“ผมเป็นนักเรียน นักเขียน นักแปล และเป็นกระบวนกร หน้าที่หลักคือการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม ให้ก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และยั่งยืน ผมทำงานนี้มาตลอดชีวิตตั้งแต่มัธยมปลาย และตั้งใจที่จะตายคางานนี้”
ประชา หุตานุวัตร เคยพูดถึงชีวิตของตนเองเอาไว้อย่างน่าสนใจ
และเขาก็ได้ตายคางานที่เขาทำไว้เช่นนั้นจริงๆ
แต่ผลงานของประชาที่สร้างไว้จะคงอยู่ไปอีกนานเท่านาน ดังที่ Jane Rasbash อดีตคู่ชีวิตของประชาเขียนถึงเขาว่า “Pracha’s unique contributions to engaged spirituality and social change will continue through his writing, projects and student.”
นักอ่าน นักเรียนขบถ
ประชา หุตานุวัตร เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2495 เป็นบุตรคนหนึ่งของนายซอฮุยกับนางสมพร เติบโตในบ้านสวนย่านราษฎร์บูรณะ
ประชาชอบแสวงหาความรู้มาตั้งแต่เด็ก น้องสาวอย่างสมลักษณ์เล่าว่า “พี่ประชาส่งสารพัดหนังสือให้อ่าน ทั้งนิทาน เรื่องสั้น วรรณกรรมแปล เล่มหนึ่งในบรรดานั้นคือ อ้ายเหลือบ เราจุดตะเกียงอ่านทุกคืนจนจมูกดำ”
ประชาเรียนหนังสือเก่ง และทำกิจกรรมมาตั้งแต่ชั้นมัธยมในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่นน้องคนหนึ่ง คือ กิตติศักดิ์ ปรกติ ได้ฟื้นความหลังไว้ว่า “ตอนผมเข้าสวนกุหลาบใหม่ๆ เมื่อ พ.ศ. 2513 ผมโชคดีได้คุยกับพี่ที่ตึกหลังยาว พี่เป็นประธานชมรมภาษาอังกฤษ พี่ชวนเข้าชมรม ชวนอ่านหนังสือนอกตำรา เพื่อเปิดโลกให้กว้างขึ้น”
ขณะที่สันติสุข โสภณสิริ เพื่อนร่วมรุ่น กล่าวถึงประชาว่า “เมื่อนึกถึงคุณประชาคราวไร ก็เห็นภาพเพื่อนนักเรียนขบถ ผู้มีมาดมุ่งมั่น มุทะลุ และดุดันอยู่เป็นบางครั้ง แต่นิสัยที่ปากตรงกับใจและความจริงจังของเขาก็สามารถลบล้างโทษสมบัติเหล่านั้นเสียสิ้น ที่สำคัญเขายังมีความคิดอ่านลึกซึ้งผิดไปจากคนรุ่นเดียวกัน”
ในยุคแสวงหา ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น ประชาร่วมกับเพื่อนนักเรียนตั้งกลุ่ม ‘ยุวชนสยาม’ ขึ้นในปี 2515 รวบรวมนักเรียนหัวก้าวหน้าอันเป็นนักกิจกรรมจากโรงเรียนต่างๆ ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ค่ายฝึกกำลังคน วารสาร กลุ่มสนทนา และร่วมประท้วงในหลายเหตุการณ์ มีสมาชิก อาทิ สันติสุข โสภณสิริ, วิศิษฐ์ วังวิญญู, ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ และไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์
โดยพิภพ ธงไชย ตั้งข้อสังเกตว่า “คนรุ่นใหม่ในกลุ่มยุวชนสยาม เมื่อ 50 ปีก่อน ล้วนเลือกที่จะ ‘ขบถต่อตัวเอง’ และ ‘สังคมที่ตนดำรงอยู่’”
จากที่สนใจความคิดฝ่ายซ้ายที่นิยมมาร์กซ์ ต่อมาในปี 2517 ประชาหันมาสมาทานอหิงสาและพุทธธรรม ดังได้ร่วมกับวิศิษฐ์และสันติสุขตั้งกลุ่ม ‘อหิงสา’ เพื่อแยกจากกระแสส่วนใหญ่ในเวลานั้นที่นิยมมาร์กซ์อย่างเข้มข้น
แม้ประชาจะเรียนเก่งเป็นอันดับต้นๆ ของรุ่น เขากลับไม่ได้เลือกเรียนแพทย์หรือวิศวะตามกระแสหลัก แต่เลือกเรียนครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากครูโกมล คีมทอง ผู้ล่วงลับ แต่แล้วยังไม่ทันเรียนจบ ประชาก็ลาออกเพื่อดำเนินชีวิต ‘ขบถ’ กับเพื่อนในกลุ่มอหิงสา ซึ่งเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธี และไม่สยบยอมกับคำตอบสำเร็จรูปจากลัทธิที่สัญญาว่าจะให้ความหวังใหม่
สำหรับชีวิตการเรียนของประชานั้น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขียนถึงว่า “ผมมีความทรงจำที่ดีต่อพี่ประชา เป็นคนแรกที่ให้แรงบันดาลใจกับผม ผมรู้สึกประทับใจมาก คนที่เรียนเก่งมากอย่างนั้น กลับเลือกสอบเข้าครุ แล้วก็ลาออก”
ขณะที่พระไพศาล วิสาโล เขียนรำลึกถึงประชาว่า “ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้รู้จักพี่ประชาขณะที่ยังเยาว์วัย เพราะได้เห็นแบบอย่างแห่งผู้ที่อุทิศตนเพื่ออุดมคติ ในช่วงที่ข้าพเจ้ากำลังแสวงหาความหมายของชีวิตอยู่พอดี”
ปสนฺนธมฺโมภิกขุ
ในปี 2518 เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น จากเดิมที่ประชาคิดว่าจะเข้าป่าหรือไปเมืองจีน ก็เปลี่ยนใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
ส. ศิวรักษ์ เล่าถึงการบวชของประชาไว้ว่า “แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงของเขาทางด้านกิจกรรมฝ่ายซ้ายก็เป็นเหตุให้ปัญญานันทภิกขุปฏิเสธที่จะบวชให้เขา ข้าพเจ้าจึงฝากเขาไปยังพระสด ซึ่งเคยเรียนที่ธรรมศาสตร์กับข้าพเจ้า และต้องการอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อการพระศาสนา พระสดพาประชาไปหาเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้เป็นอุปัชฌาย์บวชให้เขา และเขาก็เข้าไปอาศัยสวนโมกขพลารามอยู่เป็นเวลากว่าทศวรรษ”
อนุสรณ์อันเป็นรูปธรรมาจากชีวิตสมณเพศของพระประชา ปสนฺนธมฺโม คือการสัมภาษณ์พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ จนสำเร็จออกมาในชื่อ เล่าไว้ในวัยสนธยา ซึ่งคำถาม การจับประเด็น และการนำเสนอตัวตนของพุทธทาสภิกขุออกมานั้น ทำออกมาได้อย่างที่ไม่มีใครเสมอเหมือน อีกเล่มหนึ่ง คือ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ที่แปลมาจากงานของติช นัท ฮันห์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเล่มแรกของท่านนัท ฮันห์ ในบรรณพิภพไทย และเมื่อปี 2565 เพิ่งพิมพ์ครั้งที่ 28 ออกมาวางจำหน่าย
ในทางวิถีชีวิตนั้น พระไพศาล วิสาโล กล่าวถึงพระประชาว่า “ข้าพเจ้าเอง…ได้รับอิทธิพลจากข้อคิดและงานเขียนของพี่ประชามิใช่น้อย โดยเฉพาะในช่วงที่พี่ประชาใช้ชีวิตทวนกระแสในเพศสมณะ ถ้าพี่ประชาไม่ได้ก้าวเดินบนเส้นทางนี้มาก่อน ข้าพเจ้าอาจไม่ได้บวชมาจนถึงวันนี้”
การงาน
หลังจากลาสิกขาออกมาเป็นคฤหัสถ์ “เพราะรักผู้หญิง” แล้ว ประชายังสนใจนำพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาทางสังคม ทั้งยังสนใจแนวคิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการภาวนาเพื่อรับใช้สังคม การเมืองสีเขียว วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ในปี 2532 ประชาร่วมก่อตั้งเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์นานาชาติเพื่อสังคม (International Network of Engaged Buddhists: INEB) เพื่อเชื่อมโยงนักกิจกรรมชาวพุทธและผู้นำจากศาสนาอื่นในหลายประเทศมาแลกเปลี่ยนและสนับสนุนการทำงานเพื่อสังคมระยะยาว
หลังจากไปเรียนหลักสูตรสำหรับนักฝึกอบรมจนจบขั้นสูงสุดจาก A Movement for Society สหรัฐอเมริกา ประชานำหลักสูตรนี้มาประยุกต์กับพุทธกระบวนทัศน์ให้สมสมัย ใช้ในกระบวนการฝึกอบรมต่างๆ และได้ทำโครงการฝึกอบรมผู้นำระดับรากหญ้า (Grassroots Leadership Training: GLT) กับคนไทยและคนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นเสมสิกขาลัย ภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
อีกองค์กรหนึ่งภายใต้ฉายาของมูลนิธิเสฐียรโกเศศฯ คือ อาศรมวงศ์สนิท คลอง 15 จังหวัดนครนายก นั้น ประชาก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในการสร้างพื้นที่ทดลองใช้ชีวิตของนักกิจกรรมทางสังคม มุ่งสร้างชุมชนวิถีทางเลือกใหม่ นอกจากนี้ ประชายังเคยใช้ชีวิตที่ฟินด์ฮอร์น ซึ่งเป็นชุมชนทางเลือกในทางเหนือของสกอตแลนด์อีกด้วย
ในปี 2548 ด้วยแนวคิดของพุทธทาสภิกขุที่ว่า “ศีลธรรมของเยาวชนคือสันติภาพของโลก” ประชาตั้งสถาบันยุวโพธิชน เพื่อเป็นสถาบันพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนและจัดกระบวนการเรียนรู้กระบวนทัศน์ใหม่ และเป็นการสร้างนิเวศทางการศึกษาหล่อหลอมคนรุ่นใหม่
นอกจากนั้น ประชายังมีส่วนร่วมก่อตั้งมูลนิธิสัมมาชีพ ที่มุ่งจะมีส่วนในการจัดการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในหมู่นักธุรกิจและนักการเมือง ทั้งยังตั้งชุมชนนิเวศเอเชีย (Ecovillage Transition Era: ETA) ที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่ และการขับเคลื่อนเรื่องมนุษย์กับธรรมชาติที่เน้นความยั่งยืนของระบบนิเวศ
กระบวนทัศน์ใหม่
ในช่วงท้ายของชีวิต ประชามุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการเจาะไปที่คุณค่าพื้นฐาน จึงตั้งหลักสูตรผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ (Awakening Leadership Training: ALT)
วราภรณ์ หลวงมณี ที่ทำงานกับประชามาถึง 16 ปี เคยถามประชาว่า “คุณค่าของงานที่เรากำลังทำอยู่คืออะไร ใช่เรากำลังขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมหรือไม่” ประชาตอบว่า “เราไม่สามารถทำขนาดนั้นได้หรอก แต่เรากำลังทำเรื่องเปลี่ยนแปลงคุณค่าพื้นฐานของสังคม” ในความหมายที่ว่าเปลี่ยนสังคมวัตถุนิยมเป็นสังคมที่มีจิตวิญญาณ เปลี่ยนสังคมที่เอารัดเอาเปรียบมาเป็นมิตรกับธรรมชาติ เปลี่ยนสังคมที่แก่งแย่งแข่งขันเป็นเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเปลี่ยนสังคมที่บูชาความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุสู่สังคมที่มีสมดุลของคุณภาพชีวิตและเลือกสรรเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด
นอกจากนั้น ประชายังสัมภาษณ์ ส. ศิวรักษ์ เผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างเป็นระบบคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสวงหาความรู้ เรื่องความยุติธรรม และที่ได้รับความนิยมมาก คือ ชุดประวัติศาสตร์ ทั้งจักรีปริทัศน์ การอภิวัฒน์ 2475 และการเมืองไทยร่วมสมัย ดังที่พิภพ ธงไชย ตั้งข้อสังเกตว่า “งานช่วงหลังที่ประชาทุ่มเททำ คือ การเสนอศักยภาพในตัวครูของตน โดยเฉพาะบทสัมภาษณ์…”
ไม่เพียงเท่านั้น ประชายังตั้งสำนักพิมพ์เสมสิกขาลัยขึ้นมาเผยแพร่ความรู้พื้นฐานในด้านต่างๆ อย่างขยันขันแข็ง ไม่ว่าจะเป็นประวัติบุคคล แนวความคิดพื้นฐานในด้านต่างๆ (แม้บางเล่มอาจจะผิดพลาดไปบ้าง หรือยังไม่ถึงกับเป็นเลิศ แต่ก็นับเป็นอุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับการแสวงหาความรู้ขั้นต้นในด้านนั้นๆ ได้) และการนำหนังสือคลาสสิกหลายเล่มกลับมาพิมพ์ใหม่ เช่น จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ และ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ เป็นต้น
บางด้านของชีวิต
บารมี ชัยรัตน์ ที่เคยใช้ชีวิตในอาศรมวงศ์สนิทกับประชา กล่าวถึงเขาไว้ว่า “วันสุดท้ายที่เจอกัน คือ วันที่ผมไปเยี่ยมพี่ที่โรงพยาบาล ผมบอกกับพี่ว่า ‘ผมด่าพี่ เพราะผมรักพี่’ พี่ตอบว่า ‘กูรู้’ ผมบอกต่อว่า ‘พี่รู้ไหมในตัวผมนี่มีพี่อยู่ครึ่งหนึ่ง’ พี่ตอบว่า ‘ครึ่งข้างเหี้ยใช่ไหม’ แล้วเราก็หัวเราะกันด้วยความสุข ก่อนพลัดพรากจากลา พี่เป็นเจ้านายคนแรกของผมอย่างเป็นทางการ และพี่ก็ยังเป็นเจ้านายคนสุดท้ายของผมด้วยเพราะก่อนลาจากกันวันนั้นพี่ยังใช้ผมช่วยวิจารณ์หนังสือที่พี่เป็นบรรณาธิการเล่มหนึ่งด้วย”
สมบูรณ์ จึงเปรมปรีดิ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยอยู่ในอาศรมแห่งนั้น และทำงานกับประชาในหลายวาระ เล่าถึงอีกด้านในชีวิตของประชาไว้ว่า “พี่ประชาเป็นคนมีเสน่ห์และเจ้าชู้ มีผู้หญิงหลายคนที่เข้ามาในชีวิตเขา บางครั้งก็ลงตัว บางครั้งก็ไม่ใช่…พี่ประชาก็สรุปว่า มันเป็นความรักในขณะนั้น ซึ่งก็จริง รวมถึงการมีบุตรโดยไม่ตั้งใจ แต่ก็ไม่ใช่ความผิดพลาด…แต่พี่ประชาได้ทอดทิ้งผู้หญิงอีกหลายคนให้ทนทุกข์ เพราะการแสวงหาสิ่งใหม่ที่ตัวเองสนใจ”
ขณะที่ กิตติชัย งามชัยพิสิฐ สะท้อนบาดแผลในชีวิตของประชาไว้ว่า “ชีวิตพี่ประชามีความผิดพลาดมากมาย เต็มไปด้วยบาดแผล แต่ความผิดพลาดเหล่านั้นก็เป็นบทเรียนให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ทั้งแกยังหยิบยกความผิดพลาด ความอ่อนแอ ความเสียใจทั้งหลาย มาตักเตือนและเป็นบทสนทนาให้ได้ขบคิดใคร่ครวญอยู่เสมอ…น้อยคนนักจะกล้าฝ่าดงอัตตาตนเองจนยอมรับตนเองที่จะเป็นครูในมิตินี้”
แต่แง่มุมที่คนส่วนใหญ่น่าจะมีประสบการณ์คล้ายๆ กัน คือการที่ประชาเป็นกัลยาณมิตรพูดเตือนสติให้ได้รู้ตัว เช่น สมบัติ บุญงามอนงค์ เล่าว่า ตั้งแต่เริ่มทำกลุ่มกระจกเงาเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ในเวทีหนึ่งนั่งติดกับประชา “ในวงส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหญ่ เราถกเถียงกันเรื่องสังคมที่จะเป็นในอนาคต แน่นอนว่า ผมอยู่ในพวกประเภทโลกสวยมาแต่ไหนแต่ไร พอผมพูดจบ แกบอกว่า หนูหริ่งคุณเป็นพวกโรแมนติก โลกไม่ได้น่ารักหรือเรียบง่ายเช่นนั้น ตอนแกพูดนั้นน้ำเสียงแกหนักแน่นมาก ผมถึงกับตาลุกโชน เพราะตอนนั้นยังเด็กและมีแต่พี่ๆ โอ๋ ไม่ค่อยมีใครตบกระบาลให้ได้สติ ซึ่งผมมองว่าคำวิจารณ์ตรงไปตรงมาจากพี่ประชาเป็นประโยชน์มาก และไม่มีทางที่ผมจะเผลอคิดไปว่าแกวิจารณ์ด้วยความไม่ชอบหน้าผม ในทางกลับกันแกเอ็นดูผมอย่างมาก”
ทำนองเดียวกับที่ณัฐฬส วังวิญญู เล่าว่า หลังจากที่เขาเพิ่งจบจากนาโรปะ สหรัฐอเมริกา กลับมานั้น ในการอบรมคราวหนึ่งกับวิทยากรต่างชาติ ด้วยความที่เขารู้ภาษาอังกฤษและสนใจในเรื่องที่เรียนอย่างมาก จึงถามและแลกเปลี่ยนกับครูเยอะกว่าคนอื่น จนประชาทักว่า “ณัฐดูมั่นใจในตัวเองมากไปหน่อยนะ เหมือนอเมริกัน” ณัฐฬสเล่าว่า “ผมก็ถามแกว่าสังเกตจากอะไร แกบอกว่า เพราะใช้เวลาพูดมากกว่าคนอื่นและการพูดดูท้าทายและมั่นใจตัวเอง ผมขอบคุณที่แกมาบอก แม้ในใจจะยังมึนงง แต่ก็เชื่อว่ามีความจริงอยู่ในนั้นและผมควรเก็บมาปรับปรุงตัวเอง”
ความไม่แน่นอน
ประชารู้จักกับ ส. ศิวรักษ์ มาครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่เขายังเป็นนักเรียนสวนกุหลาบ และมีโอกาสทำงานสัมพันธ์กับปัญญาชนสยามผู้นั้นอยู่มิใช่น้อย แม้บางช่วงอาจห่างเหินกันไปบ้าง แต่ก็ยังมีการแซวกันว่า “แกเป็นลูกชายคนโตของอาจารย์” (จากข้อเขียนของอวยพร เขื่อนแก้ว) หรือที่ปรีดา เรืองวิชาธร ตั้งข้อสังเกตทำนองเดียวกันว่า “พี่กับอาจารย์รักกันเหมือนพ่อกับลูก”
ในช่วงปัจฉิมวัยของ ส. ศิวรักษ์ ประชาเป็นตัวตั้งตัวตีจะจัดงานเตรียมตัวตายให้กับอาจารย์ของเขาในช่วงปลายเดือนมีนาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ส. ศิวรักษ์ ตั้งแต่ 3 ปีก่อน แต่แล้วก็เจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเป็นเหตุให้ไม่อาจจัดได้ถึง 2 ปีติดๆ กัน จนในที่สุดก็เป็นอันเลิกไป
แล้วประชาก็มาป่วยด้วยโรคมะเร็ง จนตายจากไปเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 ณ โรงพยาบาลศิริราช รวมอายุได้ 71 ปี
ปรีดา เรืองวิชาธร สะท้อนความไม่แน่นอนนี้ออกมาว่า “ไม่นึกไม่ฝันว่า อาจารย์จะกลับมาเป็นฝ่ายจัดงานศพให้พี่เอง นี่โคตรดราม่าเลย”
งานศพของประชาจัดขึ้นอย่างน่าสนใจที่วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร นอกจากการสวดพระอภิธรรมแล้ว ยังมีการสวดแบบทิเบต มีการนำภาวนา และการเสวนารำลึกถึงผู้วายชนม์ ก่อนที่จะนำศพไปประชุมเพลิงบนกองฟืนที่วัดปลักไม้ลาย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม อันเป็นการปิดฉากชีวิตที่น่าทึ่งของประชา หุตานุวัตร อย่างงดงาม
บรรณานุกรม
- พระไพศาล วิสาโล, “ความหลังครั้งเป็นยุวชนสยาม,” ใน ปาจารยสาร มกราคม 2551 [https://www.visalo.org/article/paja255101.htm]
- คือปาฏิหาริย์เมื่อเรา “ตื่น” อยู่เสมอ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2566)
หมายเหตุ : ดาวน์โหลดหนังสือ ‘คือปาฏิหาริย์เมื่อเรา “ตื่น” อยู่เสมอ’ โดยประชา หุตานุวัตร ได้ที่นี่