สมชัย สุวรรณบรรณ เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ภาพข่าวที่น่ารังเกียจกระจายไปทั่วโลก เมื่อตำรวจไทยในกรุงเทพมหานครใช้กำลังและหัวฉีดน้ำผสมสารเคมีเพื่อสลายผู้ประท้วงที่ประกอบด้วยเด็กๆ นักเรียนมัธยมและนักศึกษาที่ชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธในย่านศูนย์การค้ากลางเมืองหลวง รวมทั้งการไล่ล่าจับกุมคุกคามประทุษร้ายเยาวชนผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง จนสื่อมวลชนยักษ์ใหญู่ทั่วโลกรายงานอย่างกว้างขวาง สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของประเทศชาติเมืองสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ร้อนถึงองค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมทั้งสหประชาชาติที่ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกมายังผู้นำไทย
แน่ล่ะ ตำรวจในทุกประเทศย่อมมีคนดีคนเลว มีทั้งพวกมืออาชีพซื่อสัตย์สุจริตจนเกษียณและพวกตำรวจไซด์ไลน์ เล่นหุ้นคุมบ่อนเป็นอาชีพหลักแล้วก็ไปเป็นนายกสมาคมกีฬาหรือเป็นที่ปรึกษาพ่อค้าเบียร์หลังเกษียณ ส่วนตำแหน่งในเครื่องแบบนั้นเป็นแค่หน้าฉากเพื่อกินเงินภาษีประชาชน
เมื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมของตำรวจในประเทศต่างๆ แล้ว โดยภาพรวมเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลายว่าตำรวจประเทศอังกฤษ เป็นตำรวจที่ได้รับการยกย่องนับถือไปทั่วโลกว่าเป็นแบบอย่างที่ดีเพราะมีวิธีการรักษากฏหมาย (policing) ที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของชุมชนในแต่ละพื้นที่ แตกต่างจากตำรวจในอเมริกาที่เป็นข่าวคึกโครมเรื่องการใช้ความรุนแรง จนเกิดการแข็งขืนต่อต้านที่เรียกว่า #BlackLivesMatter กระจายอยู่หลายเมืองใหญ่ หรือตำรวจในประเทศไทยที่มักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง นิยมการใช้อำนาจเถื่อนผิดหลักกระบวนการยุติธรรมทั้งในทางลับและในที่โล่งแจ้ง อย่างที่เห็นจากภาพข่าวที่สื่อต่างๆ นำออกเผยแพร่ไปทั่วโลกอยู่เนืองๆ
สิ่งที่ตำรวจอังกฤษมีความแตกต่างไปจากตำรวจในหลายๆ ประเทศนอกจากเรื่องโครงสร้าง การบริหารจัดการองค์กร ก็คงจะเป็นเรื่องวัฒนธรรม และปรัชญาวิชาชีพ ดังเราจะได้เห็นภาพข่าวอยู่เนืองๆ ในการบริหารจัดการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนออกชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ตามรัฐธรรมนูญในเมืองใหญ่ของอังกฤษ แม้จะมีผู้คนจำนวนมากหลากหลายออกมาชุมนุม ส่วนใหญ่แล้วก็ผ่านพ้นไปด้วยดี มีเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดเหตุรุนแรง ซึ่งก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเที่ยงธรรม โดยตำรวจเองไม่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใครผิดหรือถูกหรือให้ท้ายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพราะจะเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของตำรวจเอง ต้องไปต่อสู้กันในศาล
ตำรวจอังกฤษ (หมายถึงทั่วทั้งสหราชอาณาจักร) มีระบบโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรที่เป็นอิสระจากการเมือง นักการเมือง (หรือมือที่มองไม่เห็น) ไม่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนในหลายประเทศอิจฉา ความจริงในประเทศไทยหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ก็เคยมีความพยายามที่จะปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารองค์กรตำรวจให้เป็นอิสระ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปสื่อทั้งระบบ อยากให้มีลักษณะคล้ายตำรวจของอังกฤษและมีสื่อสาธารณะแบบบีบีซี แต่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งสองอย่าง เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์อย่างเรื้อรังจากระบอบเก่า (status quo) มีพลังอานุภาพสูงกว่ากลุ่มคนที่ต้องการปฏิรูปให้เกิดความก้าวหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและประเทศชาติโดยรวม แม้ว่าขณะนี้จะมีข่าวว่า มี ส.ว. บางคนแสดงความพยายามที่จะปฏิรูปตำรวจให้เป็นสากลมากขึ้น แต่คงไร้ผล
โดยแท้จริงแล้ว ตำรวจอังกฤษมีฐานะเป็นพลเรือน และเป็นพลเมืองเหมือนประชาชนทั่วไป เรียกว่า police constable สำหรับหัวหน้าตำรวจในแต่ละพื้นที่เรียกว่า chief constable ไม่มียศชั้นที่แบ่งเป็นนายสิบ นายร้อย นายพัน นายพล ที่บ่งบอกถึงลำดับของอำนาจคล้ายทหารในบางประเทศ มีการจัดแบ่งเขตพื้นที่ดูแลทั่วประเทศ 45 พื้นที่ บริหารปกครองกันเองภายในเขตโดยมีคณะกรรมการแต่งตั้งและประเมินผลงานที่เป็นอิสระ ไม่มีการแต่งตั้งโยกย้ายข้ามเขตจนต้องมีการซื้อขายตำแหน่งกัน
นอกจากตำรวจกำลังหลัก ซึ่งเป็นตำรวจที่ไม่พกอาวุธที่เรียกกันแพร่หลายว่า Bobby มีหน้าที่ดูแลป้องปรามอาชญากรรมในแต่ละท้องที่ดังกล่าวแล้ว ในขณะนี้ก็ยังมีหน่วยตำรวจเฉพาะกิจที่ทำหน้าแตกต่างกันไป อย่างเช่นหน่วยปราบปรามผู้ก่อการร้าย หน่วยปราบยาเสพติด หน่วยตำรวจสันติบาล หน่วยสืบสวนคดีฉ้อโกงร้ายแรง (serious fraud squad) เป็นต้น
แต่จุดเด่นที่ทำให้ตำรวจอังกฤษพิเศษไปจากตำรวจในประเทศต่างๆ ก็คือวัฒนธรรมและปรัชญาวิชาชีพที่เขาเรียกว่า policing by consent ซึ่งมีบริบททางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างเฉพาะอย่าง ไม่เหมือนกับหน่วยตำรวจอื่นๆ ในโลก นั่นคือกรอบปฏิบัติการรักษากฎหมายที่ดำเนินภายใต้ความยินยอมพร้อมใจจากสาธารณชน มิใช่การใช้กฎหมายมากดบังคับหรือข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวแบบตำรวจในหลายๆ ประเทศ
ทั้งนี้เพราะความยินยอมพร้อมใจของสาธารณะชนนั้นจะเกิดขึ้นได้เพราะพฤติกรรมและมารยาทของตำรวจเอง ที่พวกเขาต้องสร้างความไว้เนื้อเชี่อใจ การยอมรับ และความเคารพต่อผู้รักษากฎหมาย หลักการนี้นอกจากตำรวจอังกฤษแล้วยังมีในประเทศแคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่นำแบบอย่างไปใช้

วัฒนธรรมและปรัชญาวิชาชีพตำรวจอังกฤษมีแหล่งต้นธารมาจากหลักการของ Sir Robert Peel รัฐมนตรีมหาดไทยสหราชอาณาจักรที่ประกาศเป็นนโยบายออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1822 ซึ่งในเวลาต่อมาเรียกขานกันว่า Peelian Principles เป็นคัมภีร์ที่ใช้อบรมสั่งสอนในวิทยาลัยการตำรวจตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ เรียกได้ว่าตลอดเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมาปรัชญาวิชาชีพตำรวจของอังกฤษมีความคงทนศักดิ์สิทธิ์แทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย เป็นพื้นฐานที่สร้างวัฒนธรรมการทำงานของตำรวจมาจนถึงทุกวันนี้
หลักวิชาชีพตำรวจ 9 ประการของ Sir Robert Peel
1. พันธกิจพื้นฐานของตำรวจคือป้องกันอาชญากรรมและความไม่สงบ
2. ตำรวจจะปฏิบัติหน้าที่อย่างได้ผลก็ขึ้นอยู่กับความยินยอมจากสาธารณชน
3. ตำรวจจะต้องสร้างความไว้วางใจ ทั้งนี้เพราะประชาชนจะให้ความร่วมมือเคารพกฎหมายก็ต่อเมื่อตำรวจมีมารยาทและพฤติกรรมที่น่าเคารพ
4. หากตำรวจมีขีดความสามารถในการขอความร่วมมือจากประชาชนมากขึ้นเท่าใด ความจำเป็นต้องหันไปใช้กำลังในการบังคับกฎหมายก็ยิ่งน้อยลงตามสัดส่วน
5. ตำรวจจะสามารถรักษาความนิยมชมชอบจากประชาชนได้ก็ด้วยการแสดงให้เห็นว่ามีความเที่ยงธรรมในการใช้กฎหมายอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน (absolute impartial service) ไม่ใช่ด้วยวิธีปฏิบัติโอนเอียงตามกระแสความรู้สึกของมวลชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
6. ตำรวจจะใช้กำลังเท่าที่จำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบ และมีขั้นตอนตามลำดับ หากจะใช้กำลังก็ต่อเมื่อการเจรจาหว่านล้อม การให้คำแนะนำ และการให้คำเตือน ตามลำดับมาก่อนแล้วไม่ได้ผล
7. ธรรมเนียมที่ปฏิบัติมายาวนานในประวัติศาสตร์ของตำรวจคือ ตำรวจคือพลเมืองคนหนึ่งในชุมชนทั้งนี้โดยถือกันว่าพลเมืองโดยทั่วๆ ไปก็ล้วนเป็นผู้รักษากฎหมายด้วยกันนั่นเอง แต่ที่แตกต่างคือตำรวจเป็นพลเมืองที่ได้รับค่าจ้างให้ทำงานเต็มเวลาโดยที่มีหน้าที่ต้องเอาใจใส่ดูแลผลประโยชน์และสวัสดิการของชุมชนในท้องที่ที่ตนสังกัด
8. ตำรวจจะต้องมีวินัยในการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ก้าวล่วงระบบตุลาการ
9. บทพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของงานตำรวจคือ อัตราการเกิดอาชญากรรมอยู่ในระดับต่ำและไม่มีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ
หลักการ 9 ประการที่ Sir Robert Peel กำหนดออกมามีอายุกว่า 200 ปีแล้วนั้นกลายเป็นพื้นฐานการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของตำรวจในอังกฤษ หัวใจสำคัญของหลักการเหล่านี้คือ ตำรวจก็คือพลเมืองในเครื่องแบบ ปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับความยินยอมพร้อมใจจากสาธารณะชน มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนตรงไปตรงมามีมาตรฐานเดียวกันตามกฎหมาย (absolute impartial service)
ดังนั้นจึงเป็นการเสียมารยาทและเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของตำรวจเอง อย่างในกรณีที่เกิดเหตุกลุ่มหัวรุนแรงใช้กำลังทำร้ายผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสงบในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย แล้วโฆษกของตำรวจออกมาแถลงข่าวให้ท้ายมวลชนกลุ่มที่ใช้วิธีการรุนแรง ก็ยิ่งซ้ำเติมทำให้สาธารณชนหมดศรัทธาในตัวผู้มีอาชีพเป็นตำรวจในประเทศไทย
เรียกได้ว่า Sir Robert Peel คือบิดาในตำนานของตำรวจสหราชอาณาจักรนั่นเอง จนมีการเรียกขานตำรวจในหมู่ชาวเมืองทั่วไปว่า Bobby ซึ่งเป็นชื่อย่อของ Robert นั่นเอง
แม้ว่าตลอดเวลายาวนานที่ผ่านมาภูมิทัศน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในสหราชอาณาจักรจะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่หลักการ policing by consent ดังกล่าวแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงในเนื้อหาเลย แม้จะมีการปรับปรุงการใช้ภาษาให้ทันตามสมัยบ้างก็ตาม ก็ยังคงใช้เป็นตำราสำคัญในวิทยาลัยการตำรวจของอังกฤษจนถึงปัจจุบันนี้