fbpx

“แม้แต่ตัวท่านหญิงก็ลำบาก” : ทุกข์ทางเศรษฐกิจของหม่อมเจ้าออน

ไม่ใช่ว่าผู้ที่เกิดมาเป็น ‘เจ้า’ ในพระบรมราชจักรีวงศ์จะร่ำรวยมีทรัพย์ศฤงคารกันไปทั้งหมด โดยเฉพาะเจ้าหญิงที่ไม่อาจรับราชการทำงานในระบบราชการได้อย่างเจ้าชาย สถานะของเธอย่อมขึ้นกับพระบิดาเป็นหลัก เมื่อปราศจากเสาหลักของชีวิตไปแล้ว เจ้าหญิงเหล่านั้นย่อมลำบาก ยิ่งถ้าปราศจากญาติฝ่ายหม่อมมารดาด้วย ยิ่งประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างไม่อาจเลี่ยงได้

หม่อมเจ้าออน พระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเรณู เป็นตัวอย่างที่ดีของประโยคที่ว่า “แม้แต่ตัวท่านหญิงก็ลำบาก” เพราะท่านหญิงออนต้องหนีออกไปจากวัง แปลงกายเป็นสามัญชน แล้วขายตัวเป็นทาส จนในที่สุดทนความทุกข์ยากไม่ไหว จึงหนีนายทาสออกมาจนเกิดเป็นเรื่องที่จะได้กล่าวถึงต่อไป


ท่านหญิงออนเป็นใคร


หม่อมเจ้าออนเป็นพระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเรณู กับหม่อมราชวงศ์อิ่ม ประสูติราว พ.ศ. 2375 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่พระองค์เจ้าเรณูเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดาบุนนาค

ไม่ปรากฏว่า พระบิดาของท่านหญิงออนรับราชการในกรมใด ทราบแต่เพียงว่าพระองค์เจ้าเรณูสิ้นพระชนม์ราว พ.ศ. 2384 เมื่อท่านหญิงอายุได้ 9 ปี

อนึ่ง ถ้านับแบบคนธรรมดาสามัญ (ซึ่งไม่ใช่ธรรมเนียมของเจ้า) ท่านหญิงออนเป็นหลานปู่ของรัชกาลที่ 2 ในลำดับเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 นั่นเอง



สิ้นบุญพระบิดา


หลังจากพระองค์เจ้าเรณูสิ้นพระชนม์แล้ว ท่านหญิงออนไปอาศัยอยู่กับหม่อมเจ้าประสงค์สรร พระธิดาของสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ กับหม่อมราชวงศ์แสง ในพระบรมมหาราชวัง (พระเชษฐภคินีของหม่อมเจ้าประสงค์สรรองค์หนึ่ง คือ หม่อมเจ้ารำเพย ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี)

ต่อมาท่านหญิงออนย้ายไปพึ่งใบบุญของหม่อมเจ้าไพบูลย์ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างมารดาของท่านหญิง แม้ท่านหญิงออนจะเกิดมาเป็นหม่อมเจ้า แต่ก็มีสถานะเป็นเพียงเจ้าระดับล่าง เป็นคนรับใช้อย่างไร้ตัวตน และที่นี่เอง ท่านหญิงเริ่มสนิทสนมกับทาสในเรือนของหม่อมเจ้าไพบูลย์ หนึ่งในนั้นมีชื่อว่า แสง

หลังจากนั้น แสงกับเอม พี่สะใภ้ของเขา ไถ่ตัวออกไปได้ ท่านหญิงออนซึ่งมีจิตปฏิพัทธ์กับแสง จึงหนีไปอยู่กับเอม พี่สะใภ้ของแสง ย่านบ้านลาว วัดพระพิเรนทร์ ท่านหญิงกับแสงมีลูกสาวด้วยกันคนหนึ่ง คือ แพ แต่ครอบครัวของท่านหญิงก็ประสบปัญหาทางการเงินมาโดยตลอด

เมื่อเอม พี่สะใภ้ของเธอเสียชีวิต ท่านหญิงออนก็ใช้ชื่อเอมนี้สวมรอยแทน และผูกเบี้ยเป็นทาสสืบมา ย้ายไปเป็นทาสอยู่หลายแห่ง จนในที่สุดมาเกิดเรื่องภายหลังจากทำสารกรมธรรม์เป็นทาสรับใช้งานอยู่กับเถ้าแก่ปริก เป็นเวลา 11 ปี


“แม้แต่ตัวท่านหญิงก็ลำบาก”


ชีวิตทาสย่อมไม่อาจหาความสุขสบายได้ ท่านหญิงออน (หรือ “อีเอม” นามแฝงขณะเป็นทาส) เมื่อเข้าวัยชราอายุได้ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2435 ได้หลบหนีออกจากบ้านเถ้าแก่ปริก นายเงิน ไปอยู่กับหม่อมเจ้าเจริญเนตร พระขนิษฐา ที่วังกรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร พระเจ้าพี่ยาเธอในรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ท่านหญิงเจริญเนตรยืนยันสถานะความเป็นเจ้าของ “อีเอม” ว่าเป็นหม่อมเจ้าออน ท่านหญิงจะได้ไม่ถูกนายเงินนำตัวกลับไปเป็นทาสอีก

เถ้าแก่ปริกจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เป็นที่พึ่ง จากนั้นได้มีการพิจารณาคดี “เรื่องหม่อมเจ้าเปนทาสแลมีผัวเปนไพร่” ในที่ประชุมเสนาบดี

ต่อคดีนี้ สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเห็นว่า ท่านหญิงนั้น “กระทำความชั่วผิดธรรมเนียมในราชตระกูลที่ควรเปนอยู่อย่างทุกวันนี้โดยมิได้เกรงกลัวพระราชอาญา และมิได้รักษาตระกูลซึ่งเกิด…แต่โลหิตของเจ้านั้น

สมเด็จกรมพระยาเทววะวงศ์วโรปการแสดงทัศนะว่า “หม่อมเจ้าออนไม่รักษาเกียรติยศของเจ้า มีผัวไพร่ แลไปเที่ยวเปนทาษ จนเกิดอีแพ บุตร ดังนี้  หม่อมเจ้าออนมีความผิด ควรให้ถอดลงเปนไพร่ และให้สั่งเปนโขลนรับราชการต่อไป” อีกทั้งยังทรงย้ำว่า “ถอดเปนคนสามัญทีเดียว เปนการถอนอย่างใหม่ ไม่นับเปนญาติกันทีเดียว

แต่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) แย้งว่า “การจะถอดออกไปเปนโขลนนั้นยังเห็นว่าเปนการประจารอยู่ ควรจะถอดแล้วใส่คุก”  อนึ่ง โขลนที่ว่านี้ คือพนักงานดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพระบรมมหาราชวังชั้นใน

ขณะที่สมเด็จกรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ทรงเห็นว่า ท่านหญิงมีความผิด 2 กระทง คือ (1) “ไม่รักอิศรภาพของตน แลพาเกียรติยศของตระกูล ยอมปลอมตัวลงเปนไพร่ ขายตัวลงเปนไพร่ทาษ” และ (2) “เปนหญิงมีตระกูลคบชายต่ำที่ไม่ควรให้เปนสามี จนมีบุตร กระทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศแก่ราชตระกูลนี้” และเห็นด้วยกับข้อเสนอของสมเด็จกรมพระยาเทววะวงศ์วโรปการ โดยย้ำว่า “ทำตัวเลวทามถึงทาษวิสัยแล้ว ไม่ควรเปนเจ้าได้

ส่วนกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงเห็นว่า นอกจาก 2 กระทงข้างต้นแล้ว ความผิดกระทงที่ 3 ของท่านหญิง คือ “หลอกลวงนายเงินให้ช่วยไถ่ เพราะถือว่าเปลี่ยนชื่อเพราะเกียรติยศไม่ได้ … หม่อมเจ้าออนนี้ไม่มีเยื่อใยที่ถือตัวว่าเปนเจ้าเลย ทำแต่ความชั่วอย่างไพร่เสียทุกอย่าง

ฝ่ายกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดาและพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) ก็เห็นด้วยว่า ควรถอดท่านหญิงลงเป็นไพร่


กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์


ปัญหาทางเศรษฐกิจ


ความเห็นที่น่าสนใจเป็นของกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยที่กล่าวถึงสภาพสังคมเวลานั้นไว้ว่า “ธรรมดาของหม่อมเจ้าผู้หญิงนั้นได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเปนเครื่องเลี้ยงชีวิตอยู่น้อยนัก ทั้งไม่มีผู้อุปการะด้วย  ถ้าเปนคนที่มีความอุสาห์เลี้ยงตัวได้ ก็พอดำรงยศอยู่ได้ ที่เปนคนใช้สอยฟูม…ฤๅหาไม่ได้ก็ต้องขัดสน เปนนี่สินลงแล้ว ก็ต้องประพฤติความชั่วไปต่างๆ แม้ถึงจะได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดก็ต่อปีหนึ่งจึงได้รับพระราชทาน ก็ใช้สอยหมดไปโดยที่มักไม่ใคร่ได้ประมาณเวลา” และเห็นด้วยกับการถอดลงเป็นไพร่

นอกจากนี้ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ยังกล่าวเป็นหลักไว้อย่างน่าสนใจต่อกรณีของท่านหญิงนี้ว่า “แม้ว่าจะมีความคับแค้นขัดสนประการใด ทางที่จะบำบัดความขัดสนไม่ให้เสื่อมเสียชาติตระกูลก็มีอยู่ โดยเข้ารับราชการฉลองพระเดชพระคุณในน่าที่พนักงานประการใดก็ได้ ฤๅมิฉะนั้นพระบรมวงษานุวงษซึ่งเปนกุลเชฐผู้ใหญ่ก็มีโดยมาก ชอบที่จะเข้าพักพิงอาไศรยรับใช้เสวยทำการงานให้ท่าน ก็คงจะทรงอนุเคราะห์ตามสมควร ก็คงดำรงชาติตระกูลอยู่ได้

ส่วนกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์เห็นด้วยกับความผิดในโทษเรื่องไม่รักษาเกียรติแห่งความเป็นเจ้า แต่ได้ตั้งคำถามถึงปัญหาในทางเศรษฐกิจของหม่อมเจ้าที่ต้องประสบไม่เฉพาะแต่ในกรณีของท่านหญิง ดังนี้ “ในส่วนที่กระทำตัวเปนทาษควรมีโทษอย่างไรนั้นๆ ก็ไม่ถนัด ด้วยการที่หม่อมเจ้าเปนทาษ จะไม่เฉภาะแต่หม่อมออน เพราะหม่อมเจ้าที่ยากจนอัตคัด จำต้องยืมเงินกู้เงินเจ้านายแลผู้มีบรรดาศักดิ์อยู่ หม่อมเจ้านั้นๆ มักเข้ารับราชการอยู่ในวังในบ้านเหมือนเป็นทาษกลายๆ อยู่ เปนแต่รู้ประมาณการรักษาเกียรติยศ ไม่ปิดบังตัวว่าเปนเจ้า แลเลือกผู้มีบรรดาศักดิ์สมควรให้ปกครองเท่านั้น ที่เปนการผิดนักก็เรื่องนี้


บทลงโทษ


ในที่สุดท่านหญิงออนถูกตัดสินว่ามีความผิด เพราะเป็นเจ้าแต่ไม่รักษาเกียรติยศ มีผัวเป็นไพร่ ขายตัวเป็นทาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้เอาตัวท่านหญิงมาจำไว้ในพระบรมมหาราชวัง โดยทรงเห็นว่า

หม่อมเจ้าออนมีทุกข์ร้อนสิ่งไรควรจะกราบทูลแก่เจ้านายผู้ใหญ่ผู้น้อยในราชตระกูล ให้ทราบความทุกข์ร้อนจึงจะสมควร หม่อมเจ้าออนมิได้ประพฤติตามบันดาศักดิ์ บังอาจยอมเปนเมียอ้ายแสงซึ่งเปนไพร่ต่ำศักดิ์ แล้วไปขายตัวเปนทาษผู้มีชื่อต่อๆ กันมาจนถึงเถ้าแก่ปริกนี้  หม่อมเจ้าออนมีความผิดให้ถอดหม่อมเจ้าออนจากยศบันดาศักดิ์หม่อมเจ้าออนแล้ว เอาตัวมาจำไว้ในพระบรมมหาราชวัง

น่าสนใจว่าในกรณีของท่านหญิงออน เธอเป็นเจ้าที่หนีไปจากสถานะแต่กำเนิดนานถึง 35 ปี (ตั้งแต่อายุ 25-60 ปี) จนในบั้นปลาย เข้าใจว่าท่านหญิงคงไม่เห็นหนทางใดดีไปกว่าการยกฐานะความเป็นเจ้าขึ้นมาต่อสู้กับความเป็นทาส  แม้การกระทำเช่นนั้นจะทำให้เธอมีมลทินมัวหมองก็ตาม

ไม่พบว่า ท่านหญิง หรือชื่อในภายหลังคือ “อีเอม” ผู้นี้รู้สึกอย่างไร ระหว่างทุกข์จากความเป็นทาสกับการถูกจำในพระบรมมหาราชวัง


พระบิดามารดาไม่สั่งสอน


นอกจากเรื่องความทุกข์ทางเศรษฐกิจจนต้องขายตัวลงเป็นทาสแล้ว ปัญหาสำคัญในชีวิตของท่านหญิง คือการรักษาสถานะความเป็นเจ้าให้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี  ถ้าไม่กล่าวเป็นโทษเฉพาะตัวของท่านหญิงแล้ว เรื่องนี้อาจต้องโทษว่าพระบิดามารดาไม่อบรมสั่งสอน (คงไม่ก้าวล่วงไปถึงพระอัยกาพระอัยยิกา)

ความข้อนี้ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2483 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2405-2486) ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (2406-2490) กล่าวถึง ‘ความเป็นเจ้า’ ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า

เจ้านายได้รับความอบรมมาผิดกับผู้อื่น ตั้งแต่ย่อมเยาว์จนเติบใหญ่ ไม่รู้จักกิริยาบ่าว หรือกิริยากุลบุตร์ที่ได้เลื่อนยศเป็นขุนนาง  ถึงจะปิดบังอย่างไร กิริยาเจ้าคงโผล่ออกมา ซ่อนอาการที่เขาเรียกว่า สง่า ไม่ได้

ฝ่ายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็มีลายพระหัตถ์ ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2483 ตอบเห็นด้วยในหลักที่แสดงมานี้ ความว่า

ตรัสว่าเจ้าเราอบรมมาอย่างหนึ่งนั้นจับใจเป็นอย่างยิ่ง  ทำให้นึกตัวอย่างได้ วันหนึ่งเกล้ากระหม่อมขี่รถไปกับแม่โต [หม่อมคนเดียวของท่าน – ผู้เขียน] มีคนๆ หนึ่งเดินมาในถนน แม่โตแกทักว่า นั่นเจ้า เผอิญเกล้ากระหม่อมรู้จัก ก็รับแกว่าถูก  คนผู้นั้นก็เป็นแต่ชั้นหม่อมเจ้า แล้วก็แต่งตัวมาอย่างปอนๆ ควรจะรู้ไม่ได้  แต่ก็รู้ได้ มีอะไรที่ส่อให้เห็น  แม่โตแกว่ามี ราศี  ก็ถูกแล้ว แต่คิดดูว่าราศีอะไร ก็ไปลงรอยเช่นพระดำรัสว่าคือราศีความอบรมนั้นเอง


สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ปีนัง พ.ศ. 2480
(ภาพจาก หอสมุดแห่งชาติ)


บรรณานุกรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save