fbpx
101 One-On-One Ep.180 "อ่านพลังคนรุ่นใหม่ ก้าวต่อไปการเมืองไทย" กับ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

“อ่านพลังคนรุ่นใหม่ ก้าวต่อไปการเมืองไทย” กับ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

กองบรรณาธิการ เรื่อง

 

19 กันยายน 2563 มีความหมายทางการเมืองมากกว่าที่เคยเป็น เมื่อ ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ ประกาศชุมนุมใหญ่ในวันดังกล่าว

ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือไม่ นี่คือการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดย ‘คนรุ่นใหม่’ ที่แหลมคมที่สุดครั้งหนึ่ง และจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจและรับฟังอย่างตั้งใจ

คุยกับ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในห้วงเวลาที่ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่นำโดยนิสิต นักศึกษา และนักเรียนออกมาเคลื่อนไหวอย่างทรงพลัง

 

 

:: ม็อบที่เข้าใจความคิดของรัฐ ::

 

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

 

ม็อบวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาสะท้อนว่าเขาเข้าใจว่ารัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงหรือรัฐบาลมองพวกเขาอย่างไร มีความคาดหวังอย่างไร ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของเขาว่าเป็นอย่างไร

แพตเทิร์นของการเคลื่อนไหวตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่พฤษภาทมิฬ มาจนถึงเสื้อเหลืองเสื้อแดง คนรุ่นก่อนหน้านี้อยู่ในแพตเทิร์นของม็อบที่ระดมมวลชนให้ได้มากที่สุด เมื่อมวลชนสูงในระดับหนึ่งจะกดดันรัฐบาลด้วยการเผชิญหน้า ถ้าอ่านเรื่อง Weapons of the Weak จะพบว่าการทำตัวเราให้กลายเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ เป็นกลไกที่จะลดทอนความชอบธรรมของรัฐ และขบวนการก็จะรู้สึกเป็นผู้ชนะในแง่ของความชอบธรรม ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เราจะเห็นแพตเทิร์นแบบนี้เสมอ

ช่วงหลายวันก่อนเกิดม็อบ หลายฝ่ายค่อนข้างเกร็งมาก เพราะถ้าม็อบวันที่ 19 คนเยอะ แล้วขบวนการประกาศว่าจะไปทำเนียบรัฐบาลหรือกระทั่งยึดสนามหลวงตามที่บอกมาตั้งแต่ต้น ม็อบแบบนี้ผู้ใหญ่ฟังแล้วก็คิดว่าจะมาแพตเทิร์นเดิม ต้องการเผชิญหน้า ผลักให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งดิฉันคิดว่าเจ้าหน้าที่ระวังเรื่องนี้มาก รัฐผ่านประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวมาเยอะ ถ้ามีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น ฝ่ายรัฐเองจะสูญเสียความชอบธรรม ท่าทีของฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลช่วงก่อนการเคลื่อนไหวจึงค่อนข้างพยายามประนีประนอมเพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายต่างคิดว่าต้องนำไปสู่การเผชิญหน้าแน่นอน คิดว่านิสิตนักศึกษาต้องเพลี่ยงพล้ำ และสุดท้าย การสูญเสียชีวิตอาจไม่ได้นำมาซึ่งชัยชนะ

แกนนำนักศึกษาเข้าใจว่าทุกฝ่ายมองเกมแบบนี้ เข้าใจว่ากลไกรัฐทำงานแบบไหน การเคลื่อนไหวที่เราเห็นตลอดทั้งคืนถึงเช้าวันที่ 20 ซึ่งมีการต่อสู้เชิงวัฒนธรรม ตลอดจนการเคลื่อนขบวน จึงไม่มีใครรู้ว่าเขาจะออกไปไหน กลไกรัฐไม่รู้เลยว่าเด็กจะทำอะไร

การเตรียมมวลชนของเขาเองก็น่าสนใจมาก เขาพยายามบอกให้มวลชนไม่เข้าพื้นที่ที่ห้ามเข้า เตรียมหน่วยแกนนำที่เป็นแถวหน้า ใส่หน้ากากกันแก๊สน้ำตา กันให้มวลชนห่างจากแถวหน้าร้อยเมตร เขาป้องกันมวลชน และค่อนข้างมีความตระหนักเรื่องการต่อสู้แบบสันติวิธีจริงๆ ไม่ได้พาคนไปเผชิญหน้า

กระบวนการยื่นจดหมายก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย เคารพผู้ที่มาเข้าร่วม มีการให้ทุกคนนั่งลง แม้แต่สื่อมวลชนก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิของคนที่มาเข้าร่วม ในแง่นี้ ดิฉันว่าเขาเข้าใจว่ารัฐทำงานอย่างไร เข้าใจอดีตของการเคลื่อนไหวว่าอะไรคือความพ่ายแพ้ อะไรคือความไม่สำเร็จ หลายคนอาจจะบอกว่าม็อบกำลังเล่นเกมสับขาหลอก แต่นั่นแปลว่าเขารู้ว่ารัฐคิดอย่างไร สื่อคิดอย่างไร ขบวนการในอดีตมีบทเรียนอย่างไร

 

:: ไร้อุดมการณ์? ::

 

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

 

จุดเริ่มต้นของคนรุ่นนี้มาจากความไม่พอใจ ไม่พอใจต่อสิ่งที่เขามองเห็นว่าเป็นปัญหา สำหรับแกนนำ แน่นอนว่าหลายคนเริ่มต้นขบวนการจากความไม่พอใจต่อสิ่งที่เป็น ทั้งเรื่องตัวเองและไม่ใช่เรื่องตัวเอง หลังจากนั้นก็ไปสู่การหาทางออกว่าอะไรคือการแก้ไขปัญหา

ดิฉันมองว่าแกนนำมีฐานคิดที่แตกต่างหลากหลายมาก มีการพูดถึงประเด็นข้อเรียกร้องที่หลากหลาย เราจะเห็นพัฒนาการมาตั้งแต่ Free Youth ที่พูดถึงเรื่องเยาวชน เครื่องแต่งกาย การเกณฑ์ทหาร มาถึงม็อบมุ้งมิ้งที่เป็นม็อบ LGBT เห็นกลุ่มที่สนับสนุนการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย เด็กมหาวิทยาลัยที่อึดอัดคับข้องใจในระบบการศึกษา อำนาจนิยมในมหาวิทยาลัยหรือในโรงเรียน

แกนนำเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากความไม่พอใจ และทางออกของพวกเขาก็เป็นทางออกที่ practical ไม่ใช่อุดมการณ์ ไม่เหมือนสังคมนิยมที่ต้องจัดการไม่ให้มีชนชั้น หรือโซเชียลลิสต์ ที่ทำให้สังคมเป็นธรรมขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือเสรีนิยมประชาธิปไตยที่เชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นทางออก เด็กพวกนี้ไม่ได้ยึดติดกับอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่ง

ถ้าเป็นคนรุ่นเราอาจจะมองว่านี่เป็นจุดอ่อน นี่คือความอ่อนแอของประชาสังคมไทย แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้มองว่าเป็นจุดอ่อน การยึดถืออุดมการณ์ของพวกเขาเป็นสิ่งที่ very adaptive มาก และข้อเสนอการปฏิรูปของพวกเขามาจากฐานคิดของการมองปัญหาปัจจุบันในสังคมไทย ไม่ได้อิงจากอุดมการณ์.

 

:: ต่างความคิดบนเส้นทางเดียวกัน ::

 

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

 

ถ้าเราผลักให้เขาเป็นพวกล้มสถาบันอย่างเดียว เราจะไม่เห็นว่าพวกเขามีความหลากหลายขนาดไหน

พวกเขาโคตรแตกต่างกันเลย เถียงกันเอาเป็นเอาตาย ตบโต๊ะ แต่ในสายตาคนนอก เราไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาแตกต่างกัน ไม่ได้เห็นภาพความขัดแย้งอย่างรุนแรงถ้าไม่รู้จักจริงๆ

ความน่าสนใจของคนรุ่นนี้คือ เขาแตกต่าง เขาทะเลาะกัน แต่เขาไม่เคยลุกขึ้นมาทำให้เพื่อนของเขาแปลกแยก ถ้านึกถึงก่อนหน้านี้ที่มีการเมืองเหลืองแดง หรือนึกถึงฝ่ายอนาคตใหม่กับเพื่อไทย เป็นปีกประชาธิปไตยเหมือนกันแต่ทะเลาะกัน เอาเรื่องส่วนตัวมาพูด สาดสีใส่กัน เราจะไม่เห็นในเด็กรุ่นนี้เลย มันไม่ได้แปลว่าเขาไม่ทะเลาะกัน หรือเขาคิดเหมือนกัน ความจริงคือเขาทะเลาะกันแทบตายในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ความคิด ขบวนการ แต่เขายอมรับว่า ถ้าคิดต่างก็ต่างคนต่างทำไป จะไม่มีการโจมตีกันในที่สาธารณะ

ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เท่าที่ดิฉันสัมผัสแกนนำแบบห่างๆ เรื่องเล่าที่บอกว่าทะเลาะกันไม่เห็นมีใครรู้ คนรู้น้อยมาก ทั้งที่เขาทะเลาะและมีจุดยืนแตกต่างกัน ยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวแตกต่างกัน นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เอาเข้าจริง เทียบกันแล้วอาจมีวุฒิภาวะกว่าคนรุ่นเราอีก (หัวเราะ)

 

:: ยุทธศาสตร์และชัยชนะของม็อบรุ่นใหม่ ::

 

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

 

แกนนำจำนวนมากไม่ได้เพิ่งมานำม็อบ ไม่ได้เพิ่งมาเป็นนักกิจกรรมในช่วงสองเดือนนี้ พวกเขาเป็นนักกิจกรรมที่เติบโตมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารด้วยซ้ำ การเติบโตขึ้นของกลุ่ม เช่น กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ที่มีทั้งเนติวิทย์ เพนกวิน และเด็กมัธยมจำนวนมากผลักดันเรื่องทรงผม ชุดนักเรียน การเกณฑ์ทหารมาหลายปี พวกเขาทำงานต่อเนื่องมาก ผ่านการเรียกร้องมาหลายระลอก และสังเกตการณ์การต่อสู้ของการเมืองเหลืองแดง เด็กหลายกลุ่ม เช่น กลุ่ม LLTD กลุ่ม DRG ก็เคลื่อนไหวมานานและสร้างเครือข่ายทั่วประเทศ แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จ

เด็กเหล่านี้เคลื่อนไหวต่อเนื่อง พอจบชั้นมัธยมก็กระจายตัวอยู่ทั่วมหาวิทยาลัย และเข้าไปทำงานในเชิงประเด็นกับสภานักศึกษา ชมรมนักศึกษา พวกนี้ผ่านการต่อสู้ที่ทั้งผิดหวังและประสบความสำเร็จมานาน

สิ่งที่ดิฉันคิดว่าพวกเขาตกผลึกมาก คือ การต่อสู้ไม่มีม้วนเดียวจบแน่นอน การเคลื่อนไหวของพวกเขาเป็นการทำแฟลชม็อบ ผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมขบวนการก่อนหน้านี้อาจรู้สึกว่าจะทำแฟลชม็อบไปได้อีกนานแค่ไหน ทำแล้วได้อะไร แต่ช่วงสองเดือนมานี้น่าสนใจว่า เพียงแค่สองเดือน แฟลชม็อบนำมาซึ่งการเรียนรู้ของคนจำนวนมากมาย ประเด็นกว้างขวางขึ้น มันไม่เร็ว ไม่ทันใจ แต่ชัยชนะที่ดิฉันคิดเอาเองคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

ถึงแม้สโลแกนของเขาคือให้มันจบที่รุ่นเรา ซึ่งหลายคนกังวลว่ามันไม่จบในรุ่นพวกเธอหรอก ปัญหาในสังคมมันสะสมมาหลายสิบปี คงแก้วันเดียวไม่ได้ แต่การเคลื่อนไหวของพวกเขาไม่เหมือนการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ที่มองว่าชัยชนะคือล้มรัฐบาลแล้วทุกอย่างจบ เราจะ happily ever after เหมือนในเทพนิยาย มันไม่มีสำหรับพวกเขา

 

:: มุมมองคนรุ่นใหม่ต่อม็อบเหลืองแดงในอดีต ::

 

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

 

เด็กรุ่นนี้เติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง เด็กหลายคนเคยไปทั้งม็อบเสื้อเหลืองเสื้อแดงเพราะพ่อแม่พาไป ในโรงเรียนเองก็มีครูไปม็อบ มีการเรี่ยไรเงินในโรงเรียน เท่าที่สัมภาษณ์มาเยาวชนมอง พันธมิตร-กปปส. ในเชิงลบ และมองภาพของเสื้อแดงเป็นผู้ถูกทำร้าย ซึ่งดิฉันค่อนข้างแปลกใจและพยายามถามต่อว่าทำไม

ภาพความจำของเด็กจำนวนมากที่ทำให้เขาตื่น คือ ภาพการสลายการชุมนุมปี 2553 ภาพคนตายบนท้องถนน ในขณะที่คนที่บ้านหัวเราะ สะใจต่อการตาย บอกว่าพวกนี้เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง เด็กหลายคนรู้สึกว่า การตายเป็นเรื่องที่เขารับไม่ได้ ไม่ว่าคิดต่างอย่างไรก็ตาม ไม่สมควรมีการตายเกิดขึ้น

เด็กที่เราพูดคุยด้วยมอง กปปส. อย่างตั้งคำถามเยอะมาก จนนำมาสู่คำถามว่าคิดอย่างไรกับคุณทักษิณ

ดิฉันถามเด็กว่า มีผู้ใหญ่บอกว่าคุณไม่รู้จักคุณทักษิณล่ะสิ ไม่รู้ล่ะสิว่าคุณทักษิณทำอะไรมา คุณถึงไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านคุณทักษิณ แต่มาต่อต้านคุณประยุทธ์ ซึ่งเด็กจะแบ่งการตอบออกเป็นสองแบบ

แบบแรกคือเขาไม่รู้จักและไม่แคร์ด้วย เขาคิดว่าสิ่งที่เขาเจอจากคุณประยุทธ์ไม่น่าต่างจากคุณทักษิณเท่าไร แบบที่สองคือเด็กบางกลุ่มรู้จักคุณทักษิณในแง่ว่าทำให้เศรษฐกิจดี ก่อนเลือกตั้ง ดิฉันเคยถามนักศึกษาว่าจะเลือกพรรคอะไร 95 เปอร์เซ็นต์ตอบพรรคอนาคตใหม่ อีก 5 เปอร์เซ็นต์ตอบเพื่อไทย เด็กให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจช่วงคุณทักษิณดีกว่านี้ และนโยบายเพื่อไทย โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจดีกว่าพรรคอนาคตใหม่

สิ่งที่น่าสนใจคือ เขาไม่ได้สนใจความขัดแย้งของเสื้อเหลืองเสื้อแดง เขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ จากสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าคุณจะเชียร์กปปส. นปช, หรือพันธมิตร ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย

 

:: การเมืองและความสัมพันธ์ในครอบครัว ::

 

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

 

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจการเมืองมากกว่าลูก โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ผู้ใหญ่จะมองว่าการที่เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองแบบนี้เป็นเรื่องอันตรายมาก เขาค่อนข้างกังวลมากว่าลูกกำลังลุกไปทำอะไรที่มันอันตราย โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ไม่มีประสบการณ์ในการเข้าร่วมม็อบหรือมีส่วนร่วมทางการเมือง มันดูน่ากลัวมาก

ดิฉันได้เจอพ่อแม่กลุ่มหนึ่งที่มีลูกชูสามนิ้วในโรงเรียน เขาก็ยอมรับว่าเขาสร้างลูกให้เป็นแบบนี้ ความฝันของเขาคือไม่อยากเลี้ยงลูกในแบบที่พ่อแม่ของเขาเลี้ยงเขามา แบบที่ทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบ ไม่เคยเห็นลูกเป็นผู้ใหญ่ เขาอยากเป็นเพื่อนกับลูก จึงเลี้ยงลูกให้เป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่วันแรก เพราะฉะนั้น เขาจึงเข้าใจได้ว่าทำไมลูกคนเจเนอเรชันนี้เป็นแบบนี้ การที่ลูกชูสามนิ้ว สำหรับเขาอาจจะไม่เห็นด้วยและรู้สึกว่าการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันอนุรักษนิยมเป็นเรื่องที่อันตราย แต่เขาอยากให้ลูกเป็นเด็กที่คิดวิเคราะห์ คิดนอกกรอบ จึงไม่เคยห้ามลูก

ถ้าถามว่าควรทำอย่างไรกับเยาวชน ดิฉันคิดว่าการลองผิดลองถูกเป็นเรื่องที่อย่างไรก็ต้องปล่อยให้เขาประสบด้วยตัวเอง กรอบที่เราดูแลเขาคือป้องกันอันตรายที่มาจากการไปเข้าร่วมชุมนุม เราอาจจะไปกับเขา จะได้รับรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ถ้าเราคุยกับลูกมาตั้งแต่เด็ก อยากให้การเรียนรู้นี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกที่เราฝัน เราก็ต้องไปกับเขา ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม และต้องบอกว่าคนรุ่นนี้ถึงอย่างไรก็ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง เราเองต่างหากที่คุยกันแล้วยอมไม่ได้

เราต้องไม่โน้มน้าวฝ่ายที่คิดไม่เหมือนกันให้เชื่อเหมือนเราทั้งหมดในเวลาอันรวดเร็ว ตอนนี้มันไม่ใช่การเมืองเหลืองแดงแล้ว ตอนนี้เรากำลังทะเลาะกับเงาตัวเราเอง พวกเขาคือเงาของเรา เราไล่เขาไปไม่ได้ คำถามคือเราจะอยู่อย่างไรกับเงาของเราที่ตอนนี้ไม่ได้ยอมตามเราแล้ว เราจะเป็นพ่อแม่แบบไหน เมื่อเราทำผิดไปแล้ว เราจะอนุญาตให้เขาทำผิดแบบเราไหม

 

:: สร้างการศึกษาและสาธารณูปโภคที่ดีกว่าเดิม ::

 

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

 

ทางออกที่ดิฉันเห็น คือไม่มีทางอื่น นอกจากการปฏิรูป เราไม่ได้พูดถึงการปฏิรูปสถาบันอนุรักษนิยม แต่พูดถึงการปฏิรูประบบการศึกษา ปฏิรูประบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เยาวชนเผชิญทุกวันนี้

เราไม่ต้องไปพูดถึงอะไรที่ไกล ถ้าอยากให้สิ่งที่เราจะเห็นในช่วงอีกหลายเดือนไม่นำไปสู่ทฤษฎีที่เด็กหลายคนพูด คือ 3 เปอร์เซ็นต์ของประชากร หรือเทียบแล้วประมาณสองล้านคนอยู่บนท้องถนนเพื่อเปลี่ยนประเทศ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องให้การต่อสู้ไปถึงขั้นนั้น เราแค่ปฏิรูปเรื่องนี้ ง่ายกว่าการปฏิรูปเรื่องสถาบันอนุรักษนิยมหรือกองทัพอีก

ถ้าไม่มีการปฏิรูปเลย ดิฉันคิดว่าความโกรธของคนรุ่นนี้ก็ยังคงอยู่ นี่เป็นทางออกเดียว เพราะตอนนี้มันไปไกลกว่าการเปิดโต๊ะเจรจา ชวนตัวแทนเข้าไปพูดคุย เพราะเขาต่อสู้ในโลกแบบที่ไม่มีแกนนำ ดังนั้น ไม่มีแกนนำคนไหนของเยาวชนที่มีความชอบธรรมพอที่จะไปคุยกับผู้มีอำนาจ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save