fbpx
ตลาดการเมืองในโลกดิจิทัล

ตลาดการเมืองในโลกดิจิทัล

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

 

ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าหรือไม่ แต่การเลือกตั้งครั้งต่อไปของไทยจะเป็นการเลือกตั้งที่ ‘น่าสนใจ’ ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลยทีเดียว เพราะเป็นการเลือกตั้งท่ามกลาง 2 การเปลี่ยนผ่านใหญ่ของสังคมไทย

 

การเปลี่ยนผ่านแรกเป็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 7 – 8 ปี ย่อมมีความหมายเป็นธรรมดา (หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า เราเลือกตั้งครั้งสุดท้ายกันจริงๆ นี่คือปี 2011 นู่นเลยนะครับ!) ยิ่งถ้าเอาบริบทและสถานการณ์พิเศษของสังคมไทยมาวางซ้อนทับลงไปก็ยิ่งเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งมากขึ้น ดังที่บทสัมภาษณ์ของ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้ชี้ประเด็นไว้อย่างแหลมคมว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นภาพสะท้อนการจัดสรรอำนาจของสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่านสำคัญ

การเปลี่ยนผ่านที่สองคือ การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (digital transformation) พูดง่ายๆ คือ การเลือกตั้งครั้งต่อไปอยู่ในบริบทที่เทคโนโลยีแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร

อย่าลืมนะครับว่า หัวใจของการชนะการเลือกตั้ง คือ ‘การสื่อสาร’ นักการเมืองไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองอาชีพ หรือนักการเมืองในคราบทหารล้วนแต่ต้อง ‘หาเสียง’ เพื่อเอาชนะใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันมาเลือกตนทั้งนั้น ประเภทพูดจาเหมือนครูฝึกนักศึกษาวิชาทหาร หรือจองคิวพูดคนเดียวทุกวันศุกร์นั้นมีโอกาสตกม้าตายเอาง่ายๆ

โดยไม่ต้องเป็นกูรู ผมก็พอบอกได้ว่า การหาเสียงและการสื่อสารทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะต้องเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญด้วย โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไลน์ จะกลายเป็นสนามสำคัญของการหาเสียงในการเลือกตั้งและอาจมีผลชี้ขาดต่อการเลือกตั้ง (ในบางมิติ) เลยด้วยซ้ำ

อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เคยให้มุมมองไว้ว่า ตลาดการเมืองในอุดมคติเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนนโยบาย นักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นผู้ผลิตเมนูนโยบายเพื่อเสนอขายแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส่วนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้เสนอซื้อเมนูนโยบายด้วยการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ผู้ซื้อต้องชำระราคา (คะแนนเสียงเลือกตั้ง) ก่อน และได้รับการส่งมอบ ‘สินค้า’ (เมนูนโยบาย)

โจทย์ที่น่าคิดคือแล้ว การแลกเปลี่ยนระหว่างเมนูนโยบายและคะแนนเสียงในตลาดกลางเมืองดิจิทัลจะมีลักษณะอย่างไร

ลักษณะเด่นที่สุดประการหนึ่งของการซื้อขายในโลกออนไลน์ คือ การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคแล้วเสนอขายสินค้าและบริการที่เหมาะกับผู้บริโภคในระดับรายบุคคล (customization & personalization) คุณผู้อ่านหลายคนคงเคยได้ยิน ได้อ่าน หรือมีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในเฟซบุ๊กมาใช้ในการตลาดอยู่บ้าง เช่น ถ้าเรากดไลก์อะไร หรือเสิร์ชหาสินค้าอะไรอยู่ ไม่นานนักโฆษณาสินค้าและบริการเหล่านั้นก็จะมาปรากฏอยู่บนหน้าฟีดส์เฟซบุ๊กให้เราเลือก

การหาเสียงและการสื่อสารย่อมต้องถูก customized และ personalized เช่นเดียวกัน กล่าวคือ นักวางกลยุทธทางการเมืองจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างละเอียดว่ามีสนใจเรื่องไหน แคร์ประเด็นอะไร มีความคิดทางการเมืองแบบไหน และน่าจะชอบ ‘เมนูนโยบาย’ แบบใดเป็นพิเศษ จากนั้นนักการเมืองและพรรคการเมืองจะเลือกสื่อสารกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามความสนใจและรสนิยมแต่ละคน

อันที่จริง การสื่อสารทางการเมืองแบบ customized และ personalized ไม่ใช่เรื่องใหม่หรอกนะครับ เดิมทีนักการเมืองก็หาเสียงด้วยการเดินเคาะประตูบ้านกันอยู่แล้ว แต่ที่ใหม่และน่าตื่นเต้นจริงๆ คือ ขนาด (scale) ของการสื่อสาร ซึ่งทำได้ในระดับหลักหลายสิบล้านคน กับความแม่นยำ (accuracy) ของการวิเคราะห์ข้อมูล

เรื่องขนาดคงไม่ต้องกล่าวถึงมากนัก เพราะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า การสื่อสารในโลกออนไลน์นั้นสามารถทำได้อย่างกว้างขวางเพียงไร แต่ที่ผมคิดว่าน่าสนใจจริงๆ คือ ความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งก้าวหน้าและพัฒนาไปไกลมาก

ทุกวันนี้มนุษย์สร้างข้อมูลผ่านโลกดิจิทัลมากกว่า 500 MB ต่อคน/วัน ซึ่งเป็นข้อมูลปริมาณมหาศาลอย่างมาก มีคนเคยคำนวนไว้ว่า ถ้าเอาข้อมูลที่มนุษย์ทุกคนผลิตได้ต่อวันมาบันทึกลงกระดาษขนาดซองจดหมาย โดยใช้ตัวหนังสือ Time New Roman ขนาด 12 เว้นบรรทัด 1 บรรทัด จะผลิตกองข้อมูลที่สูงขนาดไปกลับดวงอาทิตย์ได้ถึง 4 รอบเลยทีเดียว ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ มนุษย์มีแนวโน้มที่จะสร้างข้อมูลในปริมาณเพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอด นิตยสาร The Economist ประมาณการไว้ว่า ในปี 2025 มนุษย์จะผลิตข้อมูลต่อวันเพิ่มขึ้นกว่า 1,024 เท่า นั่นคือ โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์จะสร้างข้อมูลเฉลี่ย 62 GB ต่อคน/วัน

การสร้างข้อมูลจำนวนมหาศาลหมายความว่า เราได้ทิ้ง ‘รอยเท้าดิจิทัล’ (digital footprint) ไว้เป็นจำนวนที่มาก พูดอีกแบบคือ การกดไลก์ ทวิต แชร์ โพสต์ อัพรูป เช็กอิน ใช้บัตรเครดิต การเสิร์ชหาข้อมูล เว็บบราวเซอร์ การใช้จีพีเอส ฯลฯ ล้วนแต่ทิ้งเบาะแสเกี่ยวกับตัวเราไว้ทั้งสิ้น ทั้งนี้ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม บางคนถึงขนาดบอกไว้เลยนะครับว่า ทางเดียวที่จะไม่ทิ้ง ‘รอยเท้าดิจิทัล’ ไว้ในโลกคือ การถอนตัวไปจากชีวิตสมัยใหม่เสีย

ในอีกด้านหนึ่ง เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล (big data analytic) ก็รุดหน้าไปมากและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ มีงานวิจัยที่พบว่า อัลกอริธึมใช้ข้อมูลการไลก์เพียง 10 ไลก์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กหนึ่งคนก็สามารถทำนายบุคลิกภาพของคนนั้นได้แม่นยำเท่าๆ กับเพื่อนร่วมงานของคนนั้นแล้ว และใช้เพียงแค่ประมาณ 70 – 100 ไลก์ก็สามารถทำนายบุคลิกภาพได้แม่นยำเท่ากับเพื่อนสนิทและสมาชิกในครอบครัว ในชีวิตของคนหนึ่งว่ากันว่า ‘คู่ชีวิต’ คือคนที่รู้จักบุคลิกภาพของกันดีที่สุด แต่อัลกอริธึมต้องการข้อมูลการไลก์เพียง 250 ไลก์เท่านั้นก็สามารถทำนายบุคลิภาพของเราได้ดีกว่าคู่ชีวิตแล้ว

เรามักคิดว่าตัวเองกดไลก์แบบสุ่ม (random) และไม่ได้มีความหมายอะไร แต่งานวิจัยชี้ว่า พฤติกรรมการกดไลก์ของเราไม่ได้มีรูปแบบที่ซับซ้อนมากนัก เช่น คนส่วนใหญ่จะไลก์โพสต์ทางการเมืองที่มีเนื้อหาตรงกับความคิดตัวเองเท่านั้น และแทบไม่มีใครเลยที่ไปกดไลก์ความคิดทางการเมืองที่ตรงข้ามกับตัวเองเลย นอกจากนี้ การขึ้นฟีดส์ของเฟซบุ๊กจะขึ้นเฉพาะสิ่งที่เราชอบยิ่งทำให้รูปแบบการกดไลก์ถูกเห็นชัดมากขึ้นด้วยมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ การใช้ไลก์เพื่อทำนายลักษณะส่วนบุคคลได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทั้งในแวดวงจิตวิทยาและการตลาด เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่มักกดไลค์อย่างเป็นธรรมชาติและไม่รู้ตัว ซึ่งแตกต่างจากวิธีการวัดผลแบบดั้งเดิมที่ใช้แบบสอบถามและผู้ตอบมักจะรู้ตัว

การกดไลก์เป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของข้อมูลที่ถูกนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมและบุคลิกภาพเท่านั้น มีงานวิจัยที่ชี้ว่า อัลกอริธึมสามารถวิเคราะห์ชุดของภาษาที่ใช้ในโลกออนไลน์เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออีเมล แล้วสามารถบอกทัศนคติทางการเมืองของผู้ใช้ว่ามีแนวคิดแบบเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยมได้อย่างแม่นยำ

ข้อมูลในโซเชียลมีเดียอื่นๆ ล้วนสามารถบอกตัวตนและรสนิยมของผู้ใช้ได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิเคราะห์รูปถ่าย เดิมทีเราเชื่อว่า การตัดสินคนจากหน้าตาเป็นการเหมารวมแบบมักง่าย (stereotype) แต่เทคโนโลยีใหม่ได้ทำให้ อัลกอริธึมสามารถวิเคราะห์บุคลิกภาพของบุคคลจากภาพถ่ายได้แล้ว เช่น สามารถวิเคราะห์ได้ว่า บุคคลในรูปถ่ายมีบุคลิกแบบ Introvert หรือ Extrovert หรือสามารถบอกได้ว่า บุคคลในรูปเป็นเกย์หรือไม่ (มีความแม่นยำ 70% ถ้าใช้รูป 1 รูป และมีความแม่นยำมากกว่า 90% เมื่อใช้รูป 5 รูป)

ไม่ใช่การพูดที่เกินจริงเลยนะครับถ้าจะบอกว่า อัลกอริธึมรู้จักเราดีกว่าที่เรารู้จักตัวเองด้วยซ้ำ และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่การวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้โซเชียลมีเดียจะถูกนำไปใช้ในการหาเสียงทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่ต้องคิดต่อมีอยู่ว่า ถ้าหากนักการเมืองและพรรคการเมืองสามารถวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนจนสามารถ customized และ personalized การหาเสียงและการสื่อสารทางการเมืองให้สอดคล้องกับรสนิยมของแต่ละคนได้จริง จะส่งผลต่อตลาดการเมืองในภาพรวมอย่างไร หรือถ้าพูดในภาษาแบบอาจารย์รังสรรค์คือ ตลาดการเมืองในโลกยุคดิจิทัลจะเป็นตลาดในอุดมคติที่การแลกเปลี่ยนระหว่างคะแนนเสียงและเมนูนโยบายเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ แค่ไหน และอย่างไร

ในระดับโลก มีการถกเถียงในประเด็นนี้อย่างกว้างขวางเลยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่มีข่าวบริษัท Cambridge Analytica แอบนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านรายไปวิเคราะห์พฤติกรรม รสนิยม และทัศนคติทางการเมือง และนำผลการวิเคราะห์ไปใช้กับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2016 จนมีส่วนทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง 2016 อย่างเหนือความคาดหมาย

เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความไม่พอใจต่อเฟซบุ๊กอย่างเป็นวงกว้าง #DeleteFacebook กลายเป็นแฮชแทกยอดนิยมในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2018 กระแสความไม่พอใจของเฟซบุ๊กรุนแรงถึงขั้นที่สภาคองเกรส คณะกรรมาธิการของรัฐสภาสหรัฐฯ ได้เรียกมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก เข้าไปชี้แจงเลยทีเดียว และมาร์คก็ต้องแถลงการณ์ขอโทษต่อสภาคองเกรสและให้สัญญาว่าจะให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

พร้อมกันนั้น ความกังวลถึงผลกระทบด้านลบของโซเชียลมีเดียต่อกระบวนการเลือกตั้งและประชาธิปไตยก็เพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน Samantha Bradshaw นักวิจัยของโครงการ Computational Propagada แห่ง Oxford Internet Institue ได้ออกมาเตือนว่า นักการเมืองและบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลกำลังทำให้กระบวนการเลือกตั้งและประชาธิปไตยถดถอย การวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลและเลือกสื่อสารกับเฉพาะบุคคลมีแนวโน้มที่จะบั่นทอนความสามารถของพลเมืองในการตัดสินใจทางการเมืองอย่างมีเหตุมีผล และทำให้สังคมต้องสูญเสียความไว้วางใจระหว่างกันในระดับรากฐานจนกลไกการต่อรองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมพังทลาย ผลลัพธ์สุดท้ายคือ สังคมแบ่งขั้วแยกข้างที่ยากต่อการหาฉันทามติร่วมกัน

ในความเห็นของ Samantha ภายใต้สิ่งแวดล้อมแบบนี้ การแพ้ชนะเลือกตั้งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคุณภาพของเมนูนโยบายที่นักการเมืองและพรรคการเมืองนำเสนอ แต่เป็นเรื่องของการใช้เงินซื้อข้อมูลส่วนบุคคลและบริการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นๆ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องผิดกฎหมายเสมอไป)

นอกจากนี้ การเลือกตั้งและกระบวนการลงประชามติสำคัญยังมีความเสี่ยงในการถูกแทรกแซงจากต่างประเทศอีกด้วย กรณีการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2016 ของรัสเซีย เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

พูดอีกแบบคือ Samantha มองว่า การ customized และ personalized มีแนวโน้มที่จะทำให้ข้อมูลสารสนเทศในตลาดการเมืองมีความไม่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและส่งผลให้การแลกเปลี่ยนในตลาดกลางเมืองถูกบิดเบือนไป

อย่างไรก็ตาม Michal Kosinski หนึ่งในนักวิชาการด้าน Computational Psychologist and Big Data ชั้นนำของโลกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ Cambridge Analytica ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า โดนัลด์ ทรัมป์ คือคนที่ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งนักเสรีนิยมที่ไม่ชอบทรัมป์ต้องการหา ‘แพะรับบาป’ สักหนึ่งตัวเพื่อมาอธิบายว่าทำไมคนอย่างทรัมป์จึงชนะการเลือกตั้ง Kosinsky ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2016 ฮิลลารี คลินตันก็ใช้เงินกว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการว่าจ้างบริษัทแบบเดียวกับ Cambridge Analytica ในขณะที่ทรัมป์ใช้เงินเพียงแค่ 40 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น และอันที่จริง นักการเมืองส่วนใหญ่ต่างก็ใช้วิธีการหาเสียงในลักษณะนี้ทั้งนั้น ดังจะเห็นว่า ไม่มีนักการเมืองชื่อดังแม้แต่คนเดียวที่ออกมาวิจารณ์กรณี Cambridge Analytica เลย

ผมควรเล่าด้วยนะครับว่า Kosinski เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาเตือนว่า ข้อมูลส่วนบุคคลในโลกออนไลน์มีโอกาสถูกเอาไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้ และก็เป็นตลกร้ายที่ Cambridge Analytica อ้างว่า พวกเขาใช้งานวิจัยของ Kosinski นี่แหละเป็นโมเดลต้นแบบในการทำงาน จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เขามีส่วนรู้เห็นในเรื่องนี้ แต่ Kosinski ก็ออกมาปฏิเสธแล้วพูดติดตลกว่า ในบรรดาบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลที่เขารู้จัก Cambridge Analytica น่าจะเป็นบริษัทที่ห่วยที่สุดแล้ว

Kosinski เห็นว่า Cambridge Analytica ทำผิดอย่างแน่นอน เพราะนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับการทำความเข้าใจพฤติกรรม บุคลิกภาพ ความต้องการ และรสนิยมทางการเมืองอย่างทะลุปรุโปร่ง แล้วนำมาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารทางการเมือง คำถามที่เขาชวนถกเถียงคือ การวิเคราะห์ custimized และ personalized การสื่อสารทางการเมืองเป็นเรื่องแย่จริงหรือ

สำหรับ Kosinski แล้ว สภาพนี้เป็น ‘ความจริง’ ที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะด้วยความก้าวหน้าทางเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลในปัจจุบัน แทบเป็นไปได้ไม่ได้เลยที่ข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่ถูกนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ ที่สำคัญคือต่อให้เราปฏิเสธความจริงนี้ได้ ก็ไม่ควรปฏิเสธ

ข้อเสนอของ Kosinski คือ ถึงที่สุดแล้ว คนที่เชื่อในคุณค่าของการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยต้องเข้าไปแข่งในสนามนี้ เขาชี้ว่า ตลาดการเมืองในโลกดิจิทัลเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่นักการเมืองจะสามารถนำเสนอนโยบายได้ตรงกับความสนใจและความต้องการของประชาชนได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม (engage) กับการเมืองมากขึ้นด้วย ในแง่นี้ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยจึงมีโอกาสที่จะมีคุณภาพมากขึ้น

ที่สำคัญคือ การทำ customized และ personalized การสื่อสารทางการเมืองสามารถมีคุณภาพมากขึ้น ถ้านักการเมืองและพรรคการเมืองรู้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแคร์ประเด็นอะไรเป็นการเฉพาะ พวกเขาสามารถสื่อสารในเชิงลึกกับแต่ละคนได้เลย ภายใต้วิธีคิดแบบนี้ ความต้องการของคนชายขอบมีความสำคัญมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่การหาเสียงแบบเดิมนั้นทำไม่ได้ เพราะเดิมนักการเมืองจำเป็นที่จะต้องสื่อสารแบบกลางๆ เพื่อดึงดูดคนกลุ่มใหญ่ให้ได้มากที่สุดและจำเป็นต้องทิ้งเสียงของคนชายขอบส่วนน้อยไป แต่เทคโนโลยีจะทำให้นักการเมืองสามารถสื่อสารกับคนกลุ่มใหญ่ตรงกลางและคนชายขอบไปพร้อมกันได้

นอกจากนี้ การสื่อสารในแพล็ตฟอร์มดิจิทัลใช้เงินทุนน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ เพราะสามารถสื่อสารได้ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพกว่าการสื่อสารแบบเดิมที่ต้องลงทุนแบบเหวี่ยงแห การใช้เงินทุนที่น้อยกว่าเป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองที่ไม่ใช่ชนชั้นนำสร้างฐานเสียงของตัวเองและสามารถเข้าสู่สนามการเมืองได้มากขึ้น

 

อ่านข้อถกเถียงประเด็นในเรื่องนี้เพลินๆ เงยหน้าขึ้นมาเจอข่าวคุณสุเทพกำลังร้องไห้แล้วอดนึกไม่ได้ว่า ตลาดการเมืองดิจิทัลเนี่ยควรเป็นโจทย์ที่สังคมไทยควรจะได้ถกเถียงกันนานแล้วนี่หว่า

เสียดายเวลา 4 – 5 ปีมานี่เป็นบ้าเลย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023