fbpx
ผัวเดียว หลายเมีย

ผัวเดียว หลายเมีย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

“จำนวนเจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 นั้น จะเปรียบก็เหมือนดาวในท้องฟ้า”

เสนีย์ ปราโมช[1]

 

รัฐสมัยใหม่และอุดมการณ์แบบจารีต

 

การถือกำเนิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่สยามในสมัยรัชกาลที่ 5 มาพร้อมกับการแผ่ขยายอิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตกในหลากหลายด้าน รวมทั้งนำมาซึ่งการเผชิญหน้าระหว่างอุดมการณ์ที่มีความแตกต่างกัน และประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ระบบครอบครัว

ในห้วงเวลาของศตวรรษที่ 19 จักรวรรดินิยมถือว่าระบบการแต่งงานแบบต่างเพศและผัวเดียวเมียเดียว (monogamous heterosexual marriage) คือรูปแบบมาตรฐานของความสัมพันธ์ทางเพศ ระบบครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวคือสิ่งที่แสดงถึงความศิวิไลซ์และความก้าวหน้าของรัฐสมัยใหม่ อารยธรรมในแบบตะวันตกได้จัดวางรูปแบบของการแต่งงานแบบต่างเพศและผัวเดียวเมียเดียวไว้ในลำดับสูงสุด การปฏิบัติที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่มีลำดับต่ำกว่า

ในสังคมสยามซึ่งต้องเผชิญกับการคุกคามจากอำนาจของภายนอก ชนชั้นนำไทยซึ่งได้สืบทอดระบบผัวเดียวหลายเมีย (polygamy) มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ได้ตอบโต้ต่อวาทกรรมของจักรวรรดินิยมด้วยการโต้แย้งว่าระบบผัวเดียวเมียเดียวเป็นความคิดของ ‘ตะวันตก’ รวมถึงการอธิบายว่าภายใต้ระบบกฎหมายแบบจักรวรรดินิยมในศตวรรษที่ 19 จะถือว่าอุดมการณ์ของศาสนา ระบบครอบครัว จารีตประเพณี เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละแห่ง ซึ่งรัฐจักรวรรดินิยมจะไม่เข้าไปแทรกแซงและปล่อยให้อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของกลุ่มชนในท้องถิ่น สยามจึงต้องมีเสรีภาพในการดำรงจารีตของระบบครอบครัวแบบผัวเดียวหลายเมียที่ดำเนินมาแต่เดิม

ปัญญาชนของชนชั้นนำสยามยังได้อธิบายว่าการมีเมียหลายคนไม่ขัดต่อคำสอนของศาสนาพุทธ[2] เนื่องจากข้อห้ามนั้นมีเพียงการกระทำที่ผิดลูกผิดเมียผู้อื่น ดังนั้น ในกรณีที่มิได้บังคับเอาลูกหรือเมียของบุคคลอื่นมาเป็นภรรยาก็ย่อมไม่ได้เป็นสิ่งที่ขัดกับคำสอนแต่อย่างใด

ความพยายามในการปกป้องระบบผัวเดียวหลายเมียอย่างแข็งขันอาจทำให้ดูราวกับว่าชนชั้นนำไทยหมกหมุ่นต่อการมีหลายเมีย อย่างไรก็ตาม ระบบครอบครัวในลักษณะดังกล่าวมิใช่เป็นรสนิยมส่วนตัวของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น Tamara Loos ได้ชี้ให้เห็นว่าระบบผัวเดียวหลายเมียมีความสำคัญอย่างมากต่อการค้ำยันระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เนื่องจากระบบครอบครัวในลักษณะดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการผนวกรวมกลุ่มอำนาจต่างๆ เข้าสู่สถาบันกษัตริย์ผ่านการแต่งงานกับผู้หญิงของตัวแทนกลุ่มอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าท้องถิ่น เจ้าภาษีนายอากร ขุนนางระดับสูง เป็นต้น อีกทั้งระบบผัวเดียวหลายเมียสามารถทำให้มีลูกหลานเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารหน่วยงานกรมกองที่จัดตั้งขึ้น[3] ดังจะเห็นได้ว่ารายชื่อของเจ้านายและเชื้อพระวงศ์จำนวนมากก็ล้วนเป็นกำลังสำคัญต่อการผลักดันให้ระบบราชการในห้วงเวลาดังกล่าวสามารถทำงานได้

คำอธิบายในลักษณะดังกล่าวจึงช่วยทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดการปรับเปลี่ยนกฎหมายครอบครัวให้เป็นสมัยใหม่จึงต้องใช้เวลานานเกือบศตวรรษ ทั้งที่ปรากฏแรงกดดันในเรื่องของระบบครอบครัวมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ขณะที่กฎหมายอาญาหรือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนอื่นๆ ก็ได้มีการบัญญัติขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันของตะวันตก

แต่เฉพาะในส่วนของระบบครอบครัวกลับต้องรอจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2478 จึงได้มีการยอมรับระบบกฎหมายแบบผัวเดียวเมียเดียว เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกขึ้น[4] และมีบทบัญญัติให้บุคคลสามารถมีคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายในขณะเดียวกันเพียงคนเดียว

รัฐสมัยใหม่ของสยามภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงถือกำเนิดขึ้นภายใต้อุดมการณ์ครอบครัวแบบจารีต และได้ดำเนินสืบเนื่องมาก่อนจะมีความเปลี่ยนแปลงภายหลังจากการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อ พ.ศ. 2475 ภายใต้อุดมการณ์ของระบอบการปกครองแบบใหม่ ความเสมอภาคและความสามารถของบุคคลได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำรงตำแหน่งในระบบการเมืองไม่ใช่ชาติกำเนิดหรือสายสัมพันธ์ทางสายเลือดดังที่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยก่อนหน้า ระบบผัวเดียวหลายเมียจึงไม่ได้มีความสำคัญเฉกเช่นที่เคยมีบทบาทมาในยุคก่อนหน้า

 

ปิตาประชาธิปไตย

 

แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 จะได้นำมาซึ่งการแก้ไขระบบครอบครัวให้เปลี่ยนมาสู่ระบบผัวเดียวเมียเดียว (อันหมายถึงการยอมรับให้ชายและหญิงสามารถมีคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายได้เพียงคนเดียวในช่วงเวลาหนึ่ง) อันเป็นการปรับเปลี่ยนไปสู่มาตรฐานซึ่งยึดถือกันว่าเป็นความถูกต้องและอารยะมากกว่าระบบครอบครัวแบบอื่น

แต่การเกิดขึ้นของระบบผัวเดียวเมียเดียวในระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยก็มิได้หมายถึงการปรับเปลี่ยนเพศวิถีของฝ่ายชายให้อยู่ภายใต้สถาบันการสมรสอย่างจริงจัง ในทางตรงกันข้าม ระบบผัวเดียวเมียเดียวยังคงอยู่ภายใต้โครงสร้างที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายชายยังสามารถที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกสถาบันการสมรสได้ ทั้งนี้ กฎหมายครอบครัวได้กำหนดให้ผู้ชายสามารถหย่าขาดจากภรรยาได้ถ้าภรรยามีชู้ (หรือหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์แม้เพียงครั้งเดียว) แต่กลับไม่ได้ให้สิทธิในแบบเดียวกันกับผู้หญิง[5]

ข้อกำหนดของกฎหมายครอบครัวที่เปิดโอกาสให้ผู้ชายสามารถหย่าจากภรรยาได้ถ้าพบว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีชู้ ย่อมเท่ากับเป็นการกำกับให้การมีเพศสัมพันธ์ของหญิงตกอยู่ภายใต้สถาบันการสมรส การมีเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรสของหญิงจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องรวมถึงอาจมีบทลงโทษติดตามมาได้ กรณีเช่นนี้จึงทำกับเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายชายยังคงสามารถมีโอกาสในการแสวงหาความสุขทางเพศจากหญิงอื่นได้ต่อไปแม้ว่าจะได้ทำการสมรสแล้วก็ตาม

ปมประเด็นดังกล่าวได้กลายเป็นการถกเถียงในภายหลัง เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ซึ่งได้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ “ชายและหญิง มีสิทธิเท่าเทียมกัน” อันทำให้นำมาสู่การปรับแก้กฎหมายครอบครัวซึ่งบทบัญญัติในหลายเรื่องที่ปรากฏความไม่เสมอภาคระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง

เฉพาะในประเด็นเรื่องของเหตุหย่าซึ่งเปิดโอกาสให้เฉพาะกับฝ่ายชายสามารถฟ้องหย่าขาดจากหญิง แต่ไม่ได้ให้สิทธิในแบบเดียวกันกับผู้หญิง ได้มีการเสนอแก้ไขเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมโดยการเสนอให้มีการเพิ่มเหตุหย่าสำหรับฝ่ายหญิงด้วยการเพิ่มข้อความว่าหาก “สามีสมสู่หญิงอื่นหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้” แต่ถ้อยคำ ‘สมสู่’ ได้ถูกเปลี่ยนในคณะกรรมาธิการเป็น “อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา”

การใช้ถ้อยคำว่า “อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา” ทำให้การที่ภรรยาจะฟ้องหย่าชายได้จึงจะต้องมีการอุปการะเลี้ยงดูและการยกย่องหญิงอื่นในฐานะภรรยาของผู้ชาย ในขณะที่การมีเพศสัมพันธ์นอกการแต่งงานของหญิงประการเดียวกลับสามารถเป็นเหตุฟ้องหย่าของฝ่ายชายได้ กรรมาธิการที่จะพิจารณามีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการเปิดให้หญิงฟ้องหย่าด้วยเหตุการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นเพียงอย่างเดียวอาจเป็นเหตุที่ง่ายเกินไป

บทบัญญัติในเรื่องการหย่าที่ฝ่ายชายต้องอุปการะและยกย่องหญิงอื่นฉันสามีภริยาก่อนจึงจะเป็นเหตุหย่าสำหรับหญิงได้ ย่อมเปิดช่องสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ภายหลังการแต่งงานของชายกับหญิงอื่น แต่สำหรับฝ่ายหญิงจะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดอย่างใหญ่หลวง อันสะท้อนให้เห็นจากเหตุหย่าที่ฝ่ายชายสามารถใช้เป็นข้ออ้างได้กรณีที่หญิงอื่นมีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสขึ้น ดังนั้น หลักการของเรื่องความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคจึงอาจมีความสำคัญน้อยกว่าระบบความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศและความสัมพันธ์ทางเพศที่เหมาะสมชอบธรรมระหว่างชายหญิง และความสำคัญของสถาบันครอบครัว[6]

การยอมรับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรสยังได้ปรากฏให้เห็นเมื่อมีการพิจารณาร่างกฎหมายปรามการค้าประเวณีเมื่อ พ.ศ. 2538-2539 ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในร่างกฎหมายฉบับนี้ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก็คือ การลงโทษผู้ที่ใช้บริการทางเพศซึ่งได้มีการกำหนดว่าจะจำกัดไว้กับเฉพาะกรณีที่ผู้ค้าบริการอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่ลงโทษในกรณีที่ผู้ค้าอายุเกิน 18 ปี

การอภิปรายเพื่อแสดงความเห็นสนับสนุน โต้แย้งและต่อรองในร่างพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีได้ปรากฏในประเด็นสำคัญคือ ประการแรก ความพยายามที่จะคุ้มครองผู้หญิงที่ต้องมาอยู่ในแวดวงการค้าประเวณี ไม่ว่าจะด้วยการถูกล่อลวงหรือการกระทำด้วยความจำเป็นบางอย่าง ประการที่สอง ความต้องการจะจัดระเบียบเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการแต่งงาน โดยการกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ได้ซื้อบริการทางเพศ แต่ก็ได้มีการกำหนดให้เป็นความผิดเฉพาะการซื้อบริการจากเด็ก

จึงอาจกล่าวได้ว่า ความพยายามในการบัญญัติกฎหมายปรามการค้าประเวณีจึงมุ่งเน้นที่การป้องกันผู้หญิงมากกว่าจะห้ามพฤติกรรมนอกกรอบของผู้ชายอย่างเด็ดขาด[7] เพศสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรสจึงมิใช่การกระทำที่เป็นสิ่งต้องห้ามในกฎหมายอย่างเด็ดขาดแต่อย่างใด หากมีเงื่อนไขและข้อจำกัดอย่างมากที่จะทำให้การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นความผิดที่ต้องได้รับการลงโทษ นับเป็นการเปิดให้เพศสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรสของชายยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้

 

พลวัตของระบบผัวเดียวเมียเดียว

 

มีความเปลี่ยนแปลงของบทบัญญัติทางกฎหมายเกี่ยวกับระบบครอบครัว และความพยายามในการกำกับเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรสที่ดูราวกับจะกว้างขวางมากขึ้น โดยนับจากภายหลัง พ.ศ. 2517 การเรียกร้องถึงความเสมอภาคระหว่างชายหญิงในระบบครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวก็เป็นประเด็นสำคัญในทางสาธารณะ

ใน พ.ศ. 2550 ได้มีการแก้ไขให้เหตุหย่าระหว่างสามีภรรยาซึ่งเคยมีความแตกต่างให้เป็นไปในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อ “สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้” เป็นบทบัญญัติที่พยายามกำกับเพศสัมพันธ์ของชายนอกสถาบันการสมรสที่มีมากขึ้น หรือกฎเกณฑ์ที่กำกับข้าราชการอย่างเข้มงวดต่อการมีชู้หรือเป็นชู้[8] ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของแนวคิดแบบผัวเดียวเมียเดียวที่กระจายออกอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้คน ดังจะพบว่าการร้องเรียนหรือฟ้องหย่าด้วยเหตุที่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นชู้หรือมีชู้ได้กลายเป็นข้อพิพาทที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง

แม้จะไม่ใช่มรดกตกทอดมาจากประเพณีของสังคมไทย แต่พลวัตของสังคมไทยได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงและเพศสัมพันธ์ในสถาบันการสมรสมีสำคัญมากยิ่งขึ้น ระบบผัวเดียวเมียเดียวกลายเป็นความเข้าใจซึ่งเป็นที่ยอมรับในทางกฎหมายและขยายตัวเพิ่มมากในทางวัฒนธรรม

ในอีกด้านหนึ่ง ระบบผัวเดียวหลายเมียก็ไม่ใช่ลักษณะร่วมกันของสังคมไทยแต่อย่างใด หากเคยเป็นอำนาจทางสังคมของบุคคลบางกลุ่มที่สัมพันธ์กับการค้ำยันโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ผัวเดียวหลายเมียในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อาจมิใช่เป็นเพียงเรื่องของรสนิยมหรือความมักมากส่วนตัวของชนชั้นนำเท่านั้น หากมีนัยทางการเมืองกำกับครอบครัวในรูปแบบดังกล่าว

แต่ในสังคมประชาธิปไตย ผัวเดียวหลายเมียอาจไม่ได้มีนัยถึงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด

 

 


[1] เสนีย์ ปราโมช. คิงมงกุฎ ในฐานะทรงเป็นนักนิติศาสตร์. กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2558. หน้า 52.

[2] Tamara Loos. Subject Siam: Family, Law, and Colonial Modernity in Thailand. Chiang Mai: Silkworm Books, 2006. p. 121.

[3] Tamara Loos, p. 110-117.

[4] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2478 บรรพ 5 มาตรา 1445 (3) ได้ยอมรับหลักการห้ามชายหรือหญิงทำการสมรสอีกในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว หลักการดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระเมื่อ พ.ศ. 2519 มาตรา 1452 ซึ่งบัญญัติว่า “ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

[5] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2478 บรรพ 5 มาตรา 1500 บัญญัติว่า “คดีฟ้องหย่านั้นถ้า (1) ภริยามีชู้ สามีฟ้องหย่าได้”

[6] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. เมื่อผู้หญิงคิดจะมีหนวด: การต่อสู้ “ความจริง” ของเรื่องเพศในสภาผู้แทนราษฎร . กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2549. หน้า 100.

[7] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, หน้า 137.

[8] การมีความสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรสได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็น “การประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง” ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน และมีโทษสูงสุดถึงไล่ออกจากราชการได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save