fbpx
การเมืองสมัยใหม่ที่วุ่นวายของเวเนซุเอลา: จากชาเวซถึงมาดูโร

การเมืองสมัยใหม่ที่วุ่นวายของเวเนซุเอลา: จากชาเวซถึงมาดูโร

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

 

ในบทความคราวที่แล้วผมได้เขียนถึงสถานการณ์การเผชิญหน้าของปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาในโคลอมเบียที่มีอยู่กว่า 1.8 ล้านคนว่ากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต จะกลับไปประเทศตัวเองก็ไม่ได้เพราะรัฐบาลของเวเนซุเอลาภายใต้การนำของ นิโกลัส มาดูโร ปฏิเสธไม่ยอมให้กลับ เพราะกลัวว่าพวกที่กลับมานี้จะเป็นพลังให้ฝ่ายค้านโค่นล้มรัฐบาล

ทำไมประเทศเวเนซุเอลาถึงได้วุ่นวายยุ่งเหยิงขนาดนี้ มีคนสองคนคือทั้ง นิโกลัส มาดูโร และ ฮวน กวยโด ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านต่างก็อ้างว่าตัวเองเป็นประธานาธิบดีที่ชอบธรรม โดยทั้งสองฝั่งต่างก็มีประเทศมหาอำนาจหนุนหลังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ในคราวนี้ผมจึงขอเล่าภาพการเมืองสมัยใหม่ของเวเนซุเอลา ว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไรจนทำให้เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศที่ล้มเหลวในการเมืองโลกมาจนถึงทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นแห่งความวุ่นวายทางการเมืองสมัยใหม่ของเวเนซุเอลาเป็นผลมาจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1998 ที่อูโก ชาเวซ ชนะในการเลือกตั้ง[1] โดยชูธงการเปลี่ยนแปลงในนามขบวนการ ‘การเคลื่อนไหวของสาธารณรัฐที่ห้า’ (The Fifth Republic Movement – MVR) ชาเวซได้รับเสียงสนับสนุนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะกับผู้ที่เบื่อหน่ายรูปแบบการเมืองแบบเก่าที่อยู่ภายใต้อำนาจของสองพรรคการเมืองหลักในขณะนั้นคือพรรค Acción Democrática (AD) และพรรค Comité de Organización Política Electoral Independiente (COPEI) ประกอบกับความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่ขยายความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยจำนวนน้อยกับคนจนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากให้เพิ่มสูงขึ้น

ชาเวซเสนอการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ รวมทั้งการคอร์รัปชันที่มีอยู่ดาษดื่นไม่ว่าจะเป็นในวงราชการหรือแวดวงธุรกิจเอกชน เขาต้องการสร้างการเมืองที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยนโยบายหาเสียงดังกล่าวทำให้เขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเหนือคู่แข่งตั้งแต่รอบแรกด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนกว่าร้อยละ 56 และก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีถัดมา

ในช่วงสองปีแรกที่เขาเป็นประธานาธิบดี เขาได้ขจัดฐานอำนาจของสองพรรคการเมืองดั้งเดิมที่ได้กล่าวไปข้างต้น จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยความเห็นชอบของประชาชน ชาเวซได้ชักจูงให้ประชาชนเห็นพ้องตามเขาว่าระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดได้นั้นจะต้องให้อำนาจประธานาธิบดีเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ประธานาธิบดีควรจะมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งประชาชนชาวเวเนซุเอลาในขณะนั้นก็เห็นดีเห็นงามกับชาเวซด้วย จนนำมาสู่การรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 1999

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของเวเนซุเอลาเป็นอย่างมากในหลายประการ

ประการแรก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองของเวเนซุเอลา ประธานาธิบดีมีอำนาจในการควบคุมกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ รวมถึงอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนคณะรัฐมนตรีได้โดยอิสระปราศจากการควบคุม และยิ่งไปกว่านั้นยังให้ประธานาธิบดีสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองติดต่อกันได้ รวมถึงการขยายวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจากเดิม 5 ปี เป็น 6 ปี

ประการที่สอง ยุบวุฒิสภาที่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 1961 ให้เหลือแต่สภาแห่งชาติเพียงสภาเดียว

ประการที่สาม รัฐธรรมนูญใหม่นี้ให้อำนาจประธานาธิบดีในการยุบสภาแห่งชาติเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ถ้าประธานาธิบดีไม่พอใจการทำงานของสภา

ประการที่สี่ เพื่อเป็นการลดทอนอำนาจของสภาแห่งชาติจากเดิมที่มีบทบาทในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด เปลี่ยนเป็นกำหนดให้ผู้พิพากษาศาลสูงสุดมาจากการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 12 ปี โดยเป็นได้สมัยเดียว ต่อมาในปี 2004 มีการเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาศาลสูงสุดจาก 20 คน เป็น 32 คน

ประการที่ห้า มีการเพิ่มเติมหน่วยงานอีกสองหน่วยงานลงในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ คณะกรรมการประชาชนและคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการขยายอำนาจการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยคาดหวังจะทำให้กระบวนการตัดสินใจและการดำเนินการทางนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมีส่วนร่วมของประชาชนมากยิ่งขึ้น

ประการที่หก รัฐธรรมนูญนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอำนาจของพรรคการเมือง จึงอนุญาตให้ประชาชนสามารถลงชื่อเพื่อแก้ไขกฎหมายต่างๆ ได้โดยตรง รวมทั้งรัฐได้ยกเลิกการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนที่รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมพรรคการเมือง และหนึ่งในนั้นคือการจัดสรรงบประมาณให้กับพรรคการเมือง

ประการที่เจ็ด มีการกำหนดชัดลงในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า รัฐบาลมีหน้าที่จัดหาและคุ้มครองสวัสดิการทั่วหน้าให้กับประชาชน ดังนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจะเข้าไปควบคุมกิจการอุตสาหกรรมน้ำมันทั้งหมดซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักและสำคัญของเวเนซุเอลา แตกต่างไปจากนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านั้นที่มีนโยบายการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาลในอุตสาหกรรมน้ำมัน

เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ได้ผ่านประชามติในปี 1999 ในปีต่อมาได้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ทั่วประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าชาเวซและกลุ่มการเมืองของเขาชนะการเลือกตั้งอย่างง่ายดาย รัฐบาลใหม่ของชาเวซเริ่มเข้ามาบริหารงานประเทศในเดือนมกราคม 2001 โดยมีนโยบายหลักคือส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ยากไร้ในเวเนซุเอลา ซึ่งมีเป็นจำนวนมากและเป็นฐานเสียงที่สำคัญของเขา แน่นอนว่าย่อมมีผู้ที่เห็นต่างและคัดค้านนโยบายของชาเวซ ซึ่งได้แก่ผู้มีฐานะร่ำรวย นักการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ถูกลดทอนอำนาจ สื่อมวลชนที่รัฐเข้าไปแทรกแซงจนทำให้เกิดการขาดความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าวสาร เพราะชาเวซต้องการควบคุมสื่อทั้งหมดให้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลเท่านั้น ศาสนจักรคาทอลิกซึ่งเคยเป็นผู้ที่มีบทบาทชี้นำสังคมมาโดยตลอด รวมทั้งกลุ่มสหภาพแรงงานซึ่งเดิมเคยมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

แนวความคิดของชาเวซในการช่วยเหลือคนยากจนนั้น ดำเนินนโยบายตามแนวคิด zero-sum กล่าวคือจะดึงทรัพยากรและกระจายความมั่งคั่งจากมือของผู้ร่ำรวยไปสู่ผู้ยากไร้ในสังคม ด้วยนโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมเวเนซุเอลาเป็นอันมากเพราะมีผู้เสียผลประโยชน์ อันได้แก่ คนร่ำรวย คนชั้นกลาง ขณะที่ผู้ได้รับผลประโยชน์คือคนยากจน ถือเป็นเชื้อไฟในการสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมการเมืองเวเนซุเอลาเป็นอย่างยิ่ง เกิดเป็นกลุ่มการเมืองสองขั้วใหญ่ คือ ผู้สนับสนุนรัฐบาลกับผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล

ระหว่างปี 2001 ถึง 2003 พวกที่ต่อต้านชาเวซพยายามหาทางกำจัดเขาอยู่ตลอดเวลา ความพยายามแรกคือการทำรัฐประหารในเดือนเมษายน 2002 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการที่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของชาเวซนับล้านคนออกมาเดินขบวนต่อต้านเขากลางกรุงการากัส เมืองหลวงของเวเนซุเอลา ส่งผลให้คณะทหารจำนวนหนึ่งตัดสินใจก่อการรัฐประหารโค่นล้มชาเวซ และประการแต่งตั้ง เปโดร คาร์โมนา เอสแตงกา ประธานสภาหอการค้าขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ แต่รัฐประหารดังกล่าวก็มีอายุอันสั้น ภายในเวลาไม่กี่วัน ชาเวซสามารถปลุกให้คนที่สนับสนุนเขาออกมาต่อต้านรัฐบาลของเอสแตงกา แล้วชาเวซก็กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเหมือนเดิม

ความพยายามในการโค่นล้มชาเวซยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจพลังงานภายใต้การนำของการปิโตรเลียมแห่งเวเนซุเอลา (PDVSA) ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศมากกว่าร้อยละ 95 ของการส่งออกทั้งหมดของเวเนซุเอลา ประกาศนัดหยุดงานเพื่อบีบให้ชาเวซลาออก ชาเวซไล่พนักงานเหล่านั้นออกทั้งหมด และแทนที่ด้วยพรรคพวกของเขา กองทัพ รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากหลายประเทศที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม OPEC (Organization of the Petroleum Exporting Countries) ต่อมากลุ่มพรรคการเมืองทั้ง AD และ COPEI รวมถึงสหภาพแรงงานแห่งเวเนซุเอลา ได้ร่วมมือกับพรรคการเมืองขนาดเล็กและภาคประชาสังคมบางส่วนได้เรียกร้องให้มีการลงประชามติถอดถอนชาเวซในปี 2004 แต่เขาก็สามารถเอาตัวรอดมาได้ ต่อมาในปี 2006 เมื่อมีการเลือกตั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ชาเวซก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน

สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้ชาเวซได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ภายหลังจากราคาน้ำมันตกต่ำมากว่าสองทศวรรษ ในปี 2004 ราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับตัวขึ้นอย่างแรงประกอบกับการส่งเสริมการปฏิรูประบบพลังงานภายในประเทศของชาเวซ ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จนสามารถนำมาลงทุนในนโยบายการจัดสวัสดิการให้กับคนยากจนได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้จำนวนคนจนในประเทศลดลงเป็นอันมาก การว่างงานก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน แนวทางการปฏิรูปประเทศของชาเวซ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนมาเรียกว่า ‘การเคลื่อนไหวในแนวทางของโบลิวาร์’ (The Bolivarian Movement) กลายเป็นพลังหลักของสังคมในการบริหารประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบรรดาคนยากจนและแรงงานผู้ประกอบการชั้นล่างเป็นอย่างมาก

เพื่อเป็นการขยายอำนาจของเขาให้เข้มแข็งขึ้น ในปี 2007 ชาเวซเสนอให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญคือการขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 6 ปี เป็น 7 ปี และไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนครั้งในการลงรับสมัคร แต่แล้วความหวังของชาเวซก็พังทลายเมื่อเขาแพ้การลงประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามความต้องการของเขาอย่างเฉียดฉิว โดยเขาได้รับเสียงสนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่ร้อยละ 49.34 ขณะที่ฝ่ายต่อต้านมีคะแนนเสียงร้อยละ 50.65 โดยมีผู้มาใช้สิทธิ์ลงประชามติทั้งสิ้นร้อยละ 56 จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด แต่ชาเวซก็ไม่ยอมถอดใจ ในปี 2009 ชาเวซเสนอให้มีการลงประชามติอีกครั้งเพื่อสลายข้อจำกัดเรื่องการลงสมัครซ้ำในตำแหน่งประธานาธิบดี แต่คราวนี้เขาได้พ่วงข้อเสนอใหม่ว่าให้ทุกตำแหน่งทางการเมืองสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งซ้ำได้ ทำให้ประชามติคราวนี้ของชาเวซสามารถผ่านไปได้ แสดงว่าสำหรับชาเวซนั้นเขาสามารถที่จะลงสมัครเป็นประธานาธิบดีได้ตลอดจนกว่าเขาจะถอดใจไปเอง

ระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของชาเวซนั้น เขาและพวกได้เข้าไปควบคุมและแทรกแซงการบริหารงานของทุกภาคส่วน ในลักษณะอุปถัมภ์คนที่เป็นพวกเขา ขณะเดียวกันก็ลงโทษผู้ที่ต่อต้าน ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารค่อยๆ หมดพลังลงไป รัฐบาลมีอำนาจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้น มีความพยายามบ่อนเซาะการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการอยู่เสมอ ทำให้หลักการคานอำนาจสูญเสียไปหมด จากเดิมที่เขาเคยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงในนโยบายการบริหารประเทศ ก็ถูกแทนที่ด้วยการด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านซึ่งเต็มไปด้วยคนที่สนับสนุนชาเวซขึ้นมาแทนในการบริหารภาคประชาสังคม

อย่างไรก็ตาม จากการที่เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นทั่วโลกระหว่างปี 2008-2009 ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงตกลงเป็นอย่างมาก กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาเวซขาดเงินที่จะสนับสนุนนโยบายสวัสดิการแบบสังคมนิยมของเขา เป็นอีกครั้งที่เวเนซุเอลาต้องเผชิญกับการถดถอยทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการพึ่งพาสินค้าส่งออกที่สำคัญแต่เพียงอย่างเดียวคือน้ำมัน เกิดเป็นวัฏจักรที่วนไปวนมากับสังคมเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ที่จะก้าวกระโดดไปข้างหน้าเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และถดถอยเมื่อราคาน้ำมันลดต่ำลง เมื่อชาเวซเผชิญกับสภาวการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมในตัวเขาในเชิงลบเป็นอย่างมาก รัฐบาลของชาเวซก็ไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนหน้าที่ผ่านมาในเวเนซุเอลาที่อ่อนไหวต่อสภาวะวิกฤตของระบบเศรษฐกิจโลก โดยแสดงให้เห็นผ่านทางความอ่อนไหวทางการเมืองที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว

ถึงแม้ชาเวซจะเริ่มแสดงอาการเจ็บป่วยจากการเป็นมะเร็งอุ้งเชิงกรานและความนิยมที่ถดถอยลง แต่เขาก็ยังคงได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเป็นครั้งที่สี่ติดต่อกันในปี 2012 แต่อย่างไรก็ตามชาเวซก็แพ้แก่สังขารของตัวเอง เขาได้ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 5 มีนาคม 2013 นิโกลัส มาดูโร ลูกน้องคนสนิทที่เปรียบเสมือนเป็นมือขวาและชาเวซได้วางตัวเป็นทายาททางการเมืองตั้งแต่เขาเริ่มล้มป่วยลง ได้รับชัยชนะอย่างเฉียดฉิวในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนชาเวซที่จัดขึ้นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน แต่การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบโดยตรงต่อคะแนนนิยมในตัวมาดูโรที่ลดต่ำลง ดังนั้นเมื่อมีการจัดการเลือกตั้งสภาแห่งชาติในเดือนธันวาคม 2015 พรรคอนุรักษนิยมฝ่ายค้านจึงได้รับคะแนนเสียงนำพรรครัฐบาลของมาดูโร ถือเป็นการพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของรัฐบาลแนวทางสังคมนิยมของเวเนซุเอลาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ชัยชนะของชาเวซในปี 1998

ในเดือนเมษายน 2016 ศาลรัฐธรรมนูญได้รับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้านให้ลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 6 ปีกลับมาเหลือ 4 ปี แต่อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุเพิ่มเติมว่า ไม่ให้นำมาบังคับใช้ลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของมาดูโร เนื่องจากมาดูโรเองได้รับการเลือกตั้งก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว ต่อมาพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นมติขอถอดถอนมาดูโรออกจากตำแหน่ง ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้ทำได้ก็ต่อเมื่อผ่านไปครึ่งสมัยของระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มาดูโรตอบโต้ด้วยการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยอ้างว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านร่วมมือกับมหาอำนาจตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกากำลังจะพยายามโค่นล้มรัฐบาลของเขา สภาแห่งชาติภายใต้การนำของพรรคฝ่ายค้านมีมติไม่ยอมรับประกาศฉบับนี้ ด้วยเหตุนี้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมาดูโรประกาศยึดอำนาจจากสภาแห่งชาติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2017 และโอนอำนาจทางนิติบัญญัติให้กับสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 4 สิงหาคมปีเดียวกันซึ่งฝ่ายค้านประกาศไม่ยอมรับ จะเห็นได้ว่าเกิดการแย่งชิงอำนาจนิติบัญญัติระหว่างสภาแห่งชาติที่มีฝ่ายค้านเป็นแกนนำกับสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการหนุนหลังจากทั้งมาดูโร และฝ่ายตุลาการ

ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2018 มาดูโรได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง โดยสาเหตุหลักไม่ได้มาจากผลงานการบริหารประเทศของเขา แต่เพราะผู้นำฝ่ายค้านแตกแยกกันเอง ขณะเดียวกันชาติมหาอำนาจตะวันตกต่างก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ของการโกงการเลือกตั้ง เมื่อมาดูโรสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2019 สภาแห่งชาติที่ยังไม่ยอมสลายตัวประกาศไม่ยอมรับมาดูโรและรองประธานาธิบดีของเขา โดย ฮวน กวยโด ผู้นำสภาแห่งชาติประกาศแต่งตั้งตัวเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีโดยอ้างมาตรา 233 ของรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1999 ที่ให้อำนาจประธานสภาแห่งชาติขึ้นทำหน้าที่ประธานาธิบดีได้ เมื่อตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีว่างลงหรือไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ กลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งร้ายแรงที่สุดในเวเนซุเอลาที่ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 


[1] สำหรับผู้ที่สนใจว่าทำไมอูโก ชาเวซ ถึงได้รับการเลือกตั้ง โปรดอ่าน เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์. (2554). ‘การเมืองสมัยใหม่ของเวเนซุเอลา: ก่อนการก้าวขึ้นมาของอูโก ชาเวซ,’ วารสาร October, ฉบับที่ 11, หน้า 300-309.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save