แกะห่อยาเสพติด มองกฎหมาย-ปรับนโยบายเพื่อความหวังใหม่

ประมวลกฎหมายยาเสพติด

แม้หลายคนจะพูดคุยว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง แต่ที่ผ่านมา ราคายาเสพติดกลับมีแนวโน้มสวนทางค่าครองชีพอื่นๆ สะท้อนว่าการระบาดของยาเสพติดยังเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยและนับวันยาอันตรายจะเข้าถึงประชาชนง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุน้อยลงเรื่อยๆ อันจะนำไปสู่อาชญากรรม ปัญหาด้านสุขภาพของผู้ใช้ยาและขาดแคลนแรงงานที่มีผลิตภาพต่อเศรษฐกิจไทย

ในอดีต การแก้ปัญหายาเสพติดจึงมุ่งเน้นการปราบปรามอย่างแข็งกร้าวเป็นหลัก ทว่าผลลัพธ์คือปัญหายาเสพติดไม่ได้หายไปไหน ทั้งยังเผชิญข้อครหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างการจับกุมและดำเนินคดี รวมถึงปัญหานักโทษล้นเรือนจำ กลายเป็นคำถามสำคัญว่าแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดของไทยมาถูกทางแล้วหรือไม่? หรือมีกฎหมายและนโยบายใดที่เราควรปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม?

เพื่อค้นหาทางออกใหม่ ในปลายปีที่ผ่านมาจึงมีการออกกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และพ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 พร้อมกับประกาศยกเลิกกฎหมายยาเสพติดเดิมจำนวนทั้งสิ้น 24 ฉบับ ซึ่งนับเป็นวาระการพลิกโฉมกฎหมายยาเสพติดใหม่อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน

101 จึงร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดเสวนาออนไลน์ 101 Policy Forum ครั้งที่ 17 ‘แกะห่อยาเสพติด พลิกนโยบายใหม่’ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ อำนาจ เหล่ากอที ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ปัจจุบันสังกัดพรรคก้าวไกล และพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้อำนวยการตำรวจนครบาล ปัจจุบันสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อพูดคุยถึงปัญหายาเสพติด มองความก้าวหน้าของประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ไปจนถึงข้อกังวลและความท้าทายต่อสังคมไทยหลังจากนี้


YouTube video


หลายมุมหลากมิติ มองปัญหายาเสพติดในสายตาคนทำงาน


นัทธี ในฐานะที่มองเห็นปัญหายาเสพติดผ่านเรือนจำฉายภาพให้เห็นพัฒนาการของปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยกล่าวว่าในอดีต ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ในเรือนจำมักเป็นผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับทรัพย์เป็นหลัก แต่หลังจากการเปลี่ยน ‘ยาขยัน’ มาเป็น ‘ยาบ้า’ จำนวนผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็ทบทวียิ่งขึ้น จนกระทั่งกรมราชทัณฑ์ต้องจัดตั้งสถานบำบัดพิเศษ เพื่อรองรับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนผู้ติดยาเสพติดที่มากขึ้น ทำให้สถานบำบัดต้องกลายเป็นสถานที่คุมขังทั้งผู้บำบัด และผู้ค้ายาเสพติด

จากปัญหาจำนวนผู้ต้องขังที่ล้นคุก ทำให้ในเวลาต่อมาเกิด พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ปรับให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยมีระบบการบำบัด 3 ระบบ ได้แก่ ระบบบำบัดสมัครใจ ระบบบังคับบำบัด (การบำบัดโดยสั่งคุมประพฤติและส่งเข้าสู่สถานบำบัดต่างๆ) และระบบจำคุก ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ช่วยระบายผู้ต้องขังจากประมาณ 260,000 คนเหลือ 160,000 ภายในหนึ่งปี จำนวนผู้ต้องขังลดลงช่วยให้การบริหารงานในเรือนจำครอบคลุมและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น แต่หลังจากปีนั้นปัญหาผู้ต้องขังในคดียาเสพติดล้นคุกก็กลับมาอีกครั้งจนกระทั่งปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาดังต่อไปนี้

1.ผู้เสพยาเสพติดไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัด

2.ผู้ต้องหาที่ถูกบังคับบำบัดไม่สามารถเข้ารับการบำบัดได้ เนื่องจากสถานบำบัดมีไม่เพียงพอ อันเป็นผลมาจากการขาดแคลนงบประมาณ สถานที่และบุคลากรที่สามารถดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3-6 เดือน ทำให้ต้องปล่อยผู้ต้องหาคุมประพฤติไปอยู่ในชุมชนเดิมจนเกิดเป็นวงจรของการติดยาเสพติด

3.ผู้เสพยาเสพติดครอบครองยาเสพติดปริมาณมาก เนื่องจากราคายาเสพติดถูกลง ทำให้เมื่อถูกจับกุมได้รับข้อหาการครอบครองเพื่อจำหน่าย และต้องโทษคุมขัง

ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมพยายามปรับนโยบายระบายคนออกจากเรือนจำเพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้ต้องขังคดียาเสพติดผ่านการพักโทษหรือการกรองคนออกไปจากเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นระบบบำบัด การคุมประพฤติผ่านการติดกำไล EM รวมถึงการพระราชทานอภัยโทษทำให้จำนวนผู้ต้องขังลดลง แต่ยังคงไว้ในหลักการว่าเรือนจำควรคุมขังคนที่เป็นอันตรายต่อสังคม

ด้าน พล.ต.ต.สุพิศาล ในฐานะอดีตเจ้าพนักงานป.ป.ส. เสริมถึงปัญหาของการปราบปรามยาเสพติด 4 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาขาดการให้ความรู้กับประชาชนเรื่องรูปแบบของยาเสพติดที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและอันตรายของยาเสพติด, ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การใช้อำนาจนำไปคุมขัง หรือเรียกไปสอบสวนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อหวังผลในเชิงธุรกิจหรือหน้าที่การทำงาน, ปัญหาการทำงานบูรณาการของหน่วยงานราชการในการปราบปรามยาเสพติด และปัญหาด้านการบำบัดรักษาผู้ต้องหายาเสพติดอย่างไม่ถูกต้อง โดยยกตัวอย่างว่าผู้ต้องขังที่หมุนเวียนในวงจรยาเสพติด อาจเกิดจากปัญหาอาการป่วยทางจิต การขาดรายได้ หรือขาดทักษะในการประกอบอาชีพ จนทำให้พวกเขาพัฒนาตนเองเป็นอาชญากร

ขณะที่ พล.ต.ต.วิชัย ให้ความเห็นว่า “ปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมทุกประเภท ไม่ว่าจะลัก วิ่ง ชิง ปล้น รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจและสังคม” อีกทั้งทำให้ประเทศไทยสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการปราบปรามยาเสพติดแทนที่จะใช้พัฒนาประเทศ โดยเขาเชื่อว่าปัจจุบัน มีคนติดยาเสพติดจำนวนไม่ต่ำกว่าสองล้านคน หากคำนวณตัวเลขผู้ติดยาเสพติดเสพ 1 เม็ดต่อวันต่อคน แสดงว่าเรากำลังเสียเงินให้กับชาวต่างชาติที่ผลิตยาเสพติดวันละ 100 ล้านบาทหรือประมาณ 36,000 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมงบประมาณในการป้องกันปราบปราม บำบัดรักษา และให้การฟื้นฟูที่หากนับรวมอาจจะทำให้ปีหนึ่งประเทศไทยต้องสูญเสียเงินนับแสนล้านบาท

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจ พล.ต.ต.วิชัยเสริมถึงปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน อาจารย์ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับธุรกิจสีเทาของผู้ค้ายาเสพติดและเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงยาเสพติดมากยิ่งขึ้น ปัญหาการตีตรานักโทษหลังพ้นจากการบำบัดยาเสพติด ทั้งยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า หากผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้นำครอบครัวแล้วต้องไปบำบัดยาเสพติดเป็นเวลายาวนานจะส่งผลต่อครอบครัวของพวกเขาอย่างไร โดย พล.ต.ต.วิชัย กล่าวทิ้งทายในช่วงแรกว่าความท้าทายสำคัญไม่ใช่แค่การปราบปรามยาเสพติด แต่เป็นการลดความต้องการของผู้เสพซึ่งจะทำให้ปัญหาอื่นๆ คลี่คลายลงได้


ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่

ความหวังของการแก้ไขปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย


จากปัญหายาเสพติดที่มีอยู่หลากมิติ วงเสวนาขยับมาถกกันถึง ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และพ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการจัดการปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย กฎหมายเหล่านี้มีหลักการสำคัญคือเปลี่ยนจากการปราบปรามยาเสพติดอย่างแข็งกร้าวมาเน้นการปรับเปลี่ยนและบำบัดผู้ติดยาเสพติดให้สามารถกลับสู่สังคมได้อย่างปกติสุข โดยอำนาจ เหล่ากอที สรุปสาระสำคัญที่น่าสนใจของกฎหมายฉบับใหม่ไว้ 9 ประการ ได้แก่

1.ประมวลกฎหมายฉบับใหม่รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไว้ด้วยกัน ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและการเข้าถึง

2.กำหนดให้ ป.ป.ส. เป็นองค์กรกลางในการกำหนดนโยบายต่างๆ และมีกลไกระดับอำนวยการปฏิบัติ เช่น คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เป็นต้น รวมถึงมีนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับชาติเป็นนโยบายกลาง อันจะมีผลต่อองค์กรต่างๆ ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทำให้การทำงานเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น

3.กำหนดให้มีคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการบำบัดดูแลผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเข้ามามีส่วนร่วมกับ ป.ป.ส. ในการสร้างมาตรฐานการดำเนินการบำบัดผู้ติดยาเสพติด และอาจจะทำให้เกิดรูปแบบการบำบัดรักษาใหม่ๆ เช่น การบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment : CBTx)

4.กำหนดให้มีระบบศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม สังกัดกระทรวงมหาดไทยในทุกจังหวัด เพื่อดำเนินการติดตามและให้ความช่วยเหลือผู้ที่อยู่ระหว่างการบำบัดรักษาหรือผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษา เพื่อไม่ให้เข้าสู่วงจรยาเสพติดอีกครั้ง

5.จำแนกกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็น 4 กลุ่มตามเจตนาการเข้าไปมีส่วนร่วม ได้แก่ กลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง กลุ่มคนที่ทำการค้าในพื้นที่ กลุ่มที่สนับสนุนการค้าหรือภาษาในวงการตำรวจเรียกว่า ‘นักบิน’ และกลุ่มเหยื่อผู้เสพติดยา ทำให้การทำงานชัดเจน แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น และส่งผลต่อสัดส่วนการรับผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด

6.หากผู้ต้องหาเป็นผู้ค้าหรือกลุ่มนายทุนที่กระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงานจะดำเนินคดีอย่างจริงจัง มีการตรวจสอบ และอายัดทรัพย์ที่ได้มาระหว่างการกระทำผิด ในกฎหมายฉบับนี้ปิดช่องว่างทางกฎหมายในอดีตที่ให้ทรัพย์สินผูกกับคดีอาญา โดยระบุว่ากระบวนการตรวจสอบทรัพย์สินจะดำเนินต่อไปแม้ไม่มีการสั่งฟ้อง หรือยกฟ้องคดีอาญา และหากติดตามทรัพย์รายชิ้นไม่ได้เนื่องจากสูญหายหรือแปรรูป จะมีการคิดเชิงคุณค่าย้อนหลังทดแทน

7.ปรับเปลี่ยนวิธีการสืบสวนสอบสวนจากเดิมมีบทสันนิษฐานเด็ดขาดว่า หากครอบครองเกินปริมาณหรือจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ถือว่ามีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการเพิ่มบทสันนิษฐานครอบครองเพื่อเสพ

8.ปรับผู้เสพสารเสพติดเป็นผู้ป่วย ในกรณีที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตำรวจ หรือฝ่ายปกครองพบคนที่ต้องสงสัยว่าเสพยาเสพติด จะต้องสอบถามผู้เสพหรือผู้ครอบครองว่าสมัครใจบำบัดหรือไม่ หากสมัครใจเจ้าพนักงานจะส่งตัวไปยังศูนย์คัดกรองหรือสถานพยาบาล เพื่อดำเนินการตามกระบวนการบำบัดรักษาต่อไป โดยไม่ถือว่ามีความผิด แต่หากไม่สมัครใจบำบัดรักษาจะต้องเข้าสู่กระบวนการจับกุมดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายฉบับนี้ยังระบุไว้อีกว่าหากระหว่างการดำเนินคดี ศาลใช้ดุลยพินิจให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและผู้ต้องหาสมัครใจจะบำบัดรักษาจะเสมือนว่าไม่ได้ถูกจับกุม

9.เปิดโอกาสให้มีการใช้ยาเสพติดในทางการแพทย์และการวิจัย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขในการอนุมัติการใช้สารเสพติดทางการแพทย์ และ ป.ป.ส. สามารถออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่เพื่อทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการผลิตและใช้ยาเสพติด

ฝ่าย พล.ต.ต.สุพิศาล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายฉบับนี้ สะท้อนความเห็นว่านี่คือนวัตกรรมทางกฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในองค์รวม และเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้ปัญหายาเสพติดดีขึ้นได้ หากมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างบูรณาการ รัฐบาลให้ความสำคัญกับงบประมาณ และมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการติดตามปราบปรามผู้ต้องหารายใหญ่ ตลอดจนปิดกั้นพื้นที่ลำเลียงยาเสพติดภายในประเทศ โดยเฉพาะทางผ่านของขบวนการยาเสพติดรายใหญ่อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ พล.ต.ต.สุพิศาลได้กล่าวถึงข้อดีของกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า หากผู้เสพติดได้รับการบำบัดในระบบสาธารณสุขและถูกโอบรับจากสังคม จะทำให้พวกเขากลับมาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพและฟื้นฟูทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนหรือปรับนิยามของยาเสพติดประเภทห้าจะทำให้เกิดพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ อย่างสารประกอบในกัญชาหรือกระท่อมที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง

ด้าน พล.ต.ต.วิชัย เสริมถึงข้อดีในเชิงกรอบนโยบายและแผนระดับชาติของประมวลกฎหมายยาเสพติดว่า เป็นกฎหมายที่เน้นการป้องกันมากกว่าการปราบปราบ ซึ่งช่วยจำกัดความเสียหายและประหยัดงบประมาณตั้งแต่ต้นตอของปัญหา และกฎหมายฉบับนี้ยังกล่าวถึงกองทุนการบำบัดรักษา แสดงว่างบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ขณะที่นัทธีกล่าวถึงสาระสำคัญเพิ่มเติมของกฎหมายในเรื่องการมีรางวัลนำจับสำหรับคนที่บอกเบาะแสผู้ค้ารายใหญ่ ทำให้สามารถสาวถึงตัวการที่เป็นผู้กระทำความผิดร้ายแรงมากยิ่งขึ้น


ความท้าทายและข้อกังวลของกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่


แม้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่จะถือว่าเป็นความหวังของการแก้ปัญหายาเสพติด แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อกังวลบางประการ โดยนัทธีให้ความเห็นถึงความท้าทายในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว 2 ประการ ได้แก่

1.ความพร้อมของระบบบำบัดผู้ติดยาเสพติดในทางปฏิบัติ ทั้งสถานที่ งบประมาณและบุคลากรในการบำบัดรักษา การให้ความรู้และทำงานร่วมกับชุมชนในการโอบรับพวกเขาเข้าสู่สังคม เนื่องจากการบำบัดยาเสพติดเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการคืนทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพกลับสู่สังคม

2.ความโปร่งใสและความยุติธรรมในการใช้อำนาจเจ้าพนักงานในการยึดทรัพย์ แม้ว่านัทธีจะเห็นด้วยกับบทลงโทษทางทรัพย์สินมากกว่าโทษจำคุก เนื่องจากผู้ค้ารายใหญ่มักกังวลเรื่องการยึดทรัพย์มากกว่า แต่เขาให้ความเห็นว่าการยึดทรัพย์โดยไม่อิงกับคดีอาญาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสามารถบิดเบือนอำนาจไปใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าผู้ต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยตรง

ทำนองเดียวกัน พล.ต.ต.สุพิศาลเห็นด้วยว่าการฟื้นฟูเป็นภารกิจที่ท้าทาย ในอดีตมีการใช้วิธีบำบัดในค่ายทหาร ในวัดและในชุมชนแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ความท้าทายจึงเป็นการฟื้นฟูให้ผู้ที่เคยติดยาเสพติดได้กลับไปอยู่ร่วมกับคนในสังคมและไม่กลับมาอยู่ในวงจรยาเสพติดอีก ส่วนด้านการกระทำผิดซ้ำ เขากล่าวว่าช่วงที่ผ่านมา มีพ.ร.บ.การกระทำผิดซ้ำที่ผ่านสภา หนึ่งในรายละเอียดของ พ.ร.บ.ระบุถึงการกลับมาเสพยาเสพติดซ้ำเช่นกัน อย่างไรก็ดี การลงโทษโดยไม่ใช้การคุมขัง แต่ใช้การฟื้นฟู เช่น การจำกัดพื้นหรือการใส่กำไล EM น่าจะช่วยแก้ปัญหาผู้ต้องหาล้นคุก แต่ต้องมีหน่วยพัฒนาของกรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันรับผิดชอบ

นอกจากนี้ ยังมีข้อน่ากังวลอยู่บ้างเกี่ยวกับการปลดล็อกพืชยาเสพติดบางประเภท จนกลายเป็นวัตถุดิบเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ครีม อาหารที่ผลิตจากกัญชา ว่าอาจเกิดการหลอกลวงให้ร่วมลงทุนของมิจฉาชีพได้

ขณะที่อำนาจ ในฐานะเจ้าหน้าที่ป.ป.ส. สะท้อนมุมมองถึงข้อกังวลและความท้าทายด้านการปฏิบัติงานว่า กฎหมายฉบับนี้มีรายละเอียดมากมายและปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ความคิด การปฏิบัติงานอย่างชัดเจน ซึ่งอาจทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เช่น จากเดิมเจ้าพนักงานผลักภาระการพิสูจน์ด้วยข้อสันนิษฐานอย่างสิ้นเชิง ต้องปรับมาเป็นการใช้หลักสันนิษฐานว่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นต้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้เท่าทันกับการหาพยานหลักฐานและการสืบสวนทางการเงิน เพราะในปัจจุบันอาชญากรมักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด เช่น การใช้เหรียญสกุลเงินดิจิทัล การโอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิง ฯลฯ

อำนาจเสริมอีกว่ายังมีความท้าทายด้านการบูรณาการในการปฏิบัติให้สอดคล้องไปถึงระดับสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการให้ความรู้กับเยาวชนเพื่อเท่าทันอันตรายของยาเสพติด ซึ่งปัจจุบัน ป.ป.ส.ได้พัฒนาหลักสูตรพิเศษสำหรับเด็กชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษา เพื่อให้เยาวชนสามารถบริหารจัดการตนเอง หลีกเลี่ยงอบายมุข ขณะเดียวกันก็ต้องคิดถึงการให้ความรู้กับเยาวชนระดับมัธยมศึกษา และให้ความรู้ด้านนิติศาสตร์ ได้แก่ ประมวลกฎหมายยาเสพติด กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแนวทางปฏิบัติต่างๆ แก่กลุ่มผู้ที่สนใจในระดับอุดมศึกษา

ด้าน พล.ต.ต.วิชัย เพิ่มเติมว่ารอยต่อการบังคับใช้กฎหมายระหว่างกฎหมายเก่ากับกฎหมายใหม่เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เช่น ผู้ที่ถูกดำเนินคดีและจำคุกไปแล้วจะมีโอกาสใช้สิทธิ์ตามกฎหมายใหม่หรือไม่ จะเกิดช่องโหว่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐไปเรียกรับผลประโยชน์จากรอยต่อตรงนี้หรือเปล่า และการตีความกฎหมายอาจมีหลายแนวทางจนนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายไม่ถ้วนหน้าหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีความท้าทายด้านการสนับสนุนจากนโยบายรัฐบาล มาตรการในการควบคุมยาเสพติด ควบคุมผู้ต้องหา หรือการดูแลผู้ที่ติดยาเสพติด และการลดจำนวนผู้ต้องหาคดียาเสพติดในเรือนจำก็เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของกฎหมายฉบับใหม่


ประเด็นชวนขบคิดเรื่องยาเสพติดแง่มุมอื่น


ช่วงท้ายของงานเสวนาได้มีการเปิดเวทีให้ประชาชนตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม คำถามแรกเป็นคำถามถึงมุมมองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดบำบัดมากกว่าปราบปรามของประมวลกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่ง พล.ต.ต.วิชัย ชี้แจงว่าหลักการการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจคือการปราบปรามยาเสพติดมาอย่างยาวนาน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ตำรวจบางส่วนจึงไม่อยากสูญเสียอำนาจในการดำเนินการปราบปราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจที่ใช้อำนาจมิชอบในเรื่องการปราบปรามยาเสพติด แต่ปัจจุบันความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมีเพิ่มมากขึ้น ตำรวจจึงควรยอมรับลและปรับเปลี่ยนการปฏิบัติงานตามกฎหมายใหม่ให้ได้

คำถามที่สองคือคำถามเกี่ยวกับระบบบำบัดที่ในอดีตมีการใช้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงอย่างทหาร ตำรวจเข้ามาช่วยดำเนินการ เช่น ระบบโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง ว่ามีข้อดีกับข้อเสียอย่างไร และการบำบัดควรเป็นหน้าที่ของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขมากกว่าหรือไม่ ต่อคำถามนี้ อำนาจให้ความเห็นว่ากระบวนการบำบัดมี 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์โดยตรงและส่วนการฟื้นฟู โดยกฎหมายฉบับใหม่มีแนวทางในการบำบัดรักษา กล่าวคือช่วงต้นจะมีบุคลากรทางการแพทย์ดูแล แต่หลังจากนั้นจะมีกระบวนการฟื้นฟูสภาพร่างกายหรือสภาพสังคมผ่านการดำเนินงานของทหาร ตำรวจหรือฝ่ายปกครองตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ก็เพื่อลดการใช้บุคลากรทางการแพทย์ในการดำเนินงาน

ด้านนัทธีเสริมว่าโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองมีข้อดีในการฝึกระเบียบวินัยให้แก่กลุ่มผู้ติดยาเสพติด ขณะเดียวกัน องค์ความรู้ด้านการแพทย์ในการบำบัดผู้เสพติดก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกลับเข้าสู่ชุมชนที่จะต้องทำงานต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำและสร้างชุมชนที่เข้มแข็งป้องกันยาเสพติดต่อไปในอนาคต 

คำถามที่สาม เรื่องนโยบายสวัสดิการรัฐที่จะโน้มน้าวให้ผู้เสพเข้าสู่ระบบบำบัดมากยิ่งขึ้น พล.ต.ต.วิชัยให้ความเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้ผู้ติดยาเสพติดเข้าไปบำบัด โดยรัฐบาลต้องช่วยเหลือผ่านการไม่เปิดเผยประวัติด้านอาชญากรรมด้านยาเสพติด เพื่อให้พวกเขามีโอกาสกลับไปทำงานในภาคเอกชนโดยไม่ถูกกีดกัน ขณะเดียวกันก็สงเคราะห์ช่วยเหลือระหว่างบำบัด เพื่อให้ครอบครัวผู้ติดยาเสพติดดำรงชีวิตอยู่ได้ ด้านอำนาจเสริมว่าปัจจุบัน ป.ป.ส.มีโครงการทุนส่งเสริมการประกอบอาชีพสำหรับผู้ผ่านการบำบัดรักษา รายละไม่เกิน 20,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนทุนผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทย ผู้บำบัดยาเสพติดสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านทางสถานพยาบาล และรับความช่วยเหลือในรูปของวัสดุอุปกรณ์เพื่อการประกอบอาชีพในวงเงินรายละไม่เกิน 20,000 บาท

ส่วนคำถามสุดท้าย เรื่องขอบเขตและข้อจำกัดของพืชเศรษฐกิจใหม่อย่างกัญชาและกระท่อมในการเป็นสินค้าส่งออกของประเทศไทย พล.ต.ต.สุพิศาลให้ความเห็นว่าในอนาคตจะมี พ.ร.บ.เกี่ยวกับกัญชา พืชกระท่อม ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ มีการกำหนดความเข้มข้นของสารสกัดในพืชดังกล่าวและทิศทางการส่งออกไปยังตลาดโลก ทั้งยังแสดงความเห็นส่วนตัวว่าต้องควบคุมไม่ให้มีการนำสารสกัดพืชเหล่านี้ไปผสมกับสารอื่นจนเป็นสารเสพติดอันตราย

ฝ่ายอำนาจกล่าวถึงข้อกังวลว่า แม้ว่ากระท่อมและกัญชาจะปลดล็อกจากยาเสพติดประเภทที่ห้า แต่หลายประเทศยังนิยามว่าเป็นยาเสพติด การส่งออกจึงอาจจะต้องส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และต้องควบคุมความเข้มข้นของสารสกัด

ปิดท้ายด้วย พล.ต.ต. วิชัย ผู้มองว่าทุกเรื่องต้องมีกฎระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ดำเนินการไปอย่างเรียบร้อย โดยเฉพาะเมื่อต้องทำการค้ากับต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ดี กฎระเบียบนั้นต้องเปิดโอกาสให้กับภาคประชาชนรายย่อยได้เข้าถึง เข้าใจไม่ใช่ผู้มีอำนาจหรือธุรกิจใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากกฎระเบียบดังกล่าว



ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

แกะห่อ 'ยาเสพติด' พิษร้าย(?)ของสังคมไทย

18 Mar 2022

พลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดใหม่ เปิดมิติใหม่แห่งการแก้ปัญหายาเสพติดไทย

101 ชวนพลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ไล่เรียงประเด็นสำคัญ พร้อมวิเคราะห์ประโยชน์ มองความท้าทายข้างหน้าในการนำกฎหมายใหม่ไปปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในมิติใหม่

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

18 Mar 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save