fbpx

‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น?’ : คุยกับเหล่าทายาทรุ่นใหม่ของนักการเมืองรุ่นเก่าในพรรคอนุรักษนิยม

ทายาทนักการเมือง

ในการเลือกตั้งระดับชาติ ปี 2566 กฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตได้รับความสำคัญมากขึ้น เพราะมีจำนวนที่นั่งในสภาถึง 400 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าแบบบัญชีรายชื่อ สังคมจึงได้เห็นพรรคการเมืองต่างๆ ดึงผู้สมัครจากมุ้ง กลุ่มก้อนทางการเมือง ผู้สมัครที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมาเสริมกำลังพล จนหลายพรรคถูกมองว่ามี ‘พลังดูด’  แต่นอกจากบรรดาผู้สมัครข้างต้น ยังมีอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับโอกาสคือ ‘ตระกูลการเมือง’ โดยพรรคการเมืองต่างหวังว่าทายาทหน้าใหม่จากตระกูลการเมืองจะเป็นตัวแปรคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้

ความเชื่อดังกล่าวสอดคล้องกับผลศึกษาในงานวิชาการชื่อ ‘ความได้เปรียบในสนามเลือกตั้งของทายาทตระกูลนักการเมือง (Advantages of dynastic candidates in an election)’  ของสติธร ธนานิธิโชติ โดยเขาเข้าไปศึกษาผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 พบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งในสมัยแรกนั้น เป็นทายาทของตระกูลการนักการเมือง ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยคะแนนนิยมโดยเฉลี่ยสูงกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่มีสายสัมพันธ์แบบตระกูลการเมือง

อีกทั้งเมื่อดูจากจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ในระบบแบ่งเขตของการเลือกตั้งครั้งนั้น พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 85 คน คิดเป็นร้อยละ 22.67 หรือมากกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนระบบแบ่งเขตทั้งหมดเพียงเล็กน้อย และในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่เหล่านี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีสายสัมพันธ์แบบตระกูลนักการเมือง จำนวน 37 คน (ร้อยละ 43.5)

งานชิ้นดังกล่าวของสติธรยังชี้ให้เห็นอีกว่า แม้การเป็นทายาทตระกูลนักการเมืองจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวและสำคัญที่สุด แต่นับเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ได้รับคะแนนเสียงจำนวนมาก และถึงจะผ่านพ้นช่วงเวลาการเลือกตั้งที่สติธรศึกษามาถึง 12 ปี แต่ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก็ตอกย้ำเช่นกันว่าทายาทนักการเมืองยังคงทรงอิทธิพลและมีแนวโน้มได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอยู่

101 สนทนากับ 3 นักการเมืองคนรุ่นใหม่ ทายาทตระกูลนักการเมืองในพรรคอนุรักษนิยม ประกอบด้วย พงศกร ขวัญเมือง (ลูกของอัศวิน ขวัญเมือง) จากพรรคประชาธิปัตย์, รัดเกล้า สุวรรณคีรี (ลูกของไตรรงค์ สุวรรณคีรี) จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และนิธิ บุญยรัตกลิน (ลูกของสนธิ บุญยรัตกลิน) จากพรรคพลังประชารัฐ ว่าพวกเขามองการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้อย่างไร อีกทั้งมีความคิดเห็นอย่างไรในประเด็นความได้เปรียบเสียเปรียบจากการเป็นทายาทของตระกูลนักการเมือง

นอกจากจะเป็นทายาทตระกูลการเมือง ความน่าสนใจอีกประการคือทั้งสามคนนี้เองก็เป็นหนึ่งในนิยามของ ‘คนรุ่นใหม่’ ซึ่งในยุคหลังการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563 ทำให้ทั้งสังคมมองว่าคนในวัยเดียวกับพวกเขามักมีแนวคิดแบบเสรีนิยม จึงอาจเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับใครหลายคนเมื่อทั้งสามคนตัดสินใจลงสมัครพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม

บทสนทนาต่อไปนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขามองประเด็นสังคมที่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันให้คุณค่าเหมือนหรือแตกต่างจากคนในวัยเดียวกันอย่างไร และหวังเห็นภาพประเทศไทยแบบไหนในวันที่คนรุ่นใหม่ทลายเพดาน

พงศกร ขวัญเมือง

เมื่อลูกเห็นต่างจากพ่อ เพราะ ‘การเมืองไม่ได้ทำให้คนคิดเหมือนกัน’

พงศกร ขวัญเมือง

“ก่อนหน้านี้คุณพ่อ (พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) เคยแนะนำให้ไปอยู่กับท่านที่พรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ผมเชื่อว่าการเมืองไม่ใช่การทำให้ผู้คนมีความเห็นที่เหมือนกัน แต่คือการเคารพในความคิดที่แตกต่างไม่ว่าความคิดนั้นจะสุดขั้วขนาดไหน ผมอยากให้ทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน ถึงแม้วันนี้ผมกับพ่ออาจจะมีความเห็นในประเด็นเส้นทางทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน แต่ผมก็เคารพในเส้นทางที่ท่านเลือก ผมก็รักท่านเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเช่นไรท่านก็คือพ่อของผม”

ในวันนี้ พงศกร ขวัญเมือง ลูกชายของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตัดสินใจก้าวขาเข้าพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มตัวในฐานะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผิดจากการคาดการณ์ของใครหลายคนว่าพงศกรจะต้องร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติตามเส้นทางของคุณพ่อ การอยู่คนละพรรคกับคนในครอบครัวทำให้เขาคิดว่าการเป็นทายาทนักการเมืองคงไม่ได้สร้างความได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการเมืองแต่อย่างใด ดังนั้นสิ่งที่เขาต้องทำในช่วงเวลานี้คือการเดินหน้าหาเสียงให้เต็มที่เท่านั้น

“หากวันนี้ลองเปรียบเทียบความแตกต่างด้านความคิดทางการเมืองระหว่างผมกับคุณพ่อคงชัดเจน เพราะท่านอัศวินก็เชื่อมั่นในตัวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนผมก็เชื่อในพรรคประชาธิปัตย์ สำหรับผมความแตกต่างทางความคิดในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องที่ดี เพราะนั่นแปลว่าเราเคารพซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างของกันและกัน”

การลงเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกของเขา เขาเล่าว่ารู้สึกแปลกและไม่คุ้นชินในหลายๆ อย่าง แต่ก็ดีใจเพราะที่ผ่านมาประชาชนต่างต้อนรับเป็นอย่างดี “เนื่องจากบางคนเคยเห็นผมในโทรทัศน์ บ้างก็เห็นตอนลงพื้นที่หาเสียงกับคุณพ่อช่วงเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร บ้างก็คุ้นเคยกับท่านอภิสิทธิ์ บ้างก็ชอบพรรคประชาธิปัตย์”

คนทั่วไปมักคุ้นเคยกับชื่อของ พงศกร ขวัญเมือง ในการทำงานส่วนท้องถิ่น อย่างตำแหน่งโฆษกของ กทม. แต่เมื่อมาลงเลือกตั้งในสนามการเมืองระดับชาติ พงศกรเล่าว่าทั้งสองตำแหน่งมีความแตกต่างกัน เพราะตำแหน่งโฆษก กทม. เป็นเพียงตำแหน่งลอย กล่าวคือไม่ได้มีอำนาจในทางกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอำนาจผ่านกลไกของรัฐสภา กรรมาธิการ และพรรคการเมืองในการผลักดันประเด็นต่างๆ สู่สาธารณะ ขณะเดียวกัน ภาพนักการเมืองในความคิดของพงศกรไม่ใช่อาชีพที่เข้ามาแสวงหากำไร แต่เป็นอาชีพอาสา ต่อมาคือต้องขับเคลื่อนตามอุดมการณ์ เพราะถ้าเกิดทำงานการเมืองอย่างไร้อุดมการณ์ก็ไม่ต่างอะไรจากคนที่คิดจะหาประโยชน์จากการเมือง

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ พงศกรมองว่า แม้คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้มีโอกาสเข้าไปรับบทบาทสำคัญทันที แต่พรรคก็เปิดโอกาสให้คนที่มีอายุน้อยลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ อีกทั้งไม่ได้กำกับว่าห้ามพูดประเด็นใดเป็นพิเศษเช่นกัน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีเจ้าของ กล่าวคือไม่มีใครสามารถสั่งใคร เราจึงเห็นภาพสมาชิกหลายท่านพูด(ความเห็นของตน) คนละแนวทางกับพรรค ประเด็นดังกล่าวหากเกิดขึ้นในพรรคอื่นก็คงจะถูกขับออก แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แน่นอนว่าถึงแม้พรรคจะมีสมาชิกที่มีประสบการณ์มากและเป็นที่เคารพรัก แต่หลายคนก็ใช่ว่าจะมีอำนาจสั่งการได้

ในด้านนิยามของคนรุ่นใหม่ พงศกรเห็นว่า “คำว่า ‘คนรุ่นใหม่’ ค่อนข้างนิยามยากสำหรับผม บางคนมองว่าอายุน้อยคือคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นการนิยามที่ง่ายที่สุด หากเราเชื่อเช่นนั้น พรรคการเมืองก็แค่นำคนที่อายุน้อยมาลงการเมืองก็นับว่าเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว แต่คำว่า ‘คนรุ่นใหม่’ สำหรับผม คือความคิดใหม่ๆ เห็นจากผู้นำโลกหลายๆ ท่าน ทั้งโลกเสรีนิยมและโลกสังคมนิยม หลายท่านก็มีอายุที่เยอะ แต่พวกเขาเหล่านั้นสามารถขับเคลื่อนการเมืองได้ท่ามกลางยุคที่มีเทคโนโลยีเข้ามา ผมจึงคิดว่าการเป็นคนรุ่นใหม่ทางการเมืองไทยไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีหลายพรรคที่พร้อมเปิดรับ เพียงแต่คนที่มีความคิดใหม่ๆ ต่างหากที่ค่อนข้างเกิดขึ้นยากและหายากในการเมืองไทย โดยเฉพาะความคิดที่หลายคนจะยอมรับ เพราะความคิดเหล่านี้มักจะมีแรงเสียดทานของสังคมสูงเช่นเดียวกัน”

พงศกร ขวัญเมือง

ทั้งนี้ ก่อนที่พงศกรจะตัดสินใจตบเท้าเข้าประชาธิปัตย์ก็มีโอกาสพูดคุยกับ 5 พรรคการเมือง บางพรรคเสนอให้ลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อ แต่มีข้อตกลงคือให้ช่วยเป็นตัวแทนพรรคสำหรับออกประชันวิสัยทัศน์ในเวทีดีเบต สำหรับเขาคงมีเพียง 3 เหตุผลหลักที่ทำให้ พงศกรตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์

1. พรรคการเมืองต้องเข้าใจเกี่ยวกับกรุงเทพมหานคร และสามารถผลักดันประเด็นต่างๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ก็มีกลไกทั้งในระดับ ส.ส. ส.ก. พงศกรจึงมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถรับเรื่องจากประชาชนและผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริงได้

2. ความเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ก่อนหน้านี้เขากังวลว่าต้องทำตามคำสั่งหัวหน้าพรรคหรือคนที่อยู่เบื้องหลังพรรคจนไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่สำหรับพรรคประชาธิปไตย์ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง แม้นโยบายบางอย่างอาจไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม แต่หากเป็นนโยบายที่ดีก็มีโอกาสได้รับการผลักดัน

3. ความเป็นสถาบันทางการเมือง แม้หลายพรรคจะกล่าวว่าเป็นสถาบันทางการเมือง แต่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในการเมืองไทยมากว่า 70 ปี และคงอยู่ต่อไปในอนาคต ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นพรรคที่มีความเป็นสถาบันทางการเมืองสูง ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ

ในฐานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พงศกรเข้าใจว่าคงหลีกหนีการตอบข้อวิจารณ์เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ เนื่องจากหลายฝ่ายต่างตั้งคำถามถึงจุดยืนของพรรค บ้างก็มองว่าเป็นนั่งร้านให้ระบอบประยุทธ์ บ้างก็มองไกลไปถึงว่าพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนการรัฐประหารด้วยซ้ำ เมื่อย้อนมองกลับไปในช่วงปี 2557 พงศกรกล่าวว่าตนเองแค่ไม่สนับสนุนการประกาศใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเกี่ยวกับคดีการทุจริต

“ต้องยอมรับว่าในช่วงนั้นพรรคประชาธิปัตย์หลายท่านก็ตัดสินใจลาออก เพื่อไปเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และหลายท่านที่ตัดสินใจวันนั้นก็ไม่ได้อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์แล้ว บางส่วนก็ไปตั้งพรรคอื่น ผมคิดว่าสังคมไทยต้องแยกระหว่างคนที่เป็นอดีตสมาชิกพรรค กับสมาชิกพรรคในปัจจุบัน”

ประเด็นความเป็น ‘อนุรักษนิยม’ พงศกรยังมองว่าเป็นเพียงคำคำหนึ่ง วันนี้คนอาจนิยามว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอนุรักษนิยมก็ย่อมได้ แต่ในด้านหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็ขับเคลื่อนแนวคิดเสรีนิยมตามคำนิยามหลักของพรรค เห็นได้จากพรรคก็เป็นส่วนหนึ่งใน ‘เครือข่ายของเสรีนิยมระดับโลก’ อีกทั้งผู้คนในปัจจุบันชอบจัดวางสเปกตรัมการเมือง

“สำหรับผม หลายคนก็อาจจะนิยามผมว่าอยู่ในกลางขวา หรือกลางซ้าย มันก็ถูกนิยามได้หมด”

‘คงไม่มีใครที่มีความคิดก้าวหน้าแต่ไม่อยากให้สังคมดีหรอก’ คือสิ่งที่พงศกรมองเมื่อถูกถามถึงปรากฎการณ์การตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เขากล่าวว่าการที่คนรุ่นใหม่มีความคิดก้าวหน้าเป็นเรื่องที่ดี ถึงแม้บางประเด็นเราอาจจะรับไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่าความคิดเหล่านี้จะสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้ สุดท้ายแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ว่าจะยอมรับได้มากขนาดไหน และดำเนินไปในทิศทางไหน

พงศกรมองตัวเองว่าเป็นหนึ่งในตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในการเมืองไทย และมองว่าการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่เช่นนี้เป็นเรื่องที่ดี รวมถึงไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เพราะช่วงปี 2535 คนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เราได้เห็นการแจ้งเกิดของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่อายุไม่ถึง 30 ปี อย่างน้อย 2 คน คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งยุคสมัยปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ยิ่งมีบทบาทการเมืองได้มากกว่าสมัยก่อน เพราะอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ บางคนแม้ไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่สร้างแรงสะเทือนถึงการเมืองได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

รัดเกล้า สุวรรณคีรี

การส่งต่อ ‘ทายาทเชิงอุดมการณ์’ จากไตรรงค์ สู่รัดเกล้า

รัดเกล้า สุวรรณคีรี

“ตั้งแต่ไหนแต่ไรก็มีหลายพรรคการเมืองติดต่อผ่านคุณพ่อ (ไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ว่าอยากให้เราไปช่วยลงพรรคโน้นพรรคนี้ แต่คุณพ่อก็ไม่เคยบังคับหรือบอกให้ไปพรรคไหน แม้กระทั่งพรรครวมไทยสร้างชาติเอง ทางคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เคยไปปรึกษากับคุณพ่อ แต่ประโยคที่คุณพ่อบอกคือ ไปถามเขาเองและให้เขาตัดสินใจ เขาโตแล้ว ชีวิตเป็นของเขา”

รัดเกล้า สุวรรณคีรี เล่าถึงคุณพ่อ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี นักการเมืองผู้คร่ำหวอดอยู่ในการเมืองไทยกว่า 30 ปี ในวันนี้ลูกสาวอย่างรัดเกล้า ตัดสินใจลาออกจากบริษัทเอกชนเพื่อมาทำงานการเมืองในพรรคการเมืองเดียวกับคุณพ่ออย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ เธอเล่าว่าการที่เธอเติบโตผ่านการมองแผ่นหลังของคุณพ่อในฐานะนักการเมืองมาโดยตลอดนั้น ทำให้รู้ว่าการทำงานการเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีโครงสร้างทางการเมืองที่ซับซ้อน และเป็นเรื่องยากที่คนดีจะทำตามความตั้งใจของตนเองได้

ทั้งนี้ เธอก็ยอมรับว่าเกิดความรู้สึกกดดันอยู่บ้างในการเข้ามาทำงานการเมืองของเธอครั้งนี้ เพราะมีความคาดหวังว่าเราต้องทำให้ได้ไม่มากไม่น้อยกว่าที่คุณพ่อของเธอทำ

“ส่วนประเด็นเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ สำหรับการเป็นทายาทนักการเมืองและมีนามสกุลอย่าง ‘สุวรรณคีรี’ คงได้เปรียบในตอนลงพื้นที่ เพราะเราก็แนะนำตัวเองว่า ชื่อ เนเน่ รัดเกล้า สุวรรณคีรี เป็นลูกสาวของ ดร.ไตรรงค์ ทำให้จากที่เขาเดินผ่าน ต้องหันกลับมามองว่าคนนี้เหรอ ลูกสาวของ ดร.ไตรรงค์ แต่ท่านไม่ได้ช่วยอะไร เพียงแต่ให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ ในประเด็นที่เราอาจจะไม่มีประสบการณ์ที่มากพอ ในการลงพื้นที่หรือการเมืองครั้งนี้ก็เป็นทีมงานทำเองเกือบทั้งหมด คุณพ่อไม่ได้เข้ามาออกแบบกลยุทธ์หรืออะไร อาจจะเพราะเราเองก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก การเติบโตในต่างประเทศสิ่งที่เขาปลูกฝังเราคือต้องช่วยเหลือตนเองได้ กล้าคิด กล้าทำ”

รัดเกล้าเล่าว่าก่อนหน้านี้เธอเกือบจะไม่ได้กลับมาที่ประเทศไทยแล้ว เพราะมีโอกาสได้ไปฝึกงานและทำงานในบริษัทเอกชนต่างประเทศ ด้วยความอยากก้าวหน้าทางอาชีพ เธอจึงมีความคิดว่าจะขอไม่กลับเมืองไทยแล้ว และนั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นน้ำตาจากคุณพ่อ

“ตอนนั้นตัดสินใจบอกคุณพ่อ วางแผนจะไปทำงานที่นั่นเลย ในวันนั้นคุณพ่อก็เงียบไปสักครู่แล้วก็มีน้ำตาออกมา ตลอดทั้งชีวิตไม่เคยเห็นคุณพ่อร้องไห้เลย วันนั้นเป็นวันแรกแล้วก็เป็นครั้งสุดท้ายที่เห็นน้ำตาของคุณพ่อ เพราะความเสียใจและผิดหวัง

“คุณพ่อให้เหตุผลว่า การที่พ่อแม่เลี้ยงลูกสักคนให้เป็นคนดีคือการลงทุน ที่ผ่านมาคุณพ่อและคุณแม่ก็ลงทุนกับตัวหนูเยอะ ให้โอกาสมากกว่าคนอื่นแยะ แต่ลูกกลับไม่คิดจะตอบแทนเลย พ่อไม่ได้คาดหวังว่าจะตอบแทนพ่อ แต่ต้องตอบแทนแผ่นดิน ใครก็ตามที่มีโอกาสได้ไปร่ำเรียนต่างประเทศ ได้เจริญก้าวหน้า สิ่งหนึ่งที่คนไทยทุกคนควรที่จะคิดได้คือการตอบแทนแผ่นดิน ทำอะไรก็ได้ที่มันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งคุณปู่เลี้ยงพ่อมาเช่นนี้ แต่พ่อเสียใจที่ลูกพ่อคิดไม่ได้”

เมื่อรัดเกล้าได้ยินเช่นนั้นจึงกลับมาคิดทบทวน และมองว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รับโอกาสในการทำงานและทำตามความฝันที่เพียงพอสำหรับเธอแล้ว เธอจึงตัดสินใจว่าทำตามคำที่พ่อเธอสอน บอกลาหน้าที่การงานในต่างประเทศแล้วกลับมาประเทศไทย รัดเกล้ามองว่าเธอเป็นเสมือน ‘ทายาทเชิงอุดมการณ์’ ของไตรรงค์และตระกูลสุวรรณคีรี เพราะได้รับรู้และรับฟังจากพ่อของเธอมาตลอด จนซึมซับและกลายเป็นตัวตนของรัดเกล้า อย่างไรก็ตาม เธอเน้นย้ำว่าการเข้ามาทำการเมืองเป็นความสมัครใจของตนเอง เพราะคิดว่าอยู่ในจุดที่มีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิเพียงพอที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติแล้ว

ในปัจจุบันรัดเกล้ามองว่าการเมืองไทยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มากขึ้น แต่สิ่งที่เธออยากบอกคนรุ่นใหม่คือ ความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมเป็นเรื่องที่ดี ทว่าต้องไม่ลืมบริบทรากฐานของความเป็นไทย และนี่คือสิ่งที่พรรครวมไทยสร้างชาติยึดถือ เป็นพรรคการเมืองที่รัดเกล้ามองว่าให้โอกาสคนรุ่นใหม่สร้างความเปลี่ยนแปลง และยังมีผู้มีประสบการณ์คอยให้คำแนะนำเรื่องความเป็นไทยแก่คนรุ่นใหม่ในพรรคที่อาจจะยังมองได้ไม่ครบทุกมิติ

แม้พรรครวมไทยสร้างชาตินั้นเป็นที่ชัดเจนว่าไม่ได้มีคนรุ่นใหม่เป็นฐานเสียงสำคัญ แต่ในฐานะคนรุ่นใหม่ในพรรคอย่างรัดเกล้ามองว่ายังมีคนรุ่นใหม่หลายคนที่พร้อมจะรับฟัง เธอเชื่อว่าช่วงที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และอยากรู้ว่าจะเลือกใครเพื่อให้ประเทศไทยดีขึ้น ปัจจุบันคนรุ่นใหม่อาจมีตัวเลือกยังไม่มากพอ จึงเป็นหน้าที่ของผู้สมัครที่ต้องสื่อสารออกไปว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ คืออีกหนึ่งตัวเลือกของพวกเขาเหมือนกัน

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายอาจมองว่าพรรครวมไทยสร้างชาติที่เกิดขึ้นใหม่ในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นพรรคเฉพาะกิจ และสืบทอดอำนาจจากขั้วอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร ข้อวิจารณ์ดังกล่าวรัดเกล้ากลับไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าการเป็นพรรคใหม่ไม่ได้หมายความว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจ พรรครวมไทยสร้างชาติมีเป้าหมายสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมือง หากสร้างพรรคขึ้นเฉพาะกิจเพื่อสืบทอดอำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องนำคนรุ่นใหม่และคนที่มากด้วยประสบการณ์ทั้งทางการเมืองและสังคมเข้ามาในพรรค เธอจึงมองว่าพรรครวมไทยสร้างชาติเป็น ‘พรรคศูนย์รวมคนรุ่นใหม่’ แต่ในด้านการทำงานนั้นอาจจะต่างกับพรรคคนรุ่นใหม่พรรคอื่น เพราะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่และคนที่มีประสบการณ์ ทางพรรคมองว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นคนได้คิด ทำ และเดินหน้า เพราะประเทศนี้คืออนาคตของเขา แต่ก็มิอาจมองข้ามคนที่สั่งสมประสบการณ์ทางสังคมและการเมืองได้เช่นกัน 

รัดเกล้า สุวรรณคีรี

ด้านประเด็นข้อวิจารณ์ต่อพรรครวมไทยสร้างชาติเกี่ยวกับการรัฐประหาร รัดเกล้าเสนอว่าต้องย้อนมองยุคสมัยขณะนั้นว่าหากไม่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คนไทยอาจจะฆ่ากันเองไปมากเท่าไหร่

“สงครามความขัดแย้งที่ยังเหลืออยู่คือสงครามสื่อ เราสู้กันด้วยข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ในปัจจุบันนี้มีการปลูกฝังความเชื่อว่า ‘รัฐประหาร’ ถูกผูกมัดกับเรื่องไม่ดี และความเชื่อดังกล่าวถูกผลิตซ้ำมาอย่างยาวนาน จนหลายคนเมื่อพูดคำว่ารัฐประหารจึงเป็นคำแง่ลบไป หากถามตนเอง รัฐประหารในช่วงเวลานั้นเป็นการช่วยให้คนไทยไม่ฆ่ากัน”

นอกจากนี้ เธอยังมองความขัดแย้งตั้งแต่สีเสื้อ ไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างช่วงวัยว่า คนไทยควรเลิกแบ่งได้แล้วว่า ใครคือพวกใคร หรือใครคือพวกเดียวกับฉัน ทุกคนต้องมีเป้าหมายที่เหมือนกัน คือต้องการทำให้ประเทศดีขึ้น แล้วจึงมาถกถึงแนวทางว่าแนวทางใดจะพาไปถึงเป้าหมายนั้นได้บ้าง

“ฉันเชื่อว่าในบางประเด็น คนที่มีความคิดก้าวหน้าเองก็เห็นด้วยกับความคิดของกลุ่มคนที่เป็นอนุรักษนิยม หรือบางทีคนที่อยู่ในพรรครวมไทยสร้างชาติเองก็เห็นด้วยกับบางประเด็นของคนที่มีความคิดก้าวหน้า ช่วงวัยก็เช่นกัน สิ่งที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องในบางประเด็น ถ้าลองฟังคนที่มีประสบการณ์ มีอายุ พวกเขาอาจจะเห็นด้วยก็ได้ เฉกเช่นเดียวกับที่หากคนรุ่นใหม่เปิดใจรับฟัง ก็อาจจะเห็นด้วยกับคนที่มีอายุได้”

เมื่อบทสนทนานำไปสู่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างช่วงวัย ก็ไม่อาจหลีกหนีการพูดคุยเกี่ยวกับข้อเรียกร้องในสังคมของคนรุ่นใหม่ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ ‘การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ โดยเธอประกาศจุดยืนก่อนการพูดคุยว่า เธอยืนหยัดและเคารพชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพราะเชื่อว่าประเทศไทยอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้เพราะ 3 สถาบันหลัก หากวันนี้ประเทศไทยขาดสถาบันใดสถาบันหนึ่งก็ไม่ใช่ประเทศไทย

“หลายๆ คนอาจมองโมเดลจากต่างประเทศ และรู้สึกว่าหากต้องการจะก้าวหน้าเหมือนพวกเขา ต้องปรับโครงสร้างสถาบันที่อยู่กับประเทศไทยมานานให้ทันสมัยมากขึ้น แต่ทำไมเราถึงไม่คิดในอีกมุมว่า พวกเราไม่ต้องตามคนอื่น ในเมื่อคนไทยมีความดี ความน่ารัก ซึ่งเป็นสิ่งที่คนต่างชาติเองก็ชื่นชม มีประโยคหนึ่งคือ ‘the grass is always greener on the other side of the fence’ อยากชวนคนรุ่นใหม่หันกลับมาคิดอีกครั้ง ลองมองว่าประเทศไทยมีดีอะไร ถ้าวันนี้มัวแต่ปักใจเชื่อและดูในสิ่งที่เราไม่ชอบ จะเห็นเพียงข้อเสีย อย่าต้องการแค่แก้ไข แต่ต้องคิดต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ของเราว่าจะสร้างความก้าวหน้าให้ประเทศไทยได้อย่างไร

“ในความจริงแล้ว ข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ได้สร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศไทย คนรุ่นใหม่นำพละกำลังและความคิดไปแก้ปัญหาอื่นๆ ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศดีกว่าไหม เช่น ปัญหาปากท้อง ความเป็นธรรมในมิติต่างๆ อย่ามาสู้กันในประเด็นที่ไม่ได้ทำให้ประเทศก้าวหน้าอะไร

“คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มหัวก้าวหน้านับเป็นเรื่องที่ดี หากถามว่าคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในพรรครวมไทยสร้างชาติมีคนที่มีความคิดก้าวหน้าหรือไม่ คำตอบคือ มี แต่เราคิดก้าวหน้าแบบที่ยังเหลียวหลังกลับมามองว่าเขาอยู่กันมาอย่างไร แบบนี้จึงเป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน หากวันนี้เรามีแต่เพียงความคิดก้าวหน้าโดยที่ไม่เหลียวหลังมามองประวัติศาสตร์ หรือบริบทของคนไทย แบบนี้เรียกว่าก้าวหน้าแบบลืมหลัง ถ้าจะบอกว่ากลุ่มคนลักษณะนั้นเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดก้าวหน้า ค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยไม่ได้มีเพียงคนรุ่นใหม่ แต่เรามีหลากหลายเพศ หลากหลายวัย หลากหลายความต้องการ การที่กลุ่มคนจะขึ้นมาบริหารประเทศโดยมองเพียงคนกลุ่มเดียวเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้”

“หากวันนี้คุณจะสู้เพื่อความเท่าเทียมกัน คุณยังเคารพความเท่าเทียมของกลุ่มคนอื่นๆ ที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประเทศมายังเป็นประเทศที่คุณอยู่ในทุกวันนี้แล้วหรือยัง” – นี่คือคำตอบสุดท้ายของรัดเกล้าที่เธอตอบในประเด็นมุมมองที่มีต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่

นิธิ บุญยรัตกลิน

ลูกผู้นำการรัฐประหาร ในวันที่รู้ว่า ‘การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง’

นิธิ บุญยรัตกลิน

“หากพูดตามตรงเลย ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยความที่คุณพ่อ (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน) ของผมเคยเป็นผู้นำการรัฐประหาร ทำให้มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ บางคนอาจจะยังมีความรู้สึกไม่พอใจกับเหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่บ้าง เราเป็นลูกก็หนีไม่พ้น ยังมีคนที่มองว่าเราเป็นลูกคนรัฐประหาร”

นี่คือมุมมองส่วนหนึ่งจาก นิธิ บุญยรัตกลิน ผู้เป็นลูกชายของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เกี่ยวกับความเห็นของประชาชนที่มีต่อเขาในการลงเลือกตั้งครั้งแรก

เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อกันยายน ปี 2549 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญและยังส่งผลสืบเนื่องต่อการเมืองไทยอย่างมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อนิธิผู้รับราชการทหาร เป็นลูกทหาร ตัดสินใจมาลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคพลังประชารัฐซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคทหาร จะมีทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถานะและจุดยืนของเขา

“ผมเข้าใจดีครับว่าประชาชนคาดหวังการเลือกตั้งครั้งนี้สูงมาก ดังนั้นผมจึงอยากขอโอกาสจากพี่น้องประชาชนทุกคน ให้โอกาสผมและพรรคพลังประชารัฐได้พิสูจน์ตัวเอง มองผมที่ลงสมัครในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่เคยเป็นทหาร แต่ตอนนี้ได้ถอดเครื่องแบบและลาออกมาแล้ว ส่วนคุณพ่อท่านเกษียณแล้วก็เป็นเพียงคุณปู่ของหลานๆ ก็ไม่อยากให้แบ่งแยกว่า ทหาร เป็นเผด็จการ”

ที่ผ่านมา นิธิเล่าว่าถึงแม้คุณพ่อของเขาจะเป็นนักการเมือง แต่เขาเป็นเพียงคนที่เติบโตมากับการเมือง ไม่ใช่บ้านใหญ่อะไร อย่างมากเขาก็เป็นเพียงแค่ลูกของบุคคลสาธารณะเท่านั้น ในตอนที่ตัดสินใจมาลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ เขาเล่าว่าปกติพ่อของเขาซึ่งเป็นคนที่พูดน้อยอยู่แล้ว ได้ให้คำแนะนำแก่ลูกชายเพียงสองประเด็น คือ หนึ่ง ต้องตั้งใจและอดทน สอง ต้องซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ความสุจริตเป็นดั่งเกราะคุ้มกันให้เราเดินไปข้างหน้าอย่างสง่าผ่าเผย ตัวคุณพ่อสนธิเคารพการตัดสินใจและสนับสนุนอยู่แล้ว

การเป็นลูกนักการเมืองคนหนึ่งที่เคยอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับว่าเป็นทั้งจุดดีและจุดด้อยสำหรับเขา นิธิขยายความว่า ในมุมดีคือเป็นต้นทุนทางสังคมที่ทำให้ประชาชนรู้จัก เวลาลงพื้นที่หาเสียงบางแห่งก็ให้การต้อนรับค่อนข้างดี แต่จุดด้อยคือบางคนอาจจะรู้สึกติดลบกับเขามากกว่าผู้สมัครหน้าใหม่คนอื่นๆ

แน่นอนว่าเมื่อมีโอกาสคุยกับนิธิ หากไม่ถามถึงความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ในฐานะลูกของหัวหน้าคณะรัฐประหารคงไม่ได้ นิธิเองก็ยินดีที่จะเล่าความทรงจำของเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ให้ฟังว่าเขาเพิ่งรู้ข่าวหลังเกิดรัฐประหารไปแล้วด้วยซ้ำ

“ผมขออนุญาตตอบเพียงการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ในฐานะลูกของคุณพ่อก็แล้วกันครับ ในฐานะคนใกล้ชิดเรารู้ว่าพ่อมีเจตนาดีครับ อาจจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เราเคารพความคิดเห็นของทุกท่าน แต่สิ่งที่ผมบอกได้คือ คุณพ่อมีเจตนาดีและไม่ได้ต้องการสืบทอดอำนาจอะไร เพียงแต่ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาจริงๆ

“หากถามว่าผมเห็นด้วยไหม ถึงวันนี้แล้วผมคิดว่าการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง บางทีอาจจะต้องปล่อยให้ประชาธิปไตยเรียนรู้และทำงานด้วยตัวเอง ไม่งั้นเมื่อเกิดการรัฐประหาร ผู้ก่อการก็เป็นคนผิดหรือไม่ก็เป็นคนไม่ดี สำคัญที่สุดคือคนไทยต้องสามัคคีกัน และช่วยให้ประเทศไปข้างหน้า

“ผมเชื่อว่าในปัจจุบันไม่มีไม่มีใครกล้ากระทำการรัฐประหาร พรุ่งนี้หากมีนายพลสักคนหนึ่งลุกขึ้นมาก่อการผมคิดว่าไม่มีใครกล้าทำแล้ว ก็ขอให้เอาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักและใช้การเมืองแก้การเมือง”

นิธิ บุญยรัตกลิน

สำหรับการตัดสินใจมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ นิธิมองว่าพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเวอร์ชันใหม่ เพราะมีทีมผู้บริหารพรรคจากหลากหลายที่มา อีกทั้งผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฎรในกรุงเทพมหานครเองก็แทบจะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ทั้งหมด เรียกว่าพรรคกำลังจะเปลี่ยนถ่ายเลือดเพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาขับเคลื่อนนโยบายด้วยกัน ตัวพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณเองก็เคยบริหารประเทศในฐานะรองนายกฯ มาก่อนหน้านี้ หากมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า พลเอกประวิตรในฐานะผู้นำประเทศน่าจะมีคาแรกเตอร์และการตัดสินใจต่างจากการสมัยนั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

ด้านความเคลื่อนไหวของขบวนการคนรุ่นใหม่ ส่วนตัวนิธิมองว่าคนรุ่นใหม่เกือบทั้งหมดมีเจตนาดี พวกเขาไม่ใช่คนชังชาติ เพียงแต่ต้องการเห็นอนาคตที่ดีกว่าของเขา เป็นกลุ่มคนที่เห็นโลกกว้างกว่า ทำให้กลับมาตั้งคำถามว่าทำไมประเทศที่พวกเขาอยู่ถึงไม่ดี ไม่มีคนรุ่นใหม่ที่หวังร้ายหรือคิดร้ายกับประเทศ เพียงแต่บางประเด็นอาจจะขัดแย้งกับฝ่ายอื่นๆ ดังนั้นต่างฝ่ายต่างต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน

“ประเทศไทยไม่ได้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างและรุนแรงเหมือนต่างประเทศ สุดท้ายประชาชนต้องการความเป็นอยู่ที่ดีครับ หากวันนี้ประเทศไทยเศรษฐกิจดี ผมว่าคนไทยก็เลิกต่อว่ากันแล้ว

“ในบรรดาพรรคการเมืองในประเทศไทย เอาเข้าจริงแล้วส่วนใหญ่จุดยืนและมุมมองไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ยกเว้นบางพรรคที่อาจจะเห็นไม่เหมือนกันหรือเกือบจะคนละฝั่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องแกติของการเมืองอยู่แล้ว สำหรับพรรคพลังประชารัฐเองในวันนี้ หากให้ผมลองนิยาม ผมจะนิยามว่าเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมก้าวหน้าครับ”

มองกระบวนการยุติธรรมอย่างไร ในยุคสมัยที่การเมืองไทยไร้เพดาน

ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองต่างถูกดำเนินคดี ทำให้พวกเขาหันกลับมาตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม กระทั่งระบบตุลาการว่าข้อกล่าวหาหลายครั้งนับเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ ในเมื่อเรามีโอกาสพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ทางการเมือง จึงหลีกเลี่ยงการถามมุมมองเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไม่ได้ ว่าพวกเขามองกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน และปรากฏการณ์การหันกลับมาตั้งคำถามของคนรุ่นใหม่อย่างไร

รัดเกล้า สุวรรณคีรี กล่าวว่ากฎหมายนั้นคือกฎเกณฑ์ที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อปกป้องคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครหรืออยู่ที่ไหน กฎหมายจึงเป็นเพียงเหมือนกระดาษที่ไม่สามารถกลั่นแกล้งใครได้ หากคนไม่ได้ทำผิดกฎหมายเสียเอง

“ถ้าคนไทยทุกคนเคารพและอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน ไม่ท้าทายหรือทำผิดกฎหมาย กฎหมายก็จะไม่มาทำอะไรคุณ หากวันนี้มีการกลั่นแกล้งกันจริง ก็อยู่ที่คนดำเนินคดี แต่วันนี้ต้องเริ่มหันกลับไปถามที่ตัวคุณเองก่อนว่าได้ท้าทายกฎหมายหรือไม่ เคารพกฎหมายหรือเปล่า หากวันนี้ท้าทายและไม่เคารพ จะมาบอกว่ากฎหมายที่เป็นกฎเกณฑ์ที่คนทั้งประเทศยึดมั่นมากลั่นแกล้งคุณ ต้องถามว่าตรรกะนี้ถูกต้องหรือไม่”

พงศกร ขวัญเมือง มองว่าประเด็นด้านกระบวนการยุติธรรมที่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามนั้น ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งพงศกรชี้ว่า มีสามประเด็นหลักที่สังคมต้องพูดคุยกัน คือ การถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ และบทลงโทษ ซึ่งทั้งสามประเด็นนี้นับว่าเป็นปัญหา ที่ผ่านมามาตรา 112 อนุญาตให้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้อย่างสุจริต เห็นได้จากหลายท่านที่ออกมาวิจารณ์อย่างสุจริตก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด หมายความว่ากฎหมายได้เปิดช่องให้สามารถวิจารณ์โดยสุจริต

แต่บางครั้ง เมื่อบางข้อวิจารณ์ไม่ได้มีข้อเท็จจริงและถูกนำไปร้องเรียนโดยประชาชนกันเอง การไม่มีคณะกรรมการอิสระมาพิจารณาโดยเฉพาะทำให้ข้อกล่าวหาถูกส่งต่อไปยังกระบวนการสอบสวนและสั่งฟ้องโดยอัยการทันที เขาจึงคิดว่ากระบวนการที่รัฐบาลควรทำทันทีคือ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย อาจจะประกอบด้วยนักวิชาการ ตำรวจ อัยการ เพื่อกลั่นกรองก่อนว่าแต่ละคดีเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ ก่อนส่งต่อยังกระบวนการสอบสวนต่อไป

ประเด็นปัญหาต่อมาที่พงศกรชี้ให้เห็นคือ ‘ผู้ร้องตามกฎหมาย’ เนื่องจากคดีอย่าง 112 นับว่าเป็นกฎหมายในหมวดความมั่นคง กล่าวคือ คดี 112 หรือ 116 เป็นอาญาแผ่นดิน ใครก็ตามสามารถฟ้องร้องได้ บางพรรคจึงเสนอว่าให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องโดยตรง “ผมก็ต้องเรียนตามตรงว่าตรงนี้มันจะมีความเสี่ยง เพราะเป็นการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า ไม่ใช่ เขาเป็นเพียงหน่วยงานเฉยๆ แต่ผมคิดว่าเพียงตั้งกรรมการก็สามารถกรองได้ก่อน ไม่จำเป็นต้องดึงหน่วยงานส่วนพระองค์ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนโดยตรง เพราะถ้าเกิดมีความขัดแย้งโดยตรงกับหน่วยงานของพระองค์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ก็น่าเป็นห่วงและอาจเกิดประเด็นความแตกแยกในสังคมได้ ดังนั้นกรรมการชุดนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะเป็นคณะกรรมการที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง”

ประเด็นที่สาม คือบทลงโทษ มีการเสนอว่าให้ลดบทลงโทษเป็นเพียงโทษปรับ พงศกรกล่าวว่า “ผมค่อนข้างเป็นห่วงในเรื่องการลดเป็นโทษปรับ เพราะตัวผมเคยมีประสบการณ์ทำหลายๆ คดี ในทางตำรวจ จะมีคดีหนึ่งที่มักถูกเรียกว่า ‘คดีทำร้ายร่างกายไม่เป็นเหตุให้ได้รับอันตราย’ คือมีหลายคนไปทำร้ายคนอื่น แต่ไม่ได้เป็นแผล ทำให้เสียแค่โทษปรับ สำหรับคดี 112 เป็นคดีที่เกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อของคน หากมีแค่โทษปรับก็อาจจะทำให้คนทำอย่างอื่นนอกจากการวิจารณ์โดยสุจริต ไม่ได้กลัวโทษ ซึ่งจะทำให้สถาบันถูกโจมตีมากขึ้น การวิจารณ์กับการโจมตีต้องแยกกันให้ชัดเจน 

“ดังนั้นคณะกรรมการอิสระสามารถกรองทั้งการร้องทุกข์ให้ไม่ต้องไปปะทะโดยตรงได้ กรองการบังคับใช้กฎหมาย ก็จะไม่นำไปสู่การแก้ไขหรือยกเลิกบทลงโทษ ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งตรงนี้สามารถทำได้เลยและจะลดจำนวนข้อขัดแย้งลงได้ เห็นได้ว่าช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จำนวนคดีที่เกี่ยวกับ 112 เกิดขึ้นสูงมาก เมื่อเทียบกับอดีต หากทำแล้วไม่มีประสิทธิภาพ ค่อยพิจารณาเรื่องของการแก้กฎหมาย”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Interviews

3 Sep 2018

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา ว่าด้วยปรากฏการณ์ ‘จีนใหม่บุกไทย’ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่คือการเข้ามาลงหลักปักฐานระยะยาว พร้อมหาลู่ทางในการลงทุนด้านต่างๆ จากทรัพยากรของไทย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

3 Sep 2018

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save