fbpx
ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล: [คสช. + กสทช. + ทุนสื่อสาร] VS [ประโยชน์สาธารณะ]

ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล: [คสช. + กสทช. + ทุนสื่อสาร] VS [ประโยชน์สาธารณะ]

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สังคมคงได้ยินข่าวคราวการใช้ ม.44 อุ้มกิจการสื่อสารและกิจการโทรคมนาคมครั้งมโหฬาร ซึ่งทุนทีวีดิจิทัลและทุนมือถือต่างได้ประโยชน์กันถ้วนทั่ว แต่ผู้ที่เสียประโยชน์เต็มๆ คือประชาชนอย่างเรา เพราะเม็ดเงินที่ใช้อุ้มกลุ่มทุนครั้งนี้มีมูลค่ารวมกันหลายหมื่นล้าน หรืออาจแตะแสนล้านบาทก็ว่าได้

แม้ ม.44 จะเป็นอำนาจนอกระบบที่ไร้กลไกถ่วงดุล แต่มันก็ธำรงอยู่ได้ด้วย ‘นิทาน’ ที่สร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำนั้นๆ  ในมหกรรมอุ้มทุนสื่อสารครั้งนี้ คสช. สมคบกับ กสทช. ออกมาตรการอุ้มนายทุนสื่อสารด้วยเงินหลายหมื่นล้านบาท ผ่านเรื่องเล่าที่ปรุงแต่งขึ้นโดย กสทช. โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญดังนี้

1) ประเทศไทยต้องการเทคโนโลยี 5G เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ และไม่สามารถรอช้าได้

2) กลุ่มทุนโทรคมนาคมใช้เงินประมูลคลื่น 900 MHz ไปจำนวนมาก จนไม่มีเงินเหลือพอมาลงทุนในเทคโนโลยี 5G จึงจำเป็นต้องเลื่อนการชำระหนี้คลื่น 900 MHz ออกไป เพื่อให้กลุ่มทุนโทรคมนาคมมีเงินมาลงทุน 5G ได้ทันท่วงที

3) คลื่น 700 MHz ที่จะนำมาจัดสรรให้กับบริการ 5G นั้นเป็นของทีวีดิจิทัล 24 ช่องที่ประมูลไปก่อนหน้า การนำคลื่นย่านนี้มาจัดสรรสำหรับเทคโนโลยี 5G จึงต้อง “เรียกคืนคลื่น” และจำเป็นต้องมีมาตรการ “เยียวยา” ช่องทีวีดิจิทัลซึ่ง “ได้รับผลกระทบ”

หลังจากสร้างนิทานเพื่อสนับสนุนความชอบธรรมในการ ‘อุ้ม’ ทุนสื่อสารแล้ว ทาง คสช. ก็ได้ใช้อำนาจ ม.44 ในช่วงต้นเดือนเมษายน (หลังเลือกตั้ง เพราะเกรงว่าจะกระทบกับคะแนนเสียง) ออกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เนื้อหาใจความสำคัญของ “ม.44 อุ้มทุนสื่อสาร” มีดังนี้

  • ยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ประมูลคลื่น 900 MHz ออกเป็นสิบงวด ปีละงวด งวดละเท่าๆ กัน พูดง่ายๆ คือยืดหนี้ประมูล 4G ซึ่งมีมูลค่ารวมกัน 203,317 ล้านบาท ออกไป 10 ปี โดยไม่คิด ‘ดอกเบี้ย’ (ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ คำนวณดอกเบี้ยที่รัฐต้องเสียประโยชน์รวมเป็นเงินเกือบสองหมื่นล้านบาท)
  • ให้สำนักงาน กสทช. จัดสรรคลื่นในช่วง 700 MHz ที่มีการเรียกคืนจากทีวีดิจิทัล โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการประมูลตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย กสทช. โดยมีเงื่อนไขว่า ค่ายมือถือที่ต้องการได้ประโยชน์จากการยืดระยะเวลาชำระหนี้คลื่น 900 MHz ต้องเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz
  • ให้สำนักงาน กสทช. กำหนดการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนให้กับทีวีดิจิทัลซึ่งถูกเรียกคืนคลื่น โดยมีรายละเอียดสำคัญคือ
    • ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ต้องชำระงวดสุดท้ายของราคาขั้นต่ำ (ราคาตั้งต้นการประมูล) และสองงวดสุดท้ายของราคาที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ
    • ยกเว้นค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ (MUX) ตลอดระยะเวลาการได้รับใบอนุญาตที่เหลืออยู่ โดย กสทช. เป็นผู้จ่ายให้กับผู้ให้บริการ MUX
    • หากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายไหนต้องการคืนใบอนุญาต ก็สามารถทำได้ และให้ กสทช. พิจารณากำหนดค่าชดเชย

เมื่อ คสช. ชงเรื่องให้อย่างดี กสทช. ก็รับเรื่องโดยพลัน (คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะมีการพูดคุยตกลงกันไว้ล่วงหน้า) พร้อมออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชย อันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลอย่างเสร็จสรรพ

เมื่อพิจารณาถึง ‘นิทาน’ (ที่ภาครัฐร่วมกับเอกชนร่วมกันแต่งขึ้นมา) และนโยบายเชิงรูปธรรมในการอุ้มทุนสื่อสารแล้ว บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อถอดรื้อ ‘มายาคติ’ ในนิทานเหล่านั้น และวิเคราะห์ถึงราคาที่ประชาชนอย่างเราต้องจ่ายเมื่อรัฐเลือกที่จะเอื้อทุนมากกว่าช่วยประชาชน โดยจะเน้นไปที่ฝั่งทีวีดิจิทัลเป็นหลัก (แม้การมองแยกกันจะทำได้ยาก เพราะมาตรการอุ้มทุนสื่อสารและทุนโทรคมนาคมครั้งนี้ออกมาเป็นแพ็คเกจ) เนื่องจากมีผู้ออกมาวิจารณ์นโยบายอุ้มฝั่งโทรคมนาคมจำนวนมากแล้ว

ขณะที่ฝั่งทีวีดิจิทัลนั้นเงียบงันและแทบไม่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่อสารมวลชนมากนัก เข้าทำนองแมลงวันย่อมไม่ตอมกันเอง

 

มายาคติ 1: ประเทศไทยต้องการเทคโนโลยี 5G เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ และไม่สามารถรอช้าได้

 

ในต่างประเทศ แม้จะเริ่มมีการทยอยนำคลื่น 700 MHz มาประมูลเพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคมมากขึ้น แต่การใช้โดยมากยังเน้นไปที่การให้บริการ 4G อยู่ เนื่องจากเทคโนโลยีและตลาดที่รองรับการให้บริการ 5G นั้นยังไม่พร้อมเต็มที่ นอกจากนั้น เงื่อนไขไม่ได้อยู่เพียงแค่ผู้ให้บริการมือถือเตรียมความพร้อมเปิดตัวเทคโนโลยี 5G เท่านั้น แต่รวมถึงความพร้อมของประเทศชาติในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย เช่น รัฐบาลส่งเสริมความพร้อมให้เอกชนนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มากแค่ไหน กสทช. มีแผนแม่บทในการจัดสรรคลื่นความถี่ย่านกลางและย่านสูงซึ่งจำเป็นต่อการให้บริการ 5G และมีแผนพัฒนาโครงข่ายเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G หรือไม่ อย่างไร

สิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า กสทช. ยังไม่จำเป็นต้องรีบนำคลื่น 700 MHz มาจัดสรร คือการที่ค่ายมือถือทั้ง 3 เจ้า ไม่ได้แสดงความต้องการคลื่น 700 MHz มากเท่าที่ภาครัฐบอกให้เราเชื่อ หลังจากที่ กสทช. ประกาศว่าจะจัดสรรคลื่น 10 MHz ให้กับเอกชนทั้ง 3 เจ้าในราคาประมาณ 17,500 ล้านบาท เอกชนทั้ง 3 เจ้าให้เหตุผลต่างๆ นานา อาทิ เทคโนโลยี 5G ยังไม่เกิดอย่างเป็นทางการและยังไม่มีผู้ใช้รองรับ ราคาที่ตั้งสูงเกินไปเนื่องจากยังไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจมากเท่าไร อีกทั้งยังเจรจาขอลดราคาค่าคลื่นมาให้เท่ากับเงินที่จะนำไปชดเชยทีวีดิจิทัล (ประเมินอยู่ที่ 38,000 ล้านบาท) เพราะมองว่าวัตถุประสงค์ของการจัดสรรคลื่นครั้งนี้คือการหาเงินไปชดเชยให้กับทีวีดิจิทัล

หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับว่า กสทช. จัดสรรคลื่น 700 MHz ทั้งที่ค่ายมือถือไม่ได้ต้องการ เป็นเพียงแค่ช่องทางหาเงินไปอุ้มทีวีดิจิทัล ส่วนค่ายมือถือก็เข้ามาสู่เกมการจัดสรรคลื่น 700 MHz เพียงเพราะได้ประโยชน์จากการยืดชำระหนี้คลื่น 900 MHz

อันที่จริง วิธีง่ายๆ ที่ช่วยพิสูจน์ว่าผู้ประกอบการมือถือต้องการคลื่น 700 MHz หรือไม่ และที่ราคาเท่าไร คือการจัดสรรคลื่นด้วยวิธีการประมูล (ดังที่จะกล่าวต่อไปว่า กสทช. สามารถนำคลื่น 700 MHz มาประมูลได้ โดยไม่กระทบกับการดำเนินงานของทีวีดิจิทัล) เพราะไม่เพียงแต่เอกชนสามารถเลือกที่จะไม่ประมูลหากเทคโนโลยีและตลาดยังไม่พร้อม ทว่าหากมีการแข่งขันประมูลคลื่น ประเทศก็จะได้รับเงินสมน้ำสมเนื้อกับมูลค่าคลื่นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจได้ อีกทั้งการประมูลยังอาจเปิดให้มีรายใหม่เข้ามาแข่งขันได้

การเร่ง ‘ยัดเยียด’ จัดสรรคลื่นให้กับค่ายมือถือเพื่อเอาเงินไปอุ้มทีวีดิจิทัล โดยเอาเงื่อนไขการยืดชำระหนี้คลื่น 900 MHz ของค่ายมือถือมาเป็นตัวประกัน จึงไม่สมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวง และผู้ที่ต้องแบกรับความเสียหายที่เกิดขึ้นหลายหมื่นล้านก็คือประชาชน

 

มายาคติ 2: รัฐต้องยืดชำระหนี้เงินประมูลคลื่น 900 MHz เพื่อให้เอกชนมีเงินมาพัฒนาเทคโนโลยี 5G (จ่ายเงินค่าคลื่น 700 MHz)

 

ข้ออ้างดังกล่าวนั้นไม่สมเหตุสมผล เมื่อพิจารณาว่าผู้ประกอบการมือถือทั้งสามรายไม่เต็มใจจ่ายเงินเพื่อใช้คลื่น 700 MHz (ตามราคาที่ กสทช. กำหนด) การยืดระยะเวลาชำระหนี้จึงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับข้ออ้างของรัฐ ที่ต้องการให้เอกชนมีเงินจากการผัดผ่อนหนี้มาจ่ายค่าใช้คลื่น 700 MHz ทั้งที่ค่ายมือถือทั้งสามรายก็มีผลประกอบการเป็นบวกทุกปี จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเท่านั้น

 

มายาคติ 3: ทีวีดิจิทัลได้รับผลกระทบจากการนำคลื่น 700 MHz มาจัดสรรสำหรับ 5G จึงต้องได้รับการเยียวยา

 

ทั้ง ม.44 และประกาศ กสทช. ระบุชัดเจนว่าให้มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการนำคลื่น 700 MHz มาจัดสรรใหม่ คำถามสำคัญคือ ทีวีดิจิทัลที่ให้บริการอยู่ในช่วงคลื่นความถี่ 510-790 MHz ได้รับผลกระทบอะไรจากการนำคลื่นย่าน 700 MHz มาจัดสรร

คำตอบสั้นๆ คือ “ไม่”

เหตุเพราะช่องทีวีเหล่านี้สามารถออกอากาศต่อไปได้โดยไม่ต้องทำอะไร แม้จะมีการนำคลื่น 700 MHz ไปจัดสรรสำหรับ 5G ก็ตาม

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คลื่นที่ทีวีดิจิทัลประมูลไปนั้นไม่ได้มีการจัดสรรช่วงคลื่นที่ชัดเจนเหมือนกรณีค่ายมือถือ แต่เป็นการใช้ร่วมกันบนช่วงคลื่น 510-790 MHz ช่วงคลื่นที่กำหนดไว้สำหรับบริการทีวีดิจิทัลนั้นจะถูกจัดการโดยผู้ให้บริการโครงข่ายหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า MUX ช่วงคลื่นดังกล่าวมีจำนวนเหลือเฟือในการให้บริการทีวีดิจิทัล เพราะสามารถรองรับการออกอากาศทีวีดิจิทัลได้ถึง 50 ช่อง ในขณะที่มีการจัดสรรไปก่อนหน้าเพียง 28 ช่อง (ช่องพาณิชย์ 24 ช่อง และช่องสาธารณะ 4 ช่อง)

สิ่งที่ กสทช. ทำในทางเทคนิค คือการให้ MUX ย้ายไปให้บริการบนช่วง 510-694 MHz ซึ่ง MUX อาจได้รับผลกระทบจากการต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการส่งสัญญาณบ้าง (กสทช. สามารถชดเชยตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง) แต่ช่องทีวีดิจิทัลไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการย้ายไปดำเนินการบนช่วงคลื่นที่กำหนดใหม่

เมื่อทีวีดิจิทัลสามารถให้บริการได้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร และคุณภาพของสัญญาณก็ไม่ได้ลดลงแต่ประการใด สายโซ่ของมายาคติที่บอกเราว่า ทีวีดิจิทัลได้รับผลกระทบจากการคืนคลื่น (เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศชาติจากการให้บริการ 5G) → คลื่น 700 MHz นำไปจัดสรรให้ค่ายมือถือในราคาที่กำหนด → เงินที่ค่ายมือถือจ่ายสำหรับการใช้คลื่น 700 MHz ถูกนำมาชดเชยทีวีดิจิทัล จึงขาดสะบั้นลงตั้งแต่แรก

 

 

เงินที่ใช้อุ้มทีวีดิจิทัลมีมูลค่ามากเพียงใด

 

นอกจากการถอดรื้อนิทานของ คสช. และ กสทช. แล้ว คำถามสำคัญถัดมาคือมาตรการอุ้มทีวีดิจิทัลครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของรัฐมากแค่ไหน เลขาธิการ กสทช. เคยให้สัมภาษณ์ว่าต้องใช้เงินกว่า 38,000 ล้านบาทในอุ้มทีวีดิจิทัล ทั้งช่องที่เลือกประกอบกิจการต่อและช่องที่คืนใบอนุญาต

 

สูตรการจ่ายเงินชดเชยทีวีดิจิทัล

 

ในประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชย อันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ได้กำหนดสูตรคำนวนเงินชดเชยให้กับทีวีดิจิทัล ดังนี้

 

[box]ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ชำระแล้ว x อายุใบอนุญาตในส่วนที่ไม่ใช้งานคลื่นความถี่/อายุใบอนุญาต[/box]

 

พูดให้เห็นภาพมากขึ้น สูตรข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า

ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ชำระแล้ว จะคิดจนถึงงวดที่ 4 ตามเงื่อนไขการประมูล (จากทั้งหมด 6 งวด)[1] ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 65-70% ของเงินประมูลสุดท้าย (ขึ้นอยู่กับว่าราคาตั้งต้นการประมูลต่างจากราคาสุดท้ายมากแค่ไหน)

อายุใบอนุญาตในส่วนที่ไม่ใช้งานคลื่นความถี่/อายุใบอนุญาต คำนวณจาก 9.5/15 ปี = 0.633 หรือ 63%

พูดง่ายๆ คือ ช่องที่คืนคลื่นความถี่ นอกจากจะไม่ต้องเสียเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้ายแล้ว ยังได้เงินคืนที่จ่ายไปแล้ว 4 งวดคืนอีก 63% นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 7 รายตัดสินใจคืนใบอนุญาต เพราะดีดลูกคิดแล้วเชื่อว่าต่อให้ประกอบกิจการต่อ ก็คงไม่ได้กำไรมากเท่ากับเงินชดเชย

 

นายทุนทีวีดิจิทัลที่ตัดสินใจไปต่อได้อะไร

 

ในกรณีของผู้ตัดสินใจประกอบกิจการต่อ นายทุนทีวีดิจิทัลจะได้รับการเยียวยาผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ 1) ค่าใบอนุญาตสองงวดสุดท้าย ซึ่งคิดเป็น 40% ของเงินที่เกินกว่าราคาประมูลขั้นต่ำ รวมกันเป็นเงินกว่า 10,000 ล้านบาท และ 2) ค่าเช่า MUX และดาวเทียมตลอดช่วงระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลืออยู่ (10 ปี) ซึ่งสำนักงาน กสทช. คาดว่าจะต้องใช้เงินมากกว่า 18,000 ล้านบาท

แต่จากการคำนวณค่าเช่า MUX และค่าดาวเทียมของช่องที่ กสทช. เยียวยารวมกันทั้งหมด (15 ช่องทีวีพาณิชย์ที่ไปต่อ + 4 ช่องทีวีสาธารณะ คือ ช่อง 5 กองทัพบก, ไทยพีบีเอส, ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และทีวีรัฐสภา) พบว่าตัวเลขดังกล่าวอาจสูงเกิน 20,000 ล้านบาท ดังนั้นเงินชดเชยส่วนนี้รวมกันจะอยู่ที่ 28,000-30,000 ล้านบาท

เรียกได้ว่าผู้ตัดสินใจประกอบกิจการต่อนั้นสามารถลดต้นทุนไปได้มหาศาล ส่วนที่ กสทช. คาดหวังว่านายทุนเหล่านี้จะเอาเงินที่ประหยัดได้รวมกันหลายหมื่นล้านมาลงทุนกับเนื้อหา “ดีๆ” นั้น สังคมคงต้องคอยติดตามดูกันต่อไป

 

นายทุนทีวีดิจิทัลที่ตัดสินใจหยุดได้อะไร

 

หากเชื่อว่าผู้ประกอบกิจการต่อได้ลาภลอยโดยไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาตและค่า MUX แล้ว เราคงต้องบอกว่าผู้ตัดสินใจคืนใบอนุญาตทั้ง 7 ราย (ช่อง 3SD, ช่อง Spring 26, ช่อง Voice TV, ช่อง Spring News 19, ช่อง Bright TV, ช่อง 3 Family, ช่อง MCOT Family) นั้นโชคดียิ่งกว่าก็ว่าได้ เพราะนอกจากไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแล้ว กลับได้เงินคืนจากการเลิกประกอบกิจการด้วย

แล้วประชาชนต้องเสียอะไรจากการที่รัฐเอาเงินไปแจกคืนให้กับทีวีที่เลิกประกอบกิจการบ้าง?

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราจะแจกแจงให้เห็นถึงทางเลือกที่เป็นไปได้ในการจัดการกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ต้องการเลิกประกอบกิจการ โดยแบ่งเป็น 4 ทางเลือก

ทางเลือกแรกคือ ทั้ง 7 ช่องต้องรับผิดชอบจ่ายค่าคลื่นทั้งหมด 100% ตามราคาประมูลสุดท้าย ซึ่งรวมกันคิดเป็นเงิน 9,747 ล้านบาท (ไม่คำนวณ VAT) ทางเลือกแรกนี้คือกรณีที่ไม่มีการช่วยเหลือใดๆ เลย

ทางเลือกที่สองคือ ทั้ง 7 ช่องจ่ายเงินมาถึงงวดที่ 4 และไม่ต้องจ่ายเงินงวดที่ 5 และ 6 ที่เหลืออยู่ ซึ่งรวมกันคิดเป็นเงิน 6,528 ล้านบาท หรือประมาณ 66.9% ของเงินที่ต้องได้รับตามราคาประมูลสุดท้าย

ทางเลือกที่สามคือ ทั้ง 7 ช่องจ่ายเงินตามจำนวนระยะเวลาที่ใช้คลื่นความถี่ หรือประมาณ 5 ปี 6 เดือน จากทั้งหมด 15 ปี ในกรณีนี้ทั้ง 7 ช่องต้องจ่ายเงินรวมกัน 3,574 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36.6% ของเงินที่ต้องได้รับตามราคาประมูลสุดท้าย

และทางเลือกที่สี่ คือทางที่ กสทช. เลือก โดยช่วยเหลือตามสูตรคำนวณข้างต้น กรณีนี้พบว่า ทั้ง 7 ช่องต้องจ่ายเงินเพียง 2,416 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.4% ของเงินที่ต้องได้รับตามราคาประมูลสุดท้ายเท่านั้น

เรียกได้ว่า กสทช. สร้างสูตรคำนวณที่แจกเงินให้ผู้ประกอบการไปไกลกว่าระยะเวลาที่ใช้จริงอีกด้วย

เมื่อพิจารณาทางเลือกต่างๆ แล้ว ในกรณีที่ทีวีดิจิทัลช่องไหนประสบกับภาวะขาดทุนรุนแรงและไม่ต้องการประกอบกิจการต่อ ทางเลือกในการช่วยเหลือที่เหมาะสมที่สุดคือ ทางเลือกที่สอง กล่าวคือ การเปิดช่องให้ทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ โดยไม่ควรมีมาตรการชดเชยเพิ่มเติม เพราะเพียงแค่ไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาต 2 งวดสุดท้าย ก็ถือว่าผู้ประสงค์เลิกกิจการได้ประโยชน์มากอยู่แล้ว (7 เจ้ารวมกัน คิดเป็นเงินมากกว่า 3,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับทางเลือกแรกที่ต้องจ่ายเต็ม)

ส่วนทางเลือกที่สี่ของ กสทช. นั้น ถือเป็นการชดเชยที่เอื้อเอกชนมากเกินไป เพราะไม่เพียงแต่คืนเงินชดเชยเท่านั้น แต่ยังแถมเงินให้ช่องทีวีมากเกินกว่าระยะเวลาที่ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ของสาธารณะ (ทางเลือกที่ 3) ด้วย ซึ่งรวมเป็นเงินกว่า 4,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการชดเชยที่เหมาะสมตามทางเลือกที่สอง

 

ทีวีดิจิทัลสมควรได้รับการเยียวยาจริงหรือไม่?

 

เมื่อข้ออ้างที่ว่าทีวีดิจิทัลได้รับผลกระทบจากการนำคลื่นที่ตนให้บริการไปจัดสรรใหม่นั้นฟังไม่ขึ้นอีกต่อไป แถมเงินที่ใช้อุ้มนั้นยังมีมูลค่ามหาศาล คำถามต่อไปคือรัฐควรอุ้มทีวีดิจิทัลหรือไม่

คนทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวพันกับทีวีดิจิทัลคงตอบว่า “ไม่” เพราะการทำธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าทุนที่กระโดดเข้ามาทำทีวีดิจิทัลในช่วงหลังนั้น หลายเจ้าเป็นทุนใหญ่ที่สามารถแบกรับการขาดทุนได้ (ถ้าขาดทุนจริง) หากรัฐจะเข้าอุ้มทีวีดิจิทัลจริง คสช. และ กสทช. คงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการปล่อยให้ทีวีดิจิทัลบางช่องตายไป จะส่งผลกระทบกับผลประโยชน์สาธารณะอย่างมาก แต่ที่ผ่านมายังไม่มีอะไรพิสูจน์ให้เห็นว่านายทุนทีวีดิจิทัล ทำอะไรเพื่อเป็นการสร้างผลประโยชน์สาธารณะให้กับสังคมถึงขนาดต้องนำเงินสาธารณะไปไล่ชดเชย

นอกจากนั้น คนที่ได้ประโยชน์จากมาตรการลดแลกแจกแถมอุ้มทีวีดิจิทัลไปเต็มๆ คือนายทุนสื่อ ไม่ใช่คนในวิชาชีพสื่ออย่างนักข่าว โปรดิวเซอร์ ช่างกล้อง ช่างแต่งหน้า ผู้ผลิตเนื้อหา ฯลฯ

อันที่จริง มีการคาดการณ์กันในอุตสาหกรรมสื่อว่า หาก กสทช. ไม่มีมาตรการชดเชยหลายร้อยล้านให้กับผู้ที่คืนคลื่น ก็จะไม่มีช่องไหนตัดสินใจเลิกกิจการ เพราะไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาตและค่า MUX แล้ว ในกรณีนี้ ลูกจ้างที่ทำงานให้กับทั้ง 7 ช่องนั้นก็ไม่ต้องตกงาน

 

ทุนเจ้าไหนได้ประโยชน์จากมหกรรมการอุ้มครั้งนี้ที่สุด

 

มหกรรมลดแลกแจกแถมครั้งนี้ดูจะให้ประโยชน์กับค่ายมือถือและนายทุนทีวีดิจิทัลกันอย่างทั่วถึง ค่ายมือถือได้ประโยชน์จากการยืดระยะเวลาชำระหนี้คลื่น 900 MHz เป็นเม็ดเงินเกือบสองหมื่นล้านบาท รวมถึงอาจโชคดีได้คลื่น 700 MHz ไปในราคาที่ถูกกว่ากรณีที่มีการแข่งขัน แม้จะยังไม่รู้ว่าจะนำคลื่นดังกล่าวไปใช้ได้จริงเมื่อไรก็ตาม

ส่วนนายทุนทีวีดิจิทัลนั้นก็ได้ประโยชน์กันถ้วนหน้าไม่แพ้กัน เงินอุ้มกว่า 38,000 ล้านบาทที่ กสทช. ประกาศอย่างภาคภูมิใจ (ช่างย้อนแย้งที่หน่วยงานรัฐรู้สึกภูมิใจที่ได้ใช้เงินจำนวนมหาศาลไปช่วยเอกชน แต่ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะต้องการประกาศให้ค่ายมือถือรู้ว่าต้องจ่ายเงินมากขนาดไหนในการใช้คลื่น 700 MHz) ก็สะท้อนถึงผลประโยชน์มหาศาลที่ทุนทีวีและผู้ให้บริการ MUX จะได้รับ

คำถามคือ ทุนไหนที่ได้ประโยชน์มากเป็นพิเศษจากมหกรรมอุ้มครั้งนี้[2]

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า TRUE กลุ่มทุนที่ประกอบกิจการทั้งในฝั่งโทรคมนาคมและกิจการโทรทัศน์ เป็นหนึ่งในกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะไม่เพียงได้โชคจากการยืดระยะเวลาคืนคลื่น (ดร.สมเกียรติ คำนวณตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท) แต่ช่องโทรทัศน์ TNN และ TRUE4U ยังได้ประโยชน์จากการประกอบกิจการต่อโดยไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาตอีก 2 งวด และค่า MUX คิดรวมกัน 2 ช่องมีมูลค่ากว่า 2,300 ล้านบาท

ทางด้านกลุ่มทุนฉาย บุนนาค ซึ่งตัดสินใจคืน 2 ช่อง คือ Spring News และ Spring 26 (ซึ่งเปลี่ยนชื่อจาก Now 26 หลังจากเทคโอเวอร์ Nation) ก็ได้ประโยชน์จากการคืนใบอนุญาตทั้ง 2 ช่อง คาดว่าจะได้รับเงินชดเชยไปกว่า 1,400 ล้านบาท ไม่นับรวมค่าใบอนุญาตที่ไม่ต้องเสียอีก 2 งวด ประมาณ 1,160 ล้านบาท ส่วนอีกช่อง คือ Nation TV ที่ยังเดินหน้าต่อ ประมาณการว่าได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือเกือบ 1,000 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มทุนช่อง 3 ก็ได้ประโยชน์จากการคืนใบอนุญาตช่อง 3 SD และช่อง 3 Family โดยได้รับเงินชดเชยจากการคืนคลื่น 1,200 ล้านบาท ไม่นับรวมค่าใบอนุญาต 2 งวดสุดท้ายที่ไม่ต้องจ่าย 650 ล้านบาท อีกทั้งช่อง 3 HD ที่ยังประกอบกิจการต่อ ก็ได้ประโยชน์จากการไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาต 2 งวดสุดท้าย กับค่า MUX ที่เหลือ รวมเป็นเงินกว่า 2,400 ล้านบาท

ในขณะที่ช่อง Amarin TV และ GMM 25 ซึ่งมีกลุ่มทุนของตระกูลสิริวัฒนภักดีกระโดดเข้ามาลงทุนในช่วงหลัง ได้ประโยชน์รวมเป็นเงินประมาณ 3,700 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มทุนปราสาททองโอสถที่มีช่อง PPTV ของตนเอง และเข้าไปลงทุนในช่อง GMM One 31 ซึ่งเป็นช่องความคมชัดสูงทั้งคู่ ก็ได้ประโยชน์ประมาณ 4,800 ล้านบาท

ผู้ที่ได้ประโยชน์จากดีลอุ้มทีวีดิจิทัลครั้งนี้อีกรายที่คนไม่ค่อยพูดถึง คือผู้ให้บริการ MUX อย่างสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ MUX สองโครงข่าย (ที่กองทัพบกได้ MUX ถึง 2 ช่อง เพราะ กสทช. ไปเจรจาต่อรองให้ยุติสัญญาสัมปทานคลื่นอนาล็อกก่อนกำหนด แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้น) มีช่องเช่าใช้บริการเยอะที่สุด รวมถึงในบรรดา 7 ช่องที่คืนใบอนุญาต ก็มีเพียง 2 ช่อง คือ Bright TV กับ Spring 26 ที่เช่าใช้โครงข่ายของกองทัพบก ส่วน MUX ของ อสมท. ได้รับผลกระทบจากการคืนใบอนุญาตมากที่สุด เพราะมี 3 ช่องที่ใช้บริการ MUX ของ อสมท. อยู่ (Spring News, Voice TV และ MCOT Family ส่วน MUX ของไทยพีบีเอสมี 2 ช่องที่ใช้บริการอยู่ (ช่อง 3 SD กับ 3 Family) อีกทั้งได้รับผลกระทบจากการเลิกกิจการของช่อง LOCA กับไทยทีวีของเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล (พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย) ไปก่อนหน้าแล้ว

ผู้ให้บริการ MUX นั้นต้องเผชิญกับแรงกดดันให้ลดค่า MUX อย่างต่อเนื่อง โดยอำนาจต่อรองเป็นของช่องมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน MUX ทั้งหมด 5 โครงข่ายนั้นสามารถให้บริการช่องได้ 38 ช่องสัญญาณ แต่มีช่องที่ให้บริการลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นการที่ กสทช. นำเงินชดเชยมาจ่ายค่า MUX จึงถือเป็นการการันตีรายได้ให้กับสถานีกองทัพบกไปอีก 10 ปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท

 

บทสรุป: รัฐเอื้อทุน ประชาชนเสียอะไร

 

นิทานของเหล่า ‘คณะรักษาผลประโยชน์นายทุนสื่อสารแห่งชาติ’ (คสช. + กสทช.) ที่กล่อมประชาชนให้เชื่อว่า “5G มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในเวลานี้ จึงต้องนำคลื่น 700 MHz คืนจากทีวีดิจิทัล เพื่อมาจัดสรรให้ผู้ประกอบการมือถือ โดยต้องนำเงินจากการจัดสรรมาชดเชยให้ทีวีดิจิทัลซึ่งได้รับผลกระทบ และเลื่อนการชำระหนี้คลื่น 900 MHz เพื่อให้มีเงินมาลงทุน 5G” สามารถเล่าใหม่สั้นๆ ว่า “คสช. รวมหัวกับ กสทช. เอื้อทุนสื่อสาร ด้วยเงินสาธารณะหลายหมื่นล้าน”

ในความเป็นจริง 1) ค่ายมือถือยังไม่ได้อยากคลื่น 700 MHz มาทำ 5G เพราะเทคโนโลยีและตลาดยังไม่พร้อม อีกทั้งภาครัฐและ กสทช. ก็ยังไม่ได้เตรียมนโยบายเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จาก 5G  2) ทีวีดิจิทัลไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการนำคลื่น 700 MHz มาจัดสรรใหม่ จึงไม่ควรได้รับเงินชดเชย  3) ค่ายมือถือมีผลกำไรทุกปี และมีทุนพร้อมสำหรับจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz ดังนั้นมหกรรมอุ้มทุนสื่อสารครั้งนี้จึงล้วนเป็นเรื่องหลอกลวงที่ทำเพื่อประโยชน์ของนายทุนเท่านั้น ส่วนประชาชนนั้นเสียประโยชน์หลายหมื่นล้าน หรืออาจแตะแสนล้านก็ว่าได้

นอกจากนี้ หากพิจารณาบทบาทของสื่อในฐานะ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ การที่รัฐอุ้มทีวีดิจิทัลย่อมส่งผลต่อการทำงานของหมาเฝ้าบ้านอย่างแน่นอน เรียกได้ว่ารัฐเอาเงินของประชาชนไปเอื้อทุนสื่อสาร ส่วนประชาชนอาจได้หมาเชื่องๆ ทำหน้าที่เลียอำนาจรัฐ มากกว่าหมาที่คอยเห่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนก็ว่าได้

 


 

เชิงอรรถ

[1] เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือค่าธรรมเนียมในส่วนของราคาตั้งต้นการประมูล โดยแบ่งจ่ายเป็น 4 งวด งวดที่หนึ่ง 50% งวดที่สอง 30% งวดที่สาม 10% และงวดที่สี่ 10%  ส่วนที่สองคือค่าธรรมเนียมในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ แบ่งจ่ายเป็น 6 งวด งวดที่หนึ่งและสอง งวดละ 10% งวดที่สามถึงหก งวดละ 20% พูดอย่างเป็นรูปธรรม หากช่อง ก. ประมูลคลื่นทีวีความคมชัดมาตรฐานแบบทั่วไป (SD) ในราคา 2,380 ล้านบาท จะแบ่งเป็นราคาตั้งต้นประมูล 380 ล้านบาท (จ่าย 4 งวดทั้งหมด) และส่วนเกินจากราคาขั้นต่ำ 2,000 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ชำระ 4 งวดจะคิดเป็น 60% คือ 1,400 ล้านบาท

[2] การคำนวณเงินชดเชยนั้น ถ้าเป็นกรณีช่องที่คืนคลื่น ก็ยึดสูตรคำนวณของ กสทช. คือ เงินค่าใบอนุญาตถึงงวดที่ 4 x 5.5/15 ส่วนกรณีช่องที่ประกอบกิจการต่อ จะคำนวณจากค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 ซึ่งได้รับการยกเว้น (40% ของเงินประมูลส่วนเกินจากราคาตั้งต้น) รวมถึงค่าเช่า MUX และดาวเทียม ซึ่งกรณีของช่องความคมชัดทั่วไป จะตกประมาณปีละ 55 ล้านบาท ส่วนช่องความคมชัดสูง ปีละ 165 ล้านบาท

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save