fbpx
วัฒนธรรมป็อปในม็อบ 19 กันยา : ส่องคอสตูมปังๆ และพลังของการชุมนุม

วัฒนธรรมป็อปในม็อบ 19 กันยา : ส่องคอสตูมปังๆ และพลังของการชุมนุม

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

ในบรรยากาศการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 นอกจากเสียงปราศรัยของแกนนำและพลังของมวลชนมากมายที่มาร่วม มองไปรอบๆ เราอาจเห็นคนแต่งกายจัดเต็ม ทั้งชุดแฟนซีแปลกตา ชุดเลียนแบบการ์ตูนและซีรีส์ชื่อดัง

ท่ามกลางสีสันที่หลากหลายยังมีขบวนพาเหรดหลากสี มีคนเล่นว่าวกลางสนามราษฎร มีธงที่ดูไม่คุ้นเคยคอยโบกสะบัด ใต้ร่มที่ผู้ชุมนุมกางเพื่อกันฝน เราอาจพบครอบครัวที่คนต่างวัยจูงมือกันมาชุมนุม

ความตื่นตาตื่นใจมากมายเกิดขึ้นพร้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตย และบางครั้งวัฒนธรรมเหล่านี้นี่แหละที่บอกเล่าเรื่องราวอันแตกต่างของผู้คนได้เป็นอย่างดี

101 เก็บตกเรื่องเล่าและแฟชั่นจัดจ้านในการชุมนุม สำรวจเบื้องหลังสิ่งที่เราเห็นผ่านตาว่ามีที่มาและความหมายอย่างไร แล้วคุณจะรู้ว่า มีสีสันมากมายรอให้คุณค้นพบระหว่างการชุมนุม

 

โชเฟอร์ผู้รักประชาธิปไตยพาไปสนามราษฎร

 #ปัจจุบันนักซิ่งอดีตนักสู้

 

แท็กซี่ผู้รักประชาธิปไตย

 

การคุยกับพี่แท็กซี่เป็นเรื่องที่อาศัยโชคชะตาอยู่หน่อย หากเจอคนที่คิดตรงกันก็เบาใจ แต่ถ้าเจอคนเห็นต่าง บทสนทนาอาจสร้างความอึดอัดไปตลอดทาง ยังไม่นับว่าคนขับรถหลายคนไม่ต้องการเผชิญการจราจรที่ติดขัดบริเวณที่ชุมนุม แต่ไม่ใช่กับชายขับรถโดยสารผู้นี้ “จะไปที่ม็อบใช่ไหมครับ วันนี้ ผมขอให้พวกเขาชนะ” เขาเอ่ยหลังจากออกรถ มุ่งหน้าไปสนามหลวงด้วยความเต็มใจ

โชเฟอร์อายุ 46 คนนี้เคยต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยบนถนนมาก่อน “หลายปีก่อนผมเคยนอนตรงหัวมุมแยกราชประสงค์” พูดพร้อมเอื้อมมือไปยังโทรศัพท์ที่ใช้บอกเส้นทางอยู่ เปิดรูปตัวเองในการชุมนุมให้ดู เขายังดูการถ่ายทอดสดการชุมนุมวันนี้ผ่านทางเฟซบุ๊กด้วย “เวลาไม่มีผู้โดยสารก็เปิดค้างไว้ เอาใจช่วยคนรุ่นใหม่ที่ออกมา” เขาเล่า

“กี่ยุคกี่สมัยก็มีวาทกรรมเพื่อโจมตีคนเห็นต่าง เป็นคอมมิวนิสต์บ้าง เป็นพวกชังชาติบ้าง สื่อหลายเจ้าแย่มากๆ แต่ยุคนี้มีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ก็ช่วยเยอะ ได้รับข้อมูลหลายแบบ ถ้าพูดถึงสื่อโทรทัศน์ก็อาจจะยังแย่อยู่ แต่ไม่ต้องกลัว โทรทัศน์ไม่ใช่สื่อชี้นำอีกต่อไปแล้ว คนอย่างผมไม่ได้ดูทีวีมาตั้งนานแล้ว บ้านผมซื้อทีวีจอ 50 นิ้วมา ผ่อนอยู่ตั้งหลายเดือนก็ยังไม่เคยเปิดดูเลย อาศัยดูจากโทรศัพท์”

“ย้อนไปสิบปีที่แล้วผมคงไม่คิดว่าจะมีวันนี้ ได้เห็นภาพแบบนี้ ได้ฟังคำว่าให้มันจบที่รุ่นเรา ผมตื้นตันนะ เวลาผมเห็นเพนกวิน ก็ยังคิดว่าไม่น่าเชื่อ เขาทำอะไรมาเยอะ ไปยืนชูป้ายตั้งคำถามกับประยุทธ์ตั้งแต่ ม.5 หรืออย่างคุณรุ้งเขาก็ปราศรัยได้สุดยอด ผมชื่นชมมาก หลายครั้งทำผมนึกถึงคำปราศรัยของคุณเต้น ณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) ‘ประชาชนจะบอกดิน บอกฟ้าว่า คนอย่างข้าก็มีหัวใจ’ ไม่นานนี้มีน้องนักศึกษาที่จุฬาฯ เอาคำปราศรัยนี้ไปอ่าน ผมรู้สึกขอบคุณคนรุ่นใหม่จริงๆ การเปลี่ยนแปลงมันยากอยู่ แต่อย่างน้อยอยากให้เขารู้ว่ามีคนเป็นล้านตื่นเต็มตาแล้ว มีคนคิดเหมือนกันอีกเยอะ”

 

กลุ่มโจรจากซีรีส์ MONEY HEIST

#ปล้นอำนาจของเราคืน

 

Money Heist ในชุมนุม

 

หากเป็นการประกวด เชื่อว่าพวกเขาน่าจะได้รางวัลขวัญใจช่างภาพไปครอง เพราะเสียงชัตเตอร์ดังระงมอยู่รอบผู้ชุมนุมในชุดจัมป์สูทสีแดงสวมหน้ากาก การแต่งกายตามตัวละครในซีรีส์เรื่อง MONEY HEIST เมื่อถามว่าเขาจะมาปล้นอะไร คำตอบเรียบง่ายถูกเอ่ยออกมา “เรามาปล้นอำนาจของเราคืน”

“เราแต่งตัวตามซีรีส์เรื่อง MONEY HEIST ทรชนคนปล้นโลก จริงๆ มันเป็นซีรีส์ที่สื่อถึงการเมืองเล็กๆ นะ มีสัญลักษณ์เกี่ยวกับการต่อต้านทุนนิยมและรัฐบาลที่ไม่เป็นธรรม”

“เผด็จการปล้นอำนาจเราไป ซึ่งจริงๆ อำนาจนี้เป็นของเราตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เงินภาษีทุกบาททุกสตางค์ที่เขาใช้เป็นของเราหมดเลย แต่เห็นไหมว่าทุกวันนี้แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากสิบปีที่แล้วเลย เอาง่ายๆ การขนส่งของเราทุกวันนี้เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศไม่ได้เลย ดังนั้นเราก็มาปล้นอำนาจคืนดีกว่า”

“เราอยากเห็นสังคมเดินหน้าไปเรื่อยๆ และการเมืองเป็นสิ่งที่ผลักดันหลายๆ อย่าง #ถ้าการเมืองดี สิบปีที่ผ่านมาเราอาจจะมีขนส่งสาธารณดีๆ ใช้ไปแล้ว ถ้ามันจบในรุ่นเราจริงๆ อนาคตของรุ่นลูกเราหลานเราจะดีกว่านี้แน่นอน”

 

2549-2563 ชายผู้แต่งแฟนซีเป็นสีสันให้การชุมนุม

#แฟนซีมาตั้งแต่สิบปีก่อน

 

คอสเพลย์ แต่งตัวแฟนซีในชุมนุม

 

ในการชุมนุม คุณได้จะเห็นชายใส่หน้ากากคนแก่ สะพายพานรัฐธรรมนูญไว้ด้านหลัง แต่งตัวแปลกตาด้วยเครื่องประดับที่ดูรู้ว่าประดิษฐ์เอง เมื่อหยุดพูดคุยกับเขาก็พบว่าชายอายุ 62 คนนี้เป็นขาประจำของการแต่งตัวแฟนซีมาม็อบ

“ผมมาชุมนุมตั้งแต่ยุคทักษิณถูกรัฐประหารแล้วครับ ผมมักจะทำกิจกรรมโดยการแต่งชุดแปลกๆ ออกมา ทำให้การชุมนุมสนุกสนาน สมัยสิบปีก่อนก็จะมีชุดแบทแมน ซูเปอร์แมน ชุดคนแก่คิ้วขาวหาบนู่นหาบนี่ สมัยยุคน้ำมันปาล์มแพง ผมก็แต่งเป็นน้ำมันพืช” เขาเล่า

เมื่อรู้ว่าจะมีการชุมนุมใหญ่เขาก็ปัดฝุ่นฝีมือการแต่งตัว จัดหาอุปกรณ์อย่างเร่งด่วนเพื่อมาส่งพลังให้ผู้ชุมนุม

“คนไทยล้มลุกคลุกคลานมาเยอะแล้วครับ เห็นน้องๆ นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ออกมามากมายอย่างนี้ ก็ต้องมาร่วม ผมคิดแค่ว่าจะสนับสนุนพวกเขาอย่างไร จะแต่งตัวเป็นอะไรดี เดินเจอหน้ากากตลกๆ ก็ซื้อเตรียมมาใส่ วันนี้รัฐบาลต้องฟังนักศึกษานะ เพราะพวกเขาเป็นเด็กรุ่นใหม่ มีความรู้ความสามารถ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงยากที่จะเกิดขึ้นเอง ต้องมีการกดดันจากนักศึกษา พวกเขาเท่านั้นที่เป็นพลังที่ดีที่สุด อะไรก็สู้พลังวัยรุ่นไม่ได้แล้ว”

 

.

รามฯ 2 จะไม่ทนในลุคชาวบ้านบางระจัน

#ชาวบ้านสู้ข้างคนรุ่นใหม่

 

คอสเพลย์บางระจันในชุมนุม

 

ทรงผมแสกกลางเหมือนหลุดมาจากละครย้อนยุค วาดหนวดเขี้ยวบนใบหน้า สะพายดาบใหญ่ที่ทำจากกระดาษ พวกเขามาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 ในนาม #รามฯ 2 จะไม่ทน

“วันนี้แต่งตัวเป็นชาวบ้านบางระจัน เพื่อแสดงออกว่าพวกเราก็เป็นเพียงชาวบ้าน ผมก็ไม่เคยแต่งตัวแฟนซีออกมาชุมนุมมาก่อนหรอก นี่ครั้งแรกครับ”

“พวกผมอยากจะแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ว่า จะไม่ยอมให้น้องๆ ต่อสู้เพียงลำพัง ถ้าในอดีตมีตำนานชาวบ้านบางระจันรวมตัวกันต่อสู้กับศัตรู ต้านศึกไว้ได้ วันนี้ชาวบ้านอย่างพวกเรามารวมตัวกับน้องๆ แล้ว ผมคิดว่าพวกเราก็น่าจะชนะครับ”

.

พันธมิตรชานมจากทวิตภพ

#MilkTeaAlliance

 

MilkTeaAlliance พันธมิตรชานม

 

ท่ามกลางป้ายมากมาย ธงหลากสีสันโบกสะบัดไปตลอดการชุมนุม แม้จะอยู่ไกลก็สังเกตเห็นขบวนธงนี้ได้ไม่ยาก หนุ่มสาวที่ช่วยกันถือธงเล่าว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรชานม #MilkTeaAlliance พันธมิตรที่รวมตัวกันผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งคนไทย ฮ่องกง และไต้หวัน เพื่อผนึกกำลังและสนับสนุนกันในฐานะฝ่ายประชาธิปไตย

“ธงดำอันนี้เป็นธงการประท้วงในฮ่องกง ส่วนสีเขียวเป็นธงไต้หวัน ดูแปลกตาหน่อย เพราะเป็นธงเรียกร้องเอกราชของไต้หวัน ส่วนธงสีรุ้งก็เป็นธง LGBT รูปแบบใหม่ เพิ่มสีที่แสดงถึงคนผิวสี และสีของ Transgender เข้ามาอยู่ในธงด้วย”

“เราต้องการสนับสนุนประชาธิปไตยในทุกๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง ไต้หวัน ไปจนถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เทรนด์พันธมิตรชานมในทวิตเตอร์ทำให้เราเห็นเรื่องราวการต่อสู้และความสามัคคีของหลายประเทศ เห็นว่าหลายคนกำลังต่อสู้ในอุดมการณ์เดียวกันอยู่”

“การต่อสู้ของคนไทยวันนี้เห็นชัดมากว่าเจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติ พวกเราก็ยิ่งหวังว่าจะได้เห็นความยุติธรรม เห็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่ทุกคนได้รับการคุ้มครอง มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่สังคมแบบที่มีช่องว่าง ฝ่ายหนึ่งได้ดี ส่วนอีกฝ่ายย่ำแย่มากๆ”

 

ซูเปอร์แมนลูกครึ่งไทยเยอรมัน

#SupermanVsDemocrazy

 

คอสเพลย์ในชุมนุม

 

ยามเดิน ผ้าคลุมสีแดงของเขาพลิ้วไหว เรียกความสนใจจากหลายๆ คนในวันนั้น ซูเปอร์แมนที่มาร่วมชุมนุมคนนี้เป็นลูกครึ่งไทยเยอรมัน เขาเห็นปัญหาหลายอย่างก่อตัวขึ้นในประเทศไทย และอยากมาร่วมกับคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลง

“ผมไม่ได้ใส่ชุดซูเปอร์แมนทุกวัน แต่ผมเคยแต่งตัวแบบนี้ในงานรณรงค์เพื่อสังคมแล้วเห็นคนเขาชอบกัน พลังบวกมันออกมาผ่านสายตาพวกเขา ผมเลยอยากใช้พลังบวกแบบนี้ในการเรียกร้องประเด็นต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม การศึกษา และการเมืองไทยด้วย”

“ผมเกิดที่เยอรมันครับ เป็นลูกครึ่ง 50% เยอรมนี 50% ไทย ผมมีพาสปอร์ตที่ใช้เลือกตั้งได้ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาผมก็ไปเลือกนะ แต่มันก็เป็นการเลือกตั้งปลอมๆ อย่างที่ทุกคนรู้กัน นี่ยังไม่ได้พูดถึงรัฐธรรมนูญที่มันห่วย พอคนรุ่นใหม่เริ่มเคลื่อนไหว กระแสต่อต้านถูกจุดจากพวกเขา แต่คุณดูวันนี้สิ มีคนหลากหลายแบบมาที่นี่ทั้งคนจน คนรวย วัยรุ่น ผู้ใหญ่ เรามาที่นี่เพื่อประเทศไทยเหมือนๆ กัน การรวมกันมันสำคัญมาก เราต้องยึดเหนี่ยวและสนับสนุนกันเข้าไว้แล้วเดินไปหาอนาคตที่ดี”

“เรื่องสำคัญที่เราต้องช่วยกันส่งเสียงคือสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิมนุษยชน ที่เยอรมันทุกคนแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไทยก็ควรเป็นแบบนั้นเหมือนกัน กฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐควรคุ้มครองวัยรุ่นพวกนี้ให้แสดงความคิดเห็นได้ และเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ของพวกเขา และต้องคุ้มครองทุกคนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม”

 

ซากาตะ กินโทกิ จากการ์ตูนกินทามะ

#กินโทกิมาไล่บาคุฟุ

 

คอสเพลย์ในชุมนุม

 

เขาไม่ได้เป็นเพียงวัยรุ่นแต่งคอสเพลย์อีกต่อไป เพราะวันนี้สนามราษฎรกลายเป็นโลเคชันใหม่ในการแสดงออก นอกจากความรักชอบในการ์ตูนแล้ว ‘กินทามะ’ ยังเป็นตัวแทนสังคมไทยในสายตาของเขา การแต่งกายเป็นตัวละคร ซากาตะ กินโทกิ ก็เป็นสัญลักษณ์การต่อต้านเช่นกัน

“ผมแต่งแบบนี้มาเป็นครั้งที่สองแล้ว แต่งครั้งแรกตอนที่ไปม็อบวิ่งร้องเพลงแฮมทาโร่ ตัวละคร ซากาตะ กินโทกิ ในการ์ตูนเรื่องกินทามะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เป็นซามูไรที่ต้องการต่อต้านพวกบาคุฟุและโชกุน ถ้าเปรียบเทียบกับสถานการณ์การเมืองไทย บาคุฟุก็คือรัฐบาล ส่วนโชกุนก็คือนายกฯ เราต้องต่อต้านโชกุนกับบาคุฟุเพื่อไปสู่สังคมใหม่ให้ได้ครับ”

“วันนี้ยังไม่เห็นใครแต่งเป็นตัวละครเดียวกับผมมาเลย (หัวเราะ) แต่ก็ดีนะครับ จะได้ไม่ซ้ำกัน ยังมีตัวละครอื่นๆ อีกเยอะที่เป็นสัญลักษณ์แทนการต่อต้าน อยากชวนทุกคนมาแสดงออกในแบบของตัวเองกัน วันนี้ผมยินดีมากที่ได้เห็นคนจำนวนมากมีจุดยืนเดียวกัน ออกมาแสดงออกพร้อมๆ กัน ผมรู้ว่ามีวัยรุ่นหลายคนเลยที่ไม่มีโอกาสหรือมีอุปสรรคทำให้มาไม่ได้ ไม่เป็นไรนะครับ อยากให้ทุกคนแชร์ข่าวสาร ให้คนได้รับรู้พลังของวันนี้กันครับ”

 

เขียนการเมืองลงหลังเสื้อ

#ชนักติดหลังของประเทศ

 

คอสตูมแฟชั่นในชุมนุม

 

เสื้อแจ็กเก็ตสีขาวถูกตกแต่งด้วยข้อความและภาพวาดจากปากกา คำที่เขาเลือกเขียนลงไปเปลี่ยนชุดธรรมดาให้กลายเป็นแฟชั่นการเมืองที่ถูกใจใครหลายคน และยังเป็นการแสดงออกว่าคนไทยมีเรื่องราวมากมายเป็นชนักติดหลังอยู่

“ทำชุดเองครับ วาดเองเลย แรงบันดาลใจก็มาจากการเมืองนี่แหละครับ ถ้าเห็นคำตรงหลังเสื้อผมก็เป็นคำที่รู้ๆ กันอยู่ ไม่ต้องพูดกันมากก็เข้าใจ เช่น คำว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เราก็รู้กันอยู่ว่าเขาเป็นเผด็จการที่มาปล้นประเทศเราไป ซึ่งแน่นอนผมทนไม่ได้แล้วครับ หรือคำว่า 250 ส.ว. ที่ต่อให้ผ่านไปครบ 4 ปี เขาก็จะยังอยู่ในการเลือกนายกฯ แล้วจะให้เขาอยู่ต่อไปทำไมครับ ประเทศเราก็มีเรื่องพวกนี้แหละที่อยู่เป็นชนักติดหลัง”

“ผมใส่เสื้อตัวนี้มาพร้อมหมวกกันน็อก และหน้ากากป้องกันแก๊ส วันนี้พร้อมเต็มที่เลย บรรยากาศที่เห็นก็ฮึกเหิมมาก ผมมาม็อบนี้ครั้งแรก ที่มาก็เพราะมันทนไม่ไหวแล้ว และครั้งนี้เป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่รู้สึกว่าไม่มาไม่ได้แล้วครับ”

 

66 และ 25 ปี ต่างวัยแต่ไม่ต่างใจ

#ชวนพ่อมาม็อบ

 

ครอบครัวมาชุมนุมด้วยกัน

 

แม้ความขัดแย้งของคนต่างวัยหรือคนในครอบครัวจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากในปัจจุบัน แต่พ่อลูกคู่นี้ก็จับมือกันมาประท้วง เพราะต่างคนต่างมองเห็นเศรษฐกิจไทยจมลงทุกวันกับตา เห็นคนต่างวัยมาด้วยกันอย่างนี้ก็เป็นความหวังว่าช่องว่างระหว่างวัยอาจไม่ใหญ่เกินไปนัก

“ออกมาเพราะรู้สึกกดดัน ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี เพราะรัฐบาลบริหารแบบนี้” คนพ่อในวัย 66 ปีกล่าว

“ที่บ้านทำธุรกิจมา 20 ปีแล้ว ตั้งแต่เปิดร้านมา ปีสองปีมานี้ห่วยที่สุด” หนุ่มอายุ 25 ผู้เป็นลูกเสริม

มีอีกหลายครอบครัวที่พ่อแม่เห็นไม่ตรงกับลูก บางครอบครัวทะเลาะกันใหญ่โต ไปจนถึงตัดขาดกัน เมื่อถามว่าคนรุ่นใหม่จะคุยกับคนรุ่นพ่อแม่ให้เข้าใจได้อย่างไร ผู้เป็นพ่อนิ่งไปก่อนจะตอบว่า

“ถ้าผู้ใหญ่ที่บ้านไม่เห็นด้วย ก็ให้เขาดูข้อมูลเยอะๆ ถ้าเขาเล่นมือถือเป็นก็ให้เขาดูเลย เปิดสื่อที่รายงานความถูกต้องให้เห็นบ้าง เขาจะได้คิดถึงสิ่งที่ถูกต้อง บางทีต้องเข้าใจว่าเขาได้รับข้อมูลที่มันผิดๆ มานานไม่รู้กี่สิบปีแล้วครับ”

 

ส่งข้อเรียกร้องให้ถึงฟ้า

#เล่นว่าวในสนามราษฎร

 

ผู้ชุมนุมเล่นว่าวในสนามราษฎร

 

เมื่อแกนนำเคลื่อนย้ายการชุมนุมจากธรรมศาสตร์มาที่สนามหลวง ไม่นานนักจะเห็นว่าวลอยเด่นอยู่บนฟ้า แม้หลายคนจะทุลักทุเลกับการนำว่าวขึ้นไป แต่ชายคนนี้กลับส่งว่าวขึ้นฟ้าได้ชิวๆ และทอดมองจากพื้นดินด้วยท่าทีสบายๆ

“ตั้งใจไว้ครับว่าถ้าได้มาสนามหลวงอีกครั้งนึง ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ก็อยากเอาว่าวมาเล่น เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ของประชาชน เมื่อก่อนผมอยู่ไม่ไกลจากแถวนี้ บางทีไม่มีอะไรทำก็มาเล่นว่าว เช่าจักรยาน ดูกลอับดุลเอ้ย มีอะไรทำเยอะแยะ มันเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและเรียกร้องไปในตัว”

“แต่วันนี้เรามาเรียกร้องเรื่องบ้านเมืองกัน ก็เลยเขียนข้อเรียกร้องที่ผมอยากเห็นเอาไว้บนว่าว เนื้อหาไม่มีอะไรมากครับ ก็ให้นายกฯ ลาออก ยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจให้กับประชาขน ว่าวเป็นตัวแทนที่บอกว่า เราจะเรียกร้องไปให้ถึงฟ้า”

“วันนี้ ผมไม่ได้แยกแยะว่าใครเป็นเสื้อสีอะไร ทุกคนมีสิทธิแสดงออกได้ คุณจะชอบสีแดง สีส้ม หรือสีอะไรก็ตาม แต่เมื่อไหร่คุณรักในประชาธิปไตย เราเป็นเพื่อนกัน และพื้นที่สนามราษฎรนี้ก็เป็นของเราทุกคน สังคมทุกวันนี้ไม่ต้องพูดอะไรมากก็น่าจะเห็นตรงกันแล้วครับว่ามันเป็นอย่างไร คงมีแต่คนที่ปิดหูปิดตาเท่านั้นที่มองไม่เห็นความเละเทะของมัน”

 

พาเหรดความเท่าเทียมและสิทธิทางเพศ

#เติมสีรุ้งให้ประชาธิปไตย

 

พาเกรดความเท่าเทียม Pride Parade เฟมทวิต

 

หากความหลากหลายคือสีสันของการชุมนุมยุคใหม่ ขบวนพาเหรดสีรุ้งจากกลุ่ม #ผู้หญิงปลดแอก ก็ถือเป็นสีสันสำคัญของการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน ไม่ไกลจากเวทีใหญ่พวกเขาเรียงแถวเป็นขบวน สวมเครื่องแต่งกายที่บอกเล่าเรื่องราว สะท้อนประเด็นเรื่องเพศมากมายในสังคมไทย ในเฉดสีที่หลากหลายนี้ หากจับตาให้ดี จะต้องเจอสักประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคุณ นั่นก็เพราะเรื่องเพศไม่เคยไกลจากตัวเรา

“วันนี้มองไปในสนามจะเห็นเสื้อสีอะไรก็ตาม พวกเราเอาสีรุ้งมาแจมด้วยค่ะ ขบวนสีรุ้งนี้ไม่ใช่ของ LGBT อย่างเดียว แต่ทุกคนสามารถมาร่วมกันอย่างเท่าเทียม เพราะสีรุ้งคือสีแห่งความเท่าเทียม คือสีแห่งความหลากหลาย คึอความงดงามของระบอบประชาธิปไตย”

“วันนี้เรามาต่อสู้ให้กับทุกเพศ และมาประกาศว่าไม่ว่าใครก็เท่าเทียมกัน ด้านหน้าขบวนมีร่มสีแดงแสดงการสนับสนุน sex worker หรือพนักงานบริการทางเพศ ขบวนถัดมาคือธงสีรุ้งแทนความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ขบวนต่อมา My Body My Choice กลุ่มที่แต่งตัวเปิดเผยเนื้อหนังให้เห็นว่าผู้หญิงก็มีสิทธิเสรีภาพในการเปิดเผยไม่ต่างจากผู้ชายหรือเพศใด ไม่ว่าใครไม่ว่าเพศไหน ไม่ว่าคุณจะแต่งโป๊ ใส่สั้น หรือโนบรา ไม่มีใครมีสิทธิคุกคามทางเพศคุณ และขบวนสุดท้ายว่าด้วยการทำแท้ง การท้องไม่ใช่เรื่องน่ายินดีของผู้หญิงทุกคน การทำแท้งควรเป็นสิทธิให้กับผู้หญิงทุกคนที่เลือกจะทำ เลิกคิดว่าเปิดเสรีทำแท้งแล้วทุกคนจะไปทำแท้ง ไม่มีใครท้องเพื่อไปทำแท้ง การทำแท้งควรเป็นเรื่องปลอดภัยและอยู่ในการดูแลของแพทย์ การทำแท้งปลอดภัยคือสิทธิมนุษยชนค่ะ”

 

แอร์โฮสเตสชุดม่วง

#บินด่วนสู่ความเท่าเทียม

 

คอสตูมแฟชั่นในชุมนุม

 

“จะบินไปไหน” ผู้ชุมนุมตะโกนแซว เมื่อเห็นเธอใส่ชุดสีม่วงคล้ายแอร์โฮสเตส เธอหัวเราะร่าและถ่ายรูปกับพวกเขาด้วยรอยยิ้ม

ชุดที่แต่งมาวันนี้ทำหน้าที่เรียกร้องความสนใจจากผู้คนได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่เธอไม่ได้ต้องการความสนใจไปเฉยๆ อย่างนั้น เบื้องหลังชุดแขนยาวและกระโปรงเข้ารูปสีม่วงมีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ

“เราแต่งแบบนี้ครั้งแรกที่การชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ในวันที่ 10 ส.ค. คอนเซ็ปต์เหมือนวันนี้แหละ ได้ผลตอบรับมหาศาลเลย คนก็เรียกร้องว่าอยากให้แต่งแบบนี้มาอีกครั้งนึง ก็ต้องมา”

“เอาจริงๆ เลยนะคะ ที่แต่งตัววันนี้จุดประสงค์หลักคือการเรียกร้องสิทธิทางเพศค่ะ แต่งชุดสีม่วงเพราะคิดว่ามันมีอิมแพ็กดี ทำให้ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก แต่เบื้องหลังชุดคืออยากให้คนรับรู้ว่าเรามีสิทธิที่จะแต่งตัวและเป็นทุกอย่างที่เราอยากเป็น โดยที่คนอื่นไม่มาตัดสินว่าเราเป็นใคร ควรต้องแต่งตัวแบบไหน ประเด็นเรื่องเพศที่เราอยากผลักดันไปพร้อมๆ กันก็มีอีกหลายเรื่อง เช่น กฎหมายคู่ชีวิตที่ออกมาอย่างไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน เรารู้สึกว่ามันยังไม่เท่าเทียมกับคู่ชายหญิงอยู่ดี เราอยากให้สิทธิต่างๆ เท่าเทียมกันทุกเพศในสังคมประชาธิปไตยค่ะ”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save