fbpx
การเมืองในสมัยพระนารายณ์: ความขัดแย้ง ฝรั่งเศส และผังล้มเจ้า

การเมืองในสมัยพระนารายณ์: ความขัดแย้ง ฝรั่งเศส และผังล้มเจ้า

พลอย ธรรมาภิรานนท์ เรื่อง

นาทีนี้คงจะไม่มีกระแสใดมาแรงไปกว่าละครเรื่องบุพเพสันนิวาส  ปรากฏการณ์ “ออเจ้าฟีเวอร์” ทำให้คนจำนวนมากแห่ใส่ชุดไทยไปเที่ยววัดไชยวัฒนาราม ทำให้มะม่วงน้ำปลาหวาน ทองหยิบ และหมูโสร่ง กลายเป็นเมนูอาหารยอดฮิตในชั่วข้ามคืน ทั้งยังทำให้ถนนในกรุงเทพฯ คืนวันพุธและพฤหัสบดีโล่งชนิดที่ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนไหนก็ทำไม่ได้

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บุพเพสันนิวาสถูกใจคนทั่วทั้งพระนคร คือการดำเนินเรื่องผ่านประวัติศาสตร์การเมืองในรัชสมัยของพระนารายณ์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งของอยุธยา และก็เป็นในส่วนนี้เองที่ผู้เขียนเห็นว่าละครนั้นน่าสนใจ เพราะบุพเพสันนิวาสไม่ได้ตีความประวัติศาสตร์ตามแบบที่คนไทยคุ้นเคย กล่าวคือ ไม่ได้ให้ภาพว่าใครเป็นฝ่ายถูก-ผิด หรือดี-ชั่วอย่างชัดเจน แต่เปิดช่องให้คนดูตีความตัวละครสำคัญต่างๆ เช่น พระนารายณ์ ฟอลคอน หรือออกพระเพทราชา ด้วยตนเอง

บทความนี้จึงจะสำรวจว่า นอกจากการมองประวัติศาสตร์การเมืองสมัยพระนารายณ์แบบเดิมแล้ว เราจะอธิบายการเมืองอันเข้มข้นในสมัยของพระนารายณ์ได้อย่างไร

แบบเรียนสังคมศึกษาของไทยเล่าประวัติศาสตร์การเมืองในสมัยพระนารายณ์ว่าการเข้ามามีอิทธิพลของฝรั่งเศสในอยุธยานั้น มีที่มาจากพระปรีชาสามารถของพระนารายณ์ ที่ต้องการนำฝรั่งเศสมาคานอำนาจกับฮอลันดา[1] โดยนโยบายเปิดประเทศทำให้การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างมาก และยังทำให้อยุธยาได้รับวิทยาการทันสมัย เช่น การสร้างป้อมปราการ และวิทยาการทางดาราศาสตร์ จากฝรั่งเศสด้วย

ส่วนอิทธิพลอันล้นเหลือของฝรั่งเศสในอยุธยา ที่กลายเป็นภัยคุกคามและนำไปสู่การรัฐประหารในภายหลังนั้น มีก็องสตังซ์ ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ชาวต่างชาติเชื้อสายกรีกคนสนิทของพระนารายณ์ เป็นกุญแจหลัก กล่าวคือ ฟอลคอนนั้นเป็นนักฉวยโอกาสชาวต่างชาติที่ต้องการครอบครองอยุธยา จึงดำเนินนโยบายที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ฝรั่งเศสจนเกิดความขัดแย้งขึ้นในอยุธยา และชักจูงให้พระนารายณ์เข้ารีตเปลี่ยนศาสนา (แต่พระนารายณ์ก็ไม่ได้เพลี่ยงพล้ำเข้ารีต) ทั้งยังมีส่วนในการนำทหารฝรั่งเศสหลายร้อยนายเข้ามายังอยุธยา จนสุดท้ายพระนารายณ์ผู้ไม่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของฟอลคอนและฝรั่งเศส ต้องยอมให้ทหารฝรั่งเศสครองป้อมเมืองบางกอกและมะริดเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง

อย่างไรก็ตาม หลักฐานใหม่ทางประวัติศาสตร์ชี้ว่า ฮอลันดาไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่ออยุธยาทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง[2] โดยการค้าของฮอลันดาในอยุธยาเริ่มถดถอยลงตั้งแต่ก่อนทศวรรษ 1680 ในขณะที่ความสัมพันธ์ด้านการทูตก็ยังเป็นไปด้วยดีจนหมดรัชสมัยของพระนารายณ์ จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องนำฝรั่งเศสเข้ามาคานอำนาจกับฮอลันดา ยิ่งไปกว่านั้น กลับเป็นพระนารายณ์เองด้วยซ้ำที่อนุญาตให้ฝรั่งเศสเข้าครอบครองป้อม ทั้งที่ฝรั่งเศสเองก็ยังไม่ได้มีท่าทีสนใจในภูมิภาคนี้มากนัก

ถ้าเช่นนั้น เราจะอธิบายการเข้ามาของฝรั่งเศส สถานการณ์การเมือง และการรัฐประหารในปลายรัชสมัยของพระนารายณ์ได้อย่างไร?

ในระยะหลัง ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองสมัยพระนารายณ์เสนอว่า การที่พระนารายณ์ให้ความสนใจฝรั่งเศสเป็นพิเศษ ตลอดจนการรัฐประหารในท้ายรัชสมัยนั้น แท้จริงแล้วเป็นผลมาจากการเมืองภายในราชสำนักนั่นเอง โดยในรัชสมัยของพระนารายณ์ บ้านเมืองไม่ได้สงบร่มเย็นมากนัก แต่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองภายใน ซึ่งมีต้นเหตุมาจากปัญหาที่กษัตริย์อยุธยาทุกรัชสมัยต้องเผชิญ นั่นก็คือการสืบราชสมบัติ

หากพิจารณาตั้งแต่ต้นรัชสมัย จะพบว่าความขัดแย้งทางการเมืองในราชสำนักไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะตัวพระนารายณ์เองนั้น ได้ร่วมมือกับพระศรีสุธรรมราชาผู้เป็นอา ทำรัฐประหารชิงอำนาจจากเจ้าฟ้าไชยผู้เป็นพี่ชายต่างมารดา โดยให้พระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชย์ก่อน เนื่องจากพระศรีสุธรรมราชาค่อนข้างอ่อนแอ การรัฐประหารและครองราชย์โดยพระศรีสุธรรมราชาจึงได้รับแรงสนับสนุนจากขุนนางฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ควบคุมไพร่โดยตรง ด้วยหวังว่าจะสามารถมีอำนาจเหนือพระศรีสุธรรมราชาได้ หลังจากนั้นพระนารายณ์จึงร่วมมือกับขุนนางฝ่ายชำนาญการ ซึ่งส่วนมากเป็นชาวต่างชาติที่มีอาวุธครบมือ ล้มล้างพระศรีสุธรรมราชาอีกทอดหนึ่ง

ตลอดรัชสมัย พระนารายณ์ยึดกลุ่มขุนนางฝ่ายชำนาญการที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกษัตริย์โดยตรงเป็นฐานอำนาจ เนื่องจากขุนนางเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติหรือมีความสัมพันธ์กับประชาคมต่างด้าว ซึ่งมีทั้งกำลังอาวุธ กำลังคน และความชำนาญพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้น ขุนนางต่างด้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ยังมียศไม่สูงนัก ก็ยังไม่มีรากฝังลึกในสังคม ไม่มีความสัมพันธ์ยึดโยงกับระบบไพร่ที่ถูกควบคุมโดยขุนนางฝ่ายปกครอง จึงต้องอาศัยบารมีของพระนารายณ์เป็นที่พึ่งพิงสำหรับความเจริญก้าวหน้า

ในตอนแรก พระนารายณ์ใช้ประโยชน์จากพวกมัวร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่เพิ่งอพยพมาจากอิหร่าน เป็นฐานอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง[3] แต่หลังจากชาวอิหร่านหมดอำนาจลงเพราะแตกคอกันเอง พระนารายณ์ก็หันมาเจริญความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส ด้วยหวังว่าจะทำให้การค้าเจริญรุ่งเรืองขึ้น และจะสามารถนำกำลังพ่อค้าและทหารฝรั่งเศสมาเสริมกำลังทหารส่วนพระองค์ได้ ในการนี้ พระนารายณ์สนับสนุนให้ชาวฝรั่งเศสเข้ากุมตำแหน่งราชการ เหมือนที่เคยปฏิบัติกับพวกมัวร์ ตลอดจนให้การสนับสนุนบาทหลวงฝรั่งเศส ทั้งพระราชทานที่ดิน วัสดุ รวมไปถึงแรงงานในการสร้างโบสถ์

นอกจากการใช้ขุนนางชำนาญการและประชาคมต่างด้าวเป็นฐานอำนาจแล้ว พระนารายณ์ยังลิดรอนอำนาจขุนนางฝ่ายปกครองควบคู่ไปด้วย เนื่องจากขุนนางฝ่ายปกครองเป็นชาวอยุธยาซึ่งสืบเชื้อสายมาหลายชั่วอายุคน จึงมักมีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับการเมืองในราชสำนักอย่างลึกซึ้ง ทำให้ไม่เป็นที่น่าไว้ใจว่าจะแข็งข้อหรือก่อกบฏหรือไม่

ขุนนางฝ่ายปกครองนั้นถูกลดอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ในทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ของขุนนางฝ่ายปกครองลดลงเป็นอย่างมากจากการเข้ามามีอำนาจผูกขาดของชาวต่างชาติ และจากการริบสมบัติเมื่อกระทำความผิด ส่วนในทางการเมือง หากบางตำแหน่งที่มีอำนาจมาก เช่น พระยามหาอุปราช เจ้าพระยาจักรี (ตำแหน่งสมุหนายก) ว่างลง พระนารายณ์ก็ไม่แต่งตั้งขุนนางเข้ารับตำแหน่งนั้น แต่จะมอบภารกิจเป็นอย่างๆ ให้ขุนนางแต่ละคนไปทำ เพื่อป้องกันไม่ให้ขุนนางซ่องสุมหรือขยายกำลังพลได้ นอกจากนี้ พระนารายณ์ยังปกครองในลักษณะที่ทำให้ตำแหน่งขุนนางขาดเสถียรภาพ โดยขุนนางอาจถูกอาญา ถอดยศ หรือประหารได้ง่าย

นโยบายการปกครองดังที่กล่าวมา ทำให้พระนารายณ์ต้องเผชิญกับการต่อต้าน การวางแผนประทุษร้าย และการก่อกบฏ เป็นประจำตลอดรัชสมัย

ในช่วงทศวรรษ 1680 การปกครองของพระนารายณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหันกลับมาใช้นโยบายผูกขาดการค้าโดยเด็ดขาด การสนับสนุนคณะนักบวชจากฝรั่งเศสเป็นพิเศษ และการอนุญาตให้ทหารฝรั่งเศสเข้าประจำการที่ป้อมบางกอก[4] ส่งผลให้มีกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์มากขึ้น การต่อต้านและความขัดแย้งทางการเมืองภายในจึงรุนแรงขึ้นตามไปด้วย

กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์กลุ่มแรกก็คือชาวต่างชาติ โดยเฉพาะพวกมัวร์ ซึ่งถูกฝรั่งเศสแย่งผลประโยชน์ทางการค้าไป และยังต้องเผชิญกับความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากอิทธิพลของศาสนาคริสต์ด้วย ผลที่ตามมาก็คือ ชาวต่างชาติที่เคยเข้ามาตั้งรกรากเพื่อค้าขายต่างย้ายออกไปเมืองอื่น ในขณะที่พ่อค้ารายใหม่ก็เดินทางเข้ามาน้อยลงเรื่อยๆ การต่อต้านครั้งสำคัญของชาวต่างชาติคือเหตุการณ์กบฏมักกะสัน ซึ่งชาวมุสลิมได้ร่วมกับขุนนางบางส่วนก่อความวุ่นวายขึ้น ด้วยหวังว่าจะให้เจ้าฟ้าอภัยทศ น้องชายต่างมารดาของพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์แทน

การค้าที่ถดถอยซึ่งเป็นผลมาจากการย้ายออกของพ่อค้าชาวต่างชาติ ส่งผลกระทบไปยังประชาชนในวงกว้าง ไพร่จำนวนไม่น้อยไม่สามารถทำมาหากินได้จนต้องขายตัวเป็นทาส ส่วนการเข้ามาของทหารฝรั่งเศสก็ทำให้ประชาชนรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ จากการโดนดูถูกเหยีดหยามโดยชาวต่างชาติ เมื่อรวมกับความจริงที่ว่า พระนารายณ์ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนมากนักอยู่แล้ว เพราะประชาชนถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านและสงครามปราบกบฏบ่อยครั้ง ทั้งยังต้องเผชิญกับภาวะยากจนข้นแค้นจากสงคราม จึงส่งผลให้ประชาชนกลายเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มใหญ่จากนโยบายของพระนารายณ์

กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งก็คือคณะสงฆ์ หลังจากที่พระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ การต่อต้านพระนารายณ์ของคณะสงฆ์ก็เกิดขึ้น เมื่อพระสงฆ์ที่เข้าร่วมการกบฏถูกพระนารายณ์ปราบปรามอย่างรุนแรง และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากพระสงฆ์ไทยถูกบังคับสึกเพื่อใช้แรงงานในการสร้างป้อมปราการ โดยที่พระสงฆ์ชาวมอญไม่ได้โดนบังคับสึกแต่อย่างใด

กลุ่มสุดท้ายที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ ก็คือขุนนางฝ่ายปกครองซึ่งเสียผลประโยชน์มาโดยตลอด ในช่วงท้ายรัชสมัยของพระนารายณ์ อำนาจขุนนางฝ่ายปกครองอ่อนแอมาก ข้าราชการล้วนแตกความสามัคคีกัน จนไม่สามารถหาจุดร่วมในเรื่องของผู้สืบราชสมบัติได้

พระนารายณ์ แผนผัง ความสัมพันธ์

การประชวรหนักของพระนารายณ์นำไปสู่ศึกชิงราชสมบัติระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ พระปีย์ซึ่งเป็นราชโอรสบุญธรรมที่พระนารายณ์ชื่นชอบเป็นอย่างมาก และมีกำลังไพร่พลอยู่พอสมควรในแถบพิษณุโลก กลับไม่มีสิทธิในราชสมบัติ เนื่องจากพระราชธิดาซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระนารายณ์เช่นกันไม่ยอมสมรสด้วย แต่หันไปอภิเษกสมรสกลับเจ้าฟ้าอภัยทศ ผู้มีสิทธิธรรมในการสืบราชสมบัติแต่มีกำลังพลไม่มากแทน

ฝั่งขุนนางฝ่ายปกครอง ออกพระเพทราชาซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมช้าง มีไพร่ในสังกัดจำนวนมาก และไม่เคยถูกลิดรอนอำนาจโดยพระนารายณ์ ก็ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการนำทหารฝรั่งเศสเข้ามาในอยุธยา และมีเจตนาที่จะปลดปล่อยสยามจากอิทธิพลของฝรั่งเศส ออกพระเพทราชาจึงได้รับการสนับสนุนจากทั้งกลุ่มขุนนางและประชาชนพอสมควร

ท้ายที่สุด ออกพระเพทราชาซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคณะสงฆ์ ได้อาศัยพระสงฆ์เพื่อติดต่อและชักจูงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรัฐประหาร[5] และประสบความสำเร็จในการปลุกระดมให้ประชาชนหันมาจับอาวุธเพื่อปกป้อง “กษัตริย์และแผ่นดิน”  โดยความวุ่นวายที่ประชาชนก่อขึ้นนี้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ออกพระเพทราชาก่อรัฐประหารได้สำเร็จ เนื่องจากทำให้ฟอลคอนไม่สามารถยึดอำนาจได้ เพราะไม่มีอะไรรับประกันได้ว่ากองทัพฝรั่งเศสจะได้รับชัยชนะเหนือประชาชนจำนวนมาก ส่วนพระปีย์ก็ไม่สามารถยกกำลังพลจากพิษณุโลกมาได้ รวมทั้งตัวพระปีย์เองนั้น ก็มีสายสัมพันธ์แน่นหนากับฟอลคอนและฝรั่งเศส จากการที่ได้เข้ารีตเปลี่ยนศาสนาไปแล้วนั่นเอง

ข้อสรุปที่ได้จากบทความนี้มีสองประการ

ประการแรก คำอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองในสมัยพระนารายณ์ตามที่กล่าวมา ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานปัจจุบันมากกว่าคำอธิบายแบบเก่า ชี้ให้เห็นว่า การมองและให้ภาพผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นสีขาว-ดำ หรือการแบ่งฝ่ายเป็นพระเอก-ผู้ร้ายนั้น อาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก กรอบแนวคิดที่น่าจะเหมาะสมกว่าคือการมองบุคคลหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องในฐานะ ‘ตัวแสดงทางการเมือง’ ที่มีแรงจูงใจจะแสวงหาอำนาจทางการเมือง เพื่อรักษาหรือให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน

และ ประการที่สอง การเมืองไทยในสมัยปัจจุบันนั้น ไม่ได้แตกต่างจากการเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์มากเท่าไร

อ้างอิง

1. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน,

2. อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในพระราชประวัติสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป,

3. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,

เชิงอรรถ

[1] การศึกษาประวัติศาสตร์แบบเก่าชี้ว่า อิทธิพลของฮอลันดาทำให้ฮอลันดากลายเป็นภัยคุกคามต่ออยุธยา ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง โดยมีที่มาจากการที่ฮอลันดาบังคับให้อยุธยาลงนามในสนธิสัญญาการค้าปี 1664 ซึ่งมีข้อกำหนดสำคัญคือไม่อนุญาตให้อยุธยาใช้ลูกเรือชาวจีน และให้ฮอลันดาผูกขาดการค้าสินค้าบางชนิดในอยุธยา สนธิสัญญาดังกล่าวจึงทำให้อยุธยาเสียเปรียบ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ในขณะที่ฮอลันดาได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าและมีอำนาจเพิ่มขึ้นมาก

[2] สนธิสัญญาการค้าปี 1664 ไม่ได้มีเนื้อหาเอารัดเอาเปรียบอยุธยา แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกีดกันชาวจีนออกจากการค้ากับตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากในช่วงนั้นบริษัทการค้าของฮอลันดามีข้อขัดแย้งกับชาวจีน ส่วนข้อกำหนดอื่นๆ ก็ไม่ได้ส่งผลลบต่อการค้าการเดินเรือของอยุธยา ทั้งยังมีบางส่วนที่เป็นเพียงการยืนยันสิทธิที่ฮอลันดาเคยได้อยู่ก่อนแล้ว

[3] ในทางเศรษฐกิจ ภาษาและวัฒนธรรมของชาวมัวร์ช่วยให้การค้าในฝั่งมหาสมุทรอินเดียดีขึ้นอย่างมาก ส่วนในทางการเมือง ชาวมัวร์ก็สามารถเป็นกำลังคนให้แก่พระนารายณ์ได้ โดยมีหลักฐานชี้ว่า พระนารายณ์ได้จ้างทหารอิหร่านมาเป็นทหารรักษาความปลอดภัยส่วนพระองค์ด้วย ส่วนชาวมัวร์ก็ได้รับผลประโยชน์ต่างตอบแทนเป็นอำนาจผูกขาดในกิจการของรัฐหลายกิจการ และได้รับการสนับสนุนให้รับตำแหน่งราชการ ในฝ่ายชำนาญการและฝ่ายปกครองที่มีความสำคัญ เช่น เจ้าเมือง และอัครมหาเสนาบดีผู้ดูแลรับผิดชอบพระคลัง เป็นต้น

[4] การที่พระนารายณ์อนุญาตให้ทหารฝรั่งเศสเข้ามานั้น เห็นได้จากการที่พระองค์ให้การต้อนรับกลุ่มทหารด้วยเบียงอาหารเป็นอย่างดี ทั้งนี้เนื่องจากทหารที่เข้ามานั้นสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กองกำลังส่วนพระองค์ได้ และยังเป็นประโยชน์แก่เสถียรภาพของการเมืองภายใน เพราะทหารฝรั่งเศสในบางกอกซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอยุธยามากนัก ทำให้ขุนนางที่อยู่ในอยุธยาไม่สามารถทำรัฐประหารได้สะดวกอีกด้วย

[5] คณะสงฆ์มีบทบาทในการเมืองอยุธยาพอสมควร เพราะขุนนางฝ่ายปกครองสามารถขยายฐานอำนาจและสร้างพันธมิตรผ่านคณะสงฆ์ได้ง่าย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save