fbpx
ครอบงำวิทยา : กรณีศึกษา 'เงินกู้ธนาธร'

ครอบงำวิทยา : กรณีศึกษา ‘เงินกู้ธนาธร’

ตะวัน มานะกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

จากข่าวล่าสุดกรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ที่ กกต. บอกว่าเงินกู้เท่ากับการบริจาค โดยให้เหตุผลสั้นๆ กับ BBC แต่ไม่ยอมแถลงกับสื่อทั่วไปว่า เพราะทั้งสองอย่างเป็นการ ‘ให้ประโยชน์’ เหมือนกัน ผู้เขียนมองว่าเหตุผลนี้ผิดเพี้ยน เพราะปกติพรรคการเมืองหรือกระทั่งเราเองในชีวิตการทำงาน เวลาติดต่อแลกเปลี่ยนอะไรกับใคร ก็เป็นไปเพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับตัวเรา (และคนที่เราแลกเปลี่ยนด้วย) ทั้งนั้น

ถ้า กกต. บอกว่าแค่การ ‘ให้ประโยชน์’ ก็นับเป็นการบริจาค ต่อไปนี้พรรคการเมืองหรือเราทำงานอะไรที่ได้ประโยชน์ ก็ต้องนับเป็นการบริจาคหมด

เอาง่ายๆ ว่า ต่อไปพรรคการเมืองคงต้องเลิกเลือกตั้งด้วย เพราะเวลาคนมาโหวตให้คะแนนเสียงก็เป็นการให้ประโยชน์ และนับเป็นการบริจาคตามความหมายของ กกต. เหมือนกัน

เอาเข้าจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปถามหาเหตุผลทางนิติศาสตร์หรือหลักคิดอะไรจาก กกต. เพราะถ้าดูจากพฤติการณ์ที่ผ่านมารวมถึงล่าสุดที่ส่งฟ้องโดยรวบรัดข้ามขั้นตอน ก็ชัดอยู่แล้วว่าไม่มีเหตุผลอะไรนอกจากแรงจูงใจและใบสั่งทางการเมือง

แต่สมมติถ้าเรื่องถึงชั้นศาลแล้วศาลพยายามตีความทางกฎหมายอย่างซีเรียส (สมมติว่าถ้าศาลพยายาม) ประเด็นที่อาจพอตั้งได้ก็คือ

1. กฎหมายเรื่องการบริจาค วางอยู่บนหลักคิดที่ไม่อยากให้มีนายทุนหรือใครคนไหนมามีอำนาจครอบงำพรรคการเมืองผ่านการ ‘เลี้ยง’ ผลประโยชน์ให้

2. จากนั้นศาลก็ตีความขยายไปว่าการให้เงินกู้ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้าข่ายนี้ คือทำให้ธนาธรมีอำนาจครอบงำพรรคการเมือง

ในทางนิติศาสตร์ ศาลจะตีความขยายถ้อยคำไปสู่หลักคิด แล้วดึงหลักคิดกลับมาฟันเคสอื่นที่ไม่ได้อยู่ในถ้อยคำแบบนี้ได้หรือไม่ อย่างไร หรือจะมีประเด็นอื่นให้พิจารณาหรือไม่นั้นผมไม่มีความรู้ แต่หากตัดเรื่องพวกนี้ออกไป ก็น่าคิดอยู่ไม่น้อยว่าการให้ ‘เงินกู้’ ของธนาธร นับเป็นการครอบงำพรรคการเมืองจริงหรือ

สำหรับประเด็นนี้ ผู้เขียนพอจะลองนำเสนอหลักคิดและคำตอบได้ว่าทำไมการให้เงินกู้ของธนาธร ไม่ถือเป็นการครอบงำพรรคการเมือง เพราะหัวข้อเรื่อง ‘การครอบงำ’ เป็นหัวข้อปริญญาเอกที่ผู้เขียนหมกมุ่นหาคำนิยามมาสองสามปี (ผู้เขียนทำเรื่องการครอบงำทางเศรษฐกิจ)

ทำไมการให้เงินกู้ของธนาธรจึงไม่ใช่การครอบงำ? จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ต้องเข้าใจเรื่องการครอบงำ (domination) ก่อน นิยามมาตรฐานของการครอบงำก็คือการที่ นาย ก. สามารถสั่งให้ นาย ข. ทำอะไรก็ได้ ‘ตามอำเภอใจ’

อำนาจตามอำเภอใจเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้านับตามนิยามมาตรฐานจะมีสองเงื่อนไขที่จำเป็นและจะต้องครบทั้งสองเงื่อนไข อำนาจตามอำเภอใจจึงเกิดขึ้น

เงื่อนไขแรกก็คือ ข. หรือพรรค จะถูกครอบงำก็ต่อเมื่อมีคนอื่น เช่น นาย ก. ‘มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงทางเลือกที่สำคัญ’ ของนาย ข.

ปกติคนเราจะมีทางเลือกที่สำคัญและทางเลือกที่ไม่สำคัญในชีวิต ที่สำคัญก็คือทางเลือกที่เมื่อไม่สามารถเลือกได้จะเกิดทุกข์ทรมานทางจิตใจ เช่น ทางเลือกในการกินอาหาร เข้าบ้านนอน มีชีวิตปลอดภัย มีโอกาสทางเศรษฐกิจ ทางเลือกที่ไม่สำคัญก็เช่นการฟังเพลงพี่ตูนในบ่ายวันปีใหม่ ไปดูหนังหนึ่งเรื่องในโรงหนังใกล้บ้าน ทางเลือกหลังนี้ถ้าทำไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม นาย ก. ก็จะเกิดความรู้สึกเสียดาย แต่ไม่เป็นไร เพราะสามารถทำอย่างอื่นหรือทำเวลาอื่นได้

ถ้าเทียบเป็นพรรคการเมือง ทางเลือกสำคัญก็เช่นการมีงบประมาณพอจะบริหารจัดการกิจการพรรค การกำหนดนโยบาย มีผู้สมัครตามจำนวนที่ต้องการ หรือการไม่ถูกลงโทษทางการเมือง ส่วนที่ไม่สำคัญก็เช่นการจัดงานเลี้ยงพรรคหนึ่งครั้ง การใช้ที่ประชุมหนึ่งครั้ง

ถ้าคุมทางเลือกที่สำคัญของคนอื่นได้ ก็จะสั่งให้เขาทำอะไรตามอำเภอใจได้

การ ‘เปลี่ยนแปลงทางเลือกที่สำคัญ’ นี้จะเป็นการให้คุณหรือให้โทษก็ได้ ประเด็นก็คือนาย ก. สามารถทำให้ นาย ข. ไม่สามารถมีทางเลือกแบบเดิมได้ เช่น ไม่สามารถมีผู้สมัครหรือน้ำเลี้ยงเพียงพอ (ให้โทษ) หรือไม่สามารถมีผู้สมัครโดยไม่รับเงินร้อยล้านจากนาย ก. (ให้คุณ) การให้คุณนับเป็นการครอบงำด้วยก็เพราะมันเป็นการทำลายทางเลือกเดิมของนาย ข. (ทางเลือกเดิมคือมีผู้สมัครเพียงพอ โดยไม่เอาเงินอีกร้อยล้าน) ซึ่งไม่ต่างจากการให้โทษ

อำนาจนี้จะไม่ใช้เลยก็ได้ เพราะต่อให้ไม่ใช้ ถ้า ข. รู้ว่า ก. มีอำนาจกุมทางเลือกสำคัญในชีวิตอยู่ ข. ก็ต้องเข้ามาประจบเอาใจ ก. อยู่ดี ลองนึกถึงทาสที่มีนายใจดีแม้เขาไม่ใช้อำนาจ ยังไงทาสก็ต้องประจบนายอยู่ดีเพื่อให้นายใจดีต่อไป เพราะหากนายโกรธแล้วทำลายทางเลือกขึ้นมาจะยุ่ง

แต่การมีอำนาจเปลี่ยนแปลงทางเลือกสำคัญของคนอื่นอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอให้เราครอบงำคนอื่น เพราะบางทีอำนาจนั้นก็ไม่ได้เป็นไปตามอำเภอใจ แต่เกิดจากการต่อรองกับผู้อยู่ใต้อำนาจอย่างเท่าเทียม (under equal control) เท่าเทียมที่ว่าก็คือผู้อยู่ใต้อำนาจก็มีอำนาจที่จะลงโทษทางเลือกสำคัญของผู้มีอำนาจเช่นกัน ในกรณีที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจทำลายทางเลือกสำคัญของตน

ลองนึกถึงการที่รัฐบาลมีอำนาจในการบริหารประเทศในประเด็นสำคัญของชีวิตประชาชน แต่ประชาชนก็มีอำนาจในการทำลายรัฐบาลและพรรคการเมืองเช่นกันโดยการไม่โหวตให้ ข้อพิสูจน์เรื่องนี้เป็นประเด็นเทคนิคทางปรัชญาที่ค่อนข้างลึกหน่อย

แต่ต่อให้ไม่เข้าใจเทคนิคที่ว่า สามัญสำนึกเราก็เห็นกันอยู่ว่าถ้าอำนาจมันถูกจำกัดหรือควบคุม การครอบงำก็ไม่เกิด ลองนึกถึงว่าถ้านายทาสอยากเลิกเหล้า แล้วสั่งให้ทาสมาห้ามทุกครั้งเวลาที่ตัวเองหยิบเหล้าขึ้นมา ต่อให้ทาสมีอำนาจในการห้ามนายกินเหล้าเช่นนี้ เราก็ไม่พูดว่าทาสกำลังครอบงำนายทาส เพราะอำนาจของทาสอยู่ภายใต้การควบคุมของนาย

ดังนั้นหากอำนาจถูกควบคุมโดยผู้อยู่ใต้อำนาจ การครอบงำก็ไม่เกิด ดังนั้นนอกจาก นาย ก. จะต้องมีอำนาจควบคุม นาย ข. ในทางเลือกสำคัญแล้ว เงื่อนไขที่สองก็คือการครอบงำจะเกิดขึ้นเมื่ออำนาจตามข้อหนึ่งของ นาย ก. นั้นไม่ถูก ‘ควบคุมอย่างเท่าเทียมโดยนาย ข.’

ดึงกลับมาสู่เรื่องเงินกู้หรือบริจาคพรรคการเมือง ในกรณีอุดมคติ เราสามารถทำให้พรรคการเมืองปราศจากการครอบงำอย่างสมบูรณ์ได้สองกรณี

1. การทำลายอำนาจนายทุนที่จะมายึดกุมทางเลือกสำคัญของพรรค ในบริบทที่เราเถียงกันอยู่ก็คือทางเลือกในการระดมทุนก่อตั้งพรรค รูปธรรมของทางเลือกนี้ก็คือไม่อนุญาตให้ใครเป็นแหล่งทุนทางการเมืองให้พรรคได้เลย จะได้ไม่มีใครมีอำนาจกุมทางเลือกสำคัญของพรรค ทางเลือกแรกนี้แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ มิฉะนั้นจะตั้งพรรคกันยังไง

2. ปล่อยให้นายทุนมีอำนาจกุมเงินสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้พรรคการเมืองมีอำนาจต่อรองที่เท่าเทียม รูปธรรมก็คือการให้พรรคการเมืองมีแหล่งระดมทุนที่หลากหลาย และแหล่งระดมทุนนี้ต้องแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม แหล่งหนึ่งนั้นอาจมาจากเงินสนับสนุนของรัฐเอง แล้วกำหนดเพดานเงินบริจาคไม่ให้คนรวยมีอำนาจต่อรองมากกว่าคนอื่นเกินไป จนส่งผลต่อการตัดสินใจในทิศทางสำคัญตามเงื่อนไขแรก

แนวคิดของกรณีหลังก็คือการทำให้แหล่งระดมทุนหลากหลาย แข่งขันกันอย่างดุเดือด อำนาจต่อรองเงื่อนไขการบริจาคจะกลับมาอยู่ในมือของพรรคการเมือง เพราะในสถานการณ์แบบนี้ เวลาแหล่งเงินทุนจะเสนอให้พรรคการเมืองสนใจเงื่อนไขผลประโยชน์ของตนแลกกับเงินบริจาค พรรคการเมืองก็มีสิทธิ์ต่อรองเงื่อนไขผลประโยชน์เหล่านี้ได้เต็มที่ เช่น อาจบอกว่าจะรับฟังเรื่องของนายทุนไปพิจารณา แต่ไม่รับประกัน ซึ่งแน่นอนว่านายทุนก็ยังมีอิทธิพลในการต่อรองในทางปฏิบัติอยู่ แต่ไม่พอจะครอบงำทิศทางทางเลือกสำคัญของพรรคการเมืองได้ เพราะพรรคอาจบอกว่าถ้าแหล่งเงินไม่เอาตามนี้ หรือยอมรับเงื่อนไขของพรรคด้วย พรรคก็จะหันไปเอาจากแหล่งอื่นที่อยากบริจาคหรือให้กู้เพื่อต่อรองนโยบายเหมือนกัน

ทางที่สองนั้นก็ไม่ใช่บริบทที่มีอยู่จริงในสังคมไทยตอนนี้

ในบริบทของสังคมไทยที่ไม่มีแหล่งเงินทุนทางการเมืองที่หลากหลายแข่งขันกัน การครอบงำเป็นพื้นฐานข้อเท็จจริง (social baseline) ของการบริจาคและรับเงินของพรรคการเมืองในสังคมไทย ไม่ว่าจะพรรคไหนก็ตาม ทุกพรรคล้วนโหยหาเงินทุน ซึ่งอำนาจในการชี้ชะตาทางเลือกว่าจะได้หรือไม่ได้เงินนั้นอยู่ในมือคนอื่น โดยพรรคไม่มีอำนาจต่อรองที่เท่าเทียม ดังนั้นจึงไม่มีพรรคไหนสามารถตั้งขึ้นมาโดยปราศจากการครอบงำโดยสิ้นเชิง

ตามหลักวิชาแล้ว ในกรณีที่เราไม่สามารถหรือไม่อยู่ในบริบทที่จะทำให้อำนาจทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้การควบคุมหรือใต้อำนาจต่อรองที่เท่าเทียมของผู้อยู่ใต้อำนาจได้เช่นนี้ ทางออกที่ดีที่สุดรองลงมาคือการลดอำนาจตามอำเภอใจด้วยการกำหนดหลัก กฎเกณฑ์ กฏหมายต่างๆ มาเป็นข้อจำกัดควบคุมการใช้อำนาจเหล่านี้ให้มากที่สุด กล่าวคือต่อให้คนอยู่ใต้อำนาจไม่มีอำนาจต่อรองที่เท่าเทียม อย่างน้อยผู้มีอำนาจก็ใช้อำนาจสั่งโน่นนี่ตามอำเภอใจได้น้อยลง เพราะมีกฎห้ามโน่นห้ามนี่ หรือมีขั้นมีตอนในการใช้อำนาจชัดเจนอยู่

ยกตัวอย่างเช่น แม้เราทุกคนจะมีอำนาจร่างกฎหมาย กำหนดอำนาจหน้าที่ของตำรวจในภาพรวม (ที่มีอำนาจเหนือเราตามท้องถนน) แต่เราคงไม่สามารถไปร่วมตัดสินใจและมีอำนาจต่อรองอย่างเท่าเทียมได้ในทุกการตัดสินใจของตำรวจ เช่น พอตำรวจจะออกใบสั่งค่าปรับ ก็ไปขอการมีส่วนร่วมเจรจาอย่างเท่าเทียมก่อนทุกครั้ง หรือในกรณีที่เพิ่งกล่าวไปในเรื่องเงินทุนพรรค คือเราอยู่ในบริบทหรือประเทศที่ไม่ได้มีโครงสร้างที่เราสามารถมีอำนาจควบคุมการออกกฎต่างๆ

ในภาพรวมทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว อย่างน้อยจะต้องมีกฏเกณฑ์จำกัดทิศทางของอำนาจนั้น แม้กฏนั้นจะไม่ได้เกิดจากอำนาจต่อรองของเราก็ตาม การมีกฎควบคุมการใช้อำนาจไม่ว่าจะมาจากไหนก็ตาม จะทำให้ผู้มีอำนาจทำตามอำเภอใจต่อเราได้น้อยลง

ทั้งหมดนี้บอกอะไรในกรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่?

สิ่งแรกก็คือ การให้เงินกู้ของธนาธรในแง่หนึ่งอาจมองเป็นการครอบงำก็ได้ แต่ต่อให้มองเช่นนั้น การครอบงำนี้ก็ไม่นับเป็นความผิดของธนาธร

ที่ว่ามองเป็นการครอบงำได้ ก็เพราะธนาธรมีอำนาจในการให้คุณให้โทษเปลี่ยนแปลงทางเลือกของพรรคอนาคตใหม่ และอย่างน้อยในช่วงก่อตั้ง แม้ว่าพรรคอนาคตใหม่มีอำนาจต่อรองอย่างเท่าเทียมกับธนาธร ต่อให้ธนาธรเปิดให้ทุกคนเข้ามาร่างนโยบายพรรคโดยตนไม่ยุ่ง หลักการครอบงำก็บอกว่าต่อให้ผู้มีอำนาจที่ไม่ถูกควบคุมไม่ใช้อำนาจ ก็นับเป็นการครอบงำอยู่ดี ตามเหตุผลที่ว่าไปก่อนหน้า

แต่ที่บอกว่าไม่ใช่ความผิดของธนาธร เป็นเพราะภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีแหล่งระดมทุนที่หลากหลาย การที่ผู้มีทุนทรัพย์จะมีอำนาจครอบงำพรรคการเมืองที่หาแหล่งทุน คือพื้นฐานข้อเท็จจริงของสังคม (social baseline) ที่เกิดขึ้นกับทุกพรรคการเมือง นี่เป็นความผิดเชิงบริบทของโครงสร้างสังคม

เรื่องที่สองคือ เอาเข้าจริงการจัดทำสัญญากู้เงินและเปิดเผยชัดเจนต่างหาก ที่ต้องถือเป็นการกระทำที่พยายามลดการครอบงำภายใต้บริบทแบบไทยๆ กล่าวคือจะให้พรรคไม่รับบริจาคหรือหาเงินทุนเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ (ไม่ว่าโลกไหน แม้แต่โลกในอุดมคติ) จะต่อรองกับแหล่งเงินทุนที่หลากหลายก็ทำไม่ได้ในบริบทสังคมไทย สิ่งที่อนาคตใหม่กำลังทำคือการไม่รับเงิน (อำนาจ) จากธนาธรอย่างเงียบๆ ดีลหรือตกลงกันลับๆ แต่พยายามทำให้การบริจาคเงินอยู่ภายใต้กติกาที่ชัดเจน โปร่งใส เป็นขั้นตอนที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือมีทั้งการประกาศจำนวนเงินอย่างชัดเจน มีการทำสัญญาคืนเงินต่างๆ

การทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน โปร่งใส ชัดเจน ถือเป็นการพยายามลดอำนาจการครอบงำของตัวบุคคลต่อพรรคให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ตามแนวคิดที่กล่าวไป ถ้าอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องมีกฎเกณฑ์ชัดเจนกำกับอำนาจของนายทุนการเมือง

สิ่งที่อนาคตใหม่พยายามทำคือการลดปัญหาการต่อรองสั่งการของนายทุนพรรค ที่ปกติมักจะดีลและสั่งการลูกพรรคอยู่เบื้องหลังผ่านการคุมท่อน้ำเลี้ยงไว้ตลอดเวลา แต่เป็นการเอาออกมาประกาศให้โปร่งใส มีขั้นตอนชัดเจน มีสัญญากู้ยืมชัดเจน อย่างน้อยธนาธรก็มาขู่พรรคตามอำเภอใจไม่ได้ว่าจะตัดท่อน้ำเลี้ยง เพราะสัญญากู้ยืมทางกฎหมายที่เซ็นไปไม่อนุญาตให้ทำอย่างนั้น

ถ้าเทียบกับพรรคอื่นๆ จะเห็นประเด็นนี้ได้ชัดเจน ตามที่อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุลพูด คือเราไม่เคยรู้ว่าเงินของพรรคต่างๆ มาจากไหน (จึงไม่ถูกฟ้องร้อง เพราะไม่ประกาศและไม่มีเอกสารให้จับผิด) แต่เพราะไม่เคยทำให้โปร่งใส ทำให้นายทุนพรรคเหล่านั้นครอบงำพรรคได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะจะยึดเงินเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีใครเห็นหรือควบคุม (ยกเว้นพรรคประชารัฐที่ประกาศจัดโต๊ะจีน รับบริจาคจากทั้งภาคเอกชนและรัฐอย่างโจ่งแจ้ง แต่รอดกฎหมายไปแบบค้านสายตา)

ในกรณีของอนาคตใหม่ ภายใต้บริบทที่การแข่งขันระดมทุนไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย การทำสัญญาที่ว่านี้ต่างหากที่สะท้อนความพยายามในการลดการครอบงำพรรคของนายทุน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save