fbpx
ถึงคุณประยุทธ อยากรู้ว่าใครตัดชุดผ้าไหมให้ท่าน? : ว่าด้วยการแต่งตัวของนักการเมือง

ถึงคุณประยุทธ อยากรู้ว่าใครตัดชุดผ้าไหมให้ท่าน? : ว่าด้วยการแต่งตัวของนักการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สำหรับพิธีปฏิญาณตนของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งผ่านไป ต้องบอกครับว่าสังคมอเมริกันค่อนข้างให้ความสำคัญกับการแต่งตัวสำหรับพิธีนี้พอสมควร เพราะมันเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะปรากฎตัวในฐานะผู้นำของประเทศอย่างเป็นทางการ

ผู้คนคาดหวังว่าการแต่งตัวของท่านประธานาธิบดีจะสะท้อนค่านิยม ‘American Dream’ ที่ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณก็สามารถประสบความสำเร็จได้ (และรวมไปถึงการเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้ด้วย!) หากคุณเจ๋งพอ คนธรรมดาๆ ไม่ต้องมีชาติตระกูลอันสูงส่งก็สามารถเป็นผู้ทรงอิทธิพลของโลกได้ ว่าที่ประธานาธิบดีก็จะใช้โอกาสนี้ส่งสารหรือสะท้อนค่านิยมของความเป็นอเมริกันผ่านทุกช่องทางเท่าที่ทำได้ ไม่เว้นแม้แต่ชุดที่พวกเขาเลือกใส่ในพิธีปฏิญาณตน

แน่นอนว่านี่เป็นประเด็นที่สื่อของสหรัฐฯ สนใจ ต้องไปขุดคุ้ยมาให้ได้ว่าใครใส่เสื้อผ้ายี่ห้ออะไร นักออกแบบเสื้อผ้ามีพื้นเพอย่างไร ทำไมพวกเขาและเธอต้องเลือกสีนั้นสีนี้ และอีกมากมายที่จะสรรหามาเล่า สื่อใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์กไทมส์เคยเขียนวิเคราะห์เรื่องเน็กไทของบารัค โอบามาและโดนัลด์ ทรัมป์ ไว้เป็นวรรคเป็นเวรว่า การเลือกสีและยี่ห้อของเน็กไทสะท้อนค่านิยมอะไรในตัวประธานาธิบดีคนนั้น

และอย่าคิดว่าไม่มีคนอ่าน ผมคนหนึ่งล่ะที่อ่าน

เท่าที่สืบค้นดู พบว่าไม่ได้มีการบันทึกไว้อย่างเป็นหลักเป็นฐานว่าธรรมเนียมการแจกแจงเครื่องแต่งตัวของประธานาธิบดีเริ่มเมื่อไหร่ แต่พอคาดเดาได้ว่าเริ่มตื่นตัวกันมากช่วงสมัยของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เพราะโดยพื้นเพ เรแกนเคยเป็นนักแสดงฮอลลีวูดมาก่อน การแต่งตัวของเรแกนจึงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนค่อนข้างมาก

อีกครั้งที่การแต่งตัวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจขึ้นอย่างมากคือ ในสมัยบารัค โอบามา แต่คนที่ดึงความสนใจจากสื่อมวลชนไปกลับไม่ใช่ประธานาธิบดี แต่เป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง มิเชล โอบามา เพราะเธอกล้าที่จะแต่งตัวด้วยสีสันที่ฉูดฉาดกว่าสตรีหมายเลขหนึ่งคนไหนๆ ในประวัติศาสตร์ (และสตรีหมายเลขหนึ่งทั้งหมดที่ผ่านมา อายุมากกว่าเธอทั้งสิ้น)

ไม่เพียงเท่านั้น แต่ละชุดที่เธอเลือกหยิบล้วนผ่านการคิด คัดสรร ทำงานอย่างหนักเพื่อที่ว่าชุดเหล่านั้นจะสามารถสะท้อนทั้งอัตลักษณ์ความเป็นแอฟริกัน-อเมริกันของเธอและการส่งเสริมค่านิยมแบบฉบับอเมริกันได้ด้วย เอาเป็นว่าแค่เธอใส่เสื้อผ้าอะไรสักอย่าง เดี๋ยวก็มีคนไปตามหาขุดคุ้ยกันเอาเอง อย่างในพิธีสาบานตนครั้งแรกของสามีของเธอ เธอเลือกชุดสีม่วงของมาเรีย ปินโต (Maria Pinto) ดีไซเนอร์หญิงจากชิคาโกบ้านเดียวกับเธอ เสมือนหนึ่งเป็นการขอบคุณฐานเสียงและยังสะท้อนว่าเธอให้คุณค่าและความสำคัญกับชุมชน

ต้องบอกว่าตลอดแปดปีที่โอบามาอยู่ในตำแหน่งนั้นเต็มไปด้วยสีสัน การแต่งตัวของทั้งคู่ถูกจับตามองอย่างมาก ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2014 โอบามาขึ้นแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวด้วยสูทสีเบจ สื่อในสหรัฐฯ เล่นเรื่องนี้อยู่สองวันและโจมตีว่าการใส่สูทสีอ่อนมาแถลงข่าวสะท้อนถึงการ ‘ขาดความจริงจังในหน้าที่’ ภายหลังโอบามาออกมาให้สัมภาษณ์กับโอปรา วินฟรีย์ว่า เขางงมากที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็น

ส่วนตัวผมเองคิดว่า โอบามาถูกจับตามองเพราะเขาเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ และความอายุน้อยของเขานี่เองที่ทำให้การใส่สูทสีอ่อนก็กลายเป็นประเด็น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคนก็เคยใส่สูทสีอ่อนแถลงข่าว ตั้งแต่ไอเซนฮาว เรแกน ยันบุช แต่ก็ไม่มีใครโดนจับผิดอย่างที่โอบามาโดน

ผมถึงบอกว่าการเป็นสายตรวจแฟชั่น (fashion police) ให้กับนักการเมืองนั้นสนุกมาก มีหลายอย่างที่เราสามารถเอามาตีความได้เยอะแยะหากนักข่าวมีความรู้ความสามารถมากพอ

ในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ก็เต็มไปด้วยสีสันไม่แพ้กัน ทรัมป์เป็นคนหนึ่งที่มีสไตล์การแต่งตัวค่อนข้างชัดเจน ภาพจำของเขามาจากรายการเรียลลิตีโชว์ทางโทรทัศน์ ในความทรงจำของอเมริกันชน ทรัมป์คือชายผมแดง สวมสูทตัวโคร่ง ผูกเน็กไทสีแดงสด ไม่ก็ใส่เสื้อแจ็กเก็ตกับหมวกแก็ปที่มีชื่อของเขาปักอยู่ แม้ว่าลูกสาวของทรัมป์จะเป็นดีไซเนอร์ มีแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง แต่มหาเศรษฐีอย่างทรัมป์ก็นิยมสวมสูทราคาแพงสัญชาติอิตาลีอย่างบริโอนี (Brioni – แบรนด์เสื้อผ้าสำหรับผู้ชายจากอิตาลี ก่อตั้งเมื่อปี 1945 โด่งดังจากการตัดสูทแบบสั่งทำและเครื่องหนังสำหรับผู้ชาย ปัจจุบันเป็นแบรนด์ในเครือของ Kering บริษัทโฮลดิงสัญชาติฝรั่งเศส เจ้าของแบรนด์กุชชี่ (Gucci) และแบรนด์ชั้นสูงอื่นๆ สูทของบริโอนี่มีราคาเริ่มต้นที่ราว 100,000 บาทขึ้นไป)

แต่ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง แน่นอนว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่ทรัมป์ควรเลือกใส่เสื้อผ้าจากแบรนด์อเมริกัน ทรัมป์จึงเลือกใช้บริการจากบรูคส์ บราเธอร์ส (Brooks Brothers – แบรนด์เสื้อผ้าและร้านค้าปลีกเครื่องแต่งกายที่เก่าแกที่สุดของสหรัฐฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1818) ซึ่งเป็นตัวเลือกของประธานาธิบดีก่อนหน้านี้หลายคนสำหรับวันสำคัญดังกล่าว แต่ทรัมป์ก็ถูกกระแนะกระแหนหลังจากนั้นว่า หลายครั้งที่เขาปรากฎตัว เขามักเลือกใส่เสื้อผ้าแบรนด์จากอิตาลีที่เขาชื่นชอบมากกว่า

ส่วนอดีตสตรีหมายเลขหนึ่งอย่างเมลาเนีย ทรัมป์ ก่อนหน้าที่เธอจะได้ชุดสีฟ้าของราล์ฟ ลอว์เรน (Ralph Lauren) มาใส่ในพิธีสาบานตนในปี 2017 มีข่าวลือว่านักออกแบบอเมริกันหลายคน ทั้งมาร์ก จาคอบ ไมเคิล คอร์ส หรือแซค โพเซน ต่างปฏิเสธที่จะร่วมงานกับเธอ เรียกได้ว่าเป็นดราม่าครึกโครม

ในช่วงระหว่างนั้น เธอกลายเป็นสีสันของการพูดคุยอยู่ไม่น้อย สื่อออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของการเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของเธอในเรื่องการแต่งตัวว่า ไม่ได้สนใจที่จะสนับสนุนนักออกแบบอเมริกันอย่างจริงจัง ในขณะที่มิเชล โอบามา สนับสนุนนักออกแบบอเมริกันอย่างต่อเนื่องและพูดผ่านสื่อหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งยังใส่เสื้อผ้าทั้งรุ่นใหม่และเก่า ใส่ทั้งของมีราคาและของราคาย่อมเยาว์สลับกันไปมาอย่างมีนัยยะ

ช็อตที่เราจดจำเมลาเนีย ทรัมป์ได้ดีที่สุดช็อตหนึ่งคือ ตอนที่เธอใส่แจ็คเก็ตยี่ห้อซาร่า (Zara) ซึ่งมีข้อความ ‘I really don’t care, Do u?’ ตอนที่เธอไปเยี่ยมเด็กๆ ในศูนย์กักกันคนต่างด้าวที่เท็กซัส เธอบอกว่าสื่อกำลังกล่าวหาเธอเกินจริง เธอไม่ได้คิดอะไรกับการหยิบเสื้อแจ็คเก็ตตัวนั้นมาใส่ เธอ ‘ไม่ได้คิดอะไร’ จริงๆ ภายหลังเธอให้สัมภาษณ์กับบีบีซีด้วยว่า เธอกำลังถูกสื่อบุลลี่ แต่มันก็ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะเธอเป็นถึงสตรีหมายเลขหนึ่ง ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้ว

หลายคนแขวะเธอว่า เธอพยายามลอกเลียนสไตล์การแต่งตัวของแจ็คเกอลีน เคเนดี สตรีหมายเลขหนึ่งในสมัยของ จอห์น เอฟ เคเนดี ตั้งแต่วันแรกที่เธอใส่ชุดสีฟ้า กระทั่งวันที่ออกจากทำเนียบขาว

กระทั่งตอนที่ครอบครัวทรัมป์ย้ายออกจากทำเนียบขาวและนั่งเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วันกลับไปส่งที่ฟลอริด้า ก็ยังมิวายมีดราม่า ตอนออกจากทำเนียบขาวเมลาเนีย ทรัมป์ เปลี่ยนชุดจากชุดสีดำที่ดูเป็นทางการไปเป็นชุดกระโปรงยาวจากกุชชีสีสันสดใสตอนที่ลงจากเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน สำนักข่าวหลายสำนักออกมาวิจารณ์ถึงความเหมาะสมในเรื่องนี้

การแต่งตัวเป็นเรื่องที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวกับการเมือง แต่จริงๆ แล้วมันแยกออกจากกันไม่ได้ครับ เพราะเสื้อผ้าเป็นเครื่องมือโฆษณาอย่างดี ชนิดที่ว่าคนใส่ไม่ต้องพูดให้เหนื่อย แค่ดูก็รู้เลยว่าเธอหรือเขาต้องการสื่อสารอะไร การเลือกสีของเสื้อผ้าในพิธีสำคัญๆ หรือในช่วงที่ผู้นำสหรัฐฯ ต้องปรากฎตัวต่อสาธารณชนจึงเป็นเรื่องน่าติดตาม ล่าสุด ทั้งโจ ไบเดนและกมลา แฮร์ริสเองก็ทำการบ้านมาไม่น้อย

สีของชุดทั้งสองคนสะท้อนถึงความพยายามสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ นิวยอร์กไทมส์ วิจารณ์ว่าการที่ไบเดนเลือกสูทสีน้ำเงินเข้มจากราล์ฟ ลอว์เรนที่ดูไม่น้ำเงินจนดูเป็น ‘เดโมแครต’ เกินไป การเลือกเนื้อผ้าชนิดเดียวกัน ตั้งแต่ผ้าที่ใช้เย็บเสื้อนอก กางเกง เสื้อหนาวที่สวมทับ รวมไปถึงเน็กไทและหน้ากากสวมปิดป้องกันโควิด-19 ต่างก็เป็นถือเป็นองค์ประกอบที่เป็นเนื้อเดียวกันจากฝีมือนักออกแบบอเมริกันซึ่งสร้างเนื้อสร้างตัวจากตั้งแต่เป็นผู้อพยพจนกลายเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าที่สะท้อนความเป็นอเมริกันได้ดีที่สุดแบรนด์หนึ่ง เพื่องานพิธีที่เน้นความเป็นหนึ่งเดียวของคนในประเทศ

 

โจ ไบเดน ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในชุดสูทสีน้ำเงินเข้ม ภาพถ่ายโดย GPA Photo Archive/flickr

 

สำหรับจิล ไบเดน สตรีหมายเลขหนึ่ง เธอปรากฏตัวในเสื้อนอกยาวสีฟ้าน้ำทะเลผ้าขนเเกะ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของดีไซเนอร์อเล็กซานดรา โอนีล (Alexandra O’Neill) ภายใต้เเบรนด์มากาเรียน (Markarian) ที่เปิดตัวไปปี 2017 ที่น่าสนใจคือ เสื้อผ้ายี่ห้อนี้เน้นเรื่องสิ่งเเวดล้อมและการลดขยะ แต่ละตัวต้องสั่งตัด และอีกนัยหนึ่งก็เป็นการสะท้อนถึงทัศนคติของผู้สวมใส่ว่า ยังคงอยู่ในกระแส ทันโลก ไม่ตกยุค ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนหนึ่งของไบเดน เนื่องจากเขาเป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

ส่วนกมลา แฮร์ริส เข้าพิธีปฏิญาณตนในชุดเสื้อโค้ตสีม่วงโดยฝีมือของคริสโตเฟอร์ จอห์น โรเจอร์ส (Christopher John Rogers) นักออกเเบบเเฟชั่นดาวรุ่งของสหรัฐฯ ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่า สีม่วงคือสีแห่งความสมานฉันท์ เป็นการรวมกันของสีน้ำเงินและสีแดง (ซึ่งสื่อถึงพรรคเดโมเเครตและพรรครีพับบลิกัน) สีม่วงมักเป็นสีที่ถูกเลือกเกือบทุกครั้งในพิธีสำคัญนี้ ฮิลลารี คลินตัน อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งที่มาร่วมงานพร้อมกับอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน สามีของเธอก็เลือกสวมใส่เสื้อผ้าสีม่วง นิตยสารแวนิตี้ แฟร์ (Vanity Fair) ระบุด้วยว่า ตามประวัติศาสตร์ สีม่วงเป็นสีที่สะท้อนถึงความทรงเกียรติ และในตอนเเรก ยังเป็นสีที่ถูกเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิการลงคะเเนนเลือกตั้งของผู้หญิงอีกด้วย

 

กมลา แฮร์ริสในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ภาพถ่ายโดย Chairman of the Joint Chiefs of Staff/flickr

 

ประเด็นการเลือกเครื่องแต่งกายของนักการเมืองในสหรัฐฯ หรือยุโรป นับว่าเป็นเรื่องที่สื่อให้ความสนใจเสมอ ในบางประเทศที่มีปัญหาเรื่องชนชั้นอย่างอินเดียหรือแอฟริกา การแต่งกายยิ่งมีความละเอียดอ่อนมากขึ้นไปอีก ผู้นำต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่อย่างนั้นก็อาจตกเป็นเป้าในการวิพากษ์วิจารณ์ได้

ในไทยเอง พูดได้ว่าการแต่งตัวในแวดวงการเมืองค่อนข้างน่าเบื่อ มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมเสียเป็นส่วนมาก ไม่สะท้อนความหลากหลาย เห็นได้ชัดจากการแต่งตัวที่พยายามเน้นถึงความเป็นไทย การหยุดนิ่ง ไม่ปรับตัว เรามักจะได้เห็นเสื้อคอปกราชปะแตน ชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมหรือไม่ก็หันไปใช้บริการจากชุดข้าราชการ

การแต่งกายของนักการเมืองไทยไม่ค่อยได้รับความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัยเท่าไหร่ ซึ่งน่าเสียดาย เพราะถ้าไปดูในธุรกิจงานออกแบบเสื้อผ้าของเรา จะพบว่าศักยภาพของนักออกแบบไทยมีมาก แต่ขาดแรงผลักดันไปสู่ระดับสากลอย่างเป็นระบบ มีอยู่วูบหนึ่งที่เราพอได้เห็นความเคลื่อนไหวของนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ จากพรรคอนาคตใหม่ที่พยายามเปลี่ยนมุมมองการแต่งกายของนักการเมือง พยายามใช้เครื่องแต่งกายเป็นเสียงสะท้อน เรียกร้องความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดกว้างเรื่องการแต่งตัวข้ามเพศ การขับเน้นอัตลักษณ์ของชนกลุ่มน้อย รวมไปถึงการที่นักการเมืองหญิงสนับสนุนนักออกแบบไทย ซึ่งในมุมของผมมันน่าสนุก และจะสนุกขึ้นไปอีกหากว่ามีสื่อมวลชนไปตามติดเบื้องหลังความคิดเหล่านี้และสร้างความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ขึ้นมา

ทุกวันนี้ พอเห็นนายกหรือรัฐมนตรีหลายคนใส่เสื้อคอราชปะแตนตัดเย็บด้วยผ้าไหมลายแปลกๆ ผมก็อยากรู้นะครับว่าท่านไปตัดที่ไหน ใครตัดให้ท่าน กลุ่มแม่บ้านหรือนักออกแบบคนไหนที่ทำให้ หรืออย่างการเลือกใส่สูท เลือกสีเน็กไทของนักการเมืองในวันประชุมสภา อดสงสัยไม่ได้ว่าท่านไปตัดสูทที่ไหน ใครใส่สูทแล้วสวยบ้าง กลัดกระดุมกันถูกหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนรสนิยมของนักการเมืองไทยได้ในหลากหลายแง่มุม

ใครสักคนน่าจะทำเรื่องพวกนี้ และอย่าคิดว่าไม่มีคนอ่าน

ผมคนหนึ่งล่ะที่รออ่าน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save