fbpx
สังคมสองเสี่ยงในประเทศประชาธิปไตย: รูปแบบและแนวโน้มในบริบทโลก

สังคมสองเสี่ยงในประเทศประชาธิปไตย: รูปแบบและแนวโน้มในบริบทโลก

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

 

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ข้าพเจ้ามีโอกาสร่วมประชุมกลุ่มย่อยทางวิชาการว่าด้วย ‘สังคมสองเสี่ยง (polarisation) ในประเทศประชาธิปไตย’ ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นนักวิชาการจากหลากหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ บราซิล โคลอมเบีย โปแลนด์ ตุรกี อินเดีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และเคนยา โดยได้รับโจทย์ให้เขียนบทความวิเคราะห์สถานการณ์ในประเทศตนที่สังคมแบ่งออกเป็นสองฝักฝ่าย สาเหตุแห่งความขัดแย้ง กลไกทางการเมืองอันแบ่งสังคมเป็นสองเสี่ยง ตลอดจนพัฒนาการของภาวะแบ่งแยก ผลกระทบต่อสถาบันการเมืองและคุณค่าประชาธิปไตยในแต่ละประเทศ

ระหว่างที่ฟังผู้เข้าร่วมแต่ละคนนำเสนอ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญสงครามสีเสื้ออันยืดเยื้อยาวนาน จนตาอยู่อย่างคสช. มาคว้าปลาไปกิน ประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศกำลังเผชิญชะตากรรมอย่างที่เราประสบ และยังพบว่า การที่สถาบันประชาธิปไตยในประเทศตนถูกบั่นทอน ไม่ใช่แค่เพราะผู้นำเผด็จการเท่านั้น แต่มาจากการที่ผู้คนในสังคมถกเถียงกันว่าเราอยากได้สังคมการเมืองแบบไหนในอนาคตด้วย

มองเผินๆ การถกเถียงดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับสังคมประชาธิปไตย ทว่ากลับกลายเป็นความขัดแย้งซึ่งฝ่ายต่างๆ เริ่มหาเส้นแบ่งเชิงอัตลักษณ์ (เหมือนกับที่ ‘เสื้อเหลือง’ และ ‘เสื้อแดง’ กลายเป็นหมายหมุดที่บอกว่าเราอยู่ฝั่งไหน) เพื่ออธิบายว่าเหตุใดวิธีคิดของเราจึงดีงามและถูกต้องกว่าอีกฝ่าย รวมถึงฝ่ายนั้นไม่ควรค่าแก่การอยู่ร่วมกับเราอย่างไร

หากลึกๆ แล้วหลักสำคัญของประชาธิปไตยคือพหุนิยม (pluralism) สังคมสองเสี่ยงทำให้ความหลากหลายทางความคิดในสังคมลดลงเหลือเพียงสองวิธีคิด ซึ่งถูกวางอยู่ตรงข้ามกัน ฝ่ายตรงข้ามมิใช่ผู้คิดต่างเท่านั้น แต่เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของอีกฝ่ายด้วย

แต่ไม่ใช่ทุกสังคมที่แตกเป็นสองเสี่ยงจะคุกคามประชาธิปไตย ในประเทศประชาธิปไตยหยั่งรากอย่างสหรัฐฯ พรรคเดโมแครตและริพลับลิกันทะเลาะกันมายาวนาน และเห็นไม่ตรงกันหลายเรื่อง หรืออย่างในอังกฤษ พรรคหลักๆ มีเพียงสองพรรค คือพรรคแรงงานและอนุรักษนิยม ซึ่งเห็นต่างกันในเกือบทุกด้าน แต่ก็สามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยมาได้อย่างเข้มแข็ง

ในแง่นี้จึงมีเงื่อนไขบางอย่าง ที่ทำให้สังคมสองเสี่ยงสามารถเป็นได้ทั้งปัจจัยที่บั่นทอนและส่งเสริมประชาธิปไตย ซึ่งข้าพเจ้าสรุปข้อสังเกตเบื้องต้นไว้ดังนี้

 

เงื่อนไขเชิงสถาบัน

 

ดูเหมือนว่ารูปแบบประชาธิปไตยซึ่งสร้างภูมิคุ้มกันต่อสังคมสองเสี่ยง คือรูปแบบฉันทามติ (consensus) ซึ่งจำกัดอำนาจประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี เพราะต้องระดมเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงจัดจ่ายผลประโยชน์ให้แก่พรรคร่วมรัฐบาลและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

ผู้เข้าร่วมจากอินโดนีเซียและบราซิล ถึงกับชี้ว่าแม้ระบบเช่นนี้สร้างปัญหาคอรัปชั่นฝังลึก ทว่าช่วยป้องกันมิให้ผู้นำรัฐบาลรวบอำนาจไว้ที่ตนเพียงคนเดียว โดยระดมเสียงสนับสนุนจากมหาชนและอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนได้

ในทางกลับกัน ผู้เข้าร่วมจากตุรกี โปแลนด์ บังคลาเทศ และเคนยา เห็นพ้องว่ารูปแบบประชาธิปไตยแบบอิงเสียงข้างมาก (majoritarianism) รวมถึงโครงสร้างรัฐแบบรวมศูนย์ (โดยเฉพาะรัฐเดี่ยว) เอื้อให้ผู้ชนะการเลือกตั้งครองอำนาจในรัฐบาลและรัฐสภา แม้ว่าอาจได้รับเสียงเลือกตั้งมากกว่าอีกฝ่ายไม่มากนัก แต่มักอ้างว่าตนเป็นตัวแทนของประชาชน และอาศัยอำนาจในรัฐบาลและสภากำจัดฝ่ายตรงข้ามหรือผู้เห็นต่าง

รูปแบบประชาธิปไตยเช่นนี้ นอกจากจะเปิดโอกาสให้พรรครัฐบาลปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ และทำลายกลไกตรวจสอบถ่วงดุลเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้ว (เช่นที่เกิดในตุรกีและโปแลนด์) ยังทำให้พรรคฝ่ายค้านรู้สึกว่าตนไม่มีโอกาสชนะ หากไม่เล่นเกม ‘สกปรก’ เช่น ฝ่ายค้านอาจร่วมมือกับตัวละครต้านระบบ (anti-system actor) เช่น กองทัพ หรือกลุ่มฝ่ายขวา ซึ่งขายวาทะชาตินิยมสุดโต่ง

ด้วยเหตุนี้ ตัวแบบอิงเสียงข้างมากจึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดสังคมสองเสี่ยง ชนิดที่เป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตยเอง เพราะขับเน้นให้สองพรรคต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้น การเลือกตั้งมีเดิมพันสูง หากไม่ชนะเสียงข้างมากก็แพ้ (zero-sum game)

 

เงื่อนไขระดับผู้นำ / ชนชั้นนำ

 

ผู้นำและชนชั้นนำมีส่วนฉีกสังคมเป็นสองเสี่ยง เมื่อต้องการระดมเสียงมหาชนเพื่อสร้างความนิยม หาเสียง หรือสร้างความชอบธรรมแก่นโยบายที่ถูกวิจารณ์ โดยมักอาศัยจุดบ่งชี้ทางอัตลักษณ์ (markers of identity) แบ่งผู้ที่สนับสนุนตน (พวกเรา) ออกจากฝ่ายตรงข้าม (พวกเขา) จุดบ่งชี้ทางอัตลักษณ์อาจเป็นศาสนา ความเป็นชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงอุดมการณ์ และวิธีคิดเชิงวัฒนธรรมการเมือง เช่น ความเป็นอนุรักษนิยม หรือเสรีนิยม

ในอินเดีย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี มาจากพรรคภารติยะชนตะ หรือบีเจพี ซึ่งส่งเสริมแนวคิดชาตินิยมฮินดู โดยอ้างว่าชาติอินเดียควรเป็นฮินดูแบบดั้งเดิมเท่านั้น ใครเห็นเป็นอื่นหรือสนับสนุนแนวคิดว่าด้วยชาติอินเดียแบบอื่น ถือเป็นพวกต้านชาติ (anti-national) โมดีได้เสียงสนับสนุนจากชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางชาวฮินดูอย่างมาก และสามารถขับเคลื่อนนโยบายกีดกันชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชาวมุสลิม ขณะที่ผู้เห็นต่างทั้งนักคิด ศิลปิน และขบวนการภาคประชาสังคมถูกจับจ้อง ติดตาม และดำเนินคดีไปหลายคน

ลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้นในตรุกี ผู้นำอย่างเรเซป ตอยยิบ แอร์โดวาน มีฐานเสียงหลักในพื้นที่อนุรักษนิยมอิสลามซึ่งอยู่ในชนบทของประเทศ แม้ว่าในช่วงแรกที่เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดี จะสนับสนุนนโยบายก้าวหน้าหลายประการ แต่ช่วงหลังปี 2008 เป็นต้นมา ฝ่ายค้านและภาคประชาชนฝ่าย ‘ก้าวหน้า’ เริ่มต่อต้านพรรครัฐบาลมากขึ้น แอร์โดวานจึงโต้กลับด้วยการใช้วาทกรรมศาสนาและชาตินิยมสุดโต่ง ทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม ขณะเดียวกันก็เริ่มเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาอำนาจรัฐบาล และกำจัดกลไกตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามจะใช้โค่นล้มตน

ขณะนี้ชาวตุรกีแยกออกเป็นฝ่ายศาสนา/ล้าหลัง และฝ่ายไม่ฝักใฝ่ศาสนา/ก้าวหน้า ผู้คนถูกผลักให้สังกัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สมาชิกของคนสองฝ่ายนี้มีระยะห่าง หรือกระทั่งเห็นว่าอีกฝ่ายเป็นภัยคุกคามตน เช่น ฝ่ายผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลร้อยละ 80 เห็นว่าพวกตนมีเกียรติศักดิ์ศรีน่าเชื่อถือ และเห็นว่าผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านจองหอง และร้อยละ 85 ของผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายเห็นว่าฝ่ายตรงข้ามตนเป็นภัยคุกคามต่อประเทศ

การระดมเสียงสนับสนุนโดยอาศัยการเมืองอัตลักษณ์ มักเข้มข้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เช่นในอินโดนีเซีย ผู้ท้าชิงการเลือกตั้งเมื่อปี 2014 อย่างปราโบโน ซูเบียนโต อาศัยวาทกรรมอิสลามสุดโต่งเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคู่แข่งอย่างโจโกวี แม้ว่าซูเบียนโตเองจะมิใช่ผู้เคร่งครัดศาสนาก็ตาม

นอกจากนี้วาทกรรมอิสลามสุดโต่ง ยังส่งผลให้อดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่ากรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนและนับถือศาสนาคริสต์ อย่างบาซุกี จาฮายา พูรนามา ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นศาสนาอิสลาม จนถูกดำเนินคดี และถูกตัดสิทธิจากการเลือกตั้งในที่สุด

 

เงื่อนไขด้านสังคม

 

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม อันเป็นผลจากโลกาภิวัฒน์เชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เป็นเงื่อนไขให้ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งรู้สึกว่า ‘ถูกทิ้ง’ เพราะก้าวตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน หรือไม่อยากก้าวตาม เพราะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำลายชุมชนและสังคมดั้งเดิมที่ตนเห็นว่าดีอยู่แล้ว ส่วนประชาชนอีกฝั่งหนึ่งน้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น เพราะเห็นว่าเป็น ‘ความก้าวหน้า’ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ตนเดินทางท่องโลกและเปลี่ยนแปลงสังคมอันล้าหลังในประเทศตนได้

ลักษณะเช่นนี้ปรากฏเด่นชัดในสหรัฐฯ และโปแลนด์ ซึ่งเผชิญการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 (สหรัฐฯ) และ 1990 (โปแลนด์) เป็นต้นมา

สหรัฐฯ เผชิญการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม เช่น ขบวนการสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกันอเมริกัน ขบวนการสิทธิสตรีและเพศทางเลือก และขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การต่อสู้เหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และเปิดโอกาสให้ผู้คนที่เคยอยู่ชายขอบของสังคมได้ลืมตาอ้าปาก และขยับสถานะทางสังคมมาสู่ศูนย์กลาง

ขณะเดียวกันนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ และโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มผู้เคยมีอำนาจในสังคมอย่างชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลาง ผู้ชายผิวขาว ในพื้นที่นอกเมือง ประสบความยากลำบากในการทำมาหากินและขยับสถานะทางเศรษฐกิจของตน คนเหล่านี้ไม่พอใจที่รัฐบาลสนใจชนกลุ่มน้อยหรือ ‘คนนอก’ อย่างผู้อพยพมากกว่าตน ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มหลักของประเทศ

ในโปแลนด์ การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นและรวดเร็วหลังจากระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย และโปแลนด์กลายเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ผู้คนซึ่งก้าวตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ทัน รู้สึกว่าวิถีชีวิตดั้งเดิมและศาสนาของตนกำลังถูกคุมคามโดย ‘คนนอก’ และนโยบายของสหภาพยุโรป

เงื่อนไขทางสังคมนี้ประสานกับเงื่อนไขเชิงผู้นำ กล่าวคือฝ่ายแรกหมดหวังกับระบอบประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าไม่ทำให้ชีวิตตนดีขึ้น ส่วนฝ่ายหลังเห็นโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งหากระดมเสียงจาก ‘ผู้ที่ถูกทอดทิ้ง’ เหล่านี้ได้ โดยชี้ว่าเหตุของปัญหาทั้งหมดมาจาก ‘พวกก้าวหน้า’ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือผู้สนับสนุนพรรคนั้นๆ วาทะเช่นนี้ได้ใจกลุ่มประชาชนผู้ถูกทอดทิ้งจากกระบวนการโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมในสหรัฐฯ หรือยุโรป เอื้อประโยชน์แก่ ‘ชนชั้นนำ’ มากกว่าประชาชนตาดำๆ กลุ่มประชาชนเหล่านี้สนับสนุนผู้นำฝ่ายขวาให้บั่นทอนคุณค่าในกลไกของระบอบประชาธิปไตย

กระนั้นก็ดี ปัญหามิได้อยู่ที่กลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้น เพราะ ‘ฝ่ายก้าวหน้า’ ก็เห็นว่าคนเหล่านี้ ‘ด้อยพัฒนาทางศีลธรรม’ ไม่เห็นว่าคุณค่าอันดีงามอย่างความเท่าเทียมกันทางเพศ หรือความหลากหลายทางเชื้อชาติ เป็นเรื่องต้องสนับสนุน ฉะนั้นจึงเป็นศัตรูซึ่งอยู่ร่วมได้ยาก

หากประชาธิปไตยตายอย่างช้าๆ เพราะขันติธรรมทางการเมืองจางหาย (ดังที่ผู้เขียนหนังสือ How Democracies Die ได้กล่าวไว้) ภาวะสังคมสองเสี่ยงจะยิ่งบั่นทอนพหุนิยม เพราะมันบังคับให้คนต้องเลือกอัตลักษณ์สุดโต่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่ยอมรับฟังข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้ามเพราะถือว่าตนมีฐานทางศีลธรรมสูงส่งกว่า

ข้าพเจ้าคิดว่าความขัดแย้งเหลือง-แดงในสังคมไทย ไม่ต่างกับหลายประเทศทั่วโลกที่เล่าให้ฟังข้างต้น กล่าวคือในขณะที่เรากำลังต่อสู้กับเผด็จการ (ไม่ว่าจะเป็น ‘เผด็จการทหาร’ หรือ ‘ระบอบทักษิณ’) เราล้วนหูหนวกตาบอด ไม่รับรู้ว่าประชาชนที่สนับสนุน ‘เผด็จการ’ เห็นโลกแบบไหน หรือต้องการอะไร

เราเพียงแต่รู้สึกว่าโลกที่เราเห็นนั้นเป็นโลกที่ดีกว่าอีกฝ่าย และการดำรงอยู่ของอีกฝ่ายถือเป็นการคุกคามโลกอันดีงามของเรา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save