fbpx

พุทธศาสน์ปราศจากรัฐไม่ได้ฉันใด สงฆ์ไทยย่อมข้องเกี่ยวกับการเมืองฉันนั้น – คุยการเมืองเรื่องของสงฆ์ กับ ประกีรติ สัตสุต

ทุกครั้งที่เกิดขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เรามักได้ยินชาวพุทธจำนวนหนึ่งออกมาวิจารณ์พระสงฆ์ที่เข้าร่วมชุมนุมหรือแสดงความเห็นทางการเมืองด้วยวาทกรรมอมตะ – “เป็นพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง”

จะด้วยเหตุผลว่าพระควรดำรงตนอยู่เหนือเรื่องทางโลกก็ดี เพราะการเมืองสุ่มเสี่ยงทำลายภาพลักษณ์ของศาสนาก็ดี สุดท้ายเมื่อสารพัดเหตุผลเหล่านี้มาบรรจบกับอำนาจรัฐที่เข้ามาสอดส่องควบคุมผ่านตัวบทกฎหมายและโครงสร้างแบบระบบราชการในวงการสงฆ์ ผลลัพธ์คือภิกษุไทยแทบไม่มีพื้นที่เปิดกว้างสำหรับแสดงออกทางการเมืองหรือกระทั่งแสดงความเห็นต่อประเด็นทางสังคมเรื่องต่างๆ เลย

ปัญหาดังกล่าวยิ่งเผยร่างให้เห็นได้อย่างเด่นชัดจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยช่วงที่ผ่านมา พระสงฆ์และสามเณรหลายรูปถูกหน่วยงานอย่างสำนักพุทธฯ และพระชั้นผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมเรียกมาตักเตือน เพ่งเล็งเพียงเพราะสนับสนุนการเคลื่อนไหวของมวลชน บ้างก็ถูกจับกุมจากที่ชุมนุมและบังคับสึกโดยไม่เป็นไปตามหลักศาสนา

แต่ถึงแม้สังคมบางส่วนจะพยายามกีดกันพระสงฆ์ออกจากพื้นที่ของการเมือง ในความเป็นจริง ร่องรอยจากสายธารแห่งประวัติศาสตร์กลับชี้ชัดว่าพุทธศาสนาและการเมืองไทยนั้นเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น พระสงฆ์คือตัวละครสำคัญในการทำหน้าที่ตอบสนองนโยบายของรัฐ และอำนาจรัฐมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงในวงการสงฆ์ทั้งทางตรงทางอ้อมมาโดยตลอด

ดังนั้น มันสมเหตุสมผลแค่ไหนกับการที่เราห้ามพระยุ่งเกี่ยวกับการเมือง? เป็นคำถามที่ 101 อยากชวนคุณร่วมขบคิด ผ่านบทสนทนากับ ดร.ประกีรติ สัตสุต จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้สนใจศึกษาประเด็นพุทธเถรวาท ศาสนา การเมือง และกฎหมาย ว่าด้วยเรื่องพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและการเมือง คณะสงฆ์และรัฐ อิทธิพลจากราชสำนักต่อพุทธศาสนาหลังเปลี่ยนรัชสมัย ปัญหาเรื้อรังเชิงโครงสร้างในวงการสงฆ์ไทย

และทำไมความเป็นประชาธิปไตยในประเทศ จึงมีส่วนสำคัญต่อพระสงฆ์ด้วยเช่นกัน


หากย้อนดูบนหน้าประวัติศาสตร์ พระสงฆ์และพุทธศาสนามีบทบาทในทางการเมืองการปกครองของรัฐไทยอย่างไรบ้าง

ถ้าย้อนไปดูบนหน้าประวัติศาสตร์เราจะพบว่า พุทธศาสนามีบทบาทต่อการเมืองการปกครองมาโดยตลอด เพราะศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เกี่ยวเนื่องกับชีวิตของผู้คนและสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ในภาพรวมของประวัติศาสตร์ภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นรูปแบบหลักทางศาสนาของพื้นที่นี้ที่ถูกถักทอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันตั้งแต่เจ้าจนถึงสามัญชน พุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อแนวคิดและการดำเนินงานของสถาบันทางการปกครองในหลายระดับ แต่เวลาเราพูดถึงศาสนา เราคงมองแค่เรื่องคำสอนหรือคัมภีร์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบอื่น เช่น การจัดองค์กรและชุมชน จารีตประเพณี วิถีปฏิบัติตน และวัฒนธรรมการตีความคำสอนด้วย เพราะเงื่อนไขทางพื้นที่และเวลามีอิทธิพลสำคัญในการกำหนดบทบาทสาธารณะของศาสนาแตกต่างกันไป

ถ้าเราพิจารณาพุทธเถรวาทในไทยจากระดับอุดมการณ์ คติทางศาสนาเป็นพื้นฐานแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อุดมการณ์แห่งรัฐ และความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งตัวอย่างหนึ่งที่ยังเห็นได้ในปัจจุบันได้แก่ คติเรื่องธรรมราชา หรือแนวคิดว่าด้วยคุณลักษณะและบทบาทของผู้ปกครองว่าต้องเป็นผู้มีคุณธรรมและปกครองบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรมตามหลักจริยธรรมทางศาสนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งแนวคิดนี้มีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นต้นแบบสำคัญในฐานะกษัตริย์ที่หันมานับถือและเป็นผู้อุปถัมภ์หลักของพุทธศาสนา ซึ่งมีภารกิจสำคัญได้แก่ การสร้างศาสนสถาน สังคายนาพระธรรมวินัย และเผยแผ่ศาสนาไปยังประเทศอื่น

ขณะเดียวกัน พุทธศาสนาไม่ได้มีอิทธิพลแค่ในด้านอุดมการณ์ เพราะในระดับปฏิบัติการแล้ว พระสงฆ์ก็มีบทบาทสำคัญทางสาธารณะหลายประการ เช่น เป็นที่ปรึกษาของเจ้าผู้ปกครอง เป็นตัวแทนเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและรัฐ และเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในชุมชน เป็นต้น

ในกรณีพื้นที่ปัจจุบันที่เราเรียกว่าสังคมไทย พระสงฆ์มีประวัติการเคลื่อนไหวในฐานะผู้นำชุมชน มีบทบาทการระดมพลและนำมวลชนมานานแล้ว ตั้งแต่โบราณนานมา พระไม่เพียงได้รับความเคารพจากผู้คนเนื่องจากความเชื่อทางวัฒนธรรมว่าพระเป็นเนื้อนาบุญ เพราะเป็นผู้มีความบริสุทธิ์จากการประพฤติตนตามหลักพระธรรมวินัยเพื่อละซึ่งกิเลส แต่พระยังเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชาวบ้านและมีบทบาทเกื้อหนุนชุมชน พระจึงเป็นทั้งผู้นำชุมชนและผู้นำทางการเมืองไปโดยปริยาย

เราจะเห็นบทบาทในการเป็นผู้นำทางการเมืองของพระจากหลายห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ เช่น ตั้งแต่ก่อนรัตนโกสินทร์ พระครูโพนสะเม็ก ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘ญาคูขี้หอม’ เป็นพระเถระที่ได้รับความเคารพศรัทธาจากผู้คนสองฝั่งโขง ได้รับยศเป็นราชครู มีบริวารจำนวนมาก และมีบทบาทในการจัดตั้งอาณาจักรจำปาสัก หรือในช่วงหลังอยุธยาแตก หนึ่งในขุนศึกที่รวบรวมกำลังผู้คนในเมืองเหนือเข้ากันด้วยกันก็เป็นพระชื่อ ‘เจ้าพระฝาง’ ซึ่งยังคงครองจีวรขณะนำกองทัพ แต่นอกเหนือจากการเป็นผู้นำทางการเมืองแล้ว หลายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ยังได้แสดงให้เห็นว่า คณะสงฆ์เป็นสถาบันทางสังคมการเมืองที่มีอำนาจคัดง้างกับเจ้าผู้ปกครองได้ กรณีของขรัวโตที่สามารถพูดจาว่ากล่าวและตักเตือนกษัตริย์โดยไม่โดนคาดโทษ หรือกรณีของครูบาฝายหิน ปฐมสังฆนายะกะของล้านนา ที่สามารถขอชีวิตผู้ต้องโทษประหารจากเจ้า ต่างแสดงให้เห็นถึงการต่อรองกับอำนาจของเจ้าชีวิตเจ้าแผ่นดิน และแม้จะมีข้อโต้แย้งว่าอำนาจคัดง้างนี้ดูจะขึ้นอยู่กับบารมีส่วนบุคคลของพระแต่ละรูป แต่ในแง่หนึ่งอำนาจในการต่อรองก็มีมิติเชิงสถาบันและแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพระหรือคณะสงฆ์ต่อการเมืองการปกครองด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐและคณะสงฆ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเกิดกระแสการปฏิรูปศาสนาที่นำไปสู่การก่อตั้งธรรมยุติกนิกายโดยพระจอมเกล้าในขณะที่ยังทรงผนวชอยู่ การเกิดขึ้นของธรรมยุติกนิกายมาพร้อมการตีความคำสอนด้วยแนวทางที่เชื่อว่าเป็นทัศนะทางวิทยาศาสตร์ เป็นเหตุเป็นผล ไม่งมงายเหมือนคำสอนทางศาสนาในสมัยนั้นที่เชื่อในเรื่องโลกหน้า พร้อมกับแนวทางการประพฤติตนสำหรับพระสงฆ์ที่เน้นวัตรปฏิบัติเข้มงวดทางพระวินัยและการศึกษาคำสอนทางศาสนาจากพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การปฏิรูปไม่ได้จำกัดแค่เพียงมุมมองและวิถีปฏิบัติ แต่ยังรวมไปถึงหลักเกณฑ์การจัดประเภททางศาสนาที่แบ่งคณะสงฆ์ออกเป็นสองนิกายได้แก่ ธรรมยุติ และนิกายอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่ธรรมยุติ ซึ่งพระจอมเกล้าเรียกอย่างเหมารวมว่า มหานิกาย โดยธรรมยุติเป็นนิกายของพระกลุ่มน้อยที่ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้านาย ในขณะที่มหานิกายเป็นพระหมู่มาก

การจัดประเภททางศาสนาดังกล่าวสามารถมองได้ว่าเป็นหนึ่งในความพยายามของอำนาจรัฐที่เข้ามาจัดระเบียบคณะสงฆ์ โดยความพยายามดังกล่าวพัฒนาไปสู่การควบคุมเมื่อสยามเข้าสู่กระบวนการสร้างรัฐใหม่ในสมัยพระจุลจอมเกล้าเมื่อมีการตรากฎหมายปกครองคณะสงฆ์ฉบับแรกที่รวมศูนย์การปกครองคณะสงฆ์ไว้ที่กรุงเทพฯ เปลี่ยนการจัดองค์กรการปกครองคณะสงฆ์ล้อตามระบบราชการ และผนวกเอาคณะสงฆ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพรัฐ

แต่การควบคุมคณะสงฆ์เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน ซึ่งมีทั้งด้านพระเดชและด้านพระคุณ นอกเหนือจากกฎหมายแล้ว การอุปถัมภ์คณะสงฆ์ของรัฐยังเป็นกลไกควบคุมที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง การสนับสนุนของรัฐบาลในด้านงบประมาณและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการบริหารจัดการกิจการคณะสงฆ์ รวมไปถึงสมณศักดิ์ที่พระราชทานให้แก่พระสงฆ์จากพระมหากษัตริย์ ต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อพระสงฆ์ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ และมีอิทธิพลให้สมาชิกของคณะสงฆ์ส่วนกลางมีความโน้มเอียงไปในลักษณะเอื้อหนุนอำนาจรัฐ



หลังรัฐหรือผู้ปกครองเข้ามาจัดการคณะสงฆ์มากขึ้น บทบาทของพุทธศาสนาต่อการเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เพื่อที่จะตอบคำถาม อยากเล่าย้อนไปถึงภูมิทัศน์ทางศาสนาในช่วงก่อนการจัดประเภทนิกายออกเป็นมหานิกายและธรรมยุต พุทธศาสนามีความหลากหลายทั้งในด้านการตีความคำสอนและประเพณีปฏิบัติของคณะสงฆ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ คณะสงฆ์ในแต่ละภูมิภาคมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ การตีความคำสอน และประเพณีปฏิบัติของตนเองที่ไม่มีมาตรฐานกลางมาคอยกำกับควบคุม และแม้คณะสงฆ์ที่ใกล้ชิดกับเจ้าผู้ปกครองจะมีการนำเสนอคำสอนที่สนับสนุนการปกครอง แต่การตีความคำสอนในเชิงท้าทายอำนาจและความชอบธรรมในการปกครองก็มีเป็นปกติด้วยเช่นกัน เช่น กรณีของผีบุญในอีสานที่ผู้นำเป็นพระหรือผู้ที่ถูกมองว่ามีบุญบารมีมากพอจะท้าทายอำนาจกดดันจากกรุงเทพ

การสถาปนาอำนาจของอาณาจักรเหนือศาสนจักรผ่านกฎหมาย และการกลายเป็นราชการของคณะสงฆ์ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อทั้งคณะสงฆ์เองและในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและคณะสงฆ์ การรวมศูนย์การปกครองมาพร้อมกับการสร้างหลักเกณฑ์และระเบียบที่เป็นมาตรฐานกลาง พร้อมคำอธิบายและหลักเหตุผลว่าทำไมมาตรฐานเหล่านี้ถึงสำคัญ ชุดความคิดเหล่านี้ท้าทายและแทนที่ความรู้ จารีตประเพณีของคณะสงฆ์ในแต่ละภูมิภาค

ถ้าเราจะพิจารณาบทบาทของพุทธศาสนาต่อการเมืองในช่วงหลังการปฏิรูปศาสนา เราต้องทำความเข้าใจผ่านบทบาทของคณะสงฆ์ท่ามกลางพลวัตการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะการรวมศูนย์การปกครองคณะสงฆ์ที่กรุงเทพ ได้สร้างคณะสงฆ์ที่ไม่เพียงอยู่ภายใต้โครงสร้างการปกครองเดียวกัน แต่ถูกปกครองด้วยมาตรฐานกลางของการศึกษา การตีความคำสอน และวัตรปฏิบัติที่มาจากส่วนกลาง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคณะสงฆ์ในภูมิภาคจะยอมรับอย่างง่ายดาย การต่อต้านจากคณะสงฆ์ภูมิภาคมีปรากฏให้เห็นมาโดยตลอด เช่น กรณีของครูบาศรีวิชัยที่ต้องอธิกรณ์ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นอุปัชฌาย์เถื่อนและการปฏิเสธจัดงานถวายพระพรเพื่อฉลองพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 6 ตามแนวทางที่คณะสงฆ์ส่วนกลางและเจ้าคณะแขวงกำหนดมา หรือกระทั่งความวุ่นวายขัดแย้งในหลายวัดหลังปี พ.ศ. 2475 ที่นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายคณะสงฆ์

แต่ในขณะเดียวกัน พระโดยมากก็ถูกดึงเข้าสู่โครงสร้างการปกครองและหลักสูตรการศึกษาตามแนวทางที่กรุงเทพกำหนดไว้ และได้ซึมซับความคิดทัศนคติและระบบคุณค่าทางสังคมวัฒนธรรมที่มีกรุงเทพเป็นศูนย์กลาง ซึ่งพระเหล่านี้จะได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองในหัวเมืองและพื้นที่รอบนอก ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับส่วนกลาง พร้อมกับนำระบบคุณค่าที่ถูกหล่อหลอมไปเผยแพร่ด้วย

ดังนั้น แม้ว่าพระสงฆ์ทั้งหมดจะไม่ได้มีมุมมองหรือจุดยืนทางสังคมแบบเดียวกัน และความหลากหลายทางวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ในแต่ละภูมิภาคยังคงดำรงอยู่ในระดับหนึ่ง แต่เพราะคณะสงฆ์ส่วนกลางมีลักษณะเป็นหน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐส่วนกลาง จึงมีมุมมองที่โน้มเอียงต่อการสนับสนุนผู้กุมอำนาจหลักทางการปกครองและเป็นกลไกสร้างความชอบธรรมให้อำนาจรัฐในรูปแบบหลากหลาย เช่น การประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อเชิดชูผู้ปกครอง การคัดเลือกพระสูตรหรือคติทางศาสนาที่ให้ความชอบธรรมต่ออำนาจปกครองมาประกอบการเทศนาสั่งสอน หรือกระทั่งการมีบทบาทเป็นผู้นำนโยบายของรัฐไปปฏิบัติ เช่น ในกรณีของการปฏิรูปการศึกษาในช่วงรัชกาลที่ 5 คณะสงฆ์เป็นกำลังสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาในหัวเมือง วัดถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการศึกษา โดยมีพระที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรส่วนกลางมาทำหน้าที่สอน ความรู้ที่ถูกถ่ายทอดจึงมาพร้อมกับมาตรฐานและอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกรุงเทพด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการเช่นนี้ไม่ได้สร้างพระหรือนักเรียนที่เชื่องต่อระบบทั้งหมด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐและคณะสงฆ์จากสภาพที่ผู้เล่นทั้งสองต่างมีลักษณะคานอำนาจซึ่งกันและกัน ไปสู่การสถาปนาอำนาจนำเหนือศาสนจักร มีอิทธิพลต่อการกำหนดบทบาทคณะสงฆ์ให้เป็นไปในทิศทางที่เกื้อหนุนและสนับสนุนอำนาจรัฐอย่างเป็นระบบและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างบทบาทของพุทธศาสนาต่อการเมืองสยามมีพลวัตที่ปรับตัวไปตามแต่ละช่วงเวลา ซึ่งในแต่ละช่วงยังสามารถเห็นความต่อเนื่องของบทบาทคณะสงฆ์ส่วนกลางที่ทำงานสนองวาระทางการเมืองของรัฐ ในช่วงรัชกาลที่ 5 พุทธศาสนามีความสำคัญในฐานะจุดร่วมทางวัฒนธรรมที่จำเป็นต่อการสร้างระบบสำหรับปกครองหมู่คนที่หลากหลายทั้งในด้านภาษาและวัฒนธรรม และการรวมศูนย์คณะสงฆ์เป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการสร้างรัฐไทยสมัยใหม่ เพื่อทำหน้าที่รวมจิตรวมใจ พร้อมไปกับบทบาทการขยายระบบการศึกษาและส่งออกระบบคุณค่าสู่ภูมิภาค ซึ่งคณะสงฆ์ส่วนกลางได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการดังกล่าว

เป็นที่น่าสนใจว่า มุมมองของผู้ปกครองต่อพุทธศาสนาและบทบาทของพระต่อนโยบายทางการเมืองยังมีความต่อเนื่องมาจนถึงช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมเพิ่งได้ฟังการนำเสนองานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่ของอาจารย์ธนพงศ์ จิตต์สง่า จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในหัวข้อว่าด้วยเรื่องนโยบายด้านพุทธศาสนาในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร พ.ศ. 2475-2487 โดย อ.ธนพงศ์ เสนอภาพหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า คณะราษฎรพยายามที่จะรับช่วงต่อเรื่องการอุปถัมภ์พุทธศาสนาและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคณะสงฆ์ แต่บทบาทดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อปลดแอกคณะสงฆ์ เพราะไม่ได้ยกเลิกกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ แต่สนับสนุนการแก้กฎหมายให้การปกครองคณะสงฆ์มีลักษณะล้อไปกับการปกครองแบบรัฐสภาของฝ่ายบ้านเมือง เป็นการคงไว้ซึ่งลักษณะความสัมพันธ์ที่คณะสงฆ์ยังคงต้องพึ่งพิงรัฐ และเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาบำรุงและส่งเสริมการศาสนาขึ้น เป้าหมายกลับเป็นไปเพื่อปรับปรุงพุทธศาสนาให้เป็นไปตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร พัฒนาการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของมุมมองที่มีต่อบทบาทการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของคณะสงฆ์จากยุคก่อน 2475 ที่คณะราษฎรได้ดำเนินต่อ

นอกจากบทบาทในการสร้างความชอบธรรมแล้ว คณะสงฆ์ยังได้กลายเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการนำนโยบายไปปฏิบัติใช้ ถ้าเราดูการเมืองช่วงสงครามเย็นและนโยบายต่อต้านการก่อความไม่สงบของขบวนการคอมมิวนิสต์ของไทยจะพบว่า คณะสงฆ์มีบทบาทสำคัญในนโยบายด้านความมั่นคงหรือการทำงานกับประชาชนในภูมิภาคต่างๆ โครงการสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ โครงการพระธรรมทูตและโครงการพระธรรมจาริก เป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อให้การศึกษาและเผยแผ่ศาสนาแก่ชาวเขาและผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พร้อมไปกับทำงานด้านการพัฒนาชุมชนไปด้วย พื้นที่ซึ่งพระจากโครงการเหล่านี้ได้ลงไปทำงานต่างเป็นพื้นที่สีแดงในชายแดนทางเหนือและอีสาน ถ้าเรามองเผินๆ อาจจะถือว่าพระสงฆ์ทำงานเผยแผ่และช่วยเหลือชุมชนตามวิถีพุทธ แต่ในอีกแง่หนึ่ง โครงการเหล่านี้คือการส่งพระเข้าไปสร้างเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดน ทำงานมวลชนให้รัฐบาล และมีเป้าหมายในการเปลี่ยนชาวเขาให้เป็นชาวเรา โดยนโยบายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากทางอเมริกาบนพื้นฐานความเชื่อว่า การจัดการกับคอมมิวนิสต์จะสำเร็จได้ถ้าได้จัดการกับความยากจนเสียก่อน มีการให้ทุนพระเข้าไปทำงานกับชาวบ้าน เช่น การไปสอนให้รู้จักการใช้ส้วมอย่างถูกวิธีและสอดคล้องกับหลักสุขอนามัย เป็นต้น ถ้าใครสนใจสามารถหาอ่านรายละเอียดบทบาทของคณะสงฆ์ในช่วงสงครามเย็นได้ในงานของ Eugene Ford ในหนังสือชื่อ Cold War Monks: Buddhism and America’s Secret Strategy in Southeast Asia ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ไปไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล


ในปัจจุบัน คณะสงฆ์และพุทธศาสนายังมีภาพของการเป็นกลไกหนึ่งของรัฐที่ทำงานตามนโยบายต่างๆ อยู่ไหม

ภาพการเป็นกลไกของรัฐในการสนับสนุนนโยบายเป็นมิติสำคัญของคณะสงฆ์ส่วนกลางที่คงไม่หายไปตราบเท่าที่คณะสงฆ์เองยังอยู่ภายใต้รูปแบบความสัมพันธ์กับรัฐเช่นปัจจุบัน แต่เราสามารถเห็นพัฒนาการบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในยุคสงครามเย็น คณะสงฆ์เคยมีบทบาทในนโยบายต่อต้านการก่อความไม่สงบ แต่เมื่อโลกได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็น ลำดับความสำคัญในด้านความมั่นคงก็เปลี่ยนตาม และบทบาทของคณะสงฆ์ได้ถูกลดทอนตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม กรอบกฎหมายและระบบอุปถัมภ์ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและคณะสงฆ์ยังดำรงอยู่ และคณะสงฆ์ส่วนกลางยังเป็นกลไกหนึ่งของรัฐอยู่

กระนั้นถ้าจะพูดว่ารัฐใช้ประโยชน์จากคณะสงฆ์แต่เพียงอย่างเดียวคงจะไม่ถูก เพราะคณะสงฆ์ส่วนกลางเองก็เป็นฝ่ายเสนอตัวเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายรัฐด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นหลังการรัฐประหารปี 2557 คณะสงฆ์ส่วนกลางได้พยายามผลักดันนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5 เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับข้อถกเถียงทางสาธารณะในเรื่องคอร์รัปชันและสังคมไทยเสื่อมศีลธรรม ถ้าพิจารณาจากภาพรวมของโครงการ โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นการขับเคลื่อนวาระทางศีลธรรมของคณะสงฆ์ส่วนกลางที่ให้แต่ละวัดเปิดรับลงทะเบียนผู้คนในพื้นที่ โดยผู้ลงทะเบียนต้องให้สัตยาบันว่าจะรักษาศีล 5 เป็นโครงการที่ครอบคลุมวัดทั่วประเทศ

แม้ภาพภายนอกของโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 จะเป็นการสนองวาระของ คสช. ในการปฏิรูปประเทศ แต่เบื้องหลังโครงการนี้มีการเมืองของการแต่งตั้งสังฆราชองค์ต่อไปเป็นภูมิหลัง การก่อรัฐประหารเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เพิ่งสิ้นพระชนม์ไป ในช่วงที่คณะสงฆ์ยังไร้ผู้นำชัดเจน ได้มีการแต่งตั้งสมเด็จรัชมังคลาจารย์ (ช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสังฆราช เพราะสมเด็จช่วงเป็นพระเถระจากฝ่ายมหานิกายที่ได้รับความเคารพอย่างสูงจากคณะสงฆ์ทั้งสองนิกาย ทั้งยังมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากหลาย และถูกมองว่าเป็นตัวเต็งสำหรับการถูกเสนอชื่อเป็นสังฆราชองค์ต่อไป การดำเนินโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 จึงเป็นการริเริ่มของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายที่ต้องการสร้างบารมีปูทางให้สมเด็จช่วงได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอันสูงสุดของคณะสงฆ์ได้อย่างสง่างาม ซึ่งการขึ้นสู่ตำแหน่งสังฆราชาของสมเด็จช่วงมีนัยสำคัญอย่างมาก เพราะสังฆราชจากฝ่ายมหานิกายรูปสุดท้าย คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพน ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปเมื่อปี พ.ศ. 2516 และต่อจากนั้นมีแต่พระเถระจากฝ่ายธรรมยุตที่ดำรงตำแหน่งสังฆราชามาอีกสองรูป ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ วัดราชบพิธฯ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517-2531 และสมเด็จพระญาณสังวร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532-2556 ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบ 40 ปีที่ไม่มีตัวแทนจากฝ่ายมหานิกายเข้าไปดำรงตำแหน่งดังกล่าวเลย

กรณีโครงการหมู่บ้านศีล 5 ดูจะให้ภาพของคณะสงฆ์ที่มีเจตจำนงในการผลักดันวาระของตนเอง แต่การดำเนินการดังกล่าวยังอยู่ในกรอบการควบคุมของรัฐ เพราะตำแหน่งทางการปกครองและยศของพระต่างเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยฝ่ายบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบบสมณศักดิ์ที่กษัตริย์เป็นผู้พระราชทาน หรือตำแหน่งพระสังฆาธิการ ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการปกครอง เช่น กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ ภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล และเจ้าอาวาส โดยตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมมาจากการแต่งตั้งโดยกษัตริย์ ในขณะที่กฎมหาเถรสมาคมให้อำนาจสังฆราชในการแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะใหญ่แต่งตั้งเจ้าคณะภาค และไล่ลงไปตามลำดับจนถึงเจ้าอาวาส แต่การแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคมจนถึงเจ้าอาวาสวัดหลวงต่างอยู่ในอำนาจตามพระราชดำริได้ ซึ่งอำนาจในการแต่งตั้งสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมด้วยอำนาจในการถอดถอนเจ้าคณะและเจ้าอาวาสวัดหลวง เป็นรายละเอียดที่เกิดขึ้นจากการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 และ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ซึ่งต่างมีผลให้ฝ่ายบ้านเมืองมีอำนาจให้คุณให้โทษฝ่ายปกครองของคณะสงฆ์ส่วนกลาง รวมถึงเกียรติภูมิจากสมณศักดิ์ด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นอิทธิพลของโครงสร้างแรงจูงใจเหล่านี้ต่อการเคลื่อนไหว หรือเลือกที่จะไม่เคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ส่วนกลาง

เป็นที่น่าสนใจว่า การปกครองด้วยกฎหมายและการกลายเป็นราชการของคณะสงฆ์ได้สร้างพลวัตขัดแย้งระหว่างโลกและธรรม เช่น เนื้อหาของกฎหมายคณะสงฆ์และกฎมหาเถรสมาคมมีความขัดแย้งกับพระวินัยในหลายมิติ โดยเฉพาะในเรื่องกระบวนการและอำนาจในการแต่งตั้งถอดถอนเจ้าอาวาส การสึกพระ อีกตัวอย่างความขัดแย้งนี้ ได้แก่ความกำกวมของสถานภาพพระสังฆาธิการในฐานะเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 45

ในกรณีของเจ้าอาวาสที่แม้จะมีสถานะเป็นเจ้าพนักงาน แต่ถ้าพระลูกวัดต้องการฟ้องเจ้าอาวาสว่าประพฤติมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลปกครองจะไม่รับคดีเหล่านี้ด้วยเหตุผลที่ว่าข้อขัดแย้งดังกล่าวเป็นเรื่องของสงฆ์ ด้วยกฎหมายคณะสงฆ์ที่ให้อำนาจเจ้าอาวาสตัดสินว่าจะให้ใครสามารถอาศัยอยู่หรือถูกให้ออกจากพื้นที่วัดได้ ช่องว่างทางกฎหมายนี้จึงมีผลให้เจ้าอาวาสมีอำนาจอย่างมากในการตัดสินว่าใครจะอยู่หรือไปจากวัด ซึ่งมีผลควบคุมพระลูกวัดไปด้วย เพราะถ้ามีปัญหาอะไรกับเจ้าอาวาส พระลูกวัดอาจถูกขับออกจากสังกัดได้ และถ้าหาสังกัดใหม่ไม่ได้ภายใน 3 วัน จะเข้าข่ายเป็นพระที่ไม่มีหลักแหล่งและสามารถถูกวินิจฉัยให้สละสมณเพศได้

แน่นอนว่า การหาวัดสังกัดใหม่ให้ได้ภายใน 3 วันหลังจากถูกขับออกจากวัดเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย และพระเณรก็รู้ถึงกฎข้อนี้ดี ดังนั้น ถ้ามองตามโครงสร้างอำนาจที่กฎหมายคณะสงฆ์ได้สร้างขึ้น ไม่น่าแปลกใจว่าคณะสงฆ์ส่วนกลางมีศักยภาพในการปิดกั้นการแสดงออกทางสาธารณะของพระตัวเล็กตัวน้อยได้ โดยเฉพาะการแสดงออกทางการเมือง เพราะไม่เพียงมหาเถรสมาคมจะออกประกาศห้ามพระเณรแสดงออกทางการเมืองหรือเข้าร่วมการชุมนุม

การปกครองในลักษณะแนวดิ่งเช่นนี้ยังสามารถสร้างแรงกดดันต่อพระสังฆาธิการที่อยู่ในระดับล่างกว่าไปจนถึงระดับเจ้าอาวาสได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ลักษณะความผิดของพระที่เข้าข่ายถูกฟ้องมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญาได้คือความผิดแบบไหน 

ถ้าเอาตามเนื้อหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ความผิดของเจ้าพนักงานอันใดก็ตามที่เกิดการกระทำผิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่และเกิดความเสียหายขึ้น ผู้เสียหายสามารถฟ้องได้ แต่กรณีของความขัดแย้งภายในคณะสงฆ์ แม้พระสังฆาธิการจะมีสถานะทางกฎหมายเป็นเจ้าพนักงาน แต่ศาลปกครองกลับไม่รับคดีฟ้องร้องต่อพระสังฆาธิการ ซึ่งช่องว่างนี้ทำให้พระสังฆาธิการลอยอยู่เหนือการตรวจสอบและไม่ต้องมีภาระการรับผิดต่อการกระทำของตน

ตัวอย่างคดีที่ผมเคยผ่านตาว่ามีการฟ้องพระสังฆาธิการด้วยมาตรา 157 เช่น พระลูกวัดฟ้องเจ้าอาวาสว่ามีการไล่ตนออกจากวัดโดยมิชอบ ฟ้องเรื่องการกลั่นแกล้งกล่าวหาและแต่งตั้งเจ้าอาวาสโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบ การที่อดีตพระพุทธะอิสระฟ้องเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีว่าไม่ดำเนินการนำพระธัมมชโยมามอบตัว หรือกระทั่งในกรณีการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ ฝ่ายธรรมยุต ที่เพิ่งเป็นประเด็นไป ผมเห็นจากรายงานข่าวว่ามีความพยายามศึกษาว่าจะสามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาเป็นแนวทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับพระเทพสารเมธีได้ไหม แต่โดยปกติแล้ว ศาลปกครองจะไม่รับคดีเช่นนี้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงเส้นแบ่งระหว่างโลกและธรรมที่ถูกขีดขึ้น เป็นช่องว่างการเข้าถึงกระบวนการความยุติธรรม ปัญหานี้ไม่เพียงสร้างความขัดแย้งที่ไม่เป็นผลดีต่อการปกครองคณะสงฆ์ในระยะยาว การควบคุมคณะสงฆ์ด้วยกฎหมายและระเบียบขั้นตอนตามหลักเกณฑ์สากลแต่ไม่ได้รับการปฏิบัติตามอย่างเท่าเทียม ก็ไม่เป็นผลดีต่อทัศนคติที่พระมีต่อรัฐด้วยเช่นกัน



นอกจากเป็นเจ้าพนักงานที่ไม่มีภาระการรับผิดแล้ว การที่โครงสร้างอำนาจคณะสงฆ์กลายเป็นระบบราชการส่งผลกระทบต่อคณะสงฆ์หรือศาสนาในมิติอื่นๆ อย่างไร

แน่นอนว่าการกลายเป็นระบบราชการของคณะสงฆ์ไม่ได้มาพร้อมกับมาตรฐานในการปกครองเพียงประการเดียว หนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นคือการแทนที่จารีตประเพณีของคณะสงฆ์ตามภูมิภาคด้วยมาตรฐานทางด้านวัตรปฏิบัติ ตั้งแต่การครองจีวร ทำนองการสวดมนต์ ลักษณะการเทศน์ ไปจนถึงบทบาทของพระต่อชุมชน ต้องขอย้ำอีกครั้งว่า พุทธศาสนาในพื้นที่ที่เราเรียกว่าสยามมีความหลากหลายมาก และแต่ละภาคมีวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติของตน เช่น ตุ๊เจ้าในภาคเหนือฉันเย็น และพระเล่นสงกรานตร์กับญาติโยมผู้หญิงในอีสาน เป็นต้น กระทั่งในปัจจุบัน คณะสงฆ์ก็ยังดำรงซึ่งความหลากหลายนี้อยู่ในระดับหนึ่ง แม้จะไม่เด่นชัดเช่นสมัยก่อน

อย่างไรก็ดี ความหลากหลายในจารีตประเพณีต่างมีจุดร่วมสำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างวัด คณะสงฆ์ และชุมชนที่แน่นแฟ้น มีลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พระเป็นลูกหลานของคนในชุมชน มีความรู้เรื่องการเกษตร โหราศาสตร์ ยาสมุนไพร และคอยช่วยไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชุมชน ขณะที่วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน แหล่งการเรียนรู้ สถานที่อนุบาลเด็ก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ พุทธศาสนาจึงเป็นแกนกลางของชีวิตทางสังคมที่สัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งแวดล้อม

การแยกคณะสงฆ์ออกเป็นสองนิกายและการรวมศูนย์การปกครองคณะสงฆ์เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เปลี่ยนพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด และคณะสงฆ์ ให้แยกห่างออกจากกัน เพราะการปฏิรูปศาสนาและการรวมศูนย์การปกครองมาพร้อมความคาดหวังว่าพระเณรต้องเป็นผู้มีจริยวัตรงดงามตามพระธรรมวินัยและต้องเป็นผู้รู้ธรรม หรือมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก คงไม่เกินเลยที่จะบอกว่าการปฏิรูปการศึกษาคณะสงฆ์เป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่สุดวาระหนึ่งของกระแสการปฏิรูปศาสนา เพราะการจัดการเรื่องความรู้และการส่งต่อความรู้ได้นำไปสู่การสร้างหลักสูตรการศึกษาแบบนักธรรมและเปรียญที่เน้นการอ่านคัมภีร์ด้วยภาษาไทยกลางเป็นหลัก โดยมีการสร้างแบบเรียนและแนวทางการประเมินผลเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ วิถีการปฏิบัติดังกล่าวเปลี่ยนสไตล์การเรียนการสอนจากเดิมที่การอ่านและตีความคัมภีร์ทางศาสนามักใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นหลัก และการปฏิบัติภาวนา รวมถึงการตีความและประพฤติตามพระธรรมวินัย ต่างเป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ในท้องถิ่นดูแลและประเมินอย่างใกล้ชิด เมื่อมีการใช้หลักสูตรส่วนกลาง ความสำคัญกลับไปตกอยู่ที่พระไตรปิฎกฉบับที่ได้รับการชำระมาจากส่วนกลาง การอ่านทำความเข้าใจเนื้อหาจากแบบเรียนมาตรฐาน และการประเมินที่ทางส่วนกลางกำหนดมา

นักวิชาการหลายท่านเรียกพัฒนาการนี้ว่า ‘คัมภีร์นิยม’ (scripturalism) เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าลำดับความสำคัญของคณะสงฆ์ไม่ใช่ชุมชนอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องการเรียนคัมภีร์ด้วยภาษาไทยกลาง ซึ่งการเรียนหนังสือให้ดีไม่ใช่แค่เพียงได้รับคำชื่นชม แต่มีมิติเรื่องการเลื่อนขั้นทางสังคมด้วย เพราะพระเณรที่ผ่านการเรียนนักธรรมและสอบผ่านเปรียญธรรมในระดับสูง จะถือว่าเป็นผู้มีศักยภาพและได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ถ้าได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์ พระเณรเหล่านี้ก็สามารถก้าวเข้าสู่โลกของพระสังฆาธิการ ได้รับสมณศักดิ์ และพร้อมเติบโตในแวดวงคณะสงฆ์ต่อไป โครงสร้างแรงจูงใจเช่นนี้มีผลให้ความผูกพันและบทบาทกับชุมชนลดน้อยลง

แต่กระบวนการดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าการศึกษาคณะสงฆ์ส่วนกลางจะครอบงำทางวัฒนธรรมโดยสมบูรณ์ งานวิจัยเรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์ในไทยและลาวของ Justin McDaniel อาจารย์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสน์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ชื่อ Gathering Leaves and Lifting Words: Histories of Buddhist Monastic Education in Laos and Thailand ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2008 ได้ให้ภาพการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ร่วมสมัยที่มีความหลากหลายมาก และแบบเรียนจากส่วนกลางไม่ได้เป็นแบบเรียนหลัก เพราะครูบาอาจารย์ในแต่ละพื้นที่จะมีสมุดโน้ตจดความรู้จากอาจารย์ตนมาเป็นแนวทางในการออกแบบการเรียนการสอน โดยเฉพาะหลักสูตรเปรียญธรรม อาจารย์หลายคนจะมีหนังสือไวยากรณ์และคำแปลที่ได้รับสืบทอดรุ่นต่อรุ่น หนึ่งในข้อสรุปของงานวิจัยนี้จึงเป็นเรื่องของพลวัตการศึกษาในภูมิภาคที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาไว้ได้ แม้พัฒนาการการศึกษาจะถูกรวมศูนย์ไว้ที่กรุงเทพ


การปฏิรูปศาสนาหลายๆ ด้าน ทั้งการจัดระเบียบโครงสร้างอำนาจสงฆ์ การปฏิรูปการศึกษาคณะสงฆ์ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงรัชกาลที่ 5 สิ่งเหล่านี้เกี่ยวกับกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ (modern state-building) ในช่วงนั้นด้วยไหม

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น การรวมศูนย์และเปลี่ยนคณะสงฆ์เป็นราชการเกี่ยวพันโดยตรงกับกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 5 เพราะไม่เพียงแต่แนวโน้มทางการเมืองในช่วงดังกล่าวคือการควบรวมอำนาจทางการเมืองเข้าสู่ระบบราชการที่ทางกรุงเทพฯ ได้สร้างขึ้น เพื่อตอบสนองต่ออิทธิพลของเจ้าอาณานิคมที่ได้แผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาค แต่การสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้นยังต้องพึ่งพิงการหาจุดร่วมให้กับประชากรที่หลากหลายภาษาและวัฒนธรรม

เมื่อต้องปกครองความหลากหลายดังกล่าว จุดร่วมที่ประชากรโดยส่วนมากมีนั้นก็คือพุทธศาสนา การรวมศูนย์การปกครองให้มีคณะสงฆ์แค่เพียงหนึ่งเดียวจึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างจุดร่วมของผู้คนให้สามารถยอมรับการอยู่ใต้ระเบียบทางสังคมและการปกครองเดียวกัน


หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โครงสร้างอำนาจของคณะสงฆ์เคยเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นหมุดหมายสำคัญบ้าง

โดยปกติแล้ว การเปลี่ยนแปลงสำคัญในโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์มักเกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสำคัญทางการเมือง พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ซึ่งเป็นกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับแรกที่ถูกตราขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นการปรับโครงสร้างคณะสงฆ์ครั้งใหญ่ที่ผูกติดกับโครงการทางการเมืองในการสร้างรัฐและระบบราชการสมัยใหม่ โดยต่อมาเมื่อมีการปฏิวัติ 2475 พระหนุ่มเณรน้อยที่ไม่พอใจกับการปกครองคณะสงฆ์ที่ถูกออกแบบโดยกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับแรกได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 หรือกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับที่สองที่ออกแบบโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ล้อกับระบบการปกครองของฝ่ายบ้านเมือง โดยการจัดลำดับขั้นอำนาจไม่ได้มีลักษณะเป็นแนวดิ่งเหมือนแบบเก่า แต่ให้มีสังฆสภาที่ประกอบไปด้วยสังฆนายกและสังฆมนตรีเหมือนระบบรัฐสภาของฆราวาส

อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คณะสงฆ์ก็ถูกปรับกลับไปสู่รูปแบบการปกครองแบบเดิมที่ให้สังฆราชาเป็นประมุขของคณะสงฆ์ และมีมหาเถรสมาคมเป็นกลไกการปกครอง พร้อมมีโครงสร้างการปกครองในภูมิภาคที่มีระดับชั้นการปกครองไล่ลงจากเจ้าคณะใหญ่ ภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล และเจ้าอาวาส ผ่านกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับที่สาม หรือพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นกฎหมายคณะสงฆ์ที่ยังใช้กันอยู่ในตอนนี้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตราต่างๆ ในกฎหมายฉบับนี้ทั้งหมด 4 ครั้ง และ 2 ครั้งที่มีการแก้ไขเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนรัชสมัย คือ ในปี พ.ศ. 2560 และ 2561

ในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีผลต่อแวดวงศาสนาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดกระทบต่อโครงสร้างการปกครองมากเท่ากับการเปลี่ยนรัชสมัยจากรัชกาลที่ 9 เป็นรัชกาลที่ 10 ที่มาพร้อมการเปลี่ยนกฎหมายคณะสงฆ์ให้การแต่งตั้งสังฆราช รวมถึงการแต่งตั้งและถอดถอนพระสังฆาธิการระดับสูงเป็นพระราชดำริของกษัตริย์ สรุปโดยรวมคือ รูปแบบการปกครองเป็นไปตามเดิม แต่พระราชอำนาจขยายขอบเขตเพิ่มขึ้นในการควบคุมคณะสงฆ์ พัฒนาการดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็นกระแสตีกลับต่อปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะสงฆ์ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เมื่อพื้นที่ทางการเมืองเริ่มเปิดขึ้นและกลุ่มทางสังคมจำนวนมากได้ปรากฏตัวขึ้นเพื่อเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางสังคมการเมืองอย่างคึกคัก

คณะสงฆ์ส่วนกลางก็เป็นหนึ่งในกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะในบริบทที่จะมีการปฏิรูประบบราชการ และมีข้อเสนอว่า ควรต้องยุบกรมศาสนา แล้วเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรมแทน โดยให้แต่ละศาสนาหลักที่ได้รับการรับรองจากทางราชการมีตัวแทนศาสนาละ 1 คน พร้อมสมาชิกที่มาจากฝ่ายการเมือง ข้าราชการ และผู้เชี่ยวชาญ ในอดีตที่ผ่านมา กรมศาสนาดูแลและจัดสรรทรัพยากรครึ่งหนึ่งของงบประมาณให้กับกิจการพุทธศาสนา ในขณะที่ทรัพยากรส่วนอื่นอีกครึ่งหนึ่งจะแบ่งให้กับศาสนาอื่นที่เหลือ เมื่อมีข้อเสนอที่อาจลิดรอนสิทธิประโยชน์ที่ทางคณะสงฆ์เคยได้รับ จึงได้มีการรวมตัวกันของพระสงฆ์หลายรูปพร้อมลูกศิษย์ลูกหาเพื่อประท้วง นำโดยพระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ พี่ชายต่างมารดากับจตุพร พรหมพันธุ์ และพัฒนาไปสู่การจัดตั้งศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ณ วัดราชาธิวาส โดยมีพระจากทั้งธรรมยุตและมหานิกาย พร้อมด้วยลูกศิษย์ที่เป็นคหบดี ข้าราชการ ทหารและตำรวจ เข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งต้น

การดำเนินงานของศูนย์พิทักษ์ฯ ประสบความสำเร็จอย่างมากในตอนต้น แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้จัดตั้งกระทรวงพุทธศาสนา แต่ทางรัฐบาลยอมรับฟังเสียงเรียกร้องและเสนอให้มีการสร้างหน่วยงานราชการที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้กับคณะสงฆ์ส่วนกลาง ในปี พ.ศ. 2545 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยในช่วงเวลาที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 นักการเมืองบางคนและคณะสงฆ์ส่วนกลางได้เริ่มรณรงค์ให้มีการบรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ 2540 มีการบรรจุข้อความที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาว่ารัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ซึ่งเป็นข้อความที่เพิ่มขึ้นจากรัฐธรรมนูญร่างก่อนหน้า และเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนาและรัฐธรรมนูญในมิติที่ว่า แม้ข้อความเกี่ยวกับพุทธศาสนาจะเพิ่มขึ้นในรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างใหม่ตามหลังมาโดยตลอด แต่สิทธิเสรีภาพของพระสงฆ์กลับถูกริดรอนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

กระแสการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในช่วงนี้มีความสำคัญอย่างมาก แม้ว่าสังคมไทยจะประสบสภาวะวิกฤตทางการเมือง มีการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ การใช้ความรุนแรงของรัฐเพื่อปราบผู้ชุมนุม และการแยกทัศนคติทางการเมืองออกเป็นสองขั้วโดยที่ไม่สามารถหาทางประนีประนอมได้ แต่คณะสงฆ์กลับมีบทบาทในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องมากอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว ภาพของคณะสงฆ์ที่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของรัฐถูกลบเลือนไปด้วยการเคลื่อนขบวนเพื่อเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในปี พ.ศ. 2550 ที่คณะสงฆ์และลูกศิษย์ได้ปักหลักอยู่หน้าสภาหลายสัปดาห์ ซึ่งนับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีผู้เข้าร่วมและระยะเวลายาวนานที่สุด หรือการที่พระสงฆ์เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองกับคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง แม้การเลือกจุดยืนทางการเมืองในกรณีของสงครามสีเสื้อจะแสดงให้เห็นถึงจุดยืนทางการเมืองที่หลากหลาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่คณะสงฆ์เริ่มพัฒนาความเข้าใจว่าอะไรคือผลประโยชน์ของคณะสงฆ์

มุมมองดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการก่อตัวของเจตจำนงทางการเมืองของพระ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะพระสงฆ์ถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์จากการประพฤติตามพระธรรมวินัย มีสถานะพิเศษทางสังคมและวัฒนธรรม พูดแล้วมีคนเชื่อและพร้อมปฏิบัติตาม ดังนั้น บทบาททางการเมืองของคณะสงฆ์จึงเป็นความเสี่ยงในสายตาของผู้มีอำนาจ พวกเขาไม่ต้องการให้คณะสงฆ์มีเจตจำนงทางการเมืองที่เป็นอิสระ ถ้ามองพัฒนาการทางการเมืองด้วยกรอบดังกล่าว การแสดงออกของรัฐบาลว่ายังคงอุปถัมภ์พุทธศาสนาเช่นเดิมผ่านการเพิ่มข้อความในรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 จึงสามารถตีความได้ว่าเป็นความพยายามต่อรองและควบคุมการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ไปพร้อมกัน ทำให้สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะมีกฎหมายระบุว่าอุปถัมภ์พุทธศาสนามากแค่ไหน คำพูดทั้งหลายไม่ได้นำไปสู่สิทธิเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นของพระ แต่กลับกลายเป็นเงื่อนไขที่มาจำกัดกรอบพุทธศาสนาและพระสงฆ์ นี่เป็นการสื่อสารทางการเมืองที่สำคัญว่า ถ้าต้องการการสนับสนุนจากรัฐ พระต้องปฏิบัติตามแนวทางที่รัฐกำหนดให้


ไม่ว่าเราจะมีกฎหมายระบุว่าอุปถัมภ์พุทธศาสนามากแค่ไหน คำพูดทั้งหลายไม่ได้นำไปสู่สิทธิเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นของพระ


นอกจากการเดินขบวนต่อสู้ในประเด็นทางด้านพุทธศาสนา ที่ผ่านมาพระมีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมากน้อยแค่ไหน และได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

เวลาเกิดการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนในระดับใหญ่ พระสงฆ์มักมีส่วนร่วมด้วยเสมอ แม้การมีส่วนร่วมดังกล่าวมักไม่ค่อยปรากฏอย่างชัดเจนในสายตาของสาธารณะสักเท่าไร แต่เพราะสถานการณ์ทางการเมืองล้วนส่งผลถึงแวดวงคณะสงฆ์ และพระสงฆ์จำนวนมากมองตัวเองว่าเป็นทั้งนักบวชและพลเมือง การมีส่วนร่วมในเหตุการณ์เช่น ขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 หรือพฤษภา 2535 และการเมืองสีเสื้อ ต่างมีพระสงฆ์เข้าร่วมสังเกตการณ์ ขึ้นเวทีปราศรัย หรือเข้าร่วมเป็นแนวหน้าในการเดินขบวน อย่างไรก็ดี เพราะกฎที่ห้ามให้พระยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง พระเณรจำนวนมากต้องระมัดระวังตัวเวลาอยู่ในที่สาธารณะ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุว่าเราอาจไม่ได้เห็นภาพพระเข้าร่วมการชุมนุมมากเท่าที่ควร

สำหรับกรณีของพระที่มีบทบาทในการทำกิจกรรมและถูกเล่นงาน หนึ่งในกรณีที่หลายคนคงเคยได้ยินมาคือเรื่องของพระพิมลธรรม ซึ่งต่อมาภายหลังคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ พระพิมลธรรมเป็นพระหัวก้าวหน้าที่มีพื้นเพจากอีสาน และเป็นผู้ที่นำเอานวัตกรรมทางศาสนาเข้ามาในไทย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนามหาจุฬาลงกรณ์ให้มีคุณภาพการศึกษาที่ดี หรือการส่งพระมหาโชดกไปเรียนอภิธรรมที่พม่า แล้วให้พาพระอาจารย์ที่สอนอภิธรรม รวมถึงพระวิปัสสนาจารย์จากสายพระอาจารย์ มหาสี สยาดอว์ กลับมาที่วัดมหาธาตุ ซึ่งมีผลให้เกิดการปักหลักและกระจายตัวของการศึกษาพระอภิธรรมและการปฏิบัติภาวนาในแบบยุบหนอ พองหนอในสังคมไทย

ด้วยความที่พระพิมลธรรมมีความคิดก้าวหน้าและถูกมองว่าแสดงท่าทีเห็นใจคอมมิวนิสต์ ต่อมาจึงถูกเล่นงานด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกดึงจีวรออกและคุมขังเป็นเวลาหลายปี เมื่อได้อิสรภาพออกมาแล้ว พระหนุ่มเณรน้อยจำนวนมากได้ชุมนุมร่วมกันเรียกร้องให้คืนสมณศักดิ์ให้กับพระพิมลธรรมในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา และพระพิมลธรรมได้กลายเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระสังฆราชในช่วงท้ายของชีวิตท่าน

อีกกรณีหนึ่งที่อาจจะเกี่ยวเนื่องกันคงเป็นกรณีของพระเถระที่โดนกล่าวหาในคดีทุจริตเงินทอนวัดและถูกบังคับสึก เป็นที่น่าสังเกตว่าพระเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นพระเสื้อแดง เพราะช่วงเกิดการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง พระพรหมดิลก หรือเจ้าคุณเอื้อน อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา เคยให้คนเสื้อแดงที่เช่าเรือมาจากทางแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นท่าที่วัดของท่าน หรือพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เคยรับนิมนต์ไปเปิดสถานีโทรทัศน์พีซทีวี ซึ่งเป็นโทรทัศน์ของคนเสื้อแดง ทำให้ภาพของพวกท่านในฐานะพระเสื้อแดงเป็นที่จดจำของหลายคน โดยเฉพาะฝ่ายผู้มีอำนาจ หรือแม้กระทั่งในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มราษฎรก่อนหน้าการล็อกดาวน์ เราจะเห็นพระจำนวนหนึ่งออกมาร่วมในการชุมนุม แต่ผู้ที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่างเณรโฟล์คและเณรเอิร์ธ ล้วนตกเป็นเป้าหมายของการถูกคุกคามและต้องสึกออกไปในที่สุด แม้กระทั่งพระประนมกร หรือพระรูปอื่นที่เข้าร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้าและการประท้วงหน้าศาล ต่างเจอกับการคุกคามและบังคับสึกโดยเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรณีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามปิดกั้นการแสดงออกทางสาธารณะของพระเณรจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจ



หลายคนมักพูดว่าเป็นพระไม่ควรยุ่งการเมือง อาจารย์คิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร ขอบเขตการแสดงออกของสงฆ์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองควรอยู่ตรงไหน

ถ้าเรามองตามความคาดหวังของการบวช พระควรเป็นผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและประพฤติตนเพื่อการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ การยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลกมากอาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม แต่ถ้ามองว่าพระเองก็เป็นพลเมือง และบทบาททางสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของการบ่มเพาะคุณธรรม การแสดงออกที่เรามักมองว่าเป็นการเมืองก็น่าจะเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ผมขอออกตัวก่อนว่า เรื่องนี้พระสมควรเป็นผู้ที่ตอบคำถามมากกว่า เพราะผมเป็นคนนอก ไม่ใช่พระและไม่อยากที่จะพูดแทนพระ อย่างไรก็ตาม ผมอยากชวนตั้งคำถามแทนว่า ถ้าคนจำนวนมากในสังคมบอกว่าพระไม่ควรยุ่งการเมืองหรือมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วกรณีที่พระมีบทบาทในกิจกรรมที่รัฐเป็นผู้จัดและได้ประโยชน์ เช่น การทำงานตามนโยบายของรัฐ หรือการจัดพิธีเพื่อเฉลิมฉลองวันสำคัญที่ทางฝ่ายราชการกำหนดให้ ถ้าเรานิยามว่าการเมืองคือเรื่องของผลประโยชน์ กิจกรรมเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ เพราะไม่ได้เป็นหน้าที่ซึ่งถูกกำหนดในพระธรรมวินัย และรัฐเป็นผู้ได้ประโยชน์ เราจะจัดประเภทกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมทางการเมืองไหม การทำงานเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐถือเป็นเรื่องการเมืองเหมือนกันไหม

ขณะเดียวกัน ถ้าพระเห็นว่าชาวบ้านเป็นทุกข์เพราะโดนเอาเปรียบ ถ้าพระเห็นสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดนทำลายเพราะมีการสร้างโรงงานและปล่อยสารพิษสู่แม่น้ำหรือพื้นที่โดยรอบ แล้วพระออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาทุกข์ของชาวบ้าน การแสดงออกเช่นนี้จะถือเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ถ้าเราจะบอกว่าพระประพฤติตนไม่เหมาะจากมุมมองและความคาดหวังของเรา เราจะทราบได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราคิดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ผมมีความเห็นว่าหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการตีความหมายคำว่าการเมืองว่าเป็นอย่างไร ซึ่งคำนี้เป็นคำที่มีความหลากหลายมาก และความหมายที่แตกต่างกันไปจะมีนัยที่แตกต่างไปด้วยสำหรับการมองว่าบทบาทของพระสงฆ์ควรหรือไม่ควรเป็นเช่นใด เราควรให้โอกาสพระในการถกเถียงและตีความเรื่องนี้ ไม่ใช่ฆราวาสแต่เพียงฝ่ายเดียว และพระเณรควรมีส่วนร่วมในการพูดคุยกันเพื่อกำหนดกรอบว่าอะไรคือการเคลื่อนไหวที่พระทำได้หรือไม่ได้

การที่พระออกมาเรียกร้องถกเถียงประเด็นทางสาธารณะแล้วถูกหมายหัวโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือทางราชการ เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพระ และจะเป็นปัญหาในระยะยาว เพราะในที่สุดพระจะเป็นแค่หัวโขน ไม่สามารถพูดคุยเรื่องเหล่านี้ได้อย่างเสรีตามที่ควรจะเป็น เราจะไม่เห็นการตีความธรรมะที่สนองตอบต่อความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบันได้เลยถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้พระเณรมีเสรีภาพในการพูดคุยโต้เถียงกัน

ทุกวันนี้ ผมเข้าใจว่าพระจำนวนหนึ่งมีกรอบการเคลื่อนไหวในแบบของท่านเองและมีการใช้พระธรรมวินัยประกอบการตัดสินใจว่าอะไรถูกหรือผิด พระในกลุ่มต่างๆ เช่น เครือข่ายพระนักพัฒนาภาคเหนือ หรือกลุ่มคิลานธรรม ต่างเป็นตัวอย่างของกลุ่มพระสงฆ์ที่พยายามประยุกต์ใช้การตีความพระธรรมวินัยให้สอดคล้องกับการทำงานในประเด็นทางสังคมที่มีความร่วมสมัย เราควรเชื่อว่าถ้ามอบสิทธิเสรีภาพให้ท่านตีความการต่อสู้ของท่านได้เอง ให้ท่านได้ถกเถียงเรื่องนี้กับสังคมแล้ว ท่านจะสามารถรักษาภาพลักษณ์ จารีตประเพณีตามหลักศาสนาได้ ไม่ควรปิดกั้นตัดสินว่าพระไม่ควรทำอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้


เราจะไม่เห็นการตีความธรรมะที่สนองตอบต่อความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบันได้เลยถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้พระเณรมีเสรีภาพในการพูดคุยโต้เถียงกัน


รูปแบบการปกครองของรัฐ เช่น เผด็จการ ประชาธิปไตยเต็มใบ-ครึ่งใบ ส่งผลต่อวงการสงฆ์และที่ทางของศาสนาต่อสังคมหรือไม่ ถึงที่สุดแล้วความเป็นประชาธิปไตยสำคัญต่อสงฆ์ไหม

รูปแบบการปกครองส่งผลต่อพระเณรและคณะสงฆ์อย่างแน่นอน อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วตอนต้น โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์สะท้อนรูปแบบการปกครองทางโลกในไทย การปกครองที่มีลักษณะอำนาจนิยมย่อมมีผลต่อคณะสงฆ์ด้วยเช่นกัน ถ้าเราดูพัฒนาการของกฎหมายคณะสงฆ์ ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็เป็นผลผลิตของระบอบเผด็จการจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมีต้นแบบมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายคณะสงฆ์อย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าระบบการปกครองเริ่มมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและเปิดพื้นที่ให้กลุ่มที่หลากหลายสามารถเข้ามาต่อรองเรียกร้องกับรัฐได้ เราย่อมเห็นการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แค่เพียงคณะสงฆ์เท่านั้น ศาสนาอื่นและการถือศาสนาจะได้รับประโยชน์จากรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วย เพราะระบบดังกล่าวมีเสรีภาพทางศาสนาเป็นองค์ประกอบสำคัญ

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน คณะสงฆ์ส่วนกลางตอนนี้เหมือนจะผูกติดกับอำนาจรัฐมากเกินไปจนดูไม่เป็นตัวของตัวเอง และมีบทบาทในการทำงานสนองนโยบายเหมือนข้าราชการมากจนเกินไป ผมคิดว่าชะตาของพุทธศาสนาในสังคมไทยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยจะช่วยให้พระสามารถมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เราพบว่าที่ผ่านมา เวลาบ้านเมืองมีบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น พระก็ส่งเสียงให้เราได้ยินอย่างชัดเจน สามารถออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเสนอข้อเรียกร้องและผลักดันวาระของตนในพื้นที่สาธารณะ ชัยชนะของสงฆ์ในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการได้จัดตั้งสำนักพุทธฯ การได้เงินนิตยภัตเพิ่มขึ้น หรืองานอื่นๆ ที่เป็นหน้าเป็นตาของคณะสงฆ์ไทย ต่างเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ล้วนเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยทั้งนั้น แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าความสำเร็จเหล่านี้ให้ประโยชน์กับคณะสงฆ์ส่วนกลางเป็นหลัก และไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อพระผู้น้อย แต่ผมเห็นว่าในระยะยาวแล้ว พระผู้น้อยจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน

ในปัจจุบันพระเจอปัญหาหลายเรื่องจากทั้งโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมและระบบการปกครองที่ไม่ตอบสนองพระในคณะสงฆ์ แม้ว่าอำนาจคณะสงฆ์อาจไม่มีผลต่อชีวิตพระและวัดที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่พระโดยส่วนใหญ่ยังต้องโอนอ่อนผ่อนตามอำนาจคณะสงฆ์ส่วนกลาง แม้แต่พระระดับสังฆาธิการเองยังต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลและสำนักพุทธฯ ซึ่งทำให้ท่านทั้งหลายไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้

ผมคิดว่าชะตาของพุทธศาสนาในสังคมไทยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความเป็นประชาธิปไตย

ถ้าสังคมเป็นประชาธิปไตย เราจะมีพื้นที่ให้คณะสงฆ์สามารถพูดคุยปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ทั้งภายในคณะสงฆ์เองและระหว่างคณะสงฆ์กับสังคม แม้ว่าพระรุ่นเก่าอาจคุ้นเคยกับระบบและไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลง แต่พระรุ่นใหม่หลายรูปกำลังไม่พอใจกับระบบ รู้สึกว่าคณะสงฆ์มีโครงสร้างที่แข็งตัวเกินไปจนไม่สามารถทำในสิ่งที่ท่านอยากทำ แสดงออกในสิ่งที่ท่านคิด และต้องการเปลี่ยนแปลงระบบที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น เราต้องเปิดพื้นที่ให้พระรุ่นใหม่เหล่านี้ได้แสดงออก มีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางพัฒนาศาสนาในแบบของท่าน สามารถตีความพระธรรมวินัยที่สอดรับเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีประชาธิปไตย พระที่ออกมาแสดงทัศนะในแบบดังกล่าวมักจะโดนกล่าวหาว่าเป็นพระปลอม พระนอกรีต และมักจะถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การมีพื้นที่สำหรับการแสดงออกจะส่งผลดีต่อศาสนาในระยะยาวด้วย ถ้าศาสนาถูกจำกัดกรอบมากเกินไป ไม่มีการคิดค้น ถกเถียง และต่อสู้ทางความคิดที่จะนำไปสู่การตีความหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ท้ายที่สุดศาสนาจะหยุดนิ่งและแห้งตายไป ในบริบทปัจจุบันที่คนเริ่มห่างไกลวัดมากขึ้น ไม่เข้าใจพระมากขึ้น เรายิ่งต้องเปิดพื้นที่ให้พระสามารถมีวิวาทะกับโยม เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถร่วมกันมองไปข้างหน้าและจินตนาการทิศทางที่พุทธศาสนาควรจะต้องพัฒนาไป ตอนนี้เรามัวแต่มองอดีตข้างหลัง ไม่ได้มองไปข้างหน้าเลย ท่าทีดังกล่าวยากจะช่วยให้เราเดินหน้าไปต่อได้


อาจารย์ศึกษามานุษยวิทยากฎหมาย และเคยเสนอว่าเราสามารถศึกษาคณะสงฆ์ผ่านแนวคิด legal pluralism หรือพหุลักษณะทางกฎหมาย สภาวะดังกล่าวมีผลต่อที่ทางของคณะสงฆ์ในสังคมไทยอย่างไร

แนวคิด legal pluralism หรือพหุลักษณะทางกฎหมายเป็นแนวคิดที่มองว่าในแต่ละพื้นที่ซึ่งได้รับการกำหนดโดยพรมแดนของรัฐชาติ ระบบกฎหมายจะไม่ได้มีเพียงแค่ระบบเดียว แต่มีหลายระบบอยู่ร่วมกัน ทั้งยังมีลักษณะซ้อนทับกัน ซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบต่างๆ มีทั้งในเชิงสนับสนุนหรือแข่งขันกันเอง ตัวอย่างของพหุลักษณะทางกฎหมายได้แก่ การมีอยู่ของระบบกฎหมายสมัยใหม่ที่มีทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายแพ่งพาณิชย์และอาญา พร้อมไปกับสิ่งที่มีลักษณะเหมือนกฎหมาย (lawlike) เช่น บรรทัดฐานทางสังคม หรือกฎระเบียบภายในกลุ่มทางสังคมที่มีแนวคิดและระเบียบขั้นตอนที่ความเฉพาะของตัวเอง เช่น กฎชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น

แนวคิดพหุลักษณะทางกฎหมายได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักวิชาการด้านกฎหมาย สังคมวิทยา และมานุษยวิทยา โดยมีนัยสำคัญต่อการวิเคราะห์ประเด็นเรื่องกฎหมายและสังคมในหัวข้อ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างระบบกฎหมายของรัฐและระบบที่ไม่ได้เป็นของรัฐ ปฏิสัมพันธ์ของกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายจารีต และกฎหมายของรัฐในบริบทโลกาภิวัตน์ บทบาทของระบบความยุติธรรมที่ไม่ใช่ของรัฐ (non-state justice system) ในการจัดการปัญหาความขัดแย้งที่ยังสามารถคงไว้ซึ่งอิสระและอำนาจในการดำเนินการของระบบดังกล่าว หรือการใช้บรรทัดฐานทางสิทธิมนุษยชนโดยองค์กรเอกชนเพื่อท้าทายกฎหมายของรัฐหรือกฎหมายจารีต เป็นต้น สำหรับนักมานุษยวิทยาแล้ว แนวคิดดังกล่าวช่วยสร้างกรอบสำหรับการทำความเข้าใจระบบกฎหมายที่มีหลายระดับและหลายรูปแบบ ถ้าเราดูปฏิสัมพันธ์ของระบบต่างๆ เหล่านี้ผ่านปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น เราจะสามารถทำความเข้าใจบทบาททางสังคมของกฎหมายและกระบวนการสร้างและรักษาระเบียบเชิงปทัสถาน (normative order) ได้ดียิ่งขึ้น

กรณีของกฎระเบียบที่ควบคุมพระเป็นตัวอย่างสำคัญประการหนึ่งของพหุลักษณะทางกฎหมาย กฎระเบียบหลักของพระคือพระธรรมวินัย แต่พระก็เป็นพลเมืองด้วยเช่นกัน จึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายคณะสงฆ์ และกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มีบทบัญญัติในการกำหนดขอบเขตสิทธิเสรีภาพของพระอย่างชัดเจน เช่น มาตรา 96 ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่าพระเลือกตั้งไม่ได้ แต่พระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมืองไม่ใช่เพียงสองสิ่งที่มีอิทธิพลต่อพระ จารีตประเพณีของสังคมที่คณะสงฆ์เป็นส่วนหนึ่ง บรรทัดฐานทางสังคม และความคาดหวังที่สังคมมีต่อพระยังเป็นกรอบกำกับพฤติกรรมของพระด้วยเช่นกัน ถ้าพระทำอะไรที่โลกติเตียน เช่น ทรงเจ้าเข้าผี ท่านจะโดนบทลงโทษทางสังคมได้ แต่กฎหมายในรูปของจารีตประเพณีท้องถิ่นเป็นอะไรที่กว้างมาก เราจะนับจารีตประเพณีแบบใดเป็นบรรทัดฐาน และสรุปแล้วใครมีอำนาจตัดสินใจว่าจารีตประเพณีใดเป็นสิ่งที่พระสงฆ์ต้องดำเนินตาม ต่างเป็นคำถามที่มีนัยถึงเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐ คณะสงฆ์ และสังคม ที่สุดแล้ว กลไกทางกฎหมายและสังคมเหล่านี้ต่างมีบทบาทในการจำกัดกรอบพฤติกรรมพระ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระต้องต่อรองอยู่เสมอ

ข้อค้นพบหนึ่งจากการศึกษาของผมคือ พระถูกกฎหมายและบรรทัดฐานเหล่านี้ปิดกั้นช่องทางการแสดงออกและการมีส่วนร่วมทั้งทางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะในด้านการเมือง เพราะพระไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองและไม่สามารถลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกตัวแทนของตนได้ พระจึงไม่มีช่องทางส่งผ่านข้อเรียกร้องหรือความกังวลใจไปตามกลไกทางการเมืองโดยปกติ แม้ว่าเราจะมีคณะกรรมาธิการการศาสนาและวัฒนธรรมหลายชุด แต่คณะกรรมาธิการเหล่านี้ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของพระที่แท้จริง และไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อทำนุบำรุงศาสนาจากมุมมองของคณะสงฆ์

ทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขที่บีบบังคับให้พระต้องลงถนนเพื่อต่อสู้เรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ตนมองว่าสำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่การออกหน้าเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวก็มาพร้อมกับต้นทุนด้วยเช่นกัน เพราะผู้สังเกตการณ์ที่เป็นฆราวาสมักจะตีตราตัดสินพระว่าทำในสิ่งที่อยู่นอกเหนือกิจของสงฆ์ และมีหลายคนอาจมองพระด้วยว่า ทำไมถึงไม่เลือกใช้วิธีการล็อบบี้อยู่ด้านหลัง เพราะเราอาจคิดว่าพระเป็นอภิสิทธิ์ชน มีเครือข่ายทางสังคมการเมืองเยอะ ซึ่งก็อาจจะใช่ แต่ไม่ว่าจะมีอิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรมเพียงใด พระไม่สามารถขอทุกอย่างได้สำเร็จนะครับ บางอย่างอาจถูกมองว่าไม่เหมาะสมกับสถานภาพของพระด้วย กระนั้นในหมู่คณะสงฆ์เอง การเดินขบวนไม่ใช่วิธีการเดียวเสมอไป ถ้าไม่ลงถนน ก็อาจจะใช้วิธีอื่นได้ด้วยเช่นกัน เช่น การเดินธรรมยาตราเพื่อเรียนรู้และเรียกร้องให้เกิดการเอาใจใส่ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ทรุดโทรมจากฝีมือมนุษย์

สุดท้ายแล้ว พระไม่ได้มีตัวเลือกในการเคลื่อนไหวเยอะ กฎหมายบ้านเมืองและสายตาจากสังคมมีผลในการควบคุมพระ เราจะเห็นว่าทุกวันนี้พระไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรอย่างโจ่งแจ้งได้เลย



เมื่อถูกควบคุมด้วยกฎหมายและกฎระเบียบหลายชุด ทำให้เกิดปัญหาว่าบทลงโทษอย่างการสึกพระถูกใช้อย่างคลุมเครือ ไม่ตรงกับความผิดตามพระธรรมวินัยด้วยไหม

กรณีการบังคับสึกไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยอย่างแน่นอน การบังคับสึกพระเช่นในกรณีคดีเงินทอนวัดมีข้ออ้างที่ไม่มีเหตุอันควร เพราะสาเหตุที่ถูกจับสึกคือการไม่ให้ประกันตัว ทั้งที่คดีจะยังไม่มีผลเป็นที่สิ้นสุด

โดยหลักการแล้ว แม้พระเถระที่ถูกจับจะเป็นผู้ต้องหา แต่ท่านทั้งหลายยังนับเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มีสิทธิในการประกันตัวเพื่อเตรียมตัวต่อสู้ข้อกล่าวหาในกระบวนการยุติธรรมต่อไป การที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังพระที่จับมาจึงเป็นการบังคับสึกพระตามอำนาจกฎหมายคณะสงฆ์ มาตรา 29 ที่ระบุว่า ถ้าพระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ และมาตรา 30 ในกฎหมายเดียวกันที่ระบุว่า ถ้าต้องมีการจำคุก หรือกักขังพระภิกษุรูปใดก็ตาม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ

กฎหมายมาตราเหล่านี้เป็นบทบัญญัติที่ทางโลกสร้างขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับหลักการและระเบียบขั้นตอนการลาสึกตามพุทธบัญญัติ ในกรณีเงินทอนวัด ทางเจ้าหน้าที่ได้นิมนต์เจ้าคณะแขวงมาทำพิธีสึก แต่พระเถระทั้งหลายไม่ได้เปล่งวาจาลาสิกขา จึงยังถือความเป็นพระอยู่ แต่สำหรับพระตัวเล็กตัวน้อยที่โดนจับระหว่างการประท้วง เช่น พระประนมกรและพระง้วนจะถูกเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ และเจ้าคณะแขวงดุสิตพร้อมเลขาฯ กดดันให้สึกด้วยเหตุผลว่าไม่มีต้นสังกัด

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงเรื่องการสึกพระ เราคงต้องพูดด้วยว่าการสึกดูจะกลายเป็นอาวุธที่ใช้สำหรับการ ‘ปัดกวาด’ กลุ่มพระเถระในคณะสงฆ์ที่ดูจะมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม พร้อมทั้งปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของพระเณร คำถามคือ ทำไมกรณีของพระรูปอื่นที่มีข้อกล่าวหาเรื่องการเสพเมถุน มีรูปหลุดมาขณะเปลือยกาย ถึงไม่โดนตรวจสอบและจับสึก โดยเฉพาะพระที่มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมดี แต่กรณีเงินทอนวัด กลับมีแนวทางใช้กฎหมายที่ขัดกับหลักการประกันตัวโดยทั่วไป จนเป็นที่ตั้งคำถามว่า อะไรเป็นเงื่อนไขว่าพระจะได้รับการประกันหรือไม่ได้รับการประกัน ถ้าจะบอกว่ากลัวพระหนี เจ้าหน้าที่ก็มีวิธีติดตามตัวผู้ต้องหาอยู่หลายวิธี จะให้ใส่กำไลข้อเท้าหรือใช้วิธีการอื่นใดก็ได้ การเลือกไม่ให้ประกันตัวและฝากขังมีผลให้พระเถระเหล่านี้ถูกจัดสึกอำนาจของทางโลก ซึ่งดูไปก็คล้ายกับแนวทางที่เจ้าหน้าที่รัฐเล่นงานนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคน ด้วยการปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวเพื่อให้ต้องถูกคุมขัง

สำหรับกรณีพระเณรที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มราษฎรและกลุ่มทะลุฟ้า แนวทางการจับสึกจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เพราะจะมีการใช้ข้อหาเรื่องการไม่มีสังกัดมาเป็นข้ออ้าง โดยบางกรณีอาจเริ่มต้นด้วยการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ เข้าไปติดต่อกับพระเณรเพื่อกดดันให้สึก ถ้าไม่ยอม สำนักพุทธฯ จะส่งจดหมายไปให้วัดต้นสังกัด แล้วกดดันให้เจ้าอาวาสเรียกพระเณรรูปดังกล่าวกลับมาที่วัดเพื่อตักเตือน หรือในบางกรณีก็จะส่งเอกสารแจ้งว่าพระเณรรูปดังกล่าวถูกขับออกจากวัดต้นสังกัดแล้วให้เจ้าอาวาสเซ็น โดยที่ไม่ได้มีการปรึกษาหารือกันแต่อย่างใด ถ้าพระรูปนั้นหาวัดสังกัดใหม่ไม่ได้ในระยะเวลา 3 วัน ก็จะถูกจับสึกได้ ดังนั้น การสึกในกรณีเงินทอนวัดหรือกรณีที่พระเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองต่างเป็นไปด้วยเหตุผลที่เรียกว่าโลกบัญญัติเป็นหลัก ไม่ใช่การสึกเพราะผิดพระธรรมวินัย


การสึกดูจะกลายเป็นอาวุธที่ใช้สำหรับการ ‘ปัดกวาด’ กลุ่มพระเถระในคณะสงฆ์ที่ดูจะมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม พร้อมทั้งปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของพระเณร


ภายหลังการเปลี่ยนรัชสมัย เราพบว่าสถาบันฯ มีความพยายามขยายพระราชอำนาจเข้ามาปกครองคณะสงฆ์ โดยแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้กษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลสะเทือนต่อวงการสงฆ์อย่างไร

การเปลี่ยนแปลงในกฎหมายคณะสงฆ์ที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนรัชสมัยมีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงและแตกต่างออกไปจากช่วงสมัยรัชการที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการตรากฎหมายคณะสงฆ์ โดยหนึ่งในมิติสำคัญได้แก่อำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งทางการปกครองของคณะสงฆ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับแรกไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการแต่งตั้งสังฆราช แต่ให้มีเจ้าคณะใหญ่ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ เหนือ ใต้ กลาง และธรรมยุตกา แต่ละเจ้าคณะใหญ่ต่างไม่ขึ้นแก่กัน และเจ้าคณะใหญ่แต่ละรูปมีรองเจ้าคณะด้วย ทั้งเจ้าคณะและรองเจ้าคณะใหญ่จะรวมกันเป็นมหาเถรสมาคม ทำหน้าที่เหมือนคณะกรรมการฝ่ายสงฆ์ที่ให้ความเห็นเรื่องการศาสนากับกษัตริย์ แต่กษัตริย์มีเอกสิทธิ์ในการวินิจฉัยและตัดสินใจ ซึ่งการแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ รองเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง และเจ้าอาวาสทั้งวัดหลวงและวัดราษฎร์ จะอยู่ภายใต้อำนาจการตัดสินใจของกษัตริย์ หรือเป็นไปตามพระราชดำริ การจัดวางโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ในลักษณะดังกล่าวทำให้อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยเปรียบเทียบว่าเป็นการให้รัชกาลที่ 5 เป็นสังฆราช เพราะกษัตริย์มีอำนาจดูแลกิจการคณะสงฆ์

หลังจากกฎหมายสงฆ์ฉบับแรก พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2484 และ 2505 ต่างมีการบัญญัติให้กษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งสังฆราช แต่การแต่งตั้งตำแหน่งปกครองอื่นเป็นอำนาจของสังฆราชและคณะสงฆ์ จนเมื่อปี 2535 ได้มีการปรับเปลี่ยนบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งสังฆราช ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ เพื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นสังฆราช ซึ่งเป็นการแก้ไขบทบัญญัติที่เพิ่มอำนาจมหาเถรสมาคมในกระบวนการแต่งตั้งสังฆราช ทั้งนี้ มีข่าวลือว่าสาเหตุการแก้ไขดังกล่าวมาจากการที่สมเด็จพระญาณสังวรที่เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นสังฆราชเมื่อปี 2532 มีความไม่สบายใจหลังได้รับตำแหน่งด้วยการข้ามพระเถระที่มีอาวุโสด้านสมณศักดิ์มากกว่า จึงได้ขอให้มีการแก้กฎหมาย

แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลเรื่องใดก็ตาม บทบัญญัตินี้ถูกนับเป็นจารีตใหม่ที่ทางคณะสงฆ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ก่อนการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยเป็นรัชกาลที่ 10 คณะสงฆ์ส่วนกลางมีบทบาทในการจัดทำรายชื่อพระเพื่อเสนอให้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์และตำแหน่งทางการปกครอง ตั้งแต่เจ้าคณะในระดับต่างๆ ไปจนถึงเจ้าอาวาส แม้ว่าในรัชสมัยก่อนจะมีบ้างเป็นบางกรณีที่รายชื่อสมณศักดิ์ถูกส่งคืนมาเพื่อให้เพิ่มรายชื่อพระบางรูปเข้าไป แต่บทบาทการเสนอรายชื่อยังเป็นเรื่องที่ทางคณะสงฆ์มองว่าเป็นเอกสิทธิ์ของตน

อย่างไรก็ดี เมื่อเปลี่ยนรัชสมัยแล้ว มีการแก้ไขเนื้อความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2 ครั้งในปี 2560 และ 2561 โดยครั้งแรกเป็นการแก้ไขให้การสถาปนาสังฆราชเป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ ไม่มีการเสนอรายชื่อจากมหาเถรสมาคมผ่านนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป และครั้งที่สอง เป็นการให้อำนาจกษัตริย์แต่งตั้งและถอดถอนสมณศักดิ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะหน และเจ้าคณะภาค ซึ่งกรณีของสมณศักดิ์เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะปกติแล้วจะไม่มีการตราระเบียบที่ชัดเจนในการถอดถอน เว้นแต่ถูกจับสึกหรือลาสิกขา การเพิ่มข้อกฎหมายนี้จึงเป็นการเพิ่มขอบเขตพระราชอำนาจในเรื่องที่คณะสงฆ์เคยมีอำนาจการตัดสินใจ

แต่การแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพียงประการเดียว ในช่วงกลางปี 2563 ได้มีการออกกฎมหาเถรสมาคมที่บัญญัติให้การแต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ ภาค จังหวัด และเจ้าอาวาสวัดหลวง ต้องส่งให้มหาเถรสมาคมพิจารณาทุกกรณี และให้สังฆราชเสนอเรื่องผ่านราชเลขานุการในพระองค์เพื่อแจ้งให้ในหลวงทราบ และถ้าทรงมีพระราชดำริประการใด ให้มหาเถรสมาคมรับการตัดสินนั้น พัฒนาการดังกล่าวมีผลต่ออิสระที่คณะสงฆ์เคยมีในการคัดเลือกว่าใครจะอยู่ในลำดับขั้นและตำแหน่งทางการปกครองใด ซึ่งเป็นกระบวนการที่ให้อำนาจต่อผู้ที่มีศักยภาพในการตัดสินว่าใครจะได้ตำแหน่งอะไร ด้วยเหตุผลอะไร

แม้ว่าที่ผ่านมา เราอาจเห็นการแทรกแซงในการตั้งสมณศักดิ์หรือพระสังฆาธิการจากทางสถาบันฯ อยู่บ้าง แต่ถือว่ายังเบาอยู่ ไม่เหมือนตอนนี้ที่เกิดกรณีหลายอย่างผิดแปลกไปจากแบบแผนเดิม ยกตัวอย่างกรณีการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด 3 จังหวัด โดยปกติแล้ว ฝั่งธรรมยุตจะไม่มีประเพณีการแต่งตั้งเจ้าคณะข้ามจังหวัด หรือที่เรียกกันว่าข้ามห้วยมา ไม่นับรวมถึงการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัดเก่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไงก็ไม่ปกติ มีแต่การขอสละตำแหน่งเจ้าคณะก่อนมีการแต่งตั้งใหม่ ไม่มีการถอดถอนและแต่งตั้ง เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันในวงปิดก่อนที่จะดำเนินการอย่างเป็นทางการ มิหนำซ้ำ เร็วๆ นี้ยังมีการตั้งเจ้าคณะจังหวัดซ้ำซ้อนด้วย เช่นในกรณีของเชียงรายและนครศรีธรรมราช

นอกเหนือจากตำแหน่งพระสังฆาธิการแล้ว การตั้งสมณศักดิ์ในช่วงหลังก็มีความเปลี่ยนแปลงด้านรายชื่อของพระที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ มีพระที่เคยอยู่นอกสายตามานานได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคุณ เช่น พระฝรั่งสายวัดหนองป่าพง หรือพระป่าทั้งสายธรรมยุตและมหานิกาย ซึ่งการให้ยศกับพระป่าอาจนำไปสู่การสร้างระยะห่างระหว่างญาติโยมที่เข้าวัดและพระได้ เพราะวัดป่าบางวัดที่พระได้สมณศักดิ์มีการนำกฎระเบียบและขั้นตอนสำหรับการเข้าพบที่ยุ่งยากกว่าเดิมมาใช้ ทำให้ญาติโยมที่เคยเข้าวัดรู้สึกห่างเหินจากพระและวัดมากขึ้น

จากข้อสังเกตเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าจารีตประเพณีในการแต่งตั้งตำแหน่งและยศของคณะสงฆ์ถูกแทรกแซงมากพอควร แม้เราจะระบุไม่ได้ว่าการแทรกแซงดังกล่าวมาจากในหลวงโดยตรงหรือมาจากเครือข่ายที่แอบอิงและฝังตัวอยู่ในโครงสร้างของสถาบัน แต่สิ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจนคือมีการใช้ประโยชน์จากพระราชอำนาจเพื่อกำกับควบคุมคณะสงฆ์

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสร้างความปั่นป่วนให้กับคณะสงฆ์พอสมควร ต้องเข้าใจว่าสำหรับคณะสงฆ์ส่วนกลางแล้ว ระบบอุปถัมภ์เป็นกลไกสำคัญในการจัดระเบียบและความสัมพันธ์ระหว่างพระด้วยกัน ให้ลองจินตนาการว่าคุณเป็นลูกชาวบ้านแล้วได้มาบวชเรียน ก่อนหน้าพิธีบวช ชีวิตของคุณได้เข้าสู่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะผู้ปกครองจะต้องหาวัดที่บวชและยอมให้อาศัย เมื่อบวชแล้ว คุณต้องเรียนรู้การอยู่ใต้โอวาทของเจ้าอาวาส พระพี่เลี้ยง และพระอาจารย์ที่สอนหนังสือ ถ้าคุณมีหน่วยก้านดี เรียนเก่ง และสนองงานวัดได้ดี พระอาจารย์ผู้ใหญ่ก็สามารถแนะนำให้ไปเรียนต่อในระดับสูงกว่า หรือฝากให้เข้าเรียนและอาศัยวัดในกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อได้ การจะเข้ามาเรียนต่อในเมืองหลวง ถ้าสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในวัดหลวงหรือวัดที่มีกิจนิมนต์เยอะ จะมีปัจจัยมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนตัวหรือส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ได้ แน่นอนว่าโอกาสดังกล่าวมาพร้อมศักยภาพในการเข้าถึงการศึกษาและชีวิตที่ดีกว่า การบวชเรียนจึงมีลักษณะเป็นการขยับสถานะทางสังคม แต่การจะขยับสถานะได้จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่คอยช่วยแนะนำและมอบโอกาสให้ ถ้ามีคนอุปถัมภ์ คุณจะสามารถก้าวหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสมณศักดิ์ ตำแหน่งการปกครอง และโอกาสทางสังคมอื่น

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มีผลต่อการหล่อหลอมทางสังคมด้วยเช่นกัน เพราะการบวชเรียนไม่ใช่แค่การเรียนรู้การตีความพระธรรมวินัยตามแนวทางคณะสงฆ์ แต่ยังรวมไปถึงกฎเกณฑ์ มารยาททางสังคม ระบบคุณค่า และบรรทัดฐานของคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายนอกห้องเรียนอยู่ตลอด แต่กระบวนการดังกล่าวจะไม่สามารถทำให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมเข้าใจและยึดถือคุณค่าที่ได้รับมาเป็นแนวทางปฏิบัติต่อได้เลยถ้าไม่มีโครงสร้างแรงจูงใจที่สร้างขึ้นด้วยระบบอุปถัมภ์ภายในคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ต่างตอบแทน ถ้าพระเณรเรียนได้ดี เชื่อฟัง และสนองงานคณะสงฆ์ ท่านเหล่านั้นก็จะได้รับการตอบแทนด้วยโอกาสและทรัพยากรที่สำคัญ  สำนึกกลุ่มในคณะสงฆ์จะถูกสร้างขึ้นมาก็ในกระบวนการเหล่านี้

การเข้ามาแทรกแซงระบบอุปถัมภ์ในคณะสงฆ์มีผลทำให้ระบบการให้คุณให้โทษเปลี่ยนไป จากที่พระเถระผู้ใหญ่หรือพระอาจารย์ประจำสำนักเรียนเคยเป็นผู้กุมประตูไปสู่โอกาส หากอำนาจในการแต่งตั้งและโปรโมตถูกดึงจากท่านเหล่านั้นไปสู่มือผู้อื่น ระบบความสัมพันธ์จะสั่นคลอนและความปั่นป่วนก็จะเกิดขึ้น


พอคาดเดาได้ไหมว่าทำไมสถาบันฯ จึงสนใจขยายพระราชอำนาจเข้ามาในวงการสงฆ์และพุทธศาสนา

เป็นคำถามที่ตอบยาก จากข่าวของการแก้กฎหมายคณะสงฆ์ที่ขยายขอบเขตพระราชอำนาจเหนือคณะสงฆ์ ทุกคนต่างสนใจว่าทำไมสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงให้ความสนใจคณะสงฆ์มากเหลือเกิน ซึ่งนักวิชาการและผู้สังเกตการณ์การเมืองไทยหลายท่านพยายามอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว

ในความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า ประการแรก ปรากฏการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางหลังการเปลี่ยนรัชสมัยที่สถาบันฯ มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการแก้ไขและจัดทำกฎหมายที่มีผลในการขยายพระราชอำนาจ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน และ พ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 2560 เป็นต้น แต่แนวโน้มดังกล่าวไม่ได้จำกัดแต่เพียงแค่มิติด้านกฎหมาย เพราะยังมีเรื่องอื่นด้วย เช่น การจัดการพื้นที่ในส่วนเกาะรัตนโกสินทร์และพื้นที่อื่นซึ่งมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากแบบเก่ามาเพื่อสนองประโยชน์ตามพระราชดำริ และการแต่งตั้งโยกย้ายของกองทัพ พัฒนาการที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับบรรยากาศทางการเมืองที่พระราชอำนาจมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อีกประการหนึ่งคงเป็นเหตุผลทางการเมือง การเคลื่อนไหวของพระเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในสายตาของผู้มีอำนาจ อย่างที่เล่าให้ฟังในตอนต้น มีหลายกรณีในประวัติศาสตร์ที่พระเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของมวลชน ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพระมีทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและขับเคลื่อนมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่พระลงถนนเพื่อประท้วงหรือเดินขบวนต่างๆ จึงไม่เป็นผลดีในมิติด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในบริบทที่คณะสงฆ์มีเจตจำนงทางการเมือง เป็นตัวของตัวเองและอิสระจากการควบคุมของรัฐ การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาดูจะมีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น เพราะข้อเรียกร้องของคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อคณะสงฆ์เอง โดยภาษาของการเรียกร้องมีการนำแนวคิดชาตินิยมมาใช้ แต่เป้าหมายของการเรียกร้องไม่ใช่เพื่อชาติ กลับเป็นเพื่อคณะสงฆ์ บุญญาบารมีเป็นอำนาจทางวัฒนธรรมและสังคมที่สามารถท้าทายอำนาจทางการเมืองของผู้ปกครองได้ ไม่ต้องไปคิดถึงแค่ทางวังและรัฐบาลนี้หรอก ทางรัฐบาลที่ผ่านมาก็กังวลใจกับเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะวิธีการรับมือกับม็อบพระต้องใช้ความละเอียดอ่อน ถ้าใช้ความรุนแรงเมื่อไร ภาพจะออกมาแย่มาก บทบาททางการเมืองของพระสงฆ์จึงเหมือนหอกข้างแคร่รัฐบาลมานาน ถ้ามองเช่นนี้เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า การใช้แนวทางกฎหมายมาปราบเช่นในปัจจุบัน เป็นวิธีที่ใช้ความชอบธรรมของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายมาต่อสู้กับอำนาจบารมีของพระเณร

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมได้ยินมา คือในหลวงรัชกาลปัจจุบันค่อนข้างศรัทธาพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก บางทีความศรัทธานี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลังการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย สถาบันดูจะใส่ใจกับวงการสงฆ์เพิ่มมากขึ้น แต่ต้องอย่าลืมว่า พุทธศาสนาเป็นขาหยั่งสำคัญหนึ่งที่ค้ำจุนอำนาจทางวัฒนธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้เราจะไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่นอนว่าอะไรเป็นเหตุผลที่แท้จริง แต่เราเห็นความสอดคล้องบางประการระหว่างบรรยากาศทางการเมือง คติทางศาสนา และทิศทางการดำเนินการของสถาบัน



อาจารย์เคยกล่าวว่าหลังเปลี่ยนผ่านรัชสมัย เกิดแนวโน้มที่ผู้มีอำนาจต้องการนิยาม ‘พุทธแท้’ ขึ้นใหม่ เราสังเกตได้จากอะไรบ้าง และทำไมถึงเกิดความพยายามในการนิยามความเป็นพุทธที่ถูกต้อง

ต้องขอชี้แจงก่อนว่า เวลาพูดถึงพุทธแท้ในบริบทที่เรากำลังพูดกันอยู่ ผมไม่ได้หมายถึงความเป็นจริงอันสัมบูรณ์บางอย่าง แต่เป็นการต่อสู้จากหลายฝ่ายเพื่อแย่งชิงความหมายว่าอะไรเป็นแก่นของพุทธศาสนา และการปฏิบัติตนอย่างไรถึงจะถูกต้องเหมาะสมตามแก่นของศาสนา ซึ่งข้อถกเถียงเหล่านี้เป็นเรื่องของการตีความและมีมานานแล้ว ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเต็มไปด้วยการแข่งขันกันระหว่างสำนักคิดต่างๆ แต่ละสำนักพยายามเอ่ยอ้างว่าตัวบท การตีความคำสอน และวัตรปฏิบัติของตนเป็นแนวทางที่ถูกต้อง มีความเป็นของแท้มากกว่าสำนักอื่น ในหลายครั้งการแข่งขันไม่ได้จำกัดแค่ในหมู่คณะสงฆ์ด้วย แต่ยังมีรัฐและกลุ่มฆราวาสเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น การเมืองเชิงวัฒนธรรมแบบนี้ไม่ได้มีแค่พุทธศาสนา แต่พบได้ในศาสนาอื่นด้วย และแม้จะดูเป็นแค่เรื่องการตีความ แต่การยอมรับความหมายว่าอะไรคือพุทธแท้มีนัยทางการเมือง เพราะเกี่ยวพันกับประเด็นที่ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจและกระบวนการทางสังคมแบบใดมีบทบาทสถาปนาความหมายของพุทธศาสนาดังกล่าวขึ้นมาเป็นความหมายที่เป็นทางการ

ในกรณีของไทย ความหมายว่าอะไรคือพุทธแท้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมาก แต่ความหมายกระแสหลักหนึ่งที่เราได้ยินกันมักเป็นการตีความศาสนาที่อิงอยู่กับคัมภีร์เป็นหลัก ซึ่งมาพร้อมกับความคาดหวังว่าพฤติกรรมและหน้าที่ของพระเณรต้องจำกัดอยู่กับการอาศัยประจำในวัดเพื่อเรียนพระไตรปิฎก ตั้งใจฝึกภาวนา และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด น่าสังเกตว่าการตีความนี้ไม่มีมิติทางสังคมมาเกี่ยวพันนัก และเราสามารถเห็นความเชื่อมโยงระหว่างมุมมองนี้กับการปฏิรูปศาสนาตั้งแต่การก่อตั้งธรรมยุติกนิกาย โดยเฉพาะในท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพุทธแบบชาวบ้าน ประกาศมหาเถรสมาคมที่ออกมาเพิ่มเติมในช่วงที่กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับแรกยังมีผลอยู่ห้ามการหากินนอกธรรมเนียมของสมณะ ห้ามการทำเสน่ห์ยาแฝด และห้ามการเทศน์มหาชาติตลก เป็นต้น ความคิดแบบนี้ยังฝังตัวอยู่ในกระแสการปฏิรูปคณะสงฆ์ในปัจจุบัน และเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชนชั้นกลางเมือง

หลังการเปลี่ยนรัชสมัย ประกาศเหล่านี้เริ่มออกมามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ข้ออ้างเรื่องพุทธพาณิชย์และความเสื่อมโทรมของคณะสงฆ์จากการที่พระเณรมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลกได้ถูกใช้เป็นเหตุผลสำหรับการจัดระเบียบคณะสงฆ์และพฤติกรรมพระเณร ซึ่งแนวทางการจัดระเบียบมาพร้อมกัน 2 ลักษณะ ได้แก่ การใช้แนวทางทางกฎหมาย เช่น การออกคำสั่งและกฎระเบียบ และการอวยยศให้กับพระที่ถูกจัดประเภทว่าเป็นพระสุปฏิปันโน เราสามารถสังเกตพัฒนาการนี้ได้หลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 จากเหตุการณ์เกี่ยวกับคณะสงฆ์ที่เกิดขึ้น เช่น มีการพระราชทานสมณศักดิ์ให้กับท่าน ป.อ. ปยุตโต เป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีการแก้ไขกฎหมายคณะสงฆ์ พร้อมไปกับการใช้ ม.44 เพื่ออนุญาตให้กำลังพลจำนวนมากปิดล้อมวัดพระธรรมกาย คดีเงินทอนวัด และประกาศที่ทางเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และเจ้าคณะใหญ่หนกลาง หนเหนือ หนตะวันออก ระบุว่าห้ามกิจกรรมที่ถูกมองว่าเป็นพุทธพาณิชย์และการแสดงออกทางการเมือง และเป็นประกาศที่ผิดไปจากแนวทางการปกติที่มหาเถรสมาคมจะเป็นผู้ออกประกาศเอง เหตุการณ์เหล่านี้มีลักษณะร่วมกัน คือมีการอวยยศพระที่ถูกยกเป็นแบบอย่างของพระสุปฏิปันโน และลงโทษพระเณรที่ออกนอกลู่นอกทาง

เช่นเดียวกันกับคำถามก่อนที่ถามว่าทำไมในหลวงรัชกาลปัจจุบันถึงสนใจกิจการทางศาสนามากขึ้น เราคงไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างเด็ดขาด ถ้าจะยึดว่าชุดความคิดบางอย่างมีอิทธิพลต่อพัฒนาการดังกล่าว เช่น แนวคิดที่มองว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องมีเหตุมีผลอิงอยู่กับทัศนะทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ความเชื่องมงาย หรือคติว่ากษัตริย์ต้องมีบทบาทในการอุปถัมภ์และทำนุบำรุงศาสนาก็อาจจะเป็นไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ผมเข้าใจว่าหนึ่งในเป้าหมายจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องการห้ามไม่ให้คณะสงฆ์มีเจตจำนงทางการเมืองเสียมากกว่า การพยายามจำกัดกรอบคณะสงฆ์ให้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมที่ถูกมองว่าเป็นพุทธพาณิชย์หรือห้ามการแสดงออกไม่น่าทำให้คณะสงฆ์บริสุทธิ์ได้จริง เพราะคณะสงฆ์ส่วนกลางไม่ได้ปฏิเสธพุทธพาณิชย์ ด้วยความที่พระเณรโดยมากแล้วเป็นลูกชาวบ้าน ความเชื่อและความชื่นชอบในเครื่องรางของขลังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันพวกเขา และกิจกรรมที่ถูกมองว่าเป็นพุทธพาณิชย์จำนวนมากเป็นกิจกรรมของพุทธแบบชาวบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวบ้านทั่วไป

ตัวอย่างของการมองคนละมุมในเรื่องพุทธแท้คงจะหนีไม่พ้นกรณีของวัดพระธรรมกาย ซึ่งมักถูกใช้เป็นตัวอย่างของพุทธพาณิชย์ เพราะมีทานบริจาคเยอะ มีคนศรัทธาเยอะ มีบารมีเยอะมากในหมู่คนชั้นกลางและคณะสงฆ์ส่วนกลาง การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคณะสงฆ์ส่วนกลางและกลุ่มนักการเมืองพลเรือนทำให้หลายคนกังวลว่าวัดพระธรรมกายจะกินรวบทั้งอำนาจทางศาสนาและการเมือง จนกลายเป็นอาณาจักรอิสระที่ไม่ต้องขึ้นตรงกับอำนาจคณะสงฆ์ส่วนกลางหรือรัฐบาลอีกต่อไป จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ปิดล้อมวัด ก็มีคนจำนวนมากคิดว่าเหตุการณ์นี้คงทำให้วัดถึงจุดเสื่อมแล้ว เพราะเป็นการตีตราที่ยากจะแก้ไข แต่ในความเป็นจริง คนเข้าวัดไม่ได้ลดลงเลย และตอนนี้ดูจะมีมากขึ้นด้วย ดังนั้น การมองว่าอะไรคือพุทธแท้จึงเป็นการมองคนละมุมกันระหว่างฝ่ายอำนาจและคนอีกหลายกลุ่ม และในสายตาของผู้มีอำนาจ พุทธพาณิชย์ เช่น วัดพระธรรมกาย เป็นความเสี่ยงประการหนึ่ง เพราะสามารถสะสมอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เข้ามาแข่งขันกับอำนาจรัฐและสถาบันทางสังคมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ตอนนี้สังคมส่วนหนึ่งกำลังตั้งคำถามถึงองค์กรศาสนาที่มีอยู่ เช่น สำนักพุทธฯ ว่าช่วยส่งเสริมสนับสนุนศาสนาจริงไหม หรือถึงที่สุดแล้วยังจำเป็นต้องมีอยู่หรือเปล่า อาจารย์มีความเห็นอย่างไร

ขอเล่าให้ฟังแล้วกันว่า ผมเคยสัมภาษณ์พระเถระรูปหนึ่ง แล้วถามท่านว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อบทบาทของสำนักพุทธฯ ท่านปรารภว่าการมีสำนักพุทธฯ ดีกว่าไม่มี เพราะตอนนั้นสำนักพุทธฯ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะสงฆ์ส่วนกลาง มีหน้าที่ดูแลงานด้านธุรการและเอกสารเป็นหลัก ไม่ได้มีบทบาทในการไล่สึกพระหรือแทรกแซงกิจการคณะสงฆ์เช่นตอนนี้ แต่ถ้าถามคำถามเดิมในเวลานี้ ความคิดของพระเณรจำนวนมากคงเปลี่ยนไปแล้ว

เดิมทีเป้าหมายตอนแรกของคณะสงฆ์ในการต่อสู้เพื่อให้ได้กระทรวงพุทธศาสนา คือการมีตัวแทนของตนเข้าไปอยู่ในระบบราชการเพื่อเป็นปากเสียงให้กับคณะสงฆ์ พอได้สำนักพุทธฯ มาแทน พระท่านก็มองว่าสำนักพุทธฯ สามารถทำหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกิจการคณะสงฆ์ได้ เพราะเป็นหน่วยราชการที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินทุกปี โดยบทบาทเลขาของมหาเถรสมาคมจะหมายถึงหน้าที่ในการนำความคิดเห็นและข้อกังวลของคณะสงฆ์ไปขับเคลื่อนเป็นนโยบาย

อย่างไรก็ดี แทนที่สำนักพุทธฯ จะทำงานเชิงรุก กลับทำงานประจำเป็นหลัก และแม้จะได้งบประมาณมามาก ปีแรกได้งบประมาณเริ่มต้นมากว่าพันล้าน และเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าในช่วงระยะเวลาสิบปี แต่เงินส่วนใหญ่จมไปกับเงินเดือนและค่าใช้จ่ายประจำต่างๆ ไม่ได้เหลือพอสำหรับการเริ่มต้นโครงการใหม่ และไม่ได้มีผลงานสำคัญที่ชัดเจน พระจำนวนมากอาจจะคิดเหมือนกันว่าทำไมสำนักพุทธฯ ถึงไม่ผลักดันเรื่องกฎหมาย การศึกษาคณะสงฆ์ หรือเรื่องที่ทางคณะสงฆ์มองว่าสำคัญ ดังนั้น ถ้าจะถามว่าตอนนี้ยังสมควรมีอยู่ไหม คำตอบของพระเณรจำนวนมากอาจจะเป็น ‘ไม่ต้องมีก็ได้’ เพราะแทนที่จะทำงานสนับสนุนคณะสงฆ์ ตอนนี้งานหลักกลับเป็นการจับพระสึกและปิดกั้นการแสดงออกของพระเณรด้วยการใช้กฎหมายบ้านเมือง ไม่ได้ใช้หลักพระธรรมวินัยมาเป็นแนวทางหลักสำหรับการจัดการปัญหาที่มีอยู่ จนทำให้ถูกมองจากทั้งพระและฆราวาสว่าได้แทรกแซงกิจการคณะสงฆ์และละเมิดพระธรรมวินัยเสียเอง

ผมคิดว่าถ้าลองไปถามพระเณร พระหลายรูปน่าจะมีความคิดอยากปลดแอกเหมือนกัน เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มและทำให้สำเร็จได้อย่างไร



อาจารย์มีข้อเสนอไหมว่าองค์กรอย่างสำนักพุทธฯ ควรจะปรับเปลี่ยนตนเองอย่างไร หรือเราต้องหันไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างระหว่างรัฐและคณะสงฆ์ใหม่เลย

ผมขอออกตัวก่อนว่า ผมคงไม่มีข้อเสนออะไรที่ชัดเจนและยังต้องไปศึกษาเรื่องนี้ให้มากขึ้น แต่สถานการณ์ตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า การพึ่งพิงระบบราชการเป็นดาบสองคม เพราะจากเดิมที่เคยคาดหวังให้สำนักพุทธฯ ทำหน้าที่เป็นเลขาคณะสงฆ์ ตอนนี้กลับมาควบคุมคณะสงฆ์แทน ปรากฏการณ์นี้ทำให้เราต้องหันมาทบทวนข้อเสนอเรื่องการแยกศาสนาออกจากรัฐในมิติศาสนองค์กรให้ชัดเจนขึ้น เราอาจไม่จำเป็นต้องมีองค์กรที่ช่วยส่งเสริมการอุปถัมภ์พุทธศาสนาเป็นพิเศษขนาดนี้ เพราะในด้านหนึ่ง อาจมีข้อถกเถียงว่าการมีหน่วยราชการเฉพาะสำหรับพุทธศาสนาอาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำระหว่างศาสนา ซึ่งอาจมีผลนำไปสู่การแข่งขันอย่างไม่สร้างสรรค์ได้ ขณะเดียวกันการทำให้ความเป็นระบบราชการของคณะสงฆ์เข้มข้นมากเกินไปจะทำให้เราไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขอะไรได้ เหมือนที่คณะสงฆ์กำลังเผชิญกับปัญหาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่สำนักพุทธฯ ได้กลายเป็นองค์กรที่มาควบคุมมากกว่าสนับสนุน

ในภาพรวมแล้ว ถ้าพระอยากมีช่องทางสำหรับการส่งเสียงเพื่อให้เกิดการตอบสนองจากภาครัฐในการขับเคลื่อนวาระที่คณะสงฆ์ต้องการผลักดัน คงต้องมีการระดมความคิดและร่วมกันจินตนาการว่ารูปแบบองค์กรแบบใดจึงจะสามารถเป็นตัวแทนที่ช่วยส่งเสียงให้กับทางคณะสงฆ์ได้บ้าง ที่แน่ๆ ผมคิดว่าคณะสงฆ์ต้องเริ่มมองหาหนทางใหม่ที่ไม่ใช่รูปแบบขององค์การราชการในแบบปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นปัญหาการต้องตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมจากทางรัฐจะยังคงอยู่เสมอ และผมคิดว่าหนทางในการหาทางแก้ปัญหาไม่ใช่การคิดเองทำเองแต่เพียงผู้เดียว แต่เราจะต้องมีการเปิดพื้นที่ให้เกิดกระบวนการพูดคุยปรึกษาหารือในหมู่คณะสงฆ์ และระหว่างคณะสงฆ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งหมายรวมถึงฆราวาสชาวพุทธด้วยเช่นกัน เพราะบางครั้งจะให้พระท่านคิดเองอาจจะคิดไม่ออก เนื่องด้วยท่านไม่ได้ถูกฝึกมาให้เป็นนักออกแบบองค์กร

ที่สำคัญที่สุด รัฐต้องเลิกปิดกั้นการแสดงออกของพระเณรและปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับการพูดคุย ไม่เช่นนั้นแล้ว การกดทับเสียงของพระเณรจะนำไปสู่ความไม่พอใจที่จะลงรากลึกและไม่เป็นผลดีต่อทางรัฐเอง


สุดท้ายแล้ว ระยะห่างที่พอดีระหว่างการควบคุมของรัฐและอิสระของคณะสงฆ์ควรเป็นอย่างไร

คำถามข้อนี้เป็นสิ่งที่ข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องรัฐโลกวิสัยในไทยต้องการที่จะตอบ แต่เป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อสรุป และเช่นเดียวกันกับคำถามที่แล้ว ผมคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักที่ผมคิดว่าสำคัญคงเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของพระสงฆ์และเสรีภาพในการถือศาสนา สำหรับประเด็นแรก เราสามารถเริ่มต้นพิจารณาว่าระยะห่างระหว่างรัฐและคณะสงฆ์ควรจะมีดุลยภาพอย่างไรจากกฎหมายคณะสงฆ์ เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่เพียงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่สุดสำหรับการควบคุมคณะสงฆ์ แต่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ทำหน้าที่เป็นเหมือนพิมพ์เขียวความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและคณะสงฆ์ หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่สุดประการหนึ่งได้แก่การที่กฎหมายคณะสงฆ์ รวมไปถึงกฎมหาเถรสมาคม ต้องไม่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย มีบทบัญญัติหลายข้อในกฎหมายคณะสงฆ์ที่ขัดกับแนวทางในพระวินัย เช่น ที่มาของตำแหน่งทางการปกครองในคณะสงฆ์มีลักษณะที่ขัดแย้งกับพระวินัยอยู่ เพราะในสมัยพุทธกาล คณะสงฆ์เป็นชุมชนของนักบวชที่ไม่ได้มีการจัดองค์กรเช่นในปัจจุบัน ชุมชนสังฆะให้เอกสิทธิ์แก่ผู้มีพรรษาอาวุโสกว่า ไม่ใช่เพราะมีระดับและอายุของสมณศักดิ์สูงกว่า ทั้งยังไม่มีตำแหน่งเช่นในระบบการปกครองคณะสงฆ์ที่จะมาให้คุณให้โทษกันเช่นนี้

อย่างไรก็ดี บริบทสังคมในตอนนี้เปลี่ยนไป ถ้าจะให้ปฏิเสธกฎหมายสงฆ์ทั้งหมด หรือให้ล้มกระดานไปทันทีเลย ผมคิดว่ายังคงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและแรงเกินไป แต่เราสามารถเริ่มการแก้ไขได้ โดยเริ่มจากข้อเรียกร้อง เช่น เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนกฎเรื่องของที่มาและอำนาจของเจ้าอาวาส เพื่อไม่ให้เจ้าอาวาสมีอำนาจมากจนเกินไป และการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการต้องมีวัดสังกัด รวมไปถึงการแก้หลักเกณฑ์และขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้พระที่โดนกล่าวหาได้มีสิทธิในการประกันตัวออกมาสู้คดี การเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมจะช่วยให้เราสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้ อาจเป็นการที่ไม่ต้องมีกฎหมายคณะสงฆ์แล้ว หรือมีรัฐธรรมนูญที่รับรองความเป็นรัฐโลกวิสัย ก็สุดแท้แต่สถานการณ์จะคลี่คลายไปทางใด

ทั้งนี้ เราต้องย้อนกลับมาทบทวนกฎหมายหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์และพุทธศาสนาว่าได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพไม่ใช่แค่ต่อพระในฐานะพลเมือง แต่ยังต้องถามด้วยว่าไปละเมิดเสรีภาพทางศาสนาของใครบ้างไหมและอย่างไร เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ที่เพ่งโทษผู้ที่แต่งกายเลียนแบบพระภิกษุ มีโทษทั้งจำและปรับ กฎหมายเช่นนี้เป็นการทำให้นักบวช เช่น ภิกษุจากสันติอโศกกลายเป็นอาชญากรไป ทั้งที่ทางสันติอโศกเองเป็นกลุ่มนักบวชพุทธที่เลือกจะไม่สังกัดคณะสงฆ์ส่วนกลาง แต่ยังถือวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งกฎหมายข้อนี้ถูกนำมาใช้เพื่อเล่นงานสมณะดาวดินที่เคยสังกัดสันติอโศก ตอนหลังท่านขอลาออกจากสังกัดเพื่อจะได้มีอิสระในการมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและทวงถามความยุติธรรมให้กับนักโทษการเมือง แต่ท่านกลับต้องโดนเล่นงานด้วยกฎหมายนี้ ทั้งที่มีผู้ที่ครองจีวรเช่นพระอีกหลายคนมากนักที่ทางสำนักพุทธฯ และเจ้าหน้าที่รัฐทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่

สิ่งที่น่าคิดสำหรับเรื่องดุลยภาพระหว่างรัฐและคณะสงฆ์ คือการที่ข้อถกเถียงในเรื่องนี้ไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้พระได้พูดสักเท่าไร แม้จะมีการเถียงกันเยอะว่าควรต้องให้พื้นที่กับศาสนาในรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด แต่เวลาพระออกมาพูดเรื่องศาสนาประจำชาติ เรามักไม่ได้ทำความเข้าใจว่าทำไมพระจึงต้องออกมาพูดเช่นนั้น และไม่ได้สร้างบทสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนหรือโต้แย้งเชิงสร้างสรรค์กับพระมากนัก อาจเพราะข้อเสนอของพระดูจะแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญที่เราเข้าใจกันว่า การบัญญัติสถานะพิเศษให้แก่ศาสนาหลักของประเทศเป็นเรื่องที่ถดถอยและไม่เป็นธรรม เพราะละเมิดหลักเกณฑ์เรื่องความเท่าเทียมและเสรีภาพทางศาสนา แต่ถ้าลองดูรัฐธรรมนูญรอบโลก เราจะพบว่ารัฐธรรมนูญจำนวนมากในโลกมีแนวโน้มที่จะมีมาตราให้สถานะพิเศษแก่ศาสนาของคนหมู่มากในสังคม หรือศาสนาที่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ชาติ อันนี้ไม่ได้หมายความว่าดีหรือไม่ดีนะครับ แต่แนวโน้มนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจำนวนมาก งานของ Benjamin Schonthal ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญและพุทธศาสนาในศรีลังกาได้พูดถึงประเด็นเหล่านี้ซึ่งน่าสนใจมาก

ในขณะเดียวกัน ถ้าคณะสงฆ์ต้องอยู่โดยปราศจากการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นนิตยภัตร หรือเงินอุดหนุนการศึกษาคณะสงฆ์ พระเณรจำนวนมากก็จะรู้สึกกังวลใจอย่างมาก เพราะคณะสงฆ์มีบทบาทในด้านการสงเคราะห์เด็กที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาตามแนวทางปกติ อาจเพราะมีปัญหาทางบ้าน หรือเคยชีวิตพังมาก่อน การมาบวชเรียนจึงมีลักษณะเป็นสวัสดิการสังคมที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้ เป็นเหมือนตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่คอยกันพวกเขาไม่ให้ตกหล่นไป ต้องอย่าลืมว่าปีหนึ่งมีพระเณรที่บวชเรียนเข้ามาในระบบเป็นจำนวนหลักหมื่น และการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การจะแยกการอุปถัมภ์ของรัฐออกจากคณะสงฆ์และพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชะตาชีวิตของคนจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีการต่อต้าน จนกว่าเราจะได้รัฐสวัสดิการที่สามารถดูแลเรื่องการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการสังคมอื่นได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม การจะแยกความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนาออกจากกันเป็นเรื่องยาก แต่จะปรับเปลี่ยนให้มีระยะห่างที่พอดีได้อย่างไรเป็นเรื่องที่เราต้องพูดคุยกันต่อไป


สิ่งที่น่าคิดสำหรับเรื่องดุลยภาพระหว่างรัฐและคณะสงฆ์ คือการที่ข้อถกเถียงในเรื่องนี้ไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้พระได้พูดสักเท่าไร


สำหรับอาจารย์ อะไรเป็นปัญหาใหญ่ของพุทธศาสนาที่ควรได้รับการปฏิรูปเร็วที่สุด

ผมคิดว่าปัญหาใหญ่คือพระไม่มีอิสระในการแสดงออกและไม่มีพื้นที่สำหรับการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกันเองหรือกับสังคม ทั้งที่เป็นสิ่งที่ท่านสมควรได้กระทำ เพราะเวลาที่เราเห็นอะไรที่คิดว่าเป็นปัญหาของพระสงฆ์ เช่น การไปยุ่งกับการเมือง การปลุกเสกของขลัง หรือการเดินชอปปิงในห้างใหญ่กลางเมือง ในมุมมองของเราอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ทำให้สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัญหาเพราะเราไม่เข้าใจวิถีชีวิตและโลกของพระ และเราอาจจะมีความคาดหวังบางอย่างที่ไม่ได้สะท้อนกับความเป็นจริงก็ได้ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าผมสนับสนุนกิจกรรมอย่างที่ยกตัวอย่างมา แต่ผมอยากเสนอว่า การมองพฤติกรรมพระพร้อมเพ่งโทษว่าเป็นปัญหาและต้องมีการแก้ไข โดยที่ไม่ได้มีการรับฟังเสียงของพระหรือทำความเข้าใจพระก่อน การดำเนินการเช่นนั้นไม่ได้ต่างจากการควบคุมพระในวิถีทางของรัฐที่พยายามเข้าไปจัดระเบียบคณะสงฆ์ด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพหรือยั่งยืน การจัดการปัญหาในแบบดังกล่าวรังแต่จะสร้างความไม่พอใจและความรู้สึกเชิงลบให้กลายเป็นความขัดแย้งที่แหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ การปฏิรูปที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจก็เหมือนกับคำพูดของฝรั่งที่บอกว่า ถนนมุ่งสู่นรกจะปูไปด้วยเจตนาที่ดี เพราะจะให้ผลตรงข้ามกับจุดมุ่งหมาย

ผมเห็นด้วยกับพระหลายท่านที่บอกว่าขณะนี้กำลังเกิดวิกฤตศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นศรัทธาที่มีต่อรัฐในฐานะผู้อุปถัมภ์คณะสงฆ์ หรือศรัทธาจากญาติโยมต่อคณะสงฆ์เอง ถ้าดูจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือของอำนาจรัฐ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐไปไล่จับและบังคับสึกพระที่ออกไปชุมนุม การแทรกแซงกิจการคณะสงฆ์ และการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อจำกัดกรอบการแสดงออกของพระเณร ไม่แปลกใจที่พระเณรจะมองสำนักพุทธฯ ว่าเป็นภัยต่อคณะสงฆ์ เพราะแทนที่จะทำงานสนับสนุนตามบทบาทอันควร สำนักพุทธฯ กลับใช้กฎหมายทางโลกมาละเมิดพระธรรมวินัย และไม่สนใจรับฟังความคิดเห็นหรือข้อกังวลใจของคณะสงฆ์ ในขณะเดียวกัน พระสงฆ์เองก็รู้สึกว่าตนเองนั้นไม่ลงรอยกับฆราวาส เพราะรู้สึกว่าคนสมัยใหม่ห่างวัดและประกาศไม่นับถือศาสนาใด แนวโน้มเช่นนี้มีส่วนทำให้คณะสงฆ์รู้สึกกังวลถึงตำแหน่งแห่งที่และความสำคัญของตน แต่ถ้าจะให้ผมลองพิจารณาจากประสบการณ์ของตัวเอง ผมว่าการปฏิเสธศาสนาไม่ได้หมายความว่าคนหนุ่มสาวจะเป็นปฏิปักษ์กับคณะสงฆ์ เพราะถ้าดูจากปรากฏการณ์ของ พส. ทั้งสองท่าน เราจะพบว่า คนรุ่นใหม่สนใจศาสนามาก แต่เขาสนใจในแง่คำสอนที่สามารถเข้าถึงได้และนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ เขาอยากเรียนรู้แนวคิดปรัชญาและคำสอน แต่ไม่ต้องการสมาทานความคิดที่ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดีที่สุดโดยไม่มีการตั้งคำถาม เราควรต้องเข้าใจว่าการโหยหาเสรีภาพทางศาสนาไม่ใช่การปฏิเสธศาสนา

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญอย่างมาก ได้แก่การเปิดพื้นที่การพูดคุยกันอย่างเสรีมากกว่านี้ โดยทั้งพระและโยมน่าจะมีพื้นที่ในการพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีคุณภาพและสร้างสรรค์ ทุกฝ่ายสามารถเรียนรู้และเข้าใจกัน ตอนนี้คนจำนวนมากในสังคมไม่รู้ว่าสถานการณ์คณะสงฆ์เป็นอย่างไรบ้าง มองว่าคณะสงฆ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหมด เข้าใจว่าคณะสงฆ์ทำหน้าที่เป็นกลไกรัฐและทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าพระทุกรูปจะเห็นพ้องต้องกันในทุกเรื่อง และพระผู้ใหญ่หลายรูปก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามพระเณรและการบริหารรัฐกิจในยุคโควิด แต่เพราะคณะสงฆ์ต้องพึ่งพิงรัฐเป็นอย่างมาก แรงกดดันจากรัฐและความที่ไม่อยากมีปัญหาจึงทำให้คณะสงฆ์ดูเงียบ ทั้งที่ใต้น้ำมีคลื่นที่กำลังก่อตัวอยู่

อย่างไรก็ตาม คณะสงฆ์ยังมีความหลากหลายอยู่มาก ทั้งยังมีบทบาททางสังคมการเมืองได้มากกว่าที่เราคิด แต่เพราะโลกของสงฆ์เป็นโลกที่มีกฎระเบียบและวัฒนธรรมต่างไปจากโลกที่เรารู้จัก พระเณรจึงคิดไม่เหมือนฆราวาส ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ เปิดโอกาสให้พระได้เข้าร่วมถกเถียงและเสนอทางออกจากปัญหาที่ตนกำลังเผชิญอยู่ และคงความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันได้ ผมคิดว่าเราจะสามารถสร้างเงื่อนไขและพันธมิตรสำหรับการเปลี่ยนแปลง เพราะความเข้าใจจะนำไปสู่การสร้างพื้นที่สำหรับการจินตนาการร่วมกันได้ว่า เราควรจะก้าวเดินไปทิศทางไหนและเดินอย่างไร

สิ่งที่เราควรตระหนักอยู่เสมอคือศาสนาไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ลี้ลับจนถกเถียงกันไม่ได้ และระบบ รวมถึงโครงสร้างต่างๆ ในศาสนาก็ไม่ได้สามานย์จนต้องด่าวิจารณ์กันแต่เพียงอย่างเดียว

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save