ่งถูกเรียกขานว่าเป็นนักสู้ เขาจะไม่ยอมจำนน ภาษาอินโดนีเซียรุ่มรวยเพียงพอที่จะแยก ‘พ่ายแพ้’ ออกจาก ‘ยอมจำนน’”

ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ (Pramoedya Ananta Toer)

ในช่วงเช้าวันที่ 30 เมษายน 2006 มีข่าวประกาศการเสียชีวิตของ ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ หรือที่คนไทยเรียกขานกันว่า ปราโมทยา อนันตา ตูร์ จากอาการภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานและโรคหัวใจ ร่างของเขาถูกฝังที่สุสานกาเร็ต บีวัค (Karet Bivak) บริเวณจาการ์ตากลาง ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ หรือที่สื่ออินโดนีเซียมักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ปราม” เป็นนักเขียนชาวอินโดนีเซียชื่อก้องระดับโลกจากการได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลหลายครั้ง หากเอ่ยถึงนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งอุษาคเนย์ ชื่อของปรามจะเป็นหนึ่งในนั้นอย่างแน่นอน ชีวิตของเขาเปรียบเหมือนกระจกสะท้อนประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคมของอินโดนีเซีย

ชีวประวัติปรามูเดีย อนันตา ตูร์ โดยสังเขป

ปรามเกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1925 ที่เมืองบลอรา (Blora) ชวากลาง เขาเป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว มีพี่น้องทั้งหมดเก้าคน บิดาเป็นครูและเป็นสมาชิกขององค์กรบูดีอูโตโม (Budi Utomo) องค์กรที่ถือกันว่าเป็นองค์กรชาตินิยมแห่งแรกของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวชวาและเน้นวัฒนธรรมชวาเป็นหลัก มารดาเป็นผู้ค้าข้าว ชื่อของ ‘ปรามูเดีย’ แปลว่า ‘ที่หนึ่งในสนามรบ’ ชื่อดั้งเดิมของเขาคือ ปรามูเดีย อนันตา มัสตูร์ (Pramoedya Ananta Mastoer) มัสตูร์ คือชื่อบิดาของเขา ปรามตัดคำว่า ‘Mas’ ออก เพราะเขารู้สึกว่ามันฟังดูผู้ดีเกินไป คำว่า ‘mas’ ในภาษาชวาเป็นคำเรียกผู้ชายในตระกูลผู้ดี ในปัจจุบันคำนี้เป็นคำเรียกผู้ชายทั่วๆ ไปที่ยังไม่สูงอายุ เป็นคำสุภาพสามารถใช้เรียกคนในทุกชนชั้นได้ หากเรียกชายสูงวัยหรือยังไม่สูงวัยนักแต่ต้องการให้เกียรติก็จะเรียกว่า ‘ป๊ะก์’ (pak) หรือ ‘บาป๊ะก์’ (bapak)

ปรามได้เข้าศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนของบูดีอูโตโมที่เมืองบลอรา หลังจากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอาชีวศึกษาวิทยุที่เมืองสุราบายา แต่ยังไม่ทันจบการศึกษาก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นเสียก่อน เมืองสุราบายาถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น ปรามเริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานพิมพ์ดีดที่สำนักงานข่าวญี่ปุ่นที่ชื่อว่าโดเมอิ (Domei) ในปี 1942 ต่อมาหลังสงครามต่อสู้เพื่อเอกราชและอินโดนีเซียเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ ปรามได้ทำงานกับบาไลปุสตากา (Balai Pustaka) หรือสภาวรรณกรรม ก่อตั้งโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในปี 1917 และต่อมาเมื่ออินโดนีเซียได้รับเอกราชบาไลปุสตากาก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในเรื่องการพิมพ์หนังสือและวรรณกรรม หลังจากนั้นในปี 1958 ปรามได้เข้าร่วมกับสถาบันวัฒนธรรมมวลชน (Lembaga Kebudayaan Rakyat) หรือ Lekra ซึ่งเป็นสถาบันภายใต้ร่มของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI)

หลังเกิดโศกนาฏกรรมทางการเมืองในเหตุการณ์เกสตาปู (Gerakan September Tigapuluh) ในปี 1965 และการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โต (Suharto) นำไปสู่การกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและผู้สนับสนุนและเกี่ยวข้องทั้งหมด ปรามถูกจับและถูกคุมขังที่เกาะบูรูและได้รับการปล่อยตัวในปี 1979 แต่ยังคงถูกกักบริเวณในบ้านที่จาการ์ตาจนถึงปี 1992

ปรามได้รับรางวัลและการยกย่องจากนานาชาติมากมาย อาทิเช่น ในปี 1988 ได้รับรางวัล P.E.N. Freedom to Write Award แต่เขาไม่สามารถไปร่วมงานได้ ปี 1995 ปรามได้รับรางวัลแมกไซไซ เป็นชาวอินโดนีเซียคนที่ 10 ที่ได้รับรางวัลนี้ แต่เขาก็ไปรับรางวัลไม่ได้อีกเช่นกัน ปี 2000 ได้รับรางวัล Fukuoka Asian Culture Prize ปี 2004 ได้รับรางวัล Norwegian Author’ Union Award และเขาได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในด้านชีวิตครอบครัว ปรามสมรสกับ อาร์ฟะห์ อิลจัส (Arfah Iljas) ในปี 1950 และแยกทางกันในปี 1954 หลังจากนั้นในปี 1955 ได้สมรสกับภรรยาคนที่สองชื่อ แมมูนะห์ ธัมริน (Maemunah Thamrin) ปรามมีบุตรธิดารวมทั้งหมดแปดคน  

ปรามูเดีย อนันตา ตูร์, ฮอลันดา, ซูการ์โน และขบวนการฝ่ายซ้ายในอินโดนีเซีย

ปรามเริ่มต้นเขียนงานตั้งแต่ในช่วงสงครามต่อสู้เพื่อเอกราช ในระหว่างที่เข้าร่วมกับกองกำลังของคนพื้นเมืองชื่อว่า เตินตารา เกออามันนัน รักยัต (Tentara Keamanan Rakyat) หรือ TKR ฐานปฏิบัติงานของปรามอยู่ที่จาการ์ตา ปรามได้เขียนงานในวารสาร Sadar (aware) ซึ่งสนับสนุนเอกราชของอินโดนีเซีย งานเขียนของเขามีเนื้อหาปลุกระดมความรู้สึกชาตินิยมและต่อต้านอาณานิคม ซึ่งทำให้เขาถูกรัฐบาลดัตช์จับกุมและคุมขังที่คุกบูกิตดูรี (Bukitduri) จาการ์ตาช่วงปี 1947-1949  ในขณะถูกคุมขังปรามได้เขียนนวนิยายเรื่องแรกมีชื่อว่า Pemburuan (The Fugitive) และต่อมางานชิ้นนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในปี 1950

หลังอินโดนีเซียได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ในปี 1949 ปรามได้ทำงานในด้านแวดวงหนังสือและหนังสือพิมพ์ และตีพิมพ์ผลงานของตนเองออกมามากมาย เช่น Keluarga Gerilja (Guerilla Family, 1950), Pertjikan Revolusi (Sparks of the Revolution, 1950, Subuh (Dawn, 1950), Mereka yang Dilumpuhkan (The Paralyzed, 1951) และ Tjerita dari Blora (Stories from Blora, 1952) เป็นต้น ช่วงปี 1951-1952 ปรามได้ทำงานเป็นบรรณาธิการกองวรรณกรรมสมัยใหม่ของบาไลปุสตากา ต่อมาในปี 1958 ปรามได้เริ่มงานกับ Lekra โดยการแปลงานเขียนเรื่อง ‘แม่’ ของ แม็กซิม กอร์กี (Maxim Gorky) และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของปรามกับ Lekra ปีรุ่งขึ้นมีการจัดการประชุมใหญ่ของ Lekra ที่เมืองโซโล ปรามได้เข้าร่วมและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในแกนนำของ Lekra

ในช่วงทศวรรษ 1950 ปรามได้เดินทางไปต่างประเทศหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ จีน และรัสเซีย การไปเยือนจีนและได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเขียนจีนหลายคนทำให้ปรามมีความรู้สึกที่ดีต่อชาวจีน และมีความเห็นอกเห็นใจชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนที่ถูกปฏิบัติราวกับเป็นพลเมืองชั้นสองในอินโดนีเซีย นอกจากนั้นปรามยังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลที่เน้นชวาเป็นศูนย์กลางมากเกินไป ในปี 1959 รัฐบาลอินโดนีเซียออกกฎหมายห้ามชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนทำการค้าขายในระดับตำบลและอำเภอ ในเดือนมีนาคม 1960 ปรามตีพิมพ์หนังสือชื่อว่า Hoa Kiau di Indonesia (The Chinese in Indonesia) หนังสือเล่มนี้ถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างและปกป้องชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนและต่อต้านกฎหมายห้ามการค้าขายของชาวจีน ทำให้รัฐบาลของซูการ์โนสั่งแบนหนังสือเล่มนี้และปรามถูกจับกุมและจำคุกเป็นเวลาเก้าเดือนโดยไม่มีการขึ้นศาลพิจารณาคดี

ปี 1962-1965 ปรามเป็นบรรณาธิการ Lentera ในหนังสือพิมพ์ Bintang Timur (ดาวตะวันออก) ข้อเขียนของปรามมักเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและวรรณกรรม และมักมีการวิพากษ์วิจารณ์นักเขียนที่เขามองว่าไม่เข้าข้างการสร้างชาติอินโดนีเซียซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติแห่งชาติอย่างรุนแรง ทำให้ปรามมีศัตรูในวงการนักเขียนไม่น้อย

ปรามูเดียอนันตา ตูร์, เกาะบูรู, นักโทษภายใต้ยุคเผด็จการทหาร

ในปี 1965 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางครั้งใหญ่ทางการเมืองอินโดนีเซียในเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘เกสตาปู’ ที่นำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจของซูฮาร์โตและเริ่มต้นยุคระเบียบใหม่ มีการกวาดล้างขบวนการฝ่ายซ้ายและสมาชิกตลอดจนผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียอย่างรุนแรงและบ้าคลั่ง ปรามถูกจับโดยไม่มีการไต่สวนในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับ Lekra เนื่องจาก Lekra มีความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย และข้อหาโปรรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนและเขียนงานวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอินโดนีเซียอย่างรุนแรงโดยเฉพาะเรื่องการเน้นชวาเป็นศูนย์กลางและละเลยเกาะรอบนอก เขาถูกจำคุกโดยไม่มีการพิจารณาคดี ในตอนแรกที่คุกทหารตังเกอรัง (Tangerang) และนูซากัมบางัน (Nusakambangan) และต่อมาถูกย้ายไปคุมขังที่เกาะบูรู ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักโทษทางการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในตอนนั้น  

ในวันที่ปรามถูกจับ เขาถูกทหารใช้พานท้ายปืนฟาดที่กกหูทำให้ปรามหูเกือบหนวกและมีปัญหาระบบการรับฟังตลอดชีวิต นอกจากนั้นหนังสือ เอกสารและงานเขียนทั้งหมดของปรามถูกเจ้าหน้าที่นำไปเผา ปรามถูกนำไปคุมขังที่เกาะบูรูเป็นเวลาสิบกว่าปี สภาพเกาะบูรูในตอนที่บรรดานักโทษถูกนำไปคุมขังคือเต็มไปด้วยป่า มีสิงสาราสัตว์ต่างๆ มากมาย นักโทษทางการเมืองแต่ละคนต้องเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดให้ได้ ซึ่งมีนักโทษหลายคนจบชีวิตที่นั่น เกาะบูรูเป็นสถานที่ที่ปรามได้เขียนผลงานชุดจตุรภาคเกาะบูรู, Arus Balik, Arok Dedes และงานอื่นๆ ในตอนแรกรัฐบาลเผด็จการไม่อนุญาตให้นักโทษใช้กระดาษ ดินสอ หรือปากกา ปรามใช้วิธีแต่งเรื่องในความคิดแล้วเล่าให้เพื่อนนักโทษฟัง ในปี 1973 รัฐบาลอนุญาตให้ปรามกลับมาเขียนได้ ปรามจึงหาอุปกรณ์การเขียน เช่น กระดาษ ดินสอ ปากกา และเครื่องพิมพ์ดีด ปรามจึงได้พิมพ์งานที่เขาแต่งออกมาเป็นตัวหนังสือ

ผลงานชุดจตุรภาคเกาะบูรู ประกอบด้วย ‘แผ่นดินของชีวิต’ (Bumi Manusia/This Earth of Mankind), ‘ผู้สืบทอด’ (Anak Semua Bangsa/Child of All Nations), ‘รอยย่างก้าว’ (Jejak Langkah/Footsetps) และ ‘Rumah Kaca’ (House of Glass) ผลงานชุดจตุรภาคเกาะบูรูเป็นหนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับปรามมากที่สุดชิ้นหนึ่ง เรื่องราวในนวนิยายชุดจตุรภาคเกิดขึ้นในยุคอาณานิคม สะท้อนสภาพสังคมและการเมืองอินโดนีเซียที่ขณะนั้นถูกเรียกว่า ‘ดัตช์อีสอินดีส’ จากการกดขี่ของเจ้าอาณานิคม ผ่านเรื่องราวชีวิตของตัวเอกคนพื้นเมืองที่ชื่อ ‘มิงเก’ ซึ่งเค้าโครงของตัวละครมิงเก ปรามนำมาจากชีวประวัติของ ตีร์โต อาดี ซูรโย (Tirto Adhi Suryo) นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของชาวอินโดนีเซียผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ชื่อ Medan Priyayi

ผลงานชุดนี้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยทูตชาวออสเตรเลียชื่อ แม็กซ์ เลน (Max Lane) ในปี 1981 ซึ่งการแปลผลงานชุดนี้ก่อปัญหาให้กับแม็กซ์ เลน เขาถูกรัฐบาลออสเตรเลียเรียกตัวกลับประเทศ ส่วนภายในประเทศอินโดนีเซียเองการอ่านงานเขียนของปรามในยุคเผด็จการต้องเป็นไปแบบหลบๆ ซ่อนๆ เพราะเป็นหนังสือต้องห้าม แต่ทว่ายิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ บรรดานักศึกษาเยาวชนต่างขวนขวายหางานของปรามมาอ่าน กลายเป็นว่างานของปรามเป็นงานที่ส่งอิทธิพลต่อขบวนการนักศึกษาในช่วงทศวรรษ 1980-1990 เป็นอย่างมาก และยังคงเป็นงานที่ได้รับความนิยมจวบจนปัจจุบัน

รัฐบาลยุคระเบียบใหม่ปล่อยปรามให้เป็นอิสระจากเกาะบูรูในปี 1979 แต่ทว่ายังคงจำกัดบริเวณในบ้านพัก ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกเมืองได้ และต้องรายงานตัวต่อทางการอาทิตย์ละครั้ง ในปี 1980 Bumi Manusia ได้ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรก และถูกแบนโดยอัยการสูงสุดในปี 1981 ต่อมาในปี 1985 มีการตีพิมพ์ Jejak Langkah ซึ่งถูกแบนและเป็นหนังสือต้องห้ามเช่นกัน นอกจากนี้งานเขียนของปรามหลายชิ้นถูกสั่งห้ามเผยแพร่ วันที่ 8 มิถุนายน 1988 นวนิยายเรื่อง Rumah Kaca ถูกสั่งห้ามเผยแพร่โดยอัยการสูงสุดอย่างเป็นทางการ ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 1988 นวนิยายเรื่อง Gadis Pantai (The Girl from the Coast) ก็ถูกสั่งห้ามเช่นกัน และวันที่ 19 เมษายน 1995 อัยการสูงสุดสั่งห้ามเผยแพร่หนังสือเรื่อง Nyanyi Sunyi Seorang Bisu (The Mute”s Soliloquy: A Memoir) ซึ่งเป็นบันทึกความทรงจำของปรามในขณะที่ถูกคุมขังที่เกาะบูรู แม้กระทั่งจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตการเพิกถอนคำสั่งห้ามเผยแพร่หนังสือของเขาก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่หนังสือและผลงานของเขาก็ถูกตีพิมพ์เผยแพร่และมีผู้อ่านอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

ปรามมีผลงานมากกว่า 50 เรื่องทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ บทกวี บันทึกความทรงจำและอื่นๆ และถูกแปลไปภาษาอื่นๆ มากกว่า 42 ภาษา สำหรับผู้อ่านชาวไทยที่สนใจงานวรรณกรรมของประเทศเพื่อนบ้านอาจจะเคยอ่านงานของปรามชุดจตุรภาคเกาะบูรูที่ถูกแปลเป็นไทยสามเล่มโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ ได้แก่ แผ่นดินของชีวิต, ผู้สืบทอด และ รอยย่างก้าว สำหรับเล่มสุดท้าย Rumah Kaca ยังไม่ได้ถูกแปลเนื่องจากปัญหาทางเทคนิคบางประการ

แม้ปรามจะมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งภายในและภายนอกประเทศและได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย แต่ก็มีประเด็นขัดแย้งกับนักเขียนในประเทศมากมาย เมื่อตอนที่ปรามได้รับรางวัลแมกไซไซในปี 1995 นักเขียน ศิลปินและนักข่าวอินโดนีเซียหลายคน เช่น เตาฟิค อิสมาอิล (Taufiq Ismail), ฮา เบ จัสซิน (H.B. Jassin), ม็อคตาร์ ลูบิส (Mochtar Lubis), อัสรุล ซานี (Asrul Sani), เรินดรา (Rendra), ดานาร์โต (Danarto), ม็อคตาร์ ปาบ็อตติงกี (Mochtar Pabottingi), โรซีฮัน อันวาร์ (Rosihan Anwar) และ อีกรานาการา (Ikranagara) เป็นต้น ได้ประท้วงการมอบรางวัลดังกล่าวให้แก่ปราม ด้วยเหตุผลที่ว่าในช่วงทศวรรษ 1960 ปรามเคยมีบทบาทในองค์กรฝ่ายซ้ายและปรามยังได้ทำลายความคิดสร้างสรรค์ของนักเขียนและศิลปิน แม้ว่าจะถูกต่อต้านจากบรรดาเพื่อนนักเขียนด้วยกัน แต่ปรามก็หาได้สนใจไม่ ทว่าคนที่ลุกขึ้นมาปกป้องปรามคือบรรดาเยาวชนคนรุ่นใหม่

ปรามูเดีย อนันตา ตูร์, พรรคประธิปไตยประชาชน (PRD) จิตวิญญาณการต่อสู้ยังลุกโชน

หลังสิ้นสุดยุคระเบียบใหม่ สังคมอินโดนีเซียก้าวเข้าสู่การพัฒนาประชาธิปไตย มีการปลดล็อกหลายสิ่งหลายอย่างที่เคยถูกควบคุมอย่างเข้มข้นในสมัยยุคระเบียบใหม่ หนึ่งในนั้นคือการก่อตั้งพรรคการเมืองได้แบบเสรี นำไปสู่การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองมากมาย พรรคประชาธิปไตยประชาชน (Partai Rakyat Demokratik) หรือ PRD ซึ่งเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่นำโดย บูดีมัน ซูจัตมิโก (Budiman Sudjatmiko) อดีตผู้นำนักศึกษา PRD เป็นพรรคที่สมาทานแนวคิดแบบสังคมนิยมและถูกตีตราว่าเป็นร่างทรงของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียได้ถูกก่อตั้งขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของเยาวชน ในปี 1999 ปรามในวัย 74 ปีได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของ PRD

ปรามถูกจำคุกสามครั้งทั้งโดยเจ้าอาณานิคม, ในสมัยรัฐบาลซูการ์โน และยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โต แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาเลิกวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจทางการเมือง หลังยุคระเบียบใหม่ปรามได้ออกสื่อ ปรากฏตัวต่อที่สาธารณะ เป็นวิทยากรในงานสัมมนาต่างๆ ตลอดจนให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ มากมาย และเขาได้วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีทุกคนในยุคปฏิรูปตั้งแต่ ฮาบีบี (Habibie) ไปจนถึง ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) เขายังคงดำรงความเป็นนักเขียนที่ซื่อสัตย์ต่อจิตวิญญาณของนักต่อสู้จนวาระสุดท้ายของชีวิต


เอกสารประกอบการเขียน

1. ทิวาพร จันทร์แก้ว. “ประวัติศาสตร์แห่งชาติอินโดนีเซียและนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของปราโมทยา อนันตา ตูร์.” ชุมทางอินโดจีน: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปริทัศน์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 (มกราคม-มิถุนายน 2557), หน้า 67-97.

2. ภัควดี วีระภาสพงษ์. “ปรามูเดีย อนัตตา ตูร์ (Pramoedya Ananta Toer).” ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2006/08/9246

3. Dananjaya, Lutfi. “Pramoedya Ananta Toer di Pusaran Politik dan Sastra Indonesia.” Kultural.id, https://kultural.id/pramoedya-ananta-toer-di-pusaran-politik-dan-sastra-indonesia/

4. Isnaeni, Hendri F. “Pram dan Seomitro,” Historia, https://historia.id/politik/articles/pram-dan-soemitro-DOwre/page/1?fbclid=IwAR0eLKCAIKZsz8yXk5oa1ObSdB3zdHtrTQJ5XppzG438cCuWfcDZJByvwF4

5. Shalihah, Nur Fitriatus. “Mengenang Perjalanan Hidup Pramoedya Ananta Toer.” Kompas.com, https://www.kompas.com/tren/read/2020/04/30/143823765/mengenang-perjalanan-hidup-pramoedya-ananta-toer?page=all

6. Teguh, Irfan. “Pramoedya Ananta Toer di Antara Sastra dan Politik.” Tirto.id, https://tirto.id/pramoedya-ananta-toer-di-antara-sastra-dan-politik-cJfQ

7. Toer, Pramoedya Ananta and Bardsley, Alex G. “My Apologies, in the Name of Experience.” Indonesia, No. 61, Pramoedya Ananta Toer and His Work (Apr., 1996), pp. 1-14.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save