fbpx

กับดักรายได้ปานกลาง: ความสำเร็จในอดีต = อุปสรรคสู่อนาคต?

‘กับดักรายได้ปานกลาง’ ใช้เรียกเศรษฐกิจที่ติดหล่มอยู่ในสถานะรายได้ปานกลางเป็นเวลานาน หลังจากคำนี้ถูกบัญญัติขึ้นมาในปี 2007 ก็กลายเป็นที่นิยมของทั้งวงการวิชาการและสื่อทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

ไทยหลุดจากสถานะประเทศรายได้ต่ำเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลาง (ระดับต่ำ) มาตั้งแต่ปี 1987 ก่อนจะยกระดับเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2011 จนตอนนี้จึงเป็นเวลา 35 ปีแล้วที่ประเทศไทยก็ยังคงวนเวียนอยู่ในสถานะรายได้ปานกลาง โดยมีการคาดการณ์กันว่าประเทศไทยจะต้องใช้เวลาอีกราว 20-30 ปีกว่าจะก้าวขึ้นสู่สถานะรายได้สูง เท่ากับว่าประเทศไทยจะต้องใช้เวลารวมทั้งสิ้น 60 ปีเพื่อหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งถือว่าใช้เวลานานกว่าบรรดาประเทศร่ำรวยที่เคยพ้นจากฐานะรายได้ปานกลางสำเร็จมาก่อน[1]

งานวิจัยและบทความวิเคราะห์กับดักรายได้ปานกลาง มักจะวนเวียนอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ไม่สามารถขยับขึ้นสู่ฐานะรายได้สูง เช่น ผลิตภาพของเศรษฐกิจที่เติบโตช้า การขาดแคลนแรงงานทักษะ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่ำ ไปจนถึงการใช้งบประมาณทางการคลังที่ไม่ตรงจุด ซึ่งงานส่วนใหญ่ของไทยก็เห็นตรงกันในประเด็นเหล่านี้และตรงกันกับงานวิจัยเรื่องกับดักรายได้ปานกลางในระดับโลกด้วย[2] (อาจจะมีการถกเถียงอยู่บ้างว่านโยบายอุตสาหกรรมเป็นส่วนจำเป็นสำหรับการหลุดพ้นหรือไม่ แต่ปัจจัยที่ว่ามาข้างต้นล้วนเป็นเรื่องหลักที่พูดถึงตรงกัน)

คำถามคือ ในเมื่อคนในวงกว้างรับรู้และเห็นด้วยถึงปัญหาและทางออกตามนี้แล้ว ทำไมเราและอีกหลายประเทศยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางกันอีก?

บทความนี้จึงมาชวนอ่านงานวิจัยของ Richard Doner และ Ben Ross Schneider[3] ที่เสนอว่าปัญหากับดักรายได้ปานกลาง แท้จริงแล้วเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ มากกว่า ‘เศรษฐกิจ’ แกนทฤษฎีสำคัญที่งานวิจัยนี้เสนอ คือปัจจัยที่นำมาซึ่งสถานะรายได้ปานกลางของหลายประเทศ ได้กลายมาเป็นปัจจัยฉุดรั้งการยกระดับเศรษฐกิจไปสู่สถานะรายได้สูง

รายได้ปานกลาง: เข้าง่าย ออกยาก

การขยับเข้าสู่รายได้ปานกลาง กับการขยับออกจากรายได้ปานกลางสู่รายได้สูง แม้จะเป็นการขยับในทิศทางเดียวกัน แต่มีความยากต่างกันมาก

การเข้าสู่สถานะรายได้ปานกลางเป็นเรื่องที่ทำได้โดยไม่ต้องอาศัยสถาบันทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากนัก แม้ว่าการเริ่มต้นอะไรไม่เคยเป็นเรื่องง่าย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการในวงกว้าง

ในช่วงต้นของการพัฒนานี้ เศรษฐกิจที่อยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมักจะเติบโตจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ การเปิดเสรีทางการค้า การสร้างอาชีพที่ใช้แรงงานทักษะต่ำและราคาถูก เศรษฐกิจเหล่านี้มักจะยอมหรี่ตาอดทนกับความเหลื่อมล้ำ และเศรษฐกิจ (และแรงงาน) นอกระบบในเบื้องต้น โดยหวังว่าเศรษฐกิจที่เติบโตจะไหลรินไปสู่วงกว้าง ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และแก้ปัญหาโครงสร้างในภายหลังได้ง่ายขึ้น

จะเห็นว่าปัจจัยเหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถทำได้ในวงแคบ จำกัดการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ไว้ที่ผู้มีอำนาจหรือเทคโนแครตไม่กี่คน ซึ่งเมื่อทำให้เกิดสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการลงทุน ก็จะทำให้เกิดการยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจได้

ในทางตรงข้าม การจะออกจากสถานะรายได้ปานกลาง เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เพราะต้องการนโยบายอัปเกรดประเทศ เพื่อแก้ชุดปัญหาที่พูดถึงไปในตอนต้น นโยบายเหล่านี้เรียกร้องคุณภาพของการปฏิบัติงานในวงกว้าง ทำให้มีผู้มีส่วนได้เสียตลอดเส้นทางจำนวนมาก จึงต้องมีปัจจัยเชิงสถาบันที่แข็งแรงพอที่จะประสานการทำงานของหลายฝ่าย (ระหว่างรัฐ-รัฐ และรัฐ-เอกชน) และให้ข้อมูลเฉพาะทางที่จำเป็น

ตัวอย่างสำคัญสำหรับเรื่องนี้คือ ‘นโยบายการศึกษา’ งานวิจัยแทบทุกชิ้นเห็นตรงกันว่าการมีประชากรที่ได้รับการศึกษาคุณภาพสูง (โดยเฉพาะแรงงานอาชีวะซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญในประเทศรายได้สูง) เป็นรากฐานสำคัญอันหนึ่งสำหรับการเป็นประเทศรายได้สูง เพราะช่วยให้เกิดอาชีพที่มีทักษะสูงผลตอบแทนสูง รวมถึงเป็นแหล่งผลิตนักวิจัยที่จะมาทำการวิจัยและพัฒนา

อย่างไรก็ตาม การขยายการศึกษาระดับประถมศึกษาทั่วประเทศโดยที่ไม่จำเป็นต้องสนใจคุณภาพมากเหมือนในช่วงรายได้ต่ำ เป็นเรื่องง่ายกว่าการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั่วประเทศ โดยเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะสามารถจัดงบประมาณเพื่อสร้างโรงเรียน รวมทั้งจ้างคนมาเป็นครู โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติมากนัก สิ่งเหล่านี้สามารถจัดการได้ง่าย แถมผู้มีอำนาจมักจะชอบเพราะมีงบประมาณผ่านมือมากขึ้น

ในทางตรงข้าม การยกระดับคุณภาพการศึกษาต้องชนกับโครงสร้างเดิมมากกว่า การยกระดับทักษะครู หรือเลิกจ้างบุคลากรที่ไม่ได้มาตรฐานแล้วแทนที่ด้วยบุคลากรที่มีคุณสมบัติพร้อม หรือรื้อหลักสูตรการศึกษา ต้องเจอแรงต่อต้านเยอะกว่ามาก การจะทำอย่างนี้ได้จะต้องฝ่าหลายด่าน เริ่มตั้งแต่การรักษาคุณภาพของการผลิตครู การหาเงินมาจ่ายเงินเดือนสูงเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพ การวางระบบติดตามคุณภาพการเรียนการสอนที่ยึดโยงกับการเรียนรู้ของนักเรียน และยิ่งถ้าต้องการผลิตนักเรียนอาชีวะที่ได้คุณภาพ จะต้องเกิดการประสานงานระหว่างรัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิดด้วย

นี่ยังไม่นับว่าเป้าหมายในการพัฒนาทุกวันนี้ยากขึ้นกว่าในอดีตอย่างมาก เพราะประเทศที่เข้าสู่สถานะประเทศร่ำรวยในศตวรรษที่แล้ว ประชากรมีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 8.0-8.4 ปี แต่ประชากรในประเทศกับดักรายได้ปานกลางทุกวันนี้มีการศึกษาเฉลี่ยถึง 8.8 ปีไปแล้ว ทว่าประเทศร่ำรวยก็ได้เพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยไปไกลถึง 11 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน

ปัญหาการยกระดับในด้านอื่นที่พูดถึงข้างต้น อย่างการเพิ่มการวิจัยและพัฒนา การปรับโครงสร้างงบประมาณ และการปรับระบบเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น (รวมถึงคอร์รัปชันลดลง) ล้วนซับซ้อนในเชิงบริหารจัดการเหมือนการยกระดับคุณภาพการศึกษา

ทางเดินในอดีตที่ทำลายแนวร่วมอัปเกรดประเทศสู่อนาคต

งานวิจัยชิ้นนี้เน้นย้ำว่า การจะยกระดับการพัฒนาได้ต้องมี ‘แนวร่วมอัปเกรดประเทศ’ (upgrading coalition) ซึ่งคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะผู้กุมอำนาจและทรัพยากรจะต้องพร้อม (หรือถูกกดดันให้) ลงทุนทั้งทรัพยากร ข้อมูล และเวลาซึ่งจะเห็นผลในระยะยาวมาก

ทว่า แนวร่วมอัปเกรดประเทศแทบจะไม่เกิดขึ้นในประเทศรายได้ปานกลาง เนื่องจากเส้นทางการพัฒนาที่ผสมผสานแรงงานราคาถูก การลงทุนจากต่างชาติ การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ การปล่อยให้มีความเหลื่อมล้ำ และ/หรือเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่[4] สร้างความแตกแยกในสังคม (social cleavage) ที่คนแต่ละกลุ่มแตกต่างกันอย่างมาก ขาดความสนใจร่วมกันจนไม่อาจร่วมมือกันได้

1) ความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นคู่กับการพัฒนาในช่วงต้นได้สร้างปัญหาความแตกแยก จนทำให้ระบบการเมืองรวนได้หลายรูปแบบ เช่น ปัญหาการถูกกลุ่มชนชั้นสูงยึดกุมเศรษฐกิจ (elite capture) ระบบอุปถัมภ์ในภาครัฐ ความไม่ยืดหยุ่นทางการเมือง ตลอดจนการใช้นโยบายประชานิยมที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งล้วนลดความสนใจและทรัพยากรที่ควรใช้ไปกับการอัปเกรดประเทศทั้งสิ้น

เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเหลื่อมล้ำยังสร้างให้เกิดบรรษัทขนาดใหญ่ที่มักจะเติบโตในสาขาสินค้าโภคภัณฑ์ สาขาที่มีกฎหมายควบคุมสูง สาขาที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติ หรือสาขาการผลิตที่มีเทคโนโลยีต่ำ แม้บรรษัทเหล่านี้มีทรัพยากร ความสามารถ และอำนาจมาก แต่พวกเขาไม่มีแรงจูงใจอะไรให้ต้องสนใจยกระดับเศรษฐกิจทั้งประเทศมากนัก เพราะไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็สามารถเอาตัวรอดของตัวเองได้

แม้ประเทศกับดักรายได้ปานกลางอย่างไทยจะคุ้นชินว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต้องมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่กฎของการพัฒนาโดยทั่วไป เพราะประเทศกลุ่ม OECD มีความเหลื่อมล้ำลดลงในช่วงที่กำลังพัฒนาจากรายได้ปานกลางเข้าสู่สถานะรายได้สูง ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก แม้จะมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในช่วงการพัฒนายกระดับสู่รายได้สูง แต่ก็ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับไทย

2) เศรษฐกิจนอกระบบ

เศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ก็มีส่วนทำลายแนวร่วมเช่นกัน ด้วยเหตุผลสำคัญหนึ่งคือความสนใจที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มแรงงานในและนอกระบบ โดยกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีความไม่แน่นอนของงานสูง มักต้องการนโยบายเพื่อสร้างอาชีพโดยภาครัฐ ในขณะที่กลุ่มแรงงานในระบบต้องการนโยบายที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้สัญญาและปกป้องแรงงานมากยิ่งขึ้น การทำนโยบายแรงงานจึงมักแยกเป็นสองซีก คือการให้ความช่วยเหลือลูบหน้าปะจมูกเพื่อดึงดูดกลุ่มแรก และทำนโยบายเชิงระบบสำหรับกลุ่มหลัง หมายความว่าเราจะไม่มีนโยบายที่ช่วยกลุ่มแรงงานนอกระบบได้อย่างเป็นระบบมากนัก นอกจากนี้ยังทำให้นโยบายที่ยอมทนต่อเศรษฐกิจนอกระบบ (เช่นการผ่อนผันพื้นที่ค้าขาย) กลายเป็นเรื่องความเมตตาและเห็นใจคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ช่วยรักษาสภาพความแตกต่างของแรงงานต่อไปด้วย

เศรษฐกิจนอกระบบของไทยเคยถูกประมาณค่าไว้ที่ 60% ของ GDP แต่ตัวเลขดังกล่าวในประเทศที่เป็นประเทศร่ำรวยนั้นต่ำกว่ามากในช่วงที่พวกเขากำลังพัฒนา เช่น 8-12% ในเยอรมนีช่วงทศวรรษ 1970s, 10-27% ในสเปนช่วง 1979-1980 และ 20-35% ในอิตาลีช่วงปี 1979 เป็นต้น ในอีกทางหนึ่ง เกาหลีใต้ในปี 1993 มีแรงงานนอกระบบราว 7% ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่แรงงานนอกระบบของไทยในปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 55-60% ที่น่าสนใจคือแรงงานนอกระบบของไทยนั้นได้ย้ายจากการเป็นแรงงานนอกระบบในชนบท เข้ามาเป็นแรงงานนอกระบบในเมือง ซึ่งเป็นทางเลือกที่พวกเขาต้องการด้วย

3) การลงทุนจากต่างชาติ

งานวิจัยหยิบยกการลงทุนจากต่างชาติขึ้นมาเป็นปัจจัยที่สาม โดยเล่าถึงว่าการเข้ามาของบรรษัทข้ามชาติมักจะมีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีและช่องทางการตลาดมาจากบ้าน บรรษัทเหล่านี้สามารถหารายได้ได้มากกว่าบริษัทในประเทศ สามารถจ้างพนักงานด้วยราคาสูงกว่าตลาดเพื่อดึงดูดคนเก่ง พวกเขายังมีโครงข่ายการผลิตระดับโลก (global production network) ที่สามารถเลือกการผลิตให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ได้ เช่น การย้ายฐานการผลิตทักษะต่ำไปยังประเทศรายได้น้อยแห่งอื่น และย้ายอาชีพทักษะสูง (เช่น R&D) ไปยังประเทศที่มีความพร้อมด้านบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศที่อยู่กลางๆ จึงเหมือนถูกบีบจากทั้งสองฝั่ง โดยที่พวกเขาก็ไม่มีความจำเป็นต้องมาอัปเกรดประเทศร่วมไปกับเจ้าบ้าน ที่ทั้งต้องลงทุนมหาศาลและใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล

บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ยังมักจะอยู่ในโลกส่วนตัวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาพรวมของประเทศ เพราะพวกเขามักจะดีลโดยตรงกับหน่วยงานเฉพาะด้านการลงทุน (อย่าง BOI ของไทย) และมีสังคมของตัวเอง เช่นการตั้งสมาคมธุรกิจที่มาจากประเทศเดียวกัน นอกจากนี้ พวกเขาก็มักจะไม่ได้อยู่ในกลไกรัฐในการยกระดับประเทศ ซึ่งอาจเป็นเพราะประเทศรายได้ปานกลางหลายประเทศไม่ได้ให้พื้นที่ความเป็นตัวแทนภาคธุรกิจกับชาวต่างชาติ หรือเพราะพวกเขาไม่ต้องการยุ่งกับกิจการภายในมากนัก ขออยู่เงียบๆ ทำธุรกิจของตนไปจะดีกว่า

พลังของแนวร่วม

ประเทศในกับดักรายได้ปานกลางย่อมมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นระหว่างทางบ้าง หลายสาขาธุรกิจในหลายประเทศก็เกิดการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง เพื่อยกระดับปัจจัยทางสถาบันให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เช่นอุตสาหกรรมไวน์ และซอฟต์แวร์ในอาร์เจนตินา เครื่องบินและเอทานอลในบราซิล รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางและอิเล็กทรอนิกส์ในมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถร่วมมือกันได้โดยอาศัยแรงกดดันจากการแข่งขันระดับนานาชาติ ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤต และการสนับสนุนของรัฐอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งทำให้ทุกคนมีภาพเดียวกัน และสามารถทำงานสอดประสานกันได้ โดยเฉพาะในการทำนโยบายฝึกฝนทักษะแรงงาน และการสร้างนวัตกรรม

อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยทิ้งท้ายไว้ว่าการรวมกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนยกระดับเศรษฐกิจเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก จนเป็นกรณีพิเศษ มากกว่าที่จะเป็นบทเรียนโดยทั่วไปได้

ในอีกทางหนึ่ง มาเลเซียซึ่งกำลังจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นบทเรียนสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยนำมาเทียบกับประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่พัฒนาควบคู่กันมา ความแตกต่างอย่างแรกคือแรงงานของมาเลเซีย 80% อยู่ในระบบ ขณะที่ของไทยนั้นอยู่ในระบบยังไม่ถึงครึ่ง อีกทั้งความเหลื่อมล้ำในมาเลเซียก็ยังน้อยกว่าไทย

นอกจากนี้ การเมืองของมาเลเซียในช่วงที่มีการเติบโตสูงยังเกิดจากแนวร่วมทางการเมืองที่เข้มแข็งและมีทิศทางค่อนข้างชัดเจน โดยมีแนวโน้มในการดำเนินการปฏิรูประยะยาวในระดับภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่องกับยาง (แม้จะมีปัญหารูปแบบอื่นเกิดขึ้นตามมาแทน เช่น การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ)

ขณะที่ประเทศไทยยังมีกลุ่มผลประโยชน์ที่กระจัดกระจาย ขาดกลุ่มก้อนทางการเมืองที่มีความเป็นสถาบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจนอกระบบที่สูง ความไม่เป็นกลุ่มก้อนนี้ไปจำกัดการพัฒนาสินค้าสาธารณะ การปฏิรูป และการลงทุนที่จำเป็นต่อการยกระดับเชิงสถาบันและเศรษฐกิจ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประเทศไทยไม่มีแนวร่วมอัปเกรดประเทศไปสู่สถานะรายได้สูงเหมือนกับมาเลเซีย

ทิ้งท้าย

แม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้คงไม่ได้ให้คำตอบอะไรเป็นรูปธรรมกับประเทศไทยในการหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และบางส่วนก็อาจจะดู ‘ล้ำ’ ไปหน่อยในเชิงตรรกะเหตุผล แต่ผมคิดว่านี่เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ช่วยชี้ให้เห็นถึงจุดบอดในวิธีคิดเรื่องนโยบายยกระดับเศรษฐกิจที่ไม่มองปัจจัยทางการเมือง และเป็นโจทย์ที่สังคมไทยควรช่วยคิดและสร้างสัญญาประชาคมทางเศรษฐกิจใหม่ร่วมกัน

การหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ไม่ใช่เรื่องของการขยายปริมาณอีกต่อไป แต่เป็นการเพิ่มคุณภาพในวงกว้าง ซึ่งทำได้ยากกว่าเดิมมาก ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจจึงต้องเน้นเรื่องการสร้างขีดความสามารถและประสิทธิภาพองค์กรที่นำไปสู่ผลลัพธ์จริงหน้างาน มากกว่าการจัดการสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนอย่างที่ทำกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทโลกใหม่ที่เงินทุนมีขา ย้ายที่ได้เร็ว เทคโนโลยีพร้อมซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ และมีงานแบบใหม่ๆ ที่พร้อมพาคนออกจากระบบ ซึ่งทำให้งานของพวกเรายากกว่าประเทศที่เขาพัฒนาไปสู่ประเทศร่ำรวยไปในศตวรรษก่อน

References
1 ปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 7,260 ดอลลาร์ต่อปี (Atlas Method) กลุ่มประเทศที่เข้าสู่ประเทศรายได้ระดับสูงในอดีต ใช้เวลาอยู่ในช่วงรายได้ 2,000-7,500 ดอลลาร์ต่อปีเป็นเวลาเฉลี่ย 28 ปี และอยู่ในช่วง 7,500-11,500 ดอลลาร์ต่อปีอีกประมาณ 14 ปี หมายความว่าประเทศเหล่านั้นใช้เวลาในช่วงรายได้ปานกลางราว 42 ปี
2 งานวิจัยด้านกับดักรายได้ปานกลางมักจะพูดถึงปัจจัยเหล่านี้มาตลอด อย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปี เช่น Thailand in a Middle-Income Trap, ก้าวข้าม Middle Income Trap: บทบาทของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน, กับดักรายได้ปานกลางและมาตรการภาครัฐในการแก้ไข, Thailand’s Path to Economic Recovery and Advancement: Diagnostic Study on the Middle Income Trap and Prospects for Post-Covid Economic Growth
3 Doner, Richard F., Ben Ross Schneider. (2016). The Middle-Income Trap: More Politics than Economics. World Politics 68, no.4 (October 2016), 608-44.
4 แม้ว่าบางอย่างจะไม่สามารถอธิบายเศรษฐกิจไทยได้ตรงๆ แต่เศรษฐกิจไทยโดยรวมคล้ายคลึงกับแบบแผนของประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางทั่วไปอยู่มาก

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save