fbpx
ความลับและความรัก Possession: A Romance

ความลับและความรัก Possession: A Romance

‘นรา’ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

นิยายเรื่อง Possession (ชื่อเต็มคือ Possession: A Romance แต่นิยมเรียกสั้นๆ มากกว่า) เป็นผลงานของ เอ.เอส.ไบอัตต์ (นามปากกาของ เดม อันโตเนีย ซูซาน ดัฟฟี) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1990 และได้รางวัล Man Booker Prize ในปีเดียวกัน

ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อ ‘นิยายรักข้ามศตวรรษ’ แปลโดยอาจารย์นพมาส แววหงส์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2546 โดยแพรวสำนักพิมพ์

ถึงตอนนี้ก็น่าจะเป็นหนังสือที่ ‘หายาก’ ไปเรียบร้อยแล้ว และอาจจะพอมีโอกาสพบเจอได้บ้างตามร้านขายหนังสือมือสอง หรือห้องสมุดบางแห่ง (ที่หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีแน่ๆ ครับ)

เหตุผลที่ผมเลือกหยิบนิยายเรื่องนี้ -ซึ่งไม่สะดวกและไม่ง่ายต่อการเสาะหามาอ่าน- มาแนะนำเล่าสู่กันฟัง ก็เพราะเป็นนิยายที่โดดเด่น น่าสนใจ และท้าทายผู้อ่านเอามากๆ

ในด้านบวก Possession ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างท่วมท้น จนได้รับคัดเลือกให้ติดกลุ่ม 1 ใน 100 นิยายภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดจากปี 1923-2005 โดย Time Magazine

ในด้านลบ มันเป็นงานคลาสสิกร่วมสมัยที่แบ่งแยกผู้อ่านเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจน คือฝ่ายที่หลงรักและฝ่ายที่เกลียดนิยายเรื่องนี้

ผมอยู่ครบทั้ง 2 ฝั่งเลยนะครับ ตอนอ่านครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผมทนติดตามไปได้ประมาณ 100 หน้าแล้วก็ต้องยอมแพ้ เลิกอ่านกลางคัน เพราะรำคาญ ‘จริต’ ทางภาษาที่ประดิดประดอยจนหรูหราอลังการ เต็มไปด้วยคำพูดคำจาวกวน อ้อมค้อม และคลุมเครือ ตลอดจนแง่มุมเกี่ยวกับการแสดงทัศนะของตัวละครที่มีทั้งกวียุควิกตอเรียนและนักวิชาการทางวรรณกรรมยุคปัจจุบัน ทำให้เนื้อหาหลายฉากหลายตอน ‘อ่านยาก เข้าใจยาก’ กลายเป็นยาขมที่ชวนให้นึกเข็ดขยาด (นับจากนั้นมา ผมไม่กล้าหยิบ Possession มาอ่านอีกเลย)

อย่างไรก็ตาม ผมพอจะรู้สภาพและชั่วโมงบินการอ่านของตนเองในตอนนั้นอยู่เหมือนกันนะครับ ว่าคลุกคลีใกล้ชิดกับงานเขียนเน้นความบันเทิงจำพวกเบสต์เซลเลอร์เป็นหลัก ส่วนบรรดานิยายคลาสสิกหรืองานเขียนที่ยกย่องกันว่าเป็นเลิศ ยังมีประสบการณ์จำกัด จึงไม่แปลกที่จะแพ้น็อกราบคาบในการขึ้นชกข้ามรุ่น

ขอสารภาพว่า ระหว่างการอ่าน Possession ‘นัดล้างตา’ สถานการณ์ก็แทบไม่มีอะไรผิดจากเดิมเลยสักนิด ตรงไหนที่เคยเป็นยาขมก็ยังคงเป็นยาขม เว้นเสียแต่ว่า การติดตามอ่านไปตลอดรอดฝั่งจนจบลุล่วง ทำให้ผมได้พบอีกส่วนที่น่าประทับใจเหลือเกิน และมีโอกาสย้อนมาทบทวนภาพรวมทั้งหมด รวมถึงเข้าใจความจำเป็นในการมีอยู่ของยาขม

Possession นั้น ได้รับการนิยามจัดประเภทว่าเป็นงานเขียนจำพวก Metafiction

ศัพท์วรรณกรรมนี้ยังไม่มีคำบัญญัติเป็นภาษาไทย แต่นักวิชาการและนักวิจารณ์หลายท่าน แปลและเรียกขาน (อย่างไม่เป็นทางการ) ออกมาคล้ายๆ กันว่า ‘เรื่องแต่งที่พูดถึงเรื่องแต่ง’ (อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์), ‘บันเทิงคดีที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์บันเทิงคดี’ (อาจารย์อิราวดี ไตลังคะ) และ ‘เรื่องเล่าที่เล่าถึงตัวมันเอง’ (อาจารย์นพพร ประชากุล)

บทความชื่อ ‘เมตาฟิกชัน ในงานเขียนเรื่องสั้นสมัยใหม่ของไทย’ โดยอาจารย์รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ อธิบายไว้ว่า “Metafiction เป็นเรื่องแต่งที่มีลักษณะการเล่าเรื่องซ้อนกัน เนื้อหาของเรื่องที่เล่า ที่แท้คือกระบวนการแต่งเรื่องนั้นเอง หรืออาจเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ได้ว่าเป็นการแสดง ‘เบื้องหลังการถ่ายทำ’

โดยปรกติแล้ว เรื่องเล่าบันเทิงคดีมักจะพยายามทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าเรื่องที่เล่านั้นเกิดขึ้นจริงๆ แต่เรื่องเล่าในลักษณะเมตาฟิกชัน จะพยายามให้ผู้อ่านตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังอ่านเรื่องที่ผู้แต่ง ‘ผูก’ ขึ้น หาใช่เรื่องจริงไม่ จุดเด่นของเรื่องเล่าที่ใช้กลวิธีเล่าเรื่องแบบนี้ คือ กระตุ้นให้ผู้อ่านสำนึกในพลังอำนาจของความจริงและความลวง”

ถ้าหากคำว่า Metafiction ชวนให้รู้สึกว่าเป็นนิยายที่ต้อง ‘ปีนบันไดอ่าน’ มากเกินไป ยังมีอีกนิยามจากนักวิจารณ์ เทียบเคียงง่ายๆ ว่า Possession เป็นส่วนผสมระหว่าง ‘นิยายสืบสวนสอบสวน’ กับ ‘นิยายว่าด้วยการคบชู้นอกใจ’

พล็อตเรื่องคร่าวๆ ของ Possession เล่าถึง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างยุคสมัย ส่วนแรกเป็นเรื่องราวในปัจจุบัน (ปี 1986) อีกส่วนเป็นอดีตย้อนยุคไปยังสมัยวิกตอเรียน โรลันด์ มิเชลล์ นักวิชาการด้านวรรณคดี ค้นข้อมูลเอกสารที่หอสมุดลอนดอน เกี่ยวกับกวีคนสำคัญสมัยวิกตอเรียน นามว่า แรนดอล์ฟ เฮนรี แอช และได้พบกระดาษที่ใช้คั่นหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นต้นร่างจดหมายเขียนถึงสตรีที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร เนื้อหาเหมือนพยายามขอสานต่อความสัมพันธ์ ทำความรู้จักกันมากขึ้นหลังการพบเจอในงานเลี้ยงอาหารเช้าที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนัก ซึ่งทั้งสองพูดคุยกันอย่างถูกคอในเรื่องบทกวี

โรลันด์ลักลอบนำร่างจดหมายดังกล่าวออกมาจากห้องสมุด ปกปิดไม่ให้เพื่อนร่วมงานทราบ เกิดความหลงใหลเหมือนถูกครอบงำจากเบาะแสเล็กน้อยที่เพิ่งเจอะเจอ และเชื่อว่ามันอาจนำไปสู่การค้นพบ ‘เรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลัง’ บางอย่าง ซึ่งอาจส่งต่อการศึกษาผลงานของกวีผู้ยิ่งใหญ่ชนิดพลิกโฉมเปลี่ยนมุมมอง ผิดจากเดิมไปไกล (โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ ที่มาในการสร้างผลงาน รวมทั้งการสื่อความหมายแอบแฝง)

แล้วการสืบเสาะเหตุการณ์ในอดีตก็นำพาโรลันด์ไปรู้จักกับนักวิชาการสาวสวย ดร.ม็อด เบลีย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกวีหญิง คริสตาเบล ลาม็อตต์ ที่มีผลงานโดดเด่น แต่ชื่อเสียงไม่โด่งดังเท่าที่ควรและถูกแวดวงวรรณกรรมมองข้าม

โรลันด์สันนิษฐานว่า คริสตาเบลน่าจะเป็นหญิงสาวที่กวีผู้ยิ่งใหญ่ตั้งใจเขียนจดหมายถึง การมาขอพบดร.เบลีย์ ทำให้เจอข้อมูลเพิ่มเติมสนับสนุนความเชื่อที่ตั้งสมมติฐานไว้ และบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่า กวีทั้งสองในอดีตอาจมีความสัมพันธ์ต่อกันในฐานะชู้รัก (แรนดอล์ฟ เฮนรี แอชแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ส่วนคริสตาเบลใช้ชีวิตคู่อยู่กับหญิงสาวชื่อบลานช์ โกลเวอร์)

ทั้งโรลันด์และม็อด จึงร่วมมือช่วยกันสืบค้นข้อมูลหลักฐาน จนนำไปสู่ความผูกพันใกล้ชิด และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโรลันด์กับแฟนสาวชื่อวาล ห่างเหินและระหองระแหงสั่นคลอน มิหนำซ้ำ ‘ความลับ’ ที่ทั้งสองค่อยๆ พบเจอ ก็เริ่มส่อพิรุธชวนสงสัยในหมู่นักวิชาการที่ศึกษาผลงานและชีวิตของแรนดอล์ฟ เฮนรี แอช กับคริสตาเบล ลาม็อตต์ จนกระทั่งเกิดการแข่งขัน ไล่ล่า เพื่อช่วงชิงการเป็นผู้ค้นพบความลับ

เรื่องคร่าวๆ ที่ผมเล่ามา ไม่ต่างจากนิยายรักน้ำเน่าทั่วๆ ไป และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ มีทั้งความบังเอิญประจวบเหมาะ มีทั้งการพัวพันเกี่ยวโยงของกลุ่มตัวละครที่ชวนให้รู้สึกว่า ‘โลกแคบจังเลย’ ตลอดจนมีทั้งตัวโกง ตัวอิจฉา ครบถ้วน

จะมีความแตกต่างจากนิยายรักดาดๆ อยู่บ้าง ตรงที่อุดมไปด้วยฉาก ‘นักวิชาการคุยกัน’ ตีความบทกวีของแอชกับลาม็อตต์ ผ่านหลากหลายทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็นโพสต์โมเดิร์น โครงสร้างนิยม จิตวิเคราะห์ สตรีนิยม ฯ แต่โดยรวมแล้ว ยังเป็นนิยายรักที่ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือ การใช้เหตุการณ์ปัจจุบัน (ซึ่งเป็นนิยายรักที่ไม่ค่อยได้ความนัก) ทำหน้าที่ขับเคลื่อน สร้าง ‘เรื่องแต่ง’ หรือ ‘นิยายรัก’ อีกเรื่องขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ นั่นคือ ความสัมพันธ์ลับระหว่างแรนดอล์ฟ เฮนรี แอชกับคริสตาเบล ลาม็อตต์ ซึ่งมีจุดสะเทือนใจ เหตุการณ์ บรรยากาศของยุคสมัย วิธีคิดและมุมมองของตัวละคร ลีลาทางภาษาและพรรณนาโวหารต่างๆ รวมแล้วมีความเป็นนิยายสมัยวิกตอเรียนสมบูรณ์แบบราวกับเขียนขึ้นในสมัยนั้นจริงๆ

ที่เหนือชั้นมากๆ คือ ผู้อ่านรู้ตั้งแต่ต้น (และรู้ตลอดเวลาการอ่าน) ว่า แรนดอล์ฟ เฮนรี แอช กับคริสตาเบล ลาม็อตต์ เป็นตัวละครสมมติ ไม่ใช่บุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง แต่พร้อมๆ กันนั้นก็รู้สึกทุกชั่วขณะเช่นกันว่า เอ.เอส.ไบอัตต์ทำให้ตัวเอกทั้งสอง มีเลือดเนื้อ มีชีวิต และ ‘จริง’ เหลือเกิน

ความรู้สึกเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการตกแต่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น การพรรณนาถึงภาพเหมือนของแรนดอล์ฟ เฮนรี แอช ทั้งท่วงทีลีลาในการวาด การใช้สี ฝีแปรง แล้วบอกกับผู้อ่านว่า ภาพนี้วาดโดยศิลปินอิมเพรสชันนิสต์อย่างมาเนต์

รายละเอียดเชื่อมโยง ผสมผสานระหว่างตัวละครในเรื่องแต่งกับบุคคลจริงทำนองนี้มีอยู่มากมาย ด้วยวิธีการสารพัดสารพัน และทำได้แนบเนียนมาก

แต่จุดใหญ่ใจความในการสร้างความจริงให้กับเรื่องแต่งที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือ การเล่าแบบไม่ได้เขียนออกมาเป็นนิยาย เรื่องราวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรนดอล์ฟ เฮนรี แอช กับคริสตาเบล ลาม็อตต์ ‘เกือบ’ ทั้งหมดปรากฎผ่านเอกสารข้อมูลที่คู่ตัวเอกในปัจจุบันสืบค้นจนพบ ไม่ว่าจะเป็นจดหมายที่กวีทั้งสองเขียนถึงกัน, ไดอารีของผู้เกี่ยวข้อง, ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์, งานวิจัยและหนังสือชีวประวัติที่คนรุ่นหลังเขียนถึง

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญพอๆ กัน คือ มีการเอ่ยถึงผลงานบทกวีหลายต่อหลายชิ้นของแรนดอล์ฟ เฮนรี แอช กับคริสตาเบล ลาม็อตต์ และเมื่อถึงจังหวะเหมาะ ก็มีผลงานเหล่านั้นแทรกเข้ามาทั้งชิ้นงานให้ได้อ่านกันจริงๆ เพื่อเทียบเคียงกับเหตุการณ์เบื้องหลังในชีวิตจริงของกวี

ความประณีตมากและเก่งกาจมากของเอ.เอส.ไบอัตต์ คือ บทกวี (รวมทั้งจดหมาย) ของแอชกับลาม็อตต์ มีสำนวนโวหาร ลีลาทางวรรณศิลป์ที่แตกต่างกัน นี่ยังไม่นับรวมบันทึกประจำวัน จดหมาย (ของบุคคลอื่นๆ) รวมถึงหนังสือหลากยุคหลายเล่มที่ยกข้อความมาอ้างอิง ต่างก็มีลีลาผิดแผกกันชัดเจน (และโปรดอย่าลืมว่า ยังมีบทสนทนาเชิงวิชาการด้วยนะครับ)

พูดง่ายๆ ว่า เอ.เอส.ไบอัตต์เขียนนิยายเรื่องนี้ โดยมีภาษา ‘หลายสำนวน’ รวมทั้งภูมิความรู้แน่นหนาเกี่ยวกับสมัยวิกตอเรียนและงานศิลปะหลายแขนงในยุคนั้น จนสามารถเล่าเรื่องให้ได้ผลลัพธ์ตรงตามขนบของนิยายสมัยวิกตอเรียน ด้วยวิธีละเมิดหรือต่อต้านขนบชนิดสุดขั้ว

ตรงนี้ทำให้ผมถามเองตอบเองว่า มีความจำเป็นอันใดที่ต้องใช้วิธีเล่าเรื่อง ‘ละเมิด’ ขนบ ซึ่งเปลืองเรี่ยวแรงพลังงาน มิหนำซ้ำยังเขียนยากกว่าวิธีตรงไปตรงมา นอกจากคาดหวังผลด้านความแปลกใหม่

คำตอบเท่าที่นึกออกคือ ผลลัพธ์ของ Possession นั้นไม่ได้มีแค่ ‘ความเท่’ อย่างเดียว แต่ยังทำให้นิยายรักย้อนยุคเรื่องนี้ มีมิติความลึกและความสมจริงเพิ่มขึ้น

เรื่องความสมจริงนั้นได้กล่าวไปแล้ว ส่วนการสร้างมิติความลึกให้กับตัวละคร (ที่ไปไกลกว่านิยายวิกตอเรียนแท้ๆ) เกิดจากหลายๆ ปัจจัย เบื้องต้นคือ วิธีการเล่าที่ไม่เป็นไปตามขนบ ปะติดปะต่อเหตุการณ์จากหลายๆ ชิ้นส่วน ส่งผลให้ข้อมูลหลักฐานที่ตัวละคร (ในปัจจุบัน) รวบรวมมาได้ ‘ไม่ครบถ้วน’ และมีความลับอีกหลายอย่างที่ไม่รู้

พฤติกรรมและการตัดสินใจหลายๆ ครั้งของแรนดอล์ฟ เฮนรี แอชกับลาม็อตต์ จึงเป็นสิ่งที่ ‘เข้าใจยาก’ เต็มไปด้วยปริศนาที่บรรดาตัวละครในปัจจุบันพยายาม ‘ตีความ’ และ ‘สร้างคำอธิบาย’ ไปต่างๆ นานา ยิ่งตัวละครพระเอกนางเอกในอดีตล่วงลับไปแล้ว ยิ่งเกิดความสลับซับซ้อน (อย่างไรก็ตาม นิยายเรื่องนี้ก็เก๋าเกมในการให้เบาะแส หรือคำอธิบายย้อนหลัง ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจตัวละครได้ดีขึ้นด้วยวิธีและจังหวะเปิดเผยที่ชาญฉลาด)

มีเหตุการณ์ประมาณ 2-3 บท ที่ เอ.เอส.ไบอัตต์ เล่าเรื่องแบบใช้มุมมองของนักเขียนเป็นผู้รอบรู้ในสรรพสิ่ง ซึ่งแปลกแยกและโดดจากภาพรวมของเรื่องทั้งหมด ที่เล่าผ่านมุมมองของหลายๆ ตัวละคร

2-3 บทดังกล่าว นอกจากจะเป็นการเล่าไปสู่ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ที่ตัวละคร (ในปัจจุบัน) ไม่มีวันและไม่อาจจะหยั่งรู้แล้ว ยังเป็นการนำพาผู้อ่านเข้าใกล้ความรู้สึกนึกคิดเบื้องลึกของแรนดอล์ฟ เฮนรี แอชกับคริสตาเบล ลาม็อตต์

ว่ากันว่า เอ.เอส.ไบอัตต์เขียน 2-3 บทดังกล่าว เพื่อตอบโต้จอห์น ฟาวส์ (ผู้เขียนนิยายเรื่อง The French Lieutenant’s Woman) ซึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์ว่า มุมมองของผู้เล่าเรื่องในนิยายยุคศตวรรษที่ 19 มักทำตัวรอบรู้เหมือนพระเจ้า (ซึ่งผมเดาต่อเอาเองนะครับว่า วิธีเช่นนี้ ทำให้เรื่องแบน ไม่สมจริง กระทั่งว่าอาจชัดเจนเกินไป จนมีท่าทีเหมือนสั่งสอนและยัดเยียด)

ไบอัตต์แสดงให้เห็นว่า วิธีการดังกล่าวก็มีแง่บวกในการเข้าใกล้ความรู้สึกและชีวิตภายในของตัวละคร และทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกับพวกคอรัสในละครกรีก ทั้งช่วยเสริมการเล่าเรื่อง ตอกย้ำแก่นเรื่องสาระสำคัญ หรือแม้กระทั่งเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของตัวละคร

ขณะกำลังอ่าน ผมคิดและเข้าใจไปล่วงหน้าว่า ประเด็นใจความหลักของ Possession ก้ำกึ่งปนเปกัน ระหว่างเจตนาที่มุ่งวิเคราะห์งานศิลปะยุควิกตอเรียน (โดยเฉพาะบทกวี) หรือไม่ก็เป็นการเสียดสียั่วล้อบรรดานักวิจารณ์หรือนักวิชาการด้านวรรณกรรม ซึ่งไม่ว่าจะโน้มเอียงไปทางไหน การให้ตัวละครพูดคุยกันด้วยศัพท์แสงก็ล้วนยากเกินกว่าที่ผมจะเข้าใจ

ครั้นเมื่ออ่านจบ ผมก็เปลี่ยนความคิด แง่มุมทั้งหลายในย่อหน้าข้างต้นน่าจะทำหน้าที่อื่นมากกว่า แรกสุดคือ การสร้างบรรยากาศช่วยทำให้ชีวิตและผลงานของคู่พระเอกนางเอก มีน้ำมีเนื้อแลดูเป็นจริง ขั้นต่อมาเป็นเสมือนการประดับความเป็นปัญญาชนให้แก่พล็อตแบบนิยายรัก

ทั้ง 2 อย่างที่ผมคาดเดา ไม่รับรองความถูกต้องนะครับ แต่ที่ค่อนข้างมั่นใจคือ มันสะท้อนถึงความสนใจระดับหมกมุ่นลุ่มหลงของตัวละครทั้ง 2 ยุคสมัย ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่แก่นเรื่องว่าด้วย ‘การถือครอง’ และ ‘ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ’

นิยายเรื่องนี้พูดถึงการครอบครองเอาไว้ทุกบท หลากหลายระดับ นับตั้งแต่การเป็นเจ้าของวัตถุที่จับต้องได้ เลยไกลไปถึงแง่มุมอื่นๆ ความเป็นเจ้าของในเรื่องความรักและความสัมพันธ์ (ทั้งระหว่างสามีภรรยา, การเป็นแฟนกัน, พ่อแม่ลูก) กระทั่งการถือครองยึดมั่นความลับที่ค้นพบ ไปจนถึงเรื่องกรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์ทางวรรณกรรม

การถือครองหรือเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมใดก็ตาม เชื่อมโยงไปต่อได้อีกถึงการผูกมัด พันธะ การหวงแหน ความไม่เป็นอิสระ และการโหยหาถึงเสรีภาพ

คร่าวๆ ผมนึกได้เท่านี้ และทราบดีว่ายังสามารถคิดต่อให้เป็นระบบระเบียบกว่านี้ได้อีกมาก หากมีโอกาสได้อ่านซ้ำอีกสักรอบ

ผมควรจะบอกไว้ด้วยว่า Possession เป็นนิยายที่อ่านยากและอ่านง่ายปะปนกัน เป็นนิยายที่สนุกมากและน่าเบื่อมากสลับกันไปมาอยู่ตลอด

พ้นไปจากนี้แล้ว มันยังเป็นนิยายรักที่ตรึงใจสะเทือนอารมณ์ วิจิตรงดงาม และเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของผู้อ่านได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่ผมเคยอ่านมา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save