fbpx

จนข้ามชนชั้น ข่าวร้ายข้ามปี!

ความตั้งใจแต่แรกของผมคือจะเขียนงานแยกเป็นประเด็น หากประเด็นนั้นมีเนื้อหาสาระมากก็จะเขียนติดต่อกันยาวหลายตอน เช่น เรื่องอาหารที่ได้เขียนไปแล้ว ซึ่งอันที่จริงยังมีเรื่องราวและรายละเอียดต่างๆ อีกมาก ทั้งนี้เพราะอาหารเป็นเรื่องที่มีพัฒนาการอยู่เสมอ มีพลวัตที่ซับซ้อนและไม่เคยหยุดนิ่ง แตกต่างกันไปตามแต่ละสังคม

แต่ครั้งนี้ผมขอต้องเปลี่ยนประเด็นไปเขียนเรื่องความยากจนและคนจน เนื่องจากมีโอกาสได้อ่านและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ทำการศึกษาเรื่อง “ความจน: ความหมายและปฏิบัติการ”[1] ที่กระตุ้นให้ผมต้องกลับไปคิดทบทวนและค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง

ความยากจน…ไม่เคยมีข่าวดี!

ความน่าประหลาดใจเกี่ยวกับ ‘ความยากจน’ คือเป็นปัญหาที่ดูจะแก้ไม่ได้ – จนทำให้ความยากจนดูเป็นเรื่องปรกติของชีวิต (เช่นเดียวกับปัญหารถติดในเมืองหลวง ที่นับวันก็ยิ่งหนักหนาสาหัสจนไม่มีใครพูดถึงเรื่องการแก้ปัญหา กลายเป็นความเป็นจริงประจำวันที่ต้องอดทนกันเอาเอง) – แม้ว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศด้วยนานาวิธี แต่ความพยายามดังกล่าวดูเหมือนเป็น ‘การแสดง’ มากกว่า เพราะในความเป็นจริง อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมา – รวมทั้งชุดปัจจุบันนี้ด้วย – ล้มเหลวโดยเกือบสิ้นเชิงในการแก้ปัญหานี้ ความยากจนของประชากรจำนวนมากดูเลวร้ายลง ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกลับมีมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนขยายห่างยิ่งขึ้น ประชากรทั้งในเมืองและชนบทที่มีหนี้สินมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ดังจะเห็นได้จากความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งที่กล่าวว่า

ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด หนี้สินกลายเป็นนิวนอร์มอลของผู้คนจำนวนมาก เพราะผู้ที่ไม่เคยเป็นหนี้ก็มาเป็นหนี้ครั้งแรก ผู้ที่มีหนี้อยู่แล้วก็ต้องกู้จนไม่มีใครให้กู้ แม้แต่รัฐเองก็ต้องขยายเพดานเงินกู้

ซึ่งระบุรายงานของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ที่พบว่า “หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยสูงเป็นลำดับที่ 2 ของเอเซียตะวันออก คือสูงถึงร้อยละ 78.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ในปี 2561 ส่วนหนี้ภาคเอกชนค่อนข้างคงที่ประมาณร้อยละ 70.5 ของ GDP ในปี 2560 เมื่อสิ้นปี 2563 หนี้สินของครัวเรือนไทยเมื่อเทียบกับ GDP อยู่ที่ร้อยละ 89.3” นอกจากนี้ “อัตราการเป็นหนี้ของครัวเรือนไทยสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน อัตราการเป็นหนี้นี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 40.6 ในปี 2547 และร้อยละ 66.2”

ส่วนหนี้สินในภาคเกษตรก็ดูย่ำแย่หนัก และมีแนวโน้ม “เป็นหนี้ประเภทดินพอกหางหมู ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2562 แสดงว่าหนี้สินสะสมรายปีของเกษตรกรต่อครัวเรือนสูงถึงเกือบ 200,000 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 55 เป็นหนี้เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนด้านเกษตร และจะสามารถชำระหนี้คืนได้เพียงประมาณร้อยละ 35 ของมูลค่าหนี้สินเท่านั้น ส่วนข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือนในปี 2556 แสดงว่า ภาระหนี้สินต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินเพิ่มขึ้นจาก 5.5 เท่าของรายได้ต่อเดือนเป็น 7.8 เท่าของรายได้ในปี 2560 และเกษตรกรผู้เช่าที่ดินมีภาระหนี้สินต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 6.8 เท่าเป็น 8.8 เท่า ยิ่งไปกว่านั้น เกษตรกรรุ่นใหม่ยังมีหนี้เร็วขึ้นและมูลค่าของหนี้ก็ใหญ่ขึ้น ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากการชะลอการชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้แก่เกษตรกร”[2]

แค่ยกสถิติตัวเลขบางประเภทมาพิจารณาก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่าความยากจนในประเทศนี้เป็นปัญหาที่น่าตกใจและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จนทำให้ผมสงสัยและมีคำถามว่าคนจนจะมีโอกาสได้ ‘ลืมตาอ้าปาก’ หลุดพ้นจากความยากจนหรือไม่?

ที่น่าตกใจมากกว่า น่าเป็นห่วงมากกว่า อาจเป็นคำถามที่ว่าหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งจบการศึกษา เริ่มออกหางานทำ จะกลายเป็น ‘คนจน’ หรือไม่? ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่าหางานทำไม่ได้ หรือแม้ว่าจะมีงานทำแต่ก็มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย (ด้วยเหตุที่ราคาบ้านที่ถีบตัวสูงขึ้นจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนหนุ่มสาวจะสามารถซื้อหาบ้านเรือนเป็นของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงการสนับสนุนทางการเงินจากพ่อแม่หรือครอบครัว) ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ จนทำให้ผมเกิดความสงสัยว่าในอนาคตอันไม่ไกลนักเราอาจเผชิญปัญหา ‘ความยากจนข้ามชนชั้น’ ก็ได้? เมื่อเกิดสถานการณ์ที่คนหนุ่มสาว – ที่เกิดและเติบโตขึ้นในครอบครัวที่อาจเรียกได้อย่างกว้างๆ ว่าชนชั้นกลาง – อาจกลายเป็น ‘คนจนหน้าใหม่’ ด้วยเงื่อนไขที่กล่าวมานี้ ซ้ำร้ายอาจกลายเป็นหนี้เป็นสินเนื่องจากค่าครองชีพและรายจ่ายสูงกว่ารายได้มากมาย?

คนจนกับตราบาปที่ไม่จบไม่สิ้น

ความยากจน ในความคิดของคนไทยทั่วไป คงไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงปรารถนานัก ไม่เพียงแต่เพราะความยากจนทำให้ต้องแคลนขาดสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิต หากยังทำให้ผู้นั้นรู้สึกต่ำต้อยด้อยกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม รวมถึงทางการเมือง จนคงจะกล่าวได้ว่าสถานภาพที่ด้อยกว่าของคนจน ในแง่หนึ่ง เปรียบเสมือนเป็น ‘ตราบาป’ ที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้อื่นในสังคมที่มีสถานภาพที่สูงกว่า และแน่นอน มี ‘โอกาส’ ที่มากกว่า

หากลองพิจารณาว่าสถานภาพที่ด้อยกว่าของคนจนบอกอะไรแก่เราบ้าง? ผมอยากเสนอว่าสถานะที่ว่านี้ดูจะสะท้อนถึงทัศนคติและความคิดบางประการในสังคมที่มีต่อคนจน เช่น เป็นคนยากจนเพราะขี้เกียจ ขาดความขยันมั่นเพียร วิริยะอุตสาหะ หรือไม่มีความมุมานะ อดทน ดังจะเห็นได้จากวลีที่ว่า “หนักไม่เอา เบาไม่สู้” (อันมีนัยว่าผลที่จะตามมาคือความยากจนนั่นเอง) หรืออีกหนึ่งวลีที่ว่า “ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน” ซึ่งมีความหมายไม่ต่างจากวลีแรกมากนัก ด้วยความหมายที่ว่าผู้ที่มีความบากบั่น พากเพียร ไม่จู้จี้ช่างเลือก ไม่รังเกียจงานหนัก ก็จะไม่ยากจน

สรุปสั้นๆ คือผู้ที่มีความพากเพียรในการทำงาน ขยัน มุมานะ มีความพยายาม จะไม่ยากจน ตรงกันข้าม ผู้ที่ขาดคุณสมบัติเหล่านี้คือคนยากจน

นอกจากนี้ ผมเข้าใจว่าการเป็นคนจนในสังคมไทยยังไปเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ‘บุญ’ กรรม วาสนา ที่โยงไปถึงเรื่องการทำบุญ กับการสร้างภาพของคนจนกับการดื่มสุรา (ซึ่งก็โยงไปถึงเรื่องความขยันมั่นเพียรเช่นกัน) กับภาพลักษณ์ที่คนจนมีลูกมาก ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม และทัศนคติเชิงลบอีกหลายประการที่มีต่อคนจน

ทว่า ‘ตราบาป’ ที่ว่านี้คืออะไร?

ตราบาป

นักสังคมวิทยานาม เออร์วิง กอฟฟ์แมน (Irving Goffman) ได้สร้างข้อเสนอที่สำคัญยิ่งและถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางที่เรียกว่า ‘ตราบาป’ (stigma) โดยใช้สังคมอเมริกันเป็นกรณีศึกษา เขากล่าวว่าโดยทั่วไปเมื่อผู้คนทั่วไปในสังคมเจอหรือพบเห็นคนแปลกหน้า ก็มักจะพิจารณาบุคคลนั้นๆ จากสภาวะที่ตนเห็นจากภายนอก เช่น หน้าตา รูปร่างแขนขา สีผิว รวมถึงบุคลิกลักษณะอื่นๆ ที่มองเห็นได้ เขาเรียกคุณลักษณะเหล่านี้ว่า ‘อัตลักษณ์’ (identity) ของปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ผู้อื่นเห็น รับรู้ และนำไปใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ด้วย ด้วยเหตุนี้ รูปร่างหน้าตาหรือลักษณะภายนอกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่นอกจากจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคลต่างๆ แล้ว ยังมีนัยของความเป็นปรกติและผิดปรกติของปัจเจกบุคคลอีกด้วย

กอฟฟ์แมนพาดพิงถึงคนที่ถูกผู้อื่นในสังคมมองหรือเห็นว่าผิดปรกติ เช่น รูปร่างหน้าตาที่ไม่เหมือนผู้อื่น ภาวะพิการ มีอาการของโรคทางจิต ฯลฯ และเรียกลักษณะผิดปรกติเหล่านี้ว่า ‘ตราบาป’ ซึ่งเป็นคุณลักษณะภายนอกที่น่าอัปยศหรือน่าอดสู (discredited) ในความคิดของคนในสังคมนั้นๆ และมักกลายเป็นอัตลักษณ์ที่มีลักษณะของภาพเหมารวม (stereotype) ที่ถูกสร้างขึ้น และมีผลต่อความคิดและการตัดสินผู้ที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ว่าเป็นคนผิดปกติ เขาให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่าอาจจัดประเภทของตราบาปได้ 3 ประเภท ได้แก่

  1. ตราบาปที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางกายภาพ เช่น ภาวะพิการทางร่างกาย มีหน้าตาหรือแขนขาที่ผิดปรกติ
  2. ตราบาปที่สัมพันธ์กับบุคลิกลักษณะของปัจเจกบุคคลที่ถูกมองว่ามีจิตใจอ่อนแอ ถูกครอบงำได้ง่าย เช่น บุคคลที่มีภาวะจิตผิดปรกติ นักโทษหรือผู้ต้องขัง ผู้ติดยาเสพติด ผู้ติดสุรา พวกรักร่วมเพศ คนว่างงาน ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย และผู้ที่มีพฤติกรรมทางการเมืองอย่างสุดขั้ว
  3. ตราบาปที่มีลักษณะเป็นกลุ่ม เช่น ตราบาปของเชื้อชาติ ตราบาปของชาติ ตราบาปของศาสนา เป็นต้น ตราบาปเหล่านี้จะส่งต่อจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งผ่านการสืบทอดตระกูลโดยสายเลือด (lineages) ส่งผลให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวถูกมองว่ามีตราบาปเช่นกัน[3]

ผมควรย้ำด้วยว่าในความคิดของกอฟฟ์แมน ตราบาปนี้เป็นอัตลักษณ์ที่ติดตัวไปกับปัจเจกบุคคล ส่งผลให้ผู้นั้นมีสถานภาพทางสังคมที่ต่ำต้อย ทำให้รู้สึกว่าตนด้อยกว่าผู้อื่น หรือแม้กระทั่งรู้สึกว่าไร้คุณค่า

สถานะทางสังคมที่เป็น ‘ตราบาป’ เช่นนี้มีปรากฏในทุกสังคม และอาจเกิดขึ้นในกลุ่มคนหลายประเภท รวมถึงผู้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคภัยบางประเภท เช่น ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคเรื้อนในอินเดีย (เป็นกลุ่มคนที่ผู้อื่นในสังคมรังเกียจอย่างยิ่ง)[4] ผู้ป่วยโรคลมชัก[5] หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ ซึ่งถูกต่อต้านอย่างหนักในสังคมอเมริกัน จนทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่เกิดอาการซึมเศร้า สะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างโรคซึมเศร้ากับตราบาปในสังคมดังกล่าว[6]

ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่มักมีจินตนาการถึงความดีงามของวัฒนธรรมไทย และความน่ารักมีน้ำใจของคนไทยที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชื่นชมยกย่อง แต่ผมแน่ใจว่าสังคมไทยนั้นไม่ต่างจากสังคมอื่นในเรื่องตราบาป เรามีอคติมากมายที่นำไปสู่การสร้างตราบาปให้กับผู้คนหลากกลุ่มด้วยเหตุผลนานาประการ บางครั้งก็เป็นอคติต่อบางอาชีพที่ลงเอยด้วยการสร้างตราบาป เช่น ผู้ให้บริการทางเพศ (ที่ถูกพาดพิงถึงด้วยคำเรียกมากมาย ตั้งแต่คำว่า “หญิงค้าประเวณี” “โสเภณี” ไปจนถึงคำที่ไม่ควรเขียนในที่นี้ ซึ่งล้วนเป็นคำที่มีนัยดูถูกเหยียดหยาม ลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ กลายเป็นตราบาปของผู้ที่ประกอบอาชีพนี้) คนเก็บของเก่าขาย ผู้ที่เคยต้องโทษคุมขัง ผู้ป่วยจิตเวช (ที่มักถูกเรียกว่า “คนบ้า”) คนไร้บ้าน ขอทาน รวมถึงผู้ที่มีฐานะยากจนทางเศรษฐกิจ

คนจนขี้เมา: ตราบาปจากรัฐและศาสนา

เป็นเรื่องน่าประหลาดอย่างยิ่งที่ว่า ในขณะที่รัฐบาลย้ำถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาความยากจน ทั้งยังแสดงความพยายามในการช่วยเหลือคนจน แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อพวกเขา และพาดพิงถึงคนกลุ่มนี้ว่าเป็นผู้ที่เสียเปรียบในสังคม แต่อีกในด้านหนึ่ง กลับสร้างภาพลักษณ์ของคนจนในแง่ลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของคนจนผู้มีปัญหากับการดื่ม หรือหากพูดแบบชาวบ้านร้านตลาดก็คือ คนจนเป็นคนขี้เมา

ชื่อของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘สสส.’ คงเป็นที่คุ้นหูของท่านผู้อ่าน สสส. เป็นองค์การมหาชนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี และได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจำนวนมหาศาลที่คิดคำนวณจากภาษีอากรในแต่ละปี องค์การนี้ได้ผลิตวีดีโอโฆษณาชุดต่างๆ ออกสู่สายตาของสาธารณชนอยู่เสมอ เช่น ท่านผู้อ่านคงเคยชมวีดีโอชุด “เลิกเหล้าเข้าพรรษา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ให้คนไทยหยุดดื่มสุรา (แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าวีดีโอเหล่านี้ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด?!) และคงคุ้นเคยกับวีดีโอชุด “จน เครียด กินเหล้า” ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นชุดที่ตัดให้สั้น[7] หรือชุดที่มีเรื่องราวยาวกว่า ซึ่งสะท้อนถึงภาพของคนจนผู้กลับเนื้อกลับตัว เลิกดื่มสุราแล้วหันไปประกอบอาชีพด้วยความขยันมั่นเพียร (ทำให้นึกถึงวลีที่ว่า “หนักเอา เบาสู้” และ “ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน” ที่กล่าวไปแล้วข้างบน) และเริ่มดูแลสุขภาพของตนเอง ผลที่ตามมาคือนอกจากจะทำให้มีรายได้ มีเงินเหลือเก็บออมแล้ว ยังมีความสุขกับชีวิตครอบครัว กลายเป็นตัวอย่างที่ดีของคนในชุมชน เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต[8]

สาระ/ข้อความของวีดีโอชุด “จน เครียด กินเหล้า” มีความหมายชัดเจน นั่นคือคนจนชอบดื่มสุรา เป็นคนขี้เมา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความยากจน จนอาจสรุปได้ว่าการดื่มสุราเป็น ‘วัฏจักรของความยากจน’ และเป็นปัญหาใหญ่ของคนจน ภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นในวีดีโอโฆษณาของ สสส. เป็นภาพด้านเดียวของคนจนและความยากจน ที่เน้น/ย้ำถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนจนกับการดื่มสุรา เป็นภาพด้านเดียวที่ตื้นเขินเกี่ยวกับปัญหาความยากจน ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้แล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมคนจน ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ที่คนกลุ่มนี้เป็นผู้ติดสุรา ขี้เมา

นอกจากนี้ ปัญหาของการดื่มสุรายังถูกตอกย้ำว่าทำให้ไม่สามารถทำงานได้ นอกจากจะกลายเป็นภาระของผู้อื่นในครอบครัวที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น ยังเป็นปัญหาที่ทำให้ตนเองและครอบครัวยากจน ดังจะเห็นได้จากวีดีโอโฆษณาที่ใช้ชื่อว่า “กินแรง”[9]

ความย้อนแย้งในการทำงานของ สสส. คือในด้านหนึ่ง องค์การนี้ได้นำเสนอความสำเร็จของการรณรงค์เรื่องการดื่มสุราด้วยการพาดพิงถึง ‘สายเชีย วงศ์วิโรจน์’ ผู้เป็นพรีเซ็นเตอร์ของวีดีโอโฆษณาชุด “จน เครียด กินเหล้า” ว่าเป็นบุคคลตัวอย่างของการประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะ “เลิกเหล้า เลิกเครียด เลิกจน” โดยระบุว่าหากจะพูดถึงประสบการณ์เกี่ยวกับน้ำเมาของ สายเชีย เรียกได้ว่ามีประสบการณ์ตรงและหนัก เพราะคุณพ่อ ก็เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับแม่ก็ดื่ม ภรรยาก็ดื่ม จนเกือบจะถึงขั้นต้องเลิกรากันไป แต่จากประสบการณ์เลวร้ายหลายๆอย่างรวมกัน และสติที่เริ่มกลับมาคิดได้ว่า หากยังเดินหน้าบนเส้นทางน้ำเมา ครอบครัวก็คงไปไม่รอด ทำให้คนในครอบครัวเลิกเหล้าและกลับมามีความสุขร่วมกันได้อีกครั้ง” และย้ำว่า

ศาสนา เป็นสิ่งที่สอนให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข คำสอนเหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่เริ่มจากตัวเอง เช่นเดียวกับคำว่า จน เครียด กินเหล้า ที่เมื่อเลิกแล้วก็จากยุ่น (น่าจะมีความผิดพลาดของการสะกดคำ?! – นิติ) หลุดพ้นความจน ความเครียด คำเหล่านี้จึงล้วนเป็นสัจธรรมที่คนเอาไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้

ด้วยการใช้ถ้อยคำของสายเชีย วงศ์วิโรจน์ ที่กล่าวไว้ว่า

ผมเชื่อว่าการใช้ชีวิตตามหลักของศาสนาเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสุขขึ้นได้ โดยในคำสอนต่างๆ มีแนวทางบอกเราอยู่แล้ว ว่าควรใช้ชีวิตอย่างไร ถึงจะมีความสุข และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การใช้สติในการดำเนินชีวิต อย่าใช้ชีวิตด้วยความประมาท ส่วนการที่จะให้ใครมาสอน ก็คงไม่ดีเท่าการที่เราจะเตือนตัวเอง เพราะการเตือนตัวเองจะทำให้คิดได้ เมื่อคิดได้ก็ลงมือทำได้ ดีกว่าให้ใครมาบังคับ ส่วนคนในครอบครัวหรือเพื่อนก็มีความสำคัญเช่นกัน ที่จะคอยเตือนได้เมื่อเริ่มประมาท แต่สำคัญที่สุดคือ เราเองต้องลงมือทำด้วย[10]

แต่หากเราลองพิจารณาถึงชีวิตและประสบการณ์ของสายเชีย ผู้ “เป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บนพื้นกว่า 500 ไร่ ผู้เนรมิตที่ดินเปล่าให้กลายเป็นทะเลน้ำจืดใกล้กรุงเทพในชื่อ ‘สยามชัย หาดทรายขาว’ สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ใน จ.นครปฐม พร้อมรับชมเคล็ดลับการเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นเงินได้อย่างไร”[11] ผู้เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ตัวเองพัฒนาที่ดินมา 3-4 ปี ทำที่บางปะกง ไปถึงเชียงคาน เคยไปเจ๊งที่เชียงคานมา 20 กว่าล้าน งานแสดงไม่พอกิน เคยมีคนด่าดาราไส้แห้ง ตั้งแต่เข้าวงการมาแล้ว[12] ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าบุคคลผู้นี้มี ‘โอกาสในชีวิต’ อย่างมากมายที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้ตนเองสามารถ ‘ลืมตาอ้าปาก’ ถีบตัวจากความยากจนขึ้นมาได้ หากยังกลายเป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้มั่งคั่ง

คำถามคือจะมีสักกี่คนในสังคมไทยที่สามารถแปรสถานภาพของการเป็น ‘คนจน’ ผู้ยากไร้ ให้กลายเป็นคนร่ำรวยอย่างสายเชียได้? ‘โอกาสในชีวิต’ ที่ว่านี้จะมาจากไหน?

สำหรับผม วีดีโอโฆษณาของ สสส. และการใช้บุคคลเช่นสายเชียเป็นกรณีตัวอย่าง นอกจากจะสะท้อนถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการดื่มสุราแล้ว ยังแสดงถึงความย้อนแย้งของการรณรงค์ในเรื่องนี้ เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวเกี่ยวกับความยากจนและการได้หลุดออกจากความยากจน และที่โหดร้ายที่สุดคือเป็นการซ้ำเติมคนจนว่าเป็นคนขี้เมา

ความจนน่ารังเกียจ

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564 ศูนย์วิจัยสังคมอนุภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดเสวนาออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “รส / กลิ่น / เสียง ของความยากจน”[13] ศิระศักดิ์ คชสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ได้กล่าวว่าจากการสำรวจและทำวิจัยเรื่องความยากจน ตนคิดว่าสำหรับคนจน ความยากจนโดยรวม “เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์” โดยยกตัวอย่างกรณีคุณลุงคนหนึ่งมีโรคประจำตัวและอาศัยอยู่ในบ้านที่มีลักษณะเสื่อมโทรม เมื่อเขาถามคุณลุงว่า

“คิดว่าตัวเองจนไหม” คุณลุงตอบว่า “ไม่จน อยู่อย่างนี้สบายดีแล้ว” ซึ่งศิระศักดิ์มองว่าคำตอบและสภาพความเป็นจริงสวนทางกัน จึงวิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะความยากจนถูกมองว่าน่ารังเกียจ ทำให้คนจนบางคนไม่อยากเปิดเผยและยอมรับ ในขณะที่บางกรณี ผู้ถูกสัมภาษณ์ก็ถึงกับร้องไห้ เมื่อต้องตอบคำถามกับทีมวิจัย

ส่วนณัฏฐ์ชวัล โภคาพานิชวงษ์ ผู้ร่วมเสวนาและร่วมทำวิจัยอีกคนหนึ่ง ให้คำอธิบายว่า “รสชาติของความจน…เป็นรสแห่งความขมขื่น” และว่าพฤติกรรมหรือการแสดงออกของคนจนเป็น

สิ่งที่สะท้อนไปถึงสังคมรอบข้าง ซึ่งมักจะบดบังปัญหาเชิงโครงสร้าง เหมือนกลับกลิ่นที่โชยไปและคนที่ได้กลิ่นก็พยายามเดินหนี ไม่ได้มุ่งหาที่มาของกลิ่น (โดยยกตัวอย่าง เช่น) กรณีคนจนที่มีพฤติกรรมแตกต่างออกจากขนบธรรมเนียมหรือบรรทัดฐานของสังคมที่เขาอาศัยอยู่ ก็มักถูกมองว่าเป็นคนแปลกแยก และถูกเมินเฉยจากคนในชุมชนหรือสังคม จนทำให้บางครั้งพวกเขาเหล่านี้เข้าไปถึงสิทธิหรือความช่วยเหลือต่างๆ ที่สมควรได้รับ (เธอ) ยังกล่าวต่อไปอีกว่าตนมักจะได้ยินคำว่า “อย่าเข้าไปยุ่ง/อย่าเข้าไปช่วยเลย” จากผู้นำชุมชนหรือคนรอบข้างคนจนที่ตนเข้าไปคลุกคลีระหว่างเก็บข้อมูลวิจัย ซึ่ง

คำพูดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมโดยรอบปฏิเสธที่จะยุ่งเกี่ยวกับคนจน ซึ่งเป็นการละเลยปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง[14]

ข้อมูลของนักวิจัยทั้งสองสะท้อนให้เห็นว่าในการรับรู้ของคนจน ความยากจนเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่น่าพึงประสงค์ และคนจนก็เป็นกลุ่มคนที่ผู้อื่นในสังคมหรือคนรอบข้างไม่สนใจไยดี ไม่อยากข้องแวะสมาคมด้วย หากจะกล่าวว่าคนจนมี ‘ตราบาป’ ติดตัวก็คงไม่ผิดนัก ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนจน “อยู่ได้กับมัน (ความจน) เพราะทำใจ” “ทุกครั้ง ที่ประสบปัญหาความทุกข์ ก็บืนเอา” (พยายามอย่างสุดกำลังเพื่อให้รอด) ซึ่งสะท้อนว่าต้องทนอยู่กับความทุกข์ยาก [15] หรือหลอกตัวเอง (และคนแปลกหน้า) ว่า “ไม่จน อยู่อย่างนี้สบายดีแล้ว” ดังเช่นคุณลุงที่ศิระศักดิ์ คชสวัสดิ์พาดพิงถึง

“ความสุขทางใจ” คำสอนเชิงศาสนาที่คนไทยนิยมพูดกัน นอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความยากจนแล้ว ยังเป็นเสมือนเครื่องพันธนาการให้คนจนผู้ยากไร้ “ต้องทนอยู่กับความทุกข์ยาก” ไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก ไม่รู้ว่าตนควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในด้านใดบ้าง ไม่เคยได้รับรู้ว่า ‘สิทธิ’ ของตนมีอะไรบ้าง และไม่เคยรู้ว่าความยากจนไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ แต่เป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม-เศรษฐกิจ การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน และการไร้โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และการใช้ทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียมกัน

โควิดซ้ำเติม

ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่าการระบาดของเชื้อโควิดในประเทศไทยได้ทำให้ “หนี้สินกลายเป็นนิวนอร์มอลของผู้คนจำนวนมาก” ซึ่งทำให้ผู้ที่ไม่เคยมีหนี้สินกลับมีหนี้สินและคนที่เป็นหนี้อยู่แล้วก็ต้องกู้ยืมเพิ่มขึ้น มีหนี้สินมากขึ้น

ทว่า เรื่องที่น่าตกใจมากกว่า น่าเศร้าสลดใจมากกว่า คงเป็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตของคนไทยจากเชื้อโรคชนิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงมาก ซึ่งปรากฏในรายงานของสื่อมวลชนแห่งหนึ่งที่ระบุตัวเลขล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ยืนยันว่าในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อโควิดรวมทั้งสิ้นจำนวน 2,212,407 คน และเสียชีวิตด้วยเชื้อโรคนี้จำนวน 21,598 คน[16]

มีการสันนิษฐานว่าผู้ที่เสียชีวิตเหล่านี้มีสุขภาพที่ไม่ค่อยดี เมื่อเจ็บป่วยขึ้นจึงมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิต และไม่มีรายงานยืนยันว่าคนเหล่านี้มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับใด อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ที่เสียชีวิตอาจมีระดับทางเศรษฐกิจต่ำ หรืออาจเป็นคนจน เป็นผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสุขภาพด้วยเหตุผลบางประการ เช่น ไม่มีความสามารถทางการเงินที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือเข้าไม่ถึงระบบการแพทย์ด้วยสาเหตุอื่น จึงไม่อาจเข้าพึ่งพิงระบบสาธารณสุข เข้ารับการรักษาพยาบาลได้เช่นบุคคลทั่วไป

แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่มีจำนวนผู้ที่เสียชีวิตเพียง 825 คน หรือไต้หวัน ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 16,931 คน และผู้เสียชีวิตเพียง 850 คน หรือญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรหนาแน่นกว่าประเทศไทย แต่มีจำนวนผู้ที่เสียชีวิตน้อยกว่า คือ 18,383 คน[17] ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไทยล้มเหลวในการจัดการด้านสาธารณสุขและการแพทย์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด

นอกจากนี้ อาจเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอาจสูงกว่าตัวเลขที่เปิดเผย เพราะจากรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ซึ่งทำการประเมินผลงานด้านการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล[18] ได้ระบุว่า

น่าจะมีผู้เสียชีวิตทางอ้อมจากอาการโรคแทรกซ้อนหรือการฆ่าตัวตายจากผลกระทบทางจิตใจและปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ดัชนีหนึ่งที่วัดการเสียชีวิตรวมได้คือ “อัตราการตายส่วนเกิน” (excess mortality) ซึ่งอัตราการตายของคนไทยในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2564 เพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 12 และ 17.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประชากรกลุ่มผู้มีอายุ 65-74 ปีและอายุ 85 ปีขึ้นไป มีอัตราการตายส่วนเกินสูงถึงร้อยละ 22 และ 26 ตามลำดับในเดือนมิถุนายน

ยิ่งกว่านั้น รายงานฉบับนี้ได้เสนอรายละเอียดที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการของรัฐบาลไว้ว่า

ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีในระลอกแรก จากการทำงานอย่างหนักของบุคลากรทางแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และการได้รับความร่วมมือของประชาชน แม้จะแลกมาด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อย ความสามารถในการควบคุมการระบาดได้ทำให้ประเทศมีเวลาและโอกาสที่ดีในการเตรียมตัวรับมือการกลายพันธุ์และการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ตลอดจนการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจและการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในช่วงหลังจากนั้นทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสที่ดีดังกล่าวไป และมีส่วนทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ในวงกว้างจนทำให้ประเทศกลับเข้าสู่สภาวะวิกฤติอีกครั้ง

และแม้ว่าในช่วงต้นปี 2563 จะสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อโควิดได้ค่อนข้างดี แต่ผลกระทบจากการล็อคดาวน์ทำให้ “เศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำลงอยู่แล้วจากการหดตัวอย่างรุนแรงของภาคการท่องเที่ยว โดยอัตราการเติบโตของ GDP ของไทยในปี 2563 ติดลบร้อยละ 6.1 หรือหดตัวอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี”

รายงานฉบับนี้ยังเสนอการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า

แม้จะมีสัญญาณเตือนจากการระบาดระลอกที่ 2 และระลอกที่ 3 แล้ว รัฐบาลก็ยังไม่ได้เตรียมการรองรับการระบาดรอบใหม่อย่างพอเพียง โดยเห็นได้จากความล่าช้าในการใช้งบประมาณเพื่อยกระดับความพร้อมด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาทของ พรก. เงินกู้ครั้งแรกที่ออกมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 โดยจนถึงต้นเดือนมิถุนายน 2564 ยังมีการเบิกจ่ายเพียง 11,623 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 26.1 ทำให้ไม่สามารถยกระดับระบบสาธารณสุขได้เพียงพอ และเมื่อเกิดการระบาดในระลอกที่ 4 ในวงกว้างแล้ว ระบบสาธารณสุขก็ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการรุนแรง จนโรงพยาบาลหลายแห่งต้องขอรับบริจาคอุปกรณ์จากประชาชน

[…]

เมื่อมองย้อนกลับไป มีหลายกรณีที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลน่าจะตัดสินใจผิดพลาด …

เมื่อการระบาดแพร่กระจายไปในวงกว้าง รัฐบาลก็ยังไม่สามารถประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะปัญหาการทำงานที่ไม่ลงรอยระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ กทม. ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งทำให้การควบคุมการระบาดในชุมชนและแคมป์คนงานในกรุงเทพฯ เป็นไปอย่างล่าช้า

ที่เป็นปัญหามากไปกว่านั้นคือ การบริหารงานในสถานการณ์วิกฤติที่เป็นไปอย่างสับสน รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกลับไปกลับมา ซึ่งสะท้อนถึงการพิจารณาที่ไม่รอบคอบก่อนการประกาศ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการประกาศมาตรการ “ล็อคดาวน์” กรุงเทพฯ เมื่อกลางดึกวันที่ 26 มิถุนายน 2564 เพียงวันเดียวภายหลังการประกาศว่าจะไม่มีการล็อคดาวน์ในวันที่ 25 มิถุนายน และมาตรการล็อคดาวน์นี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน ซึ่งเป็นเวลาที่กระชั้นชิดมาก และทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่จำเป็นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้วางแผนทางธุรกิจและทำกิจกรรมต่างๆ โดยเข้าใจว่าจะไม่มีการล็อคดาวน์ไปแล้ว

การเปลี่ยนนโยบายไปมานี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเพิ่งตระหนักถึงความรุนแรงของการระบาดระลอกใหม่ที่จำนวนการติดเชื้อน่าจะเกินความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุขของประเทศ อย่างไรก็ตามหลังจากการประกาศล็อคดาวน์แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลมีแผนการรองรับและแผนการเยียวยาที่มีประสิทธิผล[19]

โยน ‘ตราบาป’ กลับคืนไป

อาจดูเป็นเรื่องใจร้ายอย่างยิ่งที่เริ่มต้นปีใหม่ด้วยงานเขียนชิ้นนี้ พร้อมกับการพาดพิงถึงเรื่องความยากจนที่ดูย่ำแย่ลง และจำนวนคนจนที่เพิ่มมากขึ้น จนอาจตีความได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ความยากจนในบ้านเราน่าจะกลายเป็น ‘ความยากจนข้ามชนชั้น’ ที่ทุกคนมีโอกาสที่จะกลายเป็น ‘คนจน’ ได้ ด้วยเหตุผลหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เกิดภาวะ “หนี้สินกลายเป็นนิวนอร์มอลของผู้คนจำนวนมาก” ขึ้นแล้ว อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด

นอกจากนี้ เมื่อได้อ่านรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่ประเมินผลงานด้านการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิดและการบริหารจัดการในเรื่องนี้ของรัฐบาลไทย ก็ยิ่งทำให้รู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง ไม่อาจพึ่งพารัฐบาลที่ล้มเหลวในการทำงาน/การบริหารประเทศ

แต่คนจนที่ปรากฏใน “ความจน: ความหมายและปฏิบัติการ” ที่ร่วมกันเขียนโดยกนกวรรณ มะโนรมย์ และคณะ ซึ่งได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้แล้ว มีชีวิตอยู่กับความยากจนมาอย่างยาวนาน จนอาจพูดได้ว่าหลายคนยากจนมาตั้งแต่เกิด และแม้ว่าจะคุ้นเคยกับชีวิตที่ยากไร้ แต่ก็ไม่เคยหยุดดิ้นรนต่อสู้ ไม่เคยหยุดทำงาน (ทั้งยังต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นเสมอ) ไม่อาจหยุดหาโอกาส – ความรู้และทักษะ – ที่จะช่วยให้ชีวิตตนเองดีขึ้น คนจนเหล่านี้จึงไม่อาจขี้เกียจ งอมืองอเท้า รอเทวดามาโปรดได้ (เพราะไม่รู้ด้วยว่าเทวดาจะมาเมื่อไร? หรือจะมาหรือไม่?) มีแต่ตนเอง ครอบครัว หรือญาติมิตรที่สนิทสนม ที่จะพึ่งพากันได้ เข้าใจหัวอกคนจนด้วยกันได้

คนจนเหล่านี้จึงมิได้ “จน เครียด กินเหล้า” เช่นที่ สสส. ได้สร้างภาพลักษณ์ไว้ให้ ไม่ใช่คน ‘กินแรง’ ที่องค์การนี้ได้โฆษณาไว้ แม้ว่าบางครั้งจะต้องบอกคนแปลกหน้าว่าตนเอง “ไม่จน อยู่อย่างนี้สบายดีแล้ว” หรือต้อง “ทำใจ” และมี “ความสุขทางใจ” ตามที่คนในสังคมพยายามเทศนาก็ตาม

เพราะการ “ทำใจ” มี “ความสุขทางใจ” เป็น ‘ที่พึงพิง’ หรือ ‘ที่หลบภัย’ ชั่วคราวของคนจนกลุ่มนี้ ผู้ซึ่งไม่อาจพึ่งพาอาศัย หรือมีความหวังกับ รัฐบาลที่ล้มเหลวในการทำงานได้


[1] ดูรายละเอียดใน กนกวรรณ มะโนรมย์ ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ ปาริชาติ ภิญโญศรี (บรรณาธิการ), ความจน: ความหมายและปฏิบัติการ (หนังสือรวมบทความจากงานวิจัย ชุดที่ 1, โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอำนาจเจริญ) (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ตุลาคม 2564)

[2] มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, “9. หนี้สินครัวเรือนไทยเป็นนิวนอร์มอล”, กรุงเทพธุรกิจ, 7 ต.ค. 2564, <https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/964357>

[3] Erving Goffman, Stigma: Notes on the Management of Spoiled Identity (Englewood Cliffs, N.J.: Prentice-Hall, 1963)

[4] Ana Svoboda, “Growing Up in a Leprosy Colony in Tamil Nadu, South India”, Master Thesis, MAIDS Program, Chulalongkorn University, 2008

[5] Ann Jacoby, Dee Snape, Gus A Baker, “Epilepsy and social identity: the stigma of a chronic neurological disorder”, Lancet Neurology, Vol 4 March 2005, <http://neurology.thelancet.com> (download via <www.academia.com>)

[6] พาดพิงถึงใน บทบรรณาธิการ ที่เขียนโดย Arthur Kleinman, Rachel Hall-Clifford, “Stigma: A social, cultural, and moral process”, Journal of Epidemiology and Community Health, Editorial, 63(6) <http://nrs.harvard.edu/urn-3:HUL.InstRepos:2757548>

[7] สสส., “เลิกจน จนเครียดกินเหล้า 30 วิ.flv”, Youtube, Nov 14, 2011, <https://www.youtube.com/watch?v=wYyGNtePSDI>

[8] สสส., “จน เครียด กินเหล้า”, Youtube, Mar 15, 2007, <https://www.youtube.com/watch?v=b5uZP21lmgg>

[9]สสส., “กินแรง หนังรณรงค์แคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษา สสส. ปี 2553”, Youtube, Jun 15, 2017, <https://www.youtube.com/watch?v=RjVFyEOXFVo>

[10] ดู mootie, “จน เครียด กินเหล้า”, สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 28 กันยายน 2555, <https://www.thaihealth.or.th/Content/16708-%22%E0%B8%88%E0%B8%99%20%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%20%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%22.html>

[11] ดู #PerspectiveTV #JSLGlobalmedia, “สายเชีย วงศ์วิโรจน์ ชีวิตติดลบ นักแสดงตัวประกอบเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์”, Youtube, May 9, 2021, <https://www.youtube.com/watch?v=wFziHcx0ZWo>

[12] KhaosodOnline, “เปิดอาณาจักร สายเชีย 500 ไร่ หลังเคยถูกด่าว่าดาราไส้แห้ง เผยแฟนสวยมาก”, 29 ก.ค. 2563, <https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_4600865>

[13] อันเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “ความจน: ความหมายและปฏิบัติการ” ที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ – ดู กนกวรรณ มะโนรมย์ และคณะ, ความจน: ความหมายและปฏิบัติการ, น. 19

[14] ประชาไท, “สรุปเสวนา: เข้าใจ ‘ความยากจน’ ผ่าน 3 สัมผัส รส-กลิ่น-เสียง ร้อยเรียงสู่ปัญหาเชิงโครงสร้าง”, 2021-10-30, <https://prachatai.com/journal/2021/10/95693>

[15] กนกวรรณ มะโนรมย์ และคณะ, ความจน: ความหมายและปฏิบัติการ, น. 19

[16] VOA Thai, “จับตาสถานการณ์ COVID-19 จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโคโรนาไวรัสทั่วโลก”, <https://www.voathai.com/p/7243.html>

[17] อ้างแล้ว

[18]สยามรัฐออนไลน์, ““ทีดีอาร์ไอ” ชี้ “รัฐบาล” ล้มเหลว! บริหารนโยบายแก้ “โควิด” ผิดพลาด ไม่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์เลวร้าย ลั่นต้องมีผู้รับผิดชอบ”, 11 กรกฎาคม 2564, <https://siamrath.co.th/n/260825>

[19] อ้างแล้ว

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save