fbpx
อ่านสถานการณ์การเมืองไทย เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

อ่านสถานการณ์การเมืองไทย เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

ตั้งแต่ต้นปี 2561 กองบรรณาธิการ 101 สำรวจสถานการณ์การเมืองไทย ในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งใหญ่ ผ่านการสัมภาษณ์หลากหลายตัวละครการเมืองไทย จากทุกขั้วความคิด เรารวบรวมบทสัมภาษณ์ทั้งหมดมาให้อ่านเตรียมเลือกตั้งกันอีกครั้ง!

 

คำต่อคำ : “การเมืองแห่งอนาคต” ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

 

โดย 101 One-on-One

เปิดตัวตน ความคิด และวิถีการเมืองของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” พร้อมตอบทุกคำถามเกี่ยวกับ “การเมืองแห่งอนาคต” และพรรคทางเลือกใหม่ที่กำลังจะเปิดตัว หลายทัศนะของเขาอาจทำให้คุณแปลกใจ

“ถ้าจะมีบางอย่างที่ทำให้สังคมไม่แตกหัก ไม่พัง คือพรรคทางเลือกใหม่ อนาคตใหม่ ถ้าคุณเลือกแบบเดิม คุณก็ได้วังวนแบบเดิม”

“ผมอยากชักชวนทุกคนที่เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับ กปปส. ให้หันกลับมายึดมั่นในการเมืองแบบรัฐสภาอีกครั้ง ถ้าการเมืองระบอบรัฐสภาเข้มแข็ง ผมเชื่อว่าเราแก้ปัญหาทุจริต แก้ปัญหาการลุแก่อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้”

“ถ้าผมจะบอกอะไรกับคนเสื้อแดงได้หนึ่งอย่าง ก็คือ ถ้าสิ่งที่คุณรักและหวงแหนคือผู้ชายที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร ผมอาจจะช่วยอะไรในลักษณะเฉพาะเจาะจงไม่ได้ แต่ถ้าสิ่งที่คุณรักและหวงแหนคือประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มาร่วมกับผม”

“คุณสามารถประยุกต์ใช้ blockchain ในการประชามติเรื่องนโยบาย เอาโครงการของภาครัฐทั้งหมดมาวางแผนให้เห็นว่าแต่ละโครงการมีต้นทุนในการก่อสร้างเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนคนชรา ทำฝาย หรือทำโรงเรียนเพิ่ม แล้วให้ประชาชนโหวตโดยตรง ผมเชื่อว่าเป็นไปได้”

“ปัญหาคอร์รัปชันแก้ได้ด้วย Open Data ถ้าคุณเชื่อว่ารัฐคือตัวแทนของประชาชน ข้อมูลที่ถูกผลิตออกจากรัฐทั้งหมดคือข้อมูลของประชาชน ที่ประชาชนต้องเข้าถึงและตรวจสอบได้”

“ผมเชื่อว่าความคิดที่ว่าการเมืองต้องใช้เงินเยอะมันเก่าไปแล้ว”

 

“วันนี้หมดเวลาของพวกเราแล้ว” – คุยกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เรื่องอดีตของไทยรักไทย ปัจจุบันของหมอเลี้ยบ และอนาคตของการเมืองไทย

 

โดย ทีมงาน The101.world

“วันนี้หมดเวลาของพวกเราแล้ว ได้เวลาที่คนรุ่นต่อไปจะเข้ามาทำการเมืองที่สร้างสรรค์ การเมืองแบบที่เราเคยอยากทำแต่ทำไม่ได้ วันนี้เราไม่มีพลังแล้ว ให้คนรุ่นใหม่ที่มีพลังได้เข้าไปออกแบบและกำหนดอนาคตของพวกเขาเองเถอะ”

หลังพ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ ‘หมอเลี้ยบ’ หนึ่งในแกนนำพรรคไทยรักไทยยุคก่อตั้ง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ก็ถอยห่างจากเวทีการเมืองไปอย่างเงียบๆ ร่วม 10 ปี

จนกลับเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งจำคุก 1 ปี จนกระทั่งได้รับการพักโทษออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560

ชีวิตทางการเมืองของ ‘หมอเลี้ยบ’ ผ่านประสบการณ์ทั้งแบบขึ้นสูงและลงสุดมาแล้ว แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญที่เจ้าตัวถือเอามาบั่นทอนชีวิตตัวเอง เขาบอกกับกองบรรณาธิการ 101 ว่า

“ตอนที่ถูกให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ผมไม่โกรธใครเลย คืนเดียวเท่านั้นที่ผมถามตัวเองว่าทำไมเข้ามาอยู่ที่นี่ ตื่นขึ้นมากลางดึกสองรอบ เหมือนฝัน แต่หลังจากนั้นไม่ได้คิดอะไรอีก ไม่มีแค้น ไม่มีไม่พอใจใคร ผมยังแปลกใจตัวเอง”

ในช่วงเวลาที่บรรยากาศทางการเมืองกำลังถูกปลุกเร้าให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง พรรคการเมืองทั้งหน้าใหม่และเก่าต่างทยอยเปิดตัวและเตรียมประกาศนโยบาย ทั้งหมดทั้งปวง ‘หมอเลี้ยบ’ เห็นอะไร

จากคนเดือนตุลา หมอนักวิชาการ สู่นักการเมืองดาวรุ่งที่มีส่วนสร้างพรรคไทยรักไทย และร่วมผลักดันนโยบายที่กลายเป็นขวัญใจมหาชนอย่าง ’30 บาทรักษาทุกโรค’

จากรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร ถูกยุบพรรคที่ร่วมสร้างมากับมือ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และถูกตัดสินให้เป็นนักโทษ จนถึงวันที่ได้รับอิสรภาพกลับมาเป็นพลเมืองธรรมดาคนหนึ่ง แม้จะพร่องสิทธิทางการเมือง

101 ชวน ‘หมอเลี้ยบ’ สนทนาเรื่อง ‘อดีต’ ของพรรคไทยรักไทย ‘ปัจจุบัน’ ของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ ‘อนาคต’ ของการเมืองไทย

ในวันที่เขาบอกว่า “หมดเวลาของพวกเราแล้ว”

 

ก่อนเซ็ตซีโร่ กกต.”ไม่มีใครสั่งผมได้” : สมชัย ศรีสุทธิยากร

 

โดย ธิติ มีแต้ม

101 ชวนอ่านบทสัมภาษณ์แบบเจาะลึกชิ้นสุดท้ายในฐานะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ถูกเซ็ตซีโร่ ด้วย ม.44 สดๆ ร้อนๆ

……….

หนึ่งในตัวละครที่สร้างสีสัน (สีไหนเติมกันเอาเองในใจ!) ในช่วงวิกฤตการเมืองไทยคือ สมชัย ศรีสุทธิยากร ภายใต้บทบาทกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

จาก กกต. ที่เคยถูกวิจารณ์ว่าไม่อยากจัดเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.พ. 2557 สู่ กกต. ที่ออกมาวิจารณ์ คสช. และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากถูกเซ็ตซีโร่

“จริงๆ แล้ว เขาอาจจะต้องการเอาผมออกคนเดียว แต่ไม่รู้จะเอาออกอย่างไร”

ธิติ มีแต้ม กองบรรณาธิการ 101 ชวน สมชัย ศรีสุทธิยากร มาตอบคำถามตรงๆ ในหลายเรื่องที่ค้างคาใจ

101 ถาม

“ย้อนไปช่วงเดือน ก.พ. 2557 ถ้าให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ให้สำเร็จ คุณคิดว่าจะแก้ไขอดีตอะไรได้ไหม เพื่อให้ภาพลักษณ์ กกต.วันนั้นไม่ต้องถูกมองว่าไม่อยากจัดเลือกตั้ง”

“คุณจำกรณีแยกหลักสี่วันที่ 1 ก.พ.ได้ไหม กปปส.ไปปิดล้อมสำนักงานเขตหลักสี่ก่อนเลือกตั้ง 1 วัน มีปะทะกัน มีมือปืนป๊อปคอร์น มีคนตายชื่ออะแกว แซ่ลิ้ว ที่ไม่เกี่ยวกับมวลชนทั้งสองฝ่าย คุณสรุปบทเรียนนี้อย่างไร”

“วันที่ 22 พ.ค. 2557 ในฐานะ กกต. ที่อยู่ในวงประชุมร่วมกับทุกฝ่ายวันนั้น คุณมองออกไหมว่าอะไรจะเกิดขึ้น บรรยากาศวันนั้นที่สโมสรทหารบกเป็นอย่างไร”

“จากวันนั้นมาถึงวันนี้ คิดว่า กกต.เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งไหม”

“ที่ผ่านมามีข้อโต้แย้งเรื่องซื้อสิทธิขายเสียงว่าไม่ค่อยมีผลเหมือนเมื่อก่อน เพราะชาวบ้านดูนโยบายมากกว่าเงิน การทุจริตการเลือกตั้งเปลี่ยนไปอย่างไร อะไรเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายสำหรับการเฝ้าระวังการเลือกตั้ง”

“ทำไมวันเลือกตั้งต้องห้ามขายแอลกอฮอล์ ถ้าเรามีสมมติฐานว่าคนมีสิทธิเลือกตั้งเขามีวุฒิภาวะที่จะกำหนดอนาคตตัวเองได้”

“วันเลือกตั้งที่หลายคนตั้งตารอว่าจะมีขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 คุณมองว่าช้าไปหรือเร็วไป”

“วินาทีนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งอะไรท้าทาย กกต. มากที่สุด”

“รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งที่สะสมมาได้ไหม”

มาฟังคำตอบจากปากคำของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ในแบบที่คุณไม่เคยได้ยินมาก่อนที่นี่!

 

 

David Streckfuss : การเมืองผิดเพี้ยน ในประเทศผุพัง

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

“ตอนนี้ประเทศไทยไม่มี politics ด้วยซ้ำ หรือถ้ามี มันก็เป็น absurd politics ไม่ใช่ popular politics” – คือข้อสังเกตของ ‘เดวิด สเตร็คฟัส’ นักวิชาการอิสระชาวอเมริกัน ผู้มาปักหลักอยู่ภาคอีสานกว่ายี่สิบปี

ประเด็นที่เขาศึกษาวิจัยและได้รับการยอมรับในวงวิชาการระดับโลก คือการเฝ้าติดตามสถานการณ์การใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ รวมถึงกฎหมายหมิ่นฯ ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยมีผลงานวิจัยที่ชื่อว่า ‘Truth on Trial in Thailand : Defamation, treason, and lese-majeste’ (2011) เป็นหมุดหมายสำคัญ

ในวันเวลาที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เรานัดหมายกับเดวิดเพื่อชวนคุยถึงอนาคตของสังคมไทย ภายใต้เงื่อนไขที่เขาบอกว่าเต็มไปด้วยความ ‘absurd’

“สิ่งที่คสช.ทำตอนนี้ เปรียบเหมือนการแสดงละครเรื่องประชาธิปไตยที่มีคณะละครตลกอันธพาลขึ้นมายึดเวที แล้วทำการแสดงเอง ปัญหาคือการแสดงละครของคณะนี้ไม่มีคุณภาพเลย ไม่ให้ความบันเทิงกับผู้ชมเลย ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังล็อคประตูโรงละคร แล้วบังคับให้ผู้ชมนั่งดูการแสดงอันน่าเบื่ออย่างทรมานต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าเรื่องจะจบตอนไหน…”

 

อนาคตสังคมไทยยามไร้ คสช. : พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ โฆษก คสช.

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“มีใครสามารถตอบได้ไหมว่าเราจะยุติความขัดแย้งความรุนแรงโดยอะไร ในช่วงจุดวิกฤตนั้นเมื่อสี่ปีที่แล้ว เราจะยุติเหตุการณ์ตรงนั้นอย่างไรก่อนที่ คสช. หรือกองทัพจะเข้ามา”

พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ. 11) ที่ทำหน้าที่ตั้งแต่ดูแลอำนวยความสะดวกกิจกรรมอาสาของทหาร ไปจนกระทั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายคดี ในฐานะโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถาม 101 เมื่อถูกถามถึงบทบาทของกองทัพในการเมืองไทย

จากเย็นย่ำวันที่ 22 พ.ค. 2557 สังคมไทยรู้จักเห็นหน้าเห็นตา คสช. เป็นครั้งแรก จากการกระทำรัฐประหารเข้าปกครองบ้านเมืองแทนรัฐบาลพลเรือน บนท้องถนนที่มีรถถังและกำลังพลควบคุมอำนาจเวลานั้น มาถึงวันที่น้องเกี่ยวก้อย มาสคอตอาสาลงเดินแจกเอกสารสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ก็เข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว

เมื่อบรรยากาศทางการเมืองเริ่มเดินหน้าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง อีกไม่นาน บทบาทของ คสช. อย่างเป็นทางการก็จะยุติลง ธิติ มีแต้ม กองบรรณาธิการ 101 ชวนโฆษก คสช. ประเมินการทำงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านการสร้างความปรองดองและการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

คสช. คิดอย่างไรกับแนวคิดลบล้างผลพวงรัฐประหาร การดำเนินคดีกับกองทัพ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

บุคลิก หน้าตา และจิตใจของสังคมไทยที่ คสช. อยากเห็นกับประชาชนอยากเห็นนั้นต่างหรือเหมือนกันหรือไม่

และหากถึงวันที่สังคมไทยไร้ คสช. ล่ะ ? – 101 อยากชวนจินตนาการถึงวันนั้นไปพร้อมๆ กันกับคำอธิบายของโฆษก คสช.

 

จากทหารถึงทหาร คำเตือนจาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร “ยิ่งลงช้าเท่าไหร่ ยิ่งมีวิบากกรรมมากเท่านั้น”

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“คณะรัฐประหารยิ่งลงช้าเท่าไหร่ ยิ่งมีวิบากกรรมมากเท่านั้น ความชอบธรรมเริ่มต้นก็ไม่มีอยู่แล้ว เหมือนเราเดินขึ้นบันไดสูงขึ้นเรื่อยๆ ความคาดหวังก็สูงขึ้น มันเลยเส้นที่เหมาะสมของการลงแล้ว ถ้าเกิดตกลงมาจะเจ็บมาก”

พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวกับ ธิติ มีแต้ม กองบรรณาธิการ 101

เขาเป็นบุคคลที่มีบทบาทในวาระสำคัญอย่างน้อยสองเรื่องในช่วงปี 2556-57 คือ หนึ่ง การเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ นำทีมข้าราชการระดับสูงบินไปมาเลเซียเพื่อหาทางสงบศึกกับขบวนการบีอาร์เอ็นที่มีอิทธิพลสร้างความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ และ สอง การต้องเผชิญหน้าและรับมือกับมวลมหาประชาชนที่ออกมาโค่นรัฐบาลพลเรือนที่ตัวเขารับหน้าที่ช่วยดูแลนโยบายด้านความมั่นคงอยู่

แน่นอนว่าโดยข้อเท็จจริง เรื่องแรกเขายังทำไม่สำเร็จ เรื่องที่สองก็อาจต้องยอมรับว่าพ่ายแพ้ ไม่อาจต้านทาน

หลังพ้นจากตำแหน่งด้วยเงื่อนไขพิเศษและอิทธิฤทธิ์ทางการเมือง เหมือนเขาไม่เคยละสายตาหรือนิ่งเฉยใส่สังคมไทย ยังเฝ้าดูการเปลี่ยนผ่านจากสังคมประชาธิปไตยมาสู่รัฐประหาร และกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากรัฐประหารไปสู่อนาคตที่ยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย

นี่เป็นหนังตัวอย่างความคิดความอ่านของเขาเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงที่ชายแดนใต้ การเมืองไทย และหัวจิตหัวใจของทหาร

“กองทัพพัฒนาการช้า สิ่งสำคัญคือเรื่องศรัทธาในประชาธิปไตย ต้องไปทำให้ทหารเข้าใจ รู้บทบาทหน้าที่ตัวเอง ต้องเป็นทหารอาชีพ ไม่ใช่ทหารการเมือง พอคุณเข้ามา คนตั้งข้อสงสัยเรื่องความเสียสละว่าใช่หรือเปล่า พอยึดอำนาจเสร็จ คุณเพิ่มอัตรา เงินทองก็เพิ่ม แล้วไปรบกับอริราชศัตรูที่ไหน”

“ถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะเข้าใจความจริงว่าประชาชนเขาให้โอกาสคุณครั้งนี้ครั้งสุดท้าย โอกาสครั้งสุดท้ายที่คุณจะชนะ ถ้าคุณไม่เดินให้เป็นประชาธิปไตย เท่ากับคุณหมดโอกาส ทักษิณก็จบ ปิดเกม”

 

พูดแบบรวบรัด ถ้าสังคมไทยไม่เคยปราศจากทหาร เมื่อทหารนั่งลงทำความเข้าใจทหารทั้งองคาพยพด้วยตัวเอง ก็น่ารับฟังอย่างยิ่ง

และบทสัมภาษณ์นี้คือ มุมมองของคนที่เคยเรียนจบโรงเรียนนายร้อยฯ ในยุคประชาธิปไตยเฟื่องฟู 14 ตุลาฯ และเกษียณอายุราชการในยุครัฐประหาร 2557

 

“ถ้าประชาชนไม่สนับสนุน เราก็ต้องยุติ” องอาจ คล้ามไพบูลย์ วัวงานผู้ภักดีของประชาธิปัตย์

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ก่อนจะเป็นลูกหม้อพรรคประชาธิปัตย์ “องอาจ คล้ามไพบูลย์” เคยทำงานบริษัทเอกชนด้านวิศวกรรม เขามีรายได้ในทศวรรษ 2520 ประมาณ 4-5 หมื่นบาท และมีรถประจำตำแหน่ง

ขณะที่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นักศึกษาส่วนใหญ่หนีเข้าป่ากัน เขาถูกชักชวนเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ เขาจึงตัดสินใจออกจากงานที่มีเงินเดือนหลายหมื่นมารับเงินเดือนแค่ 4-5 พันบาท และย้ายเวียนไปหลายค่ายหลายหัว เช่น ตะวันใหม่ มาตุภูมิ ชาวไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือพิมพ์แนวการเมือง

ภาพตัดกลับมาที่ปัจจุบัน วันนี้องอาจดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นนักการเมืองเก่าแก่ที่ยึดคะแนนเสียงพื้นที่เขตบางกอกน้อยมายาวนาน

ในวันเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ พรรคการเมืองถูกลดบทบาทจากกติการัฐธรรมนูญใหม่ อะไรคือโจทย์อันท้าทายของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ผู้คนไม่น้อยรวมถึงคนในประชาธิปัตย์เองก็ยังรู้สึกร่วมกันว่า ประชาธิปัตย์อยู่ในช่วงขาลงมานานแล้ว

101 พยายามชวนองอาจมองไปข้างหน้า สลับกับทบทวนอดีตที่ประชาธิปัตย์ผ่านพบ ตั้งแต่การเลือกตั้ง มวลชน กปปส. รัฐประหาร สารพัดคำวิจารณ์ และคนรุ่นใหม่ รวมถึงลูกสาวที่กำลังเติบโตซึ่งเปลี่ยนมุมมองตัวเขาไปไม่น้อย

นี่เป็นบทสัมภาษณ์นักการเมืองเลือดสีฟ้าในวัย 64 ปี ที่ลั่นวาจาระหว่างสนทนาว่า “ถ้าประชาชนไม่สนับสนุน เราก็ต้องยุติ”

 

เปิดใจ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาพรรคเพื่อไทย ในวันที่ถูกบีบจากอำนาจเก่า – ถูกท้าทายจากคนรุ่นใหม่

 

โดย ธิติ มีแต้ม

เมื่อเดือนก่อน นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงพรรคเพื่อไทย ลงในมติชนรายวัน ถามว่า “พรรคเพื่อไทยคิดจะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือไม่” และทิ้งท้ายว่า “พรรคเพื่อไทยพร้อมหรือยัง”

วันนี้ ธิติ มีแต้ม กองบรรณาธิการ 101 ชวน ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มาตอบคำถามสำคัญหลายข้อ

สำหรับพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุดมาตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร สร้างพรรคไทยรักไทย สู่พรรคพลังประชาชน จนถึงยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก

อะไรคือสิ่งที่พรรคการเมืองใหญ่พรรคนี้กำลังครุ่นคิดและเผชิญหน้า ตั้งแต่แรงบีบอัดของอำนาจเก่า การแข่งขันกับพรรคประชาธิปัตย์ บทเรียนจากกรณีนิรโทษกรรม และความท้าทายจากพรรคการเมืองรุ่นใหม่

 

สำรวจพรรคการเมืองสตาร์ทอัพ นับหนึ่งสู่การเลือกตั้ง

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ปี่กลองเลือกตั้งเริ่มดัง

ความหวังทางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าจะยึดอุดมการณ์แบบไหน เริ่มฉายไฟไล่ความกลัวที่ทำภาพการเมืองไทยมืดมนมานาน

ธิติ มีแต้ม กองบรรณาธิการ 101 ชวนสำรวจพรรคการเมืองใหม่ที่สร้างชีวิตชีวาและเตรียมเดินหน้าบนเส้นทางสายประชาธิปไตย
………………………………………

“การทำพรรคสามัญชนเป็นรูปธรรมที่สุดในการแก้ปัญหาของพวกเราตามระบอบกติกาประชาธิปไตย ชื่อพรรคสามัญชนจึงเป็นชื่อที่พวกเราอยากให้สะท้อนถึงความสามัญมากที่สุด ประชาชนทั่วไปที่ตระหนักว่าตัวเองเป็นคนธรรมดา ไม่ได้วิเศษกว่าใคร เชื่อเรื่องคนเท่ากัน เชื่อว่าสามัญชนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้” พนิดา บุญเทพ พรรคสามัญชน

“สาเหตุที่ต้องตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปขึ้นมา ก็เพราะปัญหาสังคมไทยส่วนหนึ่งมาจากพรรคการเมืองเป็นของนายทุนที่คุมอำนาจทั้งหมดเลย เป็นองค์กรเผด็จการ เราจึงรังเกียจพรรคการเมืองแบบนี้” ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาชนปฏิรูป

“มีที่ดินกว่า 36 ล้านไร่ คนอีก 17 ล้านคนอยู่อย่างผิดกฎหมาย รวมกลุ่มชาติพันธุ์อีกกว่า 6 ล้านคนรอการจัดการอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ที่ผ่านมาคนป่วยตายส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการกินอาหารที่มีสารพิษตกค้าง การปัญหาด้วยความรุนแรงของประชาชนต้องเปลี่ยน ผมอยากเห็นสันติภาพในทุกหน่วยของสังคม ผมอยากแก้เรื่องเหล่านี้” พงศา ชูแนม พรรคกรีน

“ผ่านมาเราแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการเมือง ด้วยกฎหมาย ด้วยทหารมาตลอด แต่ไม่เคยพยายามดึงศีลธรรมมาใช้ ทั้งที่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน” กรณ์ มีดี พรรคแผ่นดินธรรม

“ความท้าทายอีกเรื่องอยู่ที่ไอเดียและการใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติการจริง เพราะสังคมไทยมันซับซ้อน เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจกัน ผมว่ามันยากที่จะคุยกันแบบตัดผ่านไปที่ใจกลางของเรื่องได้ เช่น ฝ่ายอำนาจนิยมบางส่วนเริ่มไม่พอใจทหาร แต่เขายังเป็นอำนาจนิยมอยู่ แล้วเขาจะรับฟังพรรคเกรียนได้ไหม ไหนจะฝ่ายอนุรักษนิยมอีก มันซ้อนทับหลายชั้น แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว แต่สนุก” เดชรัต สุขกำเนิด พรรคเกรียน

 

เมื่อสามนักการเมืองรุ่นใหม่วิพากษ์วาทกรรมคุ้นหูของสังคมไทย

 

โดย ธิติ มีแต้ม

101 ชวน นลัทพร ไกรฤกษ์ พริษฐ์ วัชรสินธุ และณัฐพงษ์ ภูแก้ว สามนักการเมืองหน้าใหม่จากพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคสามัญชน มาขบคิดกับสารพัดวาทกรรมคุ้นหูในสังคมไทย ตั้งแต่เรื่องเกณฑ์ทหารเพื่อรับใช้ชาติ, กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่, ระบอบทักษิณ, ข่มขืนต้องประหาร ฯลฯ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save