fbpx
การเมืองเรื่อง ‘ประสาน’

การเมืองเรื่อง ‘ประสาน’

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

หลังจากติดตามการอภิปรายในสภามาทั้งวัน เขากับข้าพเจ้าก็มีโอกาสกลับมาสนทนากันอีกครั้ง

เขาถามข้าพเจ้าว่า มันจะล่มไหมครับ? คนมองเห็นแสงทองส่องโลกงามอยู่เสมออย่างข้าพเจ้าบอกเขาว่า ถ้าจะคุยกันต่อขอให้ตั้งคำถามใหม่ เขาเลยเปลี่ยนคำถามเป็นว่า มันมีทางจะประสานกันออกมาได้ไหม?

คำถามค่อยน่าฟังขึ้น แต่ยังไม่สู้กระจ่างว่าเขาถามจากการมองปัญหาแบบไหน จึงขอให้เขาช่วยขยายความว่า ที่ว่าประสานนั้นประสานอะไร จะให้ใครเป็นคนประสานหรือ?

เขาทวนความที่ได้คุยกันไปก่อนหน้ามาอีกครั้งว่า – ดูจากผลเลือกตั้ง การแบ่งข้างทางการเมืองในสังคมไทยยังคงอยู่เหมือนเดิม เวลา 5 ปีของรัฐบาล คสช. ไม่ได้เปลี่ยนสถานการณ์การแบ่งข้างที่มีมาก่อนหน้านั้นไปเลย แต่ที่เปลี่ยนไปในตอนนี้คือ มีเลือกตั้งแล้ว มีสภาแล้ว และเมื่อแต่ละข้างในสังคมได้เลือกผู้แทนเลือกพรรคการเมืองคนละฝ่ายเข้าสภาไปเป็นตัวแทนของตนแล้ว การเมืองในสภาจะสะท้อนการแบ่งแยกทางการเมืองที่มีอยู่ต่อไปไหมครับ – เขาถาม – หรือยิ่งจะทำให้การแบ่งแยกในสังคมที่มีมานั้นกว้างขึ้นและลึกยิ่งขึ้น หรืออาจารย์ว่ามันพอมีทางที่การเมืองในสภาจะเป็นกลไกช่วยประสานให้ความแตกแยกข้างนอกลดลงไปได้

ถ้าอาจารย์มองโลกสวย ผมขอถามอาจารย์ว่า ความเป็นไปได้แบบหลัง มันพอจะมีทางเกิดขึ้นได้ไหม?

แน่ะ มีย้อนเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงถามกลับไปว่า – แล้วการประสานแบบไหนที่คุณคิดว่ามันจะเกิดขึ้น หรืออยากเห็นมันเกิดขึ้นมาล่ะครับ?

อาจารย์มีให้ผมเลือกไหมล่ะครับ? – เขาถามกลับมา

ข้าพเจ้าบอกเขาว่า – มีให้เลือกน่ะมีแน่ แต่จะเลือกได้หรือเปล่าต้องดูกันอีกที

ว่าแล้วข้าพเจ้าก็ลองไล่ความหมายมาให้เขาเลือก ว่าแบบไหนแน่ ที่เขามองเห็นถึงความเป็นไปได้  หรือการประสานแบบไหนที่เขาพอใจอยากเห็น อยากให้เกิดขึ้น

ประสานแบบแรก คุณอยากจะประสานหรืออยากได้การประสานอย่างนี้ไหม? – ข้าพเจ้าถามเขา – คือให้คนในสังคมที่อยู่ต่างฝ่ายกันในทางความคิดเห็นและอุดมการณ์ทางการเมืองเวลานี้เกิดความรู้รักสามัคคีขึ้นมา และประสานเข้าหากันได้ ทิ้งความขัดแย้งที่เคยมีมาไว้ข้างหลัง มองไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน เดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปสู่จุดหมายด้วยกัน

โลกสวยเกินไปครับอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ – เขาตอบกลับมาทันที พร้อมกับบอกว่า – เมื่อมันยกความขัดแย้งออก การประสานแบบนี้ก็เท่ากับมันขอให้ยกการเมืองออกไปหมดเลย โลกสวยของอาจารย์แบบนี้ต้องซ่อนดิสโทเปียของพวกอนุรักษนิยมแอบไว้ในนั้นที่ไหนสักแห่งแน่ๆ

ซ่อนที่ไหน ไม่มีที่ไหนให้ซ่อนแล้ว โปร่งใสอย่างไม่ปิดบัง ที่นี่ไม่นิยมรัฐพันลึกเร้นลับอะไรแบบนั้นนะครับ แต่ถ้าเป็นการแผ่ซึมกระจายไปทั่วสิ ค่อยน่าสนใจขึ้นมาหน่อย เอ้า ถ้าหากไม่ชอบประสานเพื่อยกสลายให้ปลอดจากความขัดแย้ง ถ้าอย่างนั้น ลองการประสานในความหมายเน้นไปที่ตัวกระบวนการดีไหม – ข้าพเจ้าเสนอการประสานแบบที่ 2 ให้เขาพิจารณาต่อ – คุณก็เรียนเกี่ยวกับ deliberative democracy มาแล้วนี่  ชอบใจไหม พวกนี้เขาเสนอให้จัดกระบวนการที่เปิดให้คนต่างฝ่าย และจากทุกๆ ฝ่าย ได้เข้ามามีส่วนร่วม …

อาจารย์ไม่ได้ใช้ทวิตเตอร์ใช่ไหมครับ – เขาขัดขึ้นมาก่อนที่ข้าพเจ้าจะได้ว่าจนจบกระแสความ

เขาบอกความเห็นของเขาต่อไปว่าสมัยนี้โซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร แต่เขาไม่เชื่อว่าในเงื่อนไขของโซเชียลมีเดียที่เป็นแบบนั้น การสื่อสารเพื่อมุ่งหาความเข้าใจและความจริงร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายจะเป็นไปได้ง่าย หรือไม่ มันก็คงกินเวลานานมากและเรียกร้องพลังงานในการจะเข้าไปมีส่วนร่วมเกินกว่าที่เขาจะอดทน ยิ่งถ้าเจอคนที่ต่างออกไปแล้วเข้าใจอะไรยาก ความอดทนของเขายิ่งจะน้อยลงไปอีก

deliberative democracy มันเหมือนกับเน้นไปที่การจัดกระบวนการน่ะครับอาจารย์ – เขาบอกเหตุผลที่ทำให้เขายังไม่พึงใจใน deliberative democracy – แต่มันไม่ค่อยได้พูดถึงลักษณะของความขัดแย้ง และคนที่แตกต่างกันว่าแต่ละฝ่ายสัมพันธ์กันอยู่ในลักษณะไหนกันมาก่อนหน้าที่ ‘การปรึกษาหารือ’ จะเกิดขึ้น ดังนั้น มันจึงเรียกร้องถึงสภาวะในอุดมคติที่เกิดขึ้นได้ยากเกินไปสักหน่อย ที่จะมาหวังให้ทุกคนเข้าสู่กระบวนการหารือแลกเปลี่ยนชนิดเปิดใจรับฟังกันได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน  ถ้าหากยังไม่มีการปรับระดับความแตกต่างในอำนาจของแต่ละฝ่ายเสียก่อน

ผมเข้าใจคุณละ – ข้าพเจ้าบอกเขา – คุณอยากเห็นการประสานในแบบที่ไม่ได้คิดว่าเมื่อประสานกันแล้ว ความขัดแย้งจะต้องหมดไป แต่มองมันเป็นโอกาสให้ความขัดแย้งระหว่างคนต่างฝ่ายที่แตกต่างกัน ได้มาต่อรองทำความตกลงกัน ผมเข้าใจคุณถูกใช่ไหมครับ การประสานแบบนี้แม้ว่าจะได้ข้อตกลงออกมา แต่ความแตกต่างระหว่างกันก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ถ้าอย่างนั้น ผมถามหน่อยว่าความขัดแย้งและความแตกต่างในลักษณะไหนที่คุณสนใจหรือเห็นสำคัญ?

อย่างตอนขานโหวตในสภาเพื่อเลือกนายกฯ ไงครับ ที่มี ส.ส. จากศรีสะเกษคนหนึ่งงดออกเสียง สวนกับมติพรรคที่ให้รับรองพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ผมว่ากรณีนี้มันมีความขัดแย้งแตกต่างที่น่าสนใจตามดูการประสานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมา และจากการที่ ส.ส. คนนั้นเขาตัดสินใจเลือกงดออกเสียง ยังสะท้อนให้เห็นว่ามันมีการประสานการตัดสินใจอยู่หลายระดับในเรื่องนี้ เมื่อเสียงของประชาชนในพื้นที่กับพรรคเขาสังกัดอยู่ มีความต้องการทางการเมืองแตกต่างกันขึ้นมาเกี่ยวกับการจะเลือกหรือไม่อยากให้เลือกใครเป็นนายก ส.ส. คนนั้นเขาจึงต้องตัดสินใจว่าระหว่างมติพรรคกับอาณัติจากเสียงประชาชน อะไรสำคัญกว่าอะไร

แล้วเขาก็หันมาเจาะจงถามข้าพเจ้าว่า –  ถ้าอาจารย์เป็น ส.ส. ที่นั่น เมื่อความต้องการของพรรคต้นสังกัดกับประชาชนในพื้นที่มีความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ประชาชนที่นั่นเขาเลือกอาจารย์ และการเลือกนั้นโดยปริยายต้องถือว่าเขาก็เลือกนายกฯ ที่พรรคต้นสังกัดของอาจารย์เสนอไว้ ไม่ได้จะเลือกนายกฯ ที่พรรคอื่นเสนอ และประชาชนในพื้นที่เขาก็ไม่ได้ตกลงปลงใจกับอาจารย์ที่จะให้อาจารย์ไปโหวตเลือกคนที่เขาไม่ชอบเป็นนายกฯ แต่ในขณะเดียวกัน พรรคที่อาจารย์สังกัดกลับมีมติแตกต่างไปจากความพอใจของคนในพื้นที่ เมื่ออาจารย์อยู่ในตำแหน่ง ส.ส. ก็เท่ากับว่าฐานะอาจารย์เป็น agent ถูกไหมครับ แต่อาจารย์จะคิดว่าใครคือ principal ของอาจารย์ครับ พรรค หรือว่า ประชาชนในพื้นที่ที่เลือกอาจารย์มา?

ข้าพเจ้านึกในใจว่าโชคดีนะนี่ที่เขาไม่ได้ถามให้ข้าพเจ้าต้องตอบว่าข้าพเจ้าจะโหวตเลือกใครเป็นนายก

ข้าพเจ้าจึงตอบไปเฉพาะที่เขาถามเท่านั้นว่า – ความสัมพันธ์ระหว่าง ส.ส. กับประชาชนในพื้นที่ที่คุณเสนอให้มองว่าเป็นแบบ agent-principal ก็เป็นวิธีพิจารณาได้แบบหนึ่ง  การมองแบบนี้มันช่วยแก้ปัญหาความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ได้ดีมาก – ข้าพเจ้ายอมรับนัยในคำถามของเขาที่เสนอให้มองประชาชนว่าเป็น principal ไม่ใช่ พรรค

แต่ข้าพเจ้าก็ไม่คล้อยตามเขาทั้งหมด ข้าพเจ้าบอกเขาว่า – เมื่อประชาชนเลือกใครเป็น ส.ส. และได้ใครมาเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว มันมีข้อถกเถียงอยู่เหมือนกันระหว่างฝ่ายที่เห็นว่า เราควรปล่อยให้ ส.ส. กับพรรคการเมืองได้ใช้วิจารณญาณของพวกเขาเองพิจารณาเหตุและผลต่างๆ ในการตัดสินใจทางการเมือง โดยหวังว่าพวกเขาจะพิจารณาปัญหา ทางเลือก และเหตุผลต่างๆ อย่างถี่ถ้วนรอบด้าน และตัดสินใจเลือกอย่างรอบคอบโดยถือประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นที่ตั้ง  แล้วถ้าได้ผลออกมาดี/ไม่ดีอย่างไร  ประชาชนก็ใช้การเลือกตั้งครั้งต่อไปจัดการพวกเขาในทางการเมืองได้ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ถือว่า ส.ส. ยังต้องฟังอาณัติจากฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ของตนเองและตัดสินใจเลือกโดยไม่ขัดกับความพอใจของประชาชนในพื้นที่ หรือไม่เลือกอะไรในทางที่จะทำให้ประชาชนที่เป็นฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ไม่พอใจ

ผมว่าที่อาจารย์เสนอมานี้ ในโลกการเมืองที่เป็นจริง มันไม่ได้เป็นทั้ง 2 แบบ อย่างที่อาจารย์ว่า

แล้วคุณว่ามันเป็นแบบไหนล่ะ?

มันต้องประสานและประนีประนอมกับผลประโยชน์หลายด้าน กับอำนาจหลายฝ่าย กับเป้าหมายหลายระดับ กับความสัมพันธ์หลายจำพวก กับข้อเรียกร้องรูปธรรมและคุณค่าหลายแบบ ที่แต่ละฝ่ายจัดเรียงลำดับความสำคัญไม่เหมือนกัน สารพัดแหละครับ สิ่งที่อาจารย์บอกมาด้านหนึ่งว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนมันจึงไม่ใช่สิ่งที่มีแน่ชัดอะไรอยู่ก่อน และเมื่อต้องประสานและประนีประนอมกับเงื่อนไขข้อเรียกร้องต่างๆ อีกร้อยแปดที่มาจากรอบทิศทางอย่างที่ผมว่า การจะยึดแต่อาณัติที่มาจากเสียงของประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้อย่างนั้นตลอดในทุกๆ เรื่อง

ดังนั้น ทั้ง 2 แบบที่อาจารย์เสนอมา ส่วนใหญ่แล้วมันไม่ได้เกิดขึ้นอย่างนั้น แต่ถูกนำมาใช้อ้างอิงเป็นเหตุผลรองรับผลลัพธ์ที่มาจากการต่อรองตกลงและประสานประโยชน์ระหว่างอำนาจฝ่ายต่างๆ มากกว่า – เขาสรุป

ถ้าความเข้าใจคุณเป็นอย่างนั้น – ข้าพเจ้าถือโอกาสแนะนำ – คุณน่าจะสนใจและได้ประโยชน์จากงานศึกษาการประสานทางการเมืองของพวก rational choice อยู่เหมือนกัน

โดยเฉพาะพวกที่ใช้ทฤษฎีเกมมาศึกษาการประสานทางการเมืองในสังคมที่ความขัดแย้งแบ่งคนให้แยกออกเป็น 2 ขั้ว และพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเข้าไปในสภาก็ได้รับเลือกจากประชาชนคนละฝ่าย และแบ่งฝ่ายกันตามการแบ่งแยกของคนในสังคม เกมการประสานทางการเมืองในสภาพแบบนี้มีซ้อนกันอยู่ 2 ชั้นให้ต้องคิดพร้อมกันไป ชั้นหนึ่งระหว่างพรรคทั้งหลายในสภาที่ได้รับเลือกจากฐานประชาชนที่อยู่คนละขั้วการเมือง กับอีกชั้นหนึ่งคือระหว่างพรรคกับประชาชนที่เป็นฐานคะแนนเสียงของตน โดยพิจารณาว่าเกม 2 ชั้นนี้ส่งผลถึงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีหลายพรรคเสนอตัวเข้ามาแบ่งแข่งขันหาคะแนนเสียงจากประชาชนในแต่ละขั้วการเมือง ตรงอย่างที่คุณสนใจในกรณีศรีสะเกษนี่เลย ลองหางานที่ศึกษาการประสานทางการเมืองเป็น Nested Games แบบนี้มาอ่านดูนะครับ ให้แง่คิดเกี่ยวกับการวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคได้มากทีเดียว

ข้อเสนอที่ได้ออกมาจากงานเหล่านี้ว่าอย่างไรบ้างครับอาจารย์ มีตัวอย่างไหมครับ?

ต้องการตัวอย่างหรือ ให้ดูจากงานของ George Tsebelis ก็แล้วกันนะครับ งานของเขาเด่นชัดสุด และเขียนให้คนอ่านเข้าใจกระจ่างดี ขนาดผมที่ไม่ใช่คนเชี่ยวชาญทฤษฎีเกมอะไรก็ฝ่า formal models ที่เขาเสนอเข้าไปอ่านทำความเข้าใจตรรกะและคำอธิบายได้ไม่ยาก อยากแนะงานของเขาไว้เผื่อคุณสนใจ งานของเขาเกี่ยวกับอำนาจวีโต้ที่มีอยู่ในกระบวนการทางการเมืองจุดต่างๆ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ถ้าลงมาดูใน Nested Games ของการประสานทางการเมืองในสภาวะที่ประชาชนแบ่งแยกกันทางการเมืองอย่างชัดเจนอย่างของบ้านเรา ข้อเสนอหนึ่งที่ได้จากงานของเขาคือเรื่องปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่า ผู้นำและพรรคการเมือง หรือว่าประชาชนเจ้าของคะแนนเสียง ใครที่จะเป็นคนคุมทิศทางของการประสานทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น ตัวแปรหนึ่งในนั้นได้แก่ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการตัดสินใจทางการเมืองของผู้แทนราษฎรและรัฐบาลว่ามีความชัดแจ้งหรือเปิดให้ประชาชนเห็นกันโจ่งแจ้งเพียงใด นั่นคือประชาชนมีข้อมูลและเข้าใจชัดไหมว่าผู้นำทางการเมืองเหล่านี้ทำอะไรอยู่ และเมื่อเห็นกันได้อย่างชัดๆ ว่าใครทำอะไรหรือตัดสินใจอย่างไร ประชาชนเข้าใจสิ่งที่เห็นนั้นในทางไหน เข้าใจ เห็นใจ เห็นพ้องด้วย หรือไม่เข้าใจ ปฏิเสธและต่อต้านต่อการกระทำหรือการตัดสินใจอย่างนั้น

แล้วมันพลิกความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนเจ้าของคะแนนเสียงที่เป็น principal กับ ส.ส. และพรรคการเมืองที่เป็น agent ไปอย่างไรหรือครับ? – เขาย้อนกลับมาที่ความสัมพันธ์ principal-agent อีกครั้ง

Tsebelis เสนอไว้อย่างนี้ครับว่า อำนาจของประชาชนในการควบคุมทิศทางการประสานต่อรองทางการเมืองของพรรคและผู้นำทางการเมืองจะมีน้อย ถ้าสารสนเทศทางการเมืองไม่สมบูรณ์ เข้าถึงยาก ไม่เป็นที่เปิดเผย ในสภาพแบบนี้ อำนาจการควบคุมทิศทางในการประสานทางการเมืองจะอยู่ในมือของผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองมากกว่า

แต่ถ้าการเคลื่อนไหวและการตัดสินใจทางการเมืองของผู้นำและพรรคการเมืองเป็นสารสนเทศที่ประชาชนเห็นได้โจ่งแจ้งชัดเจน ใครทำอะไรพูดอะไรตัดสินใจอะไรก็เห็นได้ชัดหมด หรือมีบันทึกให้ย้อนกลับไปตรวจสอบสิ่งที่ทำไปแล้วได้ไม่ยาก อิสระในการกำหนดทิศทางและการดำเนินการของผู้นำทางการเมืองและพรรคการเมืองในเกมประสานต่อรองทางการเมืองจะถูกจำกัด จะทำอะไรที่ขัดกับความต้องการ/ความพอใจของประชาชนที่เป็นฐานคะแนนเสียงได้ไม่ถนัด

แต่ และเป็นแต่ที่สำคัญ ในสภาวะที่สารสนเทศทางการเมืองเปิดเผย ถ้าหากประชาชนที่เป็นฐานคะแนนเสียง มีความเข้าใจ เห็นพ้อง หรือเห็นใจถูกใจในแต่ละสิ่งที่ผู้นำและพรรคการเมืองทำ หรือผู้นำและพรรคการเมืองมีวิธีสื่อสารทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนที่เป็นฐานคะแนนเสียงของตนคล้อยตามการตัดสินใจที่ทำไปได้ตลอด แล้วยิ่งถ้าประชาชนในการแบ่งฝ่ายทางการเมืองไม่มีพรรคทางเลือกอื่นอีกที่จะเป็นปากเป็นเสียงเป็นตัวแทนของฝ่ายตนในการไปต่อสู้กับอีกฝ่ายหนึ่ง นอกจากพรรคเดียวที่ครองความนิยมได้รับเสียงสนับสนุนมากจนผูกขาดการกำหนดตัวบุคคลลงเลือกตั้งได้ ถ้าเข้าในเงื่อนไขแบบนี้ Tsebelis เสนอว่าอิสระในการดำเนินการและอำนาจควบคุมการดำเนินการประสานต่อรองทางการเมืองจะกลับมาอยู่ในมือของผู้นำและพรรคการเมืองได้เหมือนเดิม

งานนี้ เขาเสนอไว้แต่เมื่อไหร่ครับอาจารย์?

Nested Games หรือ งานพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 1990 แล้วครับ อีกเล่มของเขาที่ออกตามมาและเปิดหูเปิดตาการทำงานของสถาบันการเมืองได้ดีมากคือ Veto Players ช่วงต้น 90s ผมยังเคยมีโอกาสตามไปฟังเขาสัมมนาที่ UCLA เลย ได้ความรู้ดี เลยมีโอกาสได้รู้จัก Nested Game มาแต่ตอนนั้น

เขาสอนอยู่ที่นั่นหรือครับ?

ในตอนนั้นนะ แต่ตอนนี้เขาย้ายมาสอนและวิจัยอยู่ที่มิชิแกนได้หลายปีแล้ว

เขาน่าจะเอาข้อเสนอจากยุค 90s ของเขามาดูต่อนะครับว่าเมื่อการสื่อสารทางการเมืองย้ายมาอยู่ในโลกดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย ในยุคที่ post-truth politics ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแล้ว ใครคุมใครได้กันแน่ และคุมได้อย่างไร อะไรคือตัวประสานให้กระแสความคิดของคนเป็นไปในทางเดียวกัน หรือเลี้ยงกระแสสนับสนุนทางการเมืองไว้ได้ตลอด อุดมการณ์ อารมณ์ความรู้สึก หรือ simulations แบบไหน ผมอยากเห็นพวกทฤษฎีเกมว่าจะเล่นกับเรื่องนี้อย่างไร แต่ขอกลับมาถามอาจารย์ต่ออีกนิด ตะกี้ตอนที่พูดถึงว่าในความสัมพันธ์ principal-agent ที่มองว่าประชาชนเป็น principal ส.ส. เป็น agent แล้วอาจารย์บอกว่าการมองแบบนี้ มันช่วยแก้ความเข้าใจความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ได้ดี ตรงนี้ยังไงนะครับ ผมตามไม่ทัน

ข้าพเจ้าอธิบายให้เขาว่า – คุณรู้จักลักษณะของรัฐราชการไทยที่เป็นอยู่ไม่ใช่หรือ ว่าทรัพยากรและการจัดสรรมันกระจุกรวมอยู่ที่อำนาจส่วนกลาง ทีนี้ถ้าคุณเป็นพรรคการเมืองเป็นนักการเมือง การที่จะสามารถเข้ามาแชร์ทรัพยากร เข้ามาใช้อำนาจส่วนกลางจัดสรรทรัพยากรไปให้ส่วนไหนๆ ได้ คุณจะเข้ามาอย่างไรล่ะ ถ้าไม่มีเลือกตั้งคุณก็หมดสิทธิ์ ถูกไหม แต่ถ้ามีเลือกตั้ง คุณต้องพึ่งการอุปถัมภ์ของคนในท้องถิ่นช่วยกันส่งคุณส่งพรรคของคุณเข้ามาใช้มาแชร์อำนาจและทรัพยากรออกไป ถ้าคุณไม่เห็นว่าชาวบ้านคือผู้ที่อุปถัมภ์ให้คุณเข้ามาได้ หรือถ้าคุณหลงว่าเป็นเพราะเครือข่ายหรือการทำงานของจักรกลการเมืองของคุณ ที่ทำให้คุณได้เข้ามาอยู่ในใจกลางอำนาจรัฐได้ แล้วมองชาวบ้านเหมือนเป็นหมูในอวย โดยคุณไม่เคยคิดหาทางที่จะผลักดันให้กลไกอำนาจรัฐนี้มันเปลี่ยนมาทำงานภายใต้หลักการของประชาธิปไตยและในทางที่เป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้นและให้ดีขึ้นกว่าเดิม ก็เท่ากับว่าคุณไม่ได้เคารพประชาธิปไตยจากเนื้อในจริงๆ

ฟังอาจารย์พูดถึงรัฐราชการไทยและกลไกอำนาจรัฐขึ้นมาแบบนี้ เลยทำให้ผมเห็นว่างาน nested games ของพวก rational choice ที่เสนอให้มองว่าซ้อนกัน 2 ชั้นนั้น ของเรามอง 2 ชั้นแค่นั้นคงไม่พอ เพราะที่ซ้อนครอบอยู่อีกชั้นคืออำนาจที่ฝังตัวอยู่ในรัฐราชการไทย

จากข้อสังเกตนี้ คุณก็ลองขยายโมเดลทฤษฎีเกมของ Tsebelis ออกไปสิครับ รับรองสร้างความฮือฮาในวงการได้แน่นอน

ผมไม่ชอบข้อจำกัดที่ถูกวางสมมุติในการสร้างโมเดลในทฤษฎีเกมสักเท่าไหร่ ผมว่ามันไม่สมจริงนักที่จะลด preferences ของตัวแสดงทางการเมืองให้เหลืออยู่ไม่กี่อย่าง

แล้วคุณชอบแบบไหนล่ะ? ข้าพเจ้าถาม

อย่างการจะดูประชาชนในสังคมมันง่ายเกินไปที่จะมาแบ่งออกเป็นแค่ 2 เป็นเหลืองเป็นแดง เป็นก้าวหน้าเป็นอนุรักษนิยม ผมว่ามันไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจความขัดแย้งอีกจำนวนมากที่สร้างความแตกต่างหลากหลายปะทะประจันกันอยู่ในสังคมเวลานี้ การจับแยกให้เหลือเพียง 2 ฝ่าย แล้วล็อค preferences ของแต่ละฝ่ายในพิสัยจำกัดเพื่อสร้างแบบจำลองการอธิบายขึ้นมา ไม่ได้ช่วยสร้างความเข้าใจหรือการกำหนดยุทธศาสตร์ประสานทางการเมืองได้ดีเท่ากับการมองโดยเอาความแตกต่างหลากหลายในสังคมที่มีอยู่จริงเป็นตัวตั้ง โดยไม่ผูกว่ามีความขัดแย้งเรื่องไหนเป็นประเด็นใจกลางที่ครอบหรือรวบเอาความขัดแย้งอื่นๆ ไว้ภายใต้ตัวมัน

เอ้า สมมุติว่าเราทำแบบนั้นอย่างที่คุณว่า เราจะถือว่าในสังคมเวลานี้มีกลุ่มต่างๆ ที่ผ่านการ articulate ความคิด ประสบการณ์  ประเด็นปัญหาที่พวกเขาผ่านพบเผชิญมาแล้วก่อตัวขึ้นมาเป็นกลุ่มพลังต่างๆ ที่ไม่ได้เห็นไปในทางเดียวกัน ไม่อาจจัดกลุ่มไหนเป็นฝ่ายเดียวกันได้หมด และกลุ่มที่มีอะไรร่วมกันอยู่ก็ยังสามารถแบ่งย่อยแยกออกไปได้อีก สมมุติมองแบบนั้น แล้วเห็นกลุ่มพลังด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มรณรงค์เรื่องชีวิตเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องระบบสวัสดิการสังคม เรื่องยาและสาธารณสุข กลุ่มต่อต้านประเด็นวาระเสรีนิยมใหม่ กลุ่ม LGBT กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มธุรกิจส่งออกเอสเอ็มอี สมมุติแบ่งอย่างนี้ แล้วอย่างไรต่อครับ ข้าพเจ้าถาม

อย่างน้อยอาจารย์จะเห็นว่าแต่ละกลุ่มเหล่านี้ พวกเขามีเป้าหมายไม่เหมือนกัน มี ‘คู่ต่อสู้’ ต่างกัน มีอุปสรรคที่เป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือทางสังคมวัฒนธรรมภายใน หรือโครงสร้างระดับโลกขวางเขาไว้อยู่ต่างกันในการเคลื่อนไหวผลักดันของพวกเขาที่จะเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนรูปความสัมพันธ์ในทิศทางที่พวกเขาต้องการ ต้องเห็นอย่างนี้เสียก่อน จึงจะวางยุทธศาสตร์ได้ว่า จะดึงพวกเขาที่สู้กันอยู่คนละเรื่องให้เข้ามาเชื่อมร้อยกันอย่างไร เพื่อรวมเป็นพลังผลักดันการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้

โอ้ ในยุทธศาสตร์นี้ คุณต้องมี populist leader สำหรับการประสานทุกฝ่ายที่เป็นเอกเทศจากกันอยู่ให้เขาเข้ามาเชื่อมร้อยกัน ประสานมือเกาะกันไว้ให้เดินหน้าไปด้วยกัน  คุณรู้ไหมว่าคุณสมบัติของ populist leader แบบนี้คืออะไร?

คืออะไรครับ?

พูดอย่างไม่เกรงใจกันนะ คือคนที่สามารถสร้างความคิดกลวงเปล่าว่างโหวงแต่มีพลังบันดาลใจในทางจินตนาการ แล้วใช้ความคิดกลวงเปล่าในทางความหมายแต่ทรงพลังในทางสร้างความฮึกเหิมบันดาลใจนั้นแหละมาเป็นตัวรณรงค์ประสานกลุ่มคนที่แตกต่างกันในสังคมให้เข้ามาเชื่อมร้อยกัน ผู้นำ populist ในความหมายทางบวก หรือ demagogue ในความหมายทางลบ เขาจะเล่นกับเกมทางภาษาเป็นตัวประสานกลุ่มพลัง คุณไม่ชอบทฤษฎีเกมแบบ rational choice ก็ลองมาจับตาติดตามการเล่นเกมภาษาปลุกเร้าแรงบันดาลใจและสร้างจินตนาการรวมหมู่ดู พวกที่เล่นกับเกมภาษา เขาถนัดนักกับการจัดและสลับการสื่อความหมายด้วยเทคนิคการใช้สิ่งหนึ่งมาแทน หรือมาแสดงให้เห็นอีกสิ่งหนึ่ง แล้วนำไปสู่การสรุปความให้ยึดถือ ให้เคลิ้มตามๆ กันไป

เอาไว้โอกาสเหมาะๆ นะ แล้วจะมาเล่นให้ดู เล่นตอนนี้ เดี๋ยวคนอื่นเห็น เขาจะหาว่าผมเป็นพวกปฏิกิริยา.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save