เปิดความเห็นของนักอ่าน ใน 'ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน'

เปิดความเห็นของนักอ่าน ใน ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน’

กองบรรณาธิการ The101.world เรื่อง

เป็นปีแรกที่ความน่าจะอ่านมีรายชื่อหนังสือ ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน’ ที่ให้นักอ่านทุกคนร่วมโหวตหนังสือน่าอ่านด้วยตัวเอง

แม้การโหวตจะจบลงและได้หนังสือที่มหาชนโหวตให้มากที่สุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มและเหตุผลเฉียบๆ ของนักอ่านหลายคนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน 101 จึงขอรวบรวมเสียงของนักอ่านไว้ดังต่อไปนี้

คุณธัญลักษณ์ เลือกหนังสือ ‘ในครึ่งที่ยังว่างของกระเป๋าเดินทางสีฟ้า’

ของ ฟูมิเอะ คนโด

ฟูมิเอะ คนโด

“ในเมื่อช่วงนี้ยังไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวไหนได้

หนังสือที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางรอบโลกพร้อมกับของนำโชคเล็กๆ ก็ดูจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในตอนนี้

หนังสือเล่มนี้ได้พาเราไปรู้จักกับเรื่องราวในชีวิตของแต่ละตัวละครที่ได้ออกเดินทางเพียงแค่ตอนสั้นๆ

แต่ทำให้เรารู้สึกผูกพันและเอาใจช่วยอยากให้ทุกคนได้พบกับจุดหมายปลายทางตามที่คาดฝันไว้ค่ะ :)”

คุณอาภาภัทร เลือกหนังสือ ‘ยอดมนุษย์ดาวเศร้า’

ของ องอาจ ชัยชาญชีพ

ยอดมนุษย์ดาวเศร้า

“เป็นหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกเหมือนมีคนมากอด กุมหัวใจเอาไว้ ในตอนที่เราคิดว่าเราเหลือตัวคนเดียว ก็เหมือนกับเจอเพื่อนที่เป็นแบบเดียวกัน ปลอบประโลมใจฉัน”

คุณปารมี เลือกหนังสือ ‘ตาสว่าง’

ของ คลาวดิโอ โซปรันเซ็ตติ, เคียรา นาตาลุชชี และ ซารา ฟับบรี

ตาสว่าง ของ คลาวดิโอ โซปรันเซ็ตติ, เคียรา นาตาลุชชี และ ซารา ฟับบรี

“หนึ่งในวาทกรรมที่สร้างความแตกร้าว และเข้าใจผิดในสังคมไทยได้มากที่สุดในช่วง 10 ปีให้หลังคือคำว่า ‘เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง’ หนังสือเล่มนี้เหมือนผ่าตรงใจกลางของการลดทอนความเป็นมนุษย์ และการสร้างความเป็นอื่นให้กับกลุ่มชนชั้นกลาง/ล่างที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มคนเสื้อแดง’ ในสังคมไทย

“เหนือไปกว่าความเป็นหนังสือที่สะท้อนการเมืองสมัยใหม่ในประเทศไทย หนังสือเล่มนี้อัดแน่นไปด้วยความคาดหวัง ความฝัน และ ความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านั้น ในความโกรธแค้นเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม หนังสือเล่มนี้ยังคงเหลือพื้นที่ให้ความหวังในการเปลี่ยนแปลงสังคมมีที่เหลือพอจะให้หายใจ

“เรารู้ว่าแค่หนังสือเล่มเดียวคงเปลี่ยนความคิดคนไม่ได้ แต่อย่างน้อยการเปิดพื้นที่ให้ผู้ไร้เสียงมีเรื่องเล่าของตัวเองบ้าง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น (เล็กๆ) ที่ดีของการก้าวข้ามความแตกแยกในสังคมอย่างจริงจังเสียที”

คุณนรุตม์ชัย เลือกหนังสือ ‘แม่ที่มีอยู่จริง (Being There)’

ของ เอริก้าร์ โคมิซาร์, ซิดนีย์ ไมเนอร์

แม่ที่มีอยู่จริง (Being There)  ของ เอริก้าร์ โคมิซาร์, ซิดนีย์ ไมเนอร์

“หากได้เข้าร้านหนังสือบ่อยๆ อาจเห็นว่าหนังสือในหมวดเรื่องการเลี้ยงลูกมีให้เลือกซื้อเป็นร้อยๆ เล่ม แต่ไม่มีเล่มไหนเลยที่สอนแม่ธรรมดาให้กลายเป็น ‘แม่ที่มีอยู่จริง’ สำหรับลูกน้อย”

 คุณอติศักดิ์ เลือกหนังสือ ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’

ของ สะอาด

การศึกษาของกระป๋องมีฝัน  ของ สะอาด

“ปัญหาของระบบการศึกษา ใครๆ ก็พูดถึงมานาน แต่ไม่คิดไม่ฝันว่าจะมีการ์ตูนที่เขียนถึงเรื่องนี้ได้อย่างจะแจ้ง เสียดสี มีอารมณ์ขัน อ่านสนุก และไม่มืดมนสิ้นหวังจนเกินไปนัก เราคิดว่าทุกคนที่เติบโตมากับระบบการศึกษาไทยจะรู้สึกร่วมไปกับหนังสือเล่มนี้ได้ไม่ยาก

ตอนซื้อมาลูกเราถามว่า “พ่ออ่านอะไร”

เราบอกไปตามตรงว่า อ่านการ์ตูนเกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศไทย

“หนูอ่านด้วยได้ไหม”

“ได้ดิ มีคำหยาบอยู่พอสมควรนะ แต่หนู 10 ขวบแล้ว พ่อว่าอ่านได้”

พอเขาอ่านจบ เราถามว่าเป็นไง

“มันดีมากเลยพ่อ น่าจะเอาไปให้ครูที่โรงเรียนอ่าน”

เห็นอยากจะปฏิรูปการศึกษากันมาหลาย 10 ปีแล้ว ถ้าจะทำกันจริงจัง เราว่าเริ่มจากอ่านเล่มนี้ แล้วยอมรับความจริงกันเสียก่อนค่อยลงมือปฏิรูป”

คุณรวิสรา เลือกหนังสือ ‘สามัญสำนึก (Common Sense)’

ของ โธมัส เพน

สามัญสำนึก (Common Sense)  ของ โธมัส เพน

“หนังสือเล่มนี้เหมือนตีแผ่ต้นเหตุที่แท้ของปัญหาบ้านเมืองค่ะ ไม่อยากให้ประเทศของถอยหลังไปมากกว่านี้แล้ว อยากให้ทุกคนได้อ่านกัน เพราะเสรีภาพและความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรจะได้รับ ขอบคุณค่ะ”

คุณพรเทพ เลือกหนังสือ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’

ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว  ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

“ใครจะไปคิดว่าการมาของโควิด-19 จะทำให้อ่านหนังสือเล่มนี้จบ!”

คุณธนวัฒน์ เลือกหนังสือ ‘บอด’

ของ ฌูเซ่ ซารามากู

บอด ของ ฌูเซ่ ซารามากู

“มันสามารถซ้อนทับได้อย่างคล้ายคลึงกับช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนัก และ ‘บอด’ เป็นนิยาย dystopia อย่างไม่ต้องสงสัย

‘ตาบอด’ เป็นเหมือนเชื้อโรคที่แพร่กระจาย ลุกลาม กัดกินมนุษยชาติอย่างไม่มีที่มาที่ไป

ที่แตกต่างจากไวรัสหรือซอมบี้คือ ‘ตาบอด’ โดยตัวมันเองไม่คร่าชีวิต แต่กลับปล่อยให้มนุษย์ที่ตาบอดคร่าชีวิตกันเอง

คนตาบอด จะดำรงชีวิตร่วมกันได้มันไม่ได้แค่อาศัยมโนธรรมสำนึกที่ยังหลงเหลือมาจากช่วงชีวิตที่ตายังไม่บอดเป็นตัวตัดสิน แต่มันเกิดบรรทัดฐานใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต ช่วงชิงชีวิต เรียนได้ว่าเป็น new normal ตามแบบฉบับ Saramago

เรายังเห็นได้ว่า เมื่ออยู่ต่อหน้าโรคระบาดร้ายแรง รัฐไร้สมรรถภาพเพียงใด

และรัฐยังคงใช้วิธีการโบราณดั้งเดิมในการจำกัดโรคระบาดเสมอ นั่นคือกักกัน กีดกัน และปล่อยให้ตายไปเพื่อไม่ต้องมาเป็นภาระดูแล และที่สำคัญคือจะได้ไม่แพร่เชื้อต่อ

ที่น่าสนใจมากคือ ‘บอด’ ปล่อยให้คนหนึ่งคนเล็ดลอดจากการตาบอด

ให้มีชีวิตใน the country of blind โดยที่ต้องแบกรับทั้งความรู้สึกผิดที่ตัวเองตาไม่บอด ความรู้สึกปรีดาที่ยังมองเห็น และภาระทางสังคมที่หนักอึ้ง ที่ต้องคอยชี้นำ ช่วยเหลือเหล่าคนตาบอด

ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ภายในใจตัวละครกลับไม่อยากบอกผู้อื่นว่าตัวเองมองเห็น เพราะกลัวที่จะถูกใช้ให้คอยทำโน่นทำนี่ด้วยเหตุที่ว่าเพราะเธอตาดี

‘บอด’ โบยตีมโนธรรมสำนึกคนอ่านอยู่ตลอดทั้งเล่ม

ตีแผ่ด้านมืดของมนุษย์ที่ต้องการเอาตัวรอดเมื่อสูญเสียการมองเห็น

ตั้งคำถามที่ไม่มีทางจะจินตนาการตอบได้เลยว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง เราจะดำรงอยู่ได้ยังไง

เราจะเป็นฝ่ายช่วงชิงหรือถูกช่วงชิง

และมันเป็นไปได้จริงๆ หรือที่เราจะจัดระเบียบสังคมของมนุษยชาติที่ตาบอดขึ้นใหม่ได้

ที่เจ๋งคือหนังสือเล่มนี้ ตัวหนังสือไล่จากซ้ายไปขวา ยาวเป็นพรืด

เวลาเป็นบทสนทนาก็ไม่มีการเคาะขึ้นบรรทัดใหม่ แต่เป็นบทสนทนาผสมกับการบรรยายฉากในเรื่อง แบบลากยาวต่อกันไปเรื่อยๆ จนสุดหน้ากระดาษแล้วจึงขึ้นบรรทัดใหม่

มาได้เฉลยว่าทำไมหนังสือถึงเป็นแบบนี้เอาตอนค่อนท้ายเล่ม นักประพันธ์ตาบอดใช้วิธีนี้ในการเขียนหนังสือ ใช้การสัมผัสรอยกดของปากกาบนกระดาษตามหาวรรคคำท้ายสุด จะได้รู้ว่าเขียนไปถึงไหนแล้ว เพื่อเขียนบันทึกต่อ และหวังว่าซักวันจะมีคนตาดีมาอ่านมัน

ทั้งบีบคั้น ทั้งสนุก

ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผู้เขียนจะพาไปทิศทางไหน

เป็นการสร้างโลกในจินตนาการที่ยอดเยี่ยมมาก ใช้ประสบการณ์ใกล้ตัวที่ผู้อ่านแต่ละคนสามารถสัมผัสได้…

…แค่เพียงคุณหลับตา”

 คุณนัจนันท์ เลือกหนังสือ ‘คิมจียอง เกิดปี 82’

ของ โชนัมจู

คิมจียอง เกิดปี 82  ของ โชนัมจู

“แม้บริบทสังคมจะเป็นเกาหลีแต่ก็เข้ากับบริบทสังคมไทยในตอนนี้มากๆ อยากให้ผู้หญิงได้อ่านจะได้รู้ถึงสภาพการถูกกดขี่ที่เป็นมาตลอด อยากให้ผู้ชายได้อ่านเพราะจะได้รู้ว่าสังคมชายเป็นใหญ่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อแค่ผู้หญิง ทำให้เราต้องร่วมมือกันแก้ไข และเราทุกคนสามารถเป็นเฟมินิสต์ได้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมให้แก่คนทุกคน สรุปก็คือเป็นหนังสือที่ทุกคนควรอ่านค่ะ”

คุณดนยา เลือกหนังสือ ‘วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว’

ของ มูเระ โยโกะ

วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว  ของ มูเระ โยโกะ

“อ่านแล้วอยากมีชีวิตอยู่ต่ออีกสัก 1 ปีในวิถีลูสเซอร์”

คุณศิชา เลือกหนังสือ ‘มองเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่’

ของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

มองเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

“เราเล่นทวิตเตอร์มาตั้งแต่มัธยมต้น สมัยที่คนเสื้อแดงถูกล่าแม่มด กดขี่ข่มเหงสารพัด

10 ปีผ่านไป… สายลมเปลี่ยนทิศ

ตอนนี้เราเป็นเฟิร์สจ็อบเบอร์ ทวิตเตอร์ก็เปลี่ยนไปเหมือนฟ้ากับเหว

ในปี 2563 ‘ทวิตเตอร์’ เปิดพื้นที่ให้หลายสิ่งที่เคยถูกกดทับ ได้ถูกมองเห็น

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภา 53, ปรากฏการณ์เฟมทวิต, การต่อต้านระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในไทยของกลุ่มต่างๆ และประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย ตามแต่ชาวเน็ตจะ ‘หาทำ’ การ educate ซึ่งกันและกัน

ไทม์ไลน์อุดมไปด้วยการถกเถียงที่เผ็ดร้อนรายวัน ชนิดที่ต้องลุ้นว่าเปิดแอปมาฉันจะเจอดรามาอะไร

เพื่อนหลายต่อหลายคนของฉัน รู้สึกไม่สบายใจ จึงจำต้องย้ายออกจากบ้านนกสีฟ้านี้ไป

‘ทวิตเตอร์’ เป็นแพลตฟอร์มสะท้อนที่เผยให้เห็นความเป็นมนุษย์ได้อย่างชัดเจน

แต่หากเราเอามาเทียบกับจำนวนคนไทยทั้งหมด ทวิตเตอร์ก็อาจเป็นเพียงสังคมกลุ่มเล็กๆ เพียงเท่านั้น

เหตุผลที่เราเลือก ‘มองเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่’ เป็นหนังสือน่าอ่านนั้น มี 2 ข้อ

1. หนังสือเล่มนี้หยิบเอาเรื่องเล็กเรื่องน้อยในชีวิตประจำวัน เช่น รถกระบะ ละคร คำด่า การกินของดิบ ฯลฯ มาวิพากษ์ผ่านเลนส์ของมานุษยวิทยา ในสังคมที่ไม่ค่อยเอื้อให้คนคิด หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้อ่านได้สะท้อนย้อนคิด ลองทำความเข้าใจมนุษย์และสังคม ในมุมที่อาจไม่เคยคิดว่ามีอยู่ (เพราะเราเห็นมันเป็นเรื่องเล็กๆ ไงละ)

2. ในปี 2563 อันแสนสาหัส แม้จะบอบช้ำกันถ้วนหน้า แต่เราก็ไม่เคยหยุดฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า

ไม่มีใครหยุดยั้งสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน

‘การอ่านเพื่อทำความเข้าใจมนุษย์’ จึงสำคัญและจำเป็น เพื่อให้สังคมยังขับเคลื่อนไปได้

โดยไม่ผลักไสกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปจากบ้านของเรา”

คุณภัทริดา เลือกหนังสือ ‘ผมเรียกเขาว่าเน็กไท’

ของ มิเลนา มิชิโกะ ฟลาซาร์

ผมเรียกเขาว่าเน็กไท  ของ มิเลนา มิชิโกะ ฟลาซาร์

“เป็นหนังสือที่ปลอบประโลม ให้ความหวัง แต่ก็ไม่ละเลยบาดแผลและความบิดเบี้ยวของตัวละคร หนังสือหยิบบาดแผลของตัวละครออกมากางออกตรงหน้าเรา ชวนสำรวจอย่างละเอียดลึกซึ้ง ยอมรับและโอบกอดไว้ ในขณะเดียวกันเราผู้อ่านก็รู้สึกถูกยอมรับและโอบกอดไปด้วย

“ในสังคมที่ระยะห่างของคนทั้งกว้างและแคบลง เราเกลียดคนอื่นได้ง่ายขึ้น เกลียดตัวเองได้ง่ายยิ่งกว่า จึงอยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จัก ให้คนได้หยิบมาอ่าน และได้รับการปลอบประโลมเช่นเดียวกับเรา”

คุณพลอยพรรณ เลือกหนังสือ ‘ตาสว่าง’

ของ คลาวดิโอ โซปรันเซ็ตติ, เคียรา นาตาลุชชี และ ซารา ฟับบรี

ตาสว่าง  ของ คลาวดิโอ โซปรันเซ็ตติ, เคียรา นาตาลุชชี และ ซารา ฟับบรี

“นิยายที่เป็นเรื่องจริง”


สั่งซื้อหนังสือ Top Highlights และเล่มอื่นๆ ในโปรเจ็กต์ความน่าจะอ่าน 2020 ได้ที่ Readery

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save