fbpx

Universal Basic Income: ก้าวสู่อนาคตด้วยสวัสดิการประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า กับ ปราชญ์ ปัญจคุณาธร

ยิ่งโลกผันผวน ระบบเศรษฐกิจพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนปล่อยให้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำกัดกินชีวิตผู้คน คงไม่มีทางออกใดที่สังคมฝันหายิ่งไปกว่า ‘สวัสดิการ’

ในกระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องนโยบายสวัสดิการหลากหลายรูปแบบทั่วโลก นโยบาย ‘สวัสดิการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า’ หรือที่รู้จักกันดีในนาม ‘UBI’ (Universal Basic Income) คือหนึ่งในทางเลือกที่ได้รับความสนใจมากที่สุดและคาดว่าจะตอบโจทย์ความท้าทายแห่งยุคสมัยได้ดีที่สุด

‘ได้อย่างสม่ำเสมอ’ ‘ให้เป็นเงิน’ ‘ได้อย่างถ้วนหน้า’ ‘ให้อย่างไม่มีเงื่อนไข’ และ ‘ได้ทุกคน’ คือแนวทางที่ UBI สัญญาว่าจะประกันความเสี่ยง ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และอาจเสริมความสามารถในการบรรลุเป้าหมายชีวิตของปัจเจกได้

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายแห่งทั่วโลกทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต่างทดลองเข็นนโยบายออกมาใช้ สำหรับประเทศไทย กลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย คณะก้าวหน้า และพรรคภูมิใจไทยต่างก็เริ่มกล่าวถึงความสำคัญของการทำนโยบาย UBI ในไทย

แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไปในอนาคตคือ นโยบาย UBI จะเป็นไปได้หรือไม่ในไทยในวันที่ในการเดินหน้าทำนโยบายสวัสดิการโดยเฉพาะแบบ ‘ถ้วนหน้า’ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และนโยบายสวัสดิการที่มีอยู่แล้วอย่างนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กหรือนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะกลายเป็นบันไดไปสู่สวัสดิการที่ครอบคลุมตลอดชีวิตอย่าง UBI ได้หรือไม่

ในวันที่สังคมฝันถึงนโยบายสวัสดิการ 101 สนทนากับ ปราชญ์ ปัญจคุณาธร Graduate Research Fellow ศูนย์วิจัย Stanford Basic Income Lab และนักศึกษาปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัย Stanford ว่าด้วย เบื้องหลังหลักคิดในการออกแบบนโยบายสวัสดิการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงจากการนำนโยบาย UBI ลงไปใช้ในโลกจริง รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการริเริ่มนโยบาย UBI ในไทย

ปราชญ์ ปัญจคุณาธร Graduate Research Fellow ศูนย์วิจัย Stanford Basic Income Lab และนักศึกษาปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัย Stanford

จริงๆ แล้วแนวคิดและนโยบายสวัสดิการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้ามีมานานอยู่แล้วพอสมควร แต่ทำไมถึงเพิ่งกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมมองว่ามีเทรนด์สามอย่างที่มาบรรจบกัน ทำให้คนหันมาสนใจนโยบาย UBI มากขึ้น

หนึ่ง วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008-2009 ที่ทำให้ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเริ่มไม่พอใจทุนนิยมมากขึ้น ขบวนการฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาที่เริ่มก่อตัวขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจมีจุดร่วมที่คล้ายกันคือมาจากคนรากหญ้าหรือชนชั้นแรงงานที่เสียเปรียบจากระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวานี้จึงเริ่มมองหาทางเลือกอื่นที่ต่างออกไปจากทุนนิยมแบบเดิมๆ

สอง ความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจไปสู่ Gig economy และการพัฒนาเทคโนโลยี automation ดิสรัปต์วิถีทางเศรษฐกิจ ทำให้ความมั่นคงทางอาชีพและสถานะทางการเงินไม่แน่นอนมากขึ้น นโยบาย UBI ที่สามารถประกันความเสี่ยงทางรายได้จึงเป็นทางเลือกที่หลายคนเริ่มสนใจ

สาม ในแวดวงการพัฒนาเริ่มมีฉันทามติว่าการโอนเงินให้โดยตรง โดยทั่วไปมีประสิทธิภาพกว่านโยบายสวัสดิการที่ให้เป็นสินค้า เพราะการให้สินค้าอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนที่มีหลากหลาย นอกจากนี้ เริ่มมีผลการศึกษาออกมาว่าเครื่องมือเดิมๆ อย่างเช่น microcredit ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ได้วิเศษเท่ากับที่คาดหวังกันไว้

กระแสนโยบาย UBI ถูกเร่งให้แรงขึ้นอีกในช่วง 1-2 ที่ผ่านมา การระบาดของโควิดทำให้นานาชาติสนใจ UBI ในฐานะนโยบายเร่งด่วนเป็นครั้งแรก จากเดิมที่มอง UBI ว่าเป็นนโยบายแก้ปัญหาเรื้อรังระยะยาว เช่นความยากจนและความเหลื่อมล้ำเท่านั้น สหประชาชาติออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เร่งพิจารณาใช้ UBI รัฐบาลสเปนผ่านโครงการ UBI ออกมาในช่วงกลางปี 2020 ซึ่งเร็วมาก และกำลังจะเป็นหนึ่งในโครงการ UBI ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือจ่ายเงินให้คนมากถึง 850,000 คน และจ่ายให้เยอะด้วย คือเดือนละประมาณ 400-1,000 ยูโร

ในระดับโลก คนที่ทำงานอยู่ในแวดวง UBI กำลังสนใจหรือถกเถียงอะไรกันอยู่บ้าง

ผมขอแบ่งหัวข้อที่เขาถกเถียงกันออกเป็นสองแบบคือ คำถามที่ใหม่และคำถามที่สำคัญ คำถามที่ใหม่บางทีอาจจะไม่ใช่คำถามสำคัญ ส่วนคำถามสำคัญอาจจะเป็นคำถามที่ตั้งกันไว้นานแล้ว

คำถามใหม่ที่ถกเถียงกันอยู่คือนโยบาย UBI จะมีแหล่งเงินทุน (funding sources) ใหม่ๆ จากไหนได้บ้าง บางคนเสนอว่าให้เก็บ data tax กับบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลหากมีการประกาศใช้จริง เพราะตอนนี้ข้อมูลส่วนบุคคลถูกใช้ฟรีๆ ทั้งที่มีมูลค่า บางคนเสนอว่าให้เก็บจากภาษีทรัพย์สิน (wealth tax) ซึ่งก็ไม่ใช่ข้อเสนอใหม่เสียทีเดียว แต่ใหม่ตรงที่ยังไม่ค่อยมีประเทศไหนเก็บได้เป็นล่ำเป็นสัน หรือบางคนก็ให้ใช้กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) เป็นแหล่งเงินทุน UBI

แต่คำถามที่สำคัญมักไม่ใช่คำถามใหม่ๆ เหล่านี้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นประเด็นเก่าอย่างผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่นว่า UBI มีผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างไร ส่งผลต่ออุปทานแรงงาน (labor supply) อย่างไร ส่งผลให้ผลิตภาพแรงงาน (productivity) ลดลงหรือไม่ จะทำให้เกิดเงินเฟ้อหรือไม่ จะส่งผลต่อการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไร

ยกตัวอย่างในประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ แม้หลักฐานที่ผ่านๆ มาบ่งชี้ว่า UBI ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย เพราะการทดลอง UBI มักจ่ายเงินครั้งหนึ่งจำนวนเงินไม่มาก หรือถ้าจ่ายมากก็ให้คนจำนวนน้อย ซึ่งย่อมมีผลน้อยต่อเงินเฟ้อ จึงต้องรอผลศึกษาจากการใช้นโยบาย UBI เต็มรูปแบบจริงๆ ด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งคือคำถามที่ว่านโยบาย UBI จะส่งผลกระทบต่อการโยกย้ายถิ่นมากน้อยแค่ไหน คำถามนี้อาจไม่ใช่ประเด็นสำหรับประเทศไทย เพราะขนาดประเทศไม่ใหญ่มากและไม่ได้เปิดพรมแดนเสรี แต่จะเป็นประเด็นสำหรับประเทศในสหภาพยุโรปที่เปิดพรมแดนเสรี เพราะถ้ามีประเทศไหนที่มีสวัสดิการ UBI คนก็อาจจะอพยพเข้าไป จึงยังต้องมีการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อการโยกย้ายถิ่นเพิ่มเติมอีกมาก

นั่นคือในแวดวงวิชาการ ส่วนแวดวงผู้กำหนดนโยบายมักจะสนใจคำถามในเชิงปฏิบัติ เช่น จะจัดงบประมาณอย่างไร จะตัดงบประมาณส่วนไหนมาให้ UBI จะเก็บภาษีอะไรเพิ่ม จ่ายเงินจำนวนเท่าไหร่ จะจ่ายถี่แค่ไหน จ่ายน้อยแต่ถี่ หรือจ่ายไม่ถี่แต่จ่ายครั้งหนึ่งจำนวนเงินเยอะ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้ผลลัพธ์จากโครงการต่างกันออกไป

ทำไมเราต้องมีนโยบายการันตีรายได้พื้นฐานแบบ ‘ถ้วนหน้า’ ไม่ใช่แบบ ‘เฉพาะกลุ่ม’

ที่นโยบายรายได้พื้นฐานต้องเป็นแบบ ‘ถ้วนหน้า’ มันมีเหตุผลทั้งในทางแนวคิดและเหตุผลในทางปฏิบัติ

ในทางแนวคิดพื้นฐาน UBI คือรายได้พลเมือง ผูกอยู่กับความเป็นพลเมือง ทุกคนเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันของสังคม ฉะนั้นทุกคนจึงควรได้กันเท่ากันถ้วนหน้า ความถ้วนหน้านี้จะทำให้ไม่มีคนกลุ่มไหนที่ต้องถูกตีตราว่าเป็นภาระภาษี และจะช่วยสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมโดยเฉพาะในสังคมที่มีชนชั้น ลองจินตนาการว่าทุกคนได้เงินเดือนในฐานะพลเมืองเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้า แรงงาน ผู้ดี เชื้อพระวงศ์ นักการเมือง เซนส์ความเป็นหุ้นส่วนของสังคมที่เท่ากันน่าจะค่อยๆ เกิดขึ้น

ส่วนในทางปฏิบัติ การให้แบบ ‘ถ้วนหน้า’ มีข้อดีคือ หนึ่ง บริหารจัดการง่าย ต้นทุนในการบริหารจัดการของรัฐ (administrative cost) แทบจะเท่ากับศูนย์ เพราะตัดข้ามระบบราชการไปได้เลย อย่างเดียวที่รัฐต้องทำคือโอนเงินเข้าบัญชีของประชาชนทุกคนเท่ากัน ไม่ต้องใช้ระบบราชการมาพิสูจน์ความจนหรือตรวจคุณสมบัติความอนาถา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะแม่นยำขนาดไหน และกระบวนการพิสูจน์จะทำให้เกิดการตีตราหรือเหยียดหยามหรือเปล่า

สอง นโยบาย UBI อาจตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจยุค Gig economy และดิสรัปชันจากเทคโนโลยี เพราะเส้นแบ่งระหว่างคนจนกับชนชั้นกลางไม่ชัดเจนและคงที่เหมือนแต่ก่อน ต่อให้เป็นชนชั้นกลางก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าอาชีพของตัวเองจะถูกดิสรัปต์เมื่อไหร่ หรือพองานเริ่มเปลี่ยนมาเป็นแบบสัญญาจ้าง ก็ไม่รู้ว่าเดือนหน้าหรือปีหน้าจะหาเงินได้เท่าเดือนนี้หรือเปล่า นโยบาย UBI จะเป็นหลักประกันความเสี่ยงที่ไม่ได้ให้แค่เฉพาะคนจนเท่านั้น แต่ให้คนที่มีโอกาสจะจนด้วย รวมถึงชนชั้นกลางที่ไม่รู้ว่าเดือนหน้าหรือปีหน้าจะยังเป็นชนชั้นกลางอยู่หรือเปล่า

หนึ่งในหลักการของ UBI คือเชื่อว่าปัจเจกสามารถตัดสินใจเองได้ ไม่ใช้ให้รัฐตัดสินใจให้ ทำไมเราควรเชื่อเช่นนั้น

อย่างแรกคือเป้าหมายชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเราไม่มีทางล่วงรู้ได้ว่าปัจเจกแต่ละคนมีเป้าหมายอะไร แน่นอนว่ามีสินค้าพื้นฐานบางอย่างที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องการเหมือนกัน อย่างน้ำสะอาดหรืออากาศบริสุทธิ์ แต่นอกเหนือไปจากสินค้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน ปัจเจกแต่ละคนมีความต้องการสินค้าต่างกันออกไปมาก

สอง รัฐไม่มีทางเข้าใจบริบทที่แวดล้อมชีวิตของปัจเจกแต่ละคนได้หมด ปัจเจกคือคนที่รู้ดีที่สุดว่าในบริบทที่เขาอยู่ สินค้าอะไรจำเป็นสำหรับเขามากที่สุด ตลาดในพื้นที่มีสินค้าอะไรขายอยู่บ้าง อะไรราคาถูกหรือแพง หรือเขากำลังอยู่ในช่วงเวลาไหนของชีวิต ปีนี้กับปีหน้าเขาอาจจะมีความต้องการต่างกันก็ได้

เพราะฉะนั้นจึงยากมากที่รัฐจะจัดสวัสดิการเป็นสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของปัจเจกได้ การจ่ายเป็นเงินให้ปัจเจกไปเลือกใช้จ่ายเองจึงน่าจะมีประสิทธิภาพกว่า

เมื่อมีการนำนโยบาย UBI ลงไปใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกจริงเป็นไปตามหลักการที่ว่าไหม

หลักฐานงานวิจัยเท่าที่มีอยู่บ่งชี้ชัดเจนว่าปัจเจกนำเงิน UBI ไปซื้อในสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตของตัวเอง

สาธารณชนมักว่าคนจะใช้เงิน UBI ไปซื้ออบายมุข เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด หรือนำไปเล่นการพนัน แต่หลักฐานจากโครงการ UBI และโครงการ cash transfer อื่นๆ แทบทุกที่บ่งชี้ตรงกันว่าเงินไม่ได้ถูกนำไปใช้ซื้ออบายมุข นี่เป็นข้อสรุปที่ชัดเจนที่สุดในบรรดาผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ UBI ในด้านต่างๆ

ถ้าถามว่าคนนำเงินที่ได้จากโครงการ UBI ไปใช้อะไร ผลการศึกษาจากแต่ละประเทศบ่งชี้ต่างกัน ผลการศึกษาในเคนยาชี้ว่า ถ้าจ่ายเงินน้อยแต่ถี่ คนจะนำเงินไปซื้ออาหารเพราะเงินก้อนไม่ใหญ่พอซื้อสิ่งของขนาดใหญ่ แต่ถ้าจ่ายเงินไม่ถี่แต่จ่ายก้อนใหญ่ คนจะนำเงินไปซื้อสินค้าคงทน เช่น สังกะสีมุงบ้าน

จากที่นักวิจัยไปสำรวจมา สังกะสีมุงบ้านตอบโจทย์หลายอย่างที่มากกว่าแค่ใช้ซ่อมบ้าน คือช่วยให้สุขภาวะในบ้านดีขึ้น  ส่วนประเทศอื่นในแอฟริกา บางประเทศผลการศึกษาบอกว่าคนใช้เงิน UBI ไปซื้ออุปกรณ์ทำไร่ทำนา บางประเทศที่คนต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อหาที่เพาะปลูกพืชใหม่เรื่อยๆ ตามสภาพอากาศ เงินจากโครงการ UBI ช่วยให้เขาไม่ต้องย้ายถิ่นฐานทุกปี ช่วยให้เขารอเพาะปลูกในพื้นที่เดิมในปีหน้าได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการย้ายไปที่ใหม่ได้

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าคนแต่ละพื้นที่ใช้เงิน UBI เพื่อตอบโจทย์ชีวิตตัวเอง ซึ่งหลากหลายเกินกว่าที่ผู้วางนโยบายจะคิดแทนได้หมด

ว่ากันว่าการใช้นโยบาย UBI จะทำให้คนขี้เกียจ ไม่ยอมทำงาน หรือมีแนวโน้มทำให้อุปทานแรงงานหดตัว จริงหรือไม่

ในภาพใหญ่ ผลการศึกษาจากประเทศกำลังพัฒนาไม่พบว่า UBI ทำให้คนทำงานน้อยลงเลย ในทางตรงกันข้าม ในประเทศยากจนบางประเทศกลับพบว่า UBI ทำให้คนทำงานมากขึ้นเสียอีก เพราะ UBI ช่วยให้เศรษฐกิจท้องถิ่นดีขึ้น การจ้างงานมากขึ้น 

ส่วนในประเทศพัฒนาแล้วนั้นข้อสรุปยังไม่ชัดเจนว่า UBI มีผลต่ออุปทานแรงงานโดยรวมอย่างไร โดยเฉพาะหากให้จำนวนเงินมากๆ แต่ในระดับกลุ่มย่อยผลการศึกษาที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าคนบางกลุ่มลดชั่วโมงการทำงานลงอย่างมีนัยสำคัญ งานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดาพบว่ากลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวและแม่ลูกอ่อนลดชั่วโมงการทำงานเพื่อเอาเวลาไปเลี้ยงลูก ส่วนวัยรุ่นระดับมัธยมปลายนั้นจำนวนชั่วโมงการทำงานลดลง เพราะเงินสวัสดิการช่วยให้เขาไม่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อไปหางานทำ ทำให้เขาสามารถเรียนมัธยมปลายให้จบหรือเรียนมหาวิทยาลัยต่อได้  

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เราต้องตระหนักว่าการลดชั่วโมงการทำงานนั้นไม่ได้แปลว่าขี้เกียจ ที่ผ่านมาไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนที่บ่งชี้เลยว่าคนลดชั่วโมงทำงานลงแล้วใช้เวลาไปนั่งเฉยๆ กลุ่มคนที่ลดจำนวนชั่วโมงทำงานลงมักเอาเวลาไปทำกิจกรรมที่มีผลิตภาพนอกตลาดแรงงาน เช่น เลี้ยงลูก ดูแลคนป่วย หรือทำกิจกรรมที่อาจสร้างผลิตภาพในอนาคต เช่น เรียนต่อ

นโยบาย UBI ตอบโจทย์ความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำอย่างเดียวไหม หรือสามารถตอบโจทย์อื่นๆ ในสังคมได้อีก

หลายครั้งเรามักจดจ่อกับผลสัมฤทธิ์ของนโยบายตามเป้าหมายแคบๆ แต่จริงๆ มันอาจส่งผลกระทบต่อไปอีกหลายเรื่องด้วย อย่างนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่ช่วยในเรื่องอื่นด้วย เช่น คนอาจจะนำเงินตรงส่วนนั้นไปใช้กับเรื่องการศึกษาก็ได้

นโยบาย UBI ก็เช่นกัน นโยบายอาจจะถูกออกแบบมาให้ช่วยลดความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำก็จริง ขึ้นอยู่กับกรณี แต่บ่อยครั้ง UBI ก็สร้างผลกระทบทางบวกที่ผู้วางนโยบายคาดไม่ถึงขึ้นมา เช่น ผลวิจัยพบว่า UBI ทำให้สุขภาพช่องปากและฟันของเด็กดีขึ้น ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น ความรุนแรงในครอบครัวน้อยลง หรือในครอบครัวมีปัญหาความรุนแรง เงินจาก UBI ก็ทำให้เหยื่อความรุนแรงมีอิสระทางการเงินที่จะตัดสินใจแยกตัวออกไปได้

หลายคนคาดหวังว่า UBI จะมีผลเชิงบวกในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านการศึกษา อาชญากรรม งานสร้างสรรค์ และนวัตกรรม แต่ผลในด้านเหล่านี้ก็ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

แล้วมีโจทย์อะไรบ้างที่ UBI ตอบไม่ได้หรือยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนว่าจะตอบได้

โจทย์หนึ่งที่ไม่แน่ว่า UBI จะตอบได้คือเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ คนมักจะเข้าใจว่านโยบาย UBI จะลดความเหลื่อมล้ำเสมอ แต่ที่จริงแล้ว UBI ในตัวมันเองไม่ได้กระจายความมั่งคั่ง จะกระจายความมั่งคั่งหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าแหล่งเงินของนโยบายมาจากไหนด้วย สมมติว่าเราออกแบบนโยบาย UBI ให้เก็บภาษีจากทุกคนเท่ากันคนละ 1,000 บาท แล้วนำมาจ่ายเป็นเงิน UBI ให้ทุกคนคนละ 1,000 บาท นโยบายนี้ย่อมไม่ช่วยกระจายความมั่งคั่งเลย เพราะทุกคนจ่ายเท่าไหร่ก็ได้คืนเท่านั้น ดังนั้นนโยบาย UBI จะตอบโจทย์เรื่องลดความเหลื่อมล้ำได้มากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเงินที่นำมาทำนโยบาย UBI มาจากภาษีแบบไหน อัตราก้าวหน้า (progressive) แค่ไหน ด้วย

ส่วนโจทย์ที่ UBI ตอบได้แน่นอนก็อย่างเช่นการลดความยากจน งานวิจัยจากประเทศยากจนบอกค่อนข้างเป็นเอกฉันท์ว่านโยบาย UBI ทำให้คนจนสุขภาพดีขึ้น ลงทุนได้มากขึ้น และมีรายได้ในอนาคตมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น UBI ก็ไม่ใช่นโยบายเดียวที่ตอบโจทย์เรื่องลดความยากจนได้ และอาจไม่ใช่นโยบายที่ตอบโจทย์นี้ได้ดีที่สุดด้วยซ้ำ (นโยบายสวัสดิการที่เจาะกลุ่มคนจนอาจตอบโจทย์นี้ได้ดีกว่า) แต่จุดเด่นของ UBI ไม่ได้อยู่ที่ความสามารถของมันในการตอบโจทย์ใดโจทย์หนึ่งได้ดีที่สุด แต่อยู่ที่ความสามารถของมันในการตอบหลายๆ โจทย์พร้อมกัน

กล่าวได้ไหมว่าการออกแบบว่านโยบาย UBI จะตอบโจทย์อะไร ก็ขึ้นอยู่กับโจทย์ที่รัฐบาลตั้งด้วย

โจทย์ของนโยบาย UBI มีได้หลายอย่าง การลดความยากจนเป็นหนึ่งในนั้น ในประเทศยากจน นี่คือโจทย์หลัก ส่วนในประเทศร่ำรวยเป้าหมายหลักของนโยบาย UBI ไม่ใช่เพื่อลดความยากจน แต่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำและประกันความเสี่ยง

ในการออกแบบนโยบาย UBI การกำหนดจำนวนเงินที่จะจ่ายและความสม่ำเสมอในการจ่ายขึ้นอยู่กับอะไร

การกำหนดจำนวนเงินที่จะจ่ายเป็นการกำหนดแบบ practical เลย ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะหาจัดงบประมาณได้เท่าไหร่ และเป้าหมายหลักของนโยบายคืออะไรด้วย เช่น ต้องการให้ UBI เป็นรายได้พื้นฐานที่เพียงพอสำหรับการครองชีพแม้ไม่มีรายได้อื่น หรือต้องการให้ UBI เป็นเงินปันผลจากทรัพยากรที่ทุกคนในสังคมลงทุนร่วมกัน (แบบที่อลาสกา ที่สร้างกองทุนบริหารทรัพยากรน้ำมันขึ้นมาแล้วปันผลกำไรให้ทุกคนเท่ากัน)

ถ้าเป้าหมายคือให้ UBI ให้เป็นรายได้พื้นฐาน จำนวนเงินที่จ่ายก็ต้องเพียงพอให้ดำรงชีวิตรอดได้ และอาจจะต้องจ่ายเป็นรายเดือน เพราะคนอาจรอเงินเป็นปีไม่ไหว แต่ถ้าเป้าหมายคือให้ UBI เป็นเงินปันผล ก็อาจจะจ่ายเป็นรายไตรมาส รายหกเดือน หรือรายปีได้ และจำนวนเงินที่จ่ายก็ขึ้นอยู่กับกำไรในแต่ละปี

UBI ถือว่าเป็นนโยบายสวัสดิการที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นมากที่สุดนโยบายหนึ่ง หากมีการใช้นโยบาย UBI แล้ว จำเป็นไหมที่เรายังต้องมีนโยบายสวัสดิการอื่นๆ อีก เช่น ประกันสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายเรียนฟรี เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ฯลฯ

ผมว่านโยบายสวัสดิการบางอย่าง UBI จะทดแทนได้ดี แต่บางนโยบาย UBI อาจจะทดแทนได้ไม่ดีหรือทดแทนไม่ได้เลย

นโยบายสวัสดิการที่ UBI ทดแทนได้คือ หนึ่ง นโยบายที่จ่ายเป็นเงินอยู่แล้ว อย่างเงินอุดหนุนเด็กเล็กหรือเบี้ยยังชีพคนชรา สอง นโยบายที่รัฐใช้อุดหนุนค่าครองชีพ เช่น เงินอุดหนุน (subsidy) ราคาน้ำมันหรือราคาแก๊ซหุงต้ม เพราะในเมื่อรัฐจ่ายเงินให้คนโดยตรงแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำเงินไปอุดหนุนค่าน้ำมันหรือแก๊ซซ้ำสองอีก อย่างที่อิหร่านหลังปฏิรูปนโยบายพลังงาน รัฐก็ลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันแล้วจ่ายเงินให้ประชาชนในรูปของ UBI แทน ซึ่งคนก็ค่อนข้างแฮปปี้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้น้ำมัน คนที่ใช้น้ำมันน้อยก็เอาเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้

ส่วนนโยบายสวัสดิการที่ผมบอกว่า UBI ไม่สามารถทดแทนได้คือ สวัสดิการที่จัดอยู่ในประเภท ‘สินค้าประชาธิปไตย’ (democratic goods) หรือสินค้าที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐมีพันธะจะต้องการันตีให้ประชาชน และต้องจัดหาสินค้าเหล่านี้ให้ในรูปแบบของสินค้าเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายเป็นเงินแทนได้ และต้องไม่อนุญาตให้ประชาชนนำสิ่งเหล่านี้ไปซื้อขายแลกเปลี่ยน

ตัวอย่างของสินค้าประชาธิปไตยที่ชัดที่สุดคือสิทธิในการเลือกตั้ง คือรัฐจะยกเลิกสิทธิเลือกตั้งแล้วให้เป็นเงินหรือสินค้าอื่นให้แทนย่อมไม่ได้ การศึกษาขั้นพื้นฐานและการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานอาจนับเป็นสินค้าประชาธิปไตยในแง่นี้ได้ เพราะภายใต้ระบอบประชาธิปไตย คนควรจะมีสิทธิเลือกสิ่งที่เขาต้องการ แต่การที่จะเลือกได้ต้องอาศัยเงื่อนไขบางอย่าง คือต้องมีสุขภาพแข็งแรงระดับหนึ่งและมีข้อมูลในระดับพื้นฐานในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นนโยบาย UBI อาจทดแทนการศึกษาขั้นพื้นฐานและการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานไม่ได้ (แต่รัฐจะผลิตสินค้าเหล่านี้เองหรือสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้ผลิตนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง)

นโยบายอีกอย่างที่ UBI ทดแทนไม่ได้คือนโยบายที่ออกมาเพื่อชดเชยความเสียเปรียบ อย่างเช่นนโยบายสวัสดิการคนพิการ ความเสียเปรียบจากความพิการนั้นไม่ได้เกิดจากความผิดของตัวผู้พิการ ดังนั้นสังคมที่ยุติธรรมจึงควรชดเชยความเสียเปรียบนี้ให้เขา ตรงส่วนนี้นโยบาย UBI ทดแทนไม่ได้เพราะ UBI จ่ายให้ทุกคนเท่ากัน จึงไม่ได้ ‘ชดเชย’ ให้คนที่เสียเปรียบ นโยบายชดเชยความเสียเปรียบนั้นต้องเป็นนโยบายเจาะจงกลุ่ม (targeted) จะเป็นนโยบายถ้วนหน้าไม่ได้

UBI เป็นนโยบายสวัสดิการที่ใครๆ ก็อยากได้ แต่ในทางปฏิบัติ ทำไมนโยบาย UBI ถึงดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นจริงยาก

ตอบแบบง่ายที่สุดคือเพราะว่ามันแพง (หัวเราะ) พอนโยบายต้องใช้เงินมหาศาล สังคมก็จะกังวลว่านโยบาย UBI ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง รัฐต้องขึ้นภาษีหรือเปล่า รัฐต้องไปตัดงบประมาณส่วนอื่นหรือเปล่า ต้องตัดสวัสดิการที่ประชาชนเคยได้หรือเปล่า นี่คือข้อกังวลอันดับหนึ่ง

สอง ในหลายประเทศยังมีคนจำนวนมากพอสมควรที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแบบ UBI เพราะมองว่าปัจเจกไม่ควรงอมืองอเท้า รอรับเงินจากรัฐ แต่ควรต้องขวนขวายด้วยตัวเอง แล้วมองความยากจนว่าความผิดของปัจเจกเอง ไม่ใช่เป็นผลจากสิ่งแวดล้อมและสังคม

สุดท้ายคือในแง่หนึ่งนโยบาย UBI มีแนวโน้มที่จะลดอำนาจของรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะมีเงินส่วนเหลือในการทำโครงการอื่นๆ น้อยลง ทำให้การออกนโยบายเพื่อหาเสียงหรือรักษาความนิยมได้น้อยลง 

UBI เป็นนโยบายที่ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเห็นตรงกันว่าควรผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น แล้วสายตาที่ทั้งสองฝ่ายมองนโยบาย UBI ต่างกันหรือไม่ อย่างไร

ดูเผินๆ ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเหมือนจะมีฉันทมติในนโยบาย UBI แต่ถ้ามองลงไปในรายละเอียด ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันบางอย่าง และไม่ตรงกันบางอย่าง 

สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันคือ รัฐไม่ควรทำตัวเป็นคุณแม่รู้ดีว่าประชาชนต้องการอะไร เลยมองว่ารัฐควรให้สวัสดิการเป็นเงิน ให้ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะใช้ไปกับอะไร

ส่วนประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมองนโยบายไม่เหมือนกันก็มี เช่น ฝ่ายซ้ายเชื่อในการใช้นโยบาย UBI ลดความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก รวมถึงลดการตีตราคนจนหรือคนที่ต้องอาศัยสวัสดิการจากรัฐ ส่วนฝ่ายขวามองนโยบาย UBI ในแง่การลดการแทรกแซงตลาดของรัฐ เพราะการที่รัฐต้องจัดหาสวัสดิการเป็นสินค้าหมายความว่ารัฐต้องเข้าไปแทรกแซงตลาดสินค้า ไม่ว่าจะด้วยการผลิตเองหรือการไปซื้อสินค้าจากเอกชน ฉะนั้นจึงอยากให้รัฐจ่ายสวัสดิการเป็นเงินมากกว่าเป็นสินค้า นอกจากนี้ฝ่ายขวายังให้ UBI มาช่วยลดขนาดของระบบราชการ

พอแต่ละฝ่ายมองนโยบายบนฐานความเชื่อที่ต่างกัน ก็ทำให้ออกแบบนโยบายต่างกันในรายละเอียด เช่น พอฝ่ายซ้ายให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ ก็จะต้องการให้แหล่งเงินของ UBI มาจากภาษีอัตราก้าวหน้า ในขณะที่ฝ่ายขวาจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเก็บภาษีคนรวยมากนัก แต่พอฝ่ายขวาให้ความสำคัญกับการไม่แทรกแซงตลาดและการลดขนาดระบบราชการ ก็จะต้องการให้ UBI มาทดแทนสวัสดิการเดิมที่แจกจ่ายเป็นสินค้า เช่นการศึกษา การรักษาพยาบาล ไปเลย ในขณะที่ฝ่ายซ้ายจะต้องการให้ UBI มาเสริมสวัสดิการเดิม มากกว่าจะมาแทนที่

ในบรรดานโยบายสวัสดิการเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำทั้งหมด UBI นับว่าก้าวหน้าที่สุดเท่าที่มีแล้วหรือไม่ มีนโยบายสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอื่นๆ อีกไหมที่น่าสนใจ

จริงๆ คือมีที่ก้าวหน้ากว่านโยบาย UBI แต่ยังเป็นข้อเสนอทางวิชาการอยู่ ไม่รู้ว่าจะมีใครกล้าเอาไปทำเป็นนโยบายไหม ในโลกวิชาการมันมีอะไรแฟนซีเสมอ (หัวเราะ)

มีข้อเสนอเรื่อง basic capital ถ้ามองเทียบกับ UBI คือรายได้พื้นฐานที่จ่ายให้ประชาชนอย่างสม่ำเสมอเป็นช่วงๆ ใช่ไหม แต่ basic capital คือจ่ายเงินให้ครั้งเดียวจบตอนที่บรรลุนิติภาวะ ถือว่าปัจเจกมีความสามารถที่ในการดูแลบริหารการใช้จ่ายของตัวเองได้แล้ว เป็นเงินที่รัฐให้ในการเริ่มต้นชีวิตผู้ใหญ่

จำนวนเงินก้อนจาก basic capital ที่รัฐจะให้มีจำนวนน้อยกว่าเงินที่ประชาชนคนหนึ่งจะได้จาก UBI ทั้งชีวิตรวมกัน เพราะแต่ละคนสามารถนำเงินจาก basic capital ไปฝากเอาดอกเบี้ยได้ แต่โดยรวมแล้ว basic capital ก็ควรจะเป็นจำนวนที่มากพอๆ กับที่จะได้จาก UBI เมื่อหักดอกเบี้ยหรืออัตราส่วนลดของอนาคตไปแล้ว ตามที่มีคนเสนอตอนนี้คือให้เงิน 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ครั้งเดียวจบ

ข้อดีของ basic capital คือเปิดโอกาสให้คนนำเงินไปใช้หรือลงทุนได้ตั้งแต่ในช่วงต้นๆ ของชีวิต ในขณะที่ UBI เอื้อให้กับคนที่ตั้งเป้าหมายไว้ไกล สมมติว่านาย ก. ตั้งใจอยากมีบ้านริมทะเลสาบก่อนเกษียณ ส่วนนาย ข. อยากเป็นนักกีฬาโอลิมปิกก่อนอายุ 30 สมมติว่าทั้งเป้าหมายของ นาย ก. และ นาย ข. เบ็ดเสร็จแล้วใช้เงินเท่ากัน ถ้ารัฐมีนโยบาย UBI นาย ก. ก็ค่อยๆ เก็บออมทุกเดือนจนอายุ 60 ก็จะซื้อบ้านริมทะเลสาบได้ แต่นาย ข. จะไม่สามารถเป็นนักกีฬาโอลิมปิกได้ เพราะเงิน UBI ช่วงต้นนั้นไม่พอให้เขาใช้พัฒนาร่างกายให้ถึงระดับนักกีฬาโอลิมปิก กรณีแบบนี้แสดงให้เห็นว่า UBI ตอบโจทย์คนที่มีเป้าหมายชีวิตบางแบบเท่านั้น คือคนที่หวังบรรลุเป้าหมายในช่วงปลายชีวิตแบบนาย ก. แต่ไม่ตอบโจทย์คนที่มีเป้าหมายช่วงต้นชีวิตแบบนาย ข. แต่ถ้ารัฐใช้นโยบาย basic capital ก็จะตอบโจทย์ชีวิตทั้งของนาย ก. และนาย ข. ได้ทั้งคู่

ข้อเสียของ basic capital คือมันไม่สามารถประกันความมั่นคงทางการเงินได้ เพราะจ่ายให้ครั้งเดียวจบ ถ้าปัจเจกตัดสินใจพลาดแล้วเงินหมด ก็หมดแล้วหมดเลย ในขณะที่ UBI ที่จ่ายให้สม่ำเสมอ ก็จะประกันความเสี่ยงจากการตัดสินใจพลาดได้

พอมีความเป็นไปได้ไหมที่นโยบาย UBI จะเกิดขึ้นในไทย

ผมเดาว่าเป็นไปได้ถ้าระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยและพรรคการเมืองผลักดันกันอย่างจริงจัง คนส่วนใหญ่ไม่น่าจะต่อต้านมาก อุปสรรคหลักน่าจะมาจากชนชั้นนำในภาคธุรกิจและราชการ เพราะการจัดหางบประมาณที่อาจนำไปสู่การเพิ่มภาษี ซึ่งก็จะกระทบคนรวย หรืออาจต้องตัดงบประมาณส่วนอื่นๆ ซึ่งก็จะกระทบราชการ

สังคมไทยมักคิดว่านโยบายสวัสดิการต่างๆ คือการสงเคราะห์ ไม่ใช่สิทธิ เป็นอุปสรรคไหมในการทำนโยบายสวัสดิการ แล้วเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดเช่นนี้อย่างไร

การมองนโยบายสวัสดิการว่าเป็นการสงเคราะห์อาจทำให้โครงการไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อคนมองนโยบายเป็นการกุศล คนก็จะคิดว่านโยบายยกเลิกได้ ผู้รับสวัสดิการไม่มีสิทธิคาดหวังว่าจะต้องได้สวัสดิการเสมอไป

การจะทำให้นโยบาย UBI ไม่ติดภาพสงเคราะห์อาจต้องเริ่มตั้งแต่การเฟรมนโยบายในตอนเริ่ม ให้คนมองว่าเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับพลเมืองทุกคน ต้องพยายามไม่ตั้งเงื่อนไขในการรับสวัสดิการ ส่วนใหญ่นักนโยบายมักจะคิดว่าในเมื่อรัฐต้องจ่ายเงินเป็นสวัสดิการแล้ว ก็น่าจะตั้งเงื่อนไขในการรับสวัสดิการเพิ่มเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างอื่นได้ด้วย เช่น ตั้งเงื่อนไขว่าต้องส่งลูกเข้าเรียนตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนด หรือต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนถึงจะได้เงินหรือสวัสดิการ เป็นต้น แต่การตั้งเงื่อนไขแบบนี้จะทำให้นโยบายเสียภาพความเป็นสิทธิ เพราะถ้าอะไรเป็นสิทธิ คนย่อมต้องได้เท่าเทียมกันโดยไม่มีเงื่อนไข

สุดท้าย ในการเริ่มปูพรมนโยบาย ต้องระวังอย่าปูพรมโดยเริ่มที่กลุ่มคนจนหรือคนอนาถา เพราะอาจทำให้นโยบายติดภาพความเป็นนโยบายสงเคราะห์ การเริ่มปูพรมแบบถ้วนหน้าทีละกลุ่มอายุ ตามข้อเสนอของอาจารย์เดชรัต (สุขกำเนิด) ดูจะเป็นคำตอบที่ดี

ในประเทศไทย ตอนนี้ภาคประชาสังคมกำลังเคลื่อนไหวผลักดันให้เปลี่ยนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กที่ครอบครัวยากจน (600 บาทเฉพาะสำหรับครอบครัวที่รายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท) ไปเป็นสวัสดิการเด็กเล็กที่อุดหนุนแบบถ้วนหน้า หากมองเทียบในภาพใหญ่ของนโยบายสวัสดิการ นโยบายเงินอุดหนุนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าอยู่ตรงไหนในความเป็นนโยบายสวัสดิการ

ถ้าเปลี่ยนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กที่ให้แค่เฉพาะครอบครัวยากจน ไปเป็นเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ก็จะเข้าใกล้ความเป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้ามากขึ้นในแง่ของความถ้วนหน้า

ข้อดีของการเปลี่ยนไปจ่ายเด็กเล็กทุกคนแบบถ้วนหน้าคือ นโยบายจะไม่ติดภาพความเป็นสังคมสงเคราะห์อีกต่อไป ในขณะเดียวกัน อย่างที่อาจารย์เดชรัตเคยอธิบายไว้ นโยบายก็ยังช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจนได้มากเป็นพิเศษอยู่ดี เพราะในประเทศไทยครัวเรือนที่ยากจนมีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนที่ไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง เช่น เด็กและคนชรา สูงกว่าครอบครัวที่ไม่ยากจน

การเริ่มต้นผลักดันนโยบายสวัสดิการที่ให้เป็นเงินแบบถ้วนหน้าแต่จำกัดช่วงอายุอย่างนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้ามีศักยภาพจะเป็น ‘บันไดขั้นแรก’ ที่เหนี่ยวนำไปสู่การออกนโยบายสวัสดิการที่ถ้วนหน้าและครอบคลุมอย่าง UBI ในอนาคตบ้างไหม 

น่าจะช่วยให้ไปถึง UBI ในแง่ที่ว่า พอรัฐเริ่มใช้นโยบายสวัสดิการบางอย่างแล้วประชาชนรู้สึกว่าเป็นสิทธิพื้นฐาน นโยบายจะยกเลิกได้ยาก อย่างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต่อให้รัฐบาลอยากยกเลิกก็ยกเลิกไม่ได้เพราะคนมองว่าเป็นสิทธิไปแล้ว นโยบาย universal cash transfer ที่ให้ตามช่วงอายุ แล้วค่อยๆ ขยายช่วงอายุไปทีละขั้น จะทำให้คนจำนวนมากขึ้นๆ มองเงินสวัสดิการนั้นว่าเป็นสิทธิ ซึ่งก็น่าจะให้เราเข้าใกล้ UBI ขึ้นไปทีละขั้น

อย่างไรก็ตามประเด็นหนึ่งที่ต้องตระหนักคือ นโยบายที่ให้เป็นเงินมีความเสี่ยงที่รัฐจะยกเลิกได้ง่ายกว่านโยบายที่จัดสวัสดิการเป็นสิ่งของหรือบริการ เพราะนโยบายสวัสดิการที่ให้เป็นสินค้าต้องลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐาน สร้างอาคาร หรือลงทุนจ้างงาน หากยกเลิกรัฐบาลเจอแรงต้านมหาศาลแน่นอน ในขณะที่นโยบายสวัสดิการที่ให้เป็นเงินนั้นรัฐสามารถยกเลิกได้ทันที

หนึ่งในเหตุผลสำคัญของการให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าคือความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะผลตอบแทนที่ได้จากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะทวีคูณ แล้วอะไรคือเหตุผลที่ต้องมีนโยบายสวัสดิการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า? เหตุผลคือความคุ้มค่าที่รัฐจะยอมลงทุนด้วยหรือไม่?

ถ้าถามว่าผลตอบแทนจากการใช้นโยบาย UBI คุ้มค่ากับที่รัฐลงทุนไปหรือเปล่า ก็ต้องถามว่าอะไรบ้างที่นับว่าเป็น ‘ผลตอบแทน’ นับแค่รายได้ในอนาคตอย่างเดียวหรือเปล่า หรือนับเรื่องสุขภาพ ความสุข ความสามารถในบรรลุในเป้าหมายชีวิตที่ไม่ใช่เงินด้วยหรือไม่ นอกจากนี้เรามองผลตอบแทนที่เกิดกับตัวผู้รับสวัสดิการอย่างเดียวหรือเรามองผลตอบแทนที่เกิดกับคนอื่น (externalities) ด้วย เรานับความเหลื่อมล้ำที่ลดลงว่าเป็นผลตอบแทนอย่างหนึ่งหรือเปล่า

นโยบาย UBI มีเป้าหมายที่หลากหลาย มันต้องการเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจ ลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงผลลัพธ์อื่นๆ ที่วัดผลลัพธ์เป็นตัวเลขได้ยากด้วย เช่น ผลทางบวกต่อสุขภาพ การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ งานสร้างสรรค์อย่างผลงานศิลปะ ดนตรี หรือความเป็นอิสระของคนหนุ่มสาวที่สามารถออกไปมีชีวิตเป็นของตัวเองได้มากขึ้น

ฉะนั้นถามว่าเวลาประเมินนโยบาย UBI ต้องดูที่ความคุ้มค่าต่อเงินลงทุนของรัฐใช่หรือไม่ คำตอบคือใช่ แต่เราต้องมอง ‘ผลตอบแทน’ ให้กว้างกว่าแค่รายได้ในอนาคต


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save