fbpx

มีไหม? นโยบายประชานิยมที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว

ทุกครั้งที่ฤดูกาลเลือกตั้งใกล้เข้ามา ป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองน้อยใหญ่ปรากฏขึ้นเรียงรายตามท้องถนนและที่สาธารณะ เหล่านักการเมืองผู้เป็นเจ้าของป้ายหวังว่าป้ายเหล่านั้นจะสะดุดตาผู้คนมากมายที่ผ่านไปมาและให้คะแนนเสียงแก่ตน ในอดีต ป้ายหาเสียงส่วนใหญ่มักเป็นแค่การแนะนำว่าผู้สมัครคนนั้นเป็นใคร สังกัดพรรคไหน แต่ในปัจจุบัน การแนะนำตัวเพียงอย่างเดียวไม่พอเสียแล้ว แต่ต้องมาพร้อมนโยบายด้วย โดยเฉพาะนโยบายด้านปากท้องของผู้คน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายที่ปรากฏในป้ายหาเสียงส่วนใหญ่มักเป็นนโยบายประเภทที่ถูกตีตราว่าเป็น ‘ประชานิยม’ แต่ถึงกระนั้นนิยามของคำนี้ก็ถูกใช้เป็นที่เข้าใจแบบหลวม และนักวิชาการแต่ละคนก็ใช้ในความหมายที่แตกต่างกัน เช่น

อัญชิรญา จันทรปิฎก (2019) ให้นิยามว่าคือ “นโยบายที่รัฐบาลกำหนดขึ้นในลักษณะที่เป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตแก่ประชาชน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และเมื่อประชาชนได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ประชาชนจะเกิดความพึงพอใจ ปรารถนาที่จะให้รัฐบาลดำเนินการอีกอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลนั้นๆ จะมีโอกาสได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเพื่อกลับขึ้นเป็นรัฐบาลอีกครั้ง”[1]

ในขณะที่บางคนบอกว่านี่คือการ “แจกเงิน”[2] ใส่มือประชาชน โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภค (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุปสงค์มวลรวม)

ประเด็นหลักที่ผู้เขียนอยากชวนคุยในบทความนี้ ไม่ใช่เรื่องของความดี-เลว ความถูกต้องทางการเมือง และศีลธรรมของนโยบาย แต่อยากชวนคิดมากกว่าว่า นโยบายประชานิยมส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

นักเศรษฐศาสตร์ไทยส่วนใหญ่มีความเห็นว่า นโยบายประชานิยมที่มีลักษณะ ‘กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ’ แม้อาจทำให้เศรษฐกิจโตได้บ้างในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็มีปัญหาเรื่องความไม่มีประสิทธิภาพของนโยบายจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดได้ไม่คุ้มค่า และจะก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย เช่น เป็นการสร้างภาระทางการคลังในระยะยาว[3] เป็นการกระตุ้นพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่พึงประสงค์และ “ทำให้ประชาชนติดนิสัยการมีหนี้[4] หรืออาจถึงขั้นก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ[5] ในแง่นี้ นักเศรษฐศาสตร์ไทยมีแนวโน้มที่จะพิจารณาว่า นโยบายประชานิยมสร้างภาระมากกว่าประโยชน์ และเสนอว่านโยบายที่เหมาะสมกว่าจะ “ต้องไม่ใช่นโยบายฉาบฉวย” และควร “สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน”[6] โดยมักจะชี้ไปที่นโยบายทางฝั่งอุปทาน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาการศึกษาและทักษะเพื่อยกระดับทุนมนุษย์ หรือการส่งเสริมความรู้ทางการเงินเพื่อให้ประชาชนรู้จักออมเงิน เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า พวกเขาเชื่อว่านโยบายที่ดีและที่ควรได้รับการเสนอจากนักการเมืองคือนโยบายทางฝั่งอุปทาน ไม่ใช่นโยบายประชานิยมที่กระตุ้นการบริโภค (และอุปสงค์มวลรวม)

อันที่จริง คำวิจารณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ทำนองนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ป้ายหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 ก็เป็นดั่งหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บอกว่า คำวิจารณ์เหล่านี้ไม่มีผลในทางปฏิบัติ นักการเมืองยังคงเสนอนโยบายประชานิยมเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในการใช้จ่ายอยู่เสมอ เพราะนั่นคือสิ่งจำเป็นสำหรับการได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง

เมื่อเงื่อนไขทางการเมืองเป็นไปในรูปแบบดังกล่าว คำถามที่น่าคิดต่อคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่นโยบายประชานิยมที่ไม่ใช่เพียงนโยบายฉาบฉวยหรือนโยบายหาคะแนนเสียง แต่เป็นนโยบายที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย

เศรษฐกิจพัฒนาได้ ด้วยการกระตุ้นอุปสงค์

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยสนับสนุนว่าอุปสงค์หรือความต้องการซื้อของคนคือปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ใช่อุปทาน ยกตัวอย่างเช่น ในทัศนะของอดัม สมิธ (Adam Smith) ที่เสนอว่า ปัจจัยสำคัญที่สร้างความมั่งคั่งแก่ชาติก็คือ ‘การแบ่งงานกันทำ’ (division of labor) ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภาพ และ “การแบ่งงานกันทำจะถูกจำกัดโดยขนาดของตลาด” เขากล่าวว่า “เมื่อตลาดเล็กมาก ไม่มีใครมีแรงผลักดันที่จะอุทิศตนเพื่ออาชีพเดียว”[7] นั่นคือ การแบ่งงานกันทำจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออุปสงค์ในตลาดมากพอ การขาดแคลนอุปสงค์คือสาเหตุที่ทำให้การแบ่งงานกันทำไม่เกิดขึ้นเพราะคนขาดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะเฉพาะ นี่ทำให้ผลิตภาพไม่สามารถพัฒนาได้

แนวคิดอุปสงค์นำการพัฒนาเศรษฐกิจถูกพัฒนาเรื่อยมา ผู้เขียนพอจะยกตัวอย่างแนวคิดที่มีชื่อเสียง เช่น กฎของการพัฒนาเศรษฐกิจของ Nicholas Kaldor (1966, 1967)[8] ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภาพสูงกว่าภาคการผลิตอื่น หรือทฤษฎีของ Anthony Thirlwall (1979)[9] ที่อธิบายว่า การที่สินค้าที่ผลิตในประเทศไม่เป็นที่ต้องการหรือไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกจนทำให้ดุลการชำระเงินติดลบ คือปัจจัยสำคัญที่จำกัดการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น การส่งเสริมการค้าและสนับสนุนให้สินค้าที่ผลิตในประเทศแข่งขันในตลาดโลกได้จะช่วยเพิ่มการส่งออก ซึ่งนี่คือทางออกเพื่อการพัฒนาในระยะยาว หรือในช่วง 1990s ทฤษฎี Transformational Growth ได้เสนอว่าโครงสร้างเศรษฐกิจถูกกำหนดจากอุปสงค์ และเมื่ออุปสงค์เปลี่ยนแปลง โครงสร้างเศรษฐกิจก็เปลี่ยนด้วย

เมื่อพิจารณาด้านนโยบาย อุปสงค์ที่ถูกกระตุ้นโดยนโยบายของรัฐบาลจึงไม่ใช่สิ่งสูญเปล่า มันสามารถขยายตลาดซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นกิจการได้เรียนรู้เพื่อสร้างความชำนาญในธุรกิจ บริษัทที่เปิดกิจการมานานแล้วได้ขยายธุรกิจ และคนงานมีงานทำและเพิ่มพูนทักษะในงานที่ตนทำ กล่าวคืออุปสงค์จากนโยบายเป็นกุญแจสำหรับการเพิ่มผลิตภาพ

ในขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ก็มักจะตั้งคำถามกลับไปยังแนวคิดอุปทานนำการพัฒนาเศรษฐกิจได้ว่า แม้ในโลกปัจจุบัน จำนวนผลผลิตอาจมีความแน่นอน เพราะผู้ผลิตสามารถคำนวณได้ว่ากำลังการผลิตของตนทำให้สามารถอุปทานสินค้าได้เท่าไร แต่ว่ายอดขายกลับไม่อาจแน่นอน เพราะมีปัจจัยต่างๆ นานาที่ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าผันแปรได้เสมอ เพราะฉะนั้นอะไรจะเป็นสิ่งที่รับรองว่าเมื่อผลิตสินค้าออกมาจำนวนหนึ่งแล้วจะมีคนซื้อทั้งหมด?

ด้วยเหตุนี้เอง การกระตุ้นอุปสงค์ผ่านนโยบายประชานิยมจึงสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวได้ เพียงแต่รูปแบบของนโยบายจะต้องถูกออกแบบให้เหมาะสม

ออกแบบนโยบายประชานิยมอย่างไรให้เหมาะสม?

ผู้เขียนเห็นว่ามีหลักการ 3 ประการสำหรับการออกแบบนโยบายประชานิยม เพื่อให้นโยบายมีโอกาสส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับพรรคการเมืองทั้งหลายที่น่าจะกำลังระดมสมองออกนโยบายเพื่อใช้ในการหาเสียงในขณะนี้

หลักการแรก คือนโยบายควรมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มบริโภคสำหรับภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการยกระดับผลิตภาพ หลักการนี้มาจากกฎของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ Kaldor ที่เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมมีคุณสมบัติคือมีผลได้ต่อขนาดเพิ่มขึ้น (increasing returns to scale) โดยการเพิ่มอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมจะทำให้ผลิตภาพในการผลิตสูงขึ้น และผลิตภาพที่สูงขึ้นจะกระจายไปยังภาคการผลิตอื่นๆ อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้คิดว่าภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคเดียวที่มีศักยภาพในการยกระดับผลิตภาพการผลิตในปัจจุบัน นโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประการ (10 S-Curve Industries) ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเคยชูให้เป็นนโยบายหลักสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจก็มีทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคบริการ แต่พรรคการเมืองต่างๆ อาจจะไม่เห็นด้วยกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ของรัฐบาลประยุทธ์ ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอในทางปฏิบัติ คือหากพรรคการเมืองเห็นว่าภาคการผลิตใดมีศักยภาพที่จะเป็นหัวหอกหรือเป็นดาวรุ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ควรเสนอนโยบายที่กระตุ้นอุปสงค์สำหรับสินค้าจากภาคการผลิตนั้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น มีนักวิชาการเสนอว่าโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นรัฐบาลไทยควรส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับการให้บริการดูแลผู้สูงอายุจากต่างชาติ (วีระยุทธ์, 2019)[10] ผู้เขียนเห็นว่าการที่อุตสาหกรรมดังกล่าวจะสามารถก้าวขึ้นไปเป็นแนวหน้าในธุรกิจ เป็นตัวเลือกต้นๆ สำหรับผู้สูงอายุจากต่างชาติ ยังต้องการการพัฒนาอีกหลายขั้น ซึ่งการขยายตัวของอุปสงค์จากลูกค้าในประเทศสามารถมีบทบาทสำคัญเพื่อกระตุ้นการพัฒนาไปถึงจุดนั้น ตรงนี้เองคือโอกาสที่พรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายประชานิยมจำพวกเงินอุดหนุนแก่ผู้ใช้บริการสถานดูแลคนชราซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจขยายตัวและเพิ่มผลิตภาพในอุตสาหกรรมดังกล่าว

หลักการที่สอง นโยบายควรมุ่งเป้าไปที่การสร้างนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยีชั้นสูงที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลเสมอไป สิ่งประดิษฐ์เล็กๆ น้อยๆ ในที่ทำงาน หรือวิธีการทำงานแบบใหม่ก็คือนวัตกรรมเช่นกัน นั่นหมายความว่านวัตกรรมคือสิ่งที่ใครๆ ก็มีโอกาสสร้างขึ้นได้ ดังที่ อดัม สมิธ เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า “เด็กคนหนึ่งที่ชอบเล่นกับเพื่อนสังเกตว่า เมื่อผูกเชือกกับมือจับของวาล์วซึ่งเปิดการเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของเครื่องจักร วาล์วจะเปิดปิดได้เองโดยที่เขาไม่ต้องทำอะไรเลยและจะทำให้เขามีอิสระในการปลีกตัวไปหาเพื่อนเล่นของเขา”[11] ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอในทางปฏิบัติคือ นโยบายประชานิยมควรเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชนในการลองผิดลองถูก ซึ่งนั่นคือการสนับสนุนการลงทุนส่วนบุคคลด้วยหวังว่าหลายคนจะสามารถพัฒนานวัตกรรมได้จากเงินทุนนี้

ผู้เขียนได้ตัวอย่างของหลักการข้อนี้มาจากโครงการแข่งขันแผนธุรกิจในประเทศไนจีเรียที่ถูกริเริ่มขึ้นในปี 2011 ชื่อว่า YouWin! โครงการดังกล่าวเชิญชวนผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คนให้แข่งขันกันเสนอแผนธุรกิจ โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลก้อนสำหรับการทำธุรกิจตามแผน ผู้ประกอบการ 24,000 คน เข้าร่วมการแข่งขัน แต่แทนที่จะมีผู้ชนะไม่กี่คนที่ได้เงินรางวัลก้อนโต คณะกรรมการกลับเลือกผู้ที่เสนอแผนการธุรกิจที่พอไปวัดไปวาได้จำนวน 6,000 คนมาเข้าร่วมอบรมการทำธุรกิจ และคัดเลือกผู้ชนะจำนวนมากถึง 1,200 คน การศึกษาในเวลาต่อมา[12] พบว่ากิจกรรมที่เป็นนวัตกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ในบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่จากเงินรางวัล และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ในบริษัทที่มีอยู่ก่อนแล้ว

พูดอีกแบบคือ ด้านกลับของการทำนโยบายประชานิยมที่เน้นการบริโภค ควรต้องนึกถึงการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กด้วย

หลักการที่สาม นโยบายควรพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเรื้อรังซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การ ‘แจกเงิน’ อาจจะเพิ่มรายได้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากหากในระบบเศรษฐกิจมีผู้ผลิตและผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคเพียงไม่กี่ราย เมื่อประชาชนได้รับเงินมาก็จะนำไปซื้อสินค้าที่ผลิตจากเจ้าใหญ่เจ้าหนึ่งในร้านสะดวกซื้อที่เป็นของเจ้าใหญ่อีกเจ้าหนึ่ง ผู้ที่รวยขึ้นจากเงินก้อนดังกล่าวคือเจ้าใหญ่เหล่านั้น ในการนี้ นโยบายอาจจะซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำเสียด้วยซ้ำ

แต่ปัญหานี้อาจจะลดความรุนแรงลงไปได้บ้างหากเงินก้อนดังกล่าวผ่านมือของผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำให้พวกเขาได้ส่วนแบ่งอยู่บ้างในรูปของกำไร เมื่อปัญหาคือเงินตกสู่กระเป๋าของเจ้าใหญ่เร็วเกินไป ข้อเสนอในทางปฏิบัติของผู้เขียนก็คือนโยบายควรทำให้ท้ายที่สุดเงินตกสู่กระเป๋าของผู้ประกอบการรายย่อย หรือหากทำไม่ได้ เงินที่ถูกนำมาแจกก็ควรหมุนผ่านมือผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนคนธรรมดาให้มากครั้งที่สุด

นโยบายคนละครึ่งที่กำหนดให้ใช้ได้กับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้นอาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการตั้งเกณฑ์เพื่อให้เงินผ่านมือผู้ประกอบการรายย่อยให้มากที่สุด ผู้เขียนเห็นว่า การตั้งเกณฑ์สามารถพัฒนาขึ้นไปถึงขั้นที่จำกัดประเภทของสินค้าได้ เช่น ให้ซื้อได้เฉพาะสินค้า OTOP หรือสินค้าที่ถูกผลิตโดยผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนเท่านั้น เป็นต้น

ผู้เขียนตระหนักว่าหลักการทั้งสามนี้อาจจะขัดแย้งกันเอง เช่น หลักการแรกที่สนับสนุนให้ธุรกิจโตขึ้นอาจจะขัดแย้งกับหลักการที่สามเพราะธุรกิจที่โตขึ้นอาจจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแย่ลง ดังนั้นผู้คิดนโยบายจึงควรเสนอชุดนโยบายประชานิยมที่มีความหลากหลายเพื่อทำให้เกิดความสมดุลระหว่างหลักการทั้งสามข้อ และทำให้ประโยชน์และโทษจากนโยบายที่ตกแก่ผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไม่แตกต่างกันมากจนเกินไป

บทส่งท้าย

พรรคการเมืองมีขนาดทั้งเล็กและใหญ่ แต่ละพรรคถือกำเนิดขึ้นด้วยแรงจูงใจแตกต่างกัน และผลที่คาดหวังจากการเลือกตั้งก็อาจจะไม่เหมือนกัน แต่ท่ามกลางความแตกต่างเหล่านี้ มีบางอย่างที่ทุกพรรคมีเหมือนกัน นั่นก็คือทุกพรรคน่าจะยินดีที่ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นแม้เพียงหนึ่งคะแนน ทุกพรรคน่าจะยินดีที่ตนมีส่วนในการพัฒนาการเมืองไทย และทุกพรรคน่าจะยินดีหากนโยบายที่ตนเสนอถูกนำไปปฏิบัติและปรากฏว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้คน

ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองในปัจจุบันที่นโยบายประชานิยมเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการได้รับคะแนนเสียง ถึงแม้จะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกพรรคจะชนะการเลือกตั้งพร้อมกัน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าทุกพรรคสามารถมีส่วนในการพัฒนาการเมืองได้ด้วยการเสนอนโยบายที่ทั้งถูกใจประชาชน ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว และสร้างคะแนนเสียงแก่พรรรค การเมืองที่พึงประสงค์จึงไม่ใช่แค่พรรคใหญ่เอานโยบายมาอวดกัน แต่ทุกพรรคควรมีส่วนในการแข่งขันกันในการเสนอนโยบาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับนโยบายที่พึงประสงค์สำหรับสังคม

แน่นอนว่าผลประโยชน์จากการแข่งขันที่สร้างสรรค์นี้จะตกสู่ประชาชน


เนื้อหาส่วนใหญ่ของบทความนี้นำมาจากบทความ “Economic Paradigm and Demand-Side Populist Policies in Thailand” ตีพิมพ์ในวารสาร TRaNS: Trans-Regional and -National Studies of Southeast Asia โดย Naphon Phumma และ Tanadej Vechsuruck ปี 2022 ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cambridge.org/core/journals/trans-trans-regional-and-national-studies-of-southeast-asia/article/abs/economic-paradigm-and-demandside-populist-policies-in-thailand/F10633EE3A2A1325664C87802A0F570D


[1] อัญชิรญา จันทรปิฎก. 2019. “ภาพลวงทางการคลัง: บทวิเคราะห์ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายประชานิยม”. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร. https://so05.tci-thaijo.org/index.php/sujthai/article/view/173820

[2] นณริฏ พิศลยบุตร. 2016. “‘แจกเงิน’ ไม่ช่วยพ้นวังวนยากจน แนะออกนโยบายระยะยาวแก้ปัญหา”. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ). https://tdri.or.th/2016/11/2016-11-22-2/

[3] วิรไท สันติประภพ. 2013. “ชวนคิด 3 แนวทางอยู่กับประชานิยมแบบไทยๆ”. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ).  https://tdri.or.th/2013/10/thai-populism-veerathai/

[4] นณริฏ พิศลยบุตร. 2016. “‘แจกเงิน’ ไม่ช่วยพ้นวังวนยากจน แนะออกนโยบายระยะยาวแก้ปัญหา”. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ). https://tdri.or.th/2016/11/2016-11-22-2/

[5] สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์. 2015. “วิกฤตการณ์ประชาธิปไตย ประชานิยม และทางออกที่เป็นประชาธิปไตย”. ดุลอำนาจในการเมืองการปกครองไทย. สถาบันพระปกเกล้า.หน้า 101-126.  https://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M10_612.pdf

[6] นณริฏ พิศลยบุตร. 2016. “นโยบายประชารัฐแตกต่างจากนโยบายประชานิยมอย่างไร? และประชาชนจะได้อะไร?”. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ). https://tdri.or.th/2016/01/nonarit20160107/

[7] The Wealth of Nations Book บทที่ 3

[8] Kaldor, Nicholas. 1966. Causes of the Slow Rate of Economic Growth of the United Kingdom: An Inaugural Lecture. London.

 Kaldor, Nicholas. 1967. Strategic Factors in Economic Development. New York: Cornell University Press.

[9] Thirlwall, Anthony. (1979), “The balance of payments constraint as an explanation of international growth rate differences”, Banca Nazionale del Lavoro Quarterly Review, n. 128, pp. 45-53.

[10] วีระยุทธ์ กาญจน์ชูฉัตร. 2019. เศรษฐกิจสามสี-เศรษฐกิจแห่งอนาคต.  Bookscape.

[11] The Wealth of Nations บทที่ 1

[12] McKenzie, David. 2017. “Identifying and spurring high-growth entrepreneurship: Experimental evidence from a business plan

competition.” American Economic Review 107(8): 2278–2307.

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save