fbpx
Ordinary man's journey : ชีวิตล้ม-ลุก-คลุก-คลาน ของปรเมศวร์ มินศิริ

Ordinary man’s journey : ชีวิตล้ม-ลุก-คลุก-คลาน ของปรเมศวร์ มินศิริ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

ถ้า Facebook คือเว็บไซต์ที่เราเข้าบ่อยที่สุดในยุคสมัยนี้ ในยุคสมัยหนึ่ง เว็บไซต์สัญชาติไทยอย่าง Sanook และ Kapook ก็แทบเรียกได้ว่าเป็นชีวิตของวัยรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตต่อโมเด็ม

หากเราเคยเข้าอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เมื่อสักประมาณ 10-20 ปีที่แล้ว เว็บไซต์แรกที่ปรากฏในหน้าบราวเซอร์ไม่ใช่กูเกิลที่ครองตลาดเหมือนทุกวันนี้ แต่เว็บ Sanook หรือ Kapook แย่งชิงสัมผัสแรกในการเข้าอินเทอร์เน็ตจนเป็นความเคยชิน

เราอ่านข่าว ตรวจหวย ฟังเพลง ในเว็บเหล่านี้ หรือในวันที่ประกาศผลแอดมิชชั่น สองเว็บไซต์นี้ก็ไม่พลาดที่จะร่วมประกาศชี้ชะตาของเด็ก ม.6 ในยุคนั้นด้วย

ทั้งสองเว็บไซต์มีผู้ก่อตั้งคนเดียวกันคือ ปรเมศวร์ มินศิริ นักธุรกิจอินเทอร์เน็ต ที่เริ่มต้นชีวิตในวงการไอทีด้วยการเขียนหนังสือสอนใช้อินเทอร์เน็ต

sanook.com เกิดขึ้นมาก่อนในปี 2540 ก่อนที่ kapook.com จะตามมาในปี 2543 ชีวิตของปรเมศวร์ผกผันพอๆ กับสิ่งที่วงการไอทีต้องเจอ

ไม่ใช่ครั้งเดียวที่งานของเขาพบเจอคำวิจารณ์ และบ่อยครั้งที่เขาต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะความรู้เดิมที่มีไม่อาจต่อสู้ในโลกดิจิทัลที่เดินเร็วระดับมิลลิวินาที

101 นัดคุยยาวๆ กับเขาที่ฐานทัพ Kapook บริษัทที่เขาดูแลมาเกือบ 20 ปี และวันนี้ยังคงดำเนินต่อ บทสนทนาไล่เรียงตั้งแต่ก้าวแรกที่เขารู้จักคอมพิวเตอร์ พัฒนามาสู่นักเขียน นักธุรกิจ และนักเรียนในวัยที่บางคนอาจยอมแพ้ไปแล้ว เขารับมือกับความผิดพลาดอย่างไร ต่อสู้กับคำวิจารณ์อย่างไร และสู้กับโจทย์ใหม่ในชีวิตอย่างไร

บนโลกอินเทอร์เน็ต บันทึกสนทนาไว้ดังนี้

ปรเมศวร์ มินศิริ

ในยุคก่อนหน้านี้สัก 20-30 ปี อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่งอยู่ในวัยเตาะแตะแบเบาะ แต่ Sanook เป็นเว็บไซต์แรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกวงการอินเทอร์เน็ตไทย ณ ตอนนั้นคุณเริ่มสนใจเรื่องไอทีได้อย่างไร แล้วนำมาสู่การทำเว็บไซต์อย่างไรบ้าง

ผมเรียนในยุคที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ติดมือ ไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีโทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำ มีแต่โทรศัพท์บ้าน เก่าขนาดนั้น ผมเรียนวิศวะฯ มา เครื่องคิดเลขคือสิ่งที่หรูที่สุด

สักพักคอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามา ผมก็ซื้อคอมพิวเตอร์มาประกอบเองที่บ้าน เครื่องแรกที่ซื้อคือแอปเปิ้ล ทู มาจากไต้หวัน ซื้อแบบคนไม่มีตังค์ด้วยนะ ได้แค่ซื้อคีย์บอร์ด ฮาร์ดดิสก์ จอ แต่ไม่มีเงินซื้อเคส ตังค์หมดพอดี ทุกอย่างราคาถูกหมด เพียงเพื่อเราจะได้เล่นกับมัน ได้หัดเขียนโปรแกรมเล็กๆ แล้วก็เล่นเกมซะเยอะ

ตอนนั้นผมเรียน ปวช. พอเอนท์ติดมหา’ลัย คนอื่นเขาไปศูนย์คอมพ์ฯ หมด เรามีคอมพ์ฯ ที่บ้าน ซึ่งน้อยคนมากที่จะซื้อ เพราะมันไม่สนุก จอคอมพ์ฯ ยุคนั้นเป็นจอสีเขียวดำ แต่เราสนุกของเรา ชอบ ผมมองคอมพิวเตอร์เป็นของเล่น ไม่ใช่งาน

พอเรียนจบ ไม่ยอมทำงานวิศวะฯ ชอบเรื่องเขียนโปรแกรม ก็ไปทำงานบริษัทอยู่สักพัก ทำเกี่ยวกับเรื่องเขียนโปรแกรม เรื่องดูแลระบบ ในยุคนั้นคนทำงานด้านนี้ไม่ได้รับการยอมรับเท่านี้นะ ฝ่ายคอมพ์ฯ เป็นแผนกปลายแถว ทำงานซัพพอร์ตฝ่ายอื่น คนก็ถามเยอะว่า จบวิศวะฯ มาทำไมไม่ไปทำงานตรงสาย เราก็ไม่รู้ เรียนเพราะอยากเรียน แต่ไม่ได้แปลว่าจบแล้วอยากทำงานวิศวะฯ เรามาทำงานที่ไม่ตรงสายเท่าไหร่ แต่ก็แฮปปี้ดี

ผมออกมาเป็นลูกจ้างอยู่ไม่นาน ก็สตาร์ทอาชีพตัวเองด้วยการเป็นนักเขียน ตอนนั้นฐานะครอบครัวไม่ได้ดี ผมทำงานไป เรียนไป พอทำงานก็ไปสอนพิเศษคอมพิวเตอร์ช่วงเสาร์อาทิตย์หรือหลังเลิกงาน

เด็กสมัยนี้คงงงกับคำว่าโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ เพราะมันไม่มี เด็กสมัยนี้เป็นคอมพิวเตอร์แล้ว ไม่ต้องมีโรงเรียนสอน สมัยก่อนมีโรงเรียนสอนเขียนโปรแกรม สอนใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เราก็อยากได้เงิน ก็ไปสอนเขียนโปรแกรม ทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ ชีวิตก็มาหักเหตรงที่ว่า เรารู้สึกว่าตำราที่ใช้สอนไม่ค่อยเหมาะ เพราะบางที่ทำเป็นชีทเล็กๆ หรือใช้หนังสือที่อ่านเอง เอามาสอน

ผมเคยไปสอนที่ต่างจังหวัด แล้วไม่รู้ว่าลุงที่รดน้ำต้นไม้อยู่หน้าบ้านคือเจ้าของโรงเรียน แกชวนคุย แล้วก็ถามว่า มีอะไรดีบ้างมั้ย ผมก็เล่าไปเรื่อย แล้วก็บ่นว่าตำราไม่ได้เรื่อง สุดท้ายเขาก็เลยจ้างผมเขียนตำราให้ ผมเลยสตาร์ทจากการเขียนตำราให้สถาบันสอนคอมพิวเตอร์ สักพักก็รู้สึกว่างานเขียนก็สนุกดีนะ ทำไมเราต้องมาสอนด้วย ก็เลยเริ่มเขียน

ตอนนั้นยังไม่ได้คิดจะเริ่มทำเว็บไซต์ ?

ยัง แต่จุดหักเหสำคัญที่สุดในชีวิตก็คือ อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาในไทย ผมไปยืนดูหนังสืออินเทอร์เน็ตที่ขายในร้าน ก็คิดว่ายังไม่ใช่ ยังเป็นทฤษฎีมากไป เลยคิดต่อไปว่า เดี๋ยวเราจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต จนออกมาเป็นหนังสือชื่อ ‘Internet สำหรับผู้ใช้ Windows’ รู้ตัวอีกทีหนังสือก็ติดอันดับหนึ่งของซีเอ็ดบุ๊คอยู่ 16 สัปดาห์ ถือเป็นหนังสือเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเล่มที่สองของไทย ยุคนั้น วินโดวส์ 3.1 เข้ามาแล้ว

ผมอายุ 20 กว่า หาเงินหนึ่งล้านบาทได้ด้วยหนังสือหนึ่งเล่ม ขายเป็นหมื่นเล่มเลยนะ เพราะเป็นจังหวะพอดี เป็นเรื่องใหม่ในประเทศ หลังจากนั้นผมก็เลยเขียนแนวฮาวทูคอมพิวเตอร์เรื่อยๆ จนเจอวิกฤตปี 40 คนก็ซื้อหนังสือน้อยลง หนังสือที่ผมเขียนไปเยอะแยะ เริ่มจมสต๊อก ผมก็เรียบร้อยไปด้วย

ตอนนั้นเริ่มสัมผัสความลำบากครั้งแรก ก็เลยคิดว่าอาจจะต้องทำอย่างอื่น ตอนนั้นคนเริ่มอยากมีเว็บไซต์แล้ว เลยคิดว่าเราจะทำพื้นที่ให้เช่าในราคาที่ถูกกว่า เลยไปซื้อพื้นที่จากเซิร์ฟเวอร์ใหญ่ๆ ของเมืองนอก แล้วมาแบ่งให้เช่าเล็กๆ ขาย ปรากฏว่าไปได้

แต่เวลาก็เหลือ พอเหลือเราก็ฟุ้งซ่าน จะทำยังไงต่อ ผมก็ไปดูเว็บที่ดังๆ ของเมืองนอกชื่ออะไรบ้าง ก็ไปเจอ Yahoo! ผมไม่รู้ว่าใหญ่แค่ไหน ด้วยความที่เราเด็ก เลยอีเมลไปถามเขาเฉยเลยว่าคุณจะมาเปิดในไทยรึเปล่า เขาก็ตอบด้วยนะว่ายังไม่มีแผนมา ตอนนั้นเขาเล็ก เพิ่งเกิด

เสร็จแล้วผมก็ข้องใจ ไปเสิร์ชดูเว็บไซต์ของแอฟริกาใต้ก็ใช้ชื่อว่า วัวร์ยา ผมก็อีเมลไปถามเขาอีกว่าแปลว่าอะไร เขาบอกว่า ความสนุกสนาน ก็มีประมาณนี้ในหลายๆ ประเทศ งั้นเราทำแบบนี้ในไทยบ้างดีกว่า เลยเป็นที่มาของเว็บชื่อ Sanook ได้แรงบันดาลใจจากความหมายที่แปลว่าความสนุก ของ Yahoo!

เราก็ค่อยๆ เพิ่มฟีเจอร์ในเว็บ ยุคนั้นมีเพจเจอร์ เวลาจะส่งข้อความหาใครต้องโทรหาโอเปอเรเตอร์ พอลูกค้าเยอะ อินเทอร์เน็ตมาพอดี เราก็เปิดฟีเจอร์นึงขึ้นมา บางทีคนอยากส่งเพจเจอร์ แต่ไม่รู้จะส่งข้อความอะไร เราก็เอามาแชร์กันว่า ข้อความแบบไหนที่เราน่าจะส่งช่วงเช้า ช่วงกลางวัน ช่วงเย็น กู๊ดไนท์ เป็นกลอนสั้นๆ คนไทยชอบเล่นกันมากกว่าส่งเรื่องงาน ผลคือเว็บเราดัง สรุปแล้วเราก็เกิดด้วยการเป็น directory ของสิ่งต่างๆ แต่ตรงนั้นแค่ 3 ปีนะ ยังไม่เป็นธุรกิจด้วยซ้ำ มีรายได้เข้ามาน้อย แต่มีจุดเปลี่ยนคือตอนที่ Sanook โดนซื้อโดยกิจการใหญ่จากต่างประเทศ

ผมต้องเล่าก่อนว่า ก่อนหน้านี้ Yahoo! โตมาก คนเริ่มเก็งกำไรหุ้นอินเทอร์เน็ตกัน ทั้งที่กิจการ Yahoo! เองก็ยังไม่ได้ทำกำไรนะ แต่ตลาดฝรั่งเก็งกำไรเพราะตอนนั้นมีตลาดหุ้น Nasdaq เป็นหุ้นลงทุนทางเทคโนโลยี เหตุการณ์สำคัญคือ Yahoo! เอาเข้า Nasdaq แล้วราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นมาก

ทุกคนตกใจว่าบริษัทขาดทุนเอาเข้าได้ด้วยเหรอ เขาบอกว่าได้ คนซื้อหุ้นในราคาแพงด้วย เพราะมองว่าอาจจะมีกำไรในอนาคต จะยิ่งใหญ่ ก็เลยมีนักลงทุนบริษัทใหญ่จากแอฟริกาใต้มาเจรจาซื้อบริษัทแถบ Southeast Asia เยอะมาก ซึ่งผมก็อยู่ในหางเลขที่โดน offer ด้วย เราก็เลยตัดสินใจขายเว็บให้เขา ทั้งทีมก็โดนดึงไปบริษัทที่ตั้งใหม่ในไทย ผมก็เริ่มต้นบทบาทใหม่ในวงการอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มตัวแบบนี้

แล้วอะไรที่ทำให้เลิกทำ Sanook

พอถูกเทคไป อำนาจจัดการก็เป็นของฝรั่งหมดเลย ผมจำได้แม่นเลยว่า วันแรกที่ผมเข้าไป ผมทำอยู่สองเรื่อง หนึ่ง ผมวาดโลโก้ใหม่ คือตัว S แล้วมีเครื่องหมาย ! อยู่ในวงกลม ซึ่งโลโก้ใหม่นี้ก็ใช้อยู่นานมากเลยนะจนหลายคนจำได้

สอง ผมรับโทรศัพท์จากนักลงทุนเยอะมาก ประมาณว่าอยากจะมาลงทุนกับบริษัทนี้ด้วย ทั้งที่บริษัทนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากซื้อ Sanook คือแค่ขายต่อก็รวยแล้ว ตอนนั้นบรรยากาศการลงทุนในธุรกิจดอทคอมรุ่งเรืองจนเห่อกันขนาดนั้น แต่ทางนั้นก็เงินเยอะ เขาก็ไม่สนใจใคร คุยหมด แต่ก็ไม่ได้ร่วมลงทุนกับคนที่จะมาขอซื้อต่อในช่วงนั้น

ประเด็นก็คือเราพบว่ามีเรื่องเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นตั้งแต่ day 1 คือ จากที่เคยคาดหวังว่า Sanook จะได้รับการสนับสนุนให้โตเป็นเว็บหลักของประเทศ เรากลับโดนลดคนในทีมลง และกำลังของคนส่วนใหญ่ถูกนำไปผลักดันเว็บไซต์ใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายจากบริษัทแม่ คือต้องการจะตั้งแบรนด์หลักชื่อเดียวกันในระดับภูมิภาค Southeast Asia แผนการหลักคือจะเอาทั้งก้อนไปเข้า Nasdaq ด้วยในอนาคต

ความที่เขาไม่แน่ใจว่าผมจะเห็นด้วยกับแผนนี้มั้ย เขาก็เอาผมไปนั่งเฉยๆ ดูฝ่ายกลยุทธ์ที่ไม่มีลูกน้อง อยู่ประมาณ 3 เดือน จนสุดท้ายค่อยมาเปลี่ยนให้ผมคุมกำลังที่จะพัฒนาแผนหลักของเขา ซึ่งผมก็ตั้งใจทำตามนโยบายอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึงในเวลาต่อมาก็คือหลังจากนั้นอีกประมาณปีกว่าๆ เกือบสองปี Nasdaq ก็ล่มลงต่อหน้าต่อตาทุกคนในวงการอินเทอร์เน็ต

เคยได้ยินคำว่า ‘ฟองสบู่ดอทคอมแตก’ มั้ย คือเขาเลิกเห่อกันแล้ว บริษัทที่หุ้นเคยรุ่งๆ ร่วงหมด ตัวใหม่ที่จ่อคิวเข้าก็ไม่ได้เข้า บริษัทที่ผมทำอยู่จากที่โดนสเกลขึ้นมาจนเป็นขนาด 200 กว่าคน เพื่อแต่งตัวเตรียมจะเข้าตลาดหุ้น เลยต้องเปลี่ยนเป็นแผนลดคน ฝรั่งก็ถอยออกไป ตั้งคนอื่นขึ้นมาเป็นซีอีโอไทย จากจุดนั้นผมเริ่มรู้สึกว่าไม่สนุก จนสัญญาการทำงานครบ 2 ปีพอดี ก็ไม่ได้ต่อสัญญา ทางนั้นเขาก็พยายามดึงไว้ เสนอหุ้นที่บริษัทเมืองนอกให้ แต่ผมก็คิดว่าคงไม่ใช่แล้วละ ไม่ใช่ว่าเขาบริหารผิดนะ เขาอาจจะบริหารถูกนั่นแหละ เพียงแต่ว่าตลาดวาย จังหวะไม่ได้ ผมก็ออกมา

ตอนที่ทำสัญญากันว่าจะทำงานให้เป็นเวลาสองปี แต่ทางบริษัทขอให้ผมช่วยอยู่ดูแลต่อก่อนที่จะออกอีกสักพักเพื่อให้คนใหม่เข้ามารับช่วงได้อย่างเรียบร้อยมากที่สุด ทำให้อยู่ไปจริงๆ ประมาณ 2 ปี 7 เดือน และออกมาแบบสมูทราบรื่นดี เป็นการจากลากันแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Golden Handshake

หลังจากนั้นอีกหลายปี ทางบริษัทจึงปรับนโยบายใหม่ ยกเลิกแบรนด์ใหม่ที่สร้างขึ้นแล้วผลักดัน Sanook ขึ้นมาเป็นเรือธง จนในที่สุดสามารถขายกิจการต่อให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนได้ในมูลค่าบริษัทราว 800 ล้านบาท ในฐานะที่ผมเป็นผู้ให้กำเนิดเว็บนี้ผมก็รู้สึกสบายใจและดีใจด้วยที่นักลงทุนที่เคยลงทุนกับเรา ได้เก็บเกี่ยวดอกผลที่เกิดขึ้นจากการลงทุนวันนั้นในที่สุด

เลิกทำ Sanook แล้วมาสร้าง Kapook ตอนไหน

ผมออกมาแล้วไม่รู้จะทำอะไร ตอนนั้นมีแคมเปญโฆษณาให้ผมเป็นพรีเซนเตอร์ เกี่ยวกับการให้แรงบันดาลใจ ผมได้เงินมาประมาณ 2 แสนบาท เลยเอาเงินไปทำบุญกับคนพิการ ปรากฏว่าน้องคนพิการกลุ่มที่ผมไปทำบุญด้วยเอาเว็บมาขายผมอีกทีนึง แคมเปญโฆษณาที่ผมไปเป็นพรีเซนเตอร์ เกิดขึ้นตอนที่ผมขาย Sanook ได้ไม่นานครับ แต่ส่งผลให้ผมได้ไปทำบุญและรู้จักกับกลุ่มคนพิการมาตั้งแต่ช่วงนั้น

เขาบอกว่า พี่ ผมจดเว็บล้อเลียนพี่มาอันนึง ชื่อ Kapook ทำกันก๊องๆ แก๊งๆ ไม่ได้มีอะไรมากมาย ตอนแรกผมก็ยังลังเล สุดท้ายก็กลับมาทำใหม่ ไม่ได้บอกใคร แต่คนที่รู้จะมีคำถามเดียวว่า ช่วงนี้ฟองสบู่ดอทคอมแตกไปแล้ว ผมยังจะอยากทำเว็บไซต์ต่อไปทำไม

ตอนนั้นต้องนึกสภาพ ดอทคอมกำลังเละ คือตอนที่ฟองสบู่ดอทคอมกำลังขึ้น สื่อมวลชนอื่นพวกสิ่งพิมพ์ ทีวีทั่วโลก จะเกลียดดอทคอมมาก ที่เขาเกลียดเพราะคิดว่าดอทคอมมาแย่งชิงพื้นที่เขา พอดอทคอมแตกเขาลงข่าวกันแบบรุมกระทืบเลยก็ว่าได้ อาจฟังดูแรงแต่มันเป็นแบบนั้นจริงๆ คนก็ไม่กล้าเข้ามาเล่น สงครามกำลังมีซากปรักหักพังเกลื่อน คุณควรจะหนีออกมาจากสภาพนี้ แล้วทำไมถึงจะมาทำใหม่ ผมก็บอกว่า ไม่รู้เหมือนกัน นอกจากผมอยากทำในสิ่งที่ผมชอบ และยังเล็งเห็นผ่านซากปรักหักพังในตอนนั้นว่า อินเทอร์เน็ตน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ในอนาคต จึงตัดสินใจทำต่อ

จากจุดนั้นผมจำได้ ผมและน้องๆ เราทำกันมาอย่างเงียบๆ เป็นเวลาราว 7 ปีที่ไม่ใครสนใจผมเลย ไม่มีสื่อมวลชนคนไหนมาสัมภาษณ์ ผมก็ทำต๊อกแต๊กๆ ไปเรื่อยๆ จากนั้นคนเริ่มหันกลับมาทำเว็บ หลังจากที่หลายๆ คนลืมความเจ็บปวดไปแล้วว่าวงการดอทคอมเคยพังขนาดไหน คราวนี้เสียงในวงการจะเปลี่ยนไป คุณปรเมศวร์ลุกขึ้นมาทำเว็บใหม่แล้วเหรอ ผมบอกไม่ได้เพิ่งลุก ทำมา 7 ปีแล้ว เพียงแต่ว่า 7 ปีนั้นไม่มีใครสนใจ

แต่ถึงขั้นนั้นก็ตาม ก็ยังเทียบไม่ได้กับยุคนี้ คือยุคนี้เป็นยุคที่ดิจิทัลแรงมาก ถามว่าเราเอาตัวเองไปอยู่ถูกที่ถูกเวลามั้ย ผมอาจจะเป็นคนโชคดี คือเมื่อถึงเวลาที่ควรจะขาย ผมก็ขาย ผมขายก่อนที่ดอทคอมจะร่วง 2 ปี และก็เข้ามาในรอบใหม่นี้เร็วกว่าคนอื่นนานมาก พอดอทคอมเริ่มกลับมา หลายคนเพิ่งเข้ามาทำ แต่ผมทำไปแล้ว 7 ปี จึงเหมือนได้ออกสตาร์ทนำไปก่อนคนอื่นในรอบนี้

ทำไมตอนนั้น Kapook ถึงยังผุดขึ้นมาให้คนเห็นได้ ท่ามกลางการเกิดขึ้นของอีกหลายๆ เว็บ

เราจะตั้งคอนเซ็ปต์ก่อนว่าอยากทำอะไร ตอนที่เราเห็น Kapook มีมาสคอตเป็นรูปหมู บางคนเห็นเป็นที่เก็บเงิน แต่ผมเห็นเป็นคำว่าเรื่องหมูๆ สังคมไทยจะมีคำพูดว่าเรื่องหมูๆ แปลว่ามันง่าย ผมก็เลยวางไว้ว่า จริงๆ แล้วคนไทยอาจต้องการความสะดวก ความง่าย เราเลยจะทำเว็บที่ใช้งานง่าย ต้องเป็นเว็บที่ใครเข้ามาจะต้องไม่สับสนกับอะไรสักอย่างในนี้ คอนเทนต์อ่านง่ายด้วย

เราไม่ได้มีอะไรหวือหวา ไปของมันอย่างนี้ แล้วก็ได้รับความนิยมแบบนี้ บนพื้นฐานที่ว่าเราจะมีเว็บที่ใช้งานง่ายหนึ่งอัน

ปรเมศวร์ มินศิริ

คุณมีสองมิติ คือสายโปรแกรมเมอร์ สายคอมพิวเตอร์ และอีกสายคือนักธุรกิจ ณ ช่วงนั้นคุณเรียนรู้ธุรกิจจากไหน

ผมถูกมองว่าเป็นนักธุรกิจที่ฝรั่งเรียกว่า entrepreneur หรือผู้ประกอบการ ผมไม่ได้จบด้านนี้โดยตรง ผมแค่ตั้งธุรกิจเร็ว เพราะว่าเขียนหนังสือแล้วฟลุคออกมาถูกจังหวะเลยขายดี ก็เลยค่อยๆ ขยับมาเรื่อยๆ แล้ววงการก็เปลี่ยน ทำให้เราขยับมาทำด้านอื่น

ผมเจอปัญหาเหมือนกันว่า มีคนส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมรับในสไตล์การทำงานของผมในตอนนั้น เช่น สายโปรเฟสชันนอลที่ทำงานบริษัทขนาดใหญ่ มีแบบแผน เขาก็จะมองว่าผมออกแนวลูกทุ่ง มวยวัด ส่วนสาย academic จะรู้สึกว่าผมก็ไม่ใช่สายวิชาการอะไร เวลาผมพูด ผมก็จะพูดแบบผู้ประกอบการ แบบคนที่เรียนเอง เพราะฉะนั้นคนจะยอมรับในแง่ที่ว่าเราเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเรียนรู้ด้วยการทำเองมากกว่า

แม้กระทั่งเรื่องคอมพิวเตอร์ ผมก็ไม่มีดีกรีทางนี้โดยตรง ผมจบวิศวะฯ อุตสาหการ ผมชอบเรียนจากการลงมือทำ ไม่ได้เรียนแบบเน้นทฤษฎี บางทีเราตัดสินใจ ยังไม่รู้เลยว่าเอาทฤษฎีอะไรมาอธิบาย แค่รู้สึกว่าคงจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งบางทีก็ผิดนะ แต่บางอย่างก็ถูก

หลังจาก Kapook เข้ามาในหน้าสื่อแล้ว คนสนใจมากขึ้นแล้ว เส้นทางของ Kapook เติบโตขึ้นมาอย่างไรบ้าง

ทุกอย่างดูดีมาก มาพีคประมาณปี 2553 โฆษณาเริ่มเข้ามาออนไลน์เยอะ จนบริษัทมียอดขายบริษัทเป็นหลักร้อยล้าน ทำให้ผมเซอร์ไพรส์มาก จากที่เคยทำเว็บยุค Sanook ในช่วงปีแรกๆ ก่อนจะขายกิจการบางเดือนผมมีรายได้หลักหมื่นเองนะ ผมถามตัวเองว่าวงการนี้มาถึงตรงนี้ได้ไง แต่ก็แฮปปี้ พนักงานเราก็แฮปปี้ แต่เราแฮปปี้อยู่ได้ไม่กี่ปีหรอก ก็มีบทเรียนบทใหญ่ของเรา คือเรื่อง digital disruption

วันที่ตลาดเราใหญ่พอ เราจะพบว่าคู่แข่งไม่ได้มีแค่ในไทย เขามาจากต่างประเทศ ไม่ต้องมาเปิดบริษัทในเมืองไทยเลยด้วยซ้ำ แรกๆ จะเป็นพวก Hi5 ก็ยังไม่น่ากลัว แต่การรุกเข้ามาของเฟซบุ๊ก หรือไลน์ เราจะเริ่มเห็นแล้วว่า เวลาเขามา เทคโนโลยีหรือเซอร์วิสเขาเหนือกว่าเราเยอะ เขามาด้วยความพร้อม พอถึงจังหวะที่ทุกคนเคยฟันว่าตลาดอินเทอร์เน็ตจะโต โฆษณาจะโต เราจะสบาย ปรากฏว่าก็มีคนที่มาถึงปุ๊บ แล้วดึงเค้กก้อนใหญ่ไปเลย

นั่นแหละคือบทเรียนว่า ถึงเราจะเป็นเบอร์ต้นๆ ของไทย ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะปลอดภัย เราอาจจะเก่ง แต่เมื่อเทียบกับโลกแล้วไม่ได้เก่ง เราห่างเลยด้วยซ้ำ นั่นคือการบุกเข้ามาของเฟซบุ๊ก เริ่มเห็นผลมากขึ้นในปี 2555 ยาวมาถึงตอนนี้ ปี 2555-2557 หนักสุด เพราะเป็นช่วงแรกๆ ที่ต่างชาติเข้ามาทุ่มตลาด ผมคิดว่าช่วงนั้นหลายคนก็กังวลและเป็นปัญหามากกับการบุกของบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ แต่หลังจากนั้นพอกลไกราคาค่าโฆษณาเริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ เราถึงค่อยรู้สึกดีขึ้นบ้าง

ช่วงนี้อาจจะรู้สึกเบาขึ้น คนอื่นอาจมองว่าพ้นภัยแล้ว แต่ผมไม่ได้มองอย่างนั้น ผมว่ากำลังจะมีพายุลูกใหม่ที่ใหญ่มากๆ มาท้าทายในเร็วๆ นี้ ผมไปฟังทุกวงการพูดกันเรื่องกระแสดิสรัปชัน น่ากลัวกว่าที่คิด

ในปัจจุบัน ในแง่เนื้อหาโดยรวมของ Kapook เน้นไปทางไหน มี original content ของตัวเองเยอะแค่ไหน

ตอนแรก Kapook เปิดตัวขึ้นมาเป็น aggregator เราขอลิขสิทธิ์เนื้อหาจากสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสื่อออฟไลน์ เช่น นิตยสาร หนังสือพิมพ์ จากนั้นสื่อออฟไลน์เริ่มหายไป ไม่มีให้เรา aggregate แล้ว แต่ในทางกลับกัน ก็จะมีสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามา หลังๆ ก็เลยปนๆ กัน เริ่มมีผลิต orginal content บ้าง บางทีเราก็รวบรวมจากใครพูดอะไร เหตุการณ์ไหนน่าสนใจในโซเชียลฯ แล้วเอามาเล่าต่อ

ลองไปเสิร์ชดูคอนเทนต์เก่าๆ สัก 10 ปีที่แล้ว ยังมีคอนเทนต์จากนิตยสารดังๆ ในเว็บเราอยู่เลย ผมใช้วิธีคิดว่า บางเรื่องอยู่ในนิตยสาร พอลงแผงไปแล้วน่าเสียดาย ยังมีคนอยากอ่านอยู่ เราขออนุญาตใช้เนื้อหา แล้วสำนักพิมพ์อยากให้เราทำอะไร เราก็ทำเท่าที่จะให้ได้ ตอนนั้นมี business model เป็นแบบนั้น จนกระทั่งเขาเริ่มปิดไปทีละหัว

Kapook ไม่ได้วางโพสิชั่นเป็นเว็บไซต์ข่าวเป็นหลักแบบหนังสือพิมพ์ทั่วไป แต่วางตัวเป็นเว็บไซต์แนวไลฟ์สไตล์ คอนเทนต์จะมีสองส่วน เราจะเรียกว่า evergreen กับ trending สังเกตว่าเราไม่ใช้คำว่า news เพราะฉะนั้นเราแทบจะไม่มีผู้สื่อข่าว บางเรื่องคือติดเทรนด์ แต่อาจจะไม่ใช่ข่าวด้วยซ้ำ คอนเทนต์ที่เยอะที่สุดของเราคือ evergreen คือเนื้อหาที่สามารถดูได้ตลอด เช่น เรื่องท่องเที่ยว สุขภาพ ความสวยความงาม ฯลฯ แต่คอนเทนต์ที่คนดูเยอะ คือ trending ซึ่งมีความหมายครอบคลุมในมิติต่างๆ ที่คนให้ความสนใจในช่วงนั้นๆ

ขยับจากเรื่องการทำงาน ก่อนหน้านี้คุณเริ่มเรียนหนังสือ สมัครเรียนหลายคอร์สมาก อะไรที่ทำให้คุณอยากกลับไปเรียนอีกครั้ง

มีช่วงหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าตัวเองเอ้าท์ โลกไปเร็วมาก สมัยก่อน เราอยากรู้อะไรก็มีโรงเรียนสอน หรือมีคนทำหนังสือมาขายเป็นภาษาไทย ตอนหลังโลกไปเร็วจนกระทั่งหนังสือภาษาไทยก็ไม่มีใครทำออกมาได้ทันการณ์แล้ว อาจเป็นเพราะร้านหนังสือเริ่มดาวน์ด้วย โรงเรียนสอนก็เริ่มหายไป เหมือนเราหากินอยู่บนความรู้เก่าเยอะมากเลยนะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนาน ทุนเดิมเราเริ่มหมดไปเรื่อยๆ เราไม่เติมทุนใหม่เลย พอมารู้ตัวว่าต้องเติม โอ้โห เราปล่อยตัวเองเอ้าท์ขนาดนี้เลยเหรอ

ทีนี้เริ่มมีโอกาสการเรียนออนไลน์เข้ามา ยูทูปก็เริ่มมีคนสอน ผมก็เข้าไปเรียนในยูทูป จากนั้นมันก็เริ่มมีเว็บไซต์อย่าง Udemy ผมก็เข้าไปเรียน ผมพบว่าผมไม่ค่อยพัฒนาตัวเองเท่าไหร่ด้วยวิธีนี้ เหตุผลเพราะไม่มีอะไรมาบังคับตัวเอง ถ้าเราจะพัฒนาตัวเองได้ต้องมี commitment ที่เยอะกว่านี้ ผมก็เลยตั้งใจว่าจะเข้าไปเรียนหลักสูตรที่ต้องมี commitment สูงขึ้น

จัดสรรการเรียนของตัวเองยังไง

ผมแบ่งเฟสการเรียนอย่างนี้ ช่วงแรก 5 ปีที่แล้ว ผมเรียนสบายๆ มากเลย มีคลิปยูทูปก็ดู ซื้อ Udemy มา 300 บาทก็ดู เป็นอย่างนั้นอยู่ประมาณ 2 ปี เรียน Udemy ไปหลายคอร์สมาก เป็นความรู้ด้านไอที การพัฒนาเว็บไซต์และออกแบบแอพพลิเคชันมือถือสมัยใหม่ ไปจนถึงคอร์สการพัฒนาตัวเองอีกมากมาย ทำให้ยกระดับความรู้ให้ตามทันคนอื่นได้มากขึ้น แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่ทันโลกที่กำลังไปอย่างรวดเร็ว

ช่วงที่ 2 ผมเริ่มหาหลักสูตรที่ซีเรียสขึ้น จึงเริ่มลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยต่างๆ แบบ non-degree คือได้แต่ใบประกาศนียบัตร ไม่ใช่ได้ปริญญา ซึ่งมีเปิดสอนอยู่ในเว็บไซต์ชื่อ Coursera ที่นี่เขาดีลกับมหาวิทยาลัยดังๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยจากอเมริกา ผมก็ตกใจมากว่าเราเรียนมหาวิทยาลัยดังๆ ในราคานี้ได้จริงเหรอ คือมันถูกมากนะ เดือนนึงพันกว่าบาท เรียนอะไรก็ได้ บ้าไปแล้ว ผมก็เรียนภาษาอังกฤษ เรียนวิชาด้านไอทีที่สอนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยไปเยอะมาก หนึ่งปีผ่านไปได้ใบเซอร์ฯ มาหลายใบ ด้วยเงินพันกว่าบาทต่อเดือน สุดยอดมาก ตอนนั้นความรู้ผมขึ้นเร็วมาก

ช่วงการเรียนในเฟสที่ 3 เริ่มขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว ผมคิดว่าจะเริ่มซ่ากว่าเดิมดีไหม คือจะเรียนแบบต่อปริญญาโทไปเลย พอตั้งใจจะเรียน ผมพบว่ามีข้อจำกัดของคนอายุเยอะที่อยากเรียนต่อในไทย คือจะไม่ค่อยมีออปชั่นให้ผมเลือกมากนัก นอกจากจะเลือกเรียนไปทาง Executive MBA ซึ่งมีเปิดสอนกันหลายที่มาก แต่ถ้าผมไม่ได้อยากจะจบมาเป็นผู้บริหารมืออาชีพล่ะ ผมอยากจะเรียนสายเทคโนโลยี ผมอยากตามเทคโนโลยีให้ทัน ผมต้องทำยังไง ตอนนั้นคิดแบบนี้

ผมเลยทดลองค้นหาหลักสูตรในต่างประเทศดูบ้าง ก็พบว่าเมืองนอกมีการเปิดให้คนทำงานแล้วได้เรียนต่อสายเทคโนโลยีอยู่หลายที่ โจทย์ของผมคือ ผมอยากเรียนในสายไอทีและต้องลงเรียนแบบออนไลน์ได้ด้วย ผมมาค้นเจอที่นึง นั่งจ้องหน้าจออยู่นานว่าจะเลือกดีมั้ย คือที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เปิดสอนในหลักสูตรที่ผมอยากเรียนมากๆ และเหมาะกับผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว คือเปิดโอกาสให้เข้าห้องเรียนทางออนไลน์ได้ด้วย

ที่ผมชอบมากที่สุดคือที่นี่ไม่ได้เป็นหลักสูตรออนไลน์อย่างเดียว แต่มีวิชาบังคับให้เราต้องไปเข้าห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยจริงๆ ด้วย ทำให้เราได้มีประสบการณ์เหมือนนักศึกษาทั่วไป ที่การเรียนออนไลน์อย่างเดียวจะไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้ ซึ่งถ้าเก็บหน่วยกิตครบและส่งโครงการที่ได้ลงมือทำงานจริงที่เรียกว่า Capstone Project คล้ายๆ การทำวิทยานิพนธ์ แต่ต้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้จริงส่งไปด้วย ถึงจะได้รับปริญญา ผมก็เฮ้ย จะเอาดีมั้ยวะ ถ้าตัดสินใจเอา มันจะมี commitment ที่สูงกว่าที่เราคิดไว้ตอนแรกเยอะมาก แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจว่า แม้จะดูยาก แต่ก็อยากลองดู

ผมก็ไปขอทรานสคริปต์จากที่วิศวะ จุฬาฯ ตั้งแต่ผมจบมหาวิทยาลัยมาก็ไม่เคยสมัครงานที่ไหน จึงไม่เคยเห็นหน้าตาทรานสคริปต์ตัวเอง ผมจบปริญญาตรีมาเกิน 20 ปีแล้ว เกรดในช่วงนั้นก็แย่ด้วย ผมก็ส่งหลักฐานการศึกษาไปที่ฮาร์วาร์ด เพื่อเป็นการยืนยันว่าเรามีวุฒิปริญญาตรีจริง  จากนั้นผมก็ทำ Admission ไปสองรอบ รอบแรกถูกปฎิเสธ เพราะคุณภาพการเขียนของผมยังไม่ได้มาตรฐานตามที่มหาวิทยาลัยตั้งไว้ แต่พอรอบสองก็เข้าได้

ผมเรียนของผมเงียบๆ มา 2 ปีแล้ว จนถึงตอนนี้เก็บ coursework หมดแล้ว เหลือแค่ส่ง final project ซึ่งผมได้แจ้งความจำนงกับทางมหาวิทยาลัยแล้วว่าจะเข้าร่วมพิธีรับปริญญาที่จะมีในช่วงต้นปีหน้า

คุณทำงานมาตั้ง 20-30 ปี พอมาเรียนแล้ว ยังมีอะไรใหม่ให้เรียนรู้เยอะแค่ไหน

เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าผมจบตรงสายซะที ผมจะจบปริญญาโท (Master Degree) ในสาขาชื่อ Digital Media Design ซึ่งชีวิตที่ผ่านมาผมมีอาชีพนี้โดยที่พูดได้เต็มปากว่าจบไม่ตรงสาย ก็จะได้รับการยอมรับในแบบผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้การยอมรับในสายวิชาการและสายมืออาชีพ หลังจากที่ผมได้ผ่านการเรียนที่นี่ ผมรู้สึกว่าได้รับการยอมรับในสาย academic มากขึ้น เพราะเรามีผลงานทางวิชาการจริงๆ หลายคนก็ยอมรับในส่วนนี้มากขึ้นด้วย

อีกเรื่องที่ผมค้นพบคือวิธีการสอนของที่นี่ ตอนแรกผมกลัวเพราะเอาประสบการณ์การเรียนในอดีตมาตัดสิน กลัวว่าจะต้องเรียนแบบอ่าน textbook หนามากๆ การสอบต้องเคร่งเครียดมาก ปรากฏว่าพอไปเรียนจริงๆ นโยบายของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันนี้คือตำรามีไว้อ่านอ้างอิงเท่านั้น อาจารย์จะยกเคสปัจจุบันที่สุดมาสอน หลายมหา’ลัยในอเมริกาเป็นแบบนี้หมดแล้ว เพราะการเรียนบน textbook คือการเรียนบนตำราที่เก่า ประยุกต์ใช้จริงได้ยาก เขาจึงห้ามสอนแบบไล่ตาม textboox ตั้งแต่หน้าแรกไปจนหน้าสุดท้าย วิธีแบบเก่านี้ยกเลิกกันไปหมดแล้ว แต่ของไทยในสมัยที่ผมเรียนเป็นแบบนี้

แล้วผมก็เข้าใจคำว่า active learning ผิดมาตลอด เข้าใจว่าต้องมีกิจกรรมเยอะๆ แต่พอเรียนแล้ว เขาบอกว่าให้ระวัง active learning ที่กิจกรรมเยอะ เพราะบางครั้งคุณจะไปเจอสิ่งที่เรียกว่า handfulness แต่ไม่ mindfulness คือทำนู่นทำนี่เยอะมาก แต่สมองกลับไม่ได้ตามทันและรู้เรื่องสิ่งที่เรียนอยู่จริงๆ

active learning ของเขาคือ นักเรียนกับครูมีความ active กันในเชิง mindfulness อาจารย์จะสอนแบบเปิดโอกาสให้ discuss มี follow-up question เพื่อจะเช็กว่าเรายัง mindfulness อยู่กับเรื่องนั้นรึเปล่า สมมติว่าผมเรียน ผมนั่งอยู่กับบ้าน ผมเปิดกล้อง ทุกครั้งที่ขึ้นมา 15 คนบนจอ ผมรู้สึกเลยว่า เฮ้ย ที่นี่ไม่มีหลังห้อง สมัยเราเรียน ถ้าวิชาไหนผมไม่ค่อยรู้เรื่อง ผมยังนั่งหลบอยู่หลังห้องได้ อาจารย์คงไม่ถามหรอกถ้าผมไม่มอง แต่พอเป็นการเรียนแบบเปิดกล้องขึ้นมา ทุกคนเหมือนนั่งหน้าห้องเท่ากันหมด ห้องเรียนถูกทลาย และอาจารย์เรียกชื่อเราได้ตลอดเวลา ผมจะไม่ active ไม่ได้ ผมจะไม่ mindfulness ไม่ได้ ทันทีที่เขาเรียกชื่อผม ผมก็ต้องตอบ เวลาใครพูด เขาจะดึงคนนั้นขึ้นมาเป็นจอใหญ่ คนอื่นจะกลายเป็นจอเล็ก ผมไม่สามารถที่จะใจลอย หรือตามไม่ทัน ผมพบว่าวิธีนี้เวิร์กกับผมในการเรียนรู้มาก

แล้วเขาจะมีจังหวะให้สะท้อน (reflection) เยอะมาก ไม่ว่าจะคุยกันแล้วถามว่ารู้สึกยังไง หรือแม้กระทั่งการที่คุณเขียนงาน ก็จะมีการเขียนอีกอันประกบว่ารู้สึกยังไงกับการทำเรื่องนี้ เขาค้นพบว่าจะฝึกยังไงให้นักเรียนมีคุณภาพ 3 ด้าน คือ see, think, wonder เห็นอะไรอย่าเพิ่งรีบเชื่อ คิดก่อน คิดเสร็จต้องตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย อาจารย์ก็จะชวนตั้งคำถามเยอะแยะ สุดท้ายไม่ว่าคุณจะทำอะไรลงไป คุณต้องกลับมาสะท้อนตัวเองได้ว่า อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้พลาด อันนี้ทำถูก ฝึกจนเป็นนิสัยเลย

คุณมีประสบการณ์มาเยอะมาก รู้สึกยังไงที่ต้องไปเรียนรู้ใหม่ ทำความรู้จักกับโลกใหม่ เคยคิดมั้ยว่าทำไมเราถึงต้องมานั่งฟังอยู่ ทั้งที่เราก็ทำงานมาเยอะขนาดนี้แล้ว

มีเหตุผลส่วนตัวอยู่สองข้อที่ผมอาจนำมาอ้างว่าจะไม่ศึกษาหาความรู้ต่อได้ หนึ่ง ผมสามารถอ้างว่าผมแก่แล้ว เป็นเรื่องง่ายมากเลยนะ แต่คำนี้ผมได้ยินบ่อยจากเพื่อนรุ่นเดียวกัน หรือเด็กกว่าผมนิดนึงด้วยซ้ำ เฮ้ย ไม่เอาแล้วอายุขนาดนี้ หรือถ้าจะเรียนก็เพื่อคอนเนคชั่น เรียนแบบซอฟต์ๆ เรียนแบบไม่ค่อยมีสอบ ถ้ามีสอบมีส่งงาน จะรู้สึกว่าไม่ใช่ จะไม่ไปหนักขนาดนั้น เรียนแบบผู้ใหญ่ๆ สัมมนาๆ ผมก็อาจจะเอาตัวรอดด้วยคำพูดว่าผมแก่แล้ว แต่ก็ไม่ทำให้ผมเก่งขึ้นไง ก็แค่ข้ออ้างที่ผมเลือกจะพอใจอยู่แค่นี้

สอง ผมอาจจะอ้างว่าผมเก่งแล้วก็ได้ ประสบการณ์ก็เยอะ แต่ในความเป็นจริง ดูสภาพสิ เวลาพวกกิจการยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศมาบุกไทย ผมจะไปเถียงใครว่าผมเก่งแล้ว ในเมื่อเขาระดับโลก ผมควรพิจารณาตัวเองใหม่มั้ยว่า ความรู้ความสามารถที่ผ่านมานั้นไม่สามารถปกป้องเราจากการรุกรานของบริษัทต่างชาติเหล่านั้นได้ เราก็ต้องเอาความรู้ไปเทียบในสนามโลกด้วย

สารภาพว่าตอนแรกๆ ผมท้อ ผมโผล่ไปในคลาสครั้งแรกๆ ผมอยู่ท่ามกลางเพื่อนที่เก่งมาก ถ้าเทียบกับการวิ่ง พอเขาปล่อยตัวจากจุดสตาร์ต เพื่อนๆ ทุกคนก็นำผมแล้วไปหลายช่วงตัว ผมก็ยังวิ่งเตาะแตะๆ อยู่ข้างหลัง เป็นแบบนี้เกือบทุกคลาสที่ผมเข้าไป

อาจารย์ก็จะมองผมด้วยความรู้สึกว่าผมจะไหวมั้ย แต่เขาไม่แสดงออก เพราะมีกฎของมหา’ลัยว่าห้ามแบ่งแยก หรือห้ามพูดเรื่องเรื่องเชื้อชาติ วัย และเพศสภาพในทำนองดูถูก แต่เขาจะรู้ด้วยความที่เรายังไม่คล่อง เป็นลุงคนหนึ่งเข้าไปในคลาส ภาษาเราก็ยังไม่ดีเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ที่เป็น Native Speakers เพราะผมไม่ได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษเยอะในตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผมอยู่บริษัทเมืองไทย เขียนน้อย พูดน้อย มาฟิตเอาทีหลัง พอเข้าไปปุ๊บ เพื่อนเก่งหมด ถ้าสังเกต พอแบ่งกลุ่มแล้วเขาไม่เลือกเรา เราจะได้อยู่ในกลุ่มก็ต่อเมื่อคนอื่นเลท หรือไม่มีทางเลือกแล้ว

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมร่อแร่มาทั้งคลาสเลย ผมกลัวไม่ผ่าน ก็เตรียมพรีเซนต์มาอย่างดี ถึงเวลาผมพรีเซนต์ดีมาก เพื่อนตกใจว่า พรีเซนต์ดีขนาดนั้นเลยเหรอ คือผมไม่ได้พรีเซนต์ดีขนาดนั้นหรอก ผมแค่พรีเซนต์ดีกว่าก่อนหน้านี้ ที่เขาตื่นเต้น แสดงว่าเขาคิดว่าวันนี้เอ็งต้องแย่แน่ๆ พอเราดี ก็เลยเซอร์ไพรส์มาก

คนเราต้องผ่านความรู้สึกนี้ให้ได้ก่อนนะ คือความรู้สึกท้อแท้ในช่วงแรกที่ต้องทำอะไรที่เราไม่คุ้นเคย ซึ่งผมเกรงว่าหลายคนอาจจะยอมรับไม่ได้แล้วเลิก ผมอยากให้กำลังใจว่า เมื่อมันผ่านไปแล้วจนมาถึงจุดที่เราทำได้ ผมว่าคุ้ม จุดที่ผมรู้สึกว่าคนในคลาสเลิกมองผมเป็นตาลุงเอเชีย วันที่พอเราเข้าไปปุ๊บ เราไม่ได้ห่างจากกลุ่มแล้ว เราจะเริ่มเห็นบางคนด้วยซ้ำที่ตามเรา พอส่งงานไป เริ่มรู้สึกว่าเราอยู่ประมาณหัวแถวนี่ ใช้ได้แล้วเว้ย หรือพอจับกลุ่มแล้วเพื่อนเรียกเราก่อน ก็รู้สึกดี แต่ว่านั่นคือช่วงท้ายๆ

ผมทำ proposal ส่งอาจารย์เพื่อทำไฟนอลโปรเจ็กต์ ของที่นี่โหดมาก ผมปรับแก้จนอาจารย์ไม่แก้อะไรแล้ว แล้วก็เลือกเอา proposal ของผมขึ้นเว็บไซต์ที่ฮาร์วาร์ดให้เป็นตัวอย่างของรุ่นถัดไป เขาเลือกปีละคนต่อสาขาวิชา ตาลุงเอเชียคนนี้นี่แหละที่ถูกเลือก ซึ่งทำให้ผมเซอร์ไพรส์มาก และทำให้มีกำลังใจมาก อยากตั้งใจยกระดับคุณภาพในการทำงานในอนาคตให้ดีขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

เขารู้มั้ยว่า ตาลุงเอเชียอันนี้คือผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมสูงเป็นอันดับต้นๆ ของไทย

ส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ ผมไม่ได้บอก พอยต์ของผมคือ กว่าจะมาถึงตรงนั้นได้ คุณต้องอดทนกับตอนแรกๆ ให้ได้ ซึ่งจะชวนท้อแท้อยู่พอสมควร

มันทำให้เราทำงานหนัก เหมือนเราสตาร์ทบนต้นทุนต่ำกว่าเขา งานก็เยอะอยู่แล้ว อายุก็เยอะ ภาษาก็ไม่ใช่ของเรา ก็ชวนให้คิดว่าเราจะเลิกหรือไปต่อ แต่เวลาออกดอกออกผลแล้ว ผมอยากทำธุรกิจหรืออยู่ในวงการนี้แบบประชากรโลกได้ ไม่ใช่ถูกมองว่าเป็นคนไทยแล้วรอให้สังคมโลกมาให้แต้มต่อเรา

ถ้าผมเปิดบริษัทที่อเมริกา สมมติผมมีลูกค้าอยู่อเมริกา ผมก็อยากให้เขารู้สึกว่าถึงแม้จะมาจากไทยก็ไม่ได้แปลว่าของจะไม่ดี คุณสามารถคาดหวังของดีได้ เผลอๆ จะดีกว่าของฝรั่งทำด้วย ราคาเราก็อาจจะโอเคกว่าฝรั่ง โดยงานเราก็ออกมาดี ผมอยากจะไปถึงจุดนั้น

ปรเมศวร์ มินศิริ

ผ่านชีวิตมาถึงตอนนี้ แรงผลักดันที่เอาตัวเองไปหาเรื่องเจ็บตัวเรื่อยๆ คืออะไร

ผมชอบดูหนังมาก แล้วผมคิดว่าหนังที่ดีไม่ใช่หนังที่มีความสุขทั้งเรื่อง ถ้ามีใครผลิตหนังที่แฮปปี้ทั้งเรื่อง จะไม่ใช่หนังที่ดี หนังที่ดีที่สุดคือหนังที่มีครบทุกรสชาติ ทั้งเศร้า มีอุปสรรค รันทด ตัวเอกจะต้องโดนกลั่นแกล้ง ต้องดำดิ่งไปถึงก้นบึ้ง แล้วค่อยมาตระหนักได้ว่าฉันจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง

มีคำหนึ่งที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ดี คือคำว่า Hero’s journey หรือการเดินทางของฮีโร่ คนที่คิดคำนี้คือ Joseph Campbell เสนอแนวคิดนี้ไว้ในปี 1949 ผมเห็นด้วยมากๆ ว่าการเดินทางที่ดี คือจะต้องมีทั้งเรื่องที่สุขและทุกข์ ดีใจและเสียใจ ให้เรียนรู้กันไปในระหว่างการเดินทาง และนั่นไม่ได้หมายความว่าผมคิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่อะไรนะ เพราะทุกคนต่างก็เป็นตัวเอกในชีวิตของตัวเองกันอยู่แล้ว

พอเราเข้าใจในคอนเซ็ปต์จะสังเกตได้ว่า หนังเกือบทุกเรื่อง พล็อตจะเป็นแบบเดียวกันหมด ไม่ว่าจะสตาร์วอร์ส หรือฮังเกอร์เกม เกิดจากคนธรรมดา แล้วมีเสียงเรียกร้องให้ไปผจญภัย ต้องปฏิเสธก่อนในตอนแรก แล้วค่อยไปหาเมนเทอร์มาช่วย แรกๆ จะยังไม่เก่ง คุณจะต้องไปลองผิดลองถูกเละเทะ โดนดูถูกสารพัดนู่นนี่ แล้วเริ่มมีความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ให้เห็น แต่สุดท้ายคุณจะกล้าไปสู้สิ่งที่ใหญ่ขึ้น ในที่สุดคุณก็ต้องพลาดอย่างหนัก แล้วลงไปสู่จุดต่ำสุดในชีวิต คนที่เคยรักคุณก็จะไม่รัก หรือสิ่งที่คุณหวังดีก็จะมีความผิดพลาด ต้องพังทลายไปหมด หนังจะสนุกก็ต่อเมื่อคุณต้องลุกขึ้นมาจากจุดนั้นด้วยตัวเอง หนังจะไม่สนุกทันทีถ้าจุดนั้นมีคนอื่นมาช่วย ตัวเอกต้องกล้าทำในสิ่งที่ไม่กล้าทำมาก่อน นั่นแหละหนังถึงจะสนุก แล้วพอทุกคนชนะศึกหมดแล้ว ตัวเอกของเรื่องมักต้องมีความรู้สึกอยากกลับบ้าน

ผมเลยรู้สึกว่า ถ้าอย่างนั้นการที่ชีวิตเรามีขึ้นมีลงก็เป็นเรื่องสนุกดี ไม่ต้องกลัวอะไร ผมอาจจะพลาดอีกก็ได้ เป็นอีกตอนนึงของชีวิตไง ก็เป็นความสนุกใช่มั้ยล่ะ ในขณะที่ถ้าผมเลือกใช้ชีวิตแบบเพลย์เซฟ เฮ้ย ไม่ทำดีกว่า กลัวพลาด ผมกลับตีความว่าอันนั้นไม่สนุก และชีวิตผมก็จะกลายเป็นแค่หนังขาดสีสันอีกเรื่องหนึ่งเพียงเพราะผมไม่กล้าที่จะทำอะไรพลาด

ถ้าให้มองย้อนอดีตที่ทำมา คุณมองว่าตัวเองมีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง

ผมมีข้อผิดพลาดเรื่องผมบ้างานเกินไป ทีแรกผมคิดว่าผมเป็น perfectionist แต่ไม่ใช่ ผมไม่ใช่คนที่หวังว่างานตัวเองจะเพอร์เฟ็กต์ บางทีไม่พร้อม ผมก็ทำ งานก็ออกมาไม่เพอร์เฟ็กต์เท่าไหร่ แต่หลังๆ ผมมาเสิร์ชเจอว่า ผมเป็นพวก essentialist ผมไม่ชอบทำหลายอย่าง ผมจะโฟกัสแค่บางเรื่อง เป็นพวกรู้สึกว่า เรื่องเล็กเรื่องน้อย ตัดไปเถอะ เราเอาเรื่องนี้ที่คิดว่าสนใจให้ดี ซึ่งพอเราคิดแบบนั้น เราก็ใส่ใจคนรอบข้างน้อยลง

ผมไม่ได้ประสบความสำเร็จเรื่องครอบครัว ผมใส่ใจคนรอบข้างน้อยไป อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ผมไม่ภูมิใจตัวเองเท่าไหร่ ผมมีไลฟ์สไตล์อีกแบบหนึ่ง อาจจะไม่ใช่แนวเลิกงานแล้วต้องไปสังสรรค์กินเลี้ยงกันบ่อยๆ ผมเป็นแนวทำงานกลางวัน ตกเย็นก็มีอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานหลักทำ เป็นคนว่างไม่ได้ แต่จะไม่ทำหลายอย่างเกินไป คือคนแบบ essentialist จะเลือกแล้วว่าจะโฟกัสอะไร แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เราพลาดโอกาสที่จะดูแลความรู้สึกคนรอบข้าง ผมพลาดเรื่องพวกนี้เยอะ แต่ว่าหลังๆ พอรู้ตัว ก็พยายามจะปรับให้ได้เหมือนกัน

ตอนที่ผมยังวัยรุ่น ผมเป็นคนตรงและโผงผางเกินไป มองย้อนไปแล้วไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ ควรจะต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราให้เยอะกว่านี้ นี่คือเป้าหมายที่ผมจะวางในช่วงท้ายๆ ต่อไปนี้ผมอาจจะต้องค่อยๆ พัฒนาตัวเองว่า ต้องไม่รีบตัดสินคนอื่น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ เขาไม่ชอบถูกตัดสิน เขาอาจจะถูกก็ได้ แต่ถ้าเราเอาประสบการณ์ย้อนหลังมาตัดสินเขาในเรื่องต่างๆ มาบอกว่ามันไม่ดี โดยที่เขายังไม่ทันได้ลองอะไรเลย ถ้าเราปล่อยให้เขาลอง ต้องหัดเข้าอกเข้าใจคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น

นอกจากเรื่องความผิดพลาดที่ผ่านมาแล้ว เรื่องที่ภูมิใจคืออะไร

ตลอด 20 ปีมานี้ มีหลายเรื่องที่ผมไม่ค่อยภูมิใจเท่าไหร่ในตัวเอง เพราะผมตามใจตัวเองเยอะไป ผมพูดจาไม่ค่อยดีมานานแล้วในหลายๆ ครั้ง เกิดจากการที่เราตามใจตัวเองไง ก็ไม่ต้องระวังเรื่องการพูด ไม่ต้องมีวินัยเรื่องการกิน ไม่ต้องมีวินัยเรื่องการออกกำลังกาย

จนกระทั่งมีอยู่วันนึงที่ผมตั้งใจไปช่วยคนช่วงน้ำท่วม มีเสียงชื่นชมเข้ามาเยอะเลยว่าผมตั้งใจจะช่วยเหลือสังคม ผมก็อินมาก และมาเริ่มสังเกต รวมถึงได้ยินว่า ใครๆ ก็อยากจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น แต่ผมมาคิดว่าผมจะไปเปลี่ยนโลกได้ยังไง ถ้าผมยังเปลี่ยนตัวเองไม่ได้เลย ก็เลยเป็นที่มาของการฝึกควบคุมตัวเองให้มากขึ้น

ผมไปเสิร์ชก่อนว่า คนเราถ้าอยากจะทำอะไรสำเร็จ จะต้องทำอะไรบ้าง ผมไปเจอคลิปนึง ชอบมาก ชื่อ The Marshmallow Experiment เขาเอาเด็กมานั่ง มีจานใส่ขนมมาร์ชเมลโลวางอยู่ แล้วก็บอกให้เด็กอยู่ในห้องนี้กับขนม 15 นาที ถ้าหมดเวลาแล้วอดใจไม่กินขนมนี้ได้ จะมีให้อีกชิ้นนึง เด็กที่น่ารักและไร้เดียงสาจำนวนมากนั่งมองมัน แล้วสุดท้ายก็กินขนมชิ้นนั้นก่อนหมดเวลา

คนที่เลือกไม่กินน้อยกว่า ถ้าเราสังเกตเด็กที่ไม่กินคือเด็กที่ไม่มอง บางคนหยิบมาดม เสร็จเลย แต่เด็กที่ไม่มอง คือเด็กที่จะรอดไป แล้วได้มาร์ชเมลโลสองอัน กินแก้มตุ่ยเลยนะ

ผมมานั่งคิดว่า ตกลงมันจะบอกอะไรผมวะเนี่ย แล้วก็พบว่ามีศัพท์อยู่คำนึงคือ delayed gratification หมายถึงความสามารถที่จะอดทนต่อสิ่งล่อใจในปัจจุบันเพื่อรางวัลในอนาคต มีสูตรสำเร็จของความสำเร็จคือใครที่ทนการยั่วยวนดีที่สุด เด็กกลุ่มนั้นมีโอกาสจะโตขึ้นไปประสบความสำเร็จ ผมก็เลยมาคิดว่า อ๋อ คีย์ความสำเร็จคือต้องทนให้ได้ใช่มั้ย นี่เป็นเรื่องที่ผมเริ่มทำได้เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา คือการอดทนต่อการยั่วยวนของสิ่งต่างๆ รอบตัว

ผมมีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะ อยากเขียนเพลง อยากทำหนัง แล้วก็ผัดผ่อนตัวเองไปเรื่อยๆ ตอนนี้ผมน่าจะหยุดผัดผ่อนตัวเองได้แล้วแหละ ผมอยากทำงานศิลปะสักชิ้นที่มีความหมาย ที่ meaningful อยากทำงานศิลปะที่คนอื่น appreciate ได้

ความสุขที่แท้จริงของผมคือ การรู้สึกพอเมื่อได้รับ ซึ่งความสุขที่ผมทำเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมไม่เคยพอเลย ทุกครั้งที่ผมได้มา พรุ่งนี้เช้าผมจะอยากได้อีกเรื่อยๆ ผมไม่จบ จน 2-3 ปีมานี้ ผมเจอความสุขที่แท้จริงหลายอันเลย หลายอย่างที่ผมทำแล้วมีความสุข ผมพอใจในสิ่งนั้นแล้ว และถ้าต่อมาสิ่งนั้นหายไปจากชีวิตผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะเป็นทุกข์อะไร เพราะเราพอใจกับสิ่งที่เราเคยได้รับมาแล้ว โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นทุกข์เมื่อขาดสิ่งนั้น ผมนิยามว่านี่คือความสุขที่แท้จริง

สุดท้าย คุณอยากบอกอะไรรุ่นน้องที่เดินตามมาในสายไอทีบ้าง

ถ้ายังอยู่ในโลกไอที ถ้าใครถามผมว่า เรียนอะไรก่อนอย่างแรก คำตอบของผมคือภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่เราจะเสียเวลากับการแปลไม่ออก ต้องไปเปิดดิค เปิดกูเกิ้ลทรานสเลต แล้วหลายต่อหลายครั้งเราก็ยังแปลไม่ออกอยู่ดี แล้วเราก็จะงง จนทำพลาด เชื่อมั้ยว่าเวลาที่เราเปิดพจนานุกรมไปเรื่อยๆ รวมกันหลายๆ ปี เสียเวลามาก เสียอารมณ์ด้วย ผมว่าอย่างน้อยเราควรเริ่มจากการตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ก่อนสัก 40 ชั่วโมง โดยมีความหวังว่ามันจะเซฟเวลาอีกมหาศาลมากในอนาคต

อีกเรื่องคือ มีคำถามนึงที่พูดกันเยอะมาก คือโลกนี้เป็นโลกยุค AI ถ้ามันเข้ามาแล้วฉันจะไปทำอะไร ผมคิดว่าเราอย่าไปแข่งกับสมองกล หรือพยายามทำตัวให้เป็นคอมพิวเตอร์ ในโลกยุคต่อไปเรากำลังหาคนที่มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือฟังอย่างเข้าใจ หรือเขียนแล้วกินใจ คอมพิวเตอร์คงไม่สามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ขนาดนั้น มันจะเก่งอันอื่นก็ให้เก่งไป เผลอๆ มันอาจจะมาแย่งงานน่าเบื่อเราก็ได้นะ แต่งานประเภทที่ครีเอทมากๆ ผมคิดว่าจะดีในอนาคต

ผมเลยอยากจะฝากว่า ในฐานะที่เราเป็นคน ความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดคนอื่น และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีความสำคัญและจะมีบทบาทมากในอนาคต

ปรเมศวร์ มินศิริ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save