fbpx
อนาคตประชาธิปไตยโลกในยุค Post-Trump

อนาคตประชาธิปไตยโลกในยุค Post-Trump


ผมประเดิมเป็นผู้พูดในแพลตฟอร์มใหม่ Clubhouse ที่กำลังมาแรงและเป็นที่กล่าวขวัญอย่างมากในหมู่ผู้คนที่เป็นเน็ตติเซ่นหรือพลเมืองอินเทอร์เน็ต เมื่อ The101.world หันมาจับช่องใหม่นี้ โดยเริ่มด้วยหัวข้อ “ถกอนาคตประชาธิปไตยโลกในยุคโพสต์ทรัมป์” เนื้อหาหลักๆ คือประเมินอนาคตของประชาธิปไตยในอเมริกา หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะสร้างประชาธิปไตยใหม่อย่างไร แล้วจากนั้นเราก็ขยายกรอบของประชาธิปไตยไปทั่วโลกว่า ผลสะเทือนของวิกฤตประชาธิปไตยยุคทรัมป์ต่อประชาคมประชาธิปไตยจะมีไหมและอนาคตต่อไปจะเป็นอย่างไรหากอเมริกาปรับเปลี่ยนท่าทีต่อประชาธิปไตยอีกครั้ง


มรดกและผลพวงของรัฐบาลทรัมป์


คำถามแรกที่ผมต้องตอบคือ “อะไรคือมรดกและผลพวงของรัฐบาลทรัมป์ต่ออเมริกาและโลก?” ที่เห็นชัดและเป็นรูปธรรมในเวลาอันรวดเร็วคือการประกาศใช้คำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์ อันเป็นเอกสิทธิ์หรืออภิสิทธิ์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านมาแทบทุกประธานาธิบดีเคยมีการประกาศใช้คำสั่งดังกล่าวในการปฏิบัตินโยบายหรือความต้องการของรัฐบาลกลางในประเด็นที่เฉพาะหน้าและต้องการการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางหรือสหพันธ์ เริ่มแต่ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันคนแรกที่ออกคำสั่งบริหารนี้ไปยังเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภายใต้รัฐบาลกลางทุกคนให้ปฏิบัติงานให้เห็นว่าซื่อสัตย์และเต็มความสามารถ คำสั่งบริหารที่ไม่เหมือนฉบับอื่นๆ แต่กลับโด่งดังและกลายเป็นเอกสารประวัติศาสตร์สำคัญไปคือคำประกาศเลิกทาส (Emancipation Proclamation on September 22, 1862) ของประธานาธิบดีอับราฮัม ลิงคอล์น ซึ่งไม่ได้พูดถึงปัญหาการทำงานแต่ผลในทางปฏิบัติ แต่ยกเลิก ยุติ และเปลี่ยนโครงสร้างหลายอย่างของประเทศไปอย่างปฏิวัติเลย ซึ่งตามปกติคงไม่มีทางทำได้ แต่ตอนนั้นกำลังอยู่ในระหว่างสงครามกลางเมือง

ดังนั้นสิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์กระทำไปในอาทิตย์แรกของการเข้ารับตำแหน่งก็ไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาดกว่าที่เคยปฏิบัติกันมา แต่บังเอิญที่เขาตั้งใจทำให้ประกาศฝ่ายบริหารเป็นเรื่องใหญ่และตอบสนองฐานเสียงที่โหวตให้เข้ามา จึงมีการจัดฉากสื่อมวลชนและที่สำคัญคือการเลือกเรื่องจะประกาศและเป้าหมายของการประกาศ นั่นคือการโจมตีกลุ่มคนมุสลิมหัวรุนแรงและประเทศมุสลิมที่การเมืองรุนแรงว่าเป็นศัตรูมุ่งจะทำลายสหรัฐฯ และคนอเมริกัน จึงห้ามคนมุสลิมในประเทศเหล่านั้นเข้าประเทศสหรัฐฯ นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา เป็นกระกาศฝ่ายบริหารที่มีประสิทธิภาพมา กเพราะได้ทั้งเสียงตอบรับจากคนอเมริกันอนุรักษนิยมและเชื้อชาตินิยมอย่างล้นหลาม ในขณะที่ได้ตอบโต้และขีดเส้นแนวนโยบายต่างประเทศของอเมริกาภายใต้ทรัมป์ไปด้วยว่า เขาจะไม่เดินนโยบายหน่อมแน้มแบบที่ดีแต่พูดอีกต่อไป หากจะใช้ปฏิบัติการอย่างถึงลูกถึงคนเลยในทันที

ท่าทีและวิธีการดังกล่าวเป็นยี่ห้อของโดนัลด์ ทรัมป์ในการดำเนินธุรกิจแสนล้านมาทั้งชีวิต ด้วยการเจรจากับฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาดตัดเชือก โดยที่เขาจะต้องได้ผลประโยชน์ก่อนเพื่อน มีคนอธิบายว่านี่คือยุทธศาสตร์ในการระหว่างประเทศสมัยทรัมป์มาตลอด นั่นคือการเจรจาตัดเชือกในทางภูมิรัฐศาสตร์ (geo-political deal-making) ไม่ต้องสงสัยว่าคำสั่งประธานาธิบดีฉบับแรกของทรัมป์สร้างความโกลาหลให้แก่คนอเมริกันและพันธมิตรที่ทำงานให้อเมริกาในประเทศมุสลิมเหล่านั้นประสบความยากลำบากในการขอวีซ่าเดินทางเข้าอเมริกา ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องในศาลสหพันธ์และกระทั่งถึงศาลสูงสุด ว่านี่เป็นการใช้อำนาจละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลตัดสินว่าไม่เป็น

มรดกที่สร้างปัญหาและจะเป็นปมเงื่อนของความยุ่งยากในการเมืองอเมริกันต่อไปคือ การละเมิดจารีตขนบและกระทั่งกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานทั้งหลายภายใต้รัฐบาล ทรัมป์แสดงออกถึงความไม่แยแสหรือเคารพผู้ทำงานภายใต้กำกับและการควบคุมของเขา ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ซึ่งถือกันว่าเป็นผู้นำรัฐบาลคนที่สองรองจากประธานาธิบดี ไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ และที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ทรัมป์ไม่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากเขาเลย เมื่อทำงานร่วมกันไม่ได้โดยดี ทรัมป์ก็ใช้มาตรการที่เขาคิดว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการคุมทีมงาน นั่นคือการไล่ออกอย่างไม่ปราณีปราศรัยผ่านการทวิตในมือถือของเขา ไล่ออกเหมือนกับหมูหมา ตั้งแต่รัฐมนตรีต่างประเทศ อดีตซีอีโอบรรษัทเอ็กซอนถึงกลาโหมและที่ปรึกษาความมั่นคงและกระทรวงยุติธรรม ไม่เคยมีการไล่สมาชิกรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลออกมากเท่ากับของทรัมป์

ทรัมป์ทำให้ผู้นำคนต่อไปเห็นว่า ถ้าจะใช้อำนาจเด็ดขาดแบบเผด็จการในรัฐบาลอเมริกันก็สามารถทำได้ไม่แพ้ผู้นำประเทศเผด็จการโลกที่สามหรือประเทศคอมมิวนิสต์อย่างรัสเซียและจีน ทรัมป์สร้างคติค่านิยมใหม่แต่เก่ามากว่า ‘อำนาจคือธรรม’ มีอำนาจก็ทำได้ตามใจ จารีตของการถ่วงดุลและแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยไม่มีความหมาย เป็นเพียงทฤษฎีที่อยู่ในตำรา มิน่าเล่าทฤษฎีดังกล่าวถึงทำให้เป็นจริงได้ยากเย็นแสนเข็ญในประเทศโลกที่สาม เพราะหากผู้นำไม่เชื่อในคตินี้จริงๆ แล้ว ต่อให้มีระบบกฎหมาย ระบบรัฐสภา ระบบพรรคการเมืองและรัฐธรรมนูญที่มีสมรรถภาพและคงทนปานใดก็ตาม ก็ไม่อาจต้านทานลัทธิอำนาจนิยมของท่านผู้นำได้

ระบบพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ที่ดำเนินมานับศตวรรษ กำลังเผชิญหน้าความท้าทายของอำนาจผู้นำเผด็จการ ที่ทำให้จารีตและอุดมการณ์ของพรรคการเมืองหดหายและกลายเป็นคำพูดที่ไร้ความหมายไป เมื่อทรัมป์สามารถปลุกระดมและนำพามวลชนฐานเสียงของเขาไปตามทิศทางและนโยบายที่เขาต้องการ ด้วยการใช้ ‘ข่าวลวง’ (fake news) และการโจมตีประณามฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่ยั้งมือและปาก ด่าได้ด่า โกหกได้โกหก ปั้นเรื่องได้ปั้น ทำให้พรรครีพับลิกันขณะนี้เริ่มมีรอยร้าว ระหว่างสมาชิกที่ยึดมั่นอุดมการณ์ของพรรคที่มีมายาวนาน คือ จำกัดอำนาจรัฐบาลกลาง เสรีภาพของปัจเจกชน ต่อต้านบริษัทยักษ์ใหญ่ที่กุมอำนาจเศรษฐกิจประเทศ กับสมาชิกจำนวนมากที่พากันหันไปถือหางยอมเป็นลูกไล่ของทรัมป์เพราะหาเสียงง่ายกว่าและได้ผลเร็ว โดยเฉพาะสมาชิกหน้าใหม่ๆ ที่ยังไม่มีบารมีในพื้นที่

กล่าวได้ว่าตั้งแต่ลิงคอล์นจุดประกายให้แก่พรรครีพับลิกันจนได้ชัยชนะเป็นประธานาธิบดี ไม่มีครั้งไหนจากนั้นมาที่นักการเมืองหน้าใหม่สามารถสร้างแรงสะเทือนภายในพรรครีพับลิกันได้เท่าโดนัลด์ ทรัมป์ คำถามคือทรัมป์จะจุดชนวนให้กับการเกิด ‘สงครามกลางเมือง’ ในอเมริกาหรือไม่

ถ้าดูจากการปลุกระดมมวลชนของเขาในวันที่ 6 มกราคม จนนำไปสู่การบุกยึดรัฐสภาคองเกรสอย่างรุนแรง มีตำรวจตายและบาดเจ็บหลายราย ตอนนี้สำนักงานสืบสวนข่าวกลางหรือเอฟบีไอได้สรุปเหตุการณ์นี้แล้วว่าคือ ‘การก่อการร้ายในประเทศ’ (domestic terrorism) และทรัมป์ก็ประกาศจะกลับมาอีก ในการปราศรัยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ในที่ประชุมปฏิบัติการทางการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม (Conservative Political Action Conference) พร้อมเสียงตอบรับอย่างหนาแน่น ปรากฏการณ์นี้จะคล้ายการก่อตัวของการเกิดขบวนการแยกประเทศในภาคใต้เก่าก่อนสงครามกลางเมืองหรือไม่ ต้องติดตามต่อไป แต่ฟังจากเสียงและอารมณ์ของมวลชนทรัมป์ที่บุกยึดคองเกรสวันนั้น ชัดเจนว่าพวกเขาพร้อมที่จะล้มรัฐบาลกลางพรรคเดโมแครตที่เป็นเสรีนิยมและซ้ายสังคมนิยมต่างๆ ลงไปแน่นอน ไม่มีการประนีประนอมอีกต่อไป

มรดกอันต่อไปคือ ระบบยุติธรรม โดยเฉพาะการสร้างระบบพรรคพวก ที่บ้านเรารู้จักกันในศัพท์ว่า ‘ระบบอุปถัมภ์’ ที่นักวิชาการอเมริกันมาศึกษาเรื่องเมืองไทยแล้วสร้างให้คนไทยเชื่อว่าระบบสังคมวัฒนธรรมที่กำกับการใช้และได้อำนาจแบบไทยๆ นั้นมาจากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย ทำให้ระบบแบบไทยๆ นั้นมักไม่ใช้เหตุผลหรือความถูกต้อง หากแต่เชื่อฟังตามอำนาจของผู้เป็นใหญ่เท่านั้น มาตอนนี้ผมพบว่าการเมืองอเมริกันก็กำลังดำเนินไปบนตรรกะและความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ทำนองเดียวกัน อะไรที่ทรัมป์ต้องการ วุฒิสภาที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ก็จะสนองตอบให้อย่างไม่บิดพริ้วหรือมีปัญหาขัดแย้งกันภายใน กรณีที่อื้อฉาวไปทั่วโลก คือการที่ทรัมป์สามารถเลือกและแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดได้ถึง 3 คนในสมัยแรกของประธานาธิบดี และเป็น 3 คนที่เป็นอนุรักษนิยมเอียงขวาศรัทธาศาสนาเต็มรูปแบบ อย่างที่ไม่อาจคิดได้ว่าองค์ประกอบของผู้พิพากษาศาลสูงสุดจะเป็นไปได้ วุฒิสภายุครีพับลิกันครองเมืองใช้ทั้งเวทมนตร์และกลโกงโดยไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ

กล่าวโดยสรุปสี่ปีของทรัมป์ เขาสามารถใช้อำนาจของประธานาธิบดีและความโลภส่วนตัวจัดการเปลี่ยนแปลงธาตุแท้และความคิดความเชื่อที่เคยมีมาในระบบประชาธิปไตยเสรีแบบอเมริกันให้มาเป็นประชาธิปไตยแบบทรัมป์ที่ไม่เสรีได้อย่างอัศจรรย์ใจ จึงน่าจับตาดูต่อไปว่า ฝ่ายพรรคเดโมแครตและประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะหาทางและวิธีการอย่างไรในการแก้ปมเงื่อนของประชาธิปไตยที่ทรัมป์และพรรคพวกได้ผูกมัดไว้ คงจะเป็นบทความครั้งหน้าๆ ที่น่าตื่นเต้นต่อไป


อนาคตประชาธิปไตยโลก


ประเด็นที่สองในการถกเรื่องประชาธิปไตยโลกคือสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเป็นในอนาคต คำตอบของผมออกมาตรงข้ามกับที่บรรดานักวิชาการรัฐศาสตร์และอื่นๆ รวมถึงนักสื่อสารมวลชนที่พากันออกมาสรุปว่า บัดนี้ยุคประชาธิปไตยภิวัตน์ (democratization) ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ต่อต้น 21 นั้น ได้มาถึงทางตันหรือสุดซอยแล้ว ขณะนี้ประชาธิปไตยทั่วโลก รวมทั้งในอเมริกาและยุโรปกำลังเข้าสู่ระยะของการเสื่อมถอยและทำลาย เห็นได้จากตัวอย่างมากมายหลายแห่ง รวมทั้งล่าสุดในกรณีบุกยึดคองเกรสของมวลชนทรัมป์ ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยเพียงแค่ในปรากฏการณ์ คือภาพและความขัดแย้งที่ย้อนแย้งกับหลักการและทฤษฎีประชาธิปไตยแบบคลาสสิก แต่ในทางเนื้อหาและความเป็นจริงของความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศต่างๆ นี้ ผมไม่มองว่ามันเป็นคำตอบ หรือสัญญาณของความเสื่อมทราม หรือการทำลายประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม ผมกลับคิดว่าบัดนี้เรากำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยของประชาชนอีกวาระหนึ่ง แต่ในรูปแบบที่ไม่เหมือนก่อน และไม่ดำเนินหนทางและวิธีการในการเป็นประชาธิปไตยแบบแต่ก่อนนี้

ประการแรก จุดหมายไม่ได้อยู่ที่การได้ชัยชนะในการเป็นรัฐบาล ในการช่วงชิงอำนาจรัฐมาเป็นของผู้ประท้วง ดังนั้นขบวนการประชาชนที่ต่อสู้ ออกมาประท้วง ต่อต้าน คัดค้านประเด็นปัญหาต่างๆ จึงไม่มีกลุ่มหรือพรรคการเมืองในรัฐสภามาร่วมหรือหนุนหลัง ถ้ามีก็เป็นแบบส่วนบุคคลไม่ใช่ทางการ

ประการที่สอง ประเด็นที่จุดไฟให้แก่การประท้วง หลายๆ ที่มาจากปมเงื่อนของความขัดแย้งในปริมณฑลของอัตลักษณ์ ความเป็นตัวของตัวเอง ในทางเพศสภาพ ในทางชาติพันธุ์ ในทางศาสนา ในทางอาชีพ ในการใช้ชีวิตต่างๆ นานา ส่วนใหญ่มาจากปัญหาทางวัฒนธรรมความคิดและค่านิยมมากกว่าปัญหาทางการเมืองในระบบแบบสมัยก่อน แน่นอนว่าเมื่อก่อรูปเป็นขบวนการแล้ว การใช้วาทกรรมและอุดมการณ์ทางการเมืองย่อมหลีกไม่พ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลและอำนาจรัฐที่ผู้นำใช้ในการปราบปราม ถึงตอนนี้วาทกรรมสิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมือง ความยุติธรรมทางอาญา ต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับการต่อสู้ต่อไป ในระยะยาวขบวนการต่อสู้จึงเปลี่ยนเข้าสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีรัฐเป็นเป้าหมายด้วย

นักสังเกตการณ์ให้ความเห็นว่า ในความเป็นจริงการประท้วงหรือประชาธิปไตยที่ลงถนนนั้นมีโอกาสชนะน้อยมาก ผมเห็นด้วยสำหรับบางประเทศ เช่น รัสเซีย เบลารุส จีน(ฮ่องกง) หรือแม้ในพม่า ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรให้ลึกซึ้งมากมาย แค่มองเห็นทรัพยากร กำลังอาวุธและระบบเศรษฐกิจที่เคลื่อนตัวอยู่ ก็พอเดาได้ว่าโอกาสที่ขบวนการประชาชนบนถนนจะเอาชนะเหนือรัฐบาลของพวกเขานั้นเป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ นอกจากจะเป็นรัฐบาลที่มีใจเป็นธรรมจริงๆ และมีความรู้สึกของปุถุชนสามัญชนด้วย ก็จะยอมรับและเข้าใจความต้องการของผู้ประท้วงได้ แต่นั่นก็เป็นนิทานก่อนนอน ตอนนี้จะหารัฐบาลไหนในโลกนี้ทำยายาก มีแต่รัฐบาลและผู้นำรัฐที่แย่งซีนกันเป็นผู้ร้ายมากกว่าเป็นผู้ดี?

ผมสรุปแนวคิดและพลังผลักดันผู้คนมวลชนเล็กๆ น้อยๆ ที่พากันออกมาลงถนนว่า มาจากหลักคิดทฤษฎีที่ในอดีตเคยใช้สั่งสอนแต่เฉพาะบรรดาผู้ปกครองผู้มีบุญบารมีและความวิเศษเหนือมนุษย์ทั้งนั้น ไม่ว่าหลักความจริง ความดี ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันในทางนามธรรม ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนถูกสอนและใช้อบรมบ่มเพาะบรรดาท่านผู้นำซึ่งเป็นคนวิเศษของเรามาก่อนแล้วทั้งนั้น โชคดีที่ในอดีตหลายร้อยปีมานั้น ไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีการเดินทางติดต่อ ไม่มีอะไรอีกหลายร้อยอย่างที่ทำให้ราษฎรตาสว่างและเกิดดวงตาเห็นธรรมที่เป็นความจริงทางภววิสัย ที่ไม่ใช่ความจริงตามอุดมการณ์ของผู้ปกครองส่วนน้อยเท่านั้น ทำให้สิ่งที่ผู้ปกครองสอนให้เราทำ แต่พวกเขาแทบไม่เคยทำตามเลย ก็ยังอยู่กันมาได้เพราะชาวบ้านเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจในความวิเศษของผู้นำ ความเปลี่ยนแปลงที่มากับโลกาภิวัตน์ได้ทำลายม่านหมอกบังตาเหล่านั้นลงทีละน้อย กระทั่งบัดนี้แทบไม่เหลืออะไรอีก นั่นคือมูลเหตุที่เป็นกำลังทำให้มวลชนพากันรวมตัวกันได้ ไม่ใช่เพราะถูกปลุกระดมจากคอมมิวนิสต์คอมมิวหน่อยที่ไหนอีกแล้ว ประชาธิปไตยลงถนนจึงได้เกิดขึ้นมาด้วยประการฉะนี้

คำถามที่มีผู้ตอบไปแล้วพอสมควรคือ แล้วอนาคตของประชาธิปไตยลงถนนแบบที่ว่านี้จะดำเนินไปอย่างไร จะรุนแรง เลือดนองถนน หรือจะประท้วงกันแบบรายวันรายสัปดาห์และรายเดือนไปจนกว่าจะหมดแรงกันไปข้างหนึ่งหรือ? มีทั้งความเห็นที่เป็นด้านลบและที่เป็นด้านบวก  ผมให้คำตอบอย่างนามธรรมที่เป็นลักษณะทั่วไป กล่าวคือในประเทศที่มีระบบการเมืองประชาธิปไตยที่ทำงานได้ดีพอสมควร เช่น สหรัฐฯ และยุโรป การเมืองบนถนนจะไม่นำไปสู่วิกฤตรุนแรงที่ทำลายระบบและโครงสร้างที่เป็นอยู่แต่อย่างใด หากจะสามารถประสานการเมืองการประท้วงบนถนนให้เข้ากับการเมืองในสภาผู้แทนฯ ได้พอสมควร เช่น ในอเมริกา ส.ส.พรรคเดโมแครตกำลังเสนอกฎหมายปฏิรูปอำนาจตำรวจอย่างขนานใหญ่ เพื่อตอบสนองการเดินขบวนประท้วงขนาดใหญ่ทั่วประเทศใน Black Lives Matter นี่เป็นตัวอย่างของการหนุนช่วยกันระหว่างการเมืองลงถนนกับการเมืองสถาบันในรัฐสภาคองเกรสและทำเนียบขาว ซึ่งมีมาเป็นช่วงๆ ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายและการปฏิบัตินโยบายของรัฐบาลอเมริกันที่ดำเนินมานับแต่การเคลื่อนไหวของขบวนการสิทธิพลเมืองคนผิวดำในทศวรรษ 1960

ในส่วนของประเทศที่ระบบประชาธิปไตยไม่ตั้งมั่น เช่น ไทย พม่า กัมพูชา ผลกระเทือนด้านบวกของการเมืองลงถนนยังไม่แจ่มชัดนัก และไม่อาจประเมินได้อย่างเป็นระบบ เพราะการเมืองที่ผ่านมาถูกอำนาจเผด็จการและระบบอุปถัมภ์เข้ามาบ่อนทำลายและเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของโครงสร้างอำนาจการเมืองมาตลอด ข้อน่าสังเกตอีกอันคือการเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ต่างอย่างมากจากการเคลื่อนไหวในคลื่นลูกแรกของการเกิดประชาธิปไตยในโลก อย่างในสมัยเรียกร้องเอกราช จากสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึง 2 ที่เป็นการเรียกร้องทางอุดมการณ์การเมือง เช่น เอกราช อธิปไตยของชาติ โดยที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมยังเล็กและอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตมีอย่างจำกัด แต่การเรียกร้องในคลื่นลูกที่สี่ เป็นการเรียกร้องที่มาจากความรู้สึกของความเป็นคนที่มีอิสระและความต้องการของตนเองได้ ไม่ใช่มาจากอุดมการณ์นามธรรมของรัฐดังแต่ก่อน โดยที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ขยายเติบใหญ่และแปลงรูปไปสู่ภาคการผลิตที่เป็นเหมือนจริงและไม่ใช่วัตถุจับต้องได้อย่างเดียว ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารเป็นสินค้าที่ขายดีและให้กำไรแก่บริษัทผู้ผลิตและเป็นเจ้าของอย่างมหาศาล ส่วนผู้ใช้ก็ร่วมในการผลิตแต่ไม่ใช่แรงงานที่เป็นของนายทุนเจ้าของผลิตภัณฑ์เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป ทำให้ผู้ใช้และผู้ผลิตสามารถมีปัจจัยในการครองชีพได้อย่างพอมีอิสระและพออยู่ได้ตราบที่ระบบทุนนิยมโลกยิ่งพัฒนาไปกับเทคโนโลยี การจำต้องพึ่งพาอาศัยรัฐและหน่วยงานรัฐบาลในการดำรงชีวิตเหมือนรุ่นพ่อแม่ลดน้อยลงไปอย่างมาก ซึ่งมีผลต่อทัศนะและโลกทัศน์ของคนรุ่นใหม่ๆ เหล่านี้ที่ดูเหมือนไม่ยำเกรงสถาบันและโครงครอบความคิดแบบโบราณๆ ทั้งหลายสักเท่าใดนัก

และทั้งหมดนี้คือข้อคิดเห็นใน ‘ถกอนาคตประชาธิปไตยในโลกยุคหลังทรัมป์’ ของผม


ภาพจาก Chairman of the Joint Chiefs of Staff

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save