fbpx
อดีตและอนาคตในพานไหว้ครู

อดีตและอนาคตในพานไหว้ครู

อิสระ ชูศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ฤดูกาลไหว้ครูหลังการเปิดภาคการศึกษาภาคที่หนึ่งในปีนี้ การทำพานไหว้ครูประเภทความคิดสร้างสรรค์ของโรงเรียนมัธยมจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดพิษณุโลกได้ก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากพบว่ามีนักเรียนบางส่วนจัดทำพานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองร่วมสมัยที่กำลังเกิดอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบัน

ฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่า การแสดงออกของนักเรียนแสดงให้เห็นความใส่ใจเกี่ยวกับปัญหาสังคมในปัจจุบัน และสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ในการตีความสถานการณ์ทางการเมืองออกมาเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างน่าสนใจ ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มองว่าการแสดงออกของนักเรียนแสดงให้เห็นความไม่รู้จักกาลเทศะ และสะท้อนร่องรอยของการครอบงำทางความคิดของพรรคการเมืองบางพรรค หรือกระแสความคิดของคนรุ่นใหม่ที่อาจกำลังถูกล้างสมองอย่างน่าตกใจ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยได้ออกประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา ด้วยจุดยืนแบบไม่เห็นด้วยกับการทำพานไหว้ครูที่ไม่เป็นไปตามประเพณี ดังนี้ (การเน้นข้อความเป็นของผู้เขียน)

 

ขอความร่วมมือ

เรียน คุณครูที่ปรึกษาและครูผู้เกี่ยวข้องทุกที่ท่าน

เพื่อให้การไหว้ครูของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๒ เป็นไปตามขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมอันดีงามของเราชาวไทย ขอความกรุณาคุณครูช่วยกันอนุรักษ์และรักษาไว้ให้เป็นแบบอย่างที่ถูกต้อง ตามโบราณประเพณีที่สืบกันมา โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย จึงขอความร่วมมือคุณครูที่ปรึกษาและคุณครูที่เกี่ยวข้องช่วยให้คำซี้แนะ ปรึกษาหารือ ลูกศิษย์ของเราให้จัดพานไหว้ครูให้ถูกต้องตามวัฒนธรรมประเพณี ไม่ล้อเลียน เสียดสีหน่วยงานหรือสถาบันอื่น ให้เน้นกิจกรรมของการไหว้ครู ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณครู สมกับคำว่า “ศิษย์มีครู”

ขอขอบคุณอย่างสูงที่เราได้ช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามของเรา

กลุ่มบริหารกิจการนักเรียน

 

คำถามก็คือ ความหมายและเป้าหมายหลักของการพิธีไหว้ครูคือการอนุรักษ์โบราณประเพณี และการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณครูเท่านั้นหรือ?

การทำพานไหว้ครูประเภทความคิดสร้างสรรค์ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ แต่ก่อนหน้านี้การจัดทำพานในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ได้ก่อให้เกิดข้อครหาว่าเป็นการทำลายขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมอันดีงามของเราชาวไทยแต่อย่างใด รวมทั้งแบบอย่างที่ถูกต้องของการไหว้ครูในโรงเรียนสมัยใหม่ ก็ไม่น่าจะเป็นโบราณประเพณีที่สืบกันมานานนักหนา แต่เป็นการปรับใช้ประเพณีการนำพานดอกไม้ธูปเทียนไปกราบคารวะอาจารย์เพื่อขอเป็นศิษย์ ซึ่งมีมาก่อนจะเกิดระบบการศึกษามวลชนสมัยใหม่ในประเทศไทย

อย่างน้อยที่สุด บทไหว้ครูแบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ใช่ของเก่าแก่ถึงขั้นโบราณ แต่เป็นคำประพันธ์ที่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา แต่งให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ.2477 นี้เอง และถ้าเราอ่านบทไหว้ครูอย่างพยายามเข้าใจเนื้อหา โดยเอาอารมณ์หวนหาอดีตอันไกลโพ้นไปทดไว้ในใจเสียก่อน เราก็จะเห็นว่าเนื้อหาของบทไหว้ครูในปัจจุบัน ไม่ได้เกี่ยวกับการแสดงความ ‘กตัญญูรู้คุณครู’ อย่างเดียว แต่ยังสะท้อนให้เห็นผลการเรียนรู้ที่คาดหวังในฝั่งของผู้เรียน และประโยชน์ในอันที่ผู้เรียนจะพัฒนาตนเองเพื่อตอบสนองความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการศึกษามวลชนในสมัยใหม่ ไม่เหมือนการไหว้ครูแบบน้อมตัวขอเป็นศิษย์แบบดั้งเดิมเสียทีเดียว ดังนี้ (การเน้นข้อความเป็นของผู้เขียน)

 

ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์ ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าในกาลปัจจุบัน ข้าขอเคารพอภิวันทน์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาให้เกิดแตกฉาน ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี แก่ชาติและประเทศไทยเทอญ

 

เราจะเห็นว่าเนื้อหาช่วงต้น (ส่วนที่ไม่ได้เน้น) ของบทไหว้ครู เป็นการแสดงคารวจิตและความสำนึกบุญคุณแด่ครูผู้ล่วงลับและครูที่เป็นผู้อบรมสั่งสอนในปัจจุบัน แต่ในช่วงถัดมา เป็นการขอให้การตอบแทนบุณคุณครูและความเพียรของผู้เรียนเองส่งผลให้ผู้เรียนมีสติปัญญา สำเร็จการศึกษา เจริญด้วยอายุและศีลธรรม มีเกียรติและชื่อเสียง จนบังเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติในเบื้องปลาย

บทไหว้ครูข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์แบบครู-ศิษย์ ก่อให้เกิดประโยชน์สามส่วนคือ ครูได้รับความเคารพบูชาและกตเวที (การตอบสนองบุญคุณ) นักเรียนได้รับความรู้และสติปัญญา (ส่วนหนึ่งมาจากความพากเพียรเฉพาะบุคคล) และประเทศชาติได้ทรัพยากรมนุษย์ที่ดี (คนเก่ง-คนดี)

ตอนที่ผมเป็นเด็กประถม การทำพานไหว้ครูเป็นเรื่องสนุกสนาน เพราะมีเรื่องของการเตรียมดอกไม้ดอกไร่ตามข้อกำหนดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เด็กๆ จะต้องเสาะหาหญ้าแพรก ดอกมะเขือ ดอกเข็ม เอาไปช่วยกันทำพาน ข้าวตอกนั้นไม่ต้องกล่าวถึง เนื่องจากมันไม่ได้หาง่ายและต้องทำขึ้นมา เราก็จะถือวิสาสะข้ามมันไป แล้วไปเน้นที่หญ้าแพรกและดอกเข็มสีแดงสีเหลืองแทน ส่วนดอกมะเขือนั้นหาได้ก็ใส่ แต่ส่วนใหญ่จะหาไม่ค่อยได้ ผมมีความทรงจำลางๆ ว่าพยายามจะเอาดอกมะแว้งที่สีคล้ายๆ กันไปแทนดอกมะเขือ แต่จำไม่ได้แน่นอนแล้วว่าได้ทำจริงๆ หรือเปล่า ผมมีเหตุผลที่คิดแบบนั้นซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป

ส่วนพานธูปเทียนนั้นจะขอข้ามไป เพราะไม่ได้มีความหมายจำเพาะเจาะจงเกี่ยวกับพิธีไหว้ครูแต่อย่างใด

ผมจำได้ว่าเมื่อเริ่มเรียนแรกๆ ประกายความสนใจในพานไหว้ครูนั้นมาจากความหมายของหญ้าแพรก ดอกมะเขือ ดอกเข็ม และข้าวตอก ที่อยู่ในพานไหว้ครูนั่นเอง

หญ้าแพรกเป็นวัชพืชที่ถูกเหยียบย่ำอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยมีใครไปดูแลรดน้ำ แต่มันก็แตกยอดเขียวไปทั่ว การอธิบายความหมายของหญ้าแพรกในปัจจุบันจะพูดกันเรื่องความอดทนในการศึกษาเล่าเรียน

ดอกเข็มแทนสติปัญญาที่เฉียบแหลมเหมือนเข็ม ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่คาดหวังสำหรับผู้เรียน (ดอกเข็มนี้เป็นประติมาของเข็มเย็บผ้า และเป็นอุปลักษณ์ของปัญญาอีกต่อหนึ่ง : เข็ม > ดอกเข็ม > ปัญญาเฉียบแหลม)

ดอกมะเขือแทนความอ่อนน้อมถ่อมตน (ดอกมะเขือน้อมลงแทนที่จะชูขึ้นเหมือนดอกไม้อื่น) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ถูกให้คุณค่าตามมาตรฐานวัฒนธรรมไทย และเชื่อกันว่ามีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ (น้ำเต็มถ้วยไม่อาจเติมน้ำใหม่ลงไปได้ฉันใด คนที่เย่อหยิ่งว่าตัวเองเก่ง-ดีอยู่แล้ว ย่อมไม่อาจพัฒนาตนเองได้ฉันนั้น)

ข้าวตอกแทนความมีวินัยในตนเอง เพราะข้าวตอกที่กระเด็นออกนอกกระทะคั่ว ย่อมตกหล่นบนดินให้ถูกเหยียบย่ำจนสกปรกหาคุณค่าไม่ได้

ทั้งสี่อย่างนี้ คือเครื่องหมายที่นิยามพานไหว้ครูให้มีความหมายเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ที่คาดหมายของการศึกษา การแสดงความอ่อนน้อมและความกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์แต่เพียงลำพังไม่ใช่เป้าหมายของการไหว้ครู แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นปรัชญาการศึกษาของไทยที่มองว่าความอ่อนน้อมและการสำนึกในคุณค่าของ (ผู้ให้) ความรู้ ซึ่งเมื่อประกอบด้วยกับความเพียร ความอดทน และความมีวินัยในตนเองของผู้ศึกษาแล้ว ย่อมเป็นหนทางไปสู่การเป็นผู้รู้อย่างแท้จริง

ในตอนที่ยังเด็ก ผมเข้าใจว่าสัญลักษณ์ต่างๆ ในพานไหว้ครูเกี่ยวข้องกับการทำให้นักเรียนเรียนเก่ง ผมเลยเชื่อว่าดอกมะแว้งก็น่าจะใช้ได้เหมือนกัน เพราะหนามมะแว้งมันแหลมมาก

อย่างไรก็ตาม ความหมายของพานไหว้ครูและบทไหว้ครูที่ยกมาแสดงไว้ก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์สองทางที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยมีทิศทางเน้นไปในด้านความงอกงามทางสติปัญญาและคุณธรรมในฝ่ายศิษย์เป็นสำคัญเสียด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าเป็นพิธีไหว้ครูมีการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากพอสมควร (ผมของดเว้นไม่กล่าวถึงการไหว้ครูดนตรี-นาฏศิลป์ไทย อันเป็นพิธีกรรมไหว้ครูที่มีความซับซ้อน-ศักดิ์สิทธิ์ และอาจมีความหมายแตกต่างไปจากการไหว้ครูในโรงเรียนประถม-มัธยมสมัยใหม่โดยทั่วไป)

ความหมายเชิงเปรียบเทียบของวัตถุต่างๆ ในพานไหว้ครู รวมทั้งความหมายของบทไหว้ครู เป็นเพียงความเข้าใจร่วมที่ตกทอดมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน แต่จิตวิญญาณของการไหว้ครูก็คือความงอกงามของศิษย์ ไม่ใช่ความงอกงามของครู

กลับมาที่ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความเหมาะสม-ไม่เหมาะสม ของการทำพานไหว้ครูที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาขึ้นมาเนื่องจากคนนอกโรงเรียนเดือดเนื้อร้อนใจยิ่งกว่าครูและนักเรียนในโรงเรียนที่ปรากฏเป็นข่าวเสียอีก

ความไม่เดือดเนื้อร้อนใจของข้างต้นนั้นหมายความว่า การออกแบบและจัดทำพานไหว้ครูที่เป็นข่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความเห็นพ้องกันในระดับหนึ่งระหว่างครูและนักเรียน ในฝ่ายครูย่อมเห็นว่าการทำพานในลักษณะนั้นไม่ได้เป็นการละเมิดจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของพิธีไหว้ครู อันได้แก่ความงอกงามของศิษย์ในทางสติปัญญาและคุณธรรม ในฝ่ายศิษย์ย่อมเห็นว่าการทำพานในลักษณะนั้นไม่ได้เป็นการลบหลู่ครูบาอาจารย์หรือแสดงความไม่เคารพแต่ประการใด เพราะหากเป็นเช่นนั้นมันย่อมกระทบต่อความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันระหว่างครูและศิษย์

ในวงการศึกษาปัจจุบัน มีการพูดกันมากเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราเร่งในการเปลี่ยนแปลงความรู้ที่เป็นเนื้อหาของการจัดการเรียนการสอน แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยในการศึกษาเล่าเรียน ก็คือเป้าหมายในการสร้างความงอกงามทางสติปัญญาและคุณธรรมจริยธรรมในฝั่งผู้เรียน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการปลูกฝังความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์และประเมินค่า ตลอดจนถึงการใส่ใจในความเป็นไปของสังคม

การอนุญาตให้นักเรียนออกแบบและจัดพานไหว้ครูที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการวิพากษ์และประเมินค่าสถานการณ์ทางเมืองในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเครื่องช่วยขัดเกลาสติปัญญาและจิตใจของนักเรียนให้งอกงามขึ้นหรอกหรือ? การเปิดโอกาสให้นักเรียนใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ได้โดยไม่ขัดกับหลักศีลธรรม ไม่ใช่หน้าที่ที่ครูพึงทำหรืออย่างไร?

ภาพพานไหว้ครูที่เป็นรูปตาชั่งเอียงข้างไปด้านหนึ่ง ด้านที่เอียงนั้นมีตัวหนังสือเขียนว่า ‘250 เสียง’ ส่วนอีกด้านหนึ่งที่ลอยขึ้นมา มีตัวหนังสือเขียนว่า ‘หลายล้านเสียง’ โคนของเสาตาชั่งปักอยู่บนพุ่มดอกบ้านไม่รู้โรย เหนือพุ่มบานไม่รู้โรยมีดอกเข็มสีแดงล้อมรอบโคนเสาอีกทีหนึ่ง ด้านหน้าของพานติดพวงมาลัยดอกมะลิชายดอกรักที่มีดอกกุหลาบสีแดงห้อยตรงปลาย แน่นอนว่ามันคือพวงมาลัยที่เป็นเครื่องแสดงคารวจิตต่อครูบาอาจารย์ และถ้าเราถ้าตั้งใจพิจารณาภาพๆ นี้ให้ดี ก็จะเห็นยอดหญ้าแพรกหร็อมแหร็มปักแทรกไว้อยู่ในดงดอกเข็ม

ในสายตาของผม ภาพนี้มีทั้งเครื่องหมายที่แสดงความต่อเนื่องไม่ขาดสายของ ‘พิธีไหว้ครู’ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกันภาพนี้ก็แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดที่ครูเป็นผู้เปิดให้กว้างขึ้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักเรียนนี้คือปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้พวกเขามีโอกาสพัฒนาสติปัญญาให้งอกงามต่อไปในอนาคต

ทีแรกที่เห็นภาพนี้ ผมรู้สึกชื่นชมความออริจินัลของเด็กๆ และความพยายามในการสื่อ ‘สาร’ ของพวกเขาออกมาเป็นดีไซน์ที่ต่อยอดขึ้นมาจากดีไซน์ตามประเพณี หลายวันต่อมาผมกลับมาพิจารณาภาพนี้อีกครั้ง สิ่งที่ผม ‘เห็น’ ไม่ได้ปรากฏอยู่ในภาพ ผมเห็นความไว้ใจที่ครูให้กับศิษย์ ความใจกว้าง และความเชื่อมั่นว่าเด็กๆ จะไม่ใช้ความไว้ใจและความใจกว้างของครูไปทำสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์

ผมหลับตาเห็นครูที่ไม่ได้ให้เพียงให้ความรู้และความคิดแก่นักเรียน แต่ให้โอกาสพวกเขาเรียนรู้ด้วยการคิด

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save