fbpx
การเมืองของเพลงหาเสียง

การเมืองของเพลงหาเสียง

อิสระ ชูศรี เรื่อง

ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้อยู่ ยังไม่มีประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจนว่าจะเป็นวันที่เท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งเดือนอะไรก็ยังไม่มีใครบอกออกมาได้แน่นอน ยังไม่มีเนื้อหาของการสื่อสารทางการเมืองให้ใช้สมองขบคิด มีแต่ผลโพลว่าประชาชนอยากได้คนนั้นคนนี้เป็นนายกฯ เรียกว่าปล่อยออกมาแต่ทีเซอร์โหมโรงอยู่นั่นแล้ว ไม่ยอมออนแอร์ตัวรายการจริงๆ เสียที ดังนั้นความคาดหวังส่วนตัวว่าจะเห็นการสื่อสารทางการเมืองออกมาในรูปแบบที่น่าสนใจ เช่นภาพยนตร์โฆษณาเท่ๆ หรือการดีเบตนโยบายทางโทรทัศน์ที่เผ็ดร้อน หรือแม้แต่บิลบอร์ดที่ใช้ถ้อยคำน้อยกินความมาก ก็เป็นเพียงความคาดหวังที่ยังไม่เป็นความจริงในขณะนี้

ผมอาจจะมีความนิยมแตกต่างไปจากหลายคน ที่เกลียดการใช้โวหารของพรรคการเมืองและนักการเมืองในการสร้างคะแนนนิยม เพราะผมเชื่อว่าการรณรงค์ทางการเมืองมีพื้นฐานอยู่ที่แนวความคิดหรือไอเดีย และวิธีที่ดีที่สุดในการสื่อไอเดียก็คือการสื่อมันผ่านภาษาและระบบสัญลักษณ์อื่นๆ เพื่อให้ประชาชนผู้เป็นกลุ่มเป้าหมายของการสื่อสารนั้น ได้มีโอกาสพิจารณาด้วยสติปัญญาของตนเองอย่างใคร่ครวญ

สำหรับผม นักการเมืองพูดเก่งหรือพรรคการเมืองสื่อสารเก่งไม่ใช่ความผิดบาป ในทางตรงกันข้าม มันเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้ใช้สติปัญญาในการพิจารณาคำอธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองและข้อเสนอทางการเมืองต่างๆ ดังนั้นความห่วงใยของพวกคุณพ่อรู้ดีทั้งหลาย ที่บอกว่าประชาชนไม่ควรเชื่อนั่นเชื่อนี่ หรือคอยส่งคนไปติดตามพรรคการเมืองเพื่อตรวจสอบว่าจะใส่ร้ายคนนั้นคนนี้หรือเปล่านั้น มันก็ไม่ต่างจากการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ หรือการทำป้ายแนะนำ 13+ 16+ 18+ แต่อย่างใด คนพวกนั้นเขาลืมคิดไปว่าประชาชนโตแล้ว จะดูหรือฟังอะไรและจะตัดสินใจอยางไรก็ได้

ช่วงนี้ผมเลยแก้กลุ้มด้วยการนั่งฟังเพลงหาเสียงของพรรคการเมือง 9 พรรค คือชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ไทยรักษาชาติ ประชาชาติ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เพื่อไทย รวมพลังประชาชาติไทย และอนาคตใหม่ (ตัดเพลงของพรรคภูมิใจไทยออก เพราะเป็นเพลงที่แต่งไว้นานแล้ว เนื้อหาค่อนข้างห่างออกไปจากกลุ่ม)

โอ้โห เอาแค่จังหวะ-ทำนอง ก็นับว่ามีหลายแนวทีเดียว ทั้งแนวลูกทุ่ง ป๊อป ร็อค แร็พ เพื่อชีวิต มาร์ช อะนาซีด ฯลฯ แถมเนื้อหาของเพลงก็อย่างกับประวัติการเมืองไทยยุคใกล้ฉบับย่อ ใครไม่เกลียดเรื่องการเมืองก็ลองฟังดู ตามลิงค์ที่ผมแทรกไว้ให้แล้วท้ายบทความนี้ ถือว่าเป็นเพลงที่เพราะ ‘เกือบ’ ทุกพรรค

เนื่องจากเพลงหาเสียงมีหลายเพลง และเนื้อหาก็หลากหลาย ผมจึงวิเคราะห์สรุปเนื้อหาออกมาเป็นเชื้อมูลให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเป็นเบื้องต้นไปก่อน ว่าเราจะสามารถใช้เพลงหาเสียงของพรรคการเมือง เป็นประตูเข้าไปสู่ข้อพิจารณาเกี่ยวกับจุดยืนและแนวทางการดำเนินการทางการเมืองของแต่ละพรรคได้หรือไม่ และเราจะสามารถจัดกลุ่มของเนื้อหาเพลงหาเสียงโดยอาศัยความรู้พื้นหลังของเราเกี่ยวกับ ‘ตำแหน่ง’ ของพรรคการเมืองต่างๆ ในเทศะของการเมืองไทยได้หรือไม่

ในเบื้องแรก เราเอาเนื้อเพลงของแต่ละพรรคการเมืองมาแยกเป็นคำๆ ก่อน จากนั้นก็แปลงเอกสารข้อความจากเนื้อเพลงนั้นให้กลายเป็นตารางความถี่ของแต่ละคำ แยกแถวตามชื่อของพรรคการเมือง เมื่อวิเคราะห์ความถี่มาก-น้อย ของการปรากฏและและไม่ปรากฏร่วมกันของคำที่พบในแต่ละเพลง เราก็สามารถที่จะคำนวณความคล้ายคลึงและความแตกต่างของเพลงของแต่ละพรรคการเมืองได้

ข้อมูลสรุปลักษณะนี้ ช่วยให้เราสามารถพิจารณาลักษณะความหมายที่แฝงอยู่ในตัวบทได้ในเชิงเปรียบเทียบ ผมลองทำตารางแยกสีแบบที่พวกนักสถิติเขาเรียกว่า ‘ฮีทแม็พ’ โดยใช้สีแสดงค่าความคล้ายกันของเนื้อเพลง ตั้งแต่ขาว-แดงเข้ม (แสดงความคล้ายกันตั้งแต่ 0-1 หรือ 0% – 100%) ดังที่แสดงไว้ข้างล่างนี้

ฮีทแมพ เพลงหาเสียง

วิธีดูข้อมูลก็ดูได้ทั้งตามสีเข้ม-อ่อน ตามลำดับบน-ล่าง และตามจำนวนมาก-น้อย ซึ่งจะทำให้เห็นว่า เพลงหาเสียงของพรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคชาติไทยที่เคยโดนยุบพรรคไป มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันกับพรรคอื่นๆ ในสัดส่วนที่มากกว่าเพื่อน ผมจะอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นนี้

คำที่มักจะปรากฏมากที่สุดในทุกเพลง ก็คือคำที่ถูกใช้เป็นชื่อพรรค ดังนั้นชื่อของพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีคำว่า ‘ชาติ’ ‘ไทย’ และ ‘พัฒนา’ ที่เป็นคำยอดฮิตในการตั้งชื่อพรรคการเมืองและในการสื่อสารการเมือง จึงไปพ้องกับของพรรคอื่นค่อนข้างมาก ในขณะที่คำว่า ‘ประชา’ และ ‘รัฐ’ โดยเฉพาะคำหลัง กลับเป็นคำที่ไม่ค่อยถูกใช้มากนัก

เมื่อใช้กับคำว่า ‘ไทย’ หรือ ‘ชาติ’ ผมว่ามันก็เข้าใจได้ ในเมื่อประเทศและชาติครอบคลุมเซ็ตที่มีสมาชิกเป็นประชาชนทุกคน พรรคการเมืองย่อมต้องสื่อสารกับกับคนส่วนมากเป็นสำคัญ ในขณะที่ภาคราชการหรือภาครัฐมีขนาดเล็กกว่ามากในแง่ปริมาณของคนที่สังกัดต่อมัน การกล่าวถึงรัฐย่อมเข้าถึงผู้รับสารได้ยากกว่า เว้นแต่ว่าพรรคการเมืองนั้นมีนโยบายเชิดชูความสำคัญของภาครัฐ

ลักษณะเปรียบต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเพลงหาเสียงก็คือ เราอาจแยกเนื้อหาของเพลงได้ออกเป็น ส่วนที่กล่าวถึงนโยบายหรือประเด็นปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น การแก้ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด การส่งเสริมการศึกษา นโยบายที่ดินและการชลประทาน ประชาธิปไตย เป็นต้น กับเนื้อหาที่เป็นการสร้างจินตภาพทางการเมืองเกี่ยวกับพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดในภาพรวม เช่น เป็นพรรคการเมืองที่ไม่สร้างความขัดแย้งกับใคร ไม่มีปัญหา ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รักประชาชน ก้าวทันโลก เป็นต้น เนื้อหาในส่วนหลังนี้เราจะพบว่ามีการใช้อุปลักษณ์เข้ามาร่วมด้วย

ผมพบว่า เพลงหาเสียงของพรรคการเมืองที่ตั้งมาหลายปีแล้ว เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา เพื่อไทย หรือแม้แต่ไทยรักษาชาติ ที่ตั้งใหม่แต่งอกออกมาจากรากเก่า จะมีการระบุนโยบายที่ตัวเองเสนอว่าจะทำเข้าไปในเพลงเลย เช่น พรรคชาติไทยพัฒนากล่าวถืงเกษตรกร ชลประทาน ที่ดินทำกิน ในขณะที่พรรคเพื่อไทยพูดเรื่องเศรษฐกิจ ยาเสพติด การให้ทุนเรียนต่อต่างประเทศ และพรรคไทยรักษาชาติพูดเรื่องยาเสพติด ประชาธิปไตย ฯลฯ ในทางกลับกันพรรคที่ตั้งใหม่อย่างพลังประชารัฐ อนาคตใหม่ จะพูดถึงเนื้อหาที่ค่อนข้างไม่เจาะจงเท่า แต่จะเสนอมโนทัศน์ที่เป็นนามธรรมกว่า แต่ก็แสดงมุมมองทางการเมืองของพรรคในเชิงหลักการ

ในประเด็นหลังที่เป็นเนื้อหาเชิงนามธรรมนี้ ก็มีความน่าสนใจตรงที่การพิจารณาปัจจัยความถี่ของการใช้คำแต่ละคำเพียงอย่างเดียวนั้น อาจยังไม่พอเพียง ยกตัวอย่างเช่น หลายพรรคการเมืองชอบใช้อุปลักษณ์ ‘ก้าว-เดิน’ ในความหมายของการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ถ้าเราจะสรุปว่าการใช้อุปลักษณ์ ‘ก้าว-เดิน’ เหมือนกัน แปลว่าพรรคการเมืองนั้นๆ มีมุมมองเกี่ยวกับการขับเคลื่อนทางการเมืองคล้ายกัน ก็จะเป็นข้อสรุปที่คลาดเคลื่อน

ยกตัวอย่างเช่น พรรคพลังประชารัฐ อนาคตใหม่ และไทยรักษาชาติ ใช้อุปลักษณ์ ‘ก้าว-เดิน’ (=การเมืองคือการเดินทาง) คล้ายกัน แต่ถ้าเราพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าพลังประชารัฐกล่าวถึงการก้าวสู่จุดหมายไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อนาคตใหม่พูดถึงการก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคต และไทยรักษาชาติพูดถึงการก้าวไปให้ทันการก้าว (=การเปลี่ยนแปลง) ของโลก

ขั้นตอนนี้เราจะพิจารณาโดยการใช้วิธีที่เรียกว่า Topic Modeling หรือการระบุหัวข้อ/ประเด็นหลักของเนื้อหา โดยพิจารณาจากคำสำคัญที่ปรากฏร่วมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งเมื่อเรากำหนดกลุ่มหัวข้อที่จะพิจารณาเป็น 9 กลุ่ม ก็จะพบว่ากลุ่มคำเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาของเพลงของพรรคการเมืองใดๆ ที่แตกต่างไปจากของพรรคการเมืองอื่น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะพบว่ามีคำบางคำที่ปรากฏซ้ำในหลายหัวข้อ เช่น ‘ก้าว’ ที่กล่าวถึงข้างต้น

ความถี่การใช้คำของพรรคการเมือง

ถ้าผู้อ่านท้านใดลองฟังเพลงหาเสียงของพรรคการเมืองทั้ง 9 พรรค แล้วกลับมาดูตารางข้างบนนี้อีกที ท่านก็จะพบว่าหัวข้อที่ 1 สัมพันธ์กับเนื้อเพลงของพรรคชาติพัฒนา “โนพลอมแพลม” ที่ยกเอาคำพูดติดปากของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน มาเป็นมุกเด็ด รวมทั้งความเจริญทางเศรษฐกิจในยุค พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกฯ โดยพยายามชี้ให้เห็นว่าพรรคชาติพัฒนาเล่นการเมืองแบบ “ไม่มีปัญหา ไม่สร้างปัญหา”

หัวข้อที่ 2 ง่าย เพราะชี้ไปที่พรรคไทยรักษาชาติ “โลกก้าวไกล ไทยต้องก้าวทัน” “เอื้อมมือคว้าโอกาส”

หัวข้อที่ 3 สามช่าอนาคตใหม่ “ปลด ปรับ เปิด” เพื่อให้ประชาชนกำหนดอนาคตของตัวเองด้วยสองมือ

หัวข้อที่ 4 เพลง ‘ประชาชาติของเรา’ นำเสนอเกี่ยวกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยใช้อุปลักษณ์สวนดอกไม้หลากสีสันมาเป็นความเปรียบ เพื่อความกลมเกลียวของประชาชาติ (ผมเข้าใจว่าเป็นความพยายามที่จะให้ตรงกับ Ummah ในภาษาอาหรับที่แปลว่า ‘ชุมชน’) ซึ่งเนื้อหานี้ไม่ซ้ำกับของใครเลย จัดเป็นพรรคที่กำหนดตำแหน่งของตัวเองว่าเป็นพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

หัวข้อที่ 5 เพลง ‘พรรคเพื่อไทย หัวใจเพื่อเธอ’ เปรียบเทียบการรู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหาของประชาชน หรือการรับฟังปัญหาของประชาชนว่าเป็นเพราะ ‘ความรัก’ ที่พรรคการเมืองนั้นมีให้กับประชาชน

หัวข้อที่ 6 พรรคชาติไทยพัฒนา ชัดเจนว่า “ไม่ขัดแย้ง” กับใครทั้งนั้น มุ่งแต่การพัฒนา “เศรษฐกิจ-สังคม” ในแง่นี้ก็จะเป็นตำแหน่งที่คล้ายกับพรรคชาติพัฒนา คือไม่มีปัญหา ไม่ขัดแย้ง หรือแฝงนัยว่าพรรคไหนชนะเราร่วมได้

หัวข้อที่ 7 พรรคพลังประชารัฐ จะคอยดูแลทุกคนให้ก้าวเดินสู่จุดหมาย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นถ้อยคำโฆษณาหลักของรัฐบาลปัจจุบันอยู่แล้ว ความน่าสนใจคือไม่บอกว่า “จุดหมาย” ที่จะไปถึงนั้นคืออะไร แค่ไม่ทิ้งใคร

หัวข้อที่ 8 พรรคประชาธิปัตย์ มีความ “ซื่อสัตย์” ตั้งมา “นานนักหนา” แล้ว และพวกเขามีความศรัทธาใน “แม่พระธรณี” บีบมวยผม เนื่องจากมีสร้อยเพลงว่า “มาแล้วๆ เสียงแจ้วๆ ประชาธิปัตย์เขามา” คำว่า ‘แจ้ว’ ก็เลยกลายเป็นคำสำคัญเฉพาะกลุ่ม

หัวข้อที่ 9 พรรครวมพลังประชาชาติไทย มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสืบสาน ความศรัทธา บ้าน ราก(เหง้า) ถ้าฟังในรายละเอียดก็จะพบว่าพูดถึงพระมหากษัตริย์ด้วย เนื้อหาออกไปทางซาบซึ้งกินใจ เรียกร้องให้คนดีลุกขึ้นมามีส่วนร่วมทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมโดยพิจารณา ‘ลักษณะสำคัญทางความหมาย’ ของเพลงที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เราจะพบว่ามโนทัศน์ในเพลงหาเสียงของพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย และมีเครือข่ายย่อยในกรณีที่เป็นลักษณะร่วมที่ไม่ทั่วถึงนัก หรือไม่เชื่อมโยงกับใครเลย

ผมลองทำแผนภาพที่สร้างจากการปรากฏแบบเรียงต่อกันมาแสดงไว้ในลักษณะของเครือข่าย ซึ่งการพิจารณาแบบนี้ผมใช้ในการจำแนกความหมายระหว่างการ ‘ก้าวทัน’ กับการ ‘ก้าวสู่’ เพราะการก้าวแบบแรกเป็นการไล่ตามสิ่งที่เคลื่อนที่ ในขณะที่การก้าวแบบที่สองเป็นการเคลื่อนที่ไปสู่สิ่งที่หยุดนิ่ง สะท้อนให้เห็นทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันในเพลงของพรรคพลังประชารัฐและพรรคไทยรักษาชาติ

คำสำคัญ พรรคการเมือง

เครือข่ายที่ประกอบด้วยจุดและเส้นที่เชื่อมกันนี้ ยิ่งทำให้เห็นว่าคำสำคัญบางคำ เช่น ชาติ ไทย พัฒนา ก้าว เป็นต้น ล้วนแต่เป็นคำสำคัญที่พรรคการเมืองต่างก็ใช้ ทำให้คำเหล่านี้อยู่ ณ จุดเชื่อมในตำแหน่งใจกลาง และเชื่อมโยงไปสู่เครือข่ายย่อยต่างๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากกลุ่มคำในเครือข่ายย่อยแล้ว เราก็อาจกำหนดตำแหน่งของพรรคการเมืองลงไปพอให้เห็นความแตกต่างกันได้ในระดับหนึ่ง

ในบริเวณใจกลางของเครือข่าย เราจะพบว่าเป็นตำแหน่งของเพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกันก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองกระแสหลักของไทย ที่มุ่งนำเสนอการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ในขณะที่ไทยรักษาชาติ อนาคตใหม่ และประชาชาติ มีการใช้คำแปลกใหม่สำหรับการเมืองไทย (ไม่ใช่คำใหม่ในตัวเอง แต่เป็นคำหรือมโนทัศน์ที่ไม่ค่อยได้ใช้ในเพลงหาเสียง) เช่น โอกาส โลก ก้าวทัน สวนดอกไม้ (=ความหลากหลาย) เป็นต้น ส่วนพรรคพลังประชารัฐนั้น ก็มีความแปลกใหม่ในแง่ที่นำเสนอความเป็นพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของภาคราชการ ที่เน้นที่การดูแลประชาชน แต่ไม่ได้กระตุ้นให้ประชาชนคิดฝันทำอะไรเอง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์และพรรค กปปส.นั้น ผมไม่มีประเด็นอะไรที่จะกล่าวถึงอีกแล้ว นึกไม่ออก.


อ้างอิง

(1) เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล

Benoit et al., (2018). quanteda: An R package for the quantitative analysis of textual data. Journal of Open

Source Software, 3(30), 774, https://doi.org/10.21105/joss.00774

 

(2) ลิงก์สำหรับ MV เพลงเสียงของพรรคการเมือง

ชาติไทยพัฒนา
ชาติพัฒนา
ไทยรักษาชาติ
ประชาชาติ
ประชาธิปัตย์
พลังประชารัฐ
เพื่อไทย
รวมพลังประชาชาติไทย
อนาคตใหม่

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save