fbpx
รัฐหรือเปล่า? รัฐลืมวัยรุ่นหรือเปล่า? - เหตุใดสิทธิและนโยบายเยาวชนของรัฐไทยจึงเลือนราง

รัฐหรือเปล่า? รัฐลืมวัยรุ่นหรือเปล่า? – เหตุใดสิทธิและนโยบายเยาวชนของรัฐไทยจึงเลือนราง

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์, เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ชีวิตวัยรุ่น จะว่าสั้นก็แสนสั้น แต่ก็เป็นคืนวันที่ลืมไม่ลง

มันเป็นช่วงเดียวในชีวิตที่เราจะได้ลิ้มรสชาติความเป็น ‘เด็ก’ คละเคล้าไปกับการเตรียมตัวเข้าสู่โลกของ ‘ผู้ใหญ่’ เป็นช่วงชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยสีสันเฉพาะวัย ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงชีวิตที่เราต้องยืนอยู่บนความพร่าเลือน ไม่แน่นอน และถูกตีความได้หลายมุมมอง

ทุกครั้งที่พูดถึงช่วงวัยนี้ หนึ่งในปัญหาที่ขบคิดไม่เคยแตกและถกเถียงกันไม่เคยสิ้นสุด คือเรา ‘โตพอ’ จะดูแลตัวเองและทำตามเสียงเรียกร้องของหัวใจ ไล่ตามความฝัน ความรัก (หรือกระทั่งอุดมการณ์) ได้แล้วหรือยัง หรือเรา ‘เด็กเกินไป’ ไม่รู้เดียงสามากพอ จึงควรเชื่อฟังคนที่โตกว่า เพื่อรอให้ถึงวัยที่พร้อมเผชิญโลกกว้างมากกว่านี้เสียก่อน

หากมองในมุมของรัฐ เส้นแบ่งระหว่าง ‘เด็ก’ และ ‘ผู้ใหญ่’ อาจถูกตีกั้นอย่างชัดเจนด้วยเกณฑ์อายุบรรลุนิติภาวะ ทุกคนที่อายุต่ำกว่ากำหนดเท่ากับเป็นเด็ก เกินกว่ากำหนดเท่ากับเป็นผู้ใหญ่ เมื่อมองด้วยแว่นตาแบบนี้ เราอาจตัดสินได้อย่างง่ายดายว่าวัยรุ่น (หรืออีกชื่อหนึ่งที่เป็นทางการมากกว่าเดิมคือ ‘เยาวชน’) ก็เป็น ‘สับเซต’ ของกลุ่มเด็กในสายตารัฐเช่นเดียวกัน

แต่การตัดสินดังกล่าวจะไม่ทำให้ช่วงวัยรุ่นถูกหลงลืมในสมการการพัฒนาของรัฐหรือ? นี่คือสิ่งที่ รศ.ชานนท์ โกมลมาลย์ นักวิชาการด้านสังคมสงเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถาม หลังศึกษามุมมองที่รัฐมีต่อเด็กและเยาวชน ทั้งในไทยและสากลเป็นเวลานาน จนพบว่าที่ผ่านมาเราอาจจะมองวัยรุ่นอย่างเรียบง่ายเกินไป เหมารวมเกินไป ทั้งที่เป็นช่วงวัยอันซับซ้อน สมควรได้รับสิทธิประโยชน์ และการจัดสรรแนวทางพัฒนาแตกต่างไปจากกลุ่มเด็กโดยสิ้นเชิง

บางที เราจึงต้องกลับมาทบทวนกันใหม่อีกครั้งว่ารัฐกำลังมองวัยรุ่นแบบไหน ผลที่ตามมาเป็นอย่างไร และรัฐควรจะให้อะไรแก่วัยรุ่นสมัยนี้

 

เพราะไม่ ‘บรรลุนิติภาวะ’ จึงเท่ากับว่าเป็น ‘เด็ก’?

 

การแยก ‘เด็ก’ ออกจากโลกของ ‘ผู้ใหญ่’ ด้วยการกำหนดอายุบรรลุนิติภาวะดูเหมือนจะเป็นหลักสากลที่นิยมใช้กันทั่วโลก และเหตุผลหนึ่ง – ซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ คือการกำหนดดังกล่าวเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงแน่นอน (security and certainly) แก่สังคม ทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบระเบียบไม่วุ่นวาย รัฐสามารถจำแนกพลเมืองที่ ‘พร้อม’ ใช้ชีวิตและรับผิดชอบการกระทำของตนเองออกจากพลเมืองที่ต้องฟูมฟักขัดเกลา เพื่อออกกฎหมายหรือนโยบายสำหรับพลเมืองทั้งสองแบบได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น

โดยทั่วไป รัฐมักกำหนดช่วงอายุบรรลุนิติภาวะอยู่ที่ 18-21 ปี เพราะเชื่อว่าเป็นช่วงอายุที่คนเติบโตทางร่างกายและสติปัญญาสมบูรณ์หลังผ่านการอบรมจากสถาบันทางสังคมอย่างการศึกษาและครอบครัวมาแล้วเรียบร้อย นั่นทำให้ รศ.ชานนท์ วิเคราะห์ว่ารัฐส่วนใหญ่กำลังใช้ฐานคิดแบบทฤษฎี Cognitive Development ที่มองพัฒนาการของคนเป็น ‘เส้นตรง’ มากำหนดความเป็นผู้ใหญ่

“นักทฤษฎีเหล่านี้จะมองว่ามนุษย์มีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอน เปรียบเหมือนหนอน ดักแด้ แล้วลอกคราบเป็นผีเสื้อ” ไม่มีใครพัฒนาก้าวกระโดดจาก ‘หนอน’ ไปเป็น ‘ผีเสื้อ’ ทุกอย่างล้วนค่อยเป็นค่อยไป และก่อนจะถึงอายุที่รัฐกำหนดไว้ ทุกคนคือช่วงวัยที่ควรได้รับการดูแล พึ่งพาผู้อื่น

พูดง่ายๆ ว่าเด็ก – ไม่ว่าเด็กเล็กหรือวัยรุ่น ก็ยังเป็น ‘เด็ก’ สำหรับรัฐภายใต้เกณฑ์การบรรลุนิติภาวะอยู่

“แนวคิดนี้เห็นกลุ่มเด็กเป็น human becoming ยังไม่ใช่มนุษย์โดยสมบูรณ์ ผู้ใหญ่ต่างหากที่เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ทำให้เราต้องช่วยกันเตรียมเด็ก ต้อง groom เด็กโดยมีมาตรฐานของแต่ละวัย ตัวอย่างเช่น ควรฟังพูดได้ตอนอายุกี่ขวบ ส่วนสูงน้ำหนักที่เหมาะกับวัยเป็นเท่าไร”

“เมื่อมองว่าเป็นเด็กเป็น dependent stage หรือช่วงวัยที่ต้องได้รับการดูแล นโยบายของรัฐ โดยเฉพาะฝั่งนโยบายทางสังคม (social policy) เช่น การศึกษา สุขภาพ สวัสดิการสังคม สังคมสงเคราะห์ จึงมีวิธีปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนแบบที่มองว่าพวกเขาเป็นผู้รับ หรือ passive recipient อย่างชัดเจน”

แม้ในแง่การบริหารจัดการสังคมจะเข้าใจได้ว่ารัฐจำเป็นต้องพึ่งพาเส้นแบ่งอายุบรรลุนิติภาวะอยู่ และการใช้ฐานคิดแบบมองคนเป็น ‘เส้นตรง’ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ประเด็นที่ รศ.ชานนท์ กังวลคือ หากเรายึดติดกับเส้นแบ่งดังกล่าวและแนวคิดชีวิตแบบเส้นตรงมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อการมองวัยรุ่นผิดไปจากความเป็นจริง

“ถ้าเรามองคนเป็นเส้นตรง ก็จะมีภาพจำบางอย่างเกี่ยวกับวัยแต่ละวัย และพยายามกำหนดกำกับเส้นทางชีวิต เช่น เราจะมองวัยรุ่นว่าเป็นวัยพายุบุแคม ทุกคนเจ้าอารมณ์ ฉุนเฉียวง่าย ใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือในไทยก็พยายามกะเกณฑ์ว่าเด็กควรเข้ารับการศึกษาเป็นลำดับขั้น เรียนประถมจบต้องต่อมัธยม จบมัธยมต้องต่อปริญญาตรี

“การมองชีวิตด้วยตรรกะเส้นตรงแบบนี้จะกำกับทุกอย่าง ไม่ว่าจะวิธีคิดของรัฐก็ดี วิธีคิดของครอบครัวหรือโรงเรียนก็ดี ทั้งที่หลายประเทศไม่ได้คิดแบบเรา ไม่จำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอนเรียนให้จบแล้วค่อยทำงาน วัยรุ่นจะทำงานก่อนค่อยเรียนก็ได้ วัยและอายุไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ”

การมองว่าเด็กหรือเยาวชนเป็นช่วงที่มีพัฒนาการไม่เต็มที่ อาจลดทอนหรือชวนให้หลงลืมไปว่าแท้จริงแล้วพวกเขามีความคิดอ่านและวิธีการมองโลกในแบบฉบับของตัวเอง – ซึ่งหลายๆ ครั้งก็เฉียบคมไม่แพ้พวกผู้ใหญ่

 

นักเรียนไทยบนเวทีปราศรัย

 

อย่างไรก็ตาม ในโลกสมัยใหม่ ใช่ว่ารัฐจะใช้แว่นตาเพียงกรอบเดียวในการมองเด็กและเยาวชน “กระแสความคิดทางวิชาการทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปมากตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1970 จากเดิมคนส่วนใหญ่มองกลุ่มเด็กเป็น dependent stage เป็นช่วง human becoming ก็เริ่มเปลี่ยนมามองว่าเป็นกลุ่ม social actor หรือ human being เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิอย่างเต็มที่ในสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กระทบต่อตัวเขา ไม่ได้มองว่าเด็กหรือเยาวชนเป็นช่วงก้าวเข้าสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อีกต่อไป”

ด้วยมุมมองที่พัฒนาไปไกล ทำให้หลายประเทศต้องหันกลับมาทบทวนเกณฑ์อายุบรรลุนิติภาวะผ่านสภา เพื่อตัดสินว่าเมื่อโลกเปลี่ยนไป ‘เด็ก’ ในวันนั้น โตพอจะเป็น ‘ผู้ใหญ่’ วันนี้แล้วหรือยัง ซึ่งแนวโน้มที่น่าสนใจคือ ที่ผ่านมารัฐมักปรับลดอายุบรรลุนิติภาวะลงเสมอ เช่น สหรัฐอเมริกาปรับจาก 21 ปี ให้บรรลุที่ 18 ปี เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 และล่าสุด ปี 2018 ญี่ปุ่นก็ลดเกณฑ์อายุจาก 20 ปีลงมาเหลือ 18 ปีเช่นกัน

นี่ยังไม่รวมอีกหลายประเทศที่ปรับเปลี่ยนเกณฑ์อายุในบางมิติเพื่อเปิดโอกาสให้วัยรุ่นเข้ามาอยู่ในโลกของผู้ใหญ่เร็วขึ้น อาทิ การปรับลดอายุมีสิทธิเลือกตั้งในออสเตรเลียจาก 18 ปี เป็น 16 ปี เช่นเดียวกับมาเลเซียซึ่งกำลังวางแผนปรับอายุผู้มีสิทธิออกเสียงจาก 21 ปี เป็น 18 ปี

ปรากฏการณ์เหล่านี้อาจตีความได้ว่า รัฐในระดับสากลพยายามเติมมุมมองที่มีต่อเด็กและเยาวชนแบบใหม่เข้าไปในการบริหาร และเริ่มเชื่อมั่นในศักยภาพความคิดอ่านของเยาวชนมากขึ้นกว่าเดิม

หรือไม่.. ก็หมายความว่าเกณฑ์อายุบรรลุนิติภาวะหรืออายุผู้มีสิทธิด้านต่างๆ ที่มีอยู่แต่เดิมเป็นเพียงตัวเลขมหัศจรรย์ที่รัฐอุปโลกน์เท่านั้น

“ผมพบว่าอายุบรรลุนิติภาวะเป็น magic number แล้วแต่ว่ารัฐจะกำหนดตัวเลขใดขึ้นมา” รศ.ชานนท์ให้ความเห็น “อันที่จริง คนในช่วงอายุดังกล่าวไม่ได้ต่างกันมาก เพียงแต่มีไว้เพื่อแบ่งแยกการปฏิบัติด้านกฎหมาย และเป็นเหมือนพิธีกรรมที่เปลี่ยนมุมมองของคนในสังคมให้มองเราแตกต่างไปจากเดิม”

ข้อสังเกตอีกเรื่องจาก รศ.ชานนท์ คือการปรับช่วงอายุเหล่านี้อาจมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่าการที่รัฐเปลี่ยนมุมมองต่อเยาวชนก็เป็นได้ เป็นต้นว่า ญี่ปุ่นปรับลดอายุลงเพราะต้องการให้ (อดีต) เยาวชนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็ว ช่วยบรรเทาปัญหาสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำที่กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ขณะที่การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ทำให้ได้ฐานเสียงใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจช่วยพลิกเกมการเมืองในประเทศ

“กระทั่งการดื่มเหล้าซื้อบุหรี่ ถ้านายทุนสามารถโน้มน้าวรัฐได้ เราคงเห็นเกณฑ์อายุที่ถูกกฎหมายลดลงต่ำกว่านี้ เพราะจะได้มีคนซื้อมากขึ้น ดังนั้น การที่รัฐอธิบายว่าวัยเด็กกับผู้ใหญ่ขาดกันที่อายุเท่าไรอาจมีปัจจัยบางอย่างคอยกำกับอยู่ก็ได้ ไม่อย่างนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่เกณฑ์อายุเลือกตั้งจะเป็นช่วงหนึ่ง ซื้อเหล้าช่วงหนึ่ง ออกใบขับขี่ได้อีกช่วงหนึ่ง”

การบรรลุนิติภาวะและมุมมองที่รัฐใช้บริหารจัดการเด็กและเยาวชนจึงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าสังคม ณ ขณะนั้นเกิดอะไรขึ้น กำลังมองช่วงวัยเด็กและช่วงวัยรุ่นด้วยสายตาแบบไหน และเข้มแข็งมากพอจะผลักดันให้รัฐลงมือทำอะไรหรือไม่

 

เพราะอยากปกป้องมากเกินไป ทำให้วัยรุ่นไร้ส่วนร่วม?

 

หากพูดถึงสิ่งที่รัฐควรมอบให้เด็กและเยาวชน หนึ่งในพื้นฐานสำคัญคือสิทธิตามหลักสากล โดยในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ หรือ UN มองสิทธิของเด็กและเยาวชนแบ่งออกเป็น 3 มิติหลักๆ เรียกว่า 3P ซึ่งประกอบไปด้วย Protection – การปกป้องดูแล, Provision – การมอบสวัสดิการหรือทรัพยากรที่จำเป็น และ Participation – การมีส่วนร่วมทางสังคมในสิ่งที่เด็กและวัยรุ่นสนใจ ได้รับผลกระทบ

เมื่อเปรียบเทียบพัฒนาการของสิทธิทั้งสามด้าน รศ.ชานนท์ กล่าวว่า มิติการปกป้องดูแลเป็นมิติที่มีความเป็นมายาวนานที่สุด และก่อกำเนิดขึ้นในโลกตะวันตกซึ่งมีสังคมอังกฤษเป็นศูนย์กลางความคิด

“มุมมองที่ตระหนักว่าเด็กเป็นกลุ่มเปราะบาง ต้องได้รับความคุ้มครอง ปกป้อง เกิดขึ้นในสังคมอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 18 และชัดเจนมากขึ้นในศตวรรษที่ 19 ซึ่งถ้าย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ช่วงนั้น จะพบว่าอังกฤษอยู่ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการใช้แรงงานเด็กจำนวนมาก ครึ่งหนึ่งของแรงงานเป็นเด็กอายุ 10 กว่าๆ ไม่เกิน 13 ปี เพราะค่าแรงถูก ไม่มีปากมีเสียง ในวรรณกรรมเรื่องโอลิเวอร์ ทวิสต์ ของชาร์ล ดิกเคนส์ ก็พูดถึงสังคมช่วงนั้นว่าเด็กต้องทำงานในเหมือง ในโรงงาน ทำงานสกปรกอย่างกวาดขี้ม้า ล้างปล่องไฟ..

“การใช้แรงงานเด็กนำมาซึ่งการตื่นตัวของคนตั้งแต่ชนชั้นกลางขึ้นไป เขาเริ่มมองว่าวัยเด็กไม่ใช่วัยที่ควรทำงาน เด็กควรอยู่กับบ้าน อยู่กับพ่อแม่ หรืออยู่ในโรงเรียน ฉะนั้น ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเด็กจึงเริ่มปรากฏในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยเชื่อว่าต้องปกป้องคุ้มครองความไร้เดียงสาของเด็กไว้”

พลังสังคมขณะนั้นขับเคลื่อนให้รัฐต้องออกมาดูแลปกป้องเด็กมากกว่าเดิม แต่ด้วยมุมมองที่ว่าเด็กคือวัยไร้เดียงสา ไม่ควรทำงาน หรือเข้ามาอยู่ในโลกของผู้ใหญ่ ทำให้วัย ‘เด็กก็ไม่ใช่ ผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง’ อย่างวัยรุ่น ดูเหมือนจะจมหายไปในช่วงเวลานั้น

“ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่หายไปจากมุมมองของสังคมและรัฐ ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก หรือถึงจะให้ความสำคัญ ก็เป็นการให้ความสำคัญแบบที่รวมกับกลุ่มเด็ก”

 

นักเรียนไทยผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ

 

แม้ว่าภายหลังสิทธิเด็ก (และเยาวชน) ในด้านอื่นๆ อย่างการมอบสวัสดิการและการมีส่วนร่วมทางสังคมจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมองเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเด็ก ควรได้รับการปกป้องความไร้เดียงสา ก็ยังคงมีอำนาจนำในสังคมเกือบทั่วโลกตลอดมา ส่งผลให้สิทธิด้านการมีส่วนร่วมทางสังคม –ซึ่งเพิ่งเกิดในช่วงศตวรรษที่ 20 แต่ดูเหมือนเป็นสิ่งที่เยาวชนต้องการมากที่สุดขณะนี้ — ยังคงเลือนรางในโลกความเป็นจริง

“งานศึกษาด้านวิชาการเองก็มีข้อมูลสิทธิด้านการมีส่วนร่วมทางสังคมน้อยกว่าการปกป้องดูแล เพราะอีกฝั่งมีพัฒนาการมายาวนานกว่า ทุกคนมักพูดถึงเรื่องการปกป้องเป็นส่วนใหญ่ น้อยมากที่จะพูดถึงการมีส่วนร่วม มันเป็นเทรนด์ที่กำลังขับเคี่ยวกันอยู่ทั่วโลก” รศ.ชานนท์อธิบาย

“เพราะต่อให้เรามอบสิทธิด้านการปกป้องดูแลหรือการมอบสวัสดิการ โดยยึดผลประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ แต่ผลการวิจัยทั่วโลกก็ออกมาพูดตรงกันว่าผลประโยชน์ที่ว่ามักเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่เข้าใจเอาเองว่าเป็นผลประโยชน์ ไม่ได้ถามเด็กจริงๆ หรืออาจจะถาม แต่ยึดตามความคิดของตัวเอง”

สำหรับประเทศไทย ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่รัฐและสังคมยังคงให้ความสำคัญกับการปกป้องดูแล แต่หลงลืมหรือดูแคลนชีวิตวัยรุ่นมากเกินไป

“สิทธิเด็กเรื่องการปกป้องดูแลในบ้านเราเข้มแข็งมาก ทำได้ดีสำหรับกลุ่มเด็กเล็ก แต่สิทธิสำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยอย่างวัยรุ่น เรากลับทำได้ไม่ดี เพราะฐานคิดของเรายังเชื่อว่าควรจะปกป้องความไร้เดียงสาไปตลอดกาล ทำให้การมอบอำนาจให้ตัดสินใจ หรือปล่อยให้เข้าพบจิตแพทย์ด้วยตัวเองยังอ่อนอยู่

“เรามองวัยรุ่นว่าเป็นช่วงที่ไม่น่ามีอะไรมาก เพราะผ่านช่วงเวลาเปราะบางอย่างวัยเด็กมาแล้ว เป็นแค่ช่วงรอยต่อสั้นๆ ก่อนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เท่านั้นเอง ทั้งที่ในความเป็นจริง ช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นรอยต่อของการเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันขั้นสูง การเข้าสู่โลกการทำงาน บางคนก็แต่งงานมีลูกในช่วงนี้

“มันเป็นวัยที่ซับซ้อนมาก แต่วิธีคิดของเรามองเยาวชนแบบดาดๆ ซ้ำร้าย บางครั้งเรายังมองวัยรุ่นอย่างมีอคติ เห็นได้จากการมองกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวตอนนี้ หลายคนยังมีอคติว่าเยาวชนไม่ได้คิดเอง ต้องมีผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลัง”

รศ.ชานนท์ยังเสริมอีกว่า การที่สังคมและรัฐไทยต้องการ ‘ปกป้อง’ วัยรุ่นแบบเดียวกับที่ปกป้องเด็กเล็ก ทำให้วิธีคิด นโยบาย ไม่สนับสนุนธรรมชาติของวัยรุ่นเอาเสียเลย

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเรื่องเพศ วัยรุ่นเป็นวัยที่สนใจเรื่องเพศมาก ถ้ารัฐเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่นจริง ปัญหาเรื่องเพศอย่างโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในบ้านเราจะลดลงมากกว่าทุกวันนี้

“เรากดเรื่องเพศกับคนกลุ่มนี้มากเกินไป พยายามซ่อนไม่ให้เขารู้ อ้างว่าเป็นผู้ใหญ่ก่อนค่อยรู้ ห้ามไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ในวัยนี้แบบเด็ดขาด ทั้งที่เราควรจะสอนเขาให้เข้าใจ และจะปล่อยให้เขาเอนจอยเรื่องเพศบ้างก็ไม่เสียหาย เพียงแค่ต้องป้องกันให้เป็น เพราะสุดท้ายเรื่องเพศเป็นปัจจัยหนึ่งของการใช้ชีวิตคู่ในอนาคตที่เขาต้องเจอ

“มันเป็นเรื่องที่เราควรจะคุยกันมากกว่าปกปิด การที่ผู้ใหญ่เก็บเรื่องเพศออกจากวัยรุ่นเพื่อปกป้องความไร้เดียงสาของเขาไว้ก็ส่งผลถึงฐานคิด และนโยบายของรัฐที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ในกลุ่มวัยรุ่นเท่าที่ควร”

 

นักเรียนไทยในการชุมนุม

 

ส่วนเรื่องสิทธิด้านการมีส่วนร่วมทางสังคมซึ่งเป็นเทรนด์ระดับโลกนั้น แม้ประเทศไทยจะมีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทในนโยบายรัฐ แต่ รศ.ชานนท์ กลับมองว่าแทบไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติเลย

“นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเกี่ยวกับกลไกการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน เดิมเราเชื่อว่าเมื่อเด็กหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าไปมีบทบาทผ่านสภาเด็กและเยาวชน ติดต่อกับรัฐได้โดยตรง แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายที่ดีขึ้นสำหรับพวกเขา แต่ผลการศึกษาทางวิชาการที่ผ่านมาพบว่า มีผลต่อนโยบายรัฐเพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่ว่าจะในระดับชาติหรือท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จในแง่การสร้างภาพลักษณ์มากกว่า

“ประเทศไทยประสบความสำเร็จในแง่ภาพลักษณ์นะครับ เรามีทั้งสภาเด็กระดับชาติ ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล แต่การมีส่วนร่วมและการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือการที่เด็กและเยาวชนสามารถแชร์พาวเวอร์ร่วมกับผู้ใหญ่ยังประสบปัญหาอยู่

“สาเหตุใหญ่ๆ เป็นเพราะ competence bias หรืออคติเรื่องศักยภาพของวัยรุ่น คนในสังคมส่วนหนึ่งยังเชื่อว่าเขายังไม่มีศักยภาพเพียงพอ ยังต้องอยู่กับการปกป้องคุ้มครอง จึงไม่จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมอะไรมาก

“ต่อมาคือสภาเด็กของประเทศไทยผูกติดอยู่กับรัฐ ทั้งรัฐส่วนกลางอย่างกระทรวง หรือเทศบาลส่วนท้องถิ่น ซึ่งระบบราชการ ตั้งแต่ขั้นตอนไปจนถึงฐานคิดของระบบถือเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งที่ทำให้เด็กไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ง่าย

“สุดท้ายคือเรื่องที่นั่ง ในระดับชาติเรามีเยาวชนเป็นตัวแทนเข้าร่วมการกำหนดนโยบายของรัฐแค่ไม่กี่คน ซึ่งการไม่มีที่นั่งเพียงพอสำหรับเยาวชนนำไปสู่การเป็นแค่ token หรือไม้ประดับ หรือเป็นตรายางในการประชุมของผู้ใหญ่ และไม่หลากหลายพอจะเป็นตัวแทนของเด็กทั้งหมด”

เส้นทางสิทธิการมีส่วนร่วมทางสังคมของวัยรุ่นยังคงต้องได้รับการพัฒนาอีกยาวไกล และสิ่งที่ รศ.ชานนท์ เน้นย้ำเพิ่มเติมคือ ไม่ใช่เพียงเปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายรัฐเท่านั้น แต่ยังต้องเปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วมในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตวัยรุ่นโดยตรงเช่นโรงเรียนด้วย

“ที่ผ่านมา โรงเรียนถือเป็นสถานที่ที่ยึดแนวคิดอำนาจนิยมมาก จากประสบการณ์ในฐานะเป็นประธานกรรมการนักเรียน ประธานนักศึกษา น้อยครั้งมากที่ครูจะฟังเด็ก เพราะสภาวะครูถูกยกไว้สูงจนทำให้ครูมีสิทธิ์ใช้อำนาจมาก

“สถานที่อย่างโรงเรียนไม่ควรยึดระบบอำนาจ รัฐต้องเข้าไปปรับปรุงให้มาก เพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมในพื้นที่ของเขาอย่างแท้จริง”

 

        ถึงเวลาให้วัยรุ่นแสดงพลัง!

 

“ทีนี้ คำว่าเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมทางสังคม หมายถึงการปล่อยให้เขาคิด เขาทำ โดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่เลยหรือเปล่า” คำถามนี้เป็นคำถามที่คนทำงานด้านเยาวชนพยายามหาคำตอบผ่านหลายสิบโมเดลตั้งแต่ปี 1992 จนถึงปัจจุบัน แต่หนึ่งในโมเดลที่แพร่หลาย ได้รับความนิยมเป็นลำดับต้นๆ คือ โมเดลบันได 8 ขั้น ซึ่งเสนอโดย โรเจอร์ ฮาร์ต ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและภูมิศาสตร์เมื่อปี 1997

ตามหลักการของ โรเจอร์ ฮาร์ต มองว่าระดับการมีส่วนร่วมของเยาวชนในระดับนโยบายพัฒนาสังคมแบ่งออกเป็น 8 ขั้น เริ่มต้นจากล่างสุด คือขั้นที่เยาวชนถูกควบคุมจัดการเต็มรูปแบบ ขั้นที่เยาวชนถูกใช้เป็นส่วนเสริมในบางเรื่อง ขั้นที่ให้สิทธิเสียงแก่เยาวชนในทางหลักการเพื่อเป็นไม้ประดับของการตัดสินใจโดยผู้ใหญ่ ขยับขึ้นมาเป็นขั้นที่ผู้ใหญ่มอบหมายให้เยาวชนทำงานบางอย่าง และขั้นที่เยาวชนสามารถเสนอความเห็นแก่งานของผู้ใหญ่ได้

แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับโมเดลนี้ คือเมื่อเราพิจารณาขั้นที่หก จะเป็นการปล่อยให้ผู้ใหญ่เป็นผู้นำ แต่แบ่งปันอำนาจตัดสินใจร่วมกับเยาวชน ขั้นที่เจ็ด เป็นการเปลี่ยนให้เยาวชนเป็นผู้นำและลงมือทำโดยอิสระ ส่วนขั้นสุดท้าย คือ เยาวชนเป็นผู้นำ แบ่งปันความเห็นและอำนาจตัดสินใจร่วมกับผู้ใหญ่อย่างทัดเทียมกัน

สามขั้นสุดท้ายนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าแบบไหนคือแนวทางที่ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าวัยรุ่นควรเป็นผู้นำและลงมือทำโดยอิสระอย่างนั้นหรอกหรือ?

“เราพบว่าถ้าปล่อยให้เด็กคิดและทำเองคนเดียวไม่เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันถ้าผู้ใหญ่เป็นคนนำและให้เด็กมาเข้าร่วม ก็นำไปสู่การเป็นไม้ประดับ ดังนั้น เราจึงต้องการให้เด็กคิดและทำโดยมีผู้ใหญ่มาร่วมเป็นกองหนุน เข้ามาเป็นผู้นำในช่วงเวลาที่เขาต้องการ และถอยออกไปเป็นที่ปรึกษาของเขาเหมือนเดิม” รศ.ชานนท์อธิบายเพิ่มเติม

“การก้าวไปพร้อมๆ กัน โดยหมุนสลับสับเปลี่ยนบทบาทในบางคราว จะนำไปสู่การสร้างความเข้าอกเข้าใจระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวัย รับฟังกัน รวมถึงเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน”

แต่ก่อนจะไปถึงภาพนั้น ประเทศไทยก็คงต้องผ่านบันไดขั้นแรกๆ ให้ได้เสียก่อน “ตอนนี้เป็นความสุกงอมของช่วงเวลา จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาสนใจและได้รับผลกระทบ มีส่วนร่วมทางนโยบายจริงๆ ไม่ว่าระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ”

 

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กับม็อบนักเรียน

 

ทั้งนี้ ในฐานะที่สภาเด็กและเยาวชนถือเป็นตัวแทนการมีส่วนร่วมต่อนโยบายรัฐที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด รศ.ชานนท์ ก็ได้ยกต้นแบบที่น่าสนใจในต่างประเทศมาเป็นแนวทางในการพัฒนาสภาเด็กและเยาวชนไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น สภาเยาวชนของอังกฤษ ที่สามารถเข้าไปร่วมกำหนดนโยบายกับรัฐได้จริง และเมื่อเยาวชนทั่วไปสนใจพัฒนาตนเองเรื่องใด หรือจัดกิจกรรมอะไร ก็สามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนจากสภาเยาวชนได้โดยตรง

คล้ายคลึงกับสภาเด็กและเยาวชนในฟิลิปปินส์ ซึ่งนอกจากมีสภาระดับชุมชน มีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบาย ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการภัยพิบัติ — ที่ปกติแล้ว อย่าว่าแต่เด็ก ผู้ใหญ่บางกลุ่มเองก็ยากที่จะมีส่วนร่วมตัดสินใจ

“หัวใจสำคัญคือรัฐต้องยอมลดอำนาจตัวเองลง ผู้ใหญ่ที่ถืออำนาจในสังคมต้องยอมลดอำนาจลง แล้วแบ่งปันอำนาจให้คนอื่น”

แน่นอนว่าข้อเสนอเรื่องการมีส่วนร่วมนี้ ย่อมรวมถึงการเคลื่อนไหวและแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนด้วย ซึ่งการเปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทด้านการเมืองถือเป็นเทรนด์นโยบายเยาวชนใหม่ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เพราะเชื่อว่าจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของวัยรุ่น บ่มเพาะความเป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระจากการถูกมองเป็นเด็ก และเติบโตสู่การเป็นพลเมืองที่ตระหนักถึงสิทธิของตนเอง

รัฐไทยจึงไม่ควรปิดกั้นเส้นทางการเติบโตเป็นพลเมืองของเยาวชน ด้วยการกีดกันวัยรุ่นออกจากโลกของการเมือง

“การเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี ไม่ได้หมายถึงต้องเชื่องและทำตามที่รัฐบอก แต่หมายถึงการเป็นพลเมืองที่สามารถถอดรหัสโครงสร้างความไม่เป็นธรรม กล้าเรียกร้องและต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งเผอิญว่าความไม่เป็นธรรมนี้มักเกี่ยวข้องกับระบบอำนาจและการเมือง ทำให้ผู้มีอำนาจไม่ค่อยชอบที่เยาวชนจะเข้ามายุ่งเกี่ยว” รศ.ชานนท์กล่าว

“ถ้าเราสังเกต จะเห็นว่าบางประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจโดยตรง คนจะยอมรับได้ เช่น ในไทย ถ้าเยาวชนเรียกร้องประเด็นสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นค่อนข้างเย็น คนมักจะชื่นชม แต่ถ้าเป็นการเมือง มุมมองจะเปลี่ยนเป็นอีกแบบทันที ผู้มีอำนาจอาจไม่พอใจเพราะไม่อยากแบ่งปันอำนาจให้ใคร ไม่อยากถูกตรวจสอบ โดยเฉพาะกับเด็ก”

ในห้วงเวลาสุกงอม ทั้งมุมมองของสังคมโลกต่อคนรุ่นใหม่ พัฒนาการด้านสิทธิและนโยบายเยาวชนระดับสากลที่เปลี่ยนไปจากอดีต

บางที นี่อาจถึงเวลาที่รัฐและสังคมไทยจะเปิดใจรับฟังวัยรุ่น ก้าวข้ามการมองเยาวชนเป็นเพียงแค่เด็ก และไม่หลงลืมสุ้มเสียงของพวกเขาอีกต่อไป

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save