เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการพัฒนาประชาธิปไตยสมัยใหม่ในลาตินอเมริกา

เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการพัฒนาประชาธิปไตยสมัยใหม่ในลาตินอเมริกา

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

หัวข้อสำคัญข้อหนึ่งที่ไม่เคยพ้นไปจากวงถกเถียงเรื่องกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยคือเรื่อง ‘ปัจจัยทางเศรษฐกิจ’ นักวางแผนนโยบายและนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์จำนวนมากมักตั้งข้อสันนิษฐานว่าถ้าหากประเทศได้รับการพัฒนาด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแล้ว ความเท่าเทียมในสังคมก็ย่อมจะเกิดขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยเอื้ออำนวยให้ระบอบประชาธิปไตยธำรงอยู่ได้

บ่อเกิดของข้อสันนิษฐานทำนองนี้ สาเหตุหลักมาจากสองอย่าง อย่างแรกคือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า ‘ทฤษฎีการทำให้เป็นสมัยใหม่’ (modernization theory) และอย่างที่สองคือโมเดลจากประเทศที่ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จและมีเสถียรภาพเพราะใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เช่นในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ผู้ที่สมาทานแนวทางนี้เชื่อว่าถ้าหากประเทศด้อยพัฒนาหันมาปรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ในอนาคตก็ย่อมจะพัฒนากลายเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจเจริญเติบโตมากขึ้นได้เฉกเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว กล่าวอย่างง่ายก็คือ เป็นการนำแนวคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free-market economy) เข้ามายึดโยงกับระบอบประชาธิปไตย โดยเชื่อว่าระบบตลาดเสรีย่อมจะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็จะช่วยส่งเสริมแนวคิดที่เรียกว่าปัจเจกชนนิยมเสรี (liberal individualism) ผลที่ตามมาคือสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ทัศนคติของประชาชนและสถาบันมีความเกี่ยวเนื่องกับระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับหลายประเทศกลับขัดกันกับข้อสันนิษฐานและทฤษฎีข้างต้น การใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีไม่จำเป็นต้องส่งผลหรือเกี่ยวเนื่องใดๆ กับประชาธิปไตยเสมอไป ดังเช่นกรณีประเทศชิลีสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารนายพลเอากุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1973-1990 รัฐบาลปิโนเชต์ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมสุดขั้ว แต่ในเวลาเดียวกันก็ปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการทหาร อย่างไรก็ตามแนวคิดจากทฤษฎีการทำให้เป็นสมัยใหม่และการยึดโยงนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเข้ากับประชาธิปไตยก็ยังคงอบอวลอยู่มาก สาเหตุสำคัญเป็นเพราะช่วงที่รัฐบาลทหารในลาตินอเมริกาเริ่มพากันลงจากอำนาจและเปิดทางให้กับระบอบประชาธิปไตย เป็นช่วงเดียวกันกับที่รัฐบาลในหลายประเทศประกาศปรับโฉมนโยบายเศรษฐกิจให้เป็นแบบเสรีนิยมและลดอำนาจรัฐในระบบเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินและหนี้สาธารณะที่ย่ำแย่มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 (debt crisis) นั่นเอง

ในแง่หนึ่งต้องยอมรับว่าวิกฤตการณ์ทางการคลังและปัญหาหนี้สาธารณะถือเป็นตัวเร่งที่ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารต้องยอมถอยลงจากอำนาจไวขึ้น แต่ในอีกแง่ก็ต้องตระหนักเช่นกันว่าวิกฤตหนี้เป็นแรงกดดันที่ทำให้รัฐบาลพลเรือนที่รับช่วงต่อจำเป็นต้องปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น ใช้นโยบายที่รัดเข็มขัดการคลังแน่นขึ้น ลดอำนาจและกิจการของรัฐ ส่งเสริมภาคเอกชน เน้นระบบตลาดเสรี เป็นต้น ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้เราพอจะเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดในช่วงแรกนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่จึงได้รับการยอมรับและถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย

นักการเมืองบางคนในสหรัฐอเมริกาถึงกับเรียกปรากฏการณ์การกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยพร้อมๆ กับการใช้นโยบายเน้นตลาดเสรีในลาตินอเมริกาว่าเป็น ‘ประชาธิปไตยโดยตลาด’ (market democracy) ด้วยซ้ำ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หลักฐานจากการศึกษาหลายชิ้นตั้งข้อสังเกตว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นแบบเสรีนิยมมักขัดกันกับการสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง นักวิชาการจำนวนมากตั้งข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า ผลสืบเนื่องจากการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจให้เป็นเสรีนิยมใหม่สร้างผลดีหรือผลเสียทางสังคมและเศรษฐกิจมากกว่ากัน และโดยมากมักอธิบายกันว่าออกไปในทางลบมากกว่า

การศึกษาบทบาทของปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษในช่วงที่เศรษฐกิจโลกประสบวิกฤตหนักเมื่อปี ค.ศ. 2008-2009 งานของ Diamond [1] ชี้ให้เห็นว่าประเทศที่อยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยเกิดใหม่ (emerging democracy) ฝ่าฝันวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นไปได้ดีพอสมควร ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งที่ Diamond อธิบายไว้คือเพราะปัญหาความลุ่มๆ ดอนๆ ของสภาพเศรษฐกิจอย่างมากก็แค่ส่งผลให้รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยช่วงนั้นพ่ายแพ้ ครั้งหน้าประชาชนไม่เลือกแล้ว ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้ส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยทั้งหมดล่มสลายดังในอดีต

อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไปไม่น้อยคือเรื่องความมีเสถียรภาพทางการเมืองและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนยิ่ง ในแง่หนึ่งงานศึกษาวิเคราะห์หลายชิ้นพบว่าถ้าหากรัฐบาลทำงานได้ไม่เท่ากับที่ประชาชนหวังไว้ สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ สิ่งนี้ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ แต่ปัญหาคือข้อมูลที่มีในปัจจุบันยังไม่สามารถชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนได้ว่าระดับความพึงพอใจของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตยสัมพันธ์กันกับการเพิ่มขึ้นของ GDP ในลาตินอเมริกา ที่มากไปกว่านั้นคือระดับความพึงพอใจของประชาชนต่อ ‘ระบบเศรษฐกิจที่เน้นตลาดเสรี’ กับระดับความพึงพอใจต่อรัฐบาลที่ปรับใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเน้นตลาดเสรีอย่างสุดโต่ง มีลักษณะย้อนแย้งกันด้วย ข้อมูลของ Latinobarómetro [2] ระบุว่ามีแค่ 4 ประเทศ (ปานามา, ชิลี, อาร์เจนตินา, เอลซัลวาดอร์) เท่านั้นที่ประชาชนจำนวนน้อยกว่าครึ่งตอบว่าตนสนับสนุนระบบเศรษฐกิจที่เน้นตลาดเสรี แต่ใน 4 ประเทศนี้ช่วงนั้นไม่มีประเทศใดเลยที่กำลังดำเนินการปรับใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเน้นตลาดเสรีอย่างสุดโต่ง ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือมีประชาชนในชิลีจำนวนไม่น้อยที่ตอบแบบสอบถามของ Latinobarómetro ว่าตนสงสัยในประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจแบบเน้นตลาดเสรี ทั้งๆ ที่ชิลีเคยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในการปรับใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่

ในรายงานของ UNDP [3] ระบุว่าลาตินอเมริกามีความโดดเด่นมากเป็นพิเศษ เป็นภูมิภาคกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างสาหัสมาเป็นเวลานาน แต่ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนผ่านไปเป็นภูมิภาคที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบมากขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม เรามักเห็นประเทศที่ร่ำรวยและมีกำลังทางเศรษฐกิจมากกว่าจึงจะมีระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพมากกว่า โจทย์สำคัญที่เราต้องหาคำตอบกันต่อไปคือ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อการสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

อัตราการเจริญเติบโตของ GDP โดยรวมในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนมีลักษณะไม่คงที่ แกว่งไปมาอยู่เสมอ ในปี ค.ศ. 2005 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีค่าเฉลี่ยทั้งภูมิภาคอยู่ที่ร้อยละ 3.5 แต่พอเข้าปี ค.ศ. 2014 ลดลงมาเหลือแค่เพียงร้อยละ 0.4 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของลาตินอเมริกาเปราะบางต่อกระแสเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก[4]

ลาตินอเมริกาในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาอัตราการเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) ในบางประเทศก็เริ่มฟื้นขึ้น กระทั่งในปี ค.ศ. 2004 ก็พุ่งขึ้นมาอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจโลกเจอวิกฤตในปี ค.ศ. 2010 ราคาสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ปรับตัวต่ำลง รายได้ประชาชาติต่อหัวจึงกลับมามีแนวโน้มลดลงนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ารายได้ประชาชาติต่อหัวที่เป็นภาพรวมของภูมิภาคลาตินอเมริกาจะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายไปตามความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในแต่ละช่วง อันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตและปากท้องของผู้คนในภูมิภาคเปราะบางต่อตัวแปรจากภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ในเวลาเดียวกันเราต้องไม่ลืมว่ารายได้ประชาชาติต่อหัวของแต่ละประเทศภายในภูมิภาคเองก็แตกต่างมากเช่นกันเพราะแต่ละแห่งต่างก็มีแนวนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและการเมืองที่ซับซ้อนและไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นในปี ค.ศ. 2014 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลาลดดิ่งลงเพราะทั้งสองประเทศมีนโยบายเศรษฐกิจที่ปิดกั้นตัวเองจากภายนอก ซ้ำยังมีนโยบายหลายประการที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ขณะที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันและปานามาในปีเดียวกันมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่ามากเพราะดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจต่างไปจากประเทศกลุ่มแรก

โจทย์เรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ในอนาคตถือเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่ประชาชนในภูมิภาคลาตินอเมริกาใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งเช่นในบริเวณอื่นๆ ของโลก เราอาจกล่าวได้ว่าการมีระบอบประชาธิปไตยที่ทำงานได้อย่างลื่นไหล มีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้การตัดสินใจเลือกนักการเมืองหรือพรรคการเมืองในแบบที่ตนต้องการได้ ถ้าหากรู้สึกว่าสภาพบ้านเมืองและชีวิตของตน ณ ปัจจุบันไม่ดี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีในอาร์เจนตินาประจำปี ค.ศ. 2015 ถือเป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงข้อสังเกตนี้ได้เป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลา 12 ปีก่อนหน้านั้นพรรคที่ได้ขึ้นเป็นรัฐบาลล้วนแล้วแต่เป็นฝ่ายที่มีแนวคิดประชานิยมเอียงซ้ายแบบเปรอนนิสต์ (Peronism) ซ้ำแล้วสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นก็ย่ำแย่เป็นอย่างมาก ประชาชนจึงเลือกคนจากฝั่งอื่นที่ไม่ใช่ฝ่ายเดิมขึ้นมาแทน ซึ่งก็คือเมาริซิโอ มากริ (Mauricio Macri) ผู้แทนจากพรรคเอียงขวา[5] ซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่กระทั่งปัจจุบัน มีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้นในบราซิลไม่นานมานี้ สาเหตุหนึ่งที่มีการเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลและมีความพยายามฟ้องให้ขับประธานาธิบดีจิลมา ฆุสเซฟออกจากตำแหน่งก็เพราะสภาพเศรษฐกิจบราซิล ณ ขณะนั้นอยู่ในช่วงขาลงเป็นอย่างมากนั่นเอง[6]

 

ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

 

ถึงแม้ว่าปัญหาความยากจนในลาตินอเมริกาจะอยู่ในระดับที่สูงมาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้สัดส่วนประชาชนที่ยากจนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายรัฐของหลายประเทศเองก็พยายามออกนโยบายเพื่อบรรเทาปัญหาความยากจนและประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาคมากพอสมควร

แม้การลดลงของระดับความยากจนในลาตินอเมริกาจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ตัวเลขที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เราเห็นแท้จริงแล้วไม่ได้แปลว่าปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นเป็นวงจรมาโดยตลอดจะหายไปแล้วแต่อย่างใด จำนวนผู้คนที่ใช้ชีวิตประวันอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (poverty line) ยังคงมีระดับสูง ในรายงานของ ECLAC (2015d) [7] ระบุว่าค่าเฉลี่ยของอัตราความยากจน (poverty) และความยากจนมาก (indigence) ประจำปี ค.ศ. 2014 อยู่ที่ร้อยละ 28.2 และร้อยละ 11.8 ของจำนวนประชาชนทั้งหมดตามลำดับ เป็นตัวเลขเดียวกับปี ค.ศ. 2013 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง รายงานฉบับดังกล่าวประมาณการณ์ไว้ด้วยว่าอัตราความยากจนและความยากจนมากมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งนั่นจะหมายถึงว่าประชาชนราว 175 ล้านคนทั้งภูมิภาคเป็น ‘ผู้ยากจนที่มีรายได้ต่ำ’ (income poor) และ 75 ล้านคนจากจำนวนดังกล่าวประสบปัญหาความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty)

นอกจากนี้ ถึงแม้รัฐบาลหลายประเทศจะพยายามออกนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแล้วก็ตาม แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังธำรงอยู่ ซ้ำแล้วลาตินอเมริกาทุกวันนี้ก็ยังเป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกอีกด้วย[8] ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงยังทำหน้าที่เป็นตัวแปรสำคัญในการเมืองลาตินอเมริกาอยู่เช่นเดิม และไม่ใช่แค่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เรากำลังพูดถึง แต่หมายรวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ในสังคมด้วย[9] ส่วนมากค่ามาตรฐานที่ใช้วัดปัญหาความเหลื่อมล้ำคือค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่มีค่าระหว่าง 0 และ 1 หากตัวเลขยิ่งต่ำจะแสดงถึงการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น หากค่านี้สูงจะบ่งชี้ถึงการกระจายรายได้ที่เหลื่อมล้ำกันมากขึ้น และหากสัมประสิทธิ์จีนีที่เท่ากับ 0 ก็จะหมายความว่าการกระจายรายได้เท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ ส่วน 1 หมายถึงความเหลื่อมล้ำอย่างสมบูรณ์ ค่าสัมประสิทธิ์จีนีของประเทศเฮติ โคลอมเบียและบราซิลประจำปี ค.ศ. 2013 ชี้ว่าทั้งสามประเทศนี้มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในลาตินอเมริกา ส่วนประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุดคืออุรุกวัย

รายงานของ ECLAC กล่าวว่าถึงแม้ค่าเฉลี่ยความเหลื่อมล้ำของรายได้ (income inequality) ในลาตินอเมริกามีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2010 อย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ความเหลื่อมล้ำทางด้านอื่นๆ ก็ยังคงเป็นปัญหา อาทิ ความเหลื่อมล้ำในการได้รับการศึกษา ในรายงานของ ECLAC ชี้ให้เห็นตัวอย่างความเหลื่อมล้ำข้อหลังนี้ว่าในปี ค.ศ. 2013 ประชาชนในลาตินอเมริกาที่มีอายุระหว่าง 20-24 ปีและอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูงที่สุดสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษามากถึงร้อยละ 80 ในขณะที่กลุ่มประชาชนซึ่งช่วงอายุเดียวกันแต่มีรายได้ต่ำที่สุดในกลุ่ม เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาเพียงแค่ร้อยละ 34 เท่านั้น[10]

 

ปัญหาการว่างงาน

 

ปัญหาข้อหนึ่งที่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมแก้ไม่ได้คือเรื่องงานและปัญหาการว่างงาน กล่าวคือ การปรับมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีไม่ก่อให้เกิดงานในจำนวนที่มากพอที่จะทำให้อัตราการว่างงานและอัตราความเหลื่อมล้ำลดลงได้

อันที่จริงแล้วปัญหาการว่างงานถือเป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนมากในลาตินอเมริกากังวลใจมากที่สุดเป็นอันดับสองรองปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวันเสียด้วยซ้ำ[11] แนวโน้มและทิศทางของตลาดแรงงานมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับการขจัดปัญหาความยากจนอย่างมีนัยยะสำคัญ หากรัฐต้องการลดปัญหาความยากจนให้ประสบความสำเร็จ ก็ย่อมจำเป็นจะต้องหาทางสร้างให้มีงานสำหรับประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าอัตราการจ้างงานจะมากขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรอย่างเช่นความผันผวนของเศรษฐกิจโลกด้วย

ดังนั้นถ้าเราพิจารณาดูอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 หรือช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินเป็นต้นมาที่มีแนวโน้มลดลง ย่อมจะเห็นได้ว่าความสามารถในการสร้างงานที่ดี มีคุณภาพของทั้งภูมิภาคก็มีทิศทางดิ่งลงเช่นเดียวกันด้วย แม้ว่าอัตราว่างงานโดยเปิดเผยในเมือง (urban open unemployment rate) ทั่วลาตินอเมริกาจะลดลงจากร้อยละ 6.2 ในปี ค.ศ. 2013 เหลือร้อยละ 6.0 ในปีต่อมา แต่เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของการลดลงกลับไม่ใช่เพราะว่ามีการสร้างงานเพิ่มมากขึ้น หากแต่เป็นเพราะอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (labor force participation rate หมายถึงจำนวนผู้ที่มีงานทำและผู้ที่กำลังหางานทำ) ลดลงเป็นอย่างมากเสียต่างหาก ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานในลาตินอเมริกาเริ่มปรับตัวเชื่องช้าลง[12] ปัญหาการว่างงานของแรงงานวัยหนุ่มสาวก็ถือเป็นปัญหาที่น่ากังวลใจมากเป็นพิเศษไม่น้อยไปกว่าด้านอื่น ผลการศึกษาพบว่าแรงงานวัยหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18-29 ปี ทุกๆ 1 ใน 4 คนไม่ได้เรียนหรือทำงานใดๆ เลย หลายครั้งการว่างงานของแรงงานวัยรุ่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงด้วยซ้ำ

รายงานของ UNDP [13] ชี้ให้เห็นว่าคุณภาพของงานโดยทั่วไปในลาตินอเมริกาลดลงตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ซ้ำแล้วผู้คนอีกจำนวนมากในปัจจุบันก็ทำงานอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ (informal sector) โดยไม่ได้รับการคุ้มครองจากสวัสดิการแรงงานของรัฐอย่างเช่นประกันสังคมหรือสิทธิแรงงานอื่นๆ แต่อย่างใด สัดส่วนของแรงงานรับจ้าง (wage workers) ในลาตินอเมริกา (ไม่รวมแรงงานทำงานบ้าน) อยู่ที่ร้อยละ 65.7 ของประชากรในภูมิภาคทั้งหมดที่มีงานทำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเกือบร้อยละ 20 ของแรงงานรับจ้างอยู่นอกระบบ ไม่มีประกันสังคมรองรับใดๆ[14]

แม้ว่าปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำและการว่างงานจะยังธำรงอยู่ แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 2000 รู้สึกว่าตนมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้น ข้อมูลของ Latinobarómetro บ่งชี้ว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 เป็นต้นมาผู้คนในลาตินอเมริการู้สึกว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งในระดับประเทศและระดับบุคคล อีกทั้งยังรู้สึกว่าการกระจายรายได้สังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้นด้วย ผลการสำรวจความรู้สึกของประชาชนต่อความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่จัดทำโดย Latinobarómetro เมื่อปี ค.ศ. 2013 แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการทำการสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 2001 ว่าผู้คนในลาตินอเมริกาจำนวนมากถึงร้อยละ 25 ตอบว่าตนรู้สึกว่าการกระจายรายได้ ‘มีความเป็นธรรม’[15]

อย่างไรก็ตาม การที่ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในลาตินอเมริกายังคงอยู่ในระดับสูงทำให้เราต้องตั้งคำถามต่อไปว่าการพัฒนาเศรษฐกิจสัมพันธ์กันกับประชาธิปไตยหรือไม่อย่างไร ที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้นักวิชาการหลายคนไม่เห็นด้วยกับ ‘ทฤษฎีการทำให้เป็นสมัยใหม่’ ในหลายๆ มิติ

ข้อโต้แย้งที่พยายามชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีนี้ไม่เป็นจริงเสมอไปคือเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เชื่อว่าจะช่วยให้ระบอบประชาธิปไตยธำรงอยู่ได้ ฝ่ายนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีการทำให้เป็นสมัยใหม่ชี้ว่าในลาตินอเมริกาโดยทั่วไปแล้วไม่พบว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจอยู่ในสภาพที่ดีพอที่จะสร้างให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งได้ ดังนั้นปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำจึงจะยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างประชาธิปไตยเฉกเช่นเดิม แนวคิดเช่นนี้มีที่มาจากทฤษฎีประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ซึ่งอธิบายว่าภายใต้ระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมย่อมจะมีความย้อนแย้ง ในแง่หนึ่งระบบการเมืองนี้ทำให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน แต่อีกแง่หนึ่งสังคมย่อมจะมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างถึงที่สุด

งานของ Oxhorn and Ducatenzeiler [16] เป็นชิ้นหนึ่งที่ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเป็นเรื่องเดียวกันกับการสร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ นักวิชาการคนอื่นที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันอธิบายว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งเข้าไปบิดทำลายความเท่าเทียมกันทางการเมือง และถ้าหากประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบอบการปกครองต้องการรักษาไว้ซึ่งการยอมรับจากประชาชน ระบอบนั้นๆ ก็ย่อมต้องกระจายผลประโยชน์และกำไรที่ได้มาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมถึงประชาชนส่วนมากของประเทศด้วย

Holzner [17] อธิบายถึงประเด็นนี้ไว้ในงานของเขาโดยยกเม็กซิโกมาเป็นกรณีตัวอย่าง ข้อสรุปที่ Holzner เสนอไว้คือการปรับใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยโดยตลาด’ อย่างเป็นระบบและลุ่มลึกลงถึงระดับสถาบัน ก่อให้เกิดระบบการเมืองที่ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนจนเพราะคนจนมีโอกาสเข้าถึงนักการเมืองได้น้อย

ในงานของ Fukuyama [18] มีการศึกษาข้อถกเถียงของทั้งฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายต่อต้านเสรีนิยมในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับความเท่าเทียมกันในสังคม Fukuyama ตั้งโจทย์ไว้ในข้อศึกษานั้นเช่นกันว่าสิ่งใดเป็นข้อน่าวิตกกังวลต่อระบอบประชาธิปไตยมากกว่ากัน ระหว่างตัวปัญหาความเหลื่อมล้ำเอง หรือวิธีการ/แนวนโยบายต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่กลับส่งผลข้างเคียงที่ทำให้ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจย่ำแย่ลงมากกว่าเดิม

ปัจจุบันมีความรับรู้กันเป็นวงกว้างมากขึ้นว่าการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำกับการพัฒนาประชาธิปไตยให้เข้มแข็งอย่างแท้จริงเป็นสองสิ่งเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน รายงานของ UNDP [19] กล่าวว่าการจะคิดถึงเรื่องประชาธิปไตยโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยและประเด็นทางด้านเศรษฐกิจเลยเป็นวิธีการคิดที่ผิดที่ผิดทาง และในเวลาเดียวกันการจะพาประเทศเดินไปข้างหน้าโดยยึดหลักเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งที่ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำยังเป็นชนักติดหลังอยู่ก็ย่อมไม่มีทางที่จะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งหรือเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงไปได้

บราซิลเป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุดประเทศหนึ่งในประเด็นนี้ การออกมาเคลื่อนไหวและรวมตัวกันประท้วงรัฐบาลตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 จนถึงปัจจุบันล้วนแล้วแต่มีสาเหตุหลักคือสภาพชีวิตประชาชนย่ำแย่ ต้องการให้รัฐเข้ามาจัดการปรับปรุงแก้ไข Almeida (2016) [20] อธิบายว่าปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองในบราซิล ณ ปัจจุบันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประชาชนลุกขึ้นมาปฏิเสธไม่ยอมทนต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำดังเช่นในอดีตอีกต่อไป

 


[1] Larry Diamond, “The Impact of the Economic Crisis: Why Democracies Survive,” Journal of Democracy 22, no. 1 (2011): 17–30.

[2] Latinobarómetro, 2013 Report (Santiago: Corporación Latinobarómetro, 2013).

[3] UNDP, Democracy in Latin America: Towards a Citizens’ Democracy: Statistical Compendium (New York, and Buenos Aires: United Nations Development Program, and Alfaguara, 2004b).

[4] ECLAC/CEPAL, Social Panorama of Latin America 2015, Briefing Paper (Santiago: ECLAC, 2015b).

[5] Noam Lupu, “Latin America’s New Turbulence: The End of the Kirchner Era,” Journal of Democracy 27, no. 2 (2016): 35–49.

[6] Marcus André Melo, “Latin America’s New Turbulence: Crisis and Integrity in Brazil,” Journal of Democracy, 27, no. 2 (2016): 50–65.

[7] ECLAC/CEPAL, Statistical Yearbook for Latin America and the Caribbean, 2015 (Santiago: ECLAC, 2015a).

[8] World Bank, “Overview, Latin America and Caribbean,” World Bank, 23 September 2016, online: www.worldbank.org/en/region/lac/overview [accessed April 25, 2019].

[9] Paul Gootenberg, and Luis Reygadas (eds.), Indelible Inequalities in Latin America: Insights from History, Politics and Culture (Durham: Duke University Press, 2010).

[10] ECLAC/CEPAL, Social Panorama of Latin America 2015, Briefing Paper (Santiago: ECLAC, 2015b).

[11] Latinobarómetro, 2013 Report (Santiago: Corporación Latinobarómetro, 2013).

[12] ECLAC/ILO, Employment Situation in Latin America and the Caribbean, May 2015, no. 12 (Santiago: EECLAC/International Labour Organization (ILO), 2015).

[13] UNDP, Democracy in Latin America: Towards a Citizens’ Democracy: Statistical Compendium (New York, and Buenos Aires: United Nations Development Program, and Alfaguara, 2004b).

[14] ECLAC/ILO, Employment Situation in Latin America and the Caribbean, May 2015, no. 12 (Santiago: EECLAC/International Labour Organization (ILO), 2015).

[15] Latinobarómetro, 2013 Report (Santiago: Corporación Latinobarómetro, 2013).

[16] Philip Oxhorn, and Graciela Ducatenzeiler, “Economic Reform and Democratization in Latin America,” in Philip Oxhorn, and Graciela Ducatenzeiler (eds.), What Kind of Democracy? What Kind of Market? (University Park: Pennsylvania State University Press, 1998).

[17] Claudio A. Holzner, Poverty of Democracy: The Institutional Roots of Political Participation in Mexico (Pittsburgh: University of Pittsburgh Press, 2010).

[18] Francis Fukuyama, “Poverty, Inequality, and Democracy: Dealing with Inequality,” Journal of Democracy 22, no. 3 (2011): 79–89.

[19] UNDP, Democracy in Latin America: Towards a CitizensDemocracy: Statistical Compendium (New York, and Buenos Aires: United Nations Development Program, and Alfaguara, 2004b).

[20] Wellington Almeida, “Inequality and Democracy: Is it Possible? The Case of Brazil,” paper presented to the panel ‘Consolidation of Democracy in a World of Inequality’ at the 24th World Congress of Political Science, Poznan, Poland, 23-28 July 2016.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save