fbpx
ประชานิยมในยุโรป: อเสรีนิยม VS เสรีนิยม(ใหม่)ที่ไร้ประชาธิปไตย

ประชานิยมในยุโรป: อเสรีนิยม VS เสรีนิยม(ใหม่)ที่ไร้ประชาธิปไตย

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

จากการก่อการร้ายในอังกฤษ…

วันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ “การก่อการร้าย” ขึ้นในกรุงลอนดอน โดยมีคนทำร้ายตำรวจและประชาชนในบริเวณรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์

บรรดานักการเมืองประชานิยมฝ่ายขวา เช่น มารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) ผู้นำพรรค National Front ของฝรั่งเศส กลับ “ลดทอน” การก่อการร้ายในลอนดอนเหลือเพียง “ปัญหาผู้อพยพ” (ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ผู้ลงมือก่อการร้ายเป็นคนอังกฤษที่นับถือศาสนาอิสลาม) และเสนอแนะทางออกคือ การเพิ่มความเข้มงวดของนโยบายผู้อพยพและการควบคุมชายแดน

เธอกล่าวว่า “เราต้องควบคุมพรมแดนของเรา ปัญหาที่เราเผชิญในปัจจุบันคือ การก่อการร้ายราคาถูก ที่ปัจเจกบุคคลหัวรุนแรงสามารถดำเนินการด้วยตัวเอง โดยปราศจากเครือข่ายใดๆ รูปแบบใหม่ของการก่อการร้ายจำเป็นต้องมีมาตรการต่างๆ ควบคุม ซึ่งเรายังไม่มีในขณะนี้”

เราจะเข้าใจตรรกะวิธีคิดดังกล่าวอย่างไร?

…ถึงประชานิยมในยุโรป

ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประชานิยมได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางในการเมืองยุโรป ในปัจจุบัน พรรคการเมืองแนวประชานิยมเข้าไปอยู่ในรัฐสภาของประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมทั้งรัฐสภาของสหภาพยุโรปเองด้วย โดยมีหกประเทศที่พรรคการเมืองแนวประชานิยมครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ได้แก่ กรีก ฮังการี อิตาลี โปแลนด์ สโลวาเกีย และสวิตเซอร์แลนด์ โดยเฉพาะในฮังการี พรรคแกนนำรัฐบาล (Fidesz) และพรรคแกนนำฝ่ายค้าน (Jobbik) ต่างเป็นพรรคแนวประชานิยม ในประเทศอื่นๆ เช่น ฟินแลนด์ ลิทัวเนียและนอร์เวย์ พรรคการเมืองแนวประชานิยมร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม

คำถามคือ กระแสประชานิยมเกิดขึ้นมาอย่างไร? และทำไมต้องประชานิยมในยุโรป?  

ในการทำความเข้าใจประชานิยมระลอกล่าสุดในยุโรป เราพึงย้อนพินิจจุดกำเนิดของมันในการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างของระเบียบเศรษฐกิจการเมืองของยุโรปและโลกในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา นั่นคือ การเปลี่ยนผ่านจากระเบียบแบบรัฐสวัสดิการและลัทธิเศรษฐกิจการเมืองแบบเคนส์ มาสู่ระเบียบเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ซึ่งผลักดันการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ การโอนกิจการสาธารณะเป็นเอกชน การลดกฎเกณ์ต่างๆ ที่กำกับทุนนิยม และการขยายตัวของทุนการเงิน

เราจะเห็นได้จากความเป็นจริงในยุโรปว่า พรรคการเมืองแบบประชานิยมไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักจนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1980 หรือ 1990 เป็นต้นมา เช่น พรรค National Front ในฝรั่งเศส หรือ Ukip ในสหราชอาณาจักร เป็นต้น

ประชานิยมระลอกล่าสุดในยุโรปเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในยุโรปอย่างน้อยสามประการสำคัญ ได้แก่

ประการแรก ลัทธิเสรีนิยมใหม่ก่อให้เกิดการเมืองแบบที่ฌองตาล มูฟ (Chantal Mouffe) เรียกว่า “หลังการเมือง” (post-political) นั่นคือ การเมืองที่ทำลายอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ให้เหลือเพียงการเมืองของฉันทมติ กล่าวคือ ทั้งฝ่ายกลางซ้ายและกลางขวาต่างยอมรับในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่

ยกตัวอย่างเช่น พรรคแรงงานภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี แบลร์ (Tony Blair) ซึ่งแปลงโฉมพรรคใหม่เป็น “New Labour” หรือพรรคการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมัน แกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ (Gerhard Schroder) ที่เปลี่ยนไปสู่ “new center” (neue Mitte)

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ยังลดทอนประเด็นทางการเมืองให้กลายเป็นเรื่องทางเทคนิคที่อาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาบริหารจัดการ แทนที่จะเป็นประเด็นทางการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ

แม้กระทั่งในกรณีที่ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินใจ เช่น การทำประชามติ ก็อาจจะมีการล้มประชามติ โดยศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะผลการลงประชามตินั้นขัดต่อระเบียบเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ หรือไม่ใช่ “ทางเลือกที่ใช่” เช่น การลงประชามติรับสนธิสัญญาลิสบอนของไอร์แลนด์ในปี 2008 หรือแม้กระทั่งความพยายามในช่วงหลังการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักรหรือ Brexit ในปี 2016

กระบวนการเสรีนิยมใหม่ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในรัฐชาติยุโรปเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในโครงสร้างสถาบันของสหภาพยุโรป (EU) ด้วย บริบททางการเมืองแบบ “หลังการเมือง” หรือ “ไร้การเมือง” ทั้งในระดับรัฐ และเหนือ/ระหว่างรัฐ เอื้ออำนวยให้พลังประชานิยมเข้มแข็งในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชานิยมฝ่ายขวา

ประการที่สอง วิกฤตเศรษฐกิจในยูโรโซน และวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศ PIIGS รวมทั้งการรับมือกับวิกฤตดังกล่าวของสหภาพยุโรป ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจ นโยบายการรัดเข็มขัด (austerity) กลับเสริมสร้างลัทธิเสรีนิยมใหม่ให้ลงหลักปักฐานมากขึ้นในประเทศเหล่านั้น

วิกฤตดังกล่าวโอนย้ายอำนาจในการตัดสินใจเรื่องเศรษฐกิจไปสู่มือของสหภาพยุโรปและผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ ที่พ้นไปจากกระบวนการทางการเมืองของประชาชน สิ่งที่เราเห็นคือการจุดกระแสของฝ่ายต่อต้านสหภาพยุโรป และต่อต้านนโยบายการรัดเข็มขัดเพิ่มมากขึ้น ประเด็นนี้ดูเหมือนจะปรากฏในหมู่ประชานิยมฝ่ายซ้าย ได้แก่ Syriza ในกรีซ และ Podemos ในสเปน มากกว่าประชานิยมฝ่ายขวา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่อำนาจการเมืองแล้ว พรรคการเมืองแนวประชานิยมจำต้องเลือกระหว่าง (1) ความรับผิดชอบต่อเสียงประชาชน หรือ (2) เสียงเรียกร้องกดดันจากสหภาพยุโรป ในกรณีกรีซ เมื่อพรรคการเมืองแนวประชานิยมฝ่ายซ้ายอย่าง Syriza ขึ้นมามีอำนาจในเดือนมกราคม 2015 นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซิปราส (Alexis Tsipras) ซึ่งเคยรณรงค์หาเสียงว่าจะไม่ยอมรับนโยบายการรัดเข็มขัด ก็ต้องยอมถอย และถูกบีบให้ต้องดำเนินมาตรการตัดลดรายจ่ายภาครัฐและการปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ ตามแผนการของสหภาพยุโรปและผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารกลางยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ การตัดสินใจนี้ลดทอนความชอบธรรมการเมืองของพรรค Syriza ไปค่อนข้างมากทีเดียว

ประการที่สาม  วิกฤตผู้อพยพจากภูมิภาคที่เผชิญสงคราม (war-torn regions) โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และกระแสการก่อการร้ายในยุโรป ยิ่งส่งเสริมวาทกรรม “คนอื่น” โดยเฉพาะ “คนมุสลิม” ในฐานะ “ภัยคุกคาม” ทั้งต่อความมั่นคงและการเข้ามาแย่งงานของคนในชาติ

งานวิชาการสำคัญอย่างเช่น งานของโอลิเวียร์ รอย (Olivier Roy) เสนอไว้เมื่อหลายปีมาแล้วว่า เอาเข้าจริง พวกมุสลิมหัวรุนแรงในยุโรป ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น neo-fundamentalist หรือในปัจจุบันคือ lone-wolf terrorist นั้นเป็นคนที่เกิดในยุโรปเอง มากกว่าพวกที่อพยพมาจากตะวันออกกลาง ทั้งนี้เนื่องมาจากกระบวนการเบียดขับให้เป็นชายขอบภายในสังคมยุโรป เช่น คนฝรั่งเศสที่เป็นมุสลิมจำนวนหนึ่งไม่ได้รับความยอมรับทางอัตลักษณ์หรือความเท่าเทียมกันในสังคม จึงผันตัวเองไปเป็นหัวรุนแรง เป็นต้น

บริบทแห่งวิกฤตผู้อพยพและการก่อการร้ายเสริมสร้างกระแสประชานิยมฝ่ายขวาที่โยนปัญหาเหล่านี้ให้แก่ผู้อพยพ และความหลากหลายในสังคมการเมือง

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สภาวะการว่างงานอย่างกว้างขวางในยุโรปส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ นั่นคือ การโยกย้ายฐานการผลิตออกไปสู่เศรษฐกิจที่มีแรงงานราคาถูกกว่า ซึ่งได้แก่ ยุโรปตะวันออก หรือบริเวณประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ มากกว่าเกิดจากผู้อพยพแย่งงาน

อเสรีนิยม VS เสรีนิยม(ใหม่)ที่ไร้ประชาธิปไตย

เราจะนิยาม “ประชานิยม” อย่างไรดี?

ในมุมมองของผู้เขียน ประชานิยมไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมือง หรือระบอบการเมืองเสียทีเดียว แต่เป็นวิถีของการดำเนินการเมืองแบบหนึ่ง ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ (โดยอาจจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาก็ได้)

ประชานิยมมีเป้าหมายเพื่อที่จะลากเส้นแบ่งทางการเมืองอย่างชัดเจนตายตัว ระหว่าง “พวกเรา” กับ “พวกเขา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้าง “พวกเรา” ในฐานะ/ในนามของ “ประชาชน” ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ “กลุ่ม establishment” ซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นนำจำนวนน้อย

สาระสำคัญโดยรวมของประชานิยมจึงไม่ใช่การต่อต้านประชาธิปไตยเสียทีเดียว แต่ต่อต้านหรือเป็นปฏิปักษ์เสรีนิยม โดยอาจจะต่อต้านสิทธิของชนกลุ่มน้อย พหุนิยม และหลักนิติธรรม ดังที่ วิคตอร์ ออร์บาน (Viktor Orban) นายกรัฐมนตรีของฮังการีและผู้นำพรรคแนวประชานิยมชื่อ Fidesz เคยกล่าวไว้ในปี 2014 ว่า เขาต้องการเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็น “รัฐใหม่ที่เป็นอเสรีนิยมอิงกับพื้นฐานแห่งชาติ”

คำถามสืบเนื่องคือ ประชานิยมเป็นเพียง “ปีศาจร้าย” ตัวใหม่ของยุโรปเช่นนั้นหรือ? หรือมันช่วยเปิดประเด็นให้เรามองเห็นอะไรชัดขึ้นหรือไม่?

ในแง่หนึ่ง ประชานิยมฝ่ายขวาหยิบฉวยโอกาสของความไม่พอใจของประชาชนในยุโรป และลดทอนความสลับซับซ้อนให้เป็นเรื่องง่ายดาย โดยต่อต้านสังคมโลกนิยม (cosmopolitanism) สิทธิของชนกลุ่มน้อย เช่น ผู้อพยพ ชาวมุสลิม และพหุนิยม (pluralism)

แต่ในอีกแง่หนึ่ง การขยายตัวของประชานิยมเองก็อาจจะช่วยให้เรามองเห็นการวิพากษ์ปัญหาของลัทธิเสรีนิยมใหม่ และสภาวะ “ไร้การเมือง” ที่กดทับยุโรปอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการทวงคืนอำนาจให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะจากพวกประชานิยมฝ่ายซ้ายที่เปิดกว้างต่อกลุ่มต่างๆ มากกว่าประชานิยมฝ่ายขวา

กล่าวโดยสรุป การก่อตัวของประชานิยมในยุโรปเป็นการโต้ตอบของ “พลังอเสรีนิยม” ต่อ “เสรีนิยม(ใหม่)ที่ไร้ประชาธิปไตย”

ในด้านหนึ่ง พลังของประชานิยมก็วิพากษ์อย่างตรงประเด็น ในแง่ที่ช่วยเผยให้เห็นว่าแนวทางของพวก establishment เช่น นโยบายการรัดเข็มขัด ไม่ใช่ทางออกใดๆ แต่กลับเป็น “ทางออกเทียม” ที่สร้างปัญหาเสียเอง แต่อีกด้านหนึ่ง แนวทางประชานิยมฝ่ายขวากลับมีเป้าหมายที่ผิด นั่นคือ การโจมตีผู้อพยพหรือมุสลิม โดยละเลยปัญหาในเชิงโครงสร้าง นั่นคือ ความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมทางสังคมการเมืองที่มาจากระเบียบเสรีนิยมใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ไม่ควรโยน “การเมือง” ทิ้งไปพร้อมกับ “ประชานิยม” ตามสำนวนฝรั่งที่ว่า throwing the baby out with the bathwater

ทางออก : การสร้างการเมืองของความเห็นต่าง

ทางออกจากปัญหาจึงไม่ใช่การสนับสนุนประชานิยม เพราะการมองประเด็นปัญหาของประชานิยมฝ่ายขวา ดังเช่นกรณีการก่อการร้ายในลอนดอน กลับจะยิ่งสร้างปัญหาชุดใหม่หรือทับถมปัญหาเดิมให้แก่การเมืองยุโรป

อย่างน้อยที่สุด ทางออกจากปัญหาก็ควรจะนำเสนอทางเลือกใหม่ที่ทลายสภาวะ “ไร้การเมือง” ก้าวข้ามการเมืองของฉันทมติเสรีนิยมใหม่ และนำความเป็นการเมืองกลับมาสู่พื้นที่สาธารณะ กล่าวคือ ภารกิจเร่งด่วนของยุโรปหรือในโลกปัจจุบันน่าจะเป็น “การสร้างการเมืองของความเห็นต่าง”

การเมืองของความเห็นต่าง หมายถึง การเมืองซึ่งเปิดที่ทางให้แก่พลังทางสังคมการเมืองกลุ่มต่างๆ ที่แตกต่างหลากหลาย และทำให้ประเด็นสาธารณะต่างๆ เป็นประเด็นทางการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมและโต้แย้งถกเถียง ไม่ใช่ประเด็นเชิงเทคนิคที่อิงอาศัยกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ทั้งนี้พื่อสร้างประชาธิปไตยที่มีสารัตถะอยู่กับประชาชนหรือ demos นั่นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save