fbpx
พูน พุกกะรัตน์ ผู้ซื่อสัตย์ต่อปรีดี พนมยงค์

พูน พุกกะรัตน์ ผู้ซื่อสัตย์ต่อปรีดี พนมยงค์

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“ระหว่างที่พี่พูนรับราชการ พักอยู่ที่บ้านท่าช้างวังหน้า บ้านเดียวกับท่านปรีดี พนมยงค์ ครอบครัวอยู่กันอย่างสุขสบาย มีพร้อมทุกอย่าง” แต่รัฐประหาร 2490 และความล้มเหลวของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 จึง “ต้องมาอาศัยอยู่บ้านนอก ปลอมตัวเป็นชาวบ้าน ทำไร่ ทำสวน หาบน้ำรดต้นไม้ การแต่งตัวและการพูดจาบางครั้งต้องทำแบบคนเสียสติ เพื่อปกปิดป้องกันคนสงสัย”

นี่คือชะตากรรมชีวิตของ พูน พุกกะรัตน์ ผู้ชายธรรมดาๆ ที่ซื่อสัตย์ต่อนายปรีดี จนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเขา

และเมื่อเขาตายจากไป ลูกของชายของเขาเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบุรุษอาวุโสและภรรยา กับบิดาของตนว่า “คุณพ่อเคารพรักท่านทั้งสองดุจบิดามารดาตลอดจนชั่วชีวิต

 

พูน พุกกะรัตน์ (1 มีนาคม 2453 – 17 เมษายน 2529)
พูน พุกกะรัตน์ (1 มีนาคม 2453 – 17 เมษายน 2529)

 

กำเนิด

 

พูนเกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2453 ที่ตำบลคลองปูน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง  เขาเป็นบุตรชายคนโตของเรือเอก หลวงกำแหงสรเดช (พลอย พุกกะรัตน์) กับนางเล็ก (สกุลเดิม วิสมล) มีน้องร่วมบิดามารดา 2 คน คือ นายพอน กับนางอำไพ  โดยที่ตาของพูน คือ ขุนศรีรองแพ่ง (ปั้น วิสมล) เป็นกำนันอยู่ที่ตำบลนั้น  ส่วนครอบครัวของหลวงกำแหงสรเดชตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

สำหรับนามสกุล “พุกกะรัตน” (Bukkaratna) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานหลวงกำแหงสรเดช แต่เมื่อเป็น “นายเรือตรี พลอย  รั้งตำแหน่งต้นกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ 2 เมืองสมุทสาคร ปู่ชื่อพุก

 

การศึกษา

 

ต่อมาบิดาส่งพูนเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์จากโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และสอบเข้าเรียนได้ในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ดี เมื่อสอบปีที่ 1 ไม่ผ่าน บิดาโกรธมาก จึงให้ออกไปอยู่บ้าน เพื่อจะให้ทำนา

แต่ด้วยความรักของมารดาที่อยากให้ลูกได้ศึกษาต่อ นางเล็กจึงนำพูนมาฝากไว้ที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม ของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) แม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่อาศัยว่ามีพระยาประมวญวิชาพูล (วงศ์ บุญ-หลง) อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นผู้รับรอง จึงรับไว้ในปี 2477

อนึ่ง ผู้เขียนก็ไม่ทราบความสัมพันธ์ของพระยาประมวญฯ กับพระยาชัยวิชิตฯ หากทราบเพียงว่า นายปพาฬ บุญ-หลง (เกิด 2448) น้องชายของของเจ้าคุณประมวญฯ เป็นศิษย์รักของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี) ในโรงเรียนกฎหมาย

 

พูนสำเร็จการศึกษาขั้นต้น โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พ.ศ.2474
พูนสำเร็จการศึกษาขั้นต้น โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พ.ศ.2474

 

ในปีที่พูนมาอาศัยอยู่บ้านป้อมเพชร์นั้น รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้สถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น หลวงประดิษฐ์ฯ สามีของ ‘พูนศุข’ ธิดาของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ จึงแนะนำให้พูนเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้ที่ตนเป็นผู้ประศาสน์การ โดยช่วยเหลือออกค่าธรรมเนียมและค่าเล่าเรียนให้จนสำเร็จเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต

โดยที่ระหว่างเป็นนักศึกษา ม.ธ.ก. พูนสอบเข้ารับราชการเป็นเสมียน กระทรวงยุติธรรม ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย จนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จึงไปสมัครทำงานที่กระทรวงการคลัง จนเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร

 

ธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่น พ.ศ.2477
ธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่น พ.ศ.2477

 

ชีวิตครอบครัว

 

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว พูนสมรสกับ ชุบ (สกุลเดิม แช่มสุวรรณ) ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดที่มาอาศัยอยู่ในบ้านป้อมเพชร์เช่นกัน  โดยที่ชุบเป็นพี่สาวของเชื้อ หรืออัญชนา ที่ต่อมา คือ ภรรยาของนายสุธี โอบอ้อม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการหาที่พำนักให้นายปรีดีหลังความล้มเหลวในกรณีขบวนการประชาธิปไตย 2492

พูนกับชุบมีบุตรธิดารวม 6 คน คือ ด.ช.ตุ๊ ด.ญ.วิไล นายชุมพล นางพิมลพร นางสมรรัตน์ และนายวิวัฒน์วงศ์

 

พูน พุกกะรัตน์ ภาพครอบครัว พ.ศ.2489
ภาพครอบครัว พ.ศ.2489

 

รับใช้ใกล้ชิดนายปรีดี

 

ต่อมาเมื่อนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พูนจึงโอนไปอยู่สำนักราชเลขาธิการ  และในช่วงที่นายปรีดีดำรงตำแหน่งนั้น เป็นห้วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนายปรีดีได้ทำงานลับเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยด้วย พูนจึงมีหน้าที่ปฏิบัติงานรับใช้ใกล้ชิดเพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทหารญี่ปุ่นจนเสร็จสงคราม

โดยที่พูนพร้อมครอบครัวก็พำนักอยู่ที่เรือนไม้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณทำเนียบท่าช้าง บ้านพักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

สุดา พนมยงค์ บุตรีของนายปรีดี กล่าวถึงพูนว่า ทำหน้าที่เป็น “ทนายหน้าหอ” ของคุณพ่อ

ส่วนวาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์ ซึ่งตายจากไปแล้ว ก็เคยปรารภถึงพูนอยู่เสมอ ในฐานะที่เขาเป็นผู้ไปแจ้งเกิดให้วาณี ในปลายเดือนกรกฎาคม 2484

 

สูติบัตรของ ด.ญ.วาณี พนมยงค์ บิดาชื่อ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม อาชีพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มารดาชื่อ ท่านผู้หญิงประดิษฐ์มนูธรรม อาชีพ อาศัยสามี โดยมี พูน พุกกะรัตน์ ลงนามเป็นผู้แจ้งเกิด
สูติบัตรของ ด.ญ.วาณี พนมยงค์ บิดาชื่อ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม อาชีพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มารดาชื่อ ท่านผู้หญิงประดิษฐ์มนูธรรม อาชีพ อาศัยสามี โดยมี พูน พุกกะรัตน์ ลงนามเป็นผู้แจ้งเกิด

 

อารมณ์ขันของนายปรีดี

 

ฉลบชลัยย์ พลางกูร บันทึกไว้ว่า ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นายปรีดีพำนักในทำเนียบท่าช้าง มีเรื่องขำขันที่สุดเรื่องหนึ่งที่เธอจำได้แม่น คือ

แม่เล็ก มารดาคุณพูน พุกกะรัตน์ ซึ่งทำงานอยู่กับท่านมาหลายปีแล้ว ได้มาหาท่าน ยังจำภาพได้ติดตา แกกราบแล้วกราบอีก ขอร้องให้ท่านช่วย โดยเล่าอย่างเปิดเผยว่าคิดจะโกงสมบัติของสามีส่วนหนึ่ง มิฉะนั้นเขาอาจจะไปยกให้คนอื่นหรืออะไรทำนองนี้ แกขอเรียนปรึกษาท่านว่าจะคิดอ่านทำแบบไหนดี

ท่านหันไปยิ้มอีกทางหนึ่ง และหันกลับมาบอกแกในทันทีว่า “รู้หรือเปล่า ถ้าแม่เล็กโกงเขาในชาตินี้ ชาติต่อไปแม่เล็กก็จะต้องใช้เขากลับคืน เพียงสตางค์เดียวก็ต้องใช้หนี้เป็นสิบชาติแล้ว นี่แม่เล็กคิดจะโกงเขาเท่าไร มิต้องใช้หนี้กันกี่ร้อยกี่พันชาติหรือ?”

แม่เล็กตกใจใหญ่ ก้มลงกราบอีก และบอกว่า “จริงหรือเจ้าคะ เคราะห์ดีที่ดิฉันมากราบเรียนท่านเสียก่อน ถึงได้รู้ความจริง ขอบพระคุณที่ท่านกรุณาชี้แจงให้ เลิกแล้วค่ะ ดิฉันไม่คิดโกงเขาอีกแล้ว!” พวกเราทุกคนที่นั่งอยู่ที่นั่นกลั้นหัวเราะกันไม่ได้เลย แต่ท่านทำหน้าตาขึงขังบอกว่า “ดีแล้ว แม่เล็กกลับไปทำใจให้สบายอย่าไปคิดอ่านโกงใครเขาอีกเลยนะ”

พอแม่เล็กไปแล้ว ท่านก็หัวเราะใหญ่แล้วบอกว่า ถ้าท่านอธิบายตามตัวบทกฎหมาย แม่เล็กก็จะไม่ฟังและคงจะเซ้าซี้ท่านอีกต่อไป บอกอย่างนี้แหละได้ผลเห็นทันตา!

 

ชีวิตที่พลิกผัน

 

ภายหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นายปรีดีจำต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ บรรดาผู้รับใช้ใกล้ชิดและพักอาศัยอยู่ในบ้านก็พลอยต้องภัยรัฐประหารตามไปด้วย พูนถูกปลดจากราชการ แต่เขาเป็นคนซื่อสัตย์ มิได้เอาใจออกห่าง ในเวลาต่อมาจึงได้ร่วมขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ด้วย

อย่างไรก็ดี ขบวนการดังกล่าวประสบความล้มเหลวในการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยไทย พูนต้องหลบหนีจากการจับกุมอย่างลำบากแสนสาหัส พลัดพรากจากครอบครัวเป็นเวลาถึง 9 ปี เขาต้องเที่ยวหลบซ่อนเอาตัวรอด ออกจากกรุงเทพฯ ไปอาศัยอยู่กับญาติใกล้ชิดในจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด เป็นเวลานาน

พลโท ฉลอม วิสมล หลานของพูน กล่าวถึงความทรงจำในช่วงนั้นว่า “เมื่อผมเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ระยอง พบกับพี่พูนหลายครั้ง ผมเห็นแล้วสงสารพี่พูนมาก นึกถึงว่า ระหว่างที่พี่พูนรับราชการ พักอยู่ที่บ้านท่าช้างวังหน้า บ้านเดียวกับท่านปรีดี พนมยงค์ ครอบครัวอยู่กันอย่างสุขสบาย มีพร้อมทุกอย่าง แต่ต้องมาอาศัยอยู่บ้านนอก ปลอมตัวเป็นชาวบ้าน ทำไร่ ทำสวน หาบน้ำรดต้นไม้ การแต่งตัวและการพูดจาบางครั้งต้องทำแบบคนเสียสติ เพื่อปกปิดป้องกันคนสงสัย

แม้กระนั้นก็ยังไม่พ้นจากการตามหาตัว “เมื่อได้ข่าวว่า เจ้าหน้าที่รู้เบาะแส ก็ต้องย้ายที่อยู่ไปนอนในป่า ใช้ชื่อใหม่ว่า ‘นายสุข’ ต้องร่อนเร่ซุกซ่อนไปเรื่อยๆ บางคราวก็ป่วยเป็นไข้มาเลเรีย เจ็บป่วยแทบตาย แต่ยังไม่ถึงที่ จึงอยู่รอดมาได้

ในที่สุด เมื่อได้รับนิรโทษกรรมช่วงกึ่งพุทธกาล พ.ศ.2500 พูนจึงกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกับครอบครัวที่บ้านตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยช่วยภรรยาทำการค้า และธุรกิจส่วนตัว

แต่ความอบอุ่นความสุขในชีวิตครอบครัวของพูนก็มีอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะชุบ ภรรยาของเขา ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของครอบครัว มาประสบอุบัติเหตุรถชนกันจนถึงแก่กรรมโดยพลัน ทั้งพูนและลูกๆ ก็ไม่ทราบว่า ชุบดำเนินธุรกิจค้าขายมีพันธะการเงินอยู่กับใคร ที่ใด อย่างไรบ้าง เมื่อชุบจากไปเช่นนี้ เงินทองทรัพย์สินที่นำไปลงทุนไว้จำนวนมากก็ไม่ได้กลับคืนเลย

 

ปี 2516 พูนไปเยี่ยมคารวะนายปรีดีที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส และได้อยู่ช่วยงานแต่งงานของนายวรวิทย์ กนิษฐะเสน หลานของปรีดี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ด้วย (ภาพถ่ายโดย วาณี พนมยงค์)
ปี 2516 พูนไปเยี่ยมคารวะนายปรีดีที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส และได้อยู่ช่วยงานแต่งงานของนายวรวิทย์ กนิษฐะเสน หลานของปรีดี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ด้วย (ภาพถ่ายโดย วาณี พนมยงค์)

 

ปี 2516 พูนไปเยี่ยมคารวะนายปรีดีที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส และได้อยู่ช่วยงานแต่งงานของนายวรวิทย์ กนิษฐะเสน หลานของปรีดี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ด้วย (ภาพถ่ายโดย วาณี พนมยงค์)

 

ปี 2516 พูนไปเยี่ยมคารวะนายปรีดีที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส และได้อยู่ช่วยงานแต่งงานของนายวรวิทย์ กนิษฐะเสน หลานของปรีดี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ด้วย (ภาพถ่ายโดย วาณี พนมยงค์)

 

งานเกี่ยวกับนายปรีดี

 

เมื่อครอบครัว “ปรีดี-พูนศุข” ทำหอพักที่บ้านซอยสวนพลู มีการเปิดบริษัทลลิตา จำกัด พูนก็มาทำงานเป็นเลขานุการ รับเงินเดือน 3,000-4,000 บาท

และด้วยความที่ภาษาอังกฤษดี จึงได้ช่วยแปลงานต่างๆ ที่สำคัญ คือ การแปลหนังสือ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน แต่ไม่ทราบด้วยเหตุผลใด สุดท้ายงานแปลเรื่องนี้ฉบับของพูน ก็ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กล่าวถึงเขาไว้ว่า “นายพูนเป็นผู้ที่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ในบั้นปลายชีวิต แม้จะมีอายุอยู่ในวัยชรา ก็ยังมาช่วยงานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ จนล้มป่วยและถึงแก่กรรม

 

เอกสารที่พบในหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

ปัจฉิมบท

 

พูนล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งในช่องท้อง เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นเวลาเพียง 11 วัน ประกอบกับการทำงานของหัวใจล้มเหลว จึงเสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2529 รวมอายุได้ 76 ปี โดยพูนมีเจตนาแน่วแน่ที่จะสร้างกุศลแก่วงการแพทย์ จึงได้อุทิศร่างกายให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาของนิสิตแพทย์

ท้ายที่สุด มีงานพระราชทานเพลิงศพของพูน ในฐานะข้าราชการบำนาญ สังกัดสำนักราชเลขาธิการ ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2531

 

บรรณานุกรม

  • พูน พุกกะรัตน์. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายพูน พุกกะรัตน์ วันที่ 4 กรกฎาคม 2531 ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพฯ.
  • กษิดิศ อนันทนาธร (บรรณาธิการ), อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2562), น. 154.
  • ฉลบชลัยย์ พลางกูร, “ทำไมดิฉันจึงรัก เคารพ และบูชาท่านปรีดี พนมยงค์,” ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2563 (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563), น. 80-81.
  • ขอขอบคุณ คุณสุดา และคุณดุษฎี พนมยงค์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการเขียนบทความนี้ ส่วนข้อบกพร่องอันอาจปรากฏในบทความนี้ เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน

 

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save