fbpx

“ซินแสโชกุน” ต้มตุ๋นสไตล์สากล

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

“ซินแสโชกุน” ผู้ถูกจับคดีต้มตุ๋นสไตล์แม่ชม้อย หรือที่เรียกกันว่า “แชร์ลูกโซ่” ทำให้ คำว่า “โชกุน” และ “ซินแส” เสียหาย สิ่งที่ “ซินแสโชกุน” ผู้เปลี่ยนชื่อและนามสกุลถึง 10 ครั้งทำนั้น แท้จริงแล้วมิได้มีอะไรใหม่เลย รูปแบบต้มตุ๋นเป็นไปดังที่สากลเขาทำกัน และเลวเท่าเทียมกันเพราะทำให้คนอื่นเจ็บปวดจากความสูญเสีย

“โชกุน” คือตำแหน่งหัวหน้าขุนศึกซึ่งยึดอำนาจจากจักรพรรดิโดยสืบสานอำนาจกันนานถึงกว่า 700 ปี โดยมีซามูไรผู้ยึดถือหลักธรรมอย่างเคร่งครัดสนับสนุน ส่วน “ซินแส” นั้นเป็นภาษาจีน ตรงกับคำว่า “เซนเซ” ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึง “ครู” เมื่อรวมกันเป็น “ซินแสโชกุน” จึงส่อความสูงส่ง ซึ่งต่างจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง

วิธีการต้มตุ๋นก็คือหลอกให้เหยื่อตายใจว่าเป็นคนน่าเชื่อถือ ร่ำรวยขนาดเป็นเจ้าของเครื่องบิน แต่งตัวดีมีเครื่องประดับพราวพรายเช่นเดียวกับสมุนทั้งหลาย และชวนให้เอาเงินมาลงทุนโดยให้ผลตอบแทนสูงมาก (ได้เฉพาะกลุ่มคนแรกๆ) สมุนทั้งหลายก็แตกลูกันลงไปเป็นชั้นๆ เพื่อหาเหยื่อ เหมือนขายตรง จนเงินไหลบ่าเข้ากระเป๋า เพราะเหยื่อเห็นเพื่อนได้ “ดอก” สูงมากก็เลยแห่ตามกัน เมื่อได้เงินมากพอก็หายตัวไปเพราะไม่สามารถให้ผลตอบแทนสูงขนาดนั้นแก่ทุกคนได้ เพราะจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เอาไปลงทุนทำอะไร คนลงทุนอย่าว่าแต่จะเห็น “ดอก” เลย ทั้ง “ต้น” และ “ใบ” ก็ไม่มีให้เห็น

ในกรณีของโชกุนทำแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือบอกว่าให้เอาเงินมาลงทุนคนละ 9,000 กว่าบาท แถมจะให้ไปเที่ยวญี่ปุ่นเหมือนคนกลุ่มแรกที่ได้ไปจริงๆ ในราคาเดียวกัน บรรดาสมุนก็แตกลูกกันไปชักชวนด้วยราคาที่แตกต่างกัน (ผลต่างก็เข้ากระเป๋าตัวเอง) สิ่งที่ “โชกุน” ทำก็คือ กะฟันหนเดียวแล้วหายตัวไปเลย ไม่เอาเงินมาตอบแทนเป็น “ดอก” สูง และหลอกกันให้ยืดยาว ดังนั้น เหยื่อผู้อยากไปญี่ปุ่นทั้งหลายก็เลยค้างเก้อที่สนามบินรวมกว่า 1,400 ราย

ไม่ว่าจะแบบยืดยาวหรือฟันหนเดียวก็เข้าหรอบเดียวกันกับสิ่งที่ทำกันทั่วโลก ดังมีชื่อเรียกว่า “Ponzi Scheme” หรือ “วิธีการแบบ Ponzi” เช่น แชร์แม่ชม้อย แม่นกแก้ว ยูฟัน (น่าจะเป็น we ฟัน you) และอีกหลายบริษัทในยุคดอกเบี้ยต่ำนี้ ในประเทศจีนก็มีมากโดยอาศัย internet finance คือ หลอกให้โอนเงินกันทางอินเทอร์เน็ตมาลงทุน “ดอก” สูง จนประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ต้องออกกฎหลายข้อมากำกับควบคุมเมื่อหลายเดือนก่อน

คดี Ponzi ที่ดังที่สุดคือคดี Bernard Madoff นักการเงิน ที่ปรึกษาการเงินคนดังของ Wall Street ขนาดเคยเป็น Chairman ของ NASDAQ (ตลาดหุ้นของบริษัทไฮเท็ค) ซึ่งถูกจับในปี 2008 ถูกลงโทษติดคุก 150 ปี และถูกปรับ 17,179 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 600,000 ล้านบาท)

วิธีการต้มตุ๋นของเขาก็คือ Ponzi Scheme ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา คนที่บอกให้ทางการมาจับก็คือลูกชายสองคนของเขาคือ Mark และ Andrew เมื่อพ่อสารภาพว่ากำลังต้มตุ๋น อีกสองปี Mark ก็ผูกคอตาย และ Andrew เป็นมะเร็งตายตามในอีกสี่ปีต่อมา

ชื่อ Ponzi Scheme นี้มีที่มา ​ผู้เขียนเคยเล่าไว้เมื่อหลายปีก่อน ขอนำมาเล่าให้อ่านกันอีกครั้งหนึ่ง

Charles Ponzi ผู้เป็นที่มาแห่งชื่อ Ponzi เป็นคนอิตาลีโดยกำเนิด อพยพมาสหรัฐอเมริกาในปี 1903 เขามาจากครอบครัวมีฐานะของเมือง Parma ในอิตาลี เคยร่ำเรียนใน University of Rome La Sapienza 4 ปี แต่ไม่จบเพราะเอาแต่สนุกสนาน

Ponzi มาถึงสหรัฐอเมริกาด้วยเงินในกระเป๋าเพียง 2.50 เหรียญสหรัฐ เขาทำงานหลายอย่าง เป็นทั้งคนล้างจานและพนักงานเสิร์ฟอาหาร

ในปี 1907 เขาย้ายไปเมือง Montreal ในรัฐ Quebec ประเทศแคนาดา ทำงานเป็นผู้ช่วยเทลเลอร์ของธนาคารเปิดใหม่ ที่นี่เองเขาได้เห็นเจ้าของธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าที่อื่น ถึงแม้ธนาคารอยู่ในฐานะง่อนแง่นเพราะมีหนี้เสียในอสังหาริมทรัพย์มาก เขายังเห็นการเอาเงินฝากใหม่มาจ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินฝากให้อีกบัญชีหนึ่ง และเมื่อถึงจุดหนึ่งเจ้าของก็เชิดเงินหายไป

Ponzi ทนลำบากอยู่ในแคนาดาพักหนึ่งก็คิดหาเงินโดยปลอมลายมือเซ็นเช็คของเจ้าของธุรกิจที่เป็นลูกค้าเก่าของธนาคาร เขาติดคุกอยู่ 3 ปี เมื่อออกมาก็ตัดสินใจกลับอเมริกาและก็ไปติดคุกอีก 2 ปี เนื่องจากร่วมกับพรรคพวกแอบลักลอบขนคนเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ในคุกเขาได้เรียนรู้วิธีหาเงินจากนักธุรกิจใหญ่ของ Wall Street คนหนึ่ง

เมื่อออกมาจากคุก Ponzi ก็เกิดไอเดียที่จะหาเงินเข้ากระเป๋าง่ายๆ และได้ผลตอบแทนสูงมากด้วย Ponzi Scheme

เขาจ้างเอเย่นต์ระดมเงินทุนให้ เงินก็ไหลเข้าราวสายน้ำ ผู้คนบ้าคลั่งเพราะเขาจ่ายเงินได้จริงๆ ในช่วงจุดสูงสุดในปี 1920 เงินไหลเข้าวันละ 250,000 เหรียญสหรัฐ Ponzi ร่ำรวยมากในเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น เขาซื้อบ้านหลังใหญ่มีเครื่องปรับอากาศและสระว่ายน้ำที่มีเครื่องทำน้ำอุ่นซึ่งในสมัยนั้นถือว่าหรูสุดๆ 

หนังสือพิมพ์ในเมือง Boston ซึ่งเขาใช้เป็นที่ประกอบกิจการเริ่มสงสัยว่าเขานำเงินไปลงทุนอะไรจึงได้ผลตอบแทนสูงเช่นนั้น และก็พบความจริงว่าเป็นการต้มตุ๋น จึงมีบทความทยอยเตือนผู้ลงทุน นอกจากนั้น การที่เขาไม่ลงทุนในบริษัทของตัวเองทำให้น่าสงสัยยิ่งขึ้

เมื่อสืบสวนสักพัก ความก็แตกว่าบริษัทของเขามีแต่ลม ผู้คนแตกตื่นมาถอนเงิน ในเวลาเพียง 3 วัน Ponzi จ่ายเงินคืนผู้ลงทุน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เขาก็ใจเย็น เอากาแฟและโดนัทมาเลี้ยงคนที่มาถอนเงินหน้าบริษัท จนบางคนเปลี่ยนใจเอาเงินคืนให้ไปลงทุนอีก

ในที่สุด เดือนสิงหาคม 1920 เขาก็ถูกจับข้อหาต้มตุ๋น ยอดเงินที่เขายักยอกไปมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ฝากเงินหลายคนโกรธแค้นที่ทางการจับเขา หลายคนยังเชื่อใจในตัว Ponzi ว่าเป็นฮีโร่ทำเงินให้ผู้ลงทุนมากมาย

Ponzi ติดคุกอยู่ 3 ปีครึ่งก็ได้ประกันตัว และก็หนีประกันไปรัฐอื่นอีกหลายรัฐ ต้มตุ๋นด้วยวิธีการคล้ายกัน เขาถูกจับอีกครั้งและถูกเนรเทศ ในปี 1934 ที่อิตาลี Ponzi ก็ต้มตุ๋นด้วยวิธีเดียวกันไปเรื่อยๆ

ในปี 1949 Ponzi จบชีวิตลงอย่างน่าอนาถและอย่างยากจน มีตาเหลือเพียงข้างเดียวและเป็นอัมพาต เขาตายในโรงพยาบาลการกุศลในบราซิล

​Ponzi มิได้เป็นคนแรกที่คิดวิธีต้มตุ๋นแบบนี้ Charles Dickens นักประพันธ์เอกของโลก บรรยาย Ponzi Scheme ในนวนิยายชื่อ Martin Chuzzlewitt ตีพิมพ์ในปี 1844 เป็นเวลา 38 ปีก่อน Charles Ponzi เกิดเสียอีก

หลังจาก Ponzi ตายจนถึงปัจจุบัน Ponzi Scheme ถูกนำมาใช้ต้มตุ๋นอีกนับร้อยนับพันครั้งในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และจะมีอีกนับครั้งไม่ถ้วนในอนาคต ตราบที่ยังมีคนโลภมากอย่างขาดเหตุผลอยู่ในโลกนี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

9 Mar 2018

สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

อาร์ม ตั้งนิรันดร วิเคราะห์เส้นทางการเมืองของสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนที่สามารถรวบอำนาจมาอยู่ในมือได้สำเร็จเด็ดขาด สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และสุดท้ายเขาจะพาจีนพังกันหมดหรือไม่?

อาร์ม ตั้งนิรันดร

9 Mar 2018

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save